เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
 เทวตาสังยุต ชุด11 นานาติตถิยวรรคที่ ๓ (พระสูตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา) 1365
 

เทวตาสังยุต เทวดาเป็นอันมาก ในชั้นกามภพ และชั้นพรหม เข้าเฝ้าฯ
เพื่อกล่าว ภาษิตคาถา และทูลถามข้อธรรมต่างๆ (รวม ๑๑๑ พระสูตร)

ชุด1  (P1355)  นฬวรรคที่ ๑ (มี ๑๐ พระสูตร)
ชุด2  (P1356)  นันทนวรรคที่ ๒ (๑๐ พระสูตร)
ชุด3  (P1357)  สัตติวรรคที่ ๓ (๑๐ พระสูตร)
ชุด4  (P1358)  สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔ (๑๐ พระสูตร)
ชุด5  (P1359)  อาทิตตวรรคที่ ๕ (๑๐ พระสูตร)

ชุด6  (P1360)  ชราวรรคที่ ๖ (๑๐ พระสูตร)
ชุด7  (P1361)  อันธวรรคที่ ๗ (๑๐ พระสูตร)
ชุด8  (P1362)  ฆัตวาวรรคที่ ๘ (๑๑ พระสูตร)
ชุด9  (P1363)  เทวปุตตสงยุต วรรคที่ ๑ (๑๐ พระสูตร)

ชุด10  (P1364)  อนาถปิณฑิก วรรคที่ ๒ (๑๐ พระสูตร)
ชุด11  (P1365) นานาติตถิยวรรคที่ ๓ (๑๐ พระสูตร)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

เทวดาสังยุต (ฉบับหลวง เล่มที่ 25) พระสูตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณ
เทวดาเข้าเฝ้า   ชุด11/11
 

เทวตาสังยุต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๖๕

นานาติตถิยวรรคที่ ๓

   นานาติตถิยวรรคที่ ๓ (๑๐ พระสูตร โดยย่อ)

 ๑. พ. ชนเหล่าใดสมาคมกับสัตบุรุษผู้รู้ทั่วถึงธรรม ชนเหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์
 ๒. ท.กล่าวภาษิตคาถา บุคคลละทิ้งธรรม หันไปประพฤติตามอธรรม เป็นคนเขลา
 ๓. พ.ชนใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ย่อมพะนอเขาทั้งโลกนี้และโลกหน้า
 ๔. ฆฏิกรพรหม เล่าว่า อดีตเป็นช่างปั้นหม้อสมัยพระกัสสป ได้มาเกิดเป็นเทวดาพรหม
 ๕. ท. มีคาถา สาวกพระโคดมเป็นอยู่ง่าย แสวงหาบิณฑบาต กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
 ๖. พ.การบรรลุถึงที่สุดของโลก ไม่อาจกระทำได้โดยการเดินทาง
 ๗. พ.กาลย่อมล่วงไป วัยย่อมละลำดับไป บุคคลควรพิจารณาเห็นภัยควรละโลกามิสเสีย
 ๘. พ. ตัดความผูกโกรธ ถอนตัณหา พร้อมทั้งอวิชชา จักออกไปจากทุกข์ได้
 ๙. ท.กล่าวชม พระสารีบุตร ว่าท่านเป็นบัณฑิต เป็นผู้ตำหนิคนชั่วข้า เทวดาต่างชื่นชม
 ๑๐. พ.พระพุทธเจ้า โลกกล่าวว่า เป็นเลิศกว่าประชุมชนทั้งโลก พร้อมทั้งเทวโลก


สิวสูตรที่ ๑

ท. กล่าวคาถาสุภาษิต บุคคลควรสมาคม ควรทำความสนิทสนม กับพวกสัตบุรุษผู้รู้ทั่วถึง พระสัทธรรม สัตบุรุษเป็นผู้ประเสริฐ ไม่เป็นผู้ตกต่ำ ย่อมได้ปัญญา ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมถึง สุคติ ย่อมยืนยงตลอดไป

พ. สิวเทวบุตรด้วยพระคาถาว่า บุคคลควรสมาคม กับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความ สนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงสัทธรรม ของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ ทั้งปวง

        [๒๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงแล้ว สิวเทวบุตร มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้น ให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาคแล้ว ได้ยืน อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

        [๒๗๙] สิวเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถา เหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

        บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษ
ควรทำความ สนิทสนม กับพวกสัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ไม่เป็นผู้ตกต่ำ

        บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความสนิทสนม กับพวก สัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงพระสัทธรรม ของพวก สัตบุรุษแล้ว ย่อมได้ปัญญา ไม่คลาด เป็นอย่างอื่น

        บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษ เท่านั้น ควรทำความสนิทสนม กับพวก สัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของพวก สัตบุรุษแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งความเศร้าโศกบุคคล ควรสมาคม กับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำ ความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ

        บุคคลรู้ทั่วถึง พระสัทธรรม ของพวกสัตบุรุษแล้วย่อม รุ่งโรจน์ในท่ามกลาง หมู่ญาติ บุคคลควร สมาคม กับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความสนิทสนมกับพวก สัตบุรุษ เหล่าสัตว์ รู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมถึงสุคติ

       บุคคลควร สมาคมกับพวก สัตบุรุษ เท่านั้น ควรทำความสนิทสนมกับพวก สัตบุรุษเหล่าสัตว์รู้ ทั่วถึงพระสัทธรรม ของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมยืนยงตลอดไป

        [๒๘๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบ สิวเทวบุตรด้วยพระคาถาว่า บุคคลควรสมาคม กับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงสัทธรรม ของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง


เขมสูตรที่ ๒
ท.เขมเทพบุตร กล่าวภาษิตคาถาโดยย่อ บุคคลละทิ้งธรรม หันไปประพฤติตามอธรรม เป็นคนเขลาเบาปัญญา ดำเนินไปสู่ทางมฤตยู เหมือนพ่อค้าเกวียน ไปสู่ทางที่ขรุขระ มีเพลาเกวียน หักแล้ว

        [๒๘๑] เขมเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถา เหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า คนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมประพฤติกับตนเอง ดังศัตรู ย่อมทำกรรมลามก อันอำนวยผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อม เดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้น ทำแล้วไม่ดีเลย

        บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีหัวใจแช่มชื่น เบิกบาน เสวยผล แห่ง กรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นการดีบุคคลรู้กรรมใดว่า เป็น ประโยชน์ แก่ตน ควรรีบ ลงมือ กระทำกรรมนั้นทีเดียว อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์ เจ้าความคิด ด้วย ความคิดอย่างพ่อค้าเกวียน พ่อค้าเกวียนละหนทางสายใหญ่ ที่เรียบร้อยสม่ำเสมอ เสีย แวะไปสู่ทางที่ขรุขระ เพลาก็หักสะบั้นซบเซา ฉันใด บุคคลละทิ้งธรรมหัน ไปประพฤติตามอธรรม ก็ฉันนั้น เป็นคนเขลาเบาปัญญา ดำเนินไป สู่ทางมฤตยู ซบเซา อยู่ เหมือนพ่อค้าเกวียน มีเพลาเกวียนหักแล้ว ฉะนั้น


เสรีสูตรที่ ๓
พ.ชนเหล่าใด มีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำ ด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแล ย่อมพะนอเขา ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น สมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำมลทิน ของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ ในโลกหน้า

        [๒๘๒] เสรีเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถา ทูลถวายพระผู้มีพระภาคว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหารด้วยกัน ทั้งนั้น เออก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหารชื่อว่ายักษ์โดยแท้

        [๒๘๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบ เสรีเทพบุตร ด้วยพระคาถาว่า ชนเหล่าใด มีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำ ด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแล ย่อมพะนอเขา ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น สมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำมลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ ในโลกหน้า

        [๒๘๔] ส. น่าอัศจรรย์พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้ พระผู้มี พระภาคตรัสแจ่มแจ้งแล้ว ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าว และน้ำนั้นแล ย่อมพะนอเขา ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น สมควรเปลื้อง ความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำมลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้น เป็นที่พึ่ง ของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า

        [๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว หม่อมฉันได้เป็น พระเจ้าแผ่นดิน มีนามว่าเสรี เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน ที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน หม่อมฉันได้ให้ทาน แก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง ไกล วณิพกและยาจกทั้งหลาย ครั้นต่อมา พวกฝ่ายในพากันเข้าไปหาหม่อมฉัน ได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญทาน แต่พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ ทาน เป็นการชอบ ที่พวกหม่อมฉัน จะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานกระทำ บุญบ้าง หม่อมฉันจึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าว   ชมการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกหม่อมฉันจะให้ทาน เราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบ   ประตูด้านแรกให้แก่พวกฝ่ายในไป เขาพากันให้ทานในที่นั้น ทานของหม่อมฉัน ก็ลดไป

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมา พวกกษัตริย์พระราชวงศ์พากันเข้าไปหา หม่อมฉัน ได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญทาน พวกฝ่ายในก็บำเพ็ญทาน แต่พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกข้าพระพุทธเจ้า จะได้อาศัย ใต้ ฝ่าละอองธุลีพระบาทกระทำบุญบ้าง หม่อมฉันก็คิดเห็นว่ าเราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระพุทธเจ้า จะให้ทาน เราจะ ว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านที่สอง ให้แก่พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ไป พวก กษัตริย์  พระราชวงศ์ต่างก็พากันให้ทาน ในที่นั้น ทานของหม่อมฉัน ก็ลดไป

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมา พวกพลกาย (ข้าราชการฝ่ายทหาร) เข้าไปหาหม่อมฉันได้พูดปรารภ ขึ้นว่า พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พวกฝ่ายใน ก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล  พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ ก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกข้าพระพุทธเจ้า มิได้ให้ทานเป็นการชอบ ที่พวกข้าพระพุทธเจ้าจะได้อาศัย ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานกระทำบุญบ้าง หม่อมฉันจึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็น ทายกเป็นทานบดี เป็นผู้ กล่าวชมการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระพุทธเจ้า จะให้ทาน เราจะว่าอะไรแล้วจึงมอบประตูด้านที่สาม ให้พวกพลกายไป เขาก็พากัน ให้ทานใน ที่นั้น ทาน ของหม่อมฉันก็ลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

        ครั้นต่อมา มีพวกพราหมณ์ คฤหบดี (ข้าราชการฝ่ายพลเรือน) เข้าไปหา หม่อมฉัน ได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พวกฝ่ายในก็ทรง บำเพ็ญพระกุศล พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ ก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกข้าราชการ ฝ่ายทหารก็ให้ทาน แต่พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวก ข้าพระพุทธเจ้า จะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานกระทำบุญบ้าง หม่อมฉั นจึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน

        เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระพุทธเจ้า จะให้ทานเราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตู ด้านที่สี่ ให้พวกพราหมณ์คฤหบดีไป เขาต่างก็พากันให้ทาน ในที่นั้น ทานของหม่อม ฉันก็ลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเจ้าหน้าที่ ทั้งหลายต่างพากันเข้าไปหา หม่อมฉัน ได้ทูลสนองขึ้นว่า บัดนี้พระองค์จะไม่ทรง บำเพ็ญทานในที่ไหนๆ อีกหรือ เมื่อเขาทูลอย่างนี้ หม่อมฉันจึงกล่าวตอบไปว่า

        ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ในท้องถิ่นชนบทนอกๆ ออกไป มีรายได้ใดๆ เกิดขึ้น พวกท่านจงรวบรวมส่งเข้าไปในเมือง (เข้าท้องพระคลัง) เสียกึ่งหนึ่ง อีก กึ่งหนึ่ง พวกท่าน จงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจก ทั้งหลาย ในชนบทนั้นเถิด (เป็นเช่นดังกราบบังคมทูลถวายนี้แหละ พระเจ้าข้า)

        หม่อมฉันจึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญ ที่ได้บำเพ็ญไว้ แห่งกุศลที่ได้ก่อสร้างไว้ ตลอดกาลนานอย่างนี้ โดยที่จะมาคำนึงถึงว่า เท่านี้เป็นบุญพอแล้ว เท่านี้เป็นผล ของบุญ พอแล้ว หรือเท่านี้ ที่เราพึงตั้งอยู่ในสามัคคีธรรม (คือพร้อมเพรียงร่วม ทำบุญ กับเขาพอแล้ว)

        [๒๘๖] น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้   พระผู้มีพระภาค ตรัสแจ่มแจ้งแล้ว ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำ นั้นแล ย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น สมควรเปลื้อง ความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำมลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้น ย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า


ฆฏิการสูตรที่ ๔
(เนื้อความเดียวกับ ฆฏิการสูตรที่ ๑๐ P 1359)
ฆฏิกรพรหม อดีตเป็นช่างปั้นหม้อ เคยฟังธรรมจาก พระกัสสปพุทธเจ้า (สมัยมนุษย์อายุ ๒๐,๐๐๐ ปี) หลังทำกาละได้มาเกิดในชั้นพรหม จึงเข้าเฝ้าพระโคดม เพื่อถาม ปัญหา พร้อม กับเล่าว่า มีภิกษุ ๗ รูป ผู้เข้าถึงพรหมโลกชั้นอวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว สิ้นราคะโทสะแล้ว พระโคดมกล่าวว่า ท่านเคย ร่วมบ้านกันกับเรา เคยเป็นสหายของเราในปางก่อน (จุดใต้ตำตอ ฆฏิกรพรหม กะ พระโคดม เคยเป็นเพื่อนกันในสมัย พระกัสสปพุทธเจ้า)

        [๒๘๗] ฆฏิการเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุ ๗ รูป ผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่า อวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว สิ้นราคะโทสะแล้ว ข้ามพ้นเครื่องข้องต่างๆ ในโลกเสียได้แล้ว

        พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ก็ภิกษุเหล่านั้น คือใครบ้าง ผู้ข้ามพ้น เครื่องข้องเป็นบ่วงมาร อันแสนยากที่ใครๆ จะข้ามพ้นได้ ละกายของมนุษย์ แล้วก้าวล่วงเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์

         ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า คือ ท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวมเป็น  ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพาหุรัคคิ ๑ ท่านลิงคิยะ ๑ (รวมเป็น ๗ ท่าน) ท่านเหล่านั้น ล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วง เครื่องประกอบ อันเป็นทิพย์ได้แล้ว

        [๒๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านเป็นคนมีความฉลาด กล่าวสรรเสริญ ภิกษุเหล่านั้น ผู้ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น รู้ทั่วถึงธรรม ของใคร จึงได้ตัด เครื่องผูก คือภพเสียได้ 

         [๒๘๙] ฆ. ท่านเหล่านั้นรู้ทั่วถึงธรรมของผู้ใด จึงตัดเครื่องผูกคือภพ เสียได้ ผู้นั้นนอกจากพระผู้มีพระภาค และธรรมนั้น นอกจากพระศาสนาของพระองค์แล้ว เป็นไม่มี นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมนั้นในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้

        [๒๙๐] พ. ท่านกล่าววาจาลึก รู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก ท่านรู้ทั่วถึงธรรม ของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้

        [๒๙๑] ฆ. ครั้งก่อน ข้าพเจ้าเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีอามิส ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งเคยได้เป็น สหายของพระองค์ในปางก่อน ข้าพเจ้ารู้จักภิกษุทั้ง ๗  รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว สิ้นราคะ โทสะแล้ว ข้ามพ้นเครื่องข้องต่างๆ ในโลกได้แล้ว

        [๒๙๒] พ. แน่ นายช่างหม้อ ท่านพูดอย่างใดก็ได้เป็นจริงแล้ว  อย่างนั้น ในกาลนั้น ครั้งก่อนท่านเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงดู มารดาบิดา เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า งดเว้นจากเมถุนธรรม ประพฤติ พรหมจรรย์ ไม่มีอามิส ได้เป็นคนเคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคยเป็นสหาย ของเรา ในปางก่อน พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่ง สรีระมีในที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้


ชันตุสูตรที่ ๕
ท. มีคาถากะพวกภิกษุในป่า พวกภิกษุผู้เป็นสาวกพระโคดม เป็นอยู่ง่าย ไม่เป็นผู้มักได้ แสวงหา บิณฑบาต ไม่มักได้ที่นอนที่นั่ง ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลก เป็นของไม่เที่ยง กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

        [๒๙๓] ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง ภิกษุเป็นจำนวนมาก อยู่ในกุฎี อันตั้งอยู่ในป่าข้างเขาหิมวันต์  แคว้นโกศล เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง โอนเอน ปากกล้า วาจาสามหาว มีสติฟั่นเฟือน ขาดสัมปชัญญะ ไม่มั่นคง  มีจิตคิดนอกทาง ประพฤติเยี่ยงคฤหัสถ์

        [๒๙๔] วันหนึ่งเป็นวันอุโบสก ๑๕ ค่ำ ชันตุเทพบุตร เข้าไปหาพวกภิกษุ  เหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้น ด้วยคาถาทั้งหลายว่า ครั้งก่อน พวกภิกษุผู้เป็นสาวกพระโคดม เป็นอยู่ง่าย ไม่เป็นผู้มักได้แสวงหา บิณฑบาต ไม่มักได้ที่นอนที่นั่ง ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลก เป็นของไม่เที่ยง กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ส่วนท่านเหล่านี้ ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงยาก เหมือนชาวบ้านที่โกงเขากินกินๆ แล้วก็นอน เที่ยวประจบไปในเรือนของคนอื่น

ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีต่อท่าน ขอพูดกะท่านบางพวกในที่นี้ว่า พวกท่านถูกเขา ทอดทิ้ง หมดที่พึ่ง เป็นเหมือนเปรต ที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้หมายเอาบุคคลจำพวก ที่ประมาทอยู่ ส่วนท่านพวกใดไม่ประมาทอยู่ ข้าพเจ้าขอนมัสการท่านพวกนั้น


โรหิตัสสสูตรที่ ๖

เทวดาเล่าให้ พ.ฟังว่าในอดีตชาติเป็นฤาษี ชื่อ โรหิตัสสะ มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้ มีความเร็วประดุจธนู ประสงค์ว่าจักบรรลุถึงที่สุดของโลก ด้วยการเดินทาง ระหว่างเดินทาง ด้วยความเร็วดุจธนู ได้เว้นจากการกิน การถ่ายอุจจาระ การปัสสาวะ ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่หลับ นอน และมีอายุถึงร้อยปี ดำรงชีพอยู่ถึงร้อยปี เดินทางตลอดร้อยปี ก็ยังไม่ถึงที่สุดของ โลกได้ แต่มาทำกาละ กิริยาเสียในระหว่าง(ตายระหว่างทาง)

พ. ดูกรอาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็น ที่สุดของโลก ว่าควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง ก็ถ้าหากเรายังไม่บรรลุ ถึงที่สุด
ของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการ กระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่ว่าเราบัญญัติ เรียกว่าโลก เหตุให้ เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลก ในสรีระร่างมีประมาณ วาหนึ่งนี้ และพร้อมทั้งสัญญา พร้อมทั้งใจครอง
(มีสัญญากับใจ)

    แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลก ด้วยการเดินทาง เพราะยังไม่บรรลุถึงที่สุด โลกได้ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์


        [๒๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

    ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว โรหิตัสสเทวบุตร มีวรรณงามยิ่งนัก  ยัง พระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว  จึงถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    โรหิตัสสเทพบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูล    พระผู้มีพระภาค ว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลสถิตอยู่ ณ ที่ใดหนอ จึงจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติไม่อุปบัติ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันบุคคลจะอาจบ้าง หรือไม่ เพื่อที่จะรู้ เพื่อที่จะเห็น หรือเพื่อที่จะบรรลุที่สุดโลก ได้ด้วยการเดินทาง  

        [๒๙๖] พ. อาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่ พูดถึงที่นั้น อันเป็นที่สุดของโลกว่า ควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุด้วยการ เดินทาง

    ร. น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้พระผู้มีพระภาค ตรัสแจ่มแจ้ง ดังปรากฏว่า อาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้น อันเป็นที่สุดของโลกว่า ควรรู้ ควรเห็นควรบรรลุด้วยการเดินทาง

        [๒๙๗] ร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ปางก่อน ข้าพระองค์เป็นฤาษี ชื่อ โรหิตัสสะ เป็นบุตรของอิสสรชน มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้ มีความเร็วประดุจ อาจารย์สอนศิลปธนูจับธนูมั่น ชาญศึกษา ชำนาญมือ เคยประกวดยิงธนูมาแล้ว ยิงผ่านเงาตาลตามขวางได้ ด้วยลูกศรขนาดเบาโดยสะดวกดาย ย่างเท้าของ  ข้าพระองค์เห็นปานนี้ ประดุจจากมหาสมุทร ด้านทิศบูรพา ก้าวถึงมหาสมุทรด้านทิศ ประจิม ข้าพระองค์มาประสงค์อยู่แต่เพียงว่า เราจักบรรลุถึงที่สุดของโลกด้วยการ เดินทาง

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประกอบด้วย ความเร็วขนาดนี้ด้วย ย่างเท้า ขนาดนี้ เว้นจากการกิน การขบเคี้ยว และการลิ้มรสอาหาร เว้นจากการ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากระงับความเหน็ดเหนื่อย ด้วยการหลับนอน มีอายุถึงร้อยปี ดำรงชีพอยู่ถึงร้อยปี เดินทางตลอดร้อยปี ก็ยังไม่ถึงที่สุดของโลกได้แต่มาทำกาล กิริยาเสียในระวาง น่าอัศจรรย์นักพระเจ้าข้า ไม่เคยมีมาพระเจ้าข้า

        พระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสแจ่มแจ้งแล้ว ดังปรากฏว่า อาวุโส ที่ใด เป็นที่ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็นที่สุด ของโลก ว่าควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุด้วยการเดินทาง

        [๒๙๘] พ. ดูกรอาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็นที่สุดของโลก ว่าควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง ก็ถ้าหากเรายังไม่บรรลุ ถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการ กระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่ว่าเราบัญญัติ เรียกว่าโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความ ดับโลก ในสรีระร่าง มีประมาณวาหนึ่งนี้ และพร้อมทั้งสัญญาพร้อมทั้งใจครอง

    แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลก ด้วยการเดินทาง และเพราะที่ยัง บรรลุถึงที่สุดโลกไม่ได้ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์

    เหตุนั้นแหละ คนมีปัญญาดี ตระหนักชัดเรื่องโลก ถึงที่สุดโลกได้อยู่จบ พรหมจรรย์ แล้ว รู้จักที่สุดโลกแล้ว เป็นผู้ระงับแล้ว จึงไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า


นันทสูตรที่ ๗
พ. กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป  บุคคลมาพิจารณา เห็นภัยในมรณะนี้ มุ่งต่อสันติ ควรละโลกามิสเสีย

        [๒๙๙] นันทเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละ ลำดับไป บุคคลมาพิจารณาเห็นภัย ในมรณะนี้ ควรทำบุญอันนำความสุข มาให้

        [๓๐๐] พ. กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป  บุคคลมาพิจารณา เห็นภัยในมรณะนี้ มุ่งต่อสันติ ควรละโลกามิสเสีย


นันทิวิสาลสูตรที่ ๘
พ. บุคคลตัดความผูกโกรธด้วยกิเลสเป็นเครื่องรัดด้วย ความปรารถนาและความโลภ อัน ชั่วช้าด้วย ถอนตัณหา พร้อมทั้งอวิชชา อันเป็นมูลรากเสียได้ อย่างนี้จึงจักออกไปจาก ทุกข์ได้


        [๓๐๑] นันทิวิสาลเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว  จึงได้กล่าว คาถาทูลถวายพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ สรีรยนต์ มีจักร ๑- ๔ มีทวาร ๒- ๙ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ประกอบด้วยความโลภ ย่อมเป็นประดุจ เปือกตม ไฉนจักมีความออกไปจากทุกข์ได้

        [๓๐๒] พ. บุคคลตัดความผูกโกรธด้วย กิเลสเป็นเครื่องรัดด้วย  ความปรารถนาและความโลภอันชั่วช้าด้วย ถอนตัณหาพร้อมทั้งอวิชชา อันเป็นมูล รากเสียได้ อย่างนี้จึงจักออกไปจากทุกข์ได้


สุสิมสูตรที่ ๙
(กิตติศัพท์ของพระสารีบุตร เป็นที่กล่าวขานกันในหมู่เทวดาว่าเป็นบัณฑิต)

พ.อานนท์ เธอชอบสารีบุตร หรือไม่
อ. พระสารีบุตร ท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญา แทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษเป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ … ใครเล่าจำไม่ชอบท่าน

ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร แวดล้อมไปด้วยเทพบุตรบริษัทเข้าเฝ้า ขณะที่พระผู้มีพระภาค กะ พระอานนท์ กำลังกล่าวสรรเสริญคุณของพระสารีบุตรอยู่ จึงกราบทูลว่า จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจริง  อย่างนั้น พระสุคต อันใครเล่าที่ ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน พระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต เป็นผู้ตำหนิคนชั่วข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุม เทพบุตรบริษัท ใดๆ ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต


     [๓๐๓] สาวัตถีนิทาน ฯ
ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์เถระเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาท นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอชอบสารีบุตร หรือไม่

     อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาสจะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญา แทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษเป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียรเป็นผู้เข้าใจพูดอดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คน งมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

        [๓๐๔] พ. อย่างนั้นๆ อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ   ไม่ใช่ คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร เพราะสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญามีปัญญา ชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่นมีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้ สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทน ต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คน งมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร

        [๓๐๕] ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร แวดล้อมไปด้วยเทพบุตร บริษัทเป็น อันมาก ขณะที่พระผู้มีพระภาค และพระอานนท์เถระ กำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่าน พระสารีบุตรอยู่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเมื่อยืนเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบบังคมทูลพระผู้มี พระภาคว่า จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจริง  อย่างนั้น พระสุคต อันใครเล่าที่ ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน พระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่วข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุม เทพบุตรบริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่า ที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

        [๓๐๖] ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัท ของสุสิมเทพบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ กำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลัง กล่าวสรรเสริญคุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณ แพรวพราวปรากฏอยู่

        [๓๐๗] แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์ อันงาม โชติช่วง แปดเหลี่ยม อันบุคคล ขัดสี เรียบร้อยแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราว รุ้งร่วง ฉันใด เทพบุตรบริษัท ของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าว สรรเสริญ คุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณ แพรวพราว ปรากฏอยู่

        [๓๐๘] แท่งทองชมพูนุท เป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันหมั่น ใส่เบ้า  หลอมไล่ จนสิ้นราคีเสร็จแล้ว วางไว้บนผ้ากำพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่ง     ปลั่ง ฉันใด เทพบุตรบริษัท ของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมี      แห่งผิวพรรณแพรวพราว ปรากฏอยู่

        [๓๐๙] ดาวประกายพฤกษ์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆใน    ฤดูสรทกาล ย่อมส่องแสง สุกสกาววาวระยับ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของ สุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราว ปรากฏอยู่

        [๓๑๐] พระอาทิตย์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดู  สรทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ย่อมแผดแสง แจ่มจ้าไพโรจน์ ฉันใดเทพบุตรบริษัท ของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าวสรรเสริญคุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราว ปรากฏอยู่

        [๓๑๑] ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภ ถึงท่านพระสารีบุตรว่า ท่านพระสารีบุตร คนรู้จักท่านดีว่าเป็นบัณฑิตไม่ใช่คน มักโกรธ  มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงามความดีอัน พระศาสดา ทรงสรรเสริญ เป็นผู้แสวงคุณ

        [๓๑๒] พระผู้มีพระภาค ได้ภาษิตคาถา ตอบสุสิมเทพบุตร ปรารภถึงท่าน พระสารีบุตรว่า สารีบุตรใคร ๆ ก็รู้จักว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความปรารถนา น้อย สงบเสงี่ยม อบรม ฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็แต่กาลเป็นที่ปรินิพพาน


นานาติตถิยสูตรที่ ๑๐
เทพบุตรทั้ง ๖ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน
องค์ที่ ๑-๔ ต่างสรรเสริญคุณ ของเจ้าลัทธิต่างๆ
องค์ที่ ๕ เห็นแย้ง จึงถูกมารแกล้ง โดยเข้าสิงร่าง
องค์ที่ ๖ มีชื่ิอว่า มาณวคามิยเทพบุตร ดูฉลาดและมีปัญญา
ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในสำนัก
พระผู้มีพระภาคว่า
 - ภูเขาวิปุละ เขากล่าวกันว่าสูง เยี่ยมกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ในพระนครราชคฤห์
 - เสตบรรพต เป็นเลิศกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ ในป่าหิมวันต์
 - พระอาทิตย์ เป็นเลิศกว่าสิ่งที่ไปในอากาศ
 - มหาสมุทร เป็นเลิศกว่า ห้วงน้ำทั้งหลาย
 - พระจันทร์ เป็นเลิศกว่า ดวงดาวทั้งหลาย
 - พระพุทธเจ้า โลกกล่าวว่า เป็นเลิศกว่าประชุมชนทั้งโลก พร้อมทั้งเทวโลก


        [๓๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้ เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ณ กาล ครั้งหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงแล้ว พวกเทพบุตร ผู้เป็นสาวกเดียรถีย์ต่างๆ เป็นอันมาก คือ (๑) อสมเทพบุตร (๒) สหลีเทพบุตร (๓) นิกเทพบุตร (๔) โกฏกเทพบุตร (๕) เวฏัมพรีเทพบุตร(๖) มาณวคามิยเทพบุตร มีวรรณงามยิ่ง ยังพระวิหารเวฬุวัน ทั้งสิ้น ให้สว่าง เข้าไปเฝ้า พระผูมีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงอภิวาทพระผู้มี พระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

        [๓๑๔] อสมเทพบุตร(๑) ครั้นยืนอยู่ ณ ส่วนที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่าน ปูรณะกัสสป ว่า ครูปูรณะกัสสป เพียงแต่มอง ไม่เห็นบาป หรือบุญของตน ในเพราะเหตุที่สัตว์ถูกฟัน ถูกฆ่า ถูกโบย ถูกข่มเหง ในโลกนี้เท่านั้น ท่านบอกให้วางใจเสีย ท่านย่อมควรที่จะยกย่อง ว่าเป็นศาสดา (สรรเสริญเจ้าลัทธิ)

        [๓๑๕] สหลีเทพบุตร(เจ้าลัทธิ) (๒) ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภ  ถึงท่าน มักขลิโคศาล ต่อไปว่า ครูมักขลิโคศาล สำรวมตนดีแล้ว เพราะ รังเกียจ บาป ด้วยตบะ ละวาจาที่ก่อให้เกิดความทะเลาะกับคนเสีย เป็นผู้สม่ำเสมอ งดเว้น จากสิ่งที่มีโทษ พูดจริง ท่านมักขลิโคศาลจัดว่าเป็นผู้คงที่ไม่กระทำบาป โดยแท้ (สรรเสริญเจ้าลัทธิ)

        [๓๑๖] นิกเทพบุตร(๓) ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภ ถึงท่าน นิครนถ์นาฏบุตร ต่อไปว่าครูนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นผู้เกลียดบาป มีปัญญา รักษา ตัวรอดเห็นภัยในสงสาร เป็นผู้ระมัดระวังทั้ง ๔ ยาม เปิดเผยสิ่งที่ตนเห็นแล้ว และฟังแล้ว น่าจะไม่ใช่ผู้หยาบช้าโดยแท้ (สรรเสริญเจ้าลัทธิ)

        [๓๑๗] อาโกฏกเทพบุตร(๔) ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภ ถึงพวกเดียรถีย์ต่างๆ ต่อไปอีกว่า ท่านปกุธะกัจจายนะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร และ พวกท่านมักขลิโคศาล ท่านปูรณะกัสสป เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นศาสดาของหมู่ บรรลุถึง ที่สุดในสมณธรรมแล้ว ท่านเหล่านั้นคงเป็นผู้ไม่ไกลไปจากสัตบุรุษแน่นอน (สรรเสริญเจ้าลัทธิ)

        [๓๑๘] เวฏัมพรีเทพบุตร(๕) ได้กล่าวตอบ อาโกฏกเทพบุตร ด้วยคาถาว่าสุนัขจิ้งจอก สัตว์เลวๆ ใคร่จะตีตนเสมอราชสีห์ แม้จะไม่ใช่สัตว์ขี้เรื้อน แต่ก็มีบางคราว ที่ทำตนเทียมราชสีห์ ครูของหมู่บำเพ็ญตัว เป็นคนแนะหนทาง แต่พูดคำเท็จ มีมรรยาท น่ารังเกียจ จะเทียบกับสัตบุรุษไม่ได้ (กล่าวโต้ อาโกฎกเทพบุตร ว่า เจ้าลัทธิที่สรรเสริญนั้น เป็นแค่สุนัขจิ้งจอก จะเทียบกับสัตบุรุษ ที่เปรียบเหมือนราชสีห์ไม่ได้))

        [๓๑๙] ลำดับนั้น มารผู้ลามก เข้าสิง เวฏัมพรีเทพบุตร แล้ว ได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า สัตว์เหล่าใด ประกอบแล้ว ในความเกลียดบาป ด้วยตบะ รักษาความสงบสงัดอยู่ ติดอยู่ในรูป ปรารถนาเทวโลก สัตว์เหล่านั้น ย่อมสั่งสอน ชอบ เพื่อปรโลกโดยแท้ (มารผู้มีบาป เข้าข้างเจ้าลัทธิต่างๆ จึงแกล้ง เวฏัมพรีเทพบุตร)

        [๓๒๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี้เป็นมารตัวร้ายกาจ จึงได้ ทรงภาษิตคาถา ตอบมารผู้ลามก ว่า รูปใดๆ จะอยู่ในโลกนี้หรือโลกหน้า และ จะอยู่ ในอากาศ มีรัศมีรุ่งเรืองก็ตามที รูปทั้งหมดเหล่านั้น อันมารสรรเสริญแล้ว วางดักสัตว์ ไว้แล้ว เหมือนเขาเอาเหยื่อล่อเพื่อฆ่าปลาฉะนั้น

        [๓๒๑] ลำดับนั้น มาณวคามิยเทพบุตร(๖) ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาค ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคว่า
ภูเขาวิปุละ
เขากล่าวกันว่า เป็นสูง เยี่ยมกว่าภูเขา ที่ตั้งอยู่ในพระนครราชคฤห์
เสตบรรพต เป็นเลิศกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ ในป่าหิมวันต์
พระอาทิตย์ เป็นเลิศกว่าสิ่งที่ไปในอากาศ
มหาสมุทร เป็นเลิศกว่า ห้วงน้ำทั้งหลาย
พระจันทร์ เป็นเลิศกว่า ดวงดาวทั้งหลาย
พระพุทธเจ้า โลกกล่าวว่า เป็นเลิศกว่าประชุมชนทั้งโลก พร้อมทั้งเทวโลก

(มาณวคามิยเทพบุตร ฉลาด มีปัญญากว่า เทพบุตร ๔ องค์แรก)

จบ นานาติตถิยวรรค ที่ ๓
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รวมพระสูตรในนานาติตถิยวรรคที่ ๓ นี้ มี ๑๐ สูตร คือ สิวสูตรที่ ๑   เขมสูตรที่ ๒เสรีสูตรที่ ๓ ฆฏิการสูตรที่ ๔ ชันตุสูตรที่ ๕ โรหิตัสสสูตรที่ ๖  นันทสูตรที่ ๗ นันทิวิสาลสูตรที่ ๘ สุสิมสูตรที่ ๙ และนานาติตถิยสูตรที่ ๑๐
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จบ เทวปุตตสังยุตต์


 






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์