พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๑๓๕
(พระสูตรนี้อาจเป็นอรรถกถา หรือเรื่องราวที่แต่งขึ้น ผู้อ่านพึงใช้วิจารณญาณกันเอาเอง)
กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์ (ต่อ)
(17)
พระเจ้าปัชโชตราชา กรุงอุชเชน ประชวรผอมเหลือง ได้ส่งราชทูตถึง พระเจ้าพิมพิสาร ชีวกทูลรับสนอง
เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงประชวรโรคผอมเหลือง
[๑๓๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตราชา ในกรุงอุชเชนี ทรงประชวร โรคผอมเหลืองนายแพทย์ที่ใหญ่ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน มารักษา ก็ไม่อาจ ทำให้โรคหาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก ครั้งนั้น พระเจ้าปัชโชต ได้ส่งราชทูตถือ พระราชสาส์น ไปในพระราชสำนักพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีใจความว่า หม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นอย่างนั้น ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์ โปรดสั่งหมอชีวก เขาจักรักษาหม่อมฉัน จึงพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปเมืองอุชเชนี รักษา พระเจ้าปัชโชต
ชีวกโกมารภัจจ์ ทูลรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วเดินทางไป เมืองอุชเชนี เข้าไปในพระราชสำนัก แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต ได้ตรวจอาการ ที่ผิดแปลกของพระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจักหุงเนยใส พระองค์จักเสวยเนยใสนั้น
(18)
พระเจ้าปัชโชตปฏิเสธการรักษาด้วยเนยใส หมอชีวกแอบผสมสมุนไพร เพื่อดับกลิ่น โดยพระเจ้าปัชโชตไม่ทราบ
พระเจ้าปัชโชตรับสั่งห้ามว่า อย่าเลย พ่อนายชีวก ท่านเว้นเนยใสเสีย อาจรักษาเราให้หายโรคได้ด้วยวิธีใด ท่านจงทำวิธีนั้นเถิด เนยใสเป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียนสำหรับฉัน
ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ได้มีความปริวิตกว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล ทรงประชวรเช่นนี้ เราเว้นเนยใสเสีย ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายโรคได้ เอาละเรา ควรหุงเนยใสให้มีสีกลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด ดังนี้ แล้วได้หุงเนยใสด้วยเภสัชนา นาชนิด ให้มีสี กลิ่น รสเหมือนน้ำฝาด
(19)
ความแตกเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเรอจึงได้กลิ่น ทรงเกี้ยวกราด สั่งทหารตามจับ
ครั้นแล้วฉุกคิดได้ว่า เนยใสที่พระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้เสวยแล้ว เมื่อย่อยจักทำให้เรอ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ ถ้ากระไรเราพึงทูลลาไว้ก่อน วันต่อมาจึงไปใน พระราชสำนัก เข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า
ขอเดชะ ฯ พวกข้าพระพุทธเจ้า ชื่อว่าเป็นนายแพทย์ จักถอนรากไม้ มาผสมยาชั่วเวลาครู่หนึ่ง เช่นที่ประสงค์นั้น ขอประทานพระบรมราชวโรกาส ขอฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงมีพระราชโองการ ตรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราช พาหนะ และที่ประตูทั้งหลายว่า หมอชีวกต้องการไปด้วยพาหนะใด จงไปด้วย พาหนะนั้น ปรารถนาไปทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการไปเวลาใด จงไปเวลานั้น ปรารถนาจะเข้ามาเวลาใด จงเข้ามาเวลานั้น จึงพระเจ้าปัชโชต ได้มีพระราชดำรัสสั่ง เจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะ และที่ประตูทั้งหลาย ตามที่หมอชีวกกราบทูล ขอบรมราชานุญาตไว้ทุกประการ
(20)
แต่ชีวกนั่งช้างหนีออกจากวังไปแล้ว
ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชต มีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์จึงหมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ทูลถวายเนยใสนั้น แด่พระเจ้าปัชโชตด้วย กราบทูล ว่า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงเสวยน้ำฝาด ครั้นให้พระเจ้าปัชโชตเสวยเนยใส แล้วก็ไปโรงช้างหนีออกจากพระนครไปโดยช้างพังภัททวดี ขณะเดียวกันนั้น เนยใส ที่พระเจ้าปัชโชตเสวยนั้นย่อย ได้ทำให้ทรงเรอขึ้นจึงพระเจ้าปัชโชต ได้รับสั่งแก่พวก มหาดเล็กว่า พนายทั้งหลาย เราถูกหมอชีวกชาติชั่วลวงให้ดื่มเนยใส พวกเจ้าจงค้น จับหมอชีวกมาเร็วไว
พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า หมอชีวกหนีออกจากพระนครไป โดยช้างพัง ภัททวดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชต มีมหาดเล็กชื่อกากะ ซึ่งอาศัยเกิดกับ อมนุษย์ เดินทางได้วันละ ๖๐ โยชน์ จึงพระเจ้าปัชโชต ดำรัสสั่งกากะมหาดเล็กว่า พ่อนายกากะ เจ้าจงไปเชิญหมอชีวกกลับมา ด้วยอ้างว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้เชิญท่านกลับไป ขึ้นชื่อว่าหมอเหล่านี้แลมีมารยามาก เจ้าอย่ารับวัตถุอะไรๆ ของเขา
(21)
ทหารมหาดเล็กมาทัน จึงเชิญชีวกกลับพระนคร
ครั้งนั้น กากะมหาดเล็ก ได้เดินไปทันชีวกโกมารภัจจ์ ผู้กำลังรับประทาน อาหาร มื้อเช้าในระหว่างทางเขตพระนครโกสัมพี จึงได้เรียนแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป
ชี. พ่อนายกากะ ท่านจงรออยู่เพียงชั่วเวลา ที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่าน รับประทานอาหาร ด้วยกันเถิด
ก. ช่างเถิดท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า พ่อนายกากะ ขึ้นชื่อว่า หมอเหล่านี้มีมารยามาก อย่ารับวัตถุอะไร ของเขา
(22)
ชีวกแทรกยาถ่ายทางเล็บลงในน้ำดึ่ม มหาดเล็กหลงกล ถ่ายอุจจาระออกมา
ทันใดนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ได้แซกยาทางเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อม และดื่มน้ำรับประทาน แล้วได้ร้องเชื้อเชิญกากะมหาดเล็กว่า เชิญพ่อนายกากะ มาเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำรับประทานด้วยกัน จึงกากะมหาดเล็กคิดว่า หมอคนนี้แล กำลังเคี้ยวมะขามป้อม และดื่มน้ำรับประทาน คงไม่มีอะไรจะให้โทษ แล้วเคี้ยวมะขามป้อมครึ่งผล และดื่มน้ำรับประทานมะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้น ได้ระบายอุจจาระออกมาในที่นั้นเอง
ครั้งนั้น กากะมหาดเล็ก ได้เรียนถามชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ชีวิตของข้าพเจ้าจะรอดไปได้หรือ?
ชีวกโกมารภัจจ์ตอบว่า อย่ากลัวเลย พ่อนายกากะ ท่านจักไม่มีอันตราย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราไม่กลับละ แล้วมอบช้างพังภัททวดีแก่นายกากะ เดินทางไปพระนครราชคฤห์ รอนแรมไปโดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์ แล้วเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ
(23)
มหาดเล็กทูลพระเจ้าพิมพิสาร ตรัสว่าชีวกทำถูกแล้ว เพราะพระเจ้าปัชโชต โหดเหี้ยมมาก
พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งว่า พ่อนายชีวก เจ้าไม่กลับไปนั้นชื่อว่าได้ทำถูกแล้ว เพราะพระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด จะพึงสั่งให้สำเร็จโทษเจ้าเสียก็ได้
ครั้นพระเจ้าปัชโชต ทรงหายประชวร ทรงส่งราชทูตไปที่สำนัก ชีวกโกมารภัจจ์ ว่า เชิญหมอชีวกมา เราจักให้พร
ชีวกกราบทูลตอบไปว่า ไม่ต้องไปก็ได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาทจงทรงโปรดอนุสรณ์ ถึงความดีของข้าพระพุทธเจ้า
(24)
พระราชทานผ้าสิไวยกะ เป็นผ้าเนื้อดี แก่ชีวก
ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าสิไวยกะคู่หนึ่ง บังเกิดแก่พระเจ้าปัชโชต เป็นผ้า เนื้อดีเลิศ ประเสริฐมีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่หลายแสนคู่
ครั้นนั้น พระเจ้าปัชโชต ทรงส่งผ้าสิไวยกะคู่นั้น ไปพระราชทานแก่ชีวก โกมารภัจจ์ จึงชีวกโกมารภัจจ์ ได้มีความดำริว่าผ้าสิไวยกะคู่นี้ พระเจ้าปัชโชตส่งมา พระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่า ผ้าทั้งหลาย เป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่
นอกจากพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น หรือ พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช แล้ว ใครอื่นไม่ควรอย่างยิ่งเพื่อใช้ผ้า สิไวยกะ คู่นี้
(25)
พระอานนท์เดินทางไปหกหมอชีก พระตถาคตต้องการเสวยพระโอสถถ่าย
พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย
[๑๓๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาค หมักหมมด้วยสิ่งอัน เป็นโทษจึงพระผู้มีพระภาค รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ กายของตถาคต หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าว คำนี้ กะ ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านชีวก พระกายของพระตถาคต หมักหมม ด้วยสิ่งอัน เป็นโทษ พระตถาคตต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงโปรดทำพระกาย ของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทำพระกาย ของพระผู้มีพระภาค ให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันแล้วเดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้กะชีวกโกมารภัจจ์ว่า
ท่านชีวก พระกายของพระตถาคต ชุ่มชื่นแล้ว บัดนี้ ท่านรู้กาลอันควรเถิด
(26)
หมอชีวกอบก้านบัวด้วยสมุไพร 3 ก้าน แด่พระผู้มีพระภาคเพื่อสูดดม
ดมก้านที่ 1 จะถ่ายออกมา 10 ครั้ง
ดมก้านที่ 2 จะถ่ายออกมา 10 ครั้ง
ดมก้านที่ 3 จะถ่ายออกมา 10 ครั้ง
รวมถ่าย 30 ครั้ง
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า การที่เราจะพึงทูลถวาย พระโอสถถ่ายที่หยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้น ไม่สมควรเลย ถ้ากระไร เราพึงอบก้าน อุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวายพระตถาคต
ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ทูลถวาย ก้านอุบล ก้านที่หนึ่ง แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า
ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง
แล้วได้ทูลถวายก้านอุบล ก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงสูดอุบล ก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง
แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยัง พระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง
(27)
ชีวกถวายพระโอสถแล้วกลับไป เกิดปริวิตกว่าพระองค์จะถ่ายไม่ครบ 30 ครั้ง
ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ ทูลถวายพระโอสถ ถ่ายแด่พระผู้มีพระภาค เพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป ขณะเมื่อ ชีวกโกมารภัจจ์ เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้วได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาค เพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระกายของ พระตถาคต หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาค ทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งจิต ของชีวกโกมารภัจจ์ ด้วยพระทัยแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ ชีวกโกมารภัจจ์ กำลังเดินออก นอกซุ้มประตูวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มี พระภาค เพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้วพระกายของพระตถาคต หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็น โทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค จักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง อานนท์ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดเตรียม น้ำร้อนไว้
พระอานนท์ ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว จัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวายต่อมา ชีวกโกมารภัจจ์ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาค ทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า
ภ. เราถ่ายแล้ว ชีวก
ชี. พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้า กำลังเดินออกไปนอกซุ้มประตูพระวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่าย แด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมม ด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มี พระภาค ให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแต่พระผู้มีพระภาค ทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้พระผู้มีพระภาค จักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงโปรดสรงพระกายขอพระสุคต จงโปรด สรงพระกาย
(28)
ทรงถ่ายครบ 30 ครั้งแล้ว ชีวกทูลว่า ไม่ควรเสวยน้ำต้มผักจนกว่า จะหาย เป็นปกติ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาค ทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ไม่ควรเสวย พระกระยาหาร ที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ
ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว.
(29)
กราบทูลขอพร
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ถือผ้าสิไวยกะคู่นั้น ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ชีวกโกมารภัจจ์นั่ง เรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าพระพุทธเจ้าจะขอประทานพร ต่อพระผู้มีพระภาคสักอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า
ภ. พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก
ชี. ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
ภ. จงว่ามาเถิด ชีวก
ชี. พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ ทรงถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติอยู่ ผ้าสิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้าคู่นี้ พระเจ้าปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน เป็นผ้า เนื้อดีเลิศ ประเสริฐมีชื่อเสียงเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่หลายพันคู่ หลายแสนคู่
ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงพระกรุณาโปรดรับผ้าคู่สิไวยกะของ ข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรงพระพุทธานุญาต คหบดีจีวรแก่พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค ทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้วทรงชี้แจงให้ ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ อันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป
(30)
พระบัญญัติการรับผ้าบังสุกุล ตามมีตามได้ ด้วยความยินดี
พระพุทธานุญาตคหบดีจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคหบดีจีวร รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร แต่เราสรรเสริญ การยินดี ด้วยปัจจัยตามมีตามได้
[๑๓๖] ประชาชนในพระนครราชคฤห์ ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาต คหบดีจีวร แก่ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันยินดีร่าเริงว่า บัดนี้แล พวกเรา จักถวายทาน จักบำเพ็ญบุญเพราะพระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาตคหบดีจีวร แก่ ภิกษุทั้งหลาย เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในพระนครราชคฤห์
ประชาชนชาวชนบท ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดี จีวร แก่ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันยินดีร่าเริงว่า บัดนี้แล พวกเราจักถวายทาน จักบำเพ็ญบุญ เพราะพระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาตคหบดีจีวร แก่ภิกษุทั้งหลาย เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นแม้ในชนบท
(31)
พระพุทธานุญาตผ้าปาวา(ผ้าห่มใหญ่) และผ้าโกเชาว์ (ขนแพะ)
[๑๓๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าปาวารเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ผ้าปาวาร
ผ้าปาวารแกมไหม เกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ผ้าปาวาร แกมไหม ผ้าโกเชาว์ เกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มี พระภาค.
พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าโกเชาว์
ปฐมภาณวาร จบ
หมายเหตุ
ผ้าปาวาร คือ ผ้าห่มใหญ่ อาจเป็นผ้าฝ้ายมีขน หรือผ้าชนิดอื่นก็ได้
ผ้าโกเชาว์ คือ ผ้าทำด้วยขนแพะ ผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่ไม่ควร
ผ้ากัมพล คือ ผ้าทอด้วยขนสัตว์
|