เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระราหูล เอตทัคคะด้านผู้ใคร่ต่อการศึกษา
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของพระราหุล
พระโอรสของพระพุทธเจ้า พระสารรีบุตรเป็นผู้บวชให้

         ออกไปหน้าหลัก 2 of 4
  พระราหุล จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  (1) มหาราหุโลวาทสูตร
  (2) รูปที่เป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน นั่นไม่ใช่ของเรา
  (3) พระราหุลผู้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า
  (4) ธาตุ ๔ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ นั่นไม่เป็นเรา
  (5) ธาตุ ๕ เป็นไฉน
  (6) การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง
  (7) ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด
  (8) ราหุลสูตรที่ ๑ ว่าด้วยการรู้การเห็นที่ ไม่ให้มี อหังการ มมังการ มานานุสัย
  (9) ราหุลสูตรที่ ๒ ว่าด้วยการรู้การเห็นที่ทำให้ปราศจาก อหังการ มมังการ มานานุสัย
  (10) ราหุลสูตรที่ ๑๑
   
 
 

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๑ - ๑๑๖ ข้อ [๑๓๓] - [๑๔๖]
(1)
มหาราหุโลวาทสูตร
พระราหุลบิณฑบาตตามเสด็จพระผู้มีพระภาค

          [๑๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี  เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ครอง อันตราวาสก แล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังนครสาวัตถี เวลาเช้า.

          แม้ท่านพระราหุล ก็ครองอันตรวาสก แล้วถือบาตร และจีวรตามพระผู้มี พระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์.

           ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกะท่านพระราหุลว่า

(2)
รูปที่เป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน นั่นไม่ใช่ของเรา

ดูกรราหุล รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง
   (๑) เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน
   (๒) เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี
   (๓) หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี
   (๔) เลวก็ดี ประณีตก็ดี
   (๕) อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี


รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้.    

พระราหุลทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
รูปเท่านั้นหรือ ข้าแต่พระสุคต รูปเท่านั้นหรือ ?

     พ. ดูกรราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ

(3)
พระราหุลผู้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า

          [๑๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า วันนี้ ใครหนออันพระผู้มีพระภาค ทรงโอวาท ด้วยโอวาทในที่เฉพาะพระพักตร์ แล้วจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตเล่า ดังนี้แล้ว กลับจากที่นั้นแล้วนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง.

          ท่านพระสารีบุตร ได้เห็นท่านพระราหุลผู้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วบอกกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

          ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วได้ทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติอันบุคคล เจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์?
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๙ (P1606)
(4)
ธาตุ ๔ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ นั่นไม่เป็นเรา
(ตรัสกับราหูล)


[๑๗๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราหุลว่า

ดูกรราหุล ปฐวีธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี ปฐวีธาตุนั้นก็เป็นแต่สักว่าปฐวีธาตุเท่านั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้น จิตย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ

ดูกรราหุล อาโปธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภาย
นอกก็ดี อาโปธาตุนั้นก็เป็นแต่สักว่าอาโปธาตุเท่านั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรานั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของตน เพราะเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงนั้น จิตย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ ย่อมคลายกำหนัดในอาโปธาตุ

ดูกรราหุล เตโชธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี เตโชธาตุนั้นก็เป็นแต่สักว่าเตโชธาตุเท่านั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนั้น จิตย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ ย่อมคลายกำหนัดในเตโชธาตุ

ดูกรราหุล วาโยธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดีวาโยธาตุนั้น ก็เป็นแต่สักว่าวาโยธาตุเท่านั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเห็นด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนั้น จิตย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ ย่อมคลายกำหนัดในวาโยธาตุ ดูกรราหุล เพราะเหตุที่ภิกษุพิจารณาเห็นว่ามิใช่ตัวตน ไม่เนื่องในตน ในธาตุ ๔ นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ตัดตัณหาได้แล้ว รื้อถอนสังโยชน์เสียได้ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้วเพราะละมานะได้โดยชอบ



(5)

ธาตุ ๕
เป็นไฉน

          [๑๓๕] ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตนเป็นของ หยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ มีลักษณะ แข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าปฐวีธาตุเป็น ภายใน. (ธาตุดิน-ของแข็ง) ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้น เป็น ปฐวีธาตุ เหมือนกัน.

          ปฐวีธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วย ปัญญา อันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลาย กำหนัดใน ปฐวีธาตุ.

          [๑๓๖] ดูกรราหุล ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? (ธาตุน้ำ-ของเหลว ) อาโปธาตุเป็นภายใน ก็มี เป็นภายนอกก็มี. ก็อาโปธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใด เป็น ภายใน อาศัยตน เป็นอาโป มีลักษณะ เอิบอาบอันกรรม และกิเลสเข้าไป ยึดมั่น คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมันน้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโปมีลักษณะเอิบอาบ อันกรรม และกิเลสเข้าไป ยึดมั่น นี้เราเรียกว่า อาโปธาตุเป็นภายใน. ก็อาโปธาตุเป็น ภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อาโปธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุ เหมือนกัน.

          อาโปธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญา อันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัด ในอาโปธาตุ.

          [๑๓๗] ดูกรราหุล ก็เตโชธาตุเป็นไฉน?(ธาตุไฟ-ความร้อน)  เตโชธาตุ เป็นภายใน ก็มี เป็นภายนอกก็มี.ก็เตโชธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อนอันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ไฟที่ยังกาย ให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกาย ให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหาร ที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ให้ย่อยไปโดยชอบ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่า เตโชธาตุ เป็นภายใน. ก็เตโชธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดีอันใด เตโชธาตุนั้น เป็น เตโชธาตุ เหมือนกัน.

          เตโชธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นเตโชธาตุนั้น ด้วย ปัญญา อันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อม เบื่อหน่ายในเตโชธาตุ จิตย่อมคลาย กำหนัดใน เตโชธาตุ.

          [๑๓๘] ดูกรราหุล วาโยธาตุเป็นไฉน? (ธาตุลม) วาโยธาตุเป็นภายใน ก็มี เป็นภายนอกก็มี.ก็วาโยธาตุเป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตนเป็น วาโย มีลักษณะ พัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลง เบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจ หรือสิ่งใด สิ่งหนึ่ง อย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตนเป็นวาโย พัดไปมา อันกรรมและ กิเลสเข้าไป ยึดมั่น นี้เราเรียกว่าวาโยธาตุเป็นภายใน. ก็วาโยธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอก ก็ดี อันใด วาโยธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ เหมือนกัน.

          วาโยธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วย ปัญญา อันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ จิตย่อมคลาย กำหนัดใน วาโยธาตุ.

          [๑๓๙] ดูกรราหุล ก็อากาสธาตุเป็นไฉน?(ช่องว่างในรางกาย)อากาสธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี. อากาสธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใด เป็น ภายใน อาศัยตนเป็น อากาศ มีลักษณะว่างอันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องคอสำหรับกลืนอาหารที่กินที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และช่องสำหรับถ่ายอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ออกเบื้องล่างหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ มีลักษณะไม่ทึบ เป็นช่อง มีลักษณะเป็นช่อง อันเนื้อ และเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายใน อันกรรม และ กิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่า อากาสธาตุ เป็นภายใน. ก็อากาสธาตุเป็นภายใน ก็ดี เป็นภายนอกก็ดีอันใด อากาสธาตุนั้น เป็นอากาศธาตุ เหมือนกัน.

          อากาสธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคล เห็นอากาสธาตุนั้น ด้วย ปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอากาสธาตุ จิตย่อมคลาย กำหนัดในอากาสธาตุ.

          [๑๔๐] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา(อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดิน เถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และ ไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย ทิ้งของ สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วย แผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

          [๑๔๑] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอ เจริญภาวนา เสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำ จิตได้. ดูกรราหุลเปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้างน้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือ เกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใดเธอจงเจริญภาวนา เสมอด้วย น้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอ เจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและ ไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

          [๑๔๒] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอ เจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัด หรือระอา หรือ เกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอ เจริญภาวนา เสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

          [๑๔๓] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอ เจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ ดูกรราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดของนั้น ก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

          [๑๔๔] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อ เธอ เจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้น แล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอ ด้วยอากาศฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญ ภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็น ที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ ครอบงำจิตได้.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(6)
การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง

          [๑๔๕] ดูกรราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนา เถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญ เมตตาภาวนาอยู่จักละพยาบาทได้

เธอจงเจริญกรุณาภาวนา เถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้

เธอจงเจริญมุทิตาภาวนา เถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้

เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนา เถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้

เธอจงเจริญอสุภภาวนา เถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้

เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนา เถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้
.........................................................................................................


(7)
ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด

          [๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติ ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่

ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่?

ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดีอยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว 

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ กองลมทั้งปวงหายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุข หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุข หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่น หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่น หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิต หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิต หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรม อันปราศจากราคะ หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรม อันปราศจากราคะ หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรม เป็นที่สละคืน หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรม เป็นที่สละคืน หายใจเข้า

          ดูกรราหุล อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

          ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญ อานาปานสติ ทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็นอันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติ ไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.

          พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุล มีใจยินดีชื่นชม พระภาษิต ของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

จบ มหาราหุโลวาทสูตร ที่ ๒



(8)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๐

๙. ราหุลสูตรที่ ๑
ว่าด้วยการรู้การเห็นที่ ไม่ให้มี อหังการ มมังการ มานานุสัย

          [๒๓๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่าพระเจ้าข้า เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรหนอ อหังการ มมังการ และ มานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอกจึงจะไม่มี?

อหังการ หมายถึง การยึดว่าเป็นตัวเรา ความเย่อหยิ่งจองหอง ความทะนงตัว
มมังการ ความสำคัญว่าเป็นของเรา ความถือว่าเป็นของเรา ความยึดถือของจิต
มานานุสัย หมายถึงความถือตัว ความเคยชิน ว่าเป็นตัวเราของเรา

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกล หรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตาม ความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่เรานั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

          เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายใน หรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ บุคคลพิจารณา เห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

          ดูกรราหุล เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล อหังการ มมังการ และ มานานุสัย ในกาย ที่มีวิญญาณ นี้ และในสรรพนิมิตภายนอก จึงจะไม่ม

จบ สูตรที่ ๙.



(9)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๐

๑๐. ราหุลสูตรที่ ๒
ว่าด้วยการรู้การเห็นที่ทำให้ ปราศจาก อหังการ มมังการ มานานุสัย

          [๒๓๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้าเมื่อบุคคลรู้อยู่ อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรหนอ ใจจึงปราศจาก อหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกาย ที่มี วิญญาณนี้ และในสรรพนิมิต ภายนอก เป็นของก้าวล่วงด้วยดี ในส่วน แห่งมานะ สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว?

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่านั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น

          เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียดเลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณา เห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะ ไม่ถือมั่น.

          ดูกรราหุล เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล ใจจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก เป็นของ ก้าวล่วง ด้วยดีในส่วนแห่งมานะ สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว.

จบ สูตรที่ ๑๐



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎ
หน้าที่ ๒๙๘

(10)
ราหุลสูตรที่ ๑๑


          [๓๒๘] เธอย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ แลหรือ
การทรงคบเพลิง เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย เธอนอบน้อมแล้วแลหรือ

          พระราหุลกราบทูลว่า

          ข้าพระองค์ย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆการทรง คบเพลิงเพื่อมนุษย์ทั้งหลาย ข้าพระองค์นอบน้อมแล้วเป็นนิตย์

          พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

          เธอละกามคุณห้า มีรูปเป็นที่รัก เป็นที่รื่นรมย์ใจ ออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว
จงกระทำที่สุดทุกข์เถิด เธอจงคบกัลยาณมิตร
จงเสพที่นอนที่นั่งอันสงัดเงียบ ปราศจากเสียงกึกก้อง
จงรู้จักประมาณในโภชนะ เธออย่าได้กระทำความอยากในวัตถุ เป็นที่เกิดตัณหา เหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาตที่นอน ที่นั่ง และปัจจัย เธออย่ากลับมาสู่ โลกนี้อีก
จงเป็นผู้สำรวมในปาฏิโมกข์และในอินทรีย์ ๕ จงมีสติไปแล้วในกาย
จงเป็น ผู้มากไปด้วยความเบื่อหน่าย จงเว้นสุภนิมิต อันก่อให้เกิดความ กำหนัด
จงอบรมจิต ให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ให้ตั้งมั่นดีแล้วในอสุภภาวนา จงอบรมวิปัสนา
จงละมานานุสัย แต่นั้นเธอจักเป็นผู้สงบ เพราะการ ละมานะเที่ยวไป


        ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนท่านพระราหุล ด้วยพระคาถาเหล่านี้เนืองๆ ด้วยประการฉะนี้แล

จบราหุลสูตรที่ ๑๑

 



   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์