เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
อนาถบิณฑิกคฤหบดี ผู้สร้างวัดเชตวัน
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามิณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของอนาถบิณฑิกคหบดี (ไม่รวมอรรถกถา)
เศรษฐีคหบดีผู้เลื่อมใสพระศาสดา เป็นผู้สร้างวิหารเชตวันถวายพระพุทธเจ้า
Ar 102
       ออกไปหน้าหลัก 2 of 4
  เรื่องราวสำคัญของอนาถบิณฑิกคหบดี ผู้เลื่อมใสพระศาสดา เป็นผู้สร้างวิหารเชตวันถวายพระพุทธเจ้า
  อนาถปิณฑิโกวาทสูตร (แสดงธรรมโดยพระสารีบุตร) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๘
1 พระสารีบุตรอนุเคราะห์แสดงธรรมให้กับ อนาถบิณฑิกคฤหบดี
2 อนาถบิณฑิก มีทุกขเวทนาหนัก อาการกำเริบ ไม่ทุเลาเลย
3 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในอายตนะภายใน ๖
4 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่อง ความไม่ยึดมั่นในอายตนะภายนอก ๖
5 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่อง ไม่ยึดมั่นในวิญญาณ
6 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่อง ความไม่ยึดมั่นในผัสสายตนะ ๖
7 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในเวทนา
8 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในธาตุทั้ง ๖
9 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นใน ขันธ์ ๕ และวิญญาณที่อาศัย
10 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นใน สมาธิชั้นอรูป
11 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในโลกนี้ โลกหน้า
12 พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในอารมณ์ต่างๆ
13 อนาถบิณฑิก ร้องไห้ น้ำตาไหล เพราะไม่เคยสนใจฟังจากพระศาสดาเลย
14 อนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้ทำกาละ เข้าถึงชั้นดุสิต
15 คืนนั้นอนาถบิณฑิกเทพบุตร มีรัศมีงาม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กล่าวคาถา
16 พระศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ทรงเล่าเรื่อง เทพบุตร เข้าเฝ้า
17 พระอานนท์รับฟังแล้วคิดว่าคงเป็น อนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่
 
 

  ข้อสังเกตุ
  อนาถปิณฑิโกวาทสูตร พระสูตรนี้ น่าจะเป็นอรรถกถา หรือคำแต่งใหม่
 1. ผู้ที่ฟังธรรมก่อนทำกาละจะสิ้นสังโยชน์ ๕ จะได้กายชั้นสุทธาวาส ไม่ใช่ได้กายชั้นดุสิต
 2. อนาถเศรษฐี หลังฟังพระสารีบุตรเทศนาแล้ว ร้องให้ น้ำตาไหล เพราะแม้อยู่ใกล้
   พระศาสดาก็ไม่ได้สนใจ แต่พระผู้มีพระภาคตรัส อนุปุพพิกถา จนอนาถเศรษฐี บรรลุธรรม
   แจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว.. แล้วอนาถเศรษฐี ไม่สนใจ
   ฟังธรรมของพระศาสดาได้อย่างไร
  3. อนาถเศรษฐี ฟังธรรมจากเกิดความซาบซึ้ง ซบเศียรลงแทบพระบาท มีใจศรัทธาจน
  สร้างวิหารเชตวันถวาย แต่บอกพระสารีบุตรว่า "ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาเห็นปานนี้"

   ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้

(พระสูตรนี้น่าสงสัยว่าเป็นอรรถกถา หรือคำแต่งใหม่)


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๘

สฬายตนวรรค
๒. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร (๑๔๓)

          [๗๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดี ป่วยทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก จึงเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า มาเถิดพ่อมหาจำเริญ พ่อจงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับแล้วจงถวายบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา แล้วจงกราบทูลอย่างนี้ว่า

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระบาท พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

1) พระสารีบุตรอนุเคราะห์แสดงธรรมให้กับ อนาถบิณฑิกคฤหบดี

          อนึ่ง จงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรยังที่อยู่แล้ว จงกราบเท้าท่านพระสารีบุตร ตามคำของเรา และเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า และ เรียนอย่างนี้อีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โอกาสเหมาะแล้ว ขอท่านพระสารีบุตร จงอาศัย ความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำ อนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          [๗๒๑] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระผู้มี พระภาค ด้วยเศียรเกล้า

          ต่อนั้น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรยังที่อยู่ กราบท่านพระสารีบุตรแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงเรียนท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้า ท่านพระสารีบุตร ด้วยเศียรเกล้าและสั่งมา อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โอกาส เหมาะแล้ว ขอท่าน พระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ ของอนาถ บิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

          ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรนุ่งสบงทรงบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์ เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ ของอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะ ที่เขาแต่งตั้งไว้

          [๗๒๒] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านพอทน พอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบ ปรากฏความ ทุเลาเป็นที่สุด ไม่ ปรากฏความกำเริบละหรือ

2) อนาถบิณฑิก มีทุกขเวทนาหนัก อาการกำเริบ ไม่ทุเลาเลย

          อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนา ของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความ ทุเลาเลย

          [๗๒๓] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณ กระทบขม่อมของกระผม อยู่เหมือนบุรุษ มีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อมฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏมีความกำเริบ เป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย

          [๗๒๔] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังให้การขันศีรษะ ด้วยชะเนาะมั่นฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏมีความกำเริบ เป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย

          [๗๒๕] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณ ปั่นป่วนท้อง ของกระผมอยู่ เหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ฉลาดเอามีดแล่โคอันคมคว้าน ท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหวเป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนักกำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย

          [๗๒๖] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ความร้อนในกายของกระผมเหลือประมาณ เหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน จับบุรุษมีกำลังน้อยกว่า ที่อวัยวะป้องกันตัวต่างๆ แล้ว นาบ ย่าง ในหลุมถ่านเพลิง ฉะนั้นกระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนา ของกระผม หนัก กำเริบไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย

3) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในอายตนะภายใน ๖

          [๗๒๗] สา. ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสต และวิญญาณที่อาศัยโสต จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานะ และวิญญาณที่อาศัยฆานะ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหา และวิญญาณที่อาศัยชิวหา จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกาย และวิญญาณที่อาศัยกาย จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโน และวิญญาณที่อาศัยมโน จักไม่มีแก่เรา

          ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

4) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่อง ความไม่ยึดมั่นในอายตนะภายนอก ๖

          [๗๒๘] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูปและวิญญาณที่อาศัยรูป จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเสียงและวิญญาณที่อาศัยเสียงจักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกลิ่นและวิญญาณที่อาศัยกลิ่นจักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรสและวิญญาณที่อาศัยรสจักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโผฏฐัพพะและวิญญาณ ที่อาศัยโผฏฐัพพะ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นธรรมารมณ์ และวิญญาณที่อาศัยธรรมารมณ์ จักไม่มีแก่เรา

          ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

5) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่อง ไม่ยึดมั่นในวิญญาณ

          [๗๒๙] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ ยึดมั่นจักษุวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยจักษุวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสตวิญญาณ
และวิญญาณที่อาศัยโสตวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานวิญญาณ
และวิญญาณที่อาศัยฆานวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหาวิญญาณ
และวิญญาณที่อาศัยชิวหาวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกายวิญญาณ
และวิญญาณที่อาศัย กายวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโนวิญญาณ
และวิญญาณที่อาศัยมโนวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

6) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่อง ความไม่ยึดมั่นในผัสสายตนะ ๖

          [๗๓๐] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยจักษุสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสตสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยโสตสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยฆานสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหาสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยชิวหาสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกายสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยกายสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโนสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยมโนสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

7) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในเวทนา

          [๗๓๑] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนา เกิดแต่จักษุสัมผัส
และวิญญาณ ที่อาศัยเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่โสตสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่ฆานสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัส
และ วิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่ชิวหาสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่กายสัมผัส
และ วิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่กายสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส
และวิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่มโนสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

8) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในธาตุทั้ง ๖

          [๗๓๒] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นปฐวีธาตุ
และวิญญาณที่อาศัยปฐวีธาตุ จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอาโปธาตุ
และวิญญาณที่อาศัย อาโปธาตุจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเตโชธาตุ
และวิญญาณที่อาศัย เตโชธาตุ จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวาโยธาตุ
และวิญญาณที่อาศัย วาโยธาตุ จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากาสธาตุ
และวิญญาณที่อาศัยอากาสธาตุ จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

9) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นใน ขันธ์ ๕

          [๗๓๓] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูป
และวิญญาณ ที่อาศัยรูป จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนา
และวิญญาณที่อาศัยเวทนา จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสัญญา
และวิญญาณที่อาศัยสัญญา จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสังขาร
และวิญญาณที่อาศัยสังขาร จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวิญญาณ
และวิญญาณที่อาศัยวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

10) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นใน สมาธิชั้นอรูป

          [๗๓๔] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากาสานัญจายตนฌาน
และวิญญาณที่อาศัย อากาสานัญจายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่น วิญญาณัญจายตนฌาน
และวิญญาณ ที่อาศัยวิญญาณัญจายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่น อากิญจัญญายตนฌาน
และวิญญาณ ที่อาศัยอากิญจัญญายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่น เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
และ วิญญาณที่อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

11) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในโลกนี้ โลกหน้า

          [๗๓๕] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกนี้
และวิญญาณที่อาศัยโลกนี้จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกหน้า
และวิญญาณที่อาศัย โลกหน้าจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

12) พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่องความไม่ยึดมั่นในอารมณ์ต่างๆ

          [๗๓๖] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียก อย่างนี้ว่า อารมณ์ใด ที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้พิจารณาด้วยใจแล้ว เราจัก ไม่ยึดมั่น อารมณ์แม้นั้น และวิญญาณ ที่อาศัยอารมณ์นั้น จักไม่มีแก่เรา

           ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

13) อนาถบิณฑิก ร้องไห้ น้ำตาไหล เพราะไม่สนใจฟังธรรมจากพระศาสดา แม้จะนั่งใกล้

          [๗๓๗] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวแล้วอย่างนี้ อนาถบิณฑิกคฤหบดี ร้องไห้ น้ำตาไหล ขณะนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะ อนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านยังอาลัยใจจดใจจ่ออยู่หรือ

          อ. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัย มิได้ใจจดใจจ่อ แต่ว่ากระผม ได้นั่งใกล้ พระศาสดา และหมู่ภิกษุที่น่าเจริญใจมาแล้วนาน ไม่เคยได้สดับ ธรรมีกถา เห็นปานนี้

          อา. ดูกรคฤหบดี ธรรมีกถาเห็นปานนี้ มิได้แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต

          อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมีกถาเห็นปานนี้ จงแจ่มแจ้ง แก่คฤหัสถ์ ผู้นุ่งผ้าขาวบ้างเถิด เพราะมีกุลบุตรผู้เกิดมา มีกิเลสธุลีในดวงตาน้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ไม่รู้ธรรม โดยมิได้สดับ

          ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่านพระอานนท์ กล่าวสอนอนาถบิณฑิก คฤหบดีด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป


14) อนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้ทำกาละ เข้าถึงชั้นดุสิต

          [๗๓๘] ต่อนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดี เมื่อท่านพระสารีบุตร และท่าน พระอานนท์ หลีกไปแล้วไม่นาน ก็ได้ทำกาลกิริยาเข้าถึงชั้นดุสิตแล


15) อนาถบิณฑิกเทพบุตร มีรัศมีงาม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กล่าวคาถา

           ครั้งนั้น ล่วงปฐมยามไปแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตร มีรัศมีงาม ส่องพระวิหาร เชตวัน ให้สว่างทั่ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

          พระเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อันพระองค์ผู้เป็น ธรรมราชาประทับ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็ง เห็นประโยชน์ ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะ บริสุทธิ์ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้ พระสารีบุตร นั้นแล ย่อม บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริงภิกษุผู้ถึง ฝั่งแล้ว จะอย่างยิ่ง ก็เท่าพระสารีบุตรนี้

          อนาถบิณฑิกเทวบุตร กล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ต่อนั้น อนาถบิณฑิกเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัย จึงถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค แล้วกระทำประทักษิณหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

16) พระศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ทรงเล่าเรื่อง เทพบุตร เข้าเฝ้า

          [๗๓๙] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกะ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวบุตรตนหนึ่ง มีรัศมีงาม ส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว เข้ามาหาเรายังที่อยู่ อภิวาทเราแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะเราด้วยคาถานี้ว่า

          พระวิหารเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อันพระองค์ ผู้เป็นธรรมราชาประทับอยู่ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ได้ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็น ประโยชน์ ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะบริสุทธิ์ ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้ พระสารีบุตรนั้นแล ย่อมบริสุทธิ์ ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริง ภิกษุผู้ถึงฝั่งแล้วจะอย่างยิ่ง ก็เท่าพระสารีบุตรนี้

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวบุตรนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว รู้ว่าพระศาสดาทรงพอพระทัย จึงอภิวาทเรา แล้วกระทำประทักษิณ หายตัวไป ณ ที่นั้นแล

17) พระอานนท์รับฟังแล้วคิดว่าคงเป็น อนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่

          [๗๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตรนั้น คงจักเป็นอนาถบิณฑิก เทวบุตรแน่ เพราะอนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในท่านพระสารีบุตร

          พ. ดูกรอานนท์ ถูกแล้วๆ เท่าที่คาดคะเนนั้นแล เธอลำดับเรื่องถูกแล้ว เทวบุตรนั้น คืออนาถบิณฑิกเทวบุตร มิใช่อื่น

          พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

จบ อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ที่ ๑

   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์