พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๒๕๑ - ๒๕๒
ทสุตตรสูตร
[๓๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูปประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจัมปา ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียก ภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุพวกนั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวว่า
[๓๖๕] เราจักกล่าวธรรมอย่างสูงสิบหมวด สำหรับเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัด ทั้งหมด เพื่อถึงพระนิพพาน เพื่อกระทำที่สุด แห่งทุกข์ ฯ
ธรรมอย่างหนึ่งมีอุปการะมาก(ย่อ)
[๓๖๖] - [๓๗๖]
[๓๖๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งมีอุปการะมาก ธรรมอย่างหนึ่งควรให้เจริญ
ธรรมอย่างหนึ่งควรกำหนดรู้ ธรรมอย่างหนึ่งควรละ ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม
ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ธรรมอย่างหนึ่งแทงตลอดได้ยาก ธรรมอย่างหนึ่งควร
ให้บังเกิดขึ้น ธรรมอย่างหนึ่งควรรู้ยิ่ง ธรรมอย่างหนึ่งควรทำให้แจ้ง ฯ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑) ธรรมอย่างหนึ่งที่ มีอุปการะมากเป็นไฉน คือความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒) ธรรมอย่างหนึ่งที่ ควรให้เจริญเป็นไฉน คือกายคตาสติอันประกอบด้วยความสำราญ
๓) ธรรมอย่างหนึ่งที่ ควรกำหนดรู้เป็นไฉน คือผัสสะที่ยังมีอาสวะมีอุปาทาน
๔) ธรรมอย่างหนึ่งที่ ควรละเป็นไฉน คืออัสมิมานะ (ถือเขาถือเรา)
๕) ธรรมอย่างหนึ่งที่ เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน คือการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย
๖) ธรรมอย่างหนึ่งที่ เป็นไปในส่วนข้างวิเศษเป็นไฉน คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย
๗) ธรรมอย่างหนึ่งที่ แทงตลอดได้ยากเป็นไฉน คือเจโตสมาธิเป็นอนันตริก
๘) ธรรมอย่างหนึ่งที่ ควรให้บังเกิดขึ้นเป็นไฉน คือญาณที่ไม่กำเริบ
๙) ธรรมอย่างหนึ่งที่ ควรรู้ยิ่งเป็นไฉน คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีอาหารเป็นที่ตั้ง
๑๐) ธรรมอย่างหนึ่งที่ ควรทำให้แจ้งเป็นไฉน คือเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ
ธรรมทั้งสิบ ดังพรรณนามานี้ เป็นของจริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาดไม่เป็นอย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ ฯ |