ปฐมกสคาถวรรคที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๕-๒๔๗
เคลัญญสูตรที่ ๒
[๓๘๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไป ยังศาลาคนไข้ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัส เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ
[๓๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ทั้งหลาย ฯลฯ ในจิต ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสีย (สติปัฏฐาน๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติ อย่างนี้แล
[๓๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปรกติ ทำความรู้สึกตัว ในการก้าวไป ในการถอยกลับ ฯลฯ ในการพูด ในการนิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้ มีสติสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอน พวกเธอ
[๓๘๕] ถ้าเมื่อภิกษุมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนา เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็สุขเวทนานั้นแล อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยผัสสะนี้เอง ก็แต่ว่าผัสสะนี้ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ก็สุขเวทนา ซึ่งอาศัย ผัสสะ อันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา จักเที่ยง แต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
เธอย่อมพิจารณาเห็นความ เสื่อมไป พิจารณาเห็นความคลายไป พิจารณา เห็นความ ดับไป พิจารณาเห็นความ สละคืน เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็น ความเสื่อมไป พิจารณา เห็นความคลายไป พิจารณาเห็นความดับไป พิจารณาเห็น ความสละคืน ในผัสสะ และ ในสุขเวทนาอยู่ ย่อมละราคานุสัยใน ผัสสะ และใน สุขเวทนา เสียได้
[๓๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติ มีสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ ทุกขเวทนาย่อมเกิดขึ้น ฯลฯ
อทุกขมสุขเวทนานี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็อทุกขมสุขเวทนานั้นแล อาศัยจึง เกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้นอาศัยอะไร อาศัยผัสสะนี้แลบังเกิดขึ้น ก็ผัสสะนี้แล ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ฯลฯ
ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา เธอย่อมรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ
ถ้าเสวยอทุกขมสุข เวทนา เธอย่อมรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวย อทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนา มีชีวิตเป็น ที่สุด รู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวง อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็น ในโลกนี้ทีเดียว
[๓๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมัน และไส้ จึงติดอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้น ไม่มีเชื้อพึงดับไป ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุเมื่อเสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนา มีกาย เป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัด ว่าเมื่อตายไปเวทนาทั้งปวง อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ ทีเดียว
จบสูตรที่ ๘
|