พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๙๔
ปาริฉัตตกสูตร
[๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ แห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่า เวลานี้ต้น ปาริฉัตตกพฤกษ์ ใบเหลือง ไม่นานเท่าไร ก็จักผลัดใบใหม่
สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัด ใบใหม่
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจว่า เวลานี้ ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์ กำลังผลัดใบ ใหม่ ไม่นานเท่าไรก็จักผลิดอกออกใบ
สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้น ดาวดึงส์ ผลิดอกออกใบแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่า เวลานี้ปาริฉัตตกพฤกษ์ ผลิดอกออกใบแล้ว ไม่นานเท่าไร ก็จัก เป็นดอกเป็นใบ
สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดา ชั้นดาวดึงส์ เป็นดอกเป็นใบแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่า เวลานี้ปาริฉัตตกพฤกษ์เป็นดอก เป็นใบแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จัก เป็นดอกตูม
สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็น ดอกตูมแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่า เวลานี้ ปาริฉัตตกพฤกษ์ดอกออกตูมแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จัก เริ่มแย้ม
สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์เริ่มแย้มแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่าเวลานี้ ปาริฉัตตกพฤกษ์เริ่มแย้มแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จักบานเต็มที่
สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของ เทวดาชั้นดาวดึงส์ บานเต็มที่แล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วย กามคุณ ๕ บำรุงบำเรอ อยู่ตลอดระยะ ๕ เดือนทิพย์ ณ ควงแห่งไม้ปาริฉัตตกพฤกษ์
ก็เมื่อ ปาริฉัตตกพฤกษ์ บานเต็มที่แล้ว
แผ่รัศมีไปได้ ๕๐ โยชน์ (800 กม) ในบริเวณรอบๆ
จะส่งกลิ่นไปได้ ๑๐๐ โยชน์ (1600 กม.) ตามลม
อานุภาพของ ปาริฉัตตกพฤกษ์ มีดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ดูกรภิกษุทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกันแล
(อริยสาวกเปรียบเหมือน
ปาริฉัตตกพฤกษ์ )
สมัยใด อริยสาวกคิดจะออกบวชเป็นบรรพชิต
สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตก พฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง
สมัยใด อริยสาวกปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ผลัดใบใหม่
สมัยใด อริยสาวกสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือน ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ผลิดอก ออกใบ
สมัยใด อริยสาวกบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอก ผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เป็นดอก เป็นใบ
สมัยใด อริยสาวกมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็น ดอกตูม
สมัยใด อริยสาวกบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์และ ดับ โสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
สมัยนั้น อริยสาวก เปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เริ่มแย้ม
สมัยใด อริยสาวกทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือน ปาริฉัตตกพฤกษ์ ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ บานเต็มที่
สมัยนั้น ภุมมเทวดาย่อมประกาศให้ได้ยินว่า ท่านรูปนี้ มีชื่ออย่างนี้เป็นสัทธิวิหาริก ของท่านชื่อนี้ ออกจากบ้านหรือนิคมชื่อโน้น บวชเป็นบรรพชิตกระทำให้แจ้ง ซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
เทวดาชั้นจาตุมหาราชฟังเสียงแห่งภุมมเทวดา ... เทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ...
เทวดาชั้นพรหมฟังเสียง แห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีแล้ว ย่อมประกาศ ให้ได้ยินว่า ท่านรูปนี้มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของท่านผู้นี้ ออกจากบ้าน หรือ นิคม ชื่อโน้น บวชเป็นบรรพชิต กระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ โดยเหตุนี้ เสียงก็ระบือไปตลอดพรหมโลกชั่วขณะนั้น ชั่วครู่นั้น อานุภาพของ พระขีณาสพ เป็นดังนี้
(ภุมมเทวดา-กามภพ ประกาศ บรรพชิตที่สำเร็จเป็นอรหันต์ เป็นทอดๆ จนถึงพรหมกายิกา)
จบสูตรที่ ๕
|