(1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๓๗ P1459
(สูตร ๑) เรื่องช่างไม้ปัญจกังคะ (ปัญจกังคสูตร)
(พระอุทายี กล่าวกะช่างไม้ปัญจกังคะว่าพระศาสดา ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง แต่ช่างไม้กล่าวว่า พระองค์ตรัสไว้ ๒ อย่าง คือสุขเวทนา และ ทุกขเวทนา)
[๔๐๙] ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ไหว้ท่าน พระอุทายีแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัส เวทนา ไว้เท่าไรหนอ ท่านพระอุทายี ตอบว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างนี้แล
[๔๑๐] เมื่อท่านพระอุทายี กล่าวอย่างนี้แล้ว ช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ ได้กล่าว กะท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง ตรัสไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนา อันเป็นไปฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ใน สุขอันประณีต แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอุทายี ก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า
ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาค ไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่างเลย พระผู้มีพระภาค ตรัสเวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัส เวทนา ๓ อย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๒ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ก็ได้กล่าว กะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลยตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขม สุขเวทนา อันเป็นไปในฝ่าย ละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ในสุขอันประณีต แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายี ก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า
ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาค ไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่างเลย ตรัสเวทนา ไว้ ๓ อย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัส เวทนา๓ อย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๓ ช่างไม้ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายี ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาอันเป็นไปในฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ในสุขอันประณีต ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้ช่างไม้ ตกลงได้ ฝ่ายช่างไม้ ก็ไม่สามารถให้ท่านพระอุทายีตกลงได้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(2)
(เวนา ๒ ก็มี เวทนา ๓ ก็มี เวทนา ๕ ๖ ๑๘ ๓๖ ๑๐๘ ก็มี )
[๔๑๑] ท่านพระอานนท์ ได้ฟังการสนทนาปราศรัยนี้ ของท่านพระอุทายี กับช่างไม้ ครั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล การสนทนาปราศัย แม้นั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ไม่คล้อยตามเหตุ อันมีอยู่ของภิกษุอุทายี ส่วนภิกษุอุทายี ก็ไม่คล้อยตามเหตุอันมีอยู่ ของช่างไม้
[๔๑๒] ดูกรอานนท์ โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มีโดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยปริยายอย่างนี้
ดูกรอานนท์ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยปริยายอย่างนี้แล ชนเหล่าใด จักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้น หวังได้ คือ ชนเหล่านั้น จักเกิดความบาดหมางกัน เกิดความทะเลาะกัน วิวาทกันจัก ทิ่มแทงกัน และกัน ด้วยหอกคือปาก ดูกรอานนท์ธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยปริยาย อย่างนี้แล
ดูกรอานนท์ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยปริยายอย่างนี้ ชนเหล่าใด จักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กัน และกัน เหตุนี้ ชนเหล่านั้นพึงหวังได้คือ ชนเหล่านั้นจักพร้อมเพรียงกัน ชื่นบาน ต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำเจือด้วยน้ำนม มองกันและกัน ด้วยจักษุอันเปี่ยม ด้วยความรักอยู่
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(3)
(กามคุณ ๕ เหล่านี้ นี้เราเรียกว่า กามสุข)
[๔๑๓] ดูกรอานนท์ กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูป ที่พึงรู้แจ้ง ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ชวนให้ กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กามคุณ๕ เหล่านี้แล ดูกรอานนท์ สุขโสมนัส ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัย กามคุณ ๕ เหล่านี้ นี้เราเรียกว่า กามสุข
(กามคุณ ๕ รูปรู้แจ้งด้วยจักษุ เสียงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นรู้แจ้งด้วยจมูก รสรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะรู้แจ้งด้วยกาย)
[๔๑๔] ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุข โสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยม และละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้ แก่ชน เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่น อันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่า สุขนั่น มีอยู่
-------------------------------------
(4)
(สุขอื่นที่ปราณีตกว่ากามสุข คือ ปิติ และสุข อันเกิดแต่สมาธิ)
[๔๑๕] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีต กว่าสุขนั่น (สุขในปฐมฌาน ปราณีตกว่า กามสุข)
ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแล พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุข โสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยม และละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้ แก่ชน เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่
------------------------------------------------------------------------------
[๔๑๖] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าทุติยฌาน อันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอก ผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่น อันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น ดูกรอานนท์
ชนเหล่าใดแล พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยม และละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่
------------------------------------------------------------------------------
[๔๑๗] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติ สิ้นไป เข้าตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีต--- กว่าสุขนั่น
ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุข โสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยม และละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่นมีอยู่
------------------------------------------------------------------------------
[๔๑๘] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แลเป็นสุขอื่น อันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น
[๔๑๙] ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแล พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุข โสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชน เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่
------------------------------------------------------------------------------
[๔๒๐] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าอากาสานัญจายตนฌาน โดยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลาย เพราะความดับสูญแห่ง ปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะไม่มนสิการ ถึงนานัตตสัญญาทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงอยู่นี้แลเป็นสุขอื่น อันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น
ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้เราไม่ยอมตาม คำนี้ แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุ อะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีต กว่า สุขนั่น มีอยู่
------------------------------------------------------------------------------
[๔๒๑] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนฌาน โดยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด นี้แลเป็นสุขอื่น อันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น
ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยม และละเอียดดังนี้ เราไม่ยอมตาม คำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุ อะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีต กว่าสุขนั่น มีอยู่
------------------------------------------------------------------------------
[๔๒๒] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌาน โดยบริกรรมว่า อะไรหน่อยหนึ่งไม่มี นี้แลเป็นสุขอื่น อันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น
ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียดดังนี้ เราไม่ยอมตาม คำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะ เหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีต กว่า สุขนั่น มีอยู่
------------------------------------------------------------------------------
[๔๒๓] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌาน โดยประการ ทั้งปวงแล้ว เข้า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่น อันน่าใคร่ยิ่งกว่า และ ประณีตกว่า สุขนั่น
ชนเหล่าใดแล พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุข โสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยม และละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้ แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะ เหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่
------------------------------------------------------------------------------
[๔๒๔] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าแ ละประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติอยู่
------------------------------------------------------------------------------
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น ก็ข้อที่ปริพาชก อัญญเดียรถีย์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม กล่าวสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และ ย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข ข้อนี้นั้นเพราะเหตุไร
ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ มีวาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงค้าน อย่างนี้ว่า
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ไม่ได้ทรงหมายเอา สุขเวทนา บัญญัตินิโรธนั้น ไว้ในความสุขเลย บุคคลย่อมได้สุข ในฐานะใดๆ พระตถาคต ย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆ อันเป็นสุขไว้ในความสุขทุกแห่ง
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๕
(5)
(สูตร ๒) เรื่องช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ (พหุเวทนิยสูตร)
(ตรัสกับพระอุทายี เรื่องเวทนา ๓ และเวทนา ๕ ๖ ๘ ๑๘ ๓๖ ๑๐๘)
[๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น นายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ เข้าไปหาท่านพระอุทายี นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
กถาว่าด้วยเวทนา
[๙๘] นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าว กะท่าน พระอุทายีว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้เท่าไร ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูกรคฤหบดีพระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล.
ป. ข้าแต่ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว.
ท่านพระอุทายีได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ ตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล.
นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวยืนคำเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่าน พระอุทายี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ไว้ ๒ ประการ คือสุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ในสุขอันสงบอันประณีตแล้ว.
ท่านพระอุทายีได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ ตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล.
นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว.
ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะยินยอมได้ นายช่างไม้ชื่อปัญจะกังคะก็ไม่สามารถจะให้ท่านพระอุทายียินยอมได้.
[๙๙] ท่านพระอานนท์ได้สดับถ้อยคำเจรจาของท่านพระอุทายี กับ นายช่างไม้ ชื่อ ปัญจกังคะ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.ท่านพระอานนท์นั่งแล้ว ณ ส่วนที่สุดข้างหนึ่งแล ได้กราบทูลถ้อยคำเจรจาของท่านพระอุทายี กับนายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค.
เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของพระอุทายี และพระอุทายีก็ไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ดูกรอานนท์ แม้เวทนา ๒ เราได้กล่าวโดยปริยาย ถึงเวทนา ๓ เวทนา ๔ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ เราก็กล่าวแล้วโดยปริยาย
ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ผู้ใดไม่รู้ตามด้วยดี ไม่สำคัญตามด้วยดี ไม่ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดีของกันและกัน ในธรรม ที่เราแสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักบาดหมางทะเลาะวิวาท ทิ่มแทงกันแลกัน ด้วยหอกคือปากอยู่
ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ ผู้ใดรู้ตามด้วยดี สำคัญตามด้วยดี ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ในธรรม ที่แสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักพร้อมเพรียง บันเทิง ไม่วิวาทกันเป็นเหมือนน้ำนมระคนกับน้ำ แลดูกันด้วยสายตาเป็นที่รักอยู่.
(6)
(กามคุณ ๕ คือกามสุข)
[๑๐๐] ดูกรอานนท์ กามคุณ ๕ นี้เป็นไฉน คือ รูปอันจะพึงรู้ด้วยจักษุ อันสัตว์ปรารถนาใคร่ พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้โดยโสต ...กลิ่นอันจะพึงรู้ด้วยฆานะ ... รสอันจะพึงรู้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้ด้วยกาย อันสัตว์ปรารถนา ใคร่ พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วย กาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรอานนท์นี้แลกามคุณ ๕ สุขโสมนัสอันใดย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ สุขและโสมนัสนี้เรากล่าวว่ากามสุข.
(7)
(ปีติและสุขในรูปฌานและอรูปฌาน)
[๑๐๑] ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่า สุขนี้ยังมีอยู่.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยมีอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติ สิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้ เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับ โสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดี ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสมีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่ มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นอันดี ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญา ยตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.
[๑๐๒] ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่.
ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญาน
ดูกรอานนท์ ข้อที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชก จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ตรัสสัญญาเวทยิตนิโรธไว้แล้ว แต่บัญญัติลงในสุข ข้อนี้นั้นจะเป็น ไฉนเล่า ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไรเล่าดังนี้ เป็นฐานะที่จะมิได้
ดูกรอานนท์ อัญญเดียรถีย์ปริพาชก ผู้มีวาทะอย่างนี้ ท่านควรจะกล่าวตอบว่า ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาค จะทรงหมาย สุขเวทนาอย่างเดียว แล้วบัญญัติไว้ในสุข หามิได้ แต่บุคคลได้สุขในที่ใดๆ พระตถาคตย่อมบัญญัติที่นั้นๆ ไว้ในสุข.
พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ชื่นชมยินดี พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ พหุเวทนิยสูตร ที่ ๙.
(8)
จากหนังสือ ปฏิบัติ สมถะวิปัสสนา-พุทธวจน หัวข้อ 59-60 P539
เวทนา ๑๐๘ (นัยที่ ๑)
-บาลี ม. ม. ๑๓/๙๔-๙๖/๙๘-๙๙.
นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ได้กล่าวกับท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาค ตรัสเวทนาไว้เท่าไร
ท่านพระอุทายีตอบว่า คหบดีพระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา คหบดี พระผู้มีพระภาคตรัส เวทนาไว้ ๓ ประการดังนี้
ข้าแต่ท่านพระอุทายี. พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระ ภาคตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว
ท่านพระอุทายีได้กล่าวคำเดิมเป็นครั้งที่ ๒ และนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ก็ได้กล่าวยืนยันคำของตัวเอง เป็นครั้งที่ ๒
ท่านพระอุทายีได้กล่าวคำเดิมเป็นครั้งที่ ๓ และนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ได้กล่าวยืนยันคำของตัวเอง เป็นครั้งที่ ๓
ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะยินยอมได้ นายช่างไม้ชื่อปัญจะกังคะก็ไม่สามารถ จะให้ท่าน พระอุทายียินยอมได้.
ท่านพระอานนท์ได้สดับถ้อยคำเจรจาของ ท่านพระอุทายี กับนายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ จึงได้กราบทูลถ้อยคำเจรจา ของ ท่านพระอุทายี กับ นายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ ทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูล อย่างนี้ แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
อานนท์. นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของพระอุทายี และ อุทายีก็ไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของนายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ
อานนท์. แม้เวทนา ๒ เราได้กล่าวโดยปริยาย ถึงเวทนา ๓.เวทนา ๔.(1).เวทนา ๕.เวทนา ๖.เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖. เวทนา ๑๐๘. เราก็กล่าว แล้วโดยปริยาย
อานนท์. ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ผู้ใดไม่รู้ตามด้วยดี ไม่สำคัญตามด้วยดี ไม่ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ในธรรมที่เราแสดงโดย ปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักบาดหมาง ทะเลาะวิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่.
อานนท์.ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ ผู้ใดรู้ตามด้วยดี สำคัญตามด้วยดี ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ในธรรมที่แสดงโดยปริยาย อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักพร้อม เพรียง บันเทิง ไม่วิวาท กัน เป็นเหมือน น้ำนม ระคนกับน้ำ แลดูกันด้วย สายตาเป็นที่รักอยู่.
(1)..บาลีฉบับมอญและอักษรโรมัน ไม่มีเวทนา ๔ -ผู้รวบรวม
9)
เวทนา ๑๐๘ (นัยที่ ๒)
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๘๖-๒๘๘/๔๓๐-๔๓๗.
ภิกษุทั้งหลาย.เราจักแสดงธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น ก็ธรรม ปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ เป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย.โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดย ปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี.โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี.
ภิกษุทั้งหลายก็เวทนา๒ เป็นอย่างไร เวทนา ๒ คือ
เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๒
ภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนา ๓ เป็นอย่างไร เวทนา ๓ คือ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๓
ภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนา ๕ เป็นอย่างไร เวทนา ๕ คือ
อินทรีย์คือ สุข อินทรีย์คือ ทุกข์ อินทรีย์คือ โสมนัส อินทรีย์คือ โทมนัส อินทรีย์คือ อุเบกขา เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๕.
ภิกษุทั้งหลาย. ก็เวทนา ๖ เป็นอย่างไร เวทนา๖ คือ
เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางหู เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางกาย เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางใจเหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๖
ก็เวทนา ๑๘ เป็นอย่างไร เวทนา ๑๘ คือ
เวทนาที่เกิดร่วมกับโสมนัส๖ เวทนาที่เกิดร่วมกับโทมนัส ๖ เวทนาที่เกิดร่วมกับอุเบกขา ๖ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๘.
ก็เวทนา ๓๖ เป็นอย่างไร เวทนา ๓๖ คือ
เคหสิตโสมนัส ๖ (โสมนัสอาศัยเรือน)
เนกขัมมโสมนัส๖ (โสมนัสอาศัยการหลีกออกจากกาม)
เคหสิตโทมนัส ๖ (โทมนัสอาศัยเรือน)
เนกขัมมสิตโทมนัส ๖ (โทมนัสอาศัยการหลีกออกจากกาม)
เคหสิตอุเบกขา๖ (อุเบกขาอาศัยเรือน)
เนกขัมมสิตอุเบกขา๖ (อุเบกขาอาศัยการหลีกออกจากกาม)
เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา๓๖
เวทนา ๑๐๘ เป็นอย่างไร เวทนา ๑๐๘ คือ
เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖
เวทนาที่เป็นอนาคต ๓๖
เวทนาที่เป็นปัจจุบัน ๓๖
เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๐๘
ภิกษุทั้งหลาย. เหล่านี้แล ธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘
(10)
(ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๔ (หนังสือพุทธวจน หน้า 449)
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อสิ้นตัณหาคือโพชฌงค์ (ขยสูตร)
(ตรัสกับอุทายี)
[๔๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อมเป็นไปเพื่อความ สิ้น ตัณหา เธอทั้งหลายจงเจริญมรรคานั้น ปฏิปทานั้น มรรคาและปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อ ความสิ้นตัณหาเป็นไฉน ? คือ โพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน ? คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.
[๔๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ? ย่อมเป็นไป เพื่อความสิ้นตัณหา.
ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวกอาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความ เบียดเบียน
เมื่อภิกษุนั้นเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียนย่อมละตัณหาได้ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน
เมื่อภิกษุนั้น เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย นิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึงละกรรมได้ เพราะละกรรม ได้ จึงละทุกข์ได้
ดูกรอุทายี เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล.
จบ สูตรที่ ๖
(11)
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อดับตัณหาคือโพชฌงค์ (นิโรธสูตร)
[๔๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อมเป็นไปเพื่อความดับ ตัณหา เธอทั้งหลายจงเจริญมรรคานั้น ปฏิปทานั้น มรรคาและปฏิปทาที่เป็นไป เพื่อความดับตัณหาเป็นไฉน ?
คือ โพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน ? คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขา สัมโพชฌงค์.
[๔๕๒]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้วอย่างไร ย่อมเป็นไปเพื่อความ ดับตัณหา ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัย วิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปใน การสละ ฯลฯย่อมเจริญอุเบกขา สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดับตัณหา.
จบ สูตรที่ ๗
(12)
มรรคาอันเป็นส่วนแห่งการแทงตลอดคือโพชฌงค์ (นิพเพธสูตร)
[๔๕๓]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมรรคาอันเป็นส่วนแห่ง่การแทงตลอด แก่เธอทั้งหลายเธอทั้งหลาย จงฟัง มรรคานั้น ก็มรรคา อันเป็นส่วนแห่งการ แทงตลอดเป็นไฉน ? คือโพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน ? คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.
[๔๕๔]
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมเป็นไป เพื่อความแทงตลอด ?
พ. ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน
เธอมีจิตอันสติสัมโพชฌงค์อบรมแล้ว ย่อมแทงทะลุ ย่อมทำลายกองโลภะ ที่ยังไม่เคยแทงทะลุ ยังไม่เคยทำลายเสียได้ ย่อมแทงทะลุ ย่อมทำลายกอง โทสะที่ยังไม่เคยแทงทะลุ ยังไม่เคยทำลายเสียได้ ย่อมแทงทะลุ ย่อมทำลาย กองโมหะ ที่ยังไม่เคยแทงทะลุ ยังไม่เคยทำลายเสียได้ ฯลฯ
ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ไม่มีความเบียดเบียน เธอมีจิตอัน อุเบกขา สัมโพชฌงค์อบรมแล้ว ย่อมแทงทะลุย่อมทำลายกองโลภะ ที่ยังไม่เคยแทงทะลุ ยังไม่เคยทำลายเสียได้ ย่อมแทงทะลุย่อมทำลาย กองโทสะ ที่ยังไม่เคยแทงทะลุ ยังไม่เคยทำลายเสียได้ ย่อมแทงทะลุ
ย่อมทำลายกองโมหะ ที่ยังไม่เคยแทงทะลุ ยังไม่เคยทำลายเสียได้
ดูกรอุทายี โพชฌงค์ ๗อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความแทงตลอด.
จบ สูตรที่ ๘
(13)
โพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อละธรรมเป็นที่ตั้งสังโยชน์
(เอกธัมมสูตร)
[๔๕๕]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้ข้อหนึ่ง ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อละธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง สังโยชน์ เหมือน โพชฌงค์ ๗ นี้เลยโพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน ? คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.
[๔๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้วอย่างไร ย่อมเป็นไปเพื่อละธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง สังโยชน์ ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัย วิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขา สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อละธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์.
[๔๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เป็นไฉน ? จักษุเป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เครื่องผูก เครื่องจองจำ คือ สังโยชน์เหล่านั้น ย่อมเกิดที่จักษุนี้หู... จมูก... ลิ้น... 1 ใจ เป็นธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เครื่องผูก เครื่องจองจำ คือสังโยชน์เหล่านั้น ย่อมเกิดที่ใจนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้ เรียกว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์.
จบ สูตรที่ ๙
(14)
พระผู้มีพระภาครับรองมรรคที่พระอุทายีได้แล้ว (อุทายิสูตร)
[๔๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชนชาวสุมภะ ชื่อเสตกะ ในแคว้น สุมภะ ครั้งนั้นท่าน พระอุทายี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า.
[๔๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นักพระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา มีขึ้น ความรัก ความเคารพ ความละอายใจ และความเกรงกลัวของข้าพระองค์ ซึ่งมีอยู่ใน พระผู้มีพระภาคมากเพียงไร ด้วยว่า ข้าพระองค์เมื่อเป็น คฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน อยู่ในกาลก่อน ก็มิได้กระทำความคุ้นเคยกับพระธรรมมากนัก มิได้กระทำ ความคุ้น เคยกับพระสงฆ์มากนัก
ข้าพระองค์เห็นความรัก ความเคารพ ความละอายใจ ความเกรงกลัว ในพระผู้มีพระภาค จึงออกบวชเป็น บรรพชิต พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม แก่ข้าพระองค์ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา... อย่างนี้สัญญา... อย่างนี้สังขาร... อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ ความเกิด แห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ.
[๔๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อยู่ในเรือนว่าง พิจารณาถึงความ เกิดและ ความเสื่อมแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่า นี้ได้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
1. บาลีเป็นอย่างนี้ กายหายไป
[๔๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมที่ข้าพระองค์บรรลุแล้ว และมรรคที่ ข้าพระองค์ได้แล้ว นั้น อันข้าพระองค์ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักน้อมนำ ข้าพระองค์ผู้อยู่ โดยอาการอย่างนั้นๆ ไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น โดยที่ข้าพระองค์ จักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี คือ
สติสัมโพชฌงค์ ที่ข้าพระองค์ได้แล้วนั้น อันข้าพระองค์เจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว จักน้อมนำข้าพระองค์ ผู้อยู่โดยอาการอย่างนั้นๆไป เพื่อความเป็น อย่างนั้น โดยที่ข้าพระองค์ จักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯลฯ
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ข้าพระองค์ได้แล้วนั้นอันข้าพระองค์เจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว จักน้อมนำ ข้าพระองค์ ผู้อยู่โดยอาการนั้น ๆ ไปเพื่อความเป็น อย่างนั้น โดยที่ข้าพระองค์ จักรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้วกิจ ที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
มรรคที่ข้าพระองค์ ได้แล้วนี้แล อันข้าพระองค์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักน้อมนำข้าพระองค์ ผู้อยู่โดยอาการนั้นๆ ไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น โดยที่ข้า พระองค์ จักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[๔๖๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ อุทายี มรรคที่เธอได้แล้วนั้นแล อันเธอเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักน้อมนำเธอผู้อยู่โดยอาการนั้นๆ ไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น โดยที่เธอจักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๑๐
จบ อุทายิวรรคที่ ๓
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โพธนสูตร ๒. เทสนาสูตร
๓. ฐานิยสูตร ๔. อโยนิโสสูตร
๕. อปริหานิยสูตร ๖. ขยสูตร
๗. นิโรธสูตร ๘. นิพเพธสูตร
๙. เอกธัมมสูตร ๑๐. อุทายิสูตร |