เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
สมาธิสูตร สุขสูตร ปหานสูตร ทัฏฐัพพสูตร พึงเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง 1451
รวมเรื่องเวทนา

 

(โดยย่อ)
1
สมาธิสูตร
เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
สาวกของพระพุทธเจ้า มีจิตมั่นคง ดีแล้ว มีสัมปชัญญะ มีสติ ย่อมรู้ชัด ซึ่งเวทนา และเหตุเกิดแห่ง เวทนาทั้งหลาย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

สุขสูตร
ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม
ภิกษุรู้ว่าเวทนานี้เป็น ทุกข์ มีความพินาศเป็นธรรมดา
ภิกษุย่อมคลายความยินดี ในเวทนา เหล่านั้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ปหานสูตร
เธอทั้งหลายพึงละราคานุสัยในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา ละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุข เวทนา เราเรียกว่าเป็นผู้ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ปาตาลสูตร
คำว่า บาดาล นี้ เป็นชื่อของ ทุกขเวทนา
นรชนใด ถูกทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว อดกลั้นไม่ได้ ย่อมหวั่นไหว นรชนนั้น ย่อมไม่ปรากฏ ในบาดาล ทั้งหยั่งไม่ถึงอีกด้วย

ส่วนนรชนใด ถูกทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว
อดกลั้นไว้ได้ ไม่หวั่นไหว นรชนนั้นแล ย่อมปรากฏ ในบาดาล ทั้งหยั่งถึงอีกด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทัฏฐัพพสูตร
ภิกษุ ท.
พึงเห็นสุขเวทนาโดยความ เป็นทุกข์
พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความ เป็นลูกศร
พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนา โดยความ เป็นของไม่เที่ยง
ภิกษุนี้เรากล่าวว่า มีความเห็นโดยชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำ ที่สุดแห่งทุกข์แล้ว

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

 

ปฐมกสคาถวรรคที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๑๙

สมาธิสูตร

          [๓๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา๓ เหล่านี้แล

          [๓๖๐] สาวกของพระพุทธเจ้า มีจิตมั่นคงดีแล้ว มีสัมปชัญญะ มีสติ ย่อมรู้ชัด ซึ่งเวทนา และเหตุเกิดแห่งเวทนาทั้งหลาย อนึ่งเวทนาเหล่านี้จะ ดับไปในที่ใด ย่อมรู้ชัดซึ่งที่นั้น (คือนิพพาน) และทางดำเนินให้ ถึงความสิ้นไป แห่งเวทนา เหล่านั้น เพราะสิ้นเวทนา ภิกษุเป็นผู้หมด ความหิว ปรินิพพานแล้ว

จบสูตรที่ ๑

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๑๙

สุขสูตร

          [๓๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้แล

          [๓๖๒] ความเสวยอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตามเป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ ทุกข์ ไม่ใช่สุขก็ตาม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอกมีอยู่ ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็น ทุกข์ มีความพินาศเป็นธรรมดา มีความทำลาย เป็นธรรมดา ถูกต้องความสิ้นไปอยู่ ย่อมคลายความยินดี ในเวทนา เหล่านั้น ด้วยประการอย่างนี้

จบสูตรที่ ๒

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๑๙

ปหานสูตร

          [๓๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงละราคานุสัย ในสุขเวทนาพึงละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา พึงละอวิชชานุสัย ในอทุกขมสุขเวทนา

          เพราะเหตุที่ภิกษุ ละราคานุสัยในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา ละ อวิชชานุสัย ในอทุกขมสุขเวทนา ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่มีราคานุสัย มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุด แห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ

          [๓๖๔] ราคานุสัยนั้น ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้เสวยสุขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ มีปรกติ ไม่เห็นธรรม เป็นเครื่องสลัดออก ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้เสวยทุกขเวทนา ไม่รู้สึกตัว มีปรกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก บุคคลเพลิดเพลิน อทุกขมสุข เวทนา ซึ่งมีอยู่ อันพระผู้มีพระภาคผู้มี ปัญญาประดุจปฐพีทรงแสดงแล้ว ย่อมไม่ หลุดพ้นไปจากทุกข์เลย

           เพราะเหตุที่ภิกษุผู้มีความเพียรละทิ้งเสียได้ ด้วย สัมปชัญญะ เธอชื่อว่า เป็นบัณฑิต ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะ มิได้ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรมถึงที่สุดเวท เมื่อตายไป ย่อมไม่เข้าถึงความนับว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง เป็นผู้หลง ดังนี้

จบสูตรที่ ๓

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๒๐

ปาตาลสูตร

          [๓๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมพูดอย่างนี้ว่า ในมหาสมุทร มีบาดาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมพูดวาจา อันไม่มี ไม่ปรากฏอย่างนี้ว่า ในมหาสมุทรมีบาดาล

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า บาดาล นี้ เป็นชื่อของ ทุกขเวทนา ที่เป็นไปใน สรีระแล ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกทุกขเวทนา อันเป็นไปในสรีระถูกต้องแล้ว ย่อม เศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึง ความงมงาย ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับนี้ เรากล่าวว่า ไม่ปรากฏในบาดาล ทั้งหยั่งไม่ถึง อีกด้วย

           ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ถูกทุกขเวทนา อันเป็นไปในสรีระ ถูกต้อง ย่อมไม่ เศร้าโศกไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมไม่ถึง ความงมงาย

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วนี้ เรากล่าวว่า ย่อมปรากฏใน บาดาล ทั้งหยั่งถึงอีกด้วย

          [๓๖๖] นรชนใด ถูกทุกขเวทนา เหล่านี้ อันเป็นไปในสรีระ เครื่องนำชีวิต เสียบังเกิดขึ้น ถูกต้องแล้ว อดกลั้นไม่ได้ ย่อมหวั่นไหว เป็นผู้ทุรพลกำลังน้อย ย่อม คร่ำครวญ ร่ำไร นรชนนั้นย่อมไม่ปรากฏในบาดาล ทั้งหยั่งไม่ถึงอีกด้วย

          ส่วนนรชนใด ถูกทุกขเวทนา เหล่านี้ อันเป็นไปในสรีระ เครื่องนำชีวิตเสีย บังเกิดขึ้น ถูกต้อง อดกลั้นไว้ได้ ย่อมไม่หวั่นไหว นรชนนั้นแล ย่อมปรากฏในบาดาล ทั้งหยั่งถึงอีกด้วย

จบสูตรที่ ๔

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๒๑

ทัฏฐัพพสูตร

          [๓๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ภิกษุทั้งหลาย พึงเห็นสุขเวทนาโดยความ เป็นทุกข์ พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็น ของไม่เที่ยง

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นสุขเวทนา โดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกขเวทนา โดยความเป็นลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็นของ ไม่เที่ยง ภิกษุนี้เรากล่าวว่า มีความเห็นโดยชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอน สังโยชน์ ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะได้ โดยชอบ

          [๓๖๘] ถ้าภิกษุใดเห็นสุข โดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกข์โดยความเป็นลูกศร เห็น อทุกขมสุข ซึ่งมีอยู่นั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง ภิกษุนั้นเป็นผู้ เห็นโดยชอบ ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งหลายได้ ครั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะ มิได้ใน ปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรม ถึงที่สุดเวท เมื่อตายไปย่อมไม่เข้าถึงความนับว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง เป็นผู้งมงาย

จบสูตรที่ ๕







พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์