เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
นายคามณี
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของ นายคามณี
(คามณี แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
Ka 105
         ออกไปหน้าหลัก 5 of 5
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  ปาฏลิยสูตร เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๕ ข้อ [๖๔๙-๖๗๓]
  1) พระองค์ไม่ปฏิเสธที่ถูกกล่าวหาว่าทรงรู้จักมายา เขาย่อมไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง
  2) มายาของตถาคต คือรู้ชัดทั้งมายา ผลของมายา และการปฏิบัติ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย .. นรก
  3) ตถาคตรู้ชัดทั้งปาณาติบาต ผลของการปฏิบัติ.. รู้ชัดทั้ง อทินนาทาน มุสาวาท... พยาบาท มิจฉาทิฐิ
  4) สมณพราหมณ์บางพวกมีทิฐิว่า ผู้ทำผิดทุกคนต้องรับผลของการกระทำในปัจจุบัน เท่านั้น
  5) ทรงถามคามณีว่า สมณะเหล่านั้น พูดจริงหรือเท็จ คามณีตอบว่าพูดเท็จ..คนทุศีล..มีธรรมเลวทราม..ไม่ควรเลื่อมใส 
  6) ทรงอุปมายกตัวอย่างหลายกรณี ทำให้พระราชาพอใจจนได้รับรางวัล และทำให้พระราชาไม่พอใจ ถูกลงโทษ 
  7) (จากข้อ6) ที่ทรงอุปมา จะขัดแย้งกับวาทะของสมณพราหมณ์บางพวก ว่า ผู้ลักทรัพย์ ต้องเสวยทุกข์ในปัจจุบัน 
  8) ทรงถามนายคามณี ทิฐิที่ว่าผู้ประพฤติผิด ต้องเสวยทุกข์ในปัจจุบัน เขาพูดจริงหรือเท็จ คามณีทูลว่า.. พูดเท็จ
  9) ศาสดา ๔ ท่าน มีวาทะต่างกัน มีความเห็นต่างกัน คามณีเกิดความสงสัย จึงถามพระผู้มีพระภาคว่า ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ
  10) ตรัสว่า ถ้าจิตตั้งอยู่ ธรรมสมาธิ จะละความสงสัยนี้ได้
  11) ธรรมสมาธิเป็นไฉน คือประพฤติตามกุศลกรรมบ ๑๐ และการเจริญเมตตาจิต 
  12) ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล
  13) ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า ทานมีผล การบูชามีผล ผลวิบากที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่ โลกนี้มีโลกหน้ามี 
  14) ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ชื่อว่า ไม่ทำบาป และผู้ที่ทำบุญ บุญนั้นก็ไม่มาถึงเขา
  15) ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ชื่อว่าทำบาป ผู้ทำบุญ บุญนั้นย่อมมีแก่เขา
  16) ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล สอนผู้อื่น ให้รู้ตาม ไม่มีในโลก
  17) ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า ทานมีผล การบูชามีผล สอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีในโลก
  18) ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำตัดเอง ผู้เบียดเบียน ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป 
  19) ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ หรือใช้คนอื่นเบียดเบียน ผู้ทำชื่อว่าทำบาป

 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๕
(คามณิสังยุตต์)

ปาฏลิยสูตร


1)
พระองค์ไม่ปฏิเสธที่ถูกกล่าวหาว่าทรงรู้จักมายา
เขาย่อมไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง

          [๖๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อุตตรนิคมแห่งชาวโกฬิยะ ในแคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่า ปาฏลิยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงรู้จักมายา (การลวง เลห์กล มารยา)

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงรู้จัก มายา ดังนี้ ชนเหล่านั้นเป็นอันกล่าวตามพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะ ที่ถูกไรๆจะไม่ถึงฐานะ อันวิญญูชนจะติเตียนได้ แลหรือ เพราะว่าข้าพระองค์ ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

          ดูกรนายคามณี ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ทรงทราบ มายา ดังนี้ ชนเหล่านั้นเป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ย่อมไม่กล่าวตู่เราด้วยคำ ไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ย่อมไม่ถึง ฐานะ อันวิญญูชนจะติเตียนได้ ฯ

          คา. ข่าวเล่าลือข้อนั้นจริงเทียวพระองค์ แต่พวกข้าพระองค์ มิได้เชื่อถือ สมณพราหมณ์พวกนั้นว่า พระสมณโคดมทรงรู้จักมายา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่า พระสมณโคดมมีมายา ฯ

          พ. ดูกรนายคามณี ผู้ใดแลพูดอย่างนี้ว่า เรารู้จักมายา ผู้นั้นย่อมจะพูดอย่างนี้ ว่า เรามีมายา ฯ

          คา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นย่อมเป็นดังนั้นเทียว ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้น ย่อมเป็นดังนั้นเทียว ฯ

          พ. ดูกรนายคามณี ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพึงแก้ตาม ที่ท่านชอบใจ ฯ
------------------------------------------------------------------------------------------------------


2)
มายาของตถาคต คือรู้ชัดทั้งมายา ผลของมายา และตลอดถึงการปฏิบัติของ บุคคลนั้นว่า เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

          [๖๕๐] ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านย่อมรู้จักพวก อำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะหรือ ฯ

          คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้จักพวกอำมาตย์ ผู้มีมวยผมยาว แห่งชาวโกฬิยะ พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวกอำมาตย์ ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะมีประโยชน์อย่างไร

          คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาว แห่งชาวโกฬิยะ มีประโยชน์ดังนี้คือ เพื่อป้องกันพวกโจรแห่งชาวโกฬิยะ เพื่อละความเป็นคนนำข่าว แห่งชาวโกฬิยะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาว แห่งชาวโกฬิยะ มีประโยชน์อย่างนี้ พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านย่อมรู้จักอำมาตย์ ผู้มีมวยผมยาวในนิคมแห่งชาวโกฬิยะว่า เป็นคนมีศีลหรือเป็นคนทุศีล

          คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้จักพวกอำมาตย์ ผู้มีมวยผมยาว แห่งชาวโกฬิยะ ว่าเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม และพวกอำมาตย์ ผู้มีมวยผมยาว แห่งโกฬิยะ เป็นพวกหนึ่งในจำนวนบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทรามในโลก

          พ. ดูกรนายคามณี ผู้ใดแลพึงพูดอย่างนี้ว่า นายบ้านนามว่าปาฏลิยะ รู้จัก พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาว แห่งชาวโกฬิยะ ซึ่งเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้นายบ้านปาฏลิยะ ก็เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อพูดถึงพึงพูดถูก หรือหนอแล

          คา. หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาว แห่งชาว โกฬิยะ เป็นพวกหนึ่ง ข้าพระองค์เป็นพวกหนึ่ง พวกอำมาตย์ ผู้มีมวยผมยาว แห่งชาวโกฬิยะ เป็นคนมีธรรมเป็นอย่างหนึ่ง ข้าพระองค์เป็นคนมีธรรมเป็นอย่างหนึ่ง

          พ. ดูกรนายคามณี ก็ที่จริง ท่านจักไม่ได้เป็นดังนี้ว่า นายบ้านนามว่า ปาฏลิยะ รู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะ ซึ่งเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม แต่นายบ้านปาฏลิยะไม่ใช่เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ฉะนั้นตถาคตจักไม่ได้เป็นดังนี้ว่า ตถาคตรู้จักมายา แต่ว่าตถาคตไม่มีมายา
------------------------------------------------------------------------------------------------------


3)
ตถาคตรู้ชัด ทั้งทั้งปาณาติบาต ผลของปาณาติบาต ผลของการปฏิบัติ.. รู้ชัดทั้ง อทินนาทาน มุสาวาท... พยาบาท มิจฉาทิฐิ

          [๖๕๑] ดูกรนายคามณี เรารู้ชัดทั้งมายา ผลของมายา และตลอดถึง ความที่บุคคลผู้มีมายาปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

          
เรารู้ชัด ทั้งปาณาติบาต ผลของปาณาติบาต และตลอดถึงความที่ บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

          เรารู้ชัดทั้ง อทินนาทาน ผลของอทินนาทาน และตลอดถึงความที่บุคคล ผู้ลักทรัพย์ ปฏิบัติ อย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เรารู้ชัด ทั้งกาเมสุมิจฉาจาร ผลของกาเมสุมิจฉาจาร และตลอดถึงความที่ บุคคล ผู้ประพฤติผิดในกามปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติวินิบาต นรก

           เรารู้ชัด ทั้งมุสาวาท ผลของมุสาวาท และตลอดถึงความที่บุคคล ผู้พูดเท็จ ปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เรารู้ชัด ทั้งปิสุณาวาจา ผลของปิสุณวาจาและตลอดถึงความที่ บุคคลกล่าวคำ ส่อเสียดปฏิบัติ อย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

           เรารู้ชัดทั้ง ผรุสวาจา ผลของผรุสวาจา และตลอดถึงความที่บุคคล ผู้กล่าวคำหยาบ ปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก

           เรารู้ชัดทั้ง สัมผัปปลาปะ ผลของสัมผัปปลาปะ และตลอดถึงความที่ บุคคล ผู้พูด เพ้อเจ้อ ปฏิบัติ อย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเรารู้ชัด ทั้ง อภิชฌา ผลของอภิชฌาแ ละตลอดถึงความที่บุคคล ผู้มีอภิชฌาปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

           เรารู้ชัดทั้งความ พยาบาท ประทุษร้ายเขา ผลของความพยาบาท ประทุษร้ายเขา และตลอดถึงความที่บุคคล ผู้มีจิตพยาบาทปฏิบัติ อย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

           เรารู้ชัดทั้งมิจฉาทิฐิ ผลของมิจฉาทิฐิ และตลอดถึงความ ที่บุคคลผู้เป็น มิจฉาทิฐิ ปฏิบัติอย่างไร แล้ว เมื่อแตกกายตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาตนรก

------------------------------------------------------------------------------------------------------


4)
สมณพราหมณ์บางพวกมีทิฐิว่า ผู้ทำผิดทุกคนต้องรับผลของการกระทำในปัจจุบัน เท่านั้น เช่นถูกลงทัณฑ์โดยพระราชา

          [๖๕๒] ดูกรนายคามณี มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิ อย่างนี้ ว่า
บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ทุกคน ต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน
บุคคลผู้ลักทรัพย์ทุกคน ต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามคุณ ทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน
บุคคลผู้พูดเท็จ ทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน ฯ

          [๖๕๓] ดูกรนายคามณี ก็แหละบุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าเป็น ผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผมและหนวดแล้วให้บำเรอ ตน ด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา ชนทั้งหลายพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า

           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไร จึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผมและหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา ชนทั้งหลายได้พูดถึงชายคนนั้นอย่างนี้ว่า

           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ข่มข้าศึกของพระราชาแล้ว ฆ่ามันเสีย พระราชา ทรงโสมนัส ได้ทรงพระราชทานรางวัล ฉะนั้น ชายคนนี้จึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผมและหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่ กับสตรี เหมือนกับพระราชา

           ดูกรนายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าถูกเขาเอาเชือก ที่เหนียวแน่น มัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้ว โกนศีรษะเสีย แล้วพาตระเวนไปตาม ถนนตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงสนั่น แล้วออกทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะเสีย ทางด้านทักษิณของพระนคร ชนทั้งหลายได้พูดถึงบุคคลนั้น อย่างนี้ว่า

           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไรไว้ จึงถูกเขาเอาเชือกที่เหนียวแน่น มัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้ว โกนศีรษะเสีย แล้วพาตระเวนไปตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงสนั่น แล้วออกทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะ เสีย ทางด้านทักษิณของพระนคร ชนทั้งหลายได้พูดถึงชายคนนี้ว่า

           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ฆ่าบุรุษ หรือสตรีที่มีเวรกับพระราชา ฉะนั้น พระราชาทั้งหลาย จึงรับสั่งให้จับเขาแล้วกระทำกรรมกรณ์เห็นปานนี้ ดังนี้

           ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านได้เห็นหรือ ได้ฟังมาบ้างไหม ฯ

           คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์เช่นนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นมาแล้วด้วย ได้ฟังมาแล้วด้วย จักได้ฟังต่อไปอีกด้วย ฯ
------------------------------------------------------------------------------------------------------


5)
พระผู้มีพระภาคทรงถาม คามณีว่า สมณะพราหมณ์เหล่านั้น พูดจริงหรือเท็จ คามณีตอบว่าพูดเท็จ..เป็นคนทุศีล..มีธรรมเลวทราม..ไม่ควรเลื่อมใส

          [๖๕๔] พ. ดูกรนายคามณี ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์ พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ทุกคน ต้องเสวยทุกข์โทมนัส ในปัจจุบัน ดังนี้ เขาเหล่านั้นพูดจริงหรือเท็จ ฯ
คา. พูดเท็จ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็พวกที่กล่าวเท็จเปล่าๆ นั้น เป็นคนมีศีลหรือเป็นคนทุศีลเล่า ฯ
คา. เป็นคนทุศีล พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็พวกที่เป็นคนทุศีลมีธรรมเลวทรามนั้น เป็นคนปฏิบัติผิดหรือเป็นคนปฏิบัติชอบ เล่า ฯ
คา. เป็นคนปฏิบัติผิด พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็พวกที่ปฏิบัติผิดนั้น เป็นคนมีความเห็นผิดหรือเป็นคนมีความเห็นชอบเล่า ฯ
คา. เป็นคนมีความเห็นผิด พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็สมควรละหรือที่จะเลื่อมใสในพวกที่มีความเห็นผิดเหล่านั้น ฯ
คา. ไม่สมควรเลย พระเจ้าข้า ฯ
------------------------------------------------------------------------------------------------------

6)
ทรงอุปมายกตัวอย่างหลายกรณี ของผู้ที่ทำให้พระราชาพอใจจนได้รับรางวัล และผู้ที่ทำให้พระราชาไม่พอใจ จนถูกลงโทษทำกรรมกรณ์

          [๖๕๕] พ. ดูกรนายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้ประดับ ด้วยดอกไม้ใส่ตุ้มหู ฯลฯ แล้วให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา ชนทั้งหลายพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไร จึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู ฯลฯให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา ชนทั้งหลายได้พากัน พูดถึงชายคนนี้อย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ข่มขี่ ลักเอาทรัพย์ของข้าศึกของพระราชา พระราชาทรงโสมนัส
ได้พระราชทานรางวัลแก่เขา ฉะนั้น ชายคนนี้จึงประดับด้วย ดอกไม้ ใส่ตุ้มหู ฯลฯ ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรีเหมือนกับพระราชา

           ดูกรนายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าถูกเขาเอาเชือกที่เหนียว มัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้ว ฯลฯ ตัดศีรษะทางด้านทิศทักษิณของพระนคร ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไรจึงถูกเขาเอาเชือกที่เหนียว มัดแขน เอามือไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้ว ฯลฯ ตัดศีรษะเสียทางด้านทักษิณของพระนคร
           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ลักทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งแห่งโจรกรรม จากบ้านบ้าง จากป่าบ้าง ฉะนั้น
พระราชาจึงรับสั่งให้จับเขาแล้วทำกรรมกรณ์ เห็นปานนี้

           ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านได้เห็น หรือได้ฟังมาแล้วบ้างไหม ฯ
           คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์เช่นนี้ข้าพระองค์ได้เห็นมาแล้ว ด้วยได้ฟัง มาแล้ว ด้วยจักได้ฟังต่อไปอีกด้วย ฯ


(ข้อสังเกตุ ลักทรัพย์ของข้าศึกได้พระราชทานรางวัล แต่ลักทรัพย์ชาวบานถูกลงโทษ ทั้งที่เป็นบาปกรรมเหมือนกัน แต่ผลที่ได้รับต่างกัน)
------------------------------------------------------------------------------------------------------

7)
จากกรณีตัวอย่าง (ข้อ6) ที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมา จะขัดแย้งกับวาทะของ สมณพราหมณ์บางพวกที่ว่า ผู้ลักทรัพย์ ต้องเสวยทุกข์ในปัจจุบัน

          [๖๕๖] พ. ดูกรนายคามณี สมณพราหมณ์ พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ ว่าบุคคลผู้ลักทรัพย์ทุกคน ต้องเสวยทุกขโทมนัสในปัจจุบัน ดังนี้ เขาเหล่านั้นพูดจริง หรือเท็จ ฯ
          คา. พูดเท็จ พระเจ้าข้า ฯลฯ

          พ. ก็สมควรละหรือที่จะเลื่อมใสในพวกที่มีความเห็นผิดเหล่านั้น ฯ
          คา. ไม่สมควรเลย พระเจ้าข้า ฯ

          [๖๕๗] ดูกรนายคามณี ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้ประดับ ด้วยดอกไม้ใส่ตุ้มหู ฯลฯ แล้วให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ
ชายคนนี้ได้ทำอะไร จึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ใส่ตุ้มหู ฯลฯ แล้วให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา ชนทั้งหลาย ได้พากัน พูดถึงคนนั้นอย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ
ชายคนนี้ประพฤติผิด ในภรรยาของข้าศึกของพระราชา พระราชาทรงโสมนัส ได้พระราชทานรางวัลแก่เขา เพราะเหตุนั้น ชายคนนี้ จึงเป็นผู้ ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู ฯลฯ แล้วให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับ พระราชา

           ดูกรนายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าถูกเขาเอาเชือกที่เหนียว มัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคง ฯลฯ แล้วตัดศีรษะเสีย ทางด้านทักษิณของพระนคร ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้กระทำอะไรไว้จึงถูกเขาเอาเชือกที่เหนียว มัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคง ฯลฯแล้วตัดศีรษะเสียทางด้านทักษิณของพระนคร ชนทั้งหลายพากันพูดถึงคนนั้นอย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ประพฤติผิดในกุลสตรีในกุลธิดา ฉะนั้นพระราชา ทั้งหลาย
จึงรับสั่งให้จับเขาแล้วกระทำกรรมกรณ์เห็นปานนี้

           ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านได้เห็น หรือได้ฟังมาแล้วบ้างไหม ฯ
           คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์เช่นนี้ข้าพระองค์ได้เห็นมาแล้ว ด้วยได้ฟังมา แล้วด้วย จักได้ฟังต่อไปอีกด้วย ฯ

8)
พระผู้มีพระภาคถามนายคามณี ทิฐิที่ว่า ว่าผู้ประพฤติผิดในกามคุณ การพูดเท็จ ต้องเสวยทุกข์โสมนัสในปัจจุบัน เขาพูดจริงหรือเท็จ คามณีทูลว่า พูดเท็จ

          [๖๕๘] พ. ดูกรนายคามณี ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์พวกที่ มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามคุณ ทุกคนต้องเสวย ทุกขโทมนัสในปัจจุบันดังนี้ เขาเหล่านั้นพูดจริงหรือเท็จ ฯ
           คา. พูดเท็จ พระเจ้าข้า ฯลฯ

           พ. ก็สมควรละหรือที่จะเลื่อมใสในพวกที่มีความเห็นผิดเหล่านั้น ฯ
           คา. ไม่สมควรเลย พระเจ้าข้า ฯ

          [๖๕๙] พ. ดูกรนายคามณี ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้ประดับ ด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผมและหนวด แล้วให้บำเรอตน ด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้น อย่างนี้ว่า
          ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไร จึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผมและหนวด แล้วให้บำเรอตนด้วยความใคร่ กับสตรี เหมือนกับพระราชา ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงคนนั้นอย่างนี้ว่า
          ดูกรท่านผู้เจริญ
ชายคนนี้ทำพระราชาให้ทรงพระสรวล ได้ด้วยการพูดเท็จ พระราชา ทรงโสมนัส ได้พระราชทานรางวัลแก่เขา ฉะนั้นชายคนนั้นจึงเป็นผู้ ประดับ ด้วยดอกไม้ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผมและหนวด แล้วให้บำเรอตน ด้วยความใคร่กับสตรีเหมือนกับพระราชา

           ดูกรนายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าถูกเขาเอาเชือกที่เหนียว มัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้วโกนหัวเสีย แล้วพาตระเวนไปตามถนนตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงสนั่น แล้วออกทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะเสีย ทางด้านทักษิณของพระนคร ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไร จึงถูกเอาเชือกที่เหนียว มัดแขน ไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้วโกนหัวเสีย แล้วพาตระเวนไปตามถนนตามตรอก ด้วย บัณเฑาะว์เสียงสนั่น แล้วออกทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะเสีย ทางด้านทักษิณของพระนคร ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงคนนั้นอย่างนี้ว่า
           ดูกรท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ทำลายประโยชน์ของคฤหบดีบ้าง ของบุตรแห่ง คฤหบดีบ้าง ด้วยการพูดเท็จ ฉะนั้น
พระราชาจึงรับสั่งให้จับเขาแล้วกระทำ กรรมกรณ์ เห็นปานนี้

           ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างไหม ฯ
           คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์เช่นนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นมาแล้วด้วย ได้ฟังมาแล้วด้วย จักได้ฟังต่อไปอีกด้วย ฯ

(กรณีบุคคลผู้พูดเท็จ)

          [๖๖๐] พ. ดูกรนายคามณี ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์ พวกที่มี วาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า บุคคลผู้พูดเท็จ ทุกคนต้องเสวยทุกข์ และ โทมนัสใน ปัจจุบัน ดังนี้เขาเหล่านั้นพูดจริงหรือเท็จ ฯ
คา. พูดเท็จ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็พวกที่กล่าวเท็จเปล่าๆ นั้น เป็นคนมีศีลหรือเป็นคนทุศีลเล่า ฯ
คา. เป็นคนทุศีล พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็พวกที่เป็นคนทุศีลมีธรรมอันเลวทรามนั้น เป็นคนปฏิบัติผิดหรือเป็นคนปฏิบัติ ชอบเล่า ฯ
คา. เป็นคนปฏิบัติผิด พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็พวกที่ปฏิบัติผิดนั้น เป็นคนมีความเห็นผิดหรือเป็นคนมีความเห็นชอบเล่า ฯ
คา. เป็นคนมีความเห็นผิด พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็สมควรละหรือที่จะเลื่อมใสในพวกที่มีความเห็นผิดเหล่านั้น ฯ
คา. ไม่มควรเลย พระเจ้าข้า

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมา ข้าพระองค์มีเรือนพักอยู่หลังหนึ่ง ในเรือนพักนั้นมีเตียงนอน มีที่นั่ง มีหม้อน้ำ มีประทีปน้ำมัน ข้าพระองค์จะแจกจ่ายแก่สมณะ หรือ พราหมณ์ผู้เข้าไปอยู่ในเรือนพัก นั้นตามสติกำลัง ฯ

9)
ศาสดา ๔ ท่าน มีวาทะต่างกัน มีความเห็นต่างกัน ทำให้นายคามณี เกิดความสงสัย จึงถามพระผู้มีพระภาคว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ

          [๖๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดา ๔ ท่าน ซึ่งมี ความเห็น มีความพอใจ มีความชอบใจต่างๆ กัน พากันเข้าไปอยู่ในเรือนพักนั้น

          ศาสดาท่านหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้ผุดขึ้นไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปดี ปฏิบัติชอบ กระทำให้โลกนี้ และโลกหน้า แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่น ให้รู้ตาม ไม่มีในโลก ฯ

          [๖๖๒] ศาสดาท่านหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานมีผล การบูชามีผลการเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีสมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปมี ปฏิบัติชอบ กระทำ โลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลก ฯ

          [๖๖๓] ศาสดาท่านหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคล ทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเองใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเองใช้ผู้อื่น ทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำเขาให้ดิ้นรนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อปล้น ไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยวทำชู้ภรรยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่เชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักร ซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ ให้เป็นลานเป็นกองมังสะอันเดียวกัน

           บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หาก บุคคลจะไปยังฝั่งขวา แห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเองใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน

           บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หาก บุคคลจะไปยังฝั่งซ้าย แห่งแม่น้ำคงคา ให้เองใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้น เป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวม การกล่าวคำสัตย์ บุญที่มีการทำเช่นนั้น เป็นเหตุย่อม ไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ฯ

          [๖๖๔] ศาสดาท่านหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคล ทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเองใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเองใช้ผู้อื่นทำ เขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำให้เขาดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภรรยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำชื่อว่า ทำบาป

           แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ ในปฐพีนี้ ให้เป็นลานเป็นกองมังสะอันเดียวกัน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมมีแก่เขา มีบาปถึงเขา

           แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้น เป็นเหตุ ย่อมมีแก่เขา มีบาปมาถึงเขาแม้หากบุคคล จะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเองใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมมีแก่เขา มีบุญมาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวม การกล่าวคำสัตย์ บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมมีแก่เขา มีบุญมาถึงเขา

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความสงสัยสนเท่ห์ว่า บรรดา สมณพราหมณ์ผู้เจริญ เหล่านี้ ใครหนอพูดจริง ใครหนอพูดเท็จ ฯ


10)

ตรัสว่า ถ้าจิตตั้งอยู่ ธรรมสมาธิ จะละความสงสัยนี้ได้

          [๖๖๕] พ. ดูกรนายคามณี ธรรมสมาธิมีอยู่ ถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้จิตตสมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพึงละความสงสัยนี้ได้ ดูกรนายคามณี ก็ธรรมสมาธิเป็นไฉน พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้


11)
ธรรมสมาธิเป็นไฉน คือประพฤติตามกุศลกรรมบ ๑๐ และการเจริญเมตตาจิต

           ดูกรนายคามณี เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นปาณาติบาต เป็นผู้ละ อทินนาทาน งดเว้นอทินนาทานเป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้ละมุสาวาท งดเว้นมุสาวาทเป็นผู้ละปิสุณาวาจา งดเว้นปิสุณาวาจา เป็นผู้ละ ผรุสวาจา งดเว้น ผรุสวาจา เป็นผู้ละสัมผัปปลาปะ งดเว้นสัมผัปปลาปะ เป็นผู้ละ อภิชฌา ไม่มากด้วย อภิชฌาเป็นผู้ละความพยาบาทประทุษร้าย มีจิตไม่พยาบาท เป็นผู้ละความเห็นผิด มีความเห็นชอบ (ละอกุศลกรรมบถ10)

          [๖๖๖] ดูกรนายคามณี พระอริยสาวกนั้น ผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจาก พยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า มีใจประกอบ ด้วย เมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณ มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ (การเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)


12)
ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล

           พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบาก ที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปดี ปฏิบัติชอบกระทำโลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่ง ด้วยตนเอง แล้วสอนหมู่สัตว์ให้รู้ตาม ไม่มีในโลก

           ถ้าถ้อยคำของศาสดานั้น เป็นความจริง ข้อที่เราสำรวมกายสำรวมวาจา สำรวมใจ ๑ ข้อที่เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อแตกกายตายไป ๑ ทั้งสองนี้ เป็นการถือเอาชัยชนะในข้อนี้ เพราะเราผู้ไม่เบียดเบียนใครๆ คือ ผู้สะดุ้ง หรือผู้มั่นคง เป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่พระอริยสาวกนั้น มื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุขเมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

           ดูกรนายคามณี นี้แลธรรมสมาธิ ถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้จิตต สมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพึงละความสงสัยนี้ได้ ฯ

13)
ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า ทานมีผล การบูชามีผล ผลวิบากที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่ โลกนี้มีโลกหน้ามี

          [๖๖๗] ดูกรนายคามณี พระอริยสาวกนั้น ผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจาก พยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้ามีใจประกอบ ด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ...

           พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานมีผล การบูชามีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบาก ที่ทำดี ทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีโลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมี สมณพราหมณ์ ผู้ดำเนินไปดี ปฏิบัติชอบ กระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลก ดังนี้

           ถ้าถ้อยคำของศาสดาผู้นั้นเป็นความจริง ข้อที่เราสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ๑ ข้อที่เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อแตกกายตายไป ๑ ทั้งสองนี้ เป็นการถือเอา ชัยชนะในข้อนี้ เพราะเราผู้ไม่เบียดเบียนใคร คือ ผู้สะดุ้ง หรือผู้มั่นคง เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ผิด ความปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้นแก่พระอริยสาวก นั้น เมื่อปราโมทย์ แล้วย่อมเกิด ปีติ เมื่อมีปีติในใ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อม ตั้งมั่น

           ดูกรนายคามณี นี้แลธรรมสมาธิถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้จิตต สมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านพึงละความสงสัยนี้ได้ ฯ

14)

ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ชื่อว่า ไม่ทำบาป และผู้ที่ทำบุญ บุญนั้นก็ไม่มาถึงเขา

          [๖๖๘] ดูกรนายคามณี พระอริยสาวกนั้น ผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจาก พยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้ามีใจประกอบ ด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ...

           พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ ในที่เปลี่ยว ทำชู้ภรรยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำชื่อว่าไม่ทำบาป

           แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ ในปฐพีนี้ ให้เป็นลาน ให้เป็นกองมังสะอันเดียวกัน
บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

           แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเองใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

           แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคาให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญ มาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวม การกล่าวคำสัตย์บุญที่มี การทำ เช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ดังนี้

           ถ้าถ้อยคำของศาสดานั้นเป็นความจริง ข้อที่เราสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ๑ ข้อที่เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อแตกกายตายไป ๑ ทั้งสองนี้เป็น การถือเอา ชัยชนะ ในข้อนี้ เพราะว่าเราผู้ไม่เบียดเบียนใครๆ คือผู้สะดุ้ง หรือผู้มั่นคง เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ผิด ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่พระอริยสาวก นั้น เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

           ดูกรนายคามณี นี้แลธรรมสมาธิ ถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้ จิตตสมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพึงละความสงสัยนี้ได้ ฯ

15)
ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ชื่อว่าทำบาป ผู้ทำบุญ บุญนั้นย่อมมีแก่เขา

          [๖๖๙] ดูกรนายคามณี พระอริยสาวกนั้น ผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจาก พยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้ามีใจประกอบ ด้วย เมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ...

           เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบากดิ้นรนเอง ทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภรรยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำชื่อว่าทำบาป

แม้หากผู้ใด จะใช้จักรมีคมโดยรอบ เหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ ให้เป็นลานเป็นกองมังสะอันเดียวกัน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมมีแก่เขา มีบาปมาถึงเขา

แม้หากบุคคล จะไปยัง ฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเองใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน
บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมมีแก่เขา มีบาปมาถึงเขา

แม้หากบุคคล จะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคาให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา
บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมมีแก่เขา มีบุญมาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวมการกล่าวคำสัตย์ บุญที่มีการทำ เช่นนั้น เป็นเหตุย่อมมี แก่เขา มีบุญมาถึงเขา ดังนี้

           ถ้าถ้อยคำของศาสดานั้นเป็นความจริง ข้อที่เราสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ๑ ข้อที่เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อแตกกายตายไป ๑ ทั้งสองนี้เป็น การถือเอา ชัยชนะในข้อนี้ เพราะเราผู้ไม่ เบียดเบียนใครๆ คือ ผู้สะดุ้ง หรือ ผู้มั่นคง เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ผิด ความปราโมทย์ ย่อมเกิด แก่พระอริยสาวก นั้น เมื่อปราโมทย์ แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

           ดูกรนายคามณี นี้แลธรรมสมาธิ ถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้จิตต สมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพึงละความสงสัยนี้ได้ ฯ

16)
ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล สอนผู้อื่น ให้รู้ตาม ไม่มีในโลก


          [๖๗๐] ดูกรนายคามณี พระอริยสาวกนั้น ผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจาก พยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า มีใจประกอบ ด้วยกรุณาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่

           พระอริยสาวกนั้นผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจากพยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไป ตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบ อุเบกขาไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

           พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบาก ที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ ผู้ดำเนินไปดี ปฏิบัติชอบกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วย ตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่มีในโลก

           ถ้าถ้อยคำของศาสดานั้น เป็นความจริง ข้อที่เราสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ๑ ข้อที่เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อแตกกายตายไป ๑ ทั้งสองนี้ เป็นการถือเอา ชัยชนะในข้อนี้ เพราะเราผู้ไม่เบียดเบียนใครๆคือ ผู้สะดุ้งหรือผู้มั่นคง เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ผิด ความปราโมทย์ ย่อมเกิดแก่พระอริยสาวกนั้น เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

           ดูกรนายคามณี นี้แลธรรมสมาธิ ถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้จิตต สมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพึงละความสงสัยนี้ได้ ฯ

17)
ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า ทานมีผล การบูชามีผล
สอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีในโลก

          [๖๗๑] ดูกรนายคามณี พระอริยสาวกนั้น ผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจาก พยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้ามีใจประกอบ ด้วย อุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ...

           พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานมีผล การบูชามีผลการเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามีสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไป ดี ปฏิบัติชอบ กระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลก ดังนี้

           ถ้าถ้อยคำของศาสดานั้นเป็นความจริง ข้อที่เราสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ๑ ข้อที่เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อแตกกายตายไป ๑ ทั้งสองนี้ เป็นการถือเอา ชัยชนะในข้อนั้น เพราะเราผู้ไม่เบียดเบียนใครๆ คือ ผู้สะดุ้ง หรือ ผู้มั่นคง เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่พระอริยสาวกนั้น เมื่อปราโมทย์ แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

           ดูกรนายคามณี นี้แลธรรมสมาธิ ถ้าท่านตั้งอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้จิตต สมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพึงละความสงสัยนี้ได้ ฯ

18)
ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำตัดเอง เบียดเบียน ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป

          [๖๗๒] ดูกรนายคามณี พระอริยสาวกนั้น ผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจาก พยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้ามีใจ ประกอบด้วย อุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศที่หนึ่งอยู่ ...

           พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่น ตัดเบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียนทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขา ให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำเขาให้ ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อปล้น ไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรม ในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภรรยาเขาพูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป

           แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคม โดยรอบเหมือนมีดโกนสังหาร เหล่าสัตว์ใน ปฐพี ให้เป็นลานเป็นกอง มังสะอันเดียวกัน
บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี แก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

           แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

           แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์การสำรวม การกล่าวคำสัตย์บุญ ที่มีการทำ เช่นนั้น เป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา

           ถ้าถ้อยคำของศาสดา ผู้นั้น เป็นความจริงข้อที่เราสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ๑ ข้อที่เราจักเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ เมื่อแตกกายตายไป ๑ ทั้งสองนี้ เป็นการถือเอาชัยชนะในข้อนี้ เพราะเราผู้ไม่ เบียดเบียน ใครๆ คือ ผู้สะดุ้ง หรือ ผู้มั่นคง เป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด ความปราโมทย์ย่อม เกิดแก่พระอริยสาวกนั้น เมื่อ ปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุขเมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

           ดูกรนายคามณี นี้แล ธรรมสมาธิ ถ้าท่าน ตั้งมั่นอยู่ในธรรมสมาธินั้น พึงได้จิตตสมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพึงละความสงสัย นี้ได้ ฯ


19)
ศาสดาบางคนมีวาทะอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำตัดเอง เป็นผู้เบียดเบียน หรือใช้คนอื่นเบียดเบียน ผู้ทำชื่อว่าทำบาป

          [๖๗๓] ดูกรนายคามณี พระอริยสาวกนั้น ผู้ซึ่งปราศจากอภิชฌา ปราศจาก พยาบาทแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้ามีใจ ประกอบ ด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวางแผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวรไม่มีความ เบียดเบียนอยู่

           พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขา ให้เศร้าโศกทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ตัดที่ต่อ ปล้น ไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภรรยาเขาพูดเท็จ ผู้ทำชื่อว่าทำบาป

           แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ใน ปฐพีนี้ ให้เป็นลานเป็นกองมังสะอันเดียวกัน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมมี แก่เขา มีบาปมาถึงเขา

           แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าตัดเอง ใช้ให้ ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมมีแก่เขา มีบาปมาถึงเขา

           แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคาให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมมีแก่เขา มีบุญมาถึงเขา ด้วยการ ให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวม การกล่าวคำสัตย์ บุญที่มีการทำเช่นนั้น เป็นเหตุ ย่อมมีแก่เขามีบุญมาถึงเขดังนี้

           ถ้าถ้อยคำของศาสดานั้นเป็นความจริง ข้อที่เราสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ๑ ข้อที่เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อแตกกายตายไป ๑ ทั้งสองนี้ เป็นการถือเอาชัยชนะในข้อนี้ เพราะเราผู้ไม่เบียดเบียนใครๆ คือ ผู้สะดุ้ง หรือผู้มั่นคง เป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิดความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่พระอริยสาวกนั้น เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

           ดูกรนายคามณีนี้แลธรรมสมาธิ ถ้าท่านตั้งอยู่ ในธรรมสมาธินั้น พึงได้จิตต สมาธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านพึงละความสงสัยนี้ได้ ฯ

           เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนามว่าปาฏลิยะ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรง ประกาศธรรมโดยอเนกปริยายดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คน หลงทาง หรือส่องไฟในที่มืดด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักแลเห็นรูป

           ฉะนั้นข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้ง พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็น อุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ฯ

จบสูตรที่ ๑๓

จบคามณิสังยุตต์


   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์