เวทนาสังยุตต์
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๔๔
อัฏฐสตปริยายสูตร (อัฏฐสตปริยายวรรคที่ ๓ สูตรที่ ๒)
[๔๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยาย อันมีปริยายต่าง ๆ ๑๐๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงฟังธรรมปริยายนั้น ก็ธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มีโดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มีโดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่งเรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี
[๔๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนา ๒ เป็นไฉน
เวทนา ๒ คือ
เวทนาทางกาย ๑
เวทนาทางใจ ๑
เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๒
[๔๓๒] ก็เวทนา ๓ เป็นไฉน
เวทนา ๓ คือ
สุขเวทนา ๑
ทุกขเวทนา ๑
อทุกขมสุข เวทนา ๑
เหล่านี้เรียกว่า เวทนา ๓
[๔๓๓] ก็เวทนา ๕ เป็นไฉน
เวทนา ๕ คือ
สุขินทรีย์ ๑
ทุกขินทรีย์ ๑
โสมนัส สินทรีย์ ๑
โทมนัสสินทรีย์ ๑
อุเบกขินทรีย์ ๑
เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๕
[๔๓๔] ก็เวทนา ๖ เป็นไฉน
เวทนา ๖ คือ
จักขุสัมผัสสชาเวทนา ๑
โสตสัมผัสสชาเวทนา ๑
ฆานสัมผัสสชาเวทนา ๑
ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา ๑
กายสัมผัสสชาเวทนา ๑
มโนสัมผัสสชาเวทนา ๑
เหล่านี้เรียกว่าเวทนา ๖
[๔๓๕] ก็เวทนา ๑๘ เป็นไฉน
เวทนา ๑๘ คือ
เวทนา ที่สหรคต*ด้วยโสมนัส ๖
เวทนา ที่สหรคต ด้วยโทมนัส ๖
เวทนา ที่สหรคต ด้วยอุเบกขา ๖
เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๘
*ไปด้วยกัน
[๔๓๖] ก็เวทนา ๓๖ เป็นไฉน
เวทนา ๓๖ คือ
เคหสิต* โสมนัส ๖
เนกขัมม โสมนัส ๖
เคหสิต โทมนัส ๖
เนกขัมมสิต โทมนัส ๖
เคหสิต อุเบกขา ๖
เนกขัมมสิต อุเบกขา ๖
เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๓๖
*เหย้าเรือน
[๔๓๗] เวทนา ๑๐๘ เป็นไฉน
เวทนา ๑๐๘ คือ
เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖
ที่เป็นอนาคต ๓๖
ที่เป็นปัจจุบัน ๓๖
เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๑๐๘
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยาย อันมีปริยาย ๑๐๘ แม้นี้แล
(ดูตาราง)
|