เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระอุทายี
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
         
  รวมพระสูตร เรื่องพระอุทายี 102
              ออกไปหน้าหลัก 2 of 5
จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
1 ธรรม ๕ ประการ เป็นเครื่องทำความเคารพ (ฆฏิการสูตร ๑)
2 ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๑ (ฆฏิการสูตร ๑)
3 ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๒ (ฆฏิการสูตร ๑)
4 ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๓ (ฆฏิการสูตร ๑)
5 ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๔ (ฆฏิการสูตร ๑)
6 ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๑ (ฆฏิการสูตร ๑)
  6.1 สติปัฏฐานสี่
  6.2 สัมมัปปธานสี่
  6.3 อิทธิบาทสี่
  6.4 อินทรีย์ห้า
  6.5 พละห้า
  6.6 โพชฌงค์เจ็ด
  6.7 วิโมกข์ ๘
  6.8 อภิภายตนะ (๘)
  6.9 กสิณายตนะ ๑๐
  6.10 ฌานสี่
7 อุทายีน้อยใจที่ทรงให้ละการฉันในเวลาวิกาล ทั้งกลางวันและกลางคืน (ลฑุกิโกปมสูตร)
8 เหตุผลที่ทรงให้งดฉันในวิกาล ทั้งกลางวันและกลางคืน (ลฑุกิโกปมสูตร)
9 พระอานนท์สนทนากับอุทายี กายนี้ เป็นอนัตตาฉันใด แม้วิญญาณก็ฉันนั้น อุปมาตัดต้นกล้วยใหม่ ไม่อาจพบแก่นได (อุทายีสูตร)
10 จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์ โคจรทั่วทิศสว่างไสว (จูฬนีสูตร)
 
 


(1)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๕ – ๒๙๗
(P858)

ธรรม ๕ ประการ เป็นเครื่องทำความเคารพ (ฆฏิการสูตร ๑)
ตรัสกับอุทายี

                [๓๒๔] ดูกรอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า (1) พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มีอาหารน้อย และ ทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรามีอาหาร เพียงเท่าโกสะ (จุในผลกระเบา) หนึ่งก็มีเพียงกึ่งโกสะก็มี เพียงเท่าเวลุวะ (จุในผลมะตูม) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งเวลุวะก็มี ส่วนเราแลบางครั้งบริโภคอาหาร เสมอ ขอบปากบาตรนี้ ก็มี ยิ่งกว่าก็มี. ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพนับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงมีอาหารน้อย และทรง สรรเสริญความ เป็นผู้มีอาหารน้อยไซร้ บรรดาสาวกของเราผู้มีอาหารเพียง เท่าโกสะ หนึ่งบ้าง เพียง กึ่งโกสะบ้าง เพียงเท่าเวลุวะบ้าง เพียงกึ่งเวลุวะบ้าง ก็จะไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่.

                [๓๒๕] ดูกรอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า(2) พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวร ตามมี ตามได้ และ ทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ อุทายี แต่สาวก ของเรา เป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล ทรงจีวรเศร้าหมองเธอเหล่านั้นเลือกเก็บเอา ผ้าเก่า แต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้างมาทำเป็นผ้า สังฆาฏิ ใช้ก็มีอยู่ ส่วนเราแล บางคราวก็ใช้คหบดีจีวรที่เนื้อแน่น ระกะด้วยเส้นด้าย มั่นคง มีเส้นด้าย เช่นกับขนน้ำเต้า (มีเส้นด้ายละเอียด) อุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึง สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรง สันโดษ ด้วยจีวร ตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษ ด้วยจีวร ตามมีตามได้ ไซร้ บรรดาสาวก ของเราที่ทรงผ้าบังสุกุล ใช้จีวรเศร้าหมอง เลือกเก็บเอาผ้าเก่า แต่ป่าช้า บ้าง แต่กอง หยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง มาทำเป็นผ้า สังฆาฏิใช้ ก็จะไม่พึง สักการะ เคารพ นับถือบูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่.

                [๓๒๖] ดูกรอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดม(3) ทรงสันโดษด้วยบิณฑบาต ตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ไซร้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเราเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับ ตรอกเป็นวัตร ยินดีในภัตตาหารทั้งสูงทั้งต่ำ เธอเหล่านั้นเมื่อเข้าไปถึงละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดีมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็ฉันในที่นิมนต์ แต่ล้วน เป็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เขาเก็บเมล็ดดำออกแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความ สันโดษ ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับ ตรอกเป็นวัตร ยินดีในภัตตาหารทั้งสูงทั้งต่ำ เมื่อเข้าไป ยังละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดี ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่.

                [๓๒๗] ดูกรอุทายี สาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ด้วยเข้าใจว่าพระสมณโคดม(4) ทรงสันโดษด้วยเสนาสนะ ตามมี ตามได้และทรงสรรเสริญความสันโดษ ด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ไซร้ อุทายี แต่สาวก ทั้งหลายของเราถือโคนไม้เป็นวัตร ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร เธอเหล่านั้น ไม่เข้าสู่ ที่มุงตลอดแปดเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งอยู่ในเรือนยอดที่ฉาบทา ทั้งข้างใน ข้างนอก ลมเข้าไม่ได้ มีลิ่มชิดสนิท มีหน้าต่างเปิดปิดได้ ถ้าสาวกทั้งหลาย จะพึง สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดม ทรง สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วย เสนาสนะ ตามมีตามได้ไซร้ บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ถืออยู่ในที่แจ้ง เป็นวัตร ไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือน ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา โดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่.

                [๓๒๘] ดูกรอุทายี สาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัด และ (5) ทรงสรรเสริญความสงัด อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรา ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด คือป่าชัฏอยู่ เธอเหล่านี้ย่อมมาประชุมในท่ามกลางสงฆ์ เฉพาะเวลาสวดปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน มีอยู่ ส่วนเราแล บางคราวก็อยู่เกลื่อนกล่น ไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ถ้าสาวกทั้งหลาย จะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดม เป็นผู้สงัด และทรงสรรเสริญความ สงัดไซร้ บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด คือป่าชัฏอยู่ มาประชุมในท่ามกลางสงฆ์เฉพาะเวลา สวด ปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้แล้ว พึ่งเราอยู่.

     อุทายี สาวกทั้งหลายจะไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึ่งเราอยู่ ด้วยประการฉะนี้.

(2)

ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๑

                [๓๒๙] ดูกรอุทายี มีธรรม ๕ ประการอย่างอื่น อันเป็นเหตุให้สาวก ทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ธรรม ๕ ประการเป็น ไฉน? ดูกรอุทายี สาวกทั้งหลายของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญในเพราะอธิศีลว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีศีล ประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง อุทายี ข้อที่สาวก ทั้งหลาย ของเราสรรเสริญในเพราะอธิศีลว่า พระสมณโคดม เป็นผู้มีศีลประกอบ ด้วยศีลขันธ์ อย่างยิ่ง นี้แลธรรมข้อที่หนึ่งอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเรา สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่.

(3)

ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๒

                [๓๓๐] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่สาวกทั้งหลายของเรา ย่อมสรรเสริญ ในเพราะความรู้ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดม เมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรง เห็นเองก็ตรัสว่าเห็นทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง
ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่แสดงไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรง แสดงไม่มีความอัศจรรย์ .
อุทายี ข้อที่สาวก ทั้งหลายของเราสรรเสริญ ในเพราะ ความรู้ ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดมเมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเอง ก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงเพื่อความ ไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดง ธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงธรรมไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความ อัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดง ไม่มีความอัศจรรย์. อุทายี นี้แล ธรรมข้อที่สองอันเป็นเหตุให้ สาวกทั้งหลาย ของเรา สักการะเคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่.

(4)
ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๓

                [๓๓๑] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราย่อมสรรเสริญ ในเพราะปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญา ขันธ์อันยิ่ง ข้อที่ว่าพระสมณโคดม จักไม่ทรงเล็งเห็นทางแห่งถ้อยคำอันยังไม่มาถึง หรือจักทรงข่มคำโต้เถียงของฝ่ายอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เป็นการข่มได้ด้วยดี พร้อมทั้ง เหตุไม่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้อุทายี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สาวกทั้งหลายของเรา เมื่อรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้จะพึงคัดค้านถ้อยคำ ให้ตกไปใน ระหว่างๆ บ้างหรือหนอ?

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ไม่มีเลย.

     ดูกรอุทายี ก็เราจะหวังการพร่ำสอนในสาวกทั้งหลายก็หาไม่ สาวกทั้งหลายย่อม หวังคำพร่ำสอนของเราโดยแท้. อุทายี ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราสรรเสริญ ในเพราะ ปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์อย่างยิ่ง ข้อที่ว่า พระสมณโคดมจักไม่ทรงเล็งเห็นทางแห่งถ้อยคำอันยังไม่มาถึง หรือจักทรง ข่ม คำโต้เถียงของฝ่ายอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เป็นการข่มได้ด้วยดีพร้อมทั้งเหตุไม่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้. อุทายี นี้แล ธรรมข้อที่สามอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลาย ของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้วพึ่งเราอยู่.

(5)
ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๔

                [๓๓๒] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราผู้อันทุกข์ ท่วมทับแล้วอันทุกข์ครอบงำแล้ว เพราะทุกข์ใด เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเราแล้ว ถามถึงทุกขอริยสัจ เราอัน เธอเหล่านั้น ถามถึงทุกขอริยสัจแล้ว ก็พยากรณ์ให้ ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเรา แล้วถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ ... ทุกขนิโรธอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ก็พยากรณ์ให้ยังจิต ของเธอเหล่านั้น ให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา. ดูกรอุทายี ข้อที่สาวกทั้งหลาย ของเรา ผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว อันทุกข์ครอบงำแล้ว เพราะทุกข์ใด เธอเหล่านั้น เข้ามาหาเราแล้วถามถึงทุกขอริยสัจ ... ถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ ... ถามถึงทุกข นิโรธอริยสัจ ... ถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ก็พยากรณ์ให้ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา. นี้แล ธรรมข้อที่สี่ อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเรา สักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วพึ่งเราอยู่.

(6)
ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๕

(6.1)
สติปัฏฐานสี่

                [๓๓๓] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสติปัฏฐานสี่. ดูกรอุทายี ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้. ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เรา บอกแล้ว เจริญสติปัฏฐานสี่นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมี อันเป็น ที่สุดแห่งอภิญญา (พระอรหัต) อยู่.

(6.2)

สัมมัปปธานสี่

                [๓๓๔] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสัมมัปปธานสี่. ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังความพอใจให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ เริ่มตั้งความเพียร เพื่อยังอกุศลธรรมอันลามก ที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อละอกุศล ธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยัง กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความ สมบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตาม ปฏิปทา ที่เราบอก แล้วเจริญสัมมัปปธานสี่นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุ บารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

(6.3)
อิทธิบาทสี่

                [๓๓๕] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอิทธิบาทสี่. ดูกรอุทายี ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร เจริญ อิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิ และปธานสังขาร เจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย จิตสมาธิ และปธานสังขารเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และปธาน สังขาร. ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญ อิทธิบาทสี่นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา อยู่.

(6.4)
อินทรีย์ห้า

                [๓๓๖] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทา แก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอินทรีย์ห้า. ดูกรอุทายี ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้เจริญสัทธินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญ วิริยินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญสตินทรีย์ที่จะให้ถึงความ สงบ ระงับ ให้ถึงความตรัสรู้เจริญสมาธินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความ ตรัสรู้ เจริญปัญญินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้. ก็เพราะสาวก ทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญอินทรีย์ห้านั้นแล สาวก ของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา.

(6.5)

พละห้า

                [๓๓๗] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญพละห้า. ดูกรอุทายี ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้เจริญสัทธาพละที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญ วิริยพละ ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญสติพละ ที่จะให้ถึงความ สงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญสมาธิพละที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญปัญญาพละ ที่จะให้ถึงความสงบระงับให้ถึงความตรัสรู้ เจริญปัญญาพละ ที่จะให้ ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้. ก็เพราะ สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตาม ปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญพละห้านั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมี อันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

(6.6)

โพชฌงค์เจ็ด

                [๓๓๘] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญโพชฌงค์เจ็ด.
ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

เจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละคืน

เจริญวิริยสัมโพชฌงค์
อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละคืน

เจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละคืน

เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละคืน

เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละคืน. ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว

เจริญโพชฌงค์เจ็ด นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมี อันเป็นที่สุด แห่งอภิญญาอยู่.

                [๓๓๙] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด. ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสัมมาทิฏฐิ เจริญสัมมาสังกัปปะ เจริญสัมมาวาจา เจริญ สัมมากัมมันตะ เจริญสัมมาอาชีวะเจริญสัมมาวายามะ เจริญสัมมาสติ เจริญสัมมา สมาธิ. ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญอริยมรรค มีองค์ ๘ นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา อยู่.

(6.7)
วิโมกข์ ๘

                [๓๔๐] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย ของเรา แล้วสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญวิโมกข์ ๘. คือ

     ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่หนึ่ง.

     ผู้ไม่มีรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปในภายนอก นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่สอง.      ผู้น้อมใจเชื่อว่า กสิณเป็นของงามอย่างเดียว นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่สาม.

     ผู้ที่บรรลุอากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูป สัญญาเพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ ข้อที่สี่.

     ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วง อากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ห้า.

     ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจา ยตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่หก.

     ผู้ที่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ โดยประการ ทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่เจ็ด.

     ผู้ที่บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการ ทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่แปด.

     ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว เจริญวิโมกข์แปด นั้นแลสาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

(6.8)
อภิภายตนะ (๘)

                [๓๔๑] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอภิภายตนะ (คือเหตุเครื่อง ครอบงำธรรมอันเป็นข้าศึกและอารมณ์) ๘ ประการ. คือ

     ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก ซึ่งมีผิวพรรณดี และมี ผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่หนึ่ง.

     ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่  ซึ่งมีผิวพรรณดี และมี ผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่สอง.

     ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก ซึ่งมีผิวพรรณดี และมี ผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่สาม.

      ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ ซึ่งมีผิวพรรณดี และมี ผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่สี่.

     ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว. ดอกผักตบอันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว หรือว่า ผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสีมีเนื้อเกลี้ยงทั้งสองข้าง อันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว แม้ฉันใดผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียวฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว ย่อมมี ความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่ห้า.

     ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลืองล้วนมีรัศมีเหลือง. ดอกกรรณิการ์อันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงทั้งสองข้าง อันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลืองล้วนมีรัศมีเหลือง แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง แม้ฉันนั้น เหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็น อภิภายตนะข้อที่หก.

     ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง มีวรรณแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง. ดอกบานไม่รู้โรยอันแดง มีวรรณแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง หรือว่า ผ้าที่ กำเนิดในเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงทั้งสองข้าง อันแดง มีวรรณแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง มีวรรณแดง แดงล้วน มีรัศมีแดงฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความ สำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่เจ็ด.

     ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว. ดาวประกายพฤกษ์อันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว หรือว่า ผ้าที่ กำเนิดในเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงทั้งสองข้าง อันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว แม้ฉันใดผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาวฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่แปด.

     ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญอภิภายตนะ ๘ นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมี อันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

(6.9)

กสิณายตนะ ๑๐

                [๓๔๒] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญกสิณายตนะ ๑๐ คือ

๑. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง ปฐวีกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๒. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง อาโปกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๓. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง เตโชกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๔. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง วาโยกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๕. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง นีลกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๖. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง ปิตกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๗. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง โลหิตกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๘. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง โอทาตกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๙. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง อากาสกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่หาประมาณมิได้.
๑๐. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง วิญญาณกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้.

     ก็เพราะสาวกทั้งหลาย ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญกสิณายตนะ ๑๐ นั้นแลสาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

(6.10)

ฌานสี่

                [๓๔๓] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญฌานสี่.

        ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง. ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนพนักงาน สรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนาน ผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ ก้อนจุรณสิตัวนั้นซึ่งยางซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่ กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วย ปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติ และ สุข อันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง.

                [๓๔๔] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส แห่งจิตภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุข อันเกิด แต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง. ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางที่น้ำ จะไหลไปมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านตะวันตกด้านเหนือ ด้านใต้ ทั้งฝนก็ไม่ตก เพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่ว ทั้งตัวที่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง.

                [๓๔๕] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มแช่ เอิบอาบ ซาบซึมด้วย น้ำเย็น ตลอดยอด ตลอดเหง้า ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือ ดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วน ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อม ทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง.

               [๓๔๖] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ไปทั่วกาย นี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแล้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ใจ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว จะไม่ถูกต้อง         ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัว ตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขาจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกาย นี้แหละ ด้วยใจบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกาย ของเธอทั่วทั้งตัวที่ใจ อันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว จะไม่ถูกต้อง.
        ก็เพราะสาวกทั้งหลาย ของเราปฏิบัติตามปฏิปทา ที่เราบอกแล้วเจริญฌานสี่ นั้นแล สาวกของเรา เป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็น ที่สุด แห่งอภิญญาอยู่

               [๓๔๗] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวก ทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔เกิดแต่บิดามารดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายกระจัดกระจายเป็นธรรมดาและวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วน ทุกอย่าง มีด้าย เขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุ จะพึง หยิบแก้วไพฑูรย์นั้น วางไว้ในมือแล้ว พิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเอง อย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไน ดีแล้ว สุกไส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อย อยู่ในนั้นฉันใด สาวกทั้งหลายของเรา ก็ฉันนั้นแล ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่ากายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลาย และ กระจัดกระจายเป็นธรรมดา และ วิญญาณ ของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่รู้ ในกายนี้.
        ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทา ที่เราบอกแล้วย่อมรู้ชัด อย่างนี้แล สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมี อันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

                [๓๔๘] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทา แก่สาวก ทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามแล้ว ย่อมนิมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักไส้ ออกจากหญ้าปล้องเขาจะพึง คิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ไส้ นี้หญ้าปล้อง หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ ชักออกจากหญ้าปล้อง นั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ชักดาบ ออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักงูออกจากคราบ เขาพึงคิด เห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบงูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจาก คราบนั่นเอง ฉันใด สาวก ทั้งหลาย ของเราก็ฉันนั้นแล ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมนิรมิต กายอื่น จากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง.
        ก็เพราะ สาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทา ที่เราบอกนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมาก จึงบรรลุบารมี อันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

                [๓๔๙] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทา แก่สาวก ทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามแล้ว ย่อมบรรลุอิทธิวิธี หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคน ก็ได้หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏ ก็ได้ ทำหายไป ก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้. ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนดินบนแผ่นดิน ก็ได้. เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้. ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนช่างหม้อ หรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดิน ดีแล้ว ต้องการ ภาชนะ ชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างง หรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงา ชนิดใดๆ พึงทำ เครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทอง หรือลูกมือของ ช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใด พึงทำทอง รูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ ฉันใด สาวกทั้งหลายของเรา ก็ฉันนั้นแล ปฏิบัติตาม ปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียว เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขา ไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้. ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้. เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้. เหาะไปในอากาศ เหมือนนก ก็ได้. ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือ ก็ได้ ใช้อำนาจ ทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.
        ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทา ที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมี อันเป็นที่สุดแห่ง อภิญญา อยู่.

                [๓๕๐] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทา แก่สาวก ทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามแล้ว ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษเป่าสังข์ผู้มีกำลัง จะพึงยังคน ให้รู้ตลอดทิศทั้งสี่ โดยไม่ยากฉันใด สาวกทั้งหลายของเรา ก็ฉันนั้น แลปฏิบัติ ตามปฏิปทาที่เรา บอกแล้ว ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์.
        ก็เพราะสาวก ทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

                [๓๕๑] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวก ทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามแล้ว ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะหรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่น ยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่ม ที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจก อันบริสุทธิ์สะอาด หรือภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่า หน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ ฉันใด สาวกทั้งหลาย ของเราก็ฉันนั้น แลปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของ บุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะหรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่น ยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น.
        ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตาม ปฏิปทา ที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวก ของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุด แห่งอภิญญาอยู่.

                [๓๕๒] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทา แก่สาวกทั้งหลาย แล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมระลึกชาติก่อน ได้เป็นอันมาก คือ ระลึก ได้ชาติหนึ่งบ้างสองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมาก บ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่าง นั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้น ได้ไปเกิดในภพโน้นแม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้นเสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึก ถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านแม้นั้น ไปยังบ้านอื่นอีกจากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้นในบ้านนั้น เราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมาสู่บ้านของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด สาวกทั้งหลายของเรา ก็ฉันนั้นแลปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมระลึก ชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้างสองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึก ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วยประการ ฉะนี้.
        ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทา ที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเรา เป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

                [๓๕๓] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวก ทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลัง อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดีมีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ดังนี้.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนเรือนสอง หลังที่มีประตูร่วมกัน บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ ตรงกลางที่เรือนนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปบ้างกำลังเดินวนเวียนอยู่บ้างที่เรือน ฉันใด สาวกทั้งหลาย ของเราก็ฉันนั้นแล ปฏิบัติตามฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมเห็น หมู่สัตว์ กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้.
     ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวก ของเรา เป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

                [๓๕๔] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทา แก่สาวก ทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่ง ของตนเอง ใน ปัจจุบันเข้าถึงอยู่.
        ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุ ยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวด และก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระน้ำนั้น เขาจะพึง คิดเห็นอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้ กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้นดังนี้ ฉันใด สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นแล ปฏิบัติตามปฏิปทา ที่เราบอกแล้ว ย่อมทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่ง ของตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.
     ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวก ของเรา เป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่.

                [๓๕๕] ดูกรอุทายี นี้แลธรรมข้อที่ห้า อันเป็นเหตุให้สาวก ทั้งหลาย ของเรา สักการะเคารพ นับถือ บูชา แล้วพึ่งเราอยู่. ดูกรอุทายี ธรรมห้าประการนี้แล เป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพนับถือบูชาแล้ว พึ่งเราอยู่ ฉะนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. สกุลุทายีปริพาชกยินดีชื่นชม พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล.

จบ มหาสกุลุทายิสูตร ที่ ๗.




(7)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๑
(P996)

เรื่องพระอุทายี (ลฑุกิโกปมสูตร)
(อุทายีน้อยใจที่ทรงให้ละการฉันในเวลาวิกาล ทั้งกลางวันและกลางคืน)


              [๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท มีนิคมของชาว อังคุตตราปะ ชื่ออาปนะ เป็นโคจรคาม. ครั้งนั้น เวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และ จีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอาปนนิคม.

       ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาต แล้ว เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง เพื่อประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง. เวลาเช้าวันนั้น แม้ท่านพระอุทายีก็นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต ยังอาปนนิคม.

       ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังไพรสณฑ์นั้นเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงไพรสณฑ์นั้นแล้ว นั่งพักกลางวันที่ โคนต้นไม้ แห่งหนึ่ง.

       ครั้งนั้น เมื่อท่านพระอุทายีอยู่ในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิต อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาค ทรงนำธรรม อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นอันมากของเราทั้งหลาย ออกไปได้หนอ
พระผู้มีพระภาค ทรงนำธรรม อันเป็นเหตุแห่งสุข เป็นอันมากเข้าไปให้แก่เรา ทั้งหลายหนอ
พระผู้มีพระภาค ทรงนำอกุศลธรรม เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาค ทรงนำกุศลธรรม เป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ.

       ลำดับนั้น เวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

              [๑๗๖] ท่านพระอุทายีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ อยู่ในที่ลับ เร้นอยู่ ได้เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรม อันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลาย ออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาค ทรงนำธรรม อันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาค ทรงนำอกุศลธรรม เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรม เป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

             [๑๗๖]... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมื่อก่อน ข้าพระองค์ เคยฉัน ได้ทั้ง เวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน.

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มาว่า (ประชุมสงฆ์ครั้งที่1) ดูกรภิกษุทั้งหลายเราขอเตือน เธอทั้งหลายจงละการฉัน โภชนะในเวลาวิกาล ในเวลากลางวันนั้นเสียเถิด ดังนี้.

       ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจ คฤหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธา จะให้ ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันประณีต ในเวลาวิกาลในกลางวัน แก่เราทั้งหลาย แม้อันใด พระผู้มีพระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเมื่อเห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัว ในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาล ในกลางวันนั้น เสีย ด้วยประการอย่างนี้

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น ย่อมฉันในเวลาเย็น และเวลาเช้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยที่พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย (ประชุมครั้งที่2) เราขอเตือนเธอทั้งหลาย จงละเว้น การฉันโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสียเถิด ดังนี้ ข้าพระองค์นั้น มีความ น้อยใจ มีความเสียใจว่า ความที่ภัตทั้งสองนี้ของเราทั้งหลาย เป็นของปรุงประณีต กว่าอันใด พระผู้มีพระภาค ตรัสการละอันนั้น ของเราทั้งหลายเสียแล้ว พระสุคตตรัส การสละคืน อันนั้น ของเราทั้งหลายเสียแล้ว.

(8)
(เหตุผลที่ทรงให้งดฉันในวิกาล ทั้งกลางวันและกลางคืน)

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนใดได้ของสมควรจะแกง มาใน กลางวัน จึงบอกภริยาอย่างนี้ว่า เอาเถิด จงเก็บสิ่งนี้ไว้ เราทั้งหมดเทียวจักบริโภค พร้อมกันในเวลาเย็น อะไรๆ ทั้งหมดที่สำหรับจะปรุงกิน ย่อมมีรสในเวลากลางคืน กลางวันมีรสน้อย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงพากันละการ บริโภคโภชนะ ในเวลาวิกาลในราตรีนั้น เสียด้วยประการอย่างนี้.

      (1)  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาต ในเวลามืดค่ำ ย่อมเข้าไปในบ่อน้ำครำบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไป ยัง ป่าหนาม บ้าง เหยียบขึ้นไปบนแม่โคกำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทำโจรกรรม แล้ว บ้าง ยังไม่ได้ทำโจรกรรมบ้าง มาตุคามย่อมชักชวนภิกษุเหล่านั้นด้วยอสัทธรรมบ้าง.

     (2)  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้วข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาต ในเวลา มืดค่ำ หญิงคนหนึ่ง ล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์โดย แสงฟ้าแลบ แล้วตกใจ กลัว ร้องเสียงดังว่า ความไม่เจริญได้มีแก่เราแล้ว ปีศาจจะมากินเราหนอ. เมื่อหญิงนั้น กล่าวอย่างนั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้พูดกะหญิงนั้นว่า ไม่ใช่ปีศาจดอกน้องหญิงเป็นภิกษุ ยืนเพื่อบิณฑบาต ดังนี้.

       หญิงนั้นกล่าวว่า บิดาของภิกษุตายเสียแล้ว มารดาของภิกษุตายเสียแล้ว

       ดูกรภิกษุ ท่านเอามีดสำหรับเชือดโค ที่คมเชือดท้องเสีย ยังจะดีกว่า การที่ท่าน เที่ยวบิณฑบาต ในเวลาค่ำมืด เพราะเหตุแห่งท้องเช่นนั้น ไม่ดีเลย ดังนี้.

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ มีความคิด อย่างนี้ว่า
     พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรม อันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมาก ของเราทั้งหลาย ออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรม อันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมาก เข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรม เป็นอันมาก ของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรม เป็นอันมาก เข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ



(9)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๗ (P650)

อุทายีสูตร (พระอานนท์สนทนากับอุทายี)
(กายนี้ เป็นอนัตตาฉันใด แม้วิญญาณก็ฉันนั้น อุปมาตัดต้นกล้วยใหม่ ไม่อาจพบแก่นได้)

           [๓๐๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระอุทายีอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนคร โกสัมพี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่าน พระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการ ปราศรัย พอให้ระลึก ถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าว กะท่าน พระอานนท์ว่า

           ดูกรท่านพระอานนท์ กายนี้พระผู้มีพระภาคตรัสบอกเปิดเผย ประกาศแล้ว โดยปริยาย ต่างๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ กายนี้เป็นอนัตตาดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ท่านอาจจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผยจำแนก กระทำให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้ เป็นอนัตตา ฉันนั้นหรือ

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

           ดูกรท่านพระอุทายี กายนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผยประกาศแล้ว โดยปริยาย ต่างๆ ว่าแม้เพราะเหตุนี้ กายนี้ เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ผมอาจจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้งเปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้ เป็นอนัตตา ฉันนั้น

           [๓๐๑] ดูกรท่านพระอุทายี จักษุวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ และ รูปหรือ
อุ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ

อา. เหตุและปัจจัยที่อาศัยจักษุวิญญาณเกิดขึ้น พึงดับไปหมดสิ้น หาส่วนเหลือมิได้ จักษุวิญญาณจะปรากฏบ้างหรือหนอ
อุ. ไม่ปรากฏเลย ท่านผู้มีอายุ

อา. แม้โดยปริยายนี้แล จักษุวิญญาณนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกเปิดเผย ประกาศแล้ว ว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฯลฯ ดูกรท่านพระอุทายี มโนวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์หรือ
อุ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ

อา. เหตุและปัจจัยที่อาศัยมโนวิญญาณเกิดขึ้น พึงดับไปหมดสิ้น หาส่วนเหลือมิได้
มโนวิญญาณจะปรากฏบ้างหรือหนอ
อุ. ไม่ปรากฏเลย ท่านผู้มีอายุ

อา. ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้โดยปริยายนี้แล มโนวิญญาณนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา

           [๓๐๒] ดูกรท่านพระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาขวานอันคมเข้าไปสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ไม่รุงรัง ในป่านั้น พึงตัด ที่โคนต้นแล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบอก แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ที่ไหน จะพบแก่นได้ ฉันใด

           ดูกรท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตน หรือสิ่งที่เป็นตัวตนใน ผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลก เมื่อไม่ยึดถือ ก็ไม่ดิ้นรน เมื่อไม่ดิ้นรน ก็ปรินิพพานโดยแน่แท้ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี



(10)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๑๕ (P137)

จูฬนีสูตร (พระสูตรเต็ม)
(จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์ โคจรทั่วทิศสว่างไสว)

          [๕๒๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า

          ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ใน พรหมโลก ให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไร ให้รู้แจ้งได้ด้วย พระสุรเสียง พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์นั้นสาวก ส่วนพระตถาคต นับไม่ถ้วน

          ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ทำให้พ้นแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียงพระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไร ให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ

          พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ได้สดับ รับฟังมา เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขี สัมมา สัมพุทธเจ้า ซึ่งมีนามว่า อภิภู สถิตอยู่ในพรหมโลก ทำให้พันแห่งโลกธาตุ รู้แจ้งได้ ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถ ที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง

          พ. ดูกรอานนท์ เธอได้ฟังเรื่องพันโลกธาตุ เพียงเล็กน้อย
          อา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลเวลาแห่งเทศนา ที่พระองค์จะพึงตรัส ภิกษุทั้งหลาย ได้สดับธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

          พ. ดูกรอานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์ ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

           ดูกรอานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาส ที่พระจันทร์พระอาทิตย์ โคจรทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง

          ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพัน แห่งโลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณ แสน โกฏิจักรวาล ดูกรอานนท์ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณ แสน โกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย

          อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณ แสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ ทรงมุ่งหมาย อย่างไร

          พ. ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้นพระตถาคต พึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณ แสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้แจ้งได้ เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล

          เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า เป็นลาภ ของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์ มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์มี อานุภาพมาก อย่างนี้ เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี ได้กล่าวกะ ท่านพระอานนท์ว่า

          ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่าน พระอุทายีว่า

          ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง* พึงเป็นเจ้าจักรพรรดิ ในชมพูทวีป นี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกรอุทายีก็แต่ว่าอานนท์ จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง

*โสดาบันประเภทสัตตักขัตตุปรมะ จะท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ 7 ครั้ง (หลังทำกาละ จะปรินิพพาน)

 
   



หนังสือพุทธวจน ออนไลน์
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์