เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

1) รวมพระสูตร พระผู้มีพระภาคพร้อมภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ - ๑,๒๕๐ รูปจาริกไปในที่ต่างๆ 1819
 
   
 

ข้อมูลพระวินัยปิฎก (16 พระสูตร)

1) พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ หน้าที่ ๑
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่เมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ ได้สดับข่าว่ว่าพระโคดมศากยบุตร ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่าน ขจรไปว่าทรงเป็นพระอรหันต์ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ ..ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้นเป็นความดี (เรื่องเวรัญชพราหมณ์)
...................................................................................................................

2) วินัยปิฎก เล่ม ๑ หน้า หน้าที่ ๑๐
พระผู้มีพระภาคพระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ ประมาณพันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ลำดับนั้นจิตของภิกษุได้หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น (พระพุทธเจ้าเวสสภูทรงกำหนดจิตภิกษุประมาณ 1,000 รูป )
...................................................................................................................

3) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๑
พระผู้มีพระภาคเสด็จมุ่งไปทางอันธกวินทะชนบท พร้อมภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้น ชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยวบ้างมาในเกวียนเดินตาม ด้วยตั้งใจว่ามีโอกาสเมื่อใดจักทำภัตตาหารถวาย
(เรื่องพราหมณ์ถวายยาคูฯ)
...................................................................................................................

4) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๓
มหาอำมาตย์คนหนึ่งผู้เริ่มเลื่อมใส ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุขเพื่อฉัน ในวันรุ่งขึ้น เราพึงตกแต่งสำหรับมังสะเพื่อภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป น้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ แล้วสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหารอันประณีต (เรื่องมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใส)
...................................................................................................................

5) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๖
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้น พราหมณ์ เวลัฏฐ กัจจานะ เดินทางไกลพร้อมด้วยเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ล้วนบรรทุกหม้องบน้ำอ้อย ปรารถนาจะ ถวายแด่พระผู้มีพระภาคและภิกษุรูปละ ๑ หม้อ(เรื่องพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะถวายงบน้ำอ้อย)
...................................................................................................................

6) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๙
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางตำบลบ้านปาฏลิ พร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป อุบาสกอุบาสิกา ชาวตำบลบ้านปาฏลิทราบข่าว จึงพากันเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทานอาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถา (ทรงรับอาคารพักแรม)
...................................................................................................................

7) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙๔
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในชนบท อังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกะคหบดี ทราบข่าวจึงสั่งทาสและกรรมกร บรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้างลงในเกวียนให้มากๆ จงพาแม่โคนม ๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจักเลี้ยงพระสงฆ์ ด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ที่มี น้ำยังอุ่นๆ (เมณฑกคหบดีอังคาสพระสงฆ์)
...................................................................................................................

8) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙๖ - ๙๘
กณิยชฎิล ได้สดับข่าวว่าพระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวช กิตติศัพท์อันงามว่าทรงเป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ บรรดาฤษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทานอาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงพร้อมใจกันจัดถวายน้ำปานะ และ ภัตาหารถวาย พร้อมกับภิกษุ ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป (เรื่องเกณิยชฎิล)
...................................................................................................................

9) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙๙
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปทางพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป พวกมัลลกษัตริย์ ชาวนครกุสินาราทราบข่าว จึงตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ (เตรียมการต้อนรับพระพุทธเจ้า)
...................................................................................................................

10) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๐๒
พระผู้มีพระภาคเสด็จ,kทางอาตุมานคร พร้อมภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้นมีภิกษสูงอายุ มีบุตรชายสองคน มีฝีมือในการช่างกัลบก ทราบข่าวการเสด็จมาฯ จึงให้ลูกชายทั้งสองไปรับตัดผม โกนผม ตามบ้านเรือน เพื่อแลกเกลือ แลกข้าวสาร ของขบฉัน เพื่อทำยาคูถวายฯ (เรื่องวุฑฒบรรพชิต)
...................................................................................................................

11) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๘๖
พระผู้มีพระภาคเสด็จจากริกไปในคิรีชนบทพร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป รวมทั้งพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะทราบข่าว จึงตกลงกันว่า จะไม่จัดหาเสนาสนะ ให้กับภิกษุเหล่านั้น เพราะได้แบ่งเสนาสนะของสงฆ์หมดแล้ว ส่วนพระผู้มีพระภาค จะให้ประทับในวิหาร... ที่มาพระวินัยของที่ไม่ควรแบ่ง ๕ หมวด (เรื่องภิกษุแบ่งของที่ไม่ควรแบ่ง ๕ หมวด)
...................................................................................................................

12) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๓๐
สมัยนั้นพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีประมาณ ๕๐๐ รูป เป็นพระบวชใหม่ และรู้พระธรรมวินัย น้อย พระเทวทัตพาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป หลีกไปทางคยาสีสะประเทศ เพื่อมาอยู่ในสำนักของตน
(พระเทวทัตหาพรรคพวก)
...................................................................................................................

13) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๓๑
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพาภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่หลงเชื่อพระเทวทัตกลับไปพระเวฬุวัน เมื่อพระเทวทัตตื่นขึ้นไม่เห็นสาวกทั้ง ๕๐๐ รูป ทราบว่าพระสารรีบุตร และพระโมคคัลลานะพากลับ ครั้งนั้นโลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากพระเทวทัต ในที่นั้นเอง (พระอัครสาวกพาภิกษุ ๕๐๐ กลับ)
...................................................................................................................

14) พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้าที่ ๒๔๖
พระมหากัสสปพาภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ออกจากเมืองปาวา เดินทางไปเมืองกุสินารา เพื่อร่วมพิธีพระบรมศพพระศาสดา พร้อมกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่าพวกเราจงสังคายนาพระธรรม และพระวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมวินัยจักรุ่งเรือง แต่ธรรมและวินัยจักเสื่อมถอย (เรื่องพระมหากัสสปเถระปรารภการทำสังคายนาครั้งที่ ๑)
...................................................................................................................

15) พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้าที่ ๒๔๗
ท่านพระมหากัสสปคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่องค์หนึ่ง สังคายนาพระธรรม และ พระวินัย ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนคร ราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและพระวินัย(สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูป)
...................................................................................................................

16) พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้าที่ ๒๕๔
ท่านพระปุราณะเที่ยวจาริกในชนบททักขิณาคิรี พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เข้าไปหาพระเถระทั้งหลายที่พระวิหารเวฬุวัน พระเถระฯได้กล่าวกะท่านพระปุราณะว่า ได้สังคายนาพระธรรม และพระวินัยแล้ว ท่านจงรับรู้ พระธรรมและพระวินัยนั้น ที่พระเถระทั้งหลาย สังคายนาแล้ว (เรื่องพระปุราณเถระ)

 

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


1) พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ หน้าที่ ๑

เรื่องเวรัญชพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ ได้สดับข่าว่ว่าพระโคดมศากยบุตร ก็แลพระกิตติศัพท์อันงาม ของท่านขจรไปว่า ทรงเป็นพระอรหันต์ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ ...ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้ง เทวโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง อนึ่งการเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี

           [๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา ที่ นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจาก ศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดา ที่ นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์ อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคองค์นั้น
ทรงเป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้
ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้
ทรงบรรลุวิชชา และจรณะ แม้เพราะเหตุนี้
เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบโลก แม้เพราะเหตุนี้
ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า แม้เพราะเหตุนี้
ทรงเป็นศาสดาของเทพ และมนุษย์ทั้งหลาย แม้เพราะเหตุนี้
ทรงเป็นพุทธะ แม้เพราะเหตุนี้
ทรงเป็นพระผู้มีพระภาค แม้เพราะเหตุนี้

           พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทพและมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี



2) วินัยปิฎก เล่ม ๑ หน้า หน้าที่ ๑๐

พระพุทธเจ้าเวสสภูทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ประมาณ 1,000 รูป
(เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน)
พระผู้มีพระภาคพระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ ประมาณ พันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจ อย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ลำดับนั้น จิตของภิกษุได้หลุดพ้น จากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

           [๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิต เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ ดำรง อยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้น แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตก แห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์
ไหน ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.

           พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนามวิปัสสีพระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระผู้มีพระภาค พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน.

           ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

           ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และ พระนาม เวสสภู ทรงท้อพระหฤทัย เพื่อจะทรงแสดงธรรม โดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะเวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้น มีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธาน โดยฉับพลัน

           ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วย ด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาค พุทธเจ้า เหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวก ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ ต่างชื่อกันต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้ อันตรธานโดยฉับ

           ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้

           ลำดับนั้นแล จิตของภิกษุประมาณพันรูป นั้น อันพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภู ทรงสั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในเพราะความที่ไพรสณฑ์ อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่าผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะ เข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน(ขนลุก)

           ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มี พระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน

           ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนาม กกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

           ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาค พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และ พระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัย เพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร แก่สาวก ทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะเคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ ตลอดระยะกาลยืนนาน

           ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาค พุทธเจ้า เหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลัง ที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนา นั้น ไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.

           ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของ พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน


       
3) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๑

เรื่องพราหมณ์ถวายยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน
พระผู้มีพระภาคเสด็จมุ่งไปทาง อันธกวินทะชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้นชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง มาในเกวียน เดินตาม ด้วยตั้งใจว่า ได้โอกาสเมื่อใด จักทำภัตตาหารถวาย

           [๖๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมณ์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทาง อันธกวินทะชนบท พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้นประชาชนชาวชนบท บรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง เป็นอันมากมาในเกวียน เดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาข้างหลังๆด้วยตั้งใจว่า ได้โอกาส เมื่อใดจักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น อนึ่งคนกินเดน(กินของเหลือ)ประมาณ ๕๐๐ คน ก็พลอยเดินติดตามไปด้วย ครั้นพระผู้มีพระภาค เสด็จพระพุทธ ดำเนินผ่านระยะทาง โดยลำดับ เสด็จถึงอันธกวินทชนบท.

           ขณะนั้นพราหมณ์คนหนึ่ง ยังหาโอกาสไม่ได้ จึงดำริในใจว่าเราเดินติดตาม ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมากว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยหมายใจว่าได้โอกาส เมื่อใด จักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น แต่ก็หาโอกาสไม่ได้

            อนึ่ง เราตัวคนเดียวและยังเสียประโยชน์ ทางฆราวาสไปมาก ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย แล้วจึง ตรวจดู โรงอาหาร มิได้เห็นมีของ ๒ สิ่ง คือยาคู ๑ ขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ๑ จึงเข้าไป หาท่าน พระอานนท์ ถึงสำนัก ครั้นแล้วได้กราบเรียนคำนี้แด่ท่านอานนท์ว่า

           ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ ข้าพเจ้านั้นตรวจดูโรงอาหาร มิได้เห็นมีของ ๒ สิ่ง คือ ยาคู ๑ ขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ๑ ถ้าข้าพเจ้าตกแต่งยาคู และขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวาย ท่านพระโคดมจะพึงรับของข้าพเจ้าไหมเจ้าข้า?

           ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ฉันจักทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคทันที

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้นพราหมณ์จงตกแต่ง ถวายเถิด

           ท่านพระอานนท์ บอกพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านตกแต่งถวาย ได้ละ

           จึงพราหมณ์นั้น ตกแต่งยาคูและขนม ปรุงด้วยน้ำหวานมากมายโดยผ่านราตรีนั้น แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า ขอท่านพระโคดม โปรดกรุณารับ ยาคู และขนมปรุงด้วยน้ำหวานของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด.

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงถวาย แก่ภิกษุทั้งหลายๆ รังเกียจไม่รับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด.

           จึงพราหมณ์นั้นอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยยาคูและขนม ปรุงด้วย น้ำหวานมากมาย ด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ให้ห้ามภัตรแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.



4) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๓

เรื่องมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใส
มหาอำมาตย์คนหนึ่งผู้เริ่มเลื่อมใส ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุขเพื่อฉัน ในวันรุ่งขึ้น เราพึงตกแต่งสำหรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ เพื่อภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป น้อมเข้าไปถวายภิกษุ รูปละ ๑ สำรับ แล้วสั่งให้ ตกแต่ง ขาทนียโภชนียาหาร อันประณีต

            [๖๔] ประชาชนทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ยาคู และขนมปรุง ด้วยน้ำหวานแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงตกแต่งยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ถวาย แต่เช้า ภิกษุทั้งหลายที่ได้รับอังคาสด้วยยาคูที่แข้นและขนม ปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า ฉันภัตตาหาร ในโรงอาหาร ไม่ได้ตามที่คาดหมาย

            คราวนั้น มหาอำมาตย์คนหนึ่งผู้เริ่มเลื่อมใส ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุขเพื่อฉัน ในวันรุ่งขึ้นและได้มีความคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงตกแต่งสำหรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ เพื่อภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป น้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ แล้วสั่งให้ ตกแต่ง ขาทนียโภชนียาหาร อันประณีต และสำรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ โดยผ่านราตรีนั้น แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตกาล แด่พระผู้มี พระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว

            ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดำเนิน สู่นิเวศน์ของมหาอำมาตย์ ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์ จึงมหาอำมาตย์ ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น อังคาสภิกษุทั้งหลายอยู่ในโรงอาหาร

            ภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้ว่า จงถวายแต่น้อยเถิดท่าน จงถวายแต่น้อยเถิดท่าน

            ท่านมหาอำมาตย์กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านทั้งหลายอย่ารับแต่น้อยๆ ด้วยคิดว่านี่เป็นมหาอำมาตย์ที่เริ่มเลื่อมใส กระผมตกแต่งขาทนียโภชนียาหารไว้มาก กับสำรับมังสะ๑,๒๕๐ ที่ จักน้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ ขอท่านทั้งหลายกรุณารับให้พอแก่ความต้องการเถิด เจ้าข้า

            ภิกษุทั้งหลายว่า ท่าน พวกอาตมภาพรับแต่น้อยๆ มิใช่เพราะเหตุนั้นเลย แต่เพราะพวกอาตมภาพ ได้รับอังคาสด้วยยาคูที่แข้น และขนมปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า ฉะนั้น พวกอาตมภาพจึงขอรับแต่น้อยๆ

            ทันใดนั้น มหาอำมาตย์ ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระคุณเจ้าทั้งหลาย อันกระผมนิมนต์แล้วจึงได้ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นเล่า กระผมไม่ สามารถจะถวายให้พอแก่ความต้องการหรือ แล้วโกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลายเต็ม พลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ ครั้นแล้วอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีต ด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาค ผู้เสวยเสร็จแล้ว นำพระหัตถ์ออกจากบาตร ให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงแก่มหาอำมาตย์ ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ซึ่งนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุก จากที่ประทับเสด็จกลับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่ทันนาน มหาอำมาตย์ผู้เริ่ม เลื่อมใส นั้น ได้บังเกิดความรำคาญ และความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอเรา ไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราโกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลายเต็ม พลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จะฉัน ก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแล เราสร้างสมมาก คือ บุญหรือบาป

            ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จกลับไม่ทันนาน ความรำคาญ และความเดือดร้อนได้บังเกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นว่า มิใช่ลาภของข้าพระพุทธเจ้า หนอ ลาภของข้าพระพุทธเจ้าไม่มีหนอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ชั่วแล้วหนอ ข้าพระพุทธเจ้า ไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะข้าพระพุทธเจ้าโกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตร ของภิกษุทั้งหลายเต็ม พลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแล ข้าพระพุทธเจ้า สร้างสมไว้มาก คือ บุญหรือบาป ดังนี้อะไรกันแน่ที่ข้าพระพุทธเจ้า สร้างสมมาก คือ บุญหรือบาป พระพุทธเจ้าข้า?

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อาวุโส ท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข เพื่อเจริญบุญกุศล และปิติปราโมทย์ในวันนี้ด้วยทานอันเลิศใด ท่านชื่อว่า สร้างสมบุญไว้มากเพราะทานอันเลิศนั้น เมล็ดข้าวสุกเมล็ดหนึ่งๆ ของท่าน อันภิกษุ รูปหนึ่งๆ ผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันใด รับไปแล้ว ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มาก เพราะภิกษุ ผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันนั้น สวรรค์เป็นอันท่านปรารภไว้แล้ว.

            ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ได้ทราบว่าเป็นลาภของตน ตนได้ดีแล้ว สวรรค์ อันตนปรารภไว้แล้ว ก็ร่าเริง ดีใจลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป



5) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๖

เรื่องพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะถวายงบน้ำอ้อย
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้น พราหมณ์เวลัฏฐ กัจจานะ เดินทางไกลพร้อมด้วยเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ล้วนบรรทุกหม้องบน้ำอ้อยเต็มทุกเล่ม ปรารถนาจะถวายแก่พระผู้มีพระภาคและภิกษุรูปละ ๑ หม้อ

            [๖๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอันธกวินทชนบท ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนิน มุ่งไปทางพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้น พราหมณ์เวลัฏฐ กัจจานะ เดินทางไกลแต่พระนครราชคฤห์ไปยังอันธกวินทชนบท พร้อมด้วยเกวียน ประมาณ ๕๐๐ เล่ม ล้วนบรรทุกหม้องบน้ำอ้อยเต็มทุกเล่ม พระผู้มีพระภาค ทอดพระเนตร เห็นเวลัฏฐกัจจานะ กำลังมาแต่ไกล ครั้นแล้ว เสด็จแวะออกจากทาง ประทับนั่งณ โคนไม้แห่งหนึ่ง

            จึงพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ เดินเข้าไปถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้ แด่พระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้าข้าพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะถวายงบน้ำอ้อย แก่ภิกษุรูปละ ๑ หม้อ

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงนำงบน้ำอ้อยมา แต่เพียงหม้อเดียว

            พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วนำงบน้ำอ้อยมาแต่หม้อเดียว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า หม้องบน้ำอ้อย ข้าพระพุทธเจ้านำมาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงถวายงบน้ำอ้อยแก่ ภิกษุทั้งหลาย. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้าแล้วถวายงบน้ำอ้อย แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ทูลคำนี้ แด่พระผู้มี พระภาคว่า งบน้ำอ้อยข้าพระพุทธเจ้าถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไรนี้ยังเหลืออยู่มาก พระพุทธเจ้าข้า

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงถวายงบน้ำอ้อย แก่ภิกษุทั้งหลาย จนพอแก่ความต้องการ

            พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วถวายงบน้ำอ้อย แก่ภิกษุทุกรูป จนพอแก่ความต้องการ แล้วได้ทูล คำนี้แด่ พระผู้มีพระภาค ว่างบน้ำอ้อย ข้าพระพุทธเจ้าถวาย แก่ภิกษุทั้งหลาย จนพอแก่ความต้องการแล้ว พระพุทธเจ้าข้าแต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงอังคาสภิกษุทั้งหลาย ด้วยงบน้ำอ้อยให้อิ่มหนำ

            พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วอังคาส ภิกษุทั้งหลาย ด้วยงบน้ำอ้อยให้อิ่มหนำ ภิกษุบางพวก บรรจุงบน้ำอ้อย เต็มบาตรบ้างเต็มหม้อกรองน้ำบ้าง เต็มถุงย่ามบ้าง ครั้นพราหมณ์เวลัฏฐ กัจจานะอังคาส ภิกษุทั้งหลายด้วยงบน้ำอ้อยให้อิ่มหนำแล้ว ได้ทูลคำนี้ แด่ พระผู้มีพระภาค ว่า ภิกษุทั้งหลายอันข้าพระพุทธเจ้าอังคาส ด้วยงบน้ำอ้อยให้อิ่มหนำ แล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ ยังเหลือ อยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า.

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้งบน้ำอ้อยแก่ พวกคนกินเดน. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. แล้วจึงให้งบน้ำอ้อยแก่พวกคนกินเดน แล้วได้ทูลคำนี้ แด่พระผู้มี พระภาคว่า งบน้ำอ้อย ข้าพระพุทธเจ้า ให้พวกคนกินเดนแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า.

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้งบน้ำอ้อย แก่พวก คนกินเดน จนพอแก่ความต้องการ

            พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงให้งบน้ำอ้อย แก่พวกคนกินเดน จนพอแก่ความต้องการ แล้วได้ทูลคำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า งบน้ำอ้อยข้าพระพุทธเจ้า ให้พวกคนกินเดน จนพอแก่ความต้องการแล้วพระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้า จะปฏิบัติอย่างไรต่อไป พระพุทธเจ้าข้า.

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเลี้ยงดูพวกคนกินเดน ให้อิ่มหนำ ด้วยงบน้ำอ้อย.

            พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วเลี้ยงดูพวกคนกินเดน ให้อิ่มหนำด้วยงบน้ำอ้อย คนกินเดนบางพวก บรรจุงบน้ำอ้อย เต็มกระป๋องบ้าง เต็มหม้อน้ำบ้าง ห่อเต็มผ้าขาว ปูลาดบ้าง เต็มพกบ้าง ครั้นพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ เลี้ยงดูพวกคนกินเดนให้อิ่มหนำด้วยงบน้ำอ้อย แล้วทูล คำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พวกคนกินเดนอันข้าพระพุทธเจ้า เลี้ยงดูด้วย งบน้ำอ้อย ให้อิ่มหนำแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้า จะปฏิบัติอย่างไรต่อไป พระพุทธเจ้าข้า.

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ทั่วโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ทั่วทุกหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราไม่เล็งเห็น บุคคล ผู้ที่บริโภคงบน้ำอ้อยนั้นแล้วจะให้ย่อยได้ดี นอกจากตถาคต หรือสาวกของ ตถาคต ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงทิ้งงบน้ำอ้อยนั้นเสีย ในสถานที่ อันปราศจาก ของเขียวสด หรือจงเทเสียในน้ำซึ่งปราศจากตัวสัตว์

            พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วเทงบน้ำอ้อยนั้น ลงในน้ำ ซึ่งปราศจากตัวสัตว์ งบน้ำอ้อยที่เทลง ในน้ำนั้น เดือดพลุ่ง ส่งเสียงดังจิฏิจิฏิ พ่นไอพ่นควันทันที เปรียบเหมือนผาล ที่ร้อน โชนตลอดวัน อันบุคคลจุ่มลงในน้ำย่อมเดือดพลุ่ง ส่งเสียงดังจิฏิจิฏิ พ่นไอพ่นควันอยู่ แม้ฉันใด งบน้ำอ้อยที่เทลงในน้ำนั้นย่อมเดือดพล่าน ส่งเสียงดังจิฏิจิฏิ พ่นไอพ่นควันอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.

            พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ สลดใจ บังเกิดโลมชาติชูชันทันที แล้วเข้าไปใน พุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง



6) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๙

ทรงรับอาคารพักแรม
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางตำบลบ้านปาฏลิ พร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป อุบาสก อุบาสิกา ชาวตำบลบ้านปาฏลิทราบข่าว จึงพากันเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้ชาวตำบล บ้านปาฏลิเห็นแจ้ง สมาทานอาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา

           [๖๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางตำบลบ้านปาฏลิ พร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงตำบลบ้าน ปาฏลิแล้ว อุบาสกอุบาสิกา ชาวตำบลบ้านปาฏลิ ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จถึง ตำบลบ้านปาฏลิแล้ว จึงพากันเข้าไปเฝ้า ณ พลับพลาที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสก อุบาสิกา ชาวตำบลบ้านปาฏลิผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเห็นแจ้ง สมาทานอาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา.

           ครั้นอุบาสก อุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิอันพระผู้มีพระภาคชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทานอาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์ โปรดทรงรับอาคารพักแรมของพวก ข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า.

           พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ครั้นอุบาสกอุบาสิกาชาวตำบล บ้านปาฏลิทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคม พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วพากันเดินไปทางอาคารพักแรม ปูลาดดาดเพดาน ทั่วอาคารพักแรมทุกแห่ง จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำตามประทีปน้ำมัน แล้วพากันเข้าไป พลับพลา ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ได้ยืนอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกเขายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มี-พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าปูลาดดาดเพดานอาคารพักแรมทุกแห่ง จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันไว้แล้ว พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบกาล อันควรในบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า.

           ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรจีวรแล้ว เสด็จไป ทางอาคาร พักแรมพร้อมกับพระสงฆ์ ทรงชำระพระบาทยุคลแล้ว เสด็จเข้าสู่อาคาร พักแรม ประทับนั่งพิงเสากลางผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้พระสงฆ์เหล่านั้น ก็ล้างเท้าแล้ว เข้าสู่อาคารพักแรมนั่งพิงฝาด้านตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศตะวันออก ห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกาชาวตำบลบ้าน ปาฏลิก็ล้างเท้าแล้วเข้าสู่ อาคารพักแรม นั่งพิงฝาด้านตะวันออก ผินหน้าไปทางตะวันตก ห้อมล้อม พระผู้มีพระภาค.

           ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาโปรดอุบาสก อุบาสิกา ชาวตำบลบ้าน ปาฏลิ ดังต่อไปนี้:-



7) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙๔

เมณฑกคหบดีอังคาสพระสงฆ์
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในชนบทอังคุตตราปะ พร้อมภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกะ คหบดี ทราบข่าวจึงสั่งทาสและกรรมกรบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มากๆ จงพาแม่โคนม ๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจักเลี้ยงพระสงฆ์ ด้วยน้ำนมสด อันรีดใหม่ที่มี น้ำยังอุ่นๆ

           [๘๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระนครภัททิยะ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วไม่ได้ทรงลาเมณฑกะคหบดี เสด็จพระพุทธดำเนินไปทาง ชนบท อังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกะ คหบดีได้ทราบข่าวแน่ชัดว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางชนบท อังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป จึงสั่งทาสและ กรรมกรว่า พนายทั้งหลาย ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มากๆ และคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงพาแม่โคนม ๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจักเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสด อันรีดใหม่ที่มี น้ำยังอุ่นๆ ณ สถานที่ๆ เราได้พบพระผู้มีพระภาค

           ครั้นเมณฑกะคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาค ณ ระหว่างทางกันดาร จึงเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล อาราธนาว่า พระพุทธเจ้าข้าขอพระผู้มีพระภาค พร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณา โปรดรับภัตตาหาร ของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ ในวันพรุ่งนี้ ด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ

           ครั้นเมณฑกะคหบดี ทราบการทรงรับอาราธนา ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคม ทำประทักษิณกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉัน อันประณีต โดยผ่านราตรีนั้นแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว.

           ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินเข้าสถานที่อังคาส ของเมณฑกะคหบดี ครั้นแล้วประทับนั่ง เหนือพุทธอาสน์ ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเมณฑกะคหบดีสั่ง คนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนว่า พนายทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นจงช่วยกันจับแม่โคนมคนละตัว แล้วยืนใกล้ๆ ภิกษุรูปละคนๆ เราจักเลี้ยงพระด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ

          ครั้นแล้วได้อังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย โภชนียาหาร อันประณีต และด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตรแล้ว ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคนฉันเถิด.

           เมื่อเมณฑกะคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย โภชนียาหาร อันประณีต และด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาค ผู้เสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง เมณฑกะคหบดีนั่งอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย ขอประทาน พระวโรกาส ขอพระองค์โปรด ทรงอนุญาตเสบียงเดินทาง แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.



8) พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๙๖

เรื่องเกณิยชฎิล
เกณิยชฎิล ได้สดับข่าวว่าพระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวช กิตติศัพท์อันงามว่าทรงเป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ บรรดาฤษีผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงพร้อมใจกันจัดถวายน้ำปานะและ ภัตาหารถวายพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป

          [๘๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค สด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว เกณิยชฎิลได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดม ศากยบุตรทรงผนวช ากศากยตระกูล เสด็จโดยลำดับถึงอาปณนิคมแล้ว ก็เพราะ กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น จรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของทวยเทพ และ มนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

          พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระ ปัญญา อันยิ่ง ของพระองค์เอง แล้วทรงสั่งสอนหมู่สัตว์พร้อม ทั้งสมณะ พราหมณ์ ทวยเทพ และมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็น พระอรหันต์ ทั้งหลาย เห็นปานนั้นเป็นความดี

          หลังจากนั้น เกณิยชฎิลได้ดำริว่า เราจะให้นำอะไร ไปถวายพระสมณโคดม ดีหนอ จึงได้ดำริต่อไปว่า บรรดาฤษีผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ คือ ฤษีอัฏฐกะ ฤษีวามกะ ฤษี วามเทวะ ฤษีเวสสามิตตะ ฤษียมตัคคิ ฤษีอังคีรสะ ฤษีภารทวาชะ ฤษีวาเสฏฐะ ฤษีกัสสปะ ฤษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์มาก่อนพวกพราหมณ์ในบัดนี้ ขับตามกล่าวตามซึ่งบทมนต์ของเก่า นี้ที่ท่านขับแล้วบอกว่า รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่กล่าวไว้บอกไว้ เป็นผู้เว้นฉันในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล

           ฤษีเหล่านั้นได้ยินดี น้ำปานะเห็นปานนี้ แม้พระสมณะโคดมก็เว้นฉันในราตรี งดฉัน ในเวลาวิกาล ก็ควรจะยินดี น้ำปานะเห็นปานนี้บ้าง แล้วสั่งให้ตกแต่งน้ำปานะ เป็นอันมาก ให้คนหาบไปถึงพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึก ถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคว่า ขอท่านพระโคดมโปรด ทรงรับน้ำปานะของข้าพระเจ้า

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เกณิยะ ถ้าเช่นนั้น จงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคน ฉันเถิด ครั้งนั้นเกณิยชฎิล ได้อังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยน้ำปานะอันมาก ด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาค ผู้ล้าง พระหัตถ์ นำพระหัตถ์จากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง

          พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

          ครั้งนั้น เกณิยชฎิลอันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอท่านพระโคดม พร้อมกับ ภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญ บุญกุศล และ ปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

          พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนว่า เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็ เลื่อมใส ยิ่งนักในหมู่พราหมณ์

          เกณิยชฎิล ได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเป็นคำรบที่สองว่า แม้ภิกษุสงฆ์ จะมีมาก ถึง ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระพุทธเจ้าได้เลื่อมใสยิ่งนัก ในหมู่พราหมณ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ขอท่านพระโคดม พร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณา โปรดรับภัตตาหาร ของพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

          พระผู้มีพระภาค ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้นเกณิยชฎิลทราบอาการ รับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งกลับไป



9) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๙๙

เตรียมการต้อนรับพระพุทธเจ้า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปทางพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป พวกมัลลกษัตริย์ ชาวนครกุสินาราทราบข่าว จึงตั้งกติกาไว้ว่าผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จ พระผู้มีพระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์

           [๘๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาปณนิคมตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ จาริกไปทางพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป

           พวกมัลลกษัตริย์ชาวพระนครกุสินารา ได้ทรงทราบข่าวแน่ถนัดว่า พระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมาพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป มัลลกษัตริย์เหล่านั้นได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์

           สมัยนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ เป็นพระสหายของพระอานนท์ ครั้นพระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครกุสินาราแล้ว พวกมัลลกษัตริย์ชาวพระนครกุสินารา ได้จัดการต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์รับเสด็จ พระผู้มีพระภาค แล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่พัก ทรงอภิวาทแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

           ท่านพระอานนท์ได้ปราศรัยกะโรชะมัลลกษัตริย์ผู้ประทับยืน ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ว่าท่านโรชะ การรับเสด็จพระผู้มีพระภาคของท่านโอฬารแท้.

           โรชะมัลลกษัตริย์ตรัสว่า พระคุณเจ้าอานนท์ พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าใหญ่โต พวกญาติต่างหากได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใด ไม่ต้อนรับ เสด็จพระผู้มีพระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ ข้าพเจ้า นั้นแล ได้ต้อนรับ เสด็จพระผู้มีพระภาคเช่นนี้ เพราะกลัวพวกญาติปรับสินไหม.

           ทันใดท่านพระอานนท์แสดงความไม่พอใจว่า ไฉน โรชะมัลลกษัตริย์จึงได้ตรัส อย่างนี้แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นี้ เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมากและความเลื่อมใส ในพระธรรมวินัยนี้ ของคนที่มี ผู้รู้จักมาก เช่นนี้ มีอิทธิพลมากนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์ ทรงกรุณา โปรดบันดาลให้ โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ การที่จะบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์ เลื่อมใส ในพระธรรมวินัยนี้นั้น ตถาคตทำได้ไม่ยากเลย.

           ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงแผ่เมตตาจิต ไปยังโรชะมัลลกษัตริย์ แล้วทรง ลุกจากที่ประทับเสด็จเข้าพระวิหาร ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์ อันพระเมตตาจิตของ พระผู้มีพระภาค ถูกต้องแล้ว ได้เที่ยวค้นหาตามวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง ดุจโค แม่ลูกอ่อน แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เวลานี้ พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหนเพราะข้าพเจ้าใคร่จะเฝ้าพระองค์.

           ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า ท่านโรชะ พระวิหารนั่นเขาปิดพระทวารเสียแล้ว ขอท่านโปรดสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารนั้น ค่อยๆ ย่องเข้าไปที่หน้ามุข ทรงกระแอมแล้วทรงเคาะพระทวารเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดพระทวารรับท่าน ถวายพระพร.



10) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๐๒

เรื่องวุฑฒบรรพชิต (ภิกษุสูงอายุ)
พระผู้มีพระภาคเสด็จมาทางอาตุมานคร พร้อมภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น ภิกษุสูงอายุ มีบุตรชายสองคน มีฝีมือในการช่างกัลบกทราบข่าวการเสด็จมาฯ จึงให้ลูกชายทั้งสองไปรับตัดผม โกนผม ตามบ้านเรือน เพื่อแลกเกลือแลกข้าวสารของขบฉัน เพื่อทำยาคูถวาย

           [๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระนครกุสินารา ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินทางอาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้นมีภิกษุบวชภายแก่(บวชตอนอายุมาก) รูปหนึ่ง เคยเป็นช่างกัลบก อาศัยอยู่ในอาตุมานคร เธอมีบุตรชายสองคนเป็นเด็กพูดจา อ่อนหวาน มีไหวพริบดี ขยันแข็งแรง มีฝีมือยอดเยี่ยมในการช่างกัลบกของตน ดีเท่า อาจารย์ เธอได้ทราบข่าว ว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาสู่อาตุมานคร พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป

           ครั้นแล้วได้แจ้งความประสงค์ อันนั้นแก่บุตรทั้งสองนั้นว่า พ่อทั้งหลายข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ ไปเถิด พ่อทั้งสอง จงถือเครื่องมือตัดผม และโกนผม กับทะนานและถุง เที่ยวไปตัด และโกนผม ตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง พ่อจักทำยาคูที่ดื่มได้ถวายพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จมาถึงแล้ว.

           บุตรชายทั้งสองรับคำสั่งของหลวงพ่อว่า จะปฏิบัติเช่นนั้น แล้วถือเครื่องมือ ตัดผมโกนผมกับทะนานและถุง เที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้างข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ชาวบ้านเห็นเด็กสองคนนั้น พูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี แม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะให้ตัดและโกนผม ก็ให้ตัดให้โกนผม ถึงให้ตัดให้โกนผมแล้ว ก็ให้ค่าแรงมากเป็นอันว่าเด็กทั้งสองคนนั้น เก็บรวบรวม เกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้างได้เป็นอันมาก.

           ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ เสด็จถึงอาตุมานครแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่ภูสาคาร เขตอาตุมานครนั้น จึงพระขรัวตานั้น สั่งให้คนตกแต่ง ข้าวยาคู เป็นอันมากโดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงโปรดรับข้าวยาคูของข้าพระพุทธเจ้า.



11) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๘๖

เรื่องภิกษุแบ่งของที่ไม่ควรแบ่ง
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในคิรีชนบทพร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป พร้อมกับ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะทราบข่าว จึงตกลงกันว่า จะไม่จัดหาเสนาสนะให้กับภิกษุเหล่านั้น เพราะได้แบ่งเสนาสนะของสงฆ์ หมดแล้ว ส่วนพระผู้มีพระภาคให้ประทับในวิหาร... ที่มาพระวินัยของที่ไม่ควรแบ่ง ๕ หมวด

           [๒๙๓] ครั้นพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระนครสาวัตถี ตามพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกทางกิฏาคิรีชนบท พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ทั้ง พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะได้ทราบ ข่าวแล้วกล่าวกันว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จมาสู่กิฏาคิรีชนบท พร้อมกับภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ทั้งพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ

           ท่านทั้งหลายพวกเรา ตกลงแบ่งเสนาสนะของสงฆ์ให้หมด เพราะพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ มีความปราถนาลามก ไปสู่อำนาจแห่งความปราถนาอันชั่วช้า พวกเราจะได้ไม่ต้องจัดหาเสนาสนะถวายท่าน ภิกษุเหล่านั้นได้แบ่งเสนาสนะของสงฆ์ หมดแล้ว

           ครั้นพระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกโดยลำดับ ได้ถึงชนบทกิฏาคิรีแล้ว จึงรับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอ จงไปหาภิกษุพวกอัสสชิ และ ปุนัพพสุกะ แล้วบอกอย่างนี้ว่า ท่าน ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค เสด็จมาพร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ทั้ง พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ขอท่านจงช่วยจัดหาเสนาสนะ ถวายพระผู้มีพระภาค ภิกษุสงฆ์ และพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ภิกษุเหล่านั้น รับสนองพระดำรัส แล้วเข้าไปหาภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ

           ครั้นแล้ว ได้แจ้งว่าท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเสด็จมาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ทั้งพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ก็แลพวกท่านจงจัดหา เสนาสนะ ถวายพระผู้มีพระภาค ภิกษุสงฆ์ และพระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ ภิกษุพวก พระอัสสชิ และ พระปุนัพพสุกะ ตอบว่าท่านทั้งหลายเสนาสนะของสงฆ์ไม่มี พวกผมแบ่งกันหมดแล้ว พระผู้มีพระภาค เสด็จมาดีแล้ว พระองค์ทรงพระประสงค์ จะประทับในวิหารใด ก็จักประทับในวิหารนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีความปราถนาลามก ไปสู่อำนาจของความปรารถนา อันชั่วช้า พวกผมจักไม่จัดหาเสนาสนะ

           ภิ. ท่านทั้งหลาย พวกท่านแบ่งเสนาสนะของสงฆ์หรือ

           อ. เป็นเช่นนั้น ขอรับ

           บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าไฉน ภิกษุ พวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จึงได้แบ่งเสนาสนะของสงฆ์เล่า แล้วกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...

           พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุพวกอัสสชิ และปุนัพพะสุกะ แบ่งเสนาสนะของสงฆ์ จริงหรือ

           ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

ของที่ไม่ควรแบ่ง ๕ หมวด

           พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุโมฆ บุรุษเหล่านี้จึงได้แบ่งเสนาสนะ ของสงฆ์เล่า การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ของที่ไม่ควรแบ่งมี ๕ หมวดนี้ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งไปแล้วก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติ ถุลลัจจัย

            ของไม่ควรแบ่ง ๕ หมวด อะไรบ้าง
    ๑) คืออารามพื้นที่อาราม นี้เป็นของไม่ควรแบ่ง หมวดที่ ๑ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่งแม้แบ่งแล้ว ก็ไม่เป็นอัน แบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย

    ๒) วิหาร พื้นที่วิหาร นี้เป็นของไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๒ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคล ก็ดีไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้ว ก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย

    ๓) เตียง ตั่ง ฟูก หมอน นี้เป็นของไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๓ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้ว ก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย

    ๔) หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน นี้เป็นของ ไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๔ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้ว ก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย

    ๕) เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย หญ้าสามัญ ดิน เครื่องไม้ เครื่องดินนี้ เป็นของไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๕ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้ว ก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ของที่ไม่ควรแบ่ง ๕ หมวดนี้แล สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคล ก็ดีไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้ว ก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย



12) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๓๐

พระเทวทัตหาพรรคพวก
สมัยนั้นพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีประมาณ ๕๐๐ รูป เป็นพระบวชใหม่ และรู้พระธรรมวินัย น้อย พระเทวทัตพาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป หลีกไปทางคยาสีสะประเทศ เพื่อมาอยู่ในสำนัก ของตน

           [๓๘๙] ครั้งนั้น ถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตลุกจากอาสนะ ประกาศให้ ภิกษุทั้งหลายจับสลากว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม แล้วทูลขอวัตถุ ๕ ประการ*ว่าพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้ มักน้อย ... การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็น ไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ... การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย

  *วัตถุ ๕ ประการ พระเทวทัต ขอประทานข้อปฏิบัติ ๕ เรื่อง เพื่อถือเป็นวินัยสงฆ์
๑. ภิกษุควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ พึงต้องโทษ
๒. ภิกษุควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีการนิมนต์ พึงต้องโทษ
๓. ภิกษุควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีผ้าคหบดี พึงต้องโทษ
๔. ภิกษุควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุใดเข้าอาศัยที่มุงบัง พึงต้องโทษ
๕. ภิกษุไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุใดฉันปลาและเนื้อ พึงต้องโทษ

            ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลาย พึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร ตลอดชีวิต รูปใด อาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ... ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงฉันปลา และเนื้อตลอดชีวิต รูปใดพึงฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ วัตถุ ๕ ประการนี้ พระสมณโคดม ไม่ทรงอนุญาต แต่พวกเรานั้นย่อมสมาทาน ประพฤติตามวัตถุ ๕ ประการนี้ วัตถุ ๕ ประการนี้ ชอบแก่ท่าน ผู้ใด ท่านผู้นั้นจงจับสลาก

           [๓๙๐] สมัยนั้น พระวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี ประมาณ ๕๐๐ รูป เป็น พระบวชใหม่ และรู้พระธรรมวินัยน้อย พวกเธอจับสลากด้วยเข้าใจว่า นี้ธรรม นี้วินัย นี้สัตถุศาสน์(คำสอนพระศาสดา) ลำดับนั้นพระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป หลีกไปทางคยาสีสะประเทศ

           [๓๙๑] ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตร นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป หลีกไปทางคยาสีสะประเทศ

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร โมคคัลลานะ พวกเธอจักมีความ การุญในภิกษุใหม่เหล่านั้นมิใช่หรือ พวกเธอจงรีบไป ภิกษุเหล่านั้นกำลังจะถึง ความย่อยยับ

           พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว ลุกจาก อาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเดินทางไป คยาสีสะประเทศ



13) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๓๑

พระอัครสาวกพาภิกษุ ๕๐๐ กลับ
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พาภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่หลงเชื่อพระเทวทัตกลับไปพระเวฬุวัน เมื่อพระเทวทัตตื่นขึ้นไม่เห็นสาวก ๕๐๐ รูป ทราบว่าพระสารรีบุตร และพระโมคคัลลานะ พากลับ ครั้งนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากพระเทวทัต ในที่นั้นเอง

           [๓๙๓] สมัยนั้น พระเทวทัต อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม แล้วนั่งแสดง ธรรมอยู่ เธอได้เห็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ มาแต่ไกล จึงเตือนภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เห็นไหม ธรรมเรากล่าวดีแล้ว พระสารีบุตร โมคคัลลานะอัครสาวก ของพระสมณโคดม พากันมาสู่สำนักเรา ต้องชอบใจธรรม ของเรา เมื่อพระเทวทัต กล่าวอย่างนี้แล้ว พระโกกาลิกะ ได้กล่าวกะพระเทวทัตว่า ท่านเทวทัต ท่านอย่า ไว้วางใจ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ เพราะเธอ ทั้งสองมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแก่ความปรารถนาลามก พระเทวทัตกล่าวว่า อย่าเลย คุณ ท่านทั้งสองมาดี เพราะชอบใจธรรมของเรา

           ลำดับนั้น ท่านพระเทวทัต นิมนต์ท่านพระสารีบุตร ด้วยอาสนะกึ่งหนึ่งว่า มาเถิด ท่านสารีบุตร นิมนต์นั่งบนอาสนะนี้ ท่านพระสารีบุตรห้ามว่า อย่าเลยท่าน แล้วถืออาสนะแห่งหนึ่งนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ถืออาสนะแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระเทวทัตแสดงธรรม กถาให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงหลายราตรี แล้วเชื้อเชิญ ท่านพระสารีบุตรว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะแล้วธรรมีกถา ของภิกษุทั้งหลาย จงแจ่มแจ้งกะท่าน เราเมื่อยหลังจักเอน ท่านพระสารีบุตรรับคำ พระเทวทัตแล้ว ลำดับนั้น พระเทวทัตปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วจำวัตรโดยข้างเบื้องขวา เธอเหน็ด เหนื่อยหมดสติ สัมปชัญญะ ครู่เดียวเท่านั้น ก็หลับไป

           [๓๙๔] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร กล่าวสอน พร่ำสอนภิกษุทั้งหลาย ด้วยธรรมีกถา อันเป็นอนุศาสนี เจือด้วยอาเทสนาปาฏิหาริย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวสอน พร่ำสอน ภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมีกถา อันเป็นอนุศาสนี เจือด้วย อิทธิปาฏิหาริย์ ขณะเมื่อภิกษุเหล่านั้น อันท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนอยู่ พร่ำสอนอยู่ ด้วย อนุศาสนี เจือด้วย อาเทศนาปาฏิหาริย์ และอันท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าว สอนอยู่ พร่ำสอนอยู่ ด้วยอนุศาสนี เจือด้วย อิทธิปาฏิหาริย์ ดวงตาเห็นธรรมที่ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลาย มาว่า ท่านทั้งหลาย เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้ใดชอบใจธรรมของพระผู้มี พระภาคนั้น ผู้นั้นจงมา

           ครั้งนั้น พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ พาภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นเข้า ไปทางพระเวฬุวัน ครั้งนั้น พระโกกาลิกะ ปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้น ด้วยคำว่าท่าน เทวทัต ลุก ขึ้นเถิดพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พาภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอก ท่านแล้ว มิใช่หรือว่า อย่าไว้วางใจพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เพราะเธอทั้งสอง มีความ ปรารถนาลามก ถึงอำนาจความปรารถนาลามก ครั้งนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออก จากปากพระเทวทัต ในที่นั้นเอง

           [๓๙๕] ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลาย พึงอุปสมบทใหม่

           พ. อย่าเลย สารีบุตร เธออย่าพอใจการอุปสมบทใหม่ ของพวกภิกษุผู้ ประพฤติ ตามภิกษุผู้ทำลายเลย ดูกรสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พวกภิกษุผู้ ประพฤติ ตามภิกษุผู้ทำลายแสดงอาบัติถุลลัจจัย ก็เทวทัตปฏิบัติแก่เธออย่างไร

           ส. พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมีกถา ให้ภิกษุทั้งหลาย เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วได้รับสั่งกะ ข้าพระพุทธเจ้าว่า ดูกรสารีบุตรภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะแล้ว ธรรมีกถาของภิกษุ ทั้งหลายจงแจ่มแจ้งแก่เธอ เราเมื่อยหลัง ดังนี้ฉันใด พระเทวทัต ก็ได้ปฏิบัติ ฉันนั้นเหมือนกัน พระพุทธเจ้าข้า

           [๓๙๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีสระใหญ่อยู่ในราวป่า ช้างทั้งหลายอาศัยสระนั้นอยู่ และพวก มันพากันลงสระนั้นเอางวงถอนเง่าและรากบัว ล้างให้สะอาดจนไม่มีตม แล้วเคี้ยวกลืน กินเง่า และรากบัวนั้น เง่าและรากบัวนั้น ย่อมบำรุงวรรณะ และกำลังของช้างเหล่านั้น และช้างเหล่านั้น ก็ไม่เข้าถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนลูกช้างตัวเล็กๆ เอาอย่างช้างใหญ่เหล่านั้น และพากัน ลงสระนั้น เอางวงถอนเง่า และรากบัว แล้วไม่ล้างให้สะอาด เคี้ยวกลืน กินทั้งที่มีตม เง่าและรากบัวนั้น ย่อมไม่บำรุงวรรณะ และกำลังของลูกช้างเหล่านั้น และพวกมัน ย่อมเข้าถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตเลียนแบบเราจักตายอย่างคนกำพร้า อย่างนั้น เหมือนกัน

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประพันธคาถา ว่าดังนี้:

           [๓๙๗] เมื่อช้างใหญ่คุมฝูง ขุดดิน กินเง่าบัวอยู่ในสระใหญ่ ลูกช้าง กินเง่าบัวทั้งที่มีตมแล้วตาย ฉันใด เทวทัตเลียนแบบเราแล้ว จักตายอย่างคนกำพร้า ฉันนั้น



14) พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้าที่ ๒๔๖

เรื่องพระมหากัสสปเถระปรารภการทำสังคายนาครั้งที่ ๑
พระมหากัสสป พาภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ออกจากเมืองปาวา เดินทางไกลไป เมืองกุสินารา เพื่อร่วมพิธีพระบรมศพพระศาสดา พร้อมกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า พวกเราจง สังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมวินัยจักรุ่งเรือง แต่ธรรมและวินัย จักเสื่อมถอย

           [๖๑๔] ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป ชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย ครั้งหนึ่งเราออกจากเมืองปาวา เดินทางไกล ไปเมืองกุสินารา กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ครั้งนั้น เราแวะจากทาง นั่งพักอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง อาชีวก ผู้หนึ่ง ถือดอกมณฑารพในเมืองกุสินาราเดินทางไกล มาสู่เมืองปาวา เราได้เห็น อาชีวกนั้น เดินมาแต่ไกลเทียว

            ครั้นแล้วได้ถามอาชีวกนั้นว่า ท่านทราบข่าว พระศาสดาของเรา บ้าง หรือ อาชีวกตอบว่า ท่านขอรับ ผมทราบพระสมณโคดม ปรินิพพานได้ ๗ วันทั้งวันนี้แล้ว ดอกมณฑารพนี้ ผมถือมาจากที่ปรินิพพานนั้น บรรดาภิกษุเหล่านั้น ท่านที่ยังไม่ ปราศจาก ราคะ บางพวก ประคองแขน คร่ำครวญ ดุจมีเท้าขาดล้มลง กลิ้งเกลือกไปมา รำพันว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จ ปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาหายไปจากโลกเร็วนัก ส่วนพวกที่ ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ ย่อมอดกลั้นได้ ด้วยคิดว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง สิ่งที่เที่ยงนั้น จะได้ในสังขารนี้ แต่ไหนเล่า

           ท่านทั้งหลาย ครั้งนั้น เรา ได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรเลย ข้อนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ความเว้น ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์และสังขาร ที่รักที่ชอบใจ ทั้งปวงทีเดียวย่อมมี สิ่งที่ เที่ยงนั้นจะได้ในสังขารนั้นแต่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายเป็นธรรมดา ข้อที่จะปรารถนา ว่า สิ่งนั้นอย่าได้สลายเลย นี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

            ครั้งนั้น พระสุภัททวุฑฒบรรพชิต นั่งอยู่ ในบริษัทนั้น เธอ ได้กล่าวกะภิกษุ ทั้งหลายว่า พอเถิด ท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรไปเลย พวกเรา พ้นไปดีแล้ว จากพระมหาสมณะนั้น ด้วยว่าพวกเรา ถูกเบียดเบียนว่า สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ ไม่ควร แก่พวกเธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็ทำสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนา จักทำสิ่งใด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น เอาเถิด ท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนา พระธรรม และพระวินัย เถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะ มิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้า อธรรมวาทีบุคคลจะ มีกำลัง ธรรมวาที บุคคล จักเสื่อมกำลัง อวินยวาที บุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคล จักเสื่อมกำลัง



15) พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้าที่ ๒๔๗

สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูป
ท่านพระมหากัสสปคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่องค์หนึ่ง สังคายนาพระธรรม และพระวินัย ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษา ในพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและพระวินัย

           [๖๑๕] ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ขอพระเถระ จงคัดเลือกภิกษุ ทั้งหลายเถิดขอรับ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป จึงคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่องค์หนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า ท่านเจ้าข้า ท่านพระอานนท์นี้ ยังเป็นเสกขบุคคล อยู่ก็จริง แต่ไม่ลุอำนาจ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคภยาคติ และท่านได้เรียนพระธรรม และพระวินัย เป็นอันมาก ในสำนักพระผู้มี พระภาค เพราะเหตุนั้น ขอพระเถระ จงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วยเถิด

           ลำดับนั้น พระมหากัสสป จึงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วย จึงพระเถระ ทั้งหลายปรึกษากันว่า พวกเราจักสังคายนาพระธรรม และพระวินัยที่ไหนดีหนอ ครั้นแล้ว เห็นพร้อมกันว่าพระนครราชคฤห์ มีโคจรคามมาก มีเสนาสนะเพียงพอ สมควรแท้ที่พวกเราจะอยู่ จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ สังคายนาพระธรรม และ พระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่ควรเข้าจำพรรษา ในพระนครราชคฤห์

           ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป ประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:

           ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนา พระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษาในพระนครราชคฤห์ นี้เป็นญัตติ

           ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษา ในพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษา ในพระนครราชคฤห์ การสมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและ พระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษา ในพระนครราชคฤห์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

           สงฆ์สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์เพื่อ สังคายนา พระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษาในพระ นครราชคฤห์ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้



16) พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้าที่ ๒๕๔

เรื่องพระปุราณเถระ
ท่านพระปุราณะ เที่ยวจาริกในชนบททักขิณาคิรี พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เข้าไปหาพระเถระทั้งหลายที่พระวิหารเวฬุวัน ได้กล่าวสัมโมทนียะ (คำพูดที่ประทับใจ) กับพระเถระทั้งหลาย พระเถระทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระปุราณะว่า ได้สังคายนาพระธรรม และ พระวินัยแล้ว ท่านจงรับรู้พระธรรม และพระวินัยนั้น ที่พระเถระทั้งหลายสังคายนาแล้ว

           [๖๒๓] สมัยนั้น ท่านพระปุราณะ เที่ยวจาริกในชนบททักขิณาคิรี พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป คราวเมื่อพระเถระทั้งหลาย สังคายนาพระธรรม และพระวินัยเสร็จแล้ว ได้พักอยู่ในชนบททักขิณาคิรีตามเถราภิรมย์ แล้ว เข้าไปหา พระเถระทั้งหลาย ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อ แก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ แล้วได้กล่าว สัมโมทนียะ(คำพูดที่ประทับใจ) กับพระเถระทั้งหลาย แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเถระทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระปุราณะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งว่า ท่านปุราณะพระเถระทั้งหลาย ได้สังคายนาพระธรรมและพระ วินัยแล้ว ท่านจงรับรู้พระธรรมและพระวินัยนั้น ที่พระเถระทั้งหลายสังคายนาแล้ว

           ท่านพระปุราณะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลาย สังคายนา พระธรรม และพระวินัย เรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่า ข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น

           [๖๒๔] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวกะพระเถระทั้งหลายว่า ท่าน เจ้าข้า เมื่อจวนเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกรอานนท์ถ้าเช่นนั้น เมื่อเราล่วงไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ

           พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือ ว่า พระพุทธเจ้าข้าก็ พรหมทัณฑ์(การลงโทษในธรรมวินัย) เป็นอย่างไร

           พระอานนท์ตอบว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วว่า พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุฉันนะ พึงพูดตามปรารถนา ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงสั่งสอน ไม่ พึงพร่ำสอนภิกษุฉันนะ (การไม่สอนธรรมะแก่ภิกษุ นั้นคือการลงโทษนธรรมวินัย)

           ท่านพระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั้นแหละจง ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ

           พระอานนท์ปรึกษาว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ ได้อย่างไร เพราะเธอดุร้าย หยาบคาย

           พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปกับภิกษุหลายๆ รูป ท่านพระอานนท์รับเถระบัญชาแล้ว โดยสารเรือไป พร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงเมืองโกสัมพี ลงจากเรือแล้วได้นั่ง ณ โคนไม้ แห่งหนึ่งใกล้พระราชอุทยาน ของพระเจ้าอุเทน

  รวบรวมจากพระวินัยปิฎก
(16 พระสูตร)
รวบรวมจากพระสุตตันตปิฎก
(17 พระสูตร)





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์