1) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๑
เรื่องอัมพัฏฐมาณพ
อัมพัฏฐมาณพเป็นผู้จบไตรเพท ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและมหาปุริสลักษณะ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขณะเสด็จจาริกไป ในโกศลชนบท พร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เพื่อให้เห็นจริงว่าพระโคดมมีพระมหาบุรุษประกอบแล้วหรือไม่ แต่อัมพัฏฐมาณพ กลับแสดง กิริยา ไม่เคารพพระศาสดา
[๑๔๓] สมัยนั้นแล อัมพัฏฐมาณพ ศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจ ไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ อันอาจารย์ยกย่อง และรับรอง ในลัทธิปาพจน์ คือ ไตรวิทยา อันเป็นของอาจารย์ของตนว่า ฉันรู้สิ่งใด เธอรู้สิ่งนั้น เธอรู้สิ่งใด ฉันรู้สิ่งนั้น
ครั้งนั้นแล พราหมณ์โปกขรสาติ เรียกอัมพัฏฐมาณพ มาเล่าว่า พ่ออัมพัฏฐะ พระสมณะโคดมศากยบุตร พระองค์นี้ทรงผนวช จากศากยสกุล แล้วเสด็จจาริกไป ในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงอิจฉานังคลคาม โดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม ก็เกียรติศัพท์ อันงามของท่านพระโคดม พระองค์นั้นแล ขจรไปอย่างนี้ว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อม ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบาน แล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เอง แล้วทรงสอน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล
พ่ออัมพัฏฐะ พ่อจงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ถึงที่ประทับ แล้วจงรู้ว่า เกียรติศัพท์ ของท่านพระโคดม พระองค์นั้นที่ขจรไป จริงตามนั้นหรือไม่ ท่านพระโคดม พระองค์นั้น ทรงคุณเช่นนั้นจริงหรือไม่ เราทั้งหลายจะได้รู้จักท่านพระโคดม พระองค์นั้น ไว้ โดยประการนั้น
อัมพัฏฐมาณพ ถามว่า ท่านก็ไฉนเล่า ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่าเกียรติศัพท์ ของท่าน พระโคดมพระองค์นั้น ที่ขจรไป จริงอย่างนั้นหรือไม่ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ทรงคุณเช่นนั้นจริงหรือไม่?
พราหมณ์โปกขรสาติตอบว่า พ่ออัมพัฏฐะ มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ของเรา ซึ่งพระมหาบุรุษประกอบแล้ว ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็น อย่างอื่น ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชา โดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้วช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์ มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศาตรา ครอบครองแผ่นดิน มีสาครเป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออก ผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้วในโลก
พ่ออัมพัฏฐะ เราเป็นผู้สอนมนต์ พ่อเป็นผู้เรียนมนต์.
อัมพัฏฐมาณพ รับคำพราหมณ์โปกขรสาติแล้ว ลุกจากที่นั่ง ไหว้พราหมณ์ โปกขรสาติ กระทำประทักษิณ แล้วขึ้นรถม้าพร้อมด้วยมาณพหลายคน ขับตรงไป ยังราวป่าอิจฉานังคลวัน ตลอดภูมิประเทศเท่าที่รถจะไปได้ ลงจากรถเดินตรงไปยัง พระอาราม
อ่านต่อ ...
2) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๘-๑๔๔
(พระสูตรเต็ม)
๔. โสณทัณฑสูตร
[๑๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปในอังคชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครจัมปา ได้ยินว่าสมัยนั้นพระองค์ประทับอยู่ใกล้ ขอบสระ โบกขรณีคัคครา ในนครจัมปา
ว่าด้วยพุทธคุณ
[๑๗๙] สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะ ครองนครจัมปา ซึ่งคับคั่งด้วยประชาชน และหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วย ธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติ อันพระเจ้าแผ่นดินมคธจอมเสนา พระนามว่าพิมพิสาร พระราชทานปูนบำเหน็จ ให้เป็น ส่วนพรหมไทย พราหมณ์และคฤหบดีชาวนครจัมปา ได้สดับข่าวว่าพระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปใน อังคชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครจัมปา ประทับอยู่ใกล้ขอบสระโบกขรณีคัคครา ในนครจัมปา
กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย พระปัญญา อันยิ่ง ของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล ดังนี้ ครั้งนั้นพราหมณ์ และคฤหบดีชาวนครจัมปา ออกจากนครจัมปา รวมกันเป็นหมู่ๆพากันไป ยังสระโบกขรณีคัคครา
ว่าด้วยคุณของโสณทัณฑพราหมณ์
[๑๘๐] สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะ พักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน ได้เห็นพราหมณ์ และคฤหบดีชาวนครจัมปา ออกจากนครจัมปา รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสระโบกขรณีคัคครา จึงเรียกนักการมาถามว่า พ่อนักการ พราหมณ์ และ คฤหบดีชาวนครจัมปา ออกจากนครจัมปา รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสระ โบกขรณีคัคคราทำไมกัน.
นักการ. มีเรื่องอยู่ ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจาก ศากยสกุล เสด็จจาริกไปในอังคชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครจัมปาประทับอยู่ใกล้ขอบสระโบกขรณีคัคครา ในนครจัมปา กิตติศัพท์อันงาม ของพระองค์ ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรมพราหมณ์ และคฤหบดี เหล่านั้น พากันไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น
โสณทัณฑะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปหาเขาแล้ว บอกเขาอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย จงรอก่อน ท่านพราหมณ์โสณทัณฑะ จะไปเฝ้าสมณโคดมด้วย
นักการรับคำ แล้วไปหาพราหมณ์ และคฤหบดีชาวนครจัมปา แล้วบอกตาม คำสั่งว่า ท่านทั้งหลาย พราหมณ์โสณทัณฑะสั่งว่า ขอท่านทั้งหลายจงรอก่อน ท่านพราหมณ์โสณทัณฑะ จะไปเฝ้าด้วย
[๑๘๑] สมัยนั้นพวกพราหมณ์ต่างเมืองประมาณ ๕๐๐ คน มาพักอยู่ในนครจัมปา ด้วยกรณียกิจบางอย่าง เขาได้ทราบว่าพราหมณ์โสณทัณฑะ จะไปเฝ้า พระสมณโคดม จึงพากันเข้าไปหาแล้วถามว่า ได้ทราบว่าท่านจะไปเฝ้าพระสมณโคดมจริงหรือ?
โสณทัณฑะ เราคิดว่าจะไป
พวกพราหมณ์.
อย่าเลยท่านโสณทัณฑะ ท่านไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าท่านไปท่านจะ เสีย เกียรติยศ เกียรติยศของพระสมณโคดม จักรุ่งเรืองด้วยเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไป พระสมณโคดมต่างหาก ควรจะเสด็จมาหาท่าน อนึ่งท่านเป็น อุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดา และบิดามีครรภ์ เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติเพราะเหตุนี้ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้า พระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหาก ควรจะเสด็จมาหาท่าน
อ่านต่อ ...
3) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ หน้าที่ ๑-๕๙
มหาปทานสูตร
ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์กับภิกษุขีนาสพ(อรหันต์) จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ณ กุฎี ใกล้ไม้กุ่มน้ำ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กุฎี ใกล้ไม้กุ่มน้ำ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป ในเวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งประชุมกัน ใน โรงกลมใกล้ไม้กุ่มน้ำ เกิดสนทนาธรรมกันขึ้นเกี่ยวด้วย บุพเพนิวาสว่าบุพเพนิวาส บุพเพนิวาส ดังนี้
พระผู้มีพระภาค ได้ทรงสดับถ้อยคำเจรจาอันนี้ของภิกษุเหล่านั้น ด้วยพระทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังโรงกลมใกล้ ไม้กุ่มน้ำ ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาคครั้นประทับนั่ง แล้วถาม ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนา อะไรกันเรื่องอะไร ที่พวกเธอพูดค้างไว้ เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ ในเวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้นั่งประชุมกันในโรงกลมใกล้ไม้กุ่มน้ำ แล้วเกิดสนทนาธรรมกันขึ้น เกี่ยวด้วย บุพเพนิวาสว่า บุพเพนิวาส บุพเพนิวาส ดังนี้ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้แล ที่พวกข้าพระองค์พูดค้างไว้ พอดีพระองค์เสด็จมาถึง
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอปรารถนาหรือไม่ ที่จะฟังธรรมีกถา ซึ่งเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาส ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นการสมควรแล้ว ที่พระผู้มีพระภาค จะพึงทรงกระทำธรรมีกถา ซึ่งเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาส ข้าแต่พระสุคต เป็นการสมควรแล้วที่พระผู้มีพระภาค จะพึงทรงกระทำธรรมีกถา ซึ่งเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาส ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว จักได้ทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นับแต่นี้ไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก นับแต่นี้ไป ๓๑ กัป พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกัปที่ ๓๑ นั่นเอง พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า เวสสภู ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในภัททกัปนี้แหละ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในภัททกัปนี้แหละ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ได้เสด็จอุบัติขึ้น ในโลก ในภัททกัป นี้แหละ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ ได้เสด็จอุบัติขึ้น ในโลก ในภัททกัปนี้แหละ เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบัดนี้ อุบัติขึ้นแล้วในโลก
[๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ ทรงอุบัติในขัตติยสกุล พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ได้เป็นกษัตริย์โดยพระชาติทรงอุบัติ ในขัตติยสกุล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ได้เป็นกษัตริย์โดย พระชาติ ทรงอุบัติในขัตติยสกุล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ได้เป็นพราหมณ์โดยพระชาติ ทรงอุบัติใน พราหมณสกุล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ได้เป็นพราหมณ์โดย พระชาติ ทรงอุบัติในพราหมณสกุล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ได้เป็นพราหมณ์โดยพระชาติ ทรงอุบัติใน พราหมณสกุล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ได้เป็นกษัตริย์ โดยชาติ อุบัติในขัตติยสกุล ฯ
[๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี เป็นโกณฑัญญโคตร พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี เป็นโกณฑัญญโคตร พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู เป็นโกณฑัญญโคตร พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ เป็นกัสสปโคตร พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ เป็นกัสสปโคตร พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ เป็นกัสสปโคตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าในบัดนี้ เป็นโคตมโคตร
[๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระชนมายุของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ประมาณ ๗๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุของ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปีพระชนมายุของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนมายุของเราในบัดนี้ มีประมาณน้อยนิดเดียว ผู้ที่มีชีวิตอยู่อย่างนานก็เพียง ๑๐๐ ปี บางทีก็น้อยกว่าบ้าง มากกว่าบ้าง
[๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ตรัสรู้ที่ควงไม้แคฝอย พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ตรัสรู้ที่ควงไม้กุ่มบก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ตรัสรู้ที่ควงไม้สาละ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ตรัสรู้ที่ควงไม้ซึก พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ตรัสรู้ที่ควงไม้มะเดื่อ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ตรัสรู้ที่ควงไม้ไทร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ตรัสรู้ที่ควงไม้โพธิ์
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี มีพระขัณฑะ และพระติสสะ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี มีพระอภิภู และพระสัมภวะ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู มีพระโสนะและพระอุตตระ เป็นคู่พระอัครสาวกซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ มีพระวิธูระ และ พระสัญชีวะ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ มีพระภิยโยสะ และพระอุตตระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ มีพระติสสะ และพระภารทวาชะ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราในบัดนี้ มีสารีบุตรและโมคคัลลานะ เป็นคู่อัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ
[๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งสาวก ของ (1) พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้มีสามครั้ง ครั้งหนึ่ง มีพระสาวก ประชุมกัน เป็นจำนวนภิกษุ แสนหกหมื่นแปดพันรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวน ภิกษุแสนรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวน ภิกษุแปดหมื่นรูป สาวกของ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ซึ่งได้ประชุมกัน ทั้งสาม ครั้งนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกัน แห่งพระสาวกของ(2) พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ได้มีสามครั้ง ครั้งหนึ่ง มีพระสาวก ประชุมกัน เป็นจำนวนภิกษุแสนรูปอีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ แปดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวนภิกษุเจ็ดหมื่นรูป พระสาวก ของ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ซึ่งได้ประชุมกันทั้ง สามครั้ง นี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งพระสาวก ของ(3) พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ได้มีสามครั้ง ครั้งหนึ่งมีพระสาวก ประชุมกัน เป็นจำนวน ภิกษุแปดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวน ภิกษุเจ็ดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวน ภิกษุหกหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู ซึ่งได้ประชุมกัน ทั้งสามครั้งนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งพระสาวก ของ(4) พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ สี่หมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ซึ่งได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งพระสาวก ของ(5) พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ สามหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า โกนาคมนะ ซึ่งได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกัน แห่งพระสาวกของ(6) พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ สองหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ที่ได้ประชุม กันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งสาวกของเรา(7) ในบัดนี้ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบรูป สาวกของเรา ซึ่งได้ประชุมกัน ครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น
(พระพุทธเจ้าย้อนไป 91 กัป การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ )
1.วิปัสสี
ประชุมสามครั้ง/ครั้งที่1 ภิกษุ168,000 /ครั้งที่2 ภิกษุ100,000 /ครั้งที่3ภิกษุ 80,000
2.สิขี ประชุมสามครั้ง/ครั้งที่1 ภิกษุ100,000 /ครั้งที่2 ภิกษุ 80,000 /ครั้งที่3ภิกษุ 70,000
3.เวสสภู มีสามครั้ง/ครั้งที่1 ภิกษุ 80,000 /ครั้งที่2 ภิกษุ 70,000 /ครั้งที่3 ภิกษุ 60,000
3.กกุสันธะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ 40,000 รูป
5.โกนาคมนะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ 30,000 รูป
6.กัสสปะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ 20,000 รูป
7.พระพุทธเจ้า โคดม ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุ 1,250 รูป
4) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๔ - ๒๔๙
ปายาสิราชัญญสูตร
พระสมณกุมารกัสสป พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูปจาริกถึงนครเสตัพยะ เกียรติศัพท์ของท่านขจรไปว่าเป็น พระอรหันต์ผู้ เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต
[๓๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระกุมารกัสสปเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ลุถึงนครแห่งชาวโกศลชื่อเสตัพยะ ได้ยินว่า สมัยนั้น ท่านพระกุมารกัสสปอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียดด้านเหนือนครเสตัพยะ เขตนครเสตัพยะ
ก็สมัยนั้น เจ้าปายาสิครองเสตัพยนครซึ่งคับคั่งด้วยประชาชน และหมู่สัตว์ สมบูรณ์ด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราช สมบัติอันพระเจ้า ปเสนทิโกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไทย สมัยนั้น ทิฐิอันลามก เห็นปานนี้ บังเกิดแก่เจ้าปายาสิว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้น ไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี
พราหมณ์และคฤหบดีชาวนครเสตัพยะ ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระกุมาร กัสสป สาวกของพระสมณโคดม เที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐รูป ลุถึงนครเสตัพยะแล้ว อยู่ ณ ป่าไม้สีเสียด ด้านเหนือนครเสตัพยะ เขตนครเสตัพยะเกียรติศัพท์อันงามของท่านกุมาร กัสสปองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เป็นบัณฑิต เฉียบแหลมมีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำอันวิจิตร มีปฏิภาณดี เป็นทั้งพุทธ บุคคล เป็นทั้งพระอรหันต์ก็การได้ เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นการ ดีแล ดังนี้ ครั้งนั้นพราหมณ์ และคฤหบดีชาวนครเสตัพยะ พากันออกจากนครเสตัพยะ เป็นหมู่ๆ บ่ายหน้าทางทิศอุดรไปยังป่าไม้สีเสียด
[๓๐๒] สมัยนั้น เจ้าปายาสิ ทรงพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้น บน ได้เห็นพราหมณ์และคฤหบดีชาวนครเสตัพยะ พากันออกจากนครเสตัพยะ เป็นหมู่ๆ บ่ายหน้าไปทางทิศอุดร จึงเรียกนายนักการมาถามว่า พ่อนักการ พราหมณ์และ คฤหบดีชาวนครเสตัพยะ พากันออกจากนครเสตัพยะเป็นหมู่ๆ บ่าย หน้าทางทิศอุดร ไปยังป่าไม้สีเสียดทำไมกัน
น. มีเรื่องอยู่พระองค์ พระสมณกุมารกัสสป สาวกของพระสมณโคดม เที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ลุถึงนครเสตัพยะ แล้ว อยู่ณ ป่าไม้สีเสียดด้านเหนือนครเสตัพยะ เขตนครเสตัพยะ เกียรติศัพท์อันงามของท่านกุมารกัสสปองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เป็น บัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำอันวิจิตร มีปฏิภาณดี เป็น ทั้งพุทธบุคคล เป็นทั้งพระอรหันต์ พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นพากันเข้าไปหา เพื่อดูท่าน กุมารกัสสป องค์นั้น
ป. ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปหาพราหมณ์และคฤหบดีชาวนครเสตัพยะ บอกเขา อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เจ้าปายาสิสั่งว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน เจ้าปายาสิจะ เข้าไปหาพระสมณ กุมารกัสสปด้วย เมื่อก่อน พระกุมารกัสสปได้ยัง พราหมณ์และ คฤหบดี ชาวนครเสตัพยะ ผู้เขลาไม่เฉียบแหลม ให้เข้าใจว่า แม้เพราะ เหตุนี้ โลกหน้า มีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มีอยู่ พ่อนักการ ความจริงโลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรม ที่สัตว์ทำดี ทำชั่วไม่มี
นักการรับพระดำรัสของเจ้าปายาสิแล้ว เข้าไปหาพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนคร เสตัพยะ แล้วบอกว่า ท่านทั้งหลาย เจ้าปายาสิรับสั่งว่า ขอท่าน ทั้งหลาย จงรอก่อน เจ้าปายาสิจะเสด็จเข้าไปหาพระกุมารกัสสปด้วย ....
อ่านต่อ P1341
5) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๘ - ๑๖๒
สังคีติสูตร
พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาได้สดับข่าวว่าพระผู้มีพระภาค ได้เสด็จเที่ยวจาริกไปในแคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครปาวา ประทับ ณ ท้องพระโรง หลังใหม่
[๒๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยวจาริก ไป ในแคว้น มัลละ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จถึง นคร ของพวกมัลลกษัตริย์ อันมีนามว่า ปาวา ได้ยินว่าสมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง ของนายจุนท กัมมารบุตร เขตนครปาวา
[๒๒๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ท้องพระโรงหลังใหม่ อันมีนามว่าอุพภตกะ ของพวก เจ้ามัลละ แห่งนคร ปาวา สร้างสำเร็จแล้วไม่นาน ยังไม่ทันที่สมณพราหมณ์ หรือใครๆ ที่เป็นมนุษย์จะได้อยู่อาศัย พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาค ได้เสด็จเที่ยวจาริกไปในแคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครปาวาโดยลำดับกำลังประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง ของนาย จุนทกัมมารบุตร เขตนครปาวา
ครั้งนั้นแล พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้องพระโรงหลังใหม่ อันมีนามว่า อุพภตกะ ของพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา สร้างสำเร็จแล้วไม่นาน ยังไม่ทันที่ สมณพราหมณ์ หรือ ใครๆ ที่เป็นมนุษย์จะได้อยู่อาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงเสด็จ ประทับ ณ ท้องพระโรงนั้น ก่อนเถิด พระผู้มีพระภาค เสด็จประทับก่อนแล้ว ภายหลัง พวกเจ้า มัลละแห่งนครปาวาจึงจักใช้สอย การเสด็จประทับก่อนของพระผู้มีพระภาคนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเจ้ามัลละแห่ง นครปาวา สิ้นกาลนาน พระผู้มีพระภาคทรงรับ ด้วยดุษณีภาพแล้ว
ครั้นพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ได้ทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วพากันไปยังท้อง พระโรง ครั้นแล้วจึงปูลาดท้องพระโรงให้พร้อมสรรพ แต่งตั้งอาสนะ ให้ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีป น้ำมัน แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้องพระโรงพวกข้าพระองค์ปูลาด พร้อมสรรพแล้วอาสนะ ก็แต่งตั้งไว้แล้ว หม้อน้ำ ก็ให้ตั้งไว้แล้ว ประทีปน้ำมันก็ตามไว้แล้วพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงทราบ กาลอันควรในบัดนี้
[๒๒๓] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตร จีวร เสด็จไปยังท้องพระโรง พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงล้างพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปยัง ท้องพระโรง ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา แม้พระภิกษุสงฆ์ ก็ล้างเท้าแล้ว พากันเข้าไปยังท้องพระโรง นั่งพิงฝาด้านหลัง ผินหน้าไปทางทิศบูรพา แวดล้อมพระผู้มีพระภาค แม้พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ก็พากันล้างเท้าแล้วเข้าไปยัง ท้องพระโรง นั่งพิงฝาด้านบูรพา ผินหน้าไปทางทิศปัจฉิม แวดล้อมพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงยังพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วทรงส่งไป ด้วยพระดำรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะทั้งหลาย ราตรีล่วงมากแล้ว บัดนี้พวกท่าน จงสำคัญ เวลา อันสมควรเถิด พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ได้พร้อมกันรับพระดำรัส ของพระผู้มี พระภาค ว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า แล้วพากันลุกขึ้นจากอาสนะถวายบังคม พระผู้มี พระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป
[๒๒๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อพวกเจ้ามัลละ แห่งนครปาวา หลีกไป แล้ว ไม่นาน ได้ทรงเหลียวดูหมู่ภิกษุผู้นิ่งอยู่แล้ว ได้รับสั่งกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนะ และ มิทธะ สารีบุตร จงแสดงธรรมีกถาแก่ ภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อยหลัง ฉะนั้นเราพึงพักผ่อน ท่านพระสารีบุตร ได้รับพระดำรัส ของ พระผู้มีพระภาค ด้วยคำว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ดังนี้ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิ เป็นสี่ชั้น แล้วทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงเหลื่อม พระบาท ด้วยพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงกระทำความหมาย ในอันที่จะเสด็จลุกขึ้นไว้ ในพระทัย
อ่านต่อ P1121
6) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๑
ทสุตตรสูตร
พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร กล่าวธรรมอย่างสูงสิบหมวด สำหรับเปลื้องกิเลส เครื่องร้อยรัด ทั้งหมด เพื่อถึงพระนิพพาน เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์
[๓๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจัมปา ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุพวกนั้น รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า
[๓๖๕] เราจักกล่าวธรรมอย่างสูงสิบหมวด สำหรับเปลื้องกิเลส เครื่องร้อยรัด ทั้งหมด เพื่อถึงพระนิพพาน เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์
[๓๖๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งมีอุปการะมาก ธรรมอย่างหนึ่ง ควรให้เจริญธรรมอย่างหนึ่งควรกำหนดรู้ ธรรมอย่างหนึ่งควรละ ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไป ในส่วนข้างเสื่อมธรรมอย่างหนึ่ง เป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ธรรมอย่างหนึ่งแทงตลอด ได้ยาก ธรรมอย่างหนึ่ง ควรให้บังเกิดขึ้น ธรรมอย่างหนึ่งควรรู้ยิ่ง ธรรมอย่างหนึ่ง ควรทำให้แจ้ง
[๓๖๗] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่มีอุปการะมากเป็นไฉน คือความไม่ประมาท ใน กุศลธรรม ทั้งหลาย นี้ธรรมอย่างหนึ่งที่มีอุปการะมาก
[๓๖๘] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรให้เจริญเป็นไฉน คือกายคตาสติอันประกอบ ด้วย ความสำราญ นี้ธรรมอย่างหนึ่งที่ควรให้เจริญ
[๓๖๙] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน คือผัสสะ ที่ยังมีอาสวะ มีอุปาทานนี้ ธรรมอย่างหนึ่งที่ควรกำหนดรู้
[๓๗๐] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรละเป็นไฉน คืออัสมิมานะ นี้ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรละ
[๓๗๑] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน คือการกระทำ ไว้ในใจ โดยไม่แยบคาย นี้ธรรมอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม
[๓๗๒] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปในส่วนข้างวิเศษเป็นไฉน คือการกระทำ ไว้ในใจ โดยแยบคาย นี้ธรรมอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปในส่วนข้างดี
[๓๗๓] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่แทงตลอดได้ยากเป็นไฉน คือเจโตสมาธิ เป็น อนันตริกนี้ ธรรมอย่างหนึ่ง ที่แทงตลอดได้ยาก
[๓๗๔] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรให้บังเกิดขึ้นเป็นไฉน คือญาณ ที่ไม่กำเริบนี้ ธรรม อย่างหนึ่ง ที่ควรให้บังเกิดขึ้น
[๓๗๕] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรรู้ยิ่งเป็นไฉน คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีอาหาร เป็นที่ตั้งนี้ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรรู้ยิ่ง
[๓๗๖] ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรทำให้แจ้งเป็นไฉน คือเจโตวิมุตติ อันไม่กำเริบ นี้ธรรมอย่างหนึ่ง ที่ควรทำให้แจ้ง
ธรรมทั้งสิบ ดังพรรณนามานี้ เป็นของจริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาดไม่เป็น อย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้ว โดยชอบ
อ่านต่อ P1131
7) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๑ - ๓๐๙
สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาเจ้าลิจฉวี
สัจจกนิครนถ์ชวนเจ้าลิจฉวี พร้อมสาวกประมาณ 500 องค์ เข้าหาพระพุทธเจ้า หวังจะล้มวาทะ พูดจาโอหังว่าข้าพเจ้า จักฟัดฟาดถ้อยคำพระสมณโคดมเสีย
[๓๙๔] สมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวี ประมาณ ๕๐๐ องค์ ประชุมกันอยู่ในอาคาร เป็นที่ประชุม ด้วยกรณียกิจบางอย่าง. ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาพวกเจ้า ลิจฉวี เหล่านั้น ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้กล่าวกะเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นดังนี้ว่า ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน
วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับ พระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดม จักตั้งอยู่ตาม คำ ที่ภิกษุชื่ออัสสชิ ซึ่งเป็นสาวกรูปหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงยืนยันแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักฉุด กระชากลากถ้อยคำพระสมณโคดม มาด้วยคำข้าพเจ้า ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลัง จับแกะ อันมีขนยาวที่ขนแล้วลากมา ลากไป ฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนที่ทำการงาน ในโรงสุรา ซึ่งมีกำลังวางเสื่อลำแพน สำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึก แล้วจับ ที่มุมชักลากฟัดฟาดไปมา ฉะนั้น
ข้าพเจ้า จักสลัดฟัดฟาดถ้อยคำพระสมณโคดมเสีย ให้เป็นเหมือนบุรุษ ที่มีกำลัง ซึ่งเป็นนักเลงสุราจับถ้วยที่หูแล้วสลัดไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นงาน พระสมณโคดม เหมือนอย่างที่คนเขาเล่นกีฬาชื่อสาณโธวิก (ซักป่าน) ให้เป็นเหมือน ช้าง ที่มีวัย ล่วงหกสิบปี จึงจะถอยกำลัง ลงสู่สระโบกขรณี มีลำน้ำลึก แล้วเล่นกีฬา ชนิดที่ชื่อว่า สาณโธวิก (ซักป่าน) ฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน ขอเจ้า ลิจฉวี ทั้งหลาย จงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับ พระสมณโคดม
ในบรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า เหตุอะไร พระสมณโคดม จักยก ถ้อยคำ ของท่านสัจจกะได้ ที่แท้ ท่านสัจจกะกลับยกถ้อยคำของ พระสมณ โคดมเสีย บางพวกกล่าวว่า ท่านสัจจกะเป็นอะไร จึงจักยกถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้ พระผู้มีพระภาคกลับจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะเสีย. ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ มีเจ้าลิจฉวี ประมาณ ๕๐๐ ห้อมล้อมแล้ว เข้าไปยังกูฏาคาศาลาป่ามหาวัน
[๓๙๕] สมัยนั้น ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง. ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้ว ถามว่า ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ พระสมณโคดม นั้น อยู่ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดมนั้น. ภิกษุทั้งหลายนั้นบอกว่า
ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีภาคพระองค์นั้น เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน ประทับพัก กลางวัน ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง. ลำดับนั้นสัจจกนิครนถ์พร้อมด้วยพวก เจ้าลิจฉวี มีจำนวนมาก เข้าไปสู่ป่ามหาวันจนถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง. แม้เจ้าลิจฉวีทั้งหลายนั้น บางพวกถวายอภิวาท บางพวกทูลปราศรัย บางพวก ประนมมือ บางพวกประกาศชื่อ และโคตรของตน ในสำนักพระผู้มีพระภาค บางพวกก็นิ่งอยู่ ครั้นแล้วต่างก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
อ่านต่อ Ni_kron
8) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๒
เรื่องพระอาคันตุกะพูดเสียงดัง (จาตุมสูตร)
ภิกษุอาคันตุกะประมาณห้าร้อยรูป ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่นมีเสียงดัง. ทรงตรัสเรียกพระอานนท์ มาถาม ผู้ที่เสียงสูง เสียงดังนั้น เป็นใคร ราวกะชาวประมงแย่งปลากัน? เราประณามพวกเธอ พวกเธอไม่ควร อยู่ในสำนักเรา
[๑๘๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อามลกีวัน ใกล้บ้านจาตุมา. ก็สมัยนั้น ภิกษุประมาณห้าร้อยรูป มีพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ เป็นหัวหน้าไปถึง จาตุมคาม เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค. ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวร เป็นผู้มีเสียงสูง มีเสียงดัง. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาว่า ดูกรอานนท์ ผู้ที่เสียงสูง เสียงดังนั้น เป็นใคร ราวกะชาวประมงแย่งปลากัน?
ท่านพระอานนท์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณห้าร้อยนั้น มีพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ เป็นหัวหน้า มาถึงจาตุมคาม เพื่อเฝ้า พระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ เป็นผู้มีเสียงสูงมีเสียงดัง
ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปเรียกพวกภิกษุ มาตามคำของเราว่า พระศาสดา ตรัสเรียกท่านทั้งหลาย. ท่านพระอานนท์ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ถึงที่พัก ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พระศาสดาตรัสเรียก ท่านทั้งหลาย.
ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระอานนท์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ตรัสกะ ภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมีเสียงสูง มีเสียงดังราวกะ ชาวประมงแย่งปลากัน เพราะเหตุอะไรหนอ?
พวกภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณห้าร้อยนั้น มีพระสารีบุตร และโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า มาถึงจาตุมคาม เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะ เหล่านี้ นั้น ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงมีเสียงสูง เสียงดัง พระเจ้าข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพากันไป เราประณามพวกเธอ พวกเธอไม่ควร อยู่ใน สำนักเรา. ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เก็บอาสนะ ถือบาตรและจีวร หลีกไปแล้ว
[๑๘๗] ก็สมัยนั้น พวกเจ้าศากยะ ชาวเมืองจาตุ มาประชุมกันอยู่ที่เรือน รับแขก ด้วยกรณียะบางอย่าง. ได้เห็นภิกษุเหล่านั้นมาแต่ไกล ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหา ภิกษุ เหล่านั้น จนถึงที่ใกล้ ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูเถิดท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จะพากันไปไหนเล่า?
ภ. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์ถูกพระผู้มีพระภาค ทรงประณามแล้ว
ส. ข้าแต่ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงนั่งอยู่ครู่หนึ่ง แม้ไฉนข้าพเจ้า ทั้งหลาย พึงอาจให้พระผู้มีพระภาค ทรงเลื่อมใสได้. ภิกษุเหล่านั้น รับคำพวกเจ้าศากยะชาว เมืองจาตุมาแล้ว.
ลำดับนั้น พวกศากยะชาวเมืองจาตุ มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ของพระผู้มีพระภาค จงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาค จงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ขอพระผู้มี พระภาค จงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ ในกาล ก่อนเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลาย ที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อพืช ที่ยังอ่อนไม่ได้น้ำ จะพึงเป็น อย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ จะพึงเป็น อย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ ภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาค จงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในกาลก่อนเถิด
9) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๐๑ - ๔๐๓
พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า (พรหมายุสูตร)
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในวิเทหชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป พราหมณ์ชื่อพรหมายุ เป็นคนแก่เฒ่ามีอายุ ๑๒๐ ปี จบไตรเทพ พร้อมทั้งคัมภีร์ต่างๆ ชำนาญ การทำนาย มหาปุริสลักษณะ
[๕๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในวิเทหชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป. ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ชื่อพรหมายุ อาศัยอยู่ในเมืองมิถิลา เป็นคน แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด รู้จบไตรเทพ พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ และคัมภีร์เกฏุกะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เข้าใจตัวบทเข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทำนาย มหาปุริสลักษณะ
พรหมายุพราหมณ์ ได้ฟังข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจาก ศากยสกุล เสด็จเที่ยวจาริกไปในวิเทหชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญา อันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมอันงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็น พระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดี แล
[๕๘๕] ก็สมัยนั้นแล มาณพชื่อว่าอุตตระ เป็นศิษย์ของพรหมายุพราหมณ์ เป็นผู้รู้จบ ไตรเทพ พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ และคัมภีร์เกฏุกะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสะ เป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์ โลกายตะ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ
ครั้งนั้น พรหมายุพราหมณ์ ได้เรียกอุตตรมาณพ มาเล่าว่า
ดูกรพ่ออุตตระ พระสมณโคดมศากยบุตร พระองค์นั้น ทรงผนวชจาก ศากยสกุล เสด็จเที่ยวไปในวิเทหชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะ เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ ก็การได้เห็นพระอรหันต์ ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล ไปเถิดพ่ออุตตระ พ่อจงไปเข้าเฝ้าพระสมณ โคดม ถึงที่ประทับ แล้วจงรู้พระสมณโคดมว่า กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วเป็นจริงอย่างนั้น หรือว่าไม่เป็นจริงอย่างนั้น ท่านพระโคดมพระองค์นั้น เป็นเช่นนั้น หรือว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราทั้งหลาย จักเห็นแจ้งท่านพระโคดมพระองค์นั้น เพราะพ่ออุตตระ
อ่านต่อ P1375
10) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๐๗
(พรหมายุสูตร พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า)
พราหมณ์และคฤหบดีชาวเมืองมิถิลา ได้สดับข่าวว่าพระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวช เสด็จจาริกไป ใน วิเทหชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงเมืองมิถิลาแล้ว ก็กิตติศัพท์ อันงาม ของท่านขจรไปว่าทรงเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว
[๕๙๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จไปในวิเทหชนบท โดยลำดับ เสด็จถึงเมือง มิถิลา. ได้ทราบว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มฆเทวอัมพวัน ใกล้เมือง มิถิลา.
พราหมณ์และคฤหบดี ชาวเมืองมิถิลา ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จเที่ยวจาริกไป ในวิเทหชนบท พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงเมืองมิถิลาแล้ว ประทับอยู่ ณ มฆเทวอัมพวัน ใกล้เมืองมิถิลา ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบาน แล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้ง ชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็น พระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนี้ ย่อมเป็นความดีแล
ลำดับนั้นแล พราหมณ์และคฤหบดี ชาวเมืองมิถิลา ได้พากันเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับครั้นแล้ว บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึก ถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมอัญชลีไปทาง พระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนัก พระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งนิ่งอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
11) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๕ - ๔๐๗
นันทโกวาทสูตร
พระมหาปชาบดีโคตมี พร้อมด้วยภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงโอวาทสั่งสอน จงรับสั่งแสดงธรรมแก่พวกภิกษุณีเถิด
[๗๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระมหาปชาบดีโคตมี พร้อมด้วยภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงโอวาทสั่งสอนพวกภิกษุณี จงรับสั่ง แสดง ธรรมแก่พวกภิกษุณีเถิด
[๗๖๗] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ย่อมโอวาทพวกภิกษุณี โดยเป็น เวรกัน แต่ท่านพระนันทกะ ไม่ปรารถนาจะโอวาทพวกภิกษุณีโดย เป็นเวรกัน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์วันนี้ เวรโอวาท ภิกษุณี โดยเป็นเวรกัน ของใครหนอแล
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งปวงทำเวรโอวาท ภิกษุณี โดยเป็นเวรกันหมดแล้ว แต่ท่านพระนันทกะรูปนี้ ไม่ปรารถนาจะโอวาทพวก ภิกษุณี โดยเป็นเวรกัน ต่อนั้นพระผู้มีพระภาค จึงตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดูกรนันทกะ เธอจงโอวาท สั่งสอนพวกภิกษุณี
ดูกรพราหมณ์ เธอจงกล่าวแสดงธรรมกถา แก่พวก ภิกษุณีเถิด ท่านพระนันทกะ ทูลรับพระผู้มีพระภาค ว่าชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วนุ่ง สบงทรง บาตร จีวร เข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครสาวัตถี ในเวลาเช้า ครั้นกลับจาก บิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว เข้าไปยัง วิหารราชการามแต่รูปเดียว ภิกษุณีเหล่านั้น ได้เห็นท่านพระนันทกะเดินมาแต่ไกล พากันแต่งตั้งอาสนะ และตั้งน้ำสำหรับล้างเท้าไว้ ท่านพระนันทกะนั่งบนอาสนะ ที่แต่งตั้งไว้แล้ว จึงล้างเท้า แม้ภิกษุณีเหล่านั้น ก็ถวายอภิวาท ท่านพระนันทกะแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๗๖๘] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระนันทกะได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ทั้งหลาย จักต้องมีข้อสอบถามกันแล ในข้อสอบถามนั้น น้องหญิงทั้งหลายรู้อยู่ พึงตอบว่ารู้ ไม่รู้อยู่ก็พึงตอบว่าไม่รู้ หรือน้องหญิงรูปใด มีความเคลือบแคลงสงสัย น้องหญิงรูปนั้น พึงทวนถามข้าพเจ้าในเรื่องนั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร ข้อนี้มีเนื้อความอย่างไร
อ่านต่อ P1390
12) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙
ชุมนุมเทวดาจากโลกธาตุทั้ง ๑๐ (สมยสูตร)
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ กับด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบแล้ว ประชุมกันมาก เพื่อจะเห็นพระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์
[๑๑๕] ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบแล้ว ประชุมกันมาก เพื่อจะเห็นพระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์
[๑๑๖] ในครั้งนั้นแล เทวดา ๔ องค์ที่เกิดในหมู่ พรหมชั้นสุทธาวาส ได้มี ความดำริว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แล ประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขต กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วน เป็นพระอรหันต์ ก็พวก เทวดา มาแต่ โลกธาตุสิบประชุมกันมาก เพื่อจะเห็นพระผู้มี พระภาคและ พระภิกษุสงฆ์ ไฉนหนอ แม้เรา ทั้งหลาย ควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไป เฝ้าแล้ว พึงกล่าว คาถา คนละคาถา ในสำนักพระผู้มีพระภาค
[๑๑๗] ในครั้งนั้นแล พวกเทวดาทั้ง ๔ นั้นจึงหายจากหมู่พรหมชั้น สุทธาวาส มาปรากฏอยู่ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น
[๑๑๘] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาค ว่าการประชุมใหญ่ในป่าใหญ่ มีพวกเทวดามาประชุม กันแล้ว พวกข้าพเจ้ามาสู่ที่ชุมนุมอันเป็นธรรมนี้ เพื่อจะเยี่ยมหมู่พระผู้ที่ใครๆ ให้แพ้ ไม่ได้
[๑๑๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มี พระภาค ว่าภิกษุทั้งหลาย ในที่ประชุมนั้นตั้งจิตมั่นแล้ว ได้ทำจิตของตนให้ตรงแล้ว ภิกษุทั้งปวง นั้น เป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ดุจดังว่านายสารถีถือบังเหียน ฉะนั้น
[๑๒๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้ม ีพระภาคว่า ภิกษุทั้งหลายนั้น ตัดกิเลสดังตะปูเสียแล้ว ตัดกิเลสดังว่าลิ่ม สลักเสียแล้ว ถอนกิเลส ดังว่าเสาเขื่อนเสียแล้ว มิได้มีความหวั่นไหว เป็นผู้หมดจด ปราศจากมลทิน อันพระพุทธเจ้า ผู้มีจักษุทรงฝึกดีแล้ว เป็นหมู่นาคหนุ่มประพฤติอยู่
[๑๒๑] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มี พระภาคว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นจัก ไม่ไป สู่อบายภูมิ ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์แล้ว จักยังหมู่เทวดา ให้บริบูรณ์
13) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๑
ทรงเปิดโอกาสให้ภิกษุอรหันต์ติเตียน (วารณาสูตรที่ ๗)
พระผู้มีพระภาคประทับที่ปราสาทของนางวิสาขากับพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็น อรหันต์ทั้งหมด เพื่อทรงปวารณาในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ บัดนี้ เราขอปวารณา (ขอให้ตักเตือนคถาคต) เธอทั้งหลาย จะไม่ติเตียน กรรมไร ๆ ที่เป็นไปทางกาย หรือ ทางวาจาของเรา บ้างหรือ
[๗๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับที่พระวิหารบุพพาราม ปราสาทของ นางวิสาขา ผู้เป็นมารดามิคารเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี กับพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นอรหันต์ทั้งหมด
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค เป็นผู้อันภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ในที่แจ้ง เพื่อทรงปวารณา ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงตรวจด (ด้วยญาณ) เห็นภิกษุสงฆ์ เป็นผู้นิ่ง อยู่แล้ว จึงรับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอปวารณา เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จะไม่ติเตียน กรรมไร ๆ ที่เป็นไปทางกาย หรือทางวาจา ของเรา บ้างหรือ
[๗๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ลุกขึ้นจาก อาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาค แล้วได้ กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทาง พระกายหรือทางพระวาจา ของพระผู้มีพระภาคไม่ได้เลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่า พระผู้มีพระภาค ทรงยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงยังทางที่ยัง ไม่เกิด มิให้เกิดมี ทรงบอกทางที่ยังไม่มีผู้บอก เป็นผู้ทรงรู้ทาง ทรงรู้แจ้งทาง ทรงฉลาด ในทาง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาวกทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้เดินตามทาง บัดนี้แล ขอปวารณาพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จะไม่ทรงติเตียน กรรมไรๆ อันเป็นไป ทางกาย หรือทางวาจาของข้าพระองค์บ้างหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือ ทางวาจาของเธอไม่ได้เลย
-สารีบุตร เธอเป็นบัณฑิต
-สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา
-สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาว่องไว เป็นผู้มีปัญญา หลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาสยายกิเลสได้
-สารีบุตร โอรสพระองค์ใหญ่ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมยังจักรอันพระราชบิดา ให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้ โดยชอบ ฉันใด
-สารีบุตร เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมยังธรรมจักร อันยอดเยี่ยม อันเราให้เป็น ไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง
ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่าพระผู้มี พระภาค ไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของข้าพระองค์ไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาค จะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของ ภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่านี้บ้างหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราไม่ติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือ ทางวาจา ของภิกษุ ๕๐๐ รูป แม้เหล่านี้ สารีบุตร เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้
-ภิกษุ ๖๐ รูป เป็นผู้ได้วิชชา ๓
-อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อภิญญา ๖
-อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อุภโตภาควิมุติ
-ส่วนที่ยังเหลือ เป็นผู้ได้ปัญญาวิมุติ
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลี เฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคตเนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เนื้อความนั้นจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๔๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะ พระพักตร์ ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรว่าวันนี้เป็นวันอุโบสถที่ ๑๕ ภิกษุ ๕๐๐ รูป มาประชุมกันแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลส เครื่องประกอบและเครื่องผูก ได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว เป็นผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ พระเจ้าจักรพรรดิห้อมล้อม ด้วยอำมาตย์เสด็จเลียบพระมหาอาณาจักรนี้ ซึ่งมี สมุทรสาคร เป็นขอบเขตโดยรอบ ฉันใด สาวกทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา ผู้ละมฤตยุราช เสียได้ ย่อมนั่งห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค ผู้ชำนะสงครามแล้ว เป็นผู้นำ พวกอันหาผู้นำอื่น ยิ่งกว่าไม่มี ฉันนั้น พระสาวกทั้งหมด เป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค ผู้ชั่วช้าไม่มีในสมาคมนี้ ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ผู้หักลูกศร คือตัณหาเสียได้ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ ดังนี้
14) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๖
โมคคัลลานสูตรที่ ๑๐
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ได้ยินว่าท่านพระมหาโมคคัลลานะตามพิจารณาจิต อันหลุดพ้น พิเศษ อันหาอุปธิมิได้ ของภิกษุเหล่านั้นด้วยจิตอยู่ ครั้งนั้นท่านพระวังคีสะคิดว่า เราพึงชมเชย ท่านพระโมคฯ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรเถิด
[๗๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ เขตพระนคร ราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็น พระอรหันต์ทั้งหมด
ได้ยินว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะตามพิจารณาจิตอันหลุดพ้นพิเศษ (จากกิเลส) อันหาอุปธิมิได้ ของภิกษุเหล่านั้นด้วยจิตอยู่
[๗๕๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะมีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคนี้ แล ประทับ ที่กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ เขตกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูปล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ตาม พิจารณา จิต อันหลุดพ้นพิเศษ (จากกิเลส) อันหาอุปธิมิได้ของภิกษุเหล่านั้น ด้วยจิตอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงชมเชยท่านพระมหาโมคคัลลานะ เฉพาะพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรเถิด
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เนื้อความนั่นจงแจ่มแจ้ง กะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๕๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้ชมเชยท่านพระมหาโมคคัลลานะ เฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรว่าพระสาวกทั้งหลาย ผู้สำเร็จไตรวิชชา ผู้ละมฤตยูเสียได้ ย่อมนั่งห้อมล้อมพระมุนี ผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ซึ่งประทับนั่งอยู่ที่ข้างแห่งภูเขา พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก ย่อมสอดส่อง พระสาวก เหล่านั้น ด้วยจิต ตามพิจารณาจิต อันหลุดพ้นพิเศษแล้ว อันหาอุปธิมิได้ ของพระสาวกเหล่านั้นอยู่ พระสาวกทั้งหลาย ย่อมนั่งห้อมล้อมพระโคดม ผู้เป็นมุนี ซึ่งสมบูรณ์ด้วยพระคุณ ทั้งปวงอย่างนี้ ผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ผู้ประกอบด้วยพระคุณ เป็นอเนกประการ ดังนี้
15) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๗
คัคคราสูตร
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระบัวคัคครา เขตนครจัมปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ป6ะมาณ ๕๐๐ รูป อุบาสกประมาณ ๗๐๐ คนและเทวดาหลายพันองค์ นัยว่าพระผู้มีพระภาค รุ่งเรือง ล่วงภิกษุ อุบาสกและเทวดา เหล่านั้นด้วยพระวรรณะและพระยศ เราพึงชมเชย พระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์ เถิด
[๗๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ริมฝั่งสระบัวชื่อว่า คัคครา เขต นครจัมปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป อุบาสกประมาณ ๗๐๐ คน และเทวดาหลายพันองค์ นัยว่า พระผู้มีพระภาครุ่งเรืองล่วงภิกษุ อุบาสก และ เทวดา เหล่านั้น ด้วยพระวรรณะและด้วยพระยศ
[๗๕๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคนี้ แลประทับ อยู่ที่ฝั่งสระบัวชื่อว่าคัคครา เขตนครจัมปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูปอุบาสกประมาณ ๗๐๐ คน และเทวดาหลายพันองค์ นัยว่า พระผู้มีพระภาครุ่งเรือง ล่วงภิกษุอุบาสก และเทวดาเหล่านั้น ด้วย พระวรรณะ และด้วย พระยศ อย่ากระนั้นเลย เราพึงชมเชยพระผู้มีพระภาค ณ ที่เฉพาะ พระพักตร์ ด้วยคาถา อันสมควรเถิด
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เนื้อความนั่น จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๕๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาค ณ ที่เฉพาะ พระพักตร์ ด้วยคาถาอันสมควรว่า พระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งปราศจากมลทิน ย่อมแจ่ม กระจ่าง ในท้องฟ้า ซึ่งปราศจากเมฆฝน ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระรัศมีซ่าน ออกแต่ พระสรีรกาย ผู้เป็นมหามุนี พระองค์ย่อมรุ่งเรืองล่วงสรรพสัตว์ โลกด้วยพระยศ ฉันนั้น ดังนี้
16) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๘
รถสูตร
พระเจ้าอชาตสัตรูราชกุมาร เสด็จไปบำรุงพระเทวทัต ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ด้วยรถประมาณ ๕๐๐ คัน และรับสั่งให้นำภัตตาหาร สำหรับบูชา ไปพระราชทาน ๕๐๐ หม้อ ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสว่า เธอทั้งหลาย อย่ายินดี ลาภสักการะ และชื่อเสียงของเทวทัตเลย
[๕๙๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น พระเจ้าอชาตสัตรูราชกุมาร เสด็จไปบำรุงพระเทวทัต ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ด้วยรถประมาณ ๕๐๐ คัน และรับสั่งให้นำภัตตาหาร สำหรับ บูชา ไปพระราชทาน ๕๐๐ หม้อ ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นภิกษ ุเหล่านั้น นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าอชาตสัตรู ราชกุมาร จักเสด็จไปบำรุงพระเทวทัต ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ด้วยรถประมาณ ๕๐๐ คัน และจักรับสั่งให้นำภัตตาหาร สำหรับบูชาไปพระราชทาน ๕๐๐ หม้อ พระเจ้าข้า
[๕๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่ายินดี ลาภสักการะ และชื่อเสียงของเทวทัตเลย เพราะพระเจ้าอชาตสัตรูราชกุมาร จักเสด็จไป บำรุงเทวทัต ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ด้วยรถประมาณ ๕๐๐ คัน และจักรับสั่งให้นำ ภัตตาหาร สำหรับบูชา ไปพระราชทาน ๕๐๐ หม้อเพียงใด เทวทัตก็พึงหวังความเสื่อม ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่พึงหวังความเจริญ เพียงนั้น
[๕๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสุนัขดุ ที่เขาขยี้ดี [ดีหมีดีปลา] ใส่ในจมูก เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็ยิ่งดุร้ายกว่าเดิมหลายเท่าโดยแท้ ฉันใด พระเจ้า อชาตสัตรู ราชกุมาร จักเสด็จไปบำรุงเทวทัต ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ด้วยรถประมาณ ๕๐๐ คัน และจักรับสั่ง ให้นำภัตตาหาร สำหรับบูชาไปพระราชทาน ๕๐๐ หม้อเพียงใด เทวทัตก็พึงหวัง ความเสื่อม ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่พึงหวังความเจริญเพียงนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ลาภสักการะและชื่อเสียง ทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แลเธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แหละ
17) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๗ - ๘๐
ยโสชสูตร
ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระยโสชะ เป็นประมุข เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถี เพื่อจะเฝ้าฯ แต่ส่งเสียง ดังอื้ออึง ทรงตรัสถาม ว่าเพราะเหตุไรหนอ เธอทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน เธอทั้งหลายจงไป เราประณาม เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา
[๗๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระยโสชะ เป็นประมุข เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถี โดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยอยู่กับภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ ได้ส่งเสียงอื้ออึงครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสถามท่าน พระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ ใครนั่นมีเสียงอื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระอานนท์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระยโสชะเป็นประมุข เหล่านี้ เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถี โดยลำดับ เพื่อจะเฝ้า พระผู้มีพระภาค ก็ภิกษ ุผู้อาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยอยู่กับภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ส่งเสียงอื้ออึง พระเจ้าข้า
พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมา ตามคำของเราว่า พระศาสดา รับสั่งหาท่านทั้งหลาย ท่านพระอานนท์ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหา ภิกษุเหล่านั้น ถึงที่อยู่ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พระศาสดารับสั่ง หาท่านทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระอานนท์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ตรัสถาม ภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไรหนอ เธอทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน
[๗๒] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระยโสชะ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป เหล่านี้ เดินทาง มาถึง พระนครสาวัตถี โดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านี้ ปราศรัย กับภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ ส่งเสียงอื้ออึง พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไป เราประณามเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา
ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มี พระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร หลีกจาริกไปทาง วัชชีชนบท เที่ยวจาริกไปในวัชชีชนบทโดยลำดับ ถึงแม่น้ำวัคคุมุทานที กระทำกุฎี มุงบังด้วยใบไม้ เข้าจำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที
[๗๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระยโสชะ เข้าจำพรรษาแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงใคร่ประโยชน์ ทรงแสวงหาประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ ประณามเราทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค พึงทรงใคร่ประโยชน์แก่เราทั้งหลาย ผู้อยู่ด้วยประการใด ขอเราทั้งหลาย จงสำเร็จการ อยู่ด้วยประการนั้นเถิด ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระยโสชะแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ทุกๆ รูป ได้ทำให้แจ้ง ซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเอง
[๗๔] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี ตามพระ อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครเวสาลี เสด็จเที่ยวจาริกไป โดยลำดับได้เสด็จ ถึงพระนคร เวสาลี ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้พระนคร เวสาลี นั้น ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาค ทรงมนสิการกำหนดใจ ของ ภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที ด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วตรัสกะท่าน พระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ ภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาน ทีอยู่ในทิศใด ทิศนี้ เหมือน มีแสงสว่างแก่เรา เหมือนมีโอภาสแก่เรา เธอเป็นผู้ไม่รังเกียจ ที่จะไปเพื่อความ สนใจ แห่งเรา เธอพึงส่งภิกษุ ผู้เป็นทูต ไปในสำนักแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่อยู่ฝั่งแม่น้ำ วัคคุมุทานทีด้วยสั่งว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดาใคร่จะเห็น ท่านทั้งหลาย ท่านพระอานนท์ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า ดูกรอาวุโส ท่านจงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ที่ฝั่ง แม่น้ำ วัคคุมุทานที ครั้นแล้ว จงกล่าวกะภิกษุทั้งหลายผู้ที่อยู่ฝั่งแม่น้ำ วัคคุมุทานที อย่างนี้ว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดาทรงประสงค์ จะเห็นท่านทั้งหลาย
ภิกษุนั้นรับคำท่านพระอานนท์ แล้วหายจากกูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ไปปรากฏข้างหน้า ภิกษุเหล่านั้น ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีกำลัง พึงเหยียดแขน ที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีว่า พระศาสดา รับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดาทรงประสงค์ เห็นท่านทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น รับคำภิกษุนั้นแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร หายจากที่ฝั่ง แม่น้ำวัคคุมุทานที ไปปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น
[๗๕] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งอยู่ด้วยสมาธิอันไม่หวั่นไหว ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความดำริว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ด้วยวิหารธรรม ไหนหนอ ภิกษุเหล่านั้นมีความดำริอีกว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ด้วยอาเนญช วิหารธรรม ภิกษุทั้งหมดนั้นแลนั่งอยู่ด้วยอาเนญชสมาธิ
ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีล่วงไป เมื่อปฐมยามผ่านไป ท่านพระอานนท์ ลุกจาก อาสนะ กระทำ ผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ได้ กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาค ทรงปราศรัยกับภิกษุ อาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า
เมื่อท่านพระอานนท์ กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ทรงนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจาก อาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญราตรีล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาค ทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาค ได้ทรงนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว เมื่อราตรี รุ่งอรุณ ท่านพระอานนท์ลุกขึ้นจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว ราตรีรุ่งอรุณ ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาค ทรงปราศรัยกับภิกษุ อาคันตุกะ ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากสมาธินั้น แล้วตรัสกะท่าน พระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ถ้าว่าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้ง แม้มีประมาณเท่านี้ ก็ไม่พึงปรากฏแก่เธอ ดูกรอานนท์ เราและภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ทั้งหมด นั่งแล้วด้วย อาเนญชสมาธิ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า ภิกษุใดชนะหนาม คือ กาม ชนะการด่า การฆ่า และการจองจำได้ แล้ว ภิกษุนั้นมั่นคง ไม่หวั่นไหว ดุจภูเขา ภิกษุนั้นย่อมไม่หวั่นไหวใน เพราะสุขและทุกข์
18) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๓
ปโรสหัสสสูตรที่ ๘
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน กับภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ๑,๒๕๐ รูป ทรงชี้แจงให้ภิกษุ เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถา อันประกอบด้วยนิพพาน ภิกษุเหล่านั้น ได้ทำธรรมนั้นให้สำเร็จประโยชน์ (บรรลุธรรม) ใส่ใจกำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม
[๗๔๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑,๒๕๐ รูป
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันประกอบด้วยนิพพาน
ฝ่ายภิกษุเหล่านั้น ได้ทำธรรมนั้นให้สำเร็จประโยชน์ ใส่ใจกำหนด ด้วยจิต ทั้งปวงเงี่ยโสตลงฟังธรรม
[๗๔๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคนี้ ทรงแนะนำทรงชักชวนภิกษุทั้งหลายให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา อันประกอบ ด้วยนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้น ก็ทำธรรมนั้นให้สำเร็จประโยชน์ ใส่ใจกำหนดด้วยจิต ทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรมนั้น อย่ากระนั้นเลย เราควรจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรเถิด
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เนื้อความนั่นจงแจ่มแจ้ง กะเธอเถิด วังคีสะ
[๗๔๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้กราบทูล สรรเสริญพระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาทั้งหลาย อันสมควรว่าภิกษุมากกว่าพัน ย่อมนั่ง ห้อมล้อมพระสุคต ผู้ทรงแสดงธรรมอันปราศจากธุลีคือพระนิพพาน ธรรมอันหาภัย แต่ไหนมิได้ภิกษุทั้งหลาย ย่อมฟังธรรมอันปราศจากมลทิน ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว พระสัมพุทธเจ้า ผู้อันหมู่ภิกษุห้อมล้อมแล้ว ย่อมงามจริงหนอ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระองค์ เป็นผู้ทรงนามว่าพญาช้างอันประเสริฐ เป็นพระฤาษีที่ ๗ แห่งพระฤาษีทั้งหลาย เป็นผู้ดุจมหาเมฆยังฝนให้ตกในพระสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้าใหญ่ วังคีสะสาวกของพระองค์ออกจากที่พักกลางวัน ด้วยความใคร่เพื่อเฝ้าพระศาสดา ขอถวายบังคมพระบาท ดังนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วังคีสะ คาถาเหล่านี้เธอตรึกตรองไว้ก่อนหรือ ๆ ว่าแจ่มแจ้งกะเธอโดยฉับพลัน
ท่านพระวังคีสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คาถาเหล่านี้ ข้าพระองค์ มิได้ตรึกตรอง ไว้ก่อนเลย แต่ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ โดยทันทีเทียวแล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วังคีสะ คาถาทั้งหลายที่เธอไม่ได้ตรึกตรองไว้ ในกาลก่อน จงแจ่มแจ้งกะเธอยิ่งกว่าประมาณเถิด
[๗๕๐] ท่านพระวังคีสะ ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า ได้พระเจ้าข้า แล้วได้ทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลาย ซึ่งตนไม่ได้ตรึกตรองไว้ ในกาลก่อน โดยยิ่งกว่าประมาณว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงครอบงำ หนทางผิดตั้งร้อยของมารเสียได้ ทรงทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจ เพียงดังตะปูทั้งหลาย เสียได้เสด็จเที่ยวไป ท่านทั้งหลาย จงดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงทำการ แก้เครื่องผูกเสียได้ ผู้อันกิเลสอาศัยไม่ได้แล้ว ผู้ทรงจำแนกธรรมเป็นส่วนๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ใด ได้ทรงบอกทางมีอย่างต่างๆ เพื่อเป็น เครื่องข้ามโอฆะ เมื่อหนทางนั้น ซึ่งเป็นทางไม่ตาย อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ตรัสบอกแล้ว พระสาวก ทั้งหลาย เป็นผู้เห็นธรรมไม่ง่อนแง่น ตั้งมั่นแล้ว พระสัมมา สัมพุทธเจ้า พระองค์ใด ทรงทำความรุ่งเรืองแทงตลอด ซึ่งธรรมแล้ว ได้ทรงเห็นธรรม เป็นที่ก้าวล่วงทิฐิ ทั้งปวง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้นทรงทราบแล้วและทรงกระทำให้แจ้ง(ธรรมนั้น) แล้ว ได้ทรงแสดงฐานะทั้ง ๑๐ อันเลิศ ความประมาทอะไร ในธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้วด้วยดี อย่างนี้ |