เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
เรื่องพระสารีบุตร หน้า 2/5 1482
  P1481 P1482 P1483 P1484 P1485
รวมพระสูตร พระสารีบุตร
 

(โดยย่อ)
(16) พระสารีบุตรสอนให้โอวาทแก่พระฉันนะที่เตรียมฆ่าตัวตาย P1098
(17) พระสารีบุตรถูกยักษตีศรีษะ ขณะทำสมาธิ (๔. ชุณหสูตร) (สูตรนี้เป็นอรรถกถา)
(18) พระสารีบุตรทูล ถามพระพุทธเจ้าว่าให้ทานอย่างไร มีผลมากมีอานิสสงส์มาก P354
(19) พระอานนท์ และสุสิมเทพบุตร สรรเสริญพระสารีบุตรว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญาหลักแหลม P1493
(20) พระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระศาสดาว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเคารพระศาสดา P261
(21) พระสารีบุตรเตือนภิกษุ ผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ.. นี้เป็นความเสื่อม P511
(22) อุทายีถามพระสารีบุตรว่า นิพพานไม่มีเวทนาจะเป็นสุขได้อย่างไร (นิพพานสูตร) P1371
(23) นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง พระสารีบุตรกล่าวกับอุทายีและภิกษุทั้งหลาย P523
(24) ผู้เข้าสัญญาเวทยิตแต่กายแตกดับจะไปเกิดที่ไหน (อุทายีเห็นแย้งกับพระสารีบุตร) P1102
(25) รับสั่งให้พระโมคกับพระสารีบุตร ทำปัพพาชนียกรรม (ขับภิกษุออกจากมู่สงฆ์) P1330
(26) การสนทนาธรรมของพระเถระ ๖ รูป เรื่องผู้ทำให้ป่างาม (มหาโคสิงคสาลสูตร) P1028
(27) พระสารีบุตรเข้าเฝ้าทูลว่าไม่มีใครรู้เกินพระองค์ (ทรงตำหนิ) มหาปรินิพพานสูตร (๒) P625
(28) ทรงรับสั่งกะพระสารีบุตร จงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวก อัสสชิ ที่ดุร้ายหยาบคาย (ว.613)
(29) การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ พระสารีบุตร กับ โกฏฐิกะ (มหาเวทัลลสูตร) P362
(30) วาทะและทิฏฐิ .. การปฏิบัติที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ตถาคตก็เคยหลงผิดมาแล้ว P699

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน

 


(16)

พระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๒๕๔๙ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๘๐

ฉันนสูตร 
พระสารีบุตรสอนธรรมแก่พระฉันนะที่เตรียมฆ่าตัวตาย
P1098

(ย่อ)
ภิกษุฉันนะป่วยเป็นไข้หนัก เตรียมใช้ศาสตราปลิดชีวิต

คำสอนของพระสารีบุตร (สอนเรื่องอัตตา)
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
ท่านพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตา ของเรา
ท่านพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’

คำสอนของพระมหาจุนทะ
(สอนที่สุดแห่งทุกข์)
“ดูก่อนท่านฉันนะ บุคคลผู้ไม่มีตัณหา และทิฎฐิ อาศัยย่อมไม่มีความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความ หวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อม ไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมาเกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติ และอุบัติ เมื่อไม่มีจุติ และอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละคือที่สุด แห่งทุกข์”

พระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๒๕๔๙ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๘๐

ฉันโนวาทสูตร

ว่าด้วยพระสารีบุตรให้โอวาทพระฉันนะ
P1098

(พระฉันนะ ในพระสูตรนี้ ไม่ใช่พระฉันนะที่นำม้ากัณฐกะส่งเสด็จเมื่อครั้ง เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จ ออกผนวช เป็นคนละรูปกัน มีชื่อพ้องกัน)

          {๗๔๑} [๓๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ก็แลสมัยนั้น ท่านพระฉันนะอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา

          ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่าน พระมหา จุนทะ ถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะดังนี้ว่า “มาไปกันเถิด ท่านจุนทะ พวกเราจักเข้าไปหาท่านพระฉันนะ ถึงที่อยู่ไต่ถามถึง ความเจ็บไข้กัน” ท่านพระมหาจุนทะ รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว

          {๗๔๒} ต่อจากนั้น ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาจุนทะ ได้เข้าไปหา ท่านพระฉันนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ปราศรัยกับท่านพระฉันนะ ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านพระฉันนะดังนี้ว่า “ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านยังพอทน ได้อยู่หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้อยู่หรือ ทุกขเวทนาค่อยทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้น หรือ อาการค่อยคลายลง ไม่รุนแรงขึ้นหรือ”

          ท่านพระฉันนะตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพ ให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลา ลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

          {๗๔๓} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเสียดแทงศีรษะกระผมเหลือกำลัง เหมือนมีคนที่แข็งแรง เอาเหล็กที่แหลมคม กดศีรษะไว้ฉะนั้น ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผม จึงทน ไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมี แต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

          {๗๔๔} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมมีอาการปวดศรีษะเหลือทน เหมือน มีคน ที่แข็งแรงเอาเส้นเชือก ที่เหนียวมัดรัดศีรษะไว้ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผม กล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

          {๗๔๕} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเสียดท้องกระผมเหลือเกิน เหมือนคน ฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญเอามีดสำหรับเชือดโคที่คมกริบ มาเชือดท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผม กล้านักมีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

          {๗๔๖} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ในกายของกระผมเร่าร้อนเหลือกำลัง เหมือนคนที่แข็งแรงสองคน ช่วยกันจับคนที่อ่อนแอกว่าที่แขนคนละข้าง ย่างพลิก ไปมา ที่หลุมถ่านเพลิงฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนา ของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจักใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่เลย”

          {๗๔๗} [๓๙๐] “ท่านฉันนะอย่าได้ใช้ศัสตราฆ่าตัวตายเลย จงอยู่ไปก่อน เถิด พวกเรายังปรารถนา ให้ท่านฉันนะ อยู่ต่อไป ถ้าท่านฉันนะไม่มีโภชนะที่เป็น สัปปายะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีเภสัช ที่เป็นสัปปายะ ผมก็จัก แสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีคนบำรุงที่เหมาะสม ผมก็จักคอยดูแลท่านเอง ท่านฉันนะ อย่าได้ใช้ ศัสตราฆ่าตัวตายเลย จงอยู่ไปก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนา ให้ท่านฉันนะอยู่ต่อไป”

          {๗๔๘} “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจะไม่มีโภชนะที่เป็นสัปปายะ ไม่มี เภสัช ที่เป็นสัปปายะ ไม่มีคนอุปัฏฐากที่เหมาะสมก็หามิได้ ก็แลพระศาสดากระผม ก็ได้ปรนนิบัติ มาแล้วตลอดกาลนาน โดยความพอพระทัย มิใช่โดยความ ไม่พอ พระทัย ความจริงการที่ภิกษุได้ปรนนิบัติพระศาสดา โดยความพอพระทัย มิใช่โดย ความไม่พอพระทัย นั่นเป็นการสมควรแก่สาวกแท้ ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจง ทรงจำไว้อย่างนี้ว่า ‘ฉันนภิกษุจักใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย อย่างที่ไม่ควรถูกตำหนิ”

“พวกเราจักขอถามปัญหาท่านฉันนะสักเล็กน้อย ถ้าท่านฉันนะให้โอกาส ตอบปัญหาได้”

“ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โปรดถามมาเถิด กระผมฟังแล้วจึงจักรู้เอง” พระสารีบุตร ถามปัญหาพระฉันนะ

(พระสารีบุตรสอน เรื่องอัตตา นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)

          {๗๔๙} [๓๙๑] พระสารีบุตรถามว่า “ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านพิจารณาเห็น จักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตา ของเรา’
ท่านพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตาของเรา’ ดังนี้หรือ”

          พระฉันนะตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา
กระผมพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ดังนี้”

          {๗๕๐} [๓๙๒] ‘ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในโสตะ ในโสตวิญญาณ ...
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในฆานะ ในฆานวิญญาณ ...
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ...
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในกาย ในกายวิญญาณ ...
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในมโน ในมโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ดังนี้”

          “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมเห็นความดับรู้ความดับในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วย จักษุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในโสตะ ในโสตวิญญาณ ...
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในฆานะ ในฆานวิญญาณ ...
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ..
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในกาย ในกายวิญญาณ ..
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในมโน ในมโนวิญญาณ   ในธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วย มโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ดังนี้”

(พระจุนทะ ผู้ไม่มีอัตตา ย่อมไม่มีการมาการไป ไม่มีโลกนี้โลกหน้า..ที่สุดแห่งทุกข์)

          {๗๕๑} [๓๙๓] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะได้ กล่าวกะท่านพระฉันนะ ดังนี้ว่า“ดูก่อนท่านฉันนะ เพราะฉะนั้นแล ท่านควรใส่ใจ คำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไว้ตลอดกาล เนืองนิตย์ดังนี้ว่า

บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยอยู่แล้วย่อมมีความหวั่นไหว สำหรับผู้ไม่มีตัณหา และทิฎฐิ อาศัยย่อมไม่มีความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมี ความสงบ ก็ไม่มีตัณหา ตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมา เกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติ และอุบัติ เมื่อไม่มีจุติ และอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละคือที่สุด แห่งทุกข์”

    ครั้นท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะกล่าวสอนท่านพระฉันนะ ด้วยโอวาท นี้ แล้วจึงลุกจากอาสนะหลีกไป

          {๗๕๒} [๓๙๔] ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหา จุนทะ หลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระฉันนะ ได้ใช้ศัสตราฆ่าตัวตายแล้ว

ทันทีนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวาย บังคม พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะ ใช้ศัสตรา ฆ่าตัวตายแล้ว คติของท่านเป็นอย่างไร สัมปรายภพเป็นอย่างไร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนสารีบุตร ฉันนภิกษุพยากรณ์ความเป็นผู้ที่ไม่ควร ถูกตำหนิ(๑) ต่อหน้าเธอแล้วมิใช่หรือ”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีหมู่บ้านในแคว้นวัชชีนามว่า ปุพพชิระ อยู่ที่หมู่บ้านนั้น ท่านพระฉันนะยังมีตระกูลมิตร ตระกูลสหาย และตระกูลคนที่คอยตำหนิ(๒)อยู่”

          {๗๕๓} “ดูก่อนสารีบุตร ฉันนภิกษุยังมีตระกูลมิตร ตระกูลสหาย และ ตระกูลคน ที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่าควรถูกตำหนิ ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ไม่ ดูก่อนสารีบุตร บุคคลใดแลทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้น เราเรียกว่า ‘เป็นผู้ควร ถูกตำหนิ’ ฉันนภิกษุหามีลักษณะนั้นไม่ ฉันนภิกษุใช้ศัสตรา ฆ่าตัวตาย อย่างไม่ควรถูกตำหนิ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรยินดี ชื่นชมพระภาษิต ของ พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล

จบ ฉันโนวาทสูตรที่ ๒

๑ ความเป็นผู้ที่ไม่ควรถูกตำหนิ ในที่หมายถึงการไม่เกิดอีกไม่ปฏิสนธิอีกต่อไป (นัย ม.อุ.อ. ๒๓๗)
๒ ตระกูลคนที่คอยตำหนิ ในที่นี้หมายถึงตระกูลอุปัฏฐากอื่น ๆ ที่ควรเข้าไปหา (ม.อุ.อ. ๒๓๘)



(17)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๙๔

พระสารีบุตรถูกยักษตีศรีษะขณะทำสมาธิ
(๔. ชุณหสูตร)

(พระสูตรนี้เป็นอรรถกถา)

(ย่อ)
พระสารีบุตรถูกยักษตีที่ศรีษะ พระสารีบุตรมองเห็นยักษ์ ด้วยทิพยจักษุ เพราะมีฤทธิ์ แต่ พระสารีบุตร ไม่มีฤทธิ์ จึงมองไม่เห็นยักษ์ พระผู้มีพระภาคทราเรื่องแล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า "จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์ เป็นที่ทั้งแห่งการโกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน"

             [๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้ กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคคัลลานะ อยู่ที่กโปตกันทราวิหาร

        ก็สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งเข้าสมาธิอย่างหนึ่ง อยู่กลางแจ้งในคืน เดือนหงาย

             [๙๔] ก็สมัยนั้น ยักษ์สองสหายออกจากทิศอุดร ไปยังทิศทักษิณ ด้วย กรณียกิจ บางอย่าง ได้เห็นท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งอยู่กลางแจ้ง ในคืนเดือนหงาย ครั้นแล้วยักษ์ตนหนึ่ง ได้กล่าวกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า

        ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะแห่งสมณะนี้ เมื่อยักษ์นั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ยักษ์ผู้เป็นสหายได้ กล่าว กะยักษ์นั้นว่า ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหาร สมณะเลย

       ดูกรสหาย สมณะนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

       แม้ครั้งที่ ๒ ...แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์นั้นก็ได้กล่าวกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า
       ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะ แห่งสมณะนี้

       แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ผู้เป็นสหายก็ได้กล่าวกะยักษ์นั้นว่า
       ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหารสมณะเลย
       ดูกรสหาย สมณะนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

       ลำดับนั้นแล ยักษ์นั้นไม่เชื่อ ยักษ์ผู้เป็นสหาย ได้ประหารที่ศีรษะแห่ง ท่านพระสารีบุตรเถระ ยักษ์นั้น พึงยังพระยาช้างสูงตั้ง ๗ ศอก หรือ ๘ ศอกให้จมลง ไปก็ได้ หรือพึงทำลายยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหารนั้น

        ก็แลยักษ์นั้นกล่าวว่า เราย่อมเร่าร้อน แล้วได้ตกลงไปสู่นรกใหญ่ ในที่นั้นเอง

             [๙๕] ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นยักษ์นั้นประหาร ที่ศีรษะแห่ง ท่าน พระสารีบุตรด้วยจักษุ เพียงดังทิพย์อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ แล้วเข้าไป หา ท่านพระสารีบุตร

        ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรอาวุโส ท่านพึงอดทนได้หรือ พึงยัง อัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกข์อะไรๆ ไม่มีหรือ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรอาวุโส โมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ แต่บนศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง (เจ็บเล็กน้อยที่ศรีษะ)

        ม. ดูกรอาวุโสสารีบุตร น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านพระสารีบุตร มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ยักษ์ตนหนึ่ง ได้ประหารศีรษะของท่านในที่นี้ การประหาร เป็นการประหารใหญ่เพียงนั้น ยักษ์นั้น พึงยังพระยาช้างสูงตั้ง ๗ ศอก ๘ ศอกให้จมลงไปก็ได้ หรือพึงทำลายยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหาร นั้น ก็แลท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอย่างนี้ว่า

        ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ แต่บน ศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง

        สา. ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านมหา โมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากที่เห็นยักษ์ ส่วนผมไม่เห็น แม้ซึ่งปีศาจ ผู้เล่นฝุ่นในบัดนี้

             [๙๖] พระผู้มีพระภาค ได้ทรงสดับการเจรจาปราศรัย เห็นปานนี้ แห่งท่าน มหานาคทั้งสองนั้น ด้วยโสตธาตุ อันเป็นทิพย์ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตธาตุของมนุษย์

            ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ เนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานี้ว่า จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดใน อารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดไม่โกรธเคือง ในอารมณ์ เป็นที่ทั้งแห่งการ โกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน      

คลิกเพื่อขยาย




(18)

ระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้า ๕

ทานสูตร

P354

(พระสารีบุตรทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ให้ทานอย่างไร มีผลมากมีอานิสสงส์มาก และให้ท่านอย่างไร มีผลมากแต่ไม่มีอานิสงส์มาก)

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสก ชาวเมืองจัมปา เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแลและทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี และทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี

สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่อง อุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

------------------------------------------------------------------

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น

(๑)
บุคคลมีความหวังให้ทาน
    มีจิตผูกพันในผล
    ให้ทานมุ่งการสั่งสมให้ทาน
    ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้ว จักได้เสวยผลทานนี้
เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความ เป็นสหายแห่งเทวดาชั้น จาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ แล้ว ยังมีผู้กลับมา คือมา สู่ความเป็น อย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

ดูกรสารีบุตร ส่วนบุคคล
(๒) บางคนในโลกนี้
ไม่มีหวังให้ทาน
    ไม่มีจิตผูกพันในผล
    ให้ทานไม่มุ่งการสั่งสม
    ให้ทานไม่คิดว่าตายไปแล้ว จักได้เสวยผลทานนี้แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี เขาให้ทานคือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและ เครื่องอุปกรณ์แก่สมณะ หรือพราหมณ์

ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้พึงให้ทาน เห็นปานนี้หรือฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพัน ในผล ให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้ว จักได้ เสวยผล ทานนี้ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ เป็นสหายแห่ง เทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี แต่ให้ทาน ด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้ เสียประเพณี เขาให้ทาน คือข้าวฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดา ชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุง หากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่ สมณะ หรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึง ความเป็น สหายแห่ง เทวดาชั้นดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมดความ เป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือมาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าเราหุงหากินได้ สมณะ และพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะ หรือพราหมณ์ ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนก แจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตร ฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือมาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้ จำแนก แจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯและภคุฤาษี แต่ให้ทาน ด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจ และโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็น ผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทาน อย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็น ไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพัน ในผล ให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้ เสวยผล ทานนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดีไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี ไม่ได้ ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทาน แก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า เราจักเป็น ผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่อง ปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ เป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้อง กลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

ดูกรสารีบุตร นี้แลเหตุปัจจัย เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ ให้แล้วมีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ ให้แล้วมีผลมาก มีอานิสงส์มาก



(19)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๘๐

สุสิมสูตรที่ ๙
พระอานนท์ และสุสิมเทพบุตร สรรเสริญพระสารีบุตรว่า เป็นบัณฑิต มีปัญญาหลักแหลม
P1493

(โดยย่อ)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า " เธอชอบสารีบุตรหรือไม่ "
พระอานนท์ และ สุสิมเทพบุตร(เทวดา) กล่าวต่อหน้าพระศาสดา
ว่าพระสารีบุตรเป็น บัณฑิตมีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม
มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียรเป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว

          [๓๐๓] สาวัตถีนิทานฯ ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์เถระเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาท นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอชอบสารีบุตร หรือไม่

          อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คน งมงายไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้ สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียรเป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อ ถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่า ที่ไม่ใช่ คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คน มีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

          [๓๐๔] พ. อย่างนั้นๆ อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร เพราะสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญามีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้ สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทน ต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คน พาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร

          [๓๐๕] ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร(เทวดา) แวดล้อมไปด้วยเทพบุตร บริษัท เป็นอันมากขณะที่พระผู้มีพระภาค และพระอานนท์เถระ กำลังกล่าว สรรเสริญ คุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึง ถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเมื่อยืนเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบ บังคมทูลพระผู้มีพระภาคว่า จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจริง อย่างนั้น พระสุคต อันใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุม เทพบุตรบริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

          [๓๐๖] ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่ง ผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๐๗] แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์ อันงาม โชติช่วง แปดเหลี่ยม อันบุคคล ขัดสีเรียบร้อยแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราวรุ้งร่วง ฉันใดเทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าว สรรเสริญคุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณ แพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๐๘] แท่งทองชมพูนุท เป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันหมั่นใส่เบ้า หลอมไล่จนสิ้นราคีเสร็จแล้ว วางไว้บนผ้ากำพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่ง ปลั่ง ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมี แห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๐๙] ดาวประกายพฤกษ์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆ ในฤดูสรทกาล ย่อมส่องแสงสุกสกาววาวระยับ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของ สุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๑๐] พระอาทิตย์ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดู สรทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ย่อมแผดแสง แจ่มจ้าไพโรจน์ ฉันใดเทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๑๑] ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านพระสารีบุตรว่า ท่านพระสารีบุตรคนรู้จักท่านดีว่า เป็นบัณฑิตไม่ใช่คน มักโกรธ มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงามความดีอัน พระศาสดา ทรงสรรเสริญ เป็นผู้แสวงคุณ

          [๓๑๒] พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตคาถา ตอบสุสิมเทพบุตรปรารภถึงท่าน พระสารีบุตรว่า สารีบุตรใครๆ ก็รู้จักว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความ ปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม อบรม ฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็แต่กาลเป็นที่ปรินิพพาน



(20)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๗๖

เทวตาสูตร
พระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระศาสดา ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเคารพระศาสดา
P261

           [๓๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไป มีรัศมีงาม ยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกับเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
๖ ประการเป็นไฉน คือ
       ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑
       ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑
       ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑
       ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑
       ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑
       ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ เทวดาตนนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาท กระทำประทักษิณเราแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบชัดเนื้อความแห่ง พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ว่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้

(๑) ย่อมเป็นผู้เคารพในพระศาสดาด้วยตนเอง
(๒) กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา
(๓) ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่เคารพในพระศาสดาให้เคารพในพระศาสดา

และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้เคารพในพระศาสดาตามเป็นจริง โดยกาลอันควร
(๔) เป็นผู้เคารพในพระธรรมด้วยตนเอง ฯลฯ
(๕) เป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ด้วยตนเอง ฯลฯ
(๖) เป็นผู้เคารพในสิกขาด้วยตนเอง ฯลฯ
(๗) เป็นผู้ว่าง่ายด้วยตนเอง ฯลฯ
(๘) เป็นผู้มีมิตรดีด้วย ตนเอง
(๙) กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีมิตรดี
(๑๐) ชักชวนภิกษุเหล่าอื่น ผู้ไม่มีมิตรดีให้เป็นผู้มี มิตรดี และกล่าวสรรเสริญภิกษุ เหล่าอื่น ผู้มีมิตรดีตามเป็นจริงโดยกาลอันควร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบชัดเนื้อความแห่ง พระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคได้ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิศดารอย่างนี้แลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ เธอย่อมทราบเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ เป็นการดีแล

ดูกรสารีบุตร เนื้อความแห่งคำที่เราได้กล่าวโดยย่อนี้บัณฑิต พึงเห็นโดยพิสดาร อย่างนี้



(21)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ หน้า ๑๐๗

พระสารีบุตรเตือนภิกษุ ผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริโอตตัปปะ.. เป็นความเสื่อม
นฬกปานสูตรที่ ๑
P511


           [๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงนิคมของชาวโกศลชื่อว่า นฬกปานะ ทราบมาว่าพระผู้มี พระภาค ประทับอยู่ที่ปลาสวัน ใกล้นฬกปานนิคมนั้น ก็สมัยนั้นแลพระผู้มีพระภาค ผู้อันหมู่ ภิกษุแวดล้อม ประทับนั่ง แล้วในวันอุโบสถ

           ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจ หาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา สิ้นส่วนแห่งราตรีเป็นอันมาก ทรงตรวจดูภิกษุ สงฆ์ ผู้นิ่งเงียบอยู่ แล้วตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า

           ดูกรสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะแล้ว ธรรมีกถา เพื่อภิกษุ ทั้งหลาย จงแจ่มแจ้งกะเธอ เราเมื่อยหลัง จักเอนหลัง ท่านพระสารีบุตรกราบทูล รับพระผู้มีพระ ภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิสี่ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัส เบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงกระทำ อุฏฐานสัญญา* ไว้ในพระทัย
*(กำหนดใจว่าจะลุกขึ้น)

           ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ไม่มี โอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย กลางคืน หรือกลางวัน ของผู้นั้นย่อมผ่านพ้นไป ผู้นั้นพึงหวังได้ความเสื่อม ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หวังได้ ความเจริญเลย ฯ

           ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนกลางคืน หรือกลางวันของพระจันทร์ ในกาลปักษ์ ย่อมผ่านพ้นไป พระจันทร์ย่อมเสื่อมจากวรรณะ ย่อมเสื่อมจากมณฑลย่อม เสื่อมจาก แสงสว่าง ย่อมเสื่อมจากด้านยาวและด้านกว้าง ฉันใด ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มี ศรัทธา ใน กุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริไม่มี โอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรม ทั้งหลาย กลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น ย่อมผ่านพ้นไป ผู้นั้นพึงหวังได้ ความเสื่อม ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หวังได้ความเจริญเลย ฉันนั้นเหมือนกัน


ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
คำว่าบุคคล ผู้ไม่มีศรัทธานี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้ไม่มีหิรินี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้ไม่มีโอตตัปปะนี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้เกียจคร้านนี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้มีปัญญาทรามนี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้มักโกรธนี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้ผูกโกรธนี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้มีความปรารถนาลามกนี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้มีมิตรชั่วนี้ เป็นความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้เป็นมิจฉาทิฐินี้ เป็นความเสื่อม ฯ

           ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ มีโอตตัปปะ มีวิริยะ มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย กลางคืน หรือกลางวันของผู้นั้น ย่อมผ่านพ้นไป ผู้นั้นพึงหวังได้ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หวังได้ความเสื่อม เลย

           ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนกลางคืน หรือกลางวันของพระจันทร์ ในปักษ์ ข้างขึ้นย่อม ผ่านพ้นไป พระจันทร์นั้น ย่อมเจริญด้วยวรรณะ ย่อมเจริญด้วย มณฑล ย่อมเจริญด้วยแสงสว่าง ย่อมเจริญด้วยด้านยาวและด้านกว้างฉันใดผู้ใดผู้หนึ่ง มีศรัทธา ในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ มีโอตตัปปะมีวิริยะ มีปัญญาในกุศลธรรม ทั้งหลาย กลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น ย่อมผ่านพ้นไป ผู้นั้นพึงหวังได้ความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หวังได้ความเสื่อมเลย ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
คำว่าบุคคล ผู้มีศรัทธานี้ ไม่ใช่ความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้มีหิรินี้ ไม่ใช่ความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้มีโอตตัปปะนี้ ไม่ใช่ความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้ปรารภ ความเพียรนี้ ไม่ใช่ความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้มีปัญญานี้ ไม่ใช่ความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้ไม่โกรธนี้ ไม่ใช่ความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้ไม่ผูกโกรธนี้ ไม่ใช่ความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้ปรารถนาน้อยนี้ ไม่ใช่ความเสื่อม
คำว่าบุคคล ผู้เป็นสัมมาทิฐินี้ ไม่ใช่ความเสื่อม

           ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสชมท่านพระสารีบุตรว่า ดีละ ดีละสารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย กลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น ย่อมผ่าน พ้นไป ผู้นั้นพึงหวังได้ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายไม่หวังได้ความเจริญเลย

           ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนกลางคืน หรือกลางวันของพระจันทร์ในกาลปักษ์ ย่อมผ่าน พ้นไป พระจันทร์นั้นย่อมเสื่อมจากวรรณะ ย่อมเสื่อมจากมณฑล ย่อมเสื่อม จากแสงสว่าง ย่อมเสื่อม จากด้านยาว และกว้างฉันใด

           ดูกรสารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ฯลฯ ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย กลางคืนหรือ กลางวันของผู้นั้น ย่อมผ่านพ้นไป ผู้นั้น พึงหวังได้ ความเสื่อม ไม่หวังได้ความเจริญเลย ฉันนั้นเหมือนกัน


(23)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๓๕

นิพพานสูตร
ว่าด้วยนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
(พระสารีบุตร กล่าวกับอุทายี และภิกษุทั้งหลาย)
P523

(ย่อ)
ท่านพระสารีบุตร กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข
พระอุทายี : ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร
สารีบุตร : ดูก่อนอาวุโส นิพพานนี้ ไม่มีเวทนา นั่นแหละเป็นสุข


           [๒๓๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทก-นิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตร กล่าวกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้ เป็นสุข เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะ ท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุข ได้อย่างไร.ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส นิพพานนี้ ไม่มีเวทนา นั่นแหละ เป็นสุข

           ดูก่อนอาวุโส กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือรูป ที่จะพึง รู้แจ้งด้วย จักษุอันน่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ เป็นที่รักยั่วยวนชวน ให้กำนัด เสียงที่จะพึง รู้แจ้ง ด้วยหู ฯลฯ กลิ่น ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ รส ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะ ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ ประการนี้แล ดูก่อนอาวุโส สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ประการนี้ นี้เรียกว่า กามสุข.

           ดูก่อนอาวุโสภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ถ้าเมื่อภิกษุ นั้น อยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการ อันสหรคต(1) ด้วยกาม ย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้น เป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้น แก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียนฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยกามเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่าน แก่ภิกษุนั้น ข้อนั้น เป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้น เหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เรียกอาพาธนั้นว่า เป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านจะพึงทราบได้โดย ปริยายแม้นี้.
(1) (สหรคต แปลว่า ไปด้วยกัน ร่วมกัน..)

           อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ เพราะวิตกวิจารสงบไป ถ้าเมื่อ ภิกษุนั้น อยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยวิตกย่อม ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็น อาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้น แก่บุคคลผู้มี ความสุข เพียงเพื่อ เบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยวิตกเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่าน แก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ นั้น ว่าเป็นทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบ ได้โดยปริยาย แม้นี้

           อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุตติยฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหาร-ธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยปีติย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียนฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยปีติ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้

           อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้น อยู่ด้วยวิหาร-ธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอุเบกขาย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอุเบกขา ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็น อาพาธ ของเธอ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก อาพาธนั้นว่า เป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดย ปริยายแม้นี้

           อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ฯลฯ ภิกษุบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่าอากาศไม่มีที่สุด ถ้าเมื่อภิกษุนั้น อยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันหรคตด้วยรูปย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์ พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยรูปย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอาพาธ นั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยาย แม้นี้

           อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้น อยู่ด้วย วิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากาสานัญจายตนะ ย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคล ผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากาสา ณัญจายตนะ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบโดยปริยายแม้นี้

           อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้น อยู่ด้วย วิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยวิญญาณัญจายตนะย่อม ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคล ผู้มี ความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วย วิญญาณัญจา ยตนะ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้ปริยายแม้นี้

           อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อ ภิกษุนั้น อยู่ด้วย วิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนะ ย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคล ผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใดสัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญ จัญญา ยตนะ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มี พระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้

           อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วง เนวสัญญา นาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลายของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกรอาวุโสนิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดย ปริยายแม้นี้



(24)

ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๑๗๓ - ๑๗๕

ผู้เข้าสัญญาเวทยิต หลังกายแตกดับจะไปเกิดที่ไหน(อุทายีเห็นแย้งกับพระสารีบุตร พระผู้มีพระภาคตัดสิน)
P1102


นิโรธสูตร
พระสารีบุตร กล่าวกะ ภิกษุ ท.ว่า ภิกษุในธรรมวินัย ที่ถึงพร้อมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา พึงเข้า สัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจาก สัญญาเวทยิต นิโรธ บ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้
แต่ถ้าเธอยังบรรลอรหันต์ในปัจจุบัน (กายแตกดับเสียก่อน) ย่อมไปเกิดเป็นเทวดาที่มี กวฬิงการาหาร เป็นภักษา (เทวดากามภพที่บริโภคอาหารทิพย์) หรือเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจ แต่พระอุทายีแย้งว่า
นั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนั้น ไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้ แม้พระสารีบุตรจะ กล่าวถึง 3 ครั้ง อุทายีก็แย้งเช่นเดิม จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้ทรงตัดสิน....

พระผู้มีพระภาพตรัสถามอุทายี ซึ่งอุทายีกราบทูลว่า ข้าพระองค์หมายถึง เหล่าเทพชั้นอรูป ที่สำเร็จด้วยสัญญา (ตั้งแต่ชั้นอากาสาขึ้นไป) เมื่ออุทายีตอบเช่นนั้น พระพุทธเจ้าต
รัสว่า
ดูกรอุทายี ไฉนเธอผู้เป็นพาล ไม่ฉลาดจึงได้กล่าวอย่างนั้น เธอเองย่อมเข้าใจ คำที่เธอควรพูด
(คำตอบของอุทายีไม่ถูกต้อง เป็นโมฆบุรุษ)
----------------------------------------------------------

๖. นิโรธสูตร

             [๑๖๖] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า

             ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วย สมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิต นิโรธ บ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าเธอไม่พึงบรรลุอรหัตผลในปัจจุบันไซร้ เธอก็ก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพ ผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่า เทพ ผู้มีฤทธิ์ทางใจ บางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง (เข้าถึงเทวดากามภพ)

             ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระ อุทายี ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร ข้อที่ภิกษุก้าวล่วง ความเป็นสหายเหล่าเทพ ผู้มีกวฬิงการาหาร เป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพ ผู้มีฤทธิ์ ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญา เวทยิต นิโรธบ้าง นั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนั้น ไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้ (อุทายีแย้งพระสารรีบุตร)

แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓
......
             ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรได้คิดว่า ท่านพระอุทายีคันค้านเราถึง ๓ ครั้ง และภิกษุบางรูป ก็ไม่อนุโมทนา (ภาษิต) เรา

พระสารีบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

             ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วย สมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้างพึงออก จากสัญญาเวทยิต นิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าเธอไม่พึงบรรลุอรหัตผล ในปัจจุบันไซร้ เธอก็ก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึง เหล่าเทพ ผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิต นิโรธ บ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่าน พระอุทายี ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า

             ดูกรท่านพระสารีบุตร ข้อที่ภิกษุก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพ ผู้มีกวฬิงการาหาร เป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญา เวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง นั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนั้น ไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้

แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายี ...

             ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้คิดว่า ท่านพระอุทายีคัดค้านเราถึง ๓ ครั้ง แม้เฉพาะ พระภักตร์ แห่งพระผู้มีพระภาค และภิกษุบางรูปก็ไม่อนุโมทนาต่อเรา ผิฉะนั้น เราพึงนิ่งเสีย ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรได้นิ่งอยู่

             ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามท่านพระอุทายีว่า
ดูกรอุทายี ก็เธอย่อมหมายถึงเหล่าเทพ ผู้มีฤทธิ์ทางใจเหล่าไหน ท่านพระอุทายี ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงเหล่าเทพชั้นอรูป ที่สำเร็จด้วยสัญญา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

             ดูกรอุทายี ไฉนเธอผู้เป็นพาล ไม่ฉลาดจึงได้กล่าวอย่างนั้น เธอเอง ย่อมเข้าใจ คำที่เธอควรพูด

             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ไฉน พวกเธอ จักวางเฉย (ดูดาย) ภิกษุผู้เถระซึ่งถูก เบียดเบียน อยู่ เพราะว่าแม้ความ การุณจักไม่มีในภิกษุผู้ฉลาด ซึ่งถูกเบียดเบียนอยู่ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า

             ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
... ข้อนั้นเป็น ฐานะ ที่จะมีได้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงเสด็จลุกจาก อาสนะ เข้าไปยังพระวิหาร ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปหาท่าน พระอุปวาณะ แล้วกล่าวว่า

             ดูกรท่านอุปวาณะ ภิกษุเหล่าอื่นในพระศาสนานี้ ย่อมเบียดเบียนภิกษุ ทั้งหลาย ผู้เถระ พวกเราจะไม่ถามหาภิกษุเหล่านั้น การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จ ออกจาก ที่พักผ่อน ในเวลาเย็น จักทรงปรารภเหตุนั้นยกขึ้นแสดง เหมือนดังที่จะพึง ตรัสกะท่าน อุปวาณะ โดยเฉพาะในเหตุนั้น

             ข้อนั้นไม่เป็นของอัศจรรย์ บัดนี้ ความน้อยใจได้เกิดขึ้นแก่พวกเรา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็นแล้ว เสด็จเข้าไปนั่งที่อุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ตบแต่งไว้ แล้วจึงตรัสถามท่านพระอุปวาณะว่า

             ดูกรอุปวาณะ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอแล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพและเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ท่านพระอุปวาณะ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็น ที่รักเป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ ศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ๑

เธอ เป็นพหุสูต ฯลฯ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑

เธอเป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง ๑

เธอเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑

เธอย่อม ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ๑

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพและเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์

             พ. ดีละๆ อุปวาณะ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็น ที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ถ้าหากว่าธรรม ๕ ประการนี้ไม่พึงมีแก่ภิกษุผู้เถระไซร้ เพื่อนพรหมจรรย์พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ โดยความเป็นผู้มีฟันหัก มีผมหงอก มีหนังย่น อะไรกัน แต่เพราะธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เถระ ฉะนั้นเพื่อนพรหมจรรย์จึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ



(25)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๗๓๒

รับสั่งให้พระโมคคัลลานะกะพระสารีบุตร ทำปัพพาชนียกรรม
(ขับภิกษุออกจากมู่สงฆ์ จากการประพฤติชั่วช้า ประพฤติอนาจาร)
P1330

(ย่อ)
ทรงรับสั่งให้พระสารีบุตร กับ พระโมค ทำปัพพาชนียกรรม (ขับออกจากหมู่) แก่ภิกษุพวก พระอัสสชิ และ พระปุนัพพสุกะ ที่ชนบทกิฏาคีรี เพราะภิกษุพวกนั้น เป็น สัทธิวิหาริก ของเธอ (เป็นอุปัชฌาย์)



        [๖๑๘] ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุพวก พระอัสสชิ และ พระปุนัพพสุกะ โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ทรงกระทำธรรมีกถา รับสั่งกะ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ว่า ไปเถิดสารีบุตร และโมคคัลลานะ พวกเธอไปถึงชนบท กิฏาคีรีแล้ว จงทำปัพพา ชนียกรรม แก่ภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรี เพราะ ภิกษุพวกนั้นเป็น สัทธิวิหาริก ของเธอ

        พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ กราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้า พระพุทธเจ้า จะทำปัพพาชนียกรรม (ขับภิกษุออกจากหมู่) แก่ภิกษุพวก พระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรีได้ด้วย วิธีไรเพราะภิกษุพวกนั้น ดุร้าย หยาบคาย

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร และโมคคัลลานะ ถ้าเช่นนั้น พวกเธอ จงไป พร้อมด้วยภิกษุหลายๆรูป

พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

เหตุที่พระผู้มีพระภาคให้พระสารีบุตร กับพระโมคคัลลานะ ทำปัพพาชนียกรรม มีสาเหตุมาจาก ความประพฤติเลวทราม ประพฤติอนาจาร ....

ทรงสอบถามภิกษุสงฆ์

        [๖๑๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุ เป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ เป็นเจ้าถิ่น ในชนบทกิฏาคีรี เป็นภิกษุอลัชชี เลวทราม ประพฤติอนาจาร เห็นปานดั่งนี้

คือ
ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง
รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง

เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง
ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง
ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง
ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง
ทำดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง
ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง
ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง
ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง
ทำดอกไม้แผงสำหรับประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง

... ประพฤติอนาจารต่างๆ บ้าง เมื่อก่อนชาวบ้านยังมีศรัทธาเลื่อมใส แต่เดี๋ยวนี้เขา ไม่ศรัทธาไม่เลื่อมใสแล้ว แม้ทานประจำของสงฆ์ก่อนๆ

บัดนี้ทายกทายิกา ได้ตัดขาดแล้วภิกษุ มีศีลเป็นที่รัก ย่อมหลีกเลี่ยงไป ภิกษุเลวทราม อยู่ครอง ดังนี้ จริงหรือ?

        ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า



(26)

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๒๘๐

การสนทนาธรรมเรื่องผู้ทำให้ป่างาม
(มหาโคสิงคสาลสูตร)
P1028

(ย่อ)
พระสารีบุตร ได้ตั้งหัวข้อถามกับพระเถระว่า
"ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน สะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้าย ทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็น ปานไร? " (ป่างามด้วยภิกษุ มีคุณสมบัติ เช่นไร)

ความเห็นของ พระเถระสาวก

1.พระอานนท์... ภิกษุเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ
2.พระเรวตะ... ภิกษุเป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น
3.พระอนุรุทธ...ภิกษุ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์
4.พระมหากัสสป..ภิกษุกล่าวสรรเสริญคุณการอยู่ในป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
5.พระโมคคัลลานะ ภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย
6.พระสารีบุตร.. ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด ในเวลาเช้า-เที่ยง-เย็น

พระผู้มีพระภาค
ดูกรสารีบุตร คำของพวกเธอทั้งหมด เป็นสุภาษิตโดยปริยายก็แต่พวกเธอจงฟังคำของเรา คำถามว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วย ภิกษุ เห็นปานไรนั้น

เราตอบว่า
ดูกรสารีบุตร ภิกษุในศาสนานี้ กลับจากบิณฑบาต ในเวลา หลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรา ยังไม่หมด ความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพียงใด เราจักไม่ทำลาย บัลลังก์นี้ เพียงนั้น ดังนี้ ดูกรสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วย ภิกษุเห็นปานนี้ แล



             [๓๖๙] สมัย หนึ่ง พระเถระสาวก (๕ รูป) คือ ท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระเรวตะ และท่านพระอานนท์ ได้ชวนกัน ไปหาท่าน พระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม เมื่อถึงแล้วท่านพระสารีบุตร ได้ตั้งหัวข้อถามกับ ทุกคน ดังนี้ว่า

             [๓๗๐] "ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน สะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงาม ด้วยภิกษุเห็น ปานไร?" (ป่างามด้วยภิกษุมีคุณสมบัติเช่นไร)

             ความเห็นพระอานนท์"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ... สดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดี แล้วด้วยความเห็น ภิกษุนั้น แสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ ... ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

             [๓๗๑] ความเห็นพระเรวตะ"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความหลีกเร้น เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่ห่างเหินแล้ว ประกอบด้วย วิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

             [๓๗๒] ความเห็นพระอนุรุทธ"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลก พันหนึ่งด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงาม ด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

             [๓๗๓] ความเห็นพระมหากัสสป"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ กระทำตนเอง และกล่าว สรรเสริญคุณการอยู่ในป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุล เป็นวัตร ถือไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้สงัด ไม่คลุกคลี ปรารถความเพียร ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา ถึงพร้อม ด้วยวิมุติ ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณ ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

             [๓๗๔] ความเห็นพระโมคคัลลานะ "ภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนานี้ กล่าว อภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย และธรรมกถาของเธอทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

             [๓๗๕] ความเห็นพระสารีบุตร"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ ยังจิตให้เป็นไปใน อำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด ในเวลา เช้า-เที่ยง-เย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้น ได้ในเวลาเช้า-เที่ยง-เย็น ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

             [๓๗๖] ลำดับนั้น ท่านสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านผู้มีอายุเหล่านั้นดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ปฏิภาณตามที่เป็นของตนๆ พวกเราทุกรูปพยากรณ์แล้ว มาไป กันเถิด พวกเราจักเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ

             ครั้นแล้ว จักกราบทูลเนื้อความนี้ แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์ แก่พวกเราอย่างใด พวกเราจัก ทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น. ท่านผู้มี อายุเหล่านั้น รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว...

             [๓๘๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า คำของใครหนอเป็นสุภาษิต?

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร คำของพวกเธอทั้งหมด เป็นสุภาษิต โดยปริยาย ก็แต่พวกเธอจงฟังคำของเรา คำถามว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วย ภิกษุเห็น ปานไรนั้น เราตอบว่า

             "ดูกรสารีบุตร ภิกษุในศาสนานี้ กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น ยังไม่ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น ดังนี้ ดูกรสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล



(27)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๕ – ๗๙

มหาปรินิพพานสูตร (๒)
พระสารีบุตรสรรเสริญพระผู้มีพระภาคว่า สมณะหรือพราหมณ์ ผู้อื่น ไม่มีใครรู้เกินพระองค์
P625

(ย่อ)
เสด็จไปยัง นาฬันทคาม
ประทับที่ป่าวาทิกอัมพวัน พระสารีบุตรเข้าเฝ้า ว่าเลื่อมใสพระองค์ เป็นอย่างยิ่ง ไม่มีสมณะ พราหมณ์ ไม่มีใครๆ รู้เกินกว่า พระองค์ไปได้ ซึ่งพระองค์กล่าว (เชิงตำหนิ) ว่าเธอกล่าว อาสภิวาจา (คำกล่าวที่อาจหาญ่) อันยิ่งนี้ เธอถือเอาส่วนเดียว(คิดเอง) ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีญาณ เพื่อกำหนดรู้ ซึ่งในใจพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน

                ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด  เราจักไปยังบ้าน นาฬันทคาม

      ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านนาฬันทคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใน ป่าวาทิกอัมพวัน ในบ้านนาฬันทคาม นั้น

      ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้นเข้าไปเฝ้า แล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตร นั่งเรียบร้อยแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มี  พระภาคอย่างนี้ว่า สมณะ หรือพราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในทางสัมโพธิญาณมิได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ ฯ

      พ. ดูกรสารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา (เรื่องที่ยิ่งใหญ่ คำกล่าวที่อาจหาญ่) อันยิ่งนี้ เธอถือเอาส่วนเดียว บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสใน พระผู้มีพระภาค อย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ ผู้อื่น ซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในทาง พระสัมโพธิญาณ มิได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้

      ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ซึ่งได้มีแล้ว ในอดีตกาลอันเธอกำหนดซึ่งใจด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น มีศีลอย่างนี้ แล้ว แม้เพราะเหตุนี้มีธรรมอย่างนี้แล้ว มีปัญญา อย่างนี้แล้ว มีวิหารธรรม อย่างนี้แล้ว มีวิมุตติ อย่างนี้แล้ว แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ

      ส. มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

      ดูกรสารีบุตร ก็พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ซึ่งจักมีใน อนาคตกาล อันเธอกำหนดซึ่งใจด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จักเป็นผู้ มีศีล อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรม อย่างนี้ มีวิมุตติ อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ ฯ

      ส.มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

      ดูกรสารีบุตร ก็เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ อันเธอกำหนด ซึ่งใจ ด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ มีธรรมอย่างนี้  มีปัญญา อย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ

      มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

      ดูกรสารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีญาณ เพื่อกำหนดรู้ซึ่งในใจพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ในบัดนี้ อย่างไรเล่า เธอจึงได้ กล่าวอาสภิวาจาอันยิ่งนี้ เธอถือเอาส่วนเดียว บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่ พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า สมณะหรือ พราหมณ์ ผู้อื่น ซึ่งจะรู้เกินไป กว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ มิได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ฯ

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้ซึ่งใจในพระ อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน แต่ว่าข้าพระองค์  รู้แนวธรรม ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ปัจจันตนคร ของพระราชามีประตูมั่นคง มีกำแพง และ เสาระเนียดมั่นคง มีประตูช่อง เดียวคนเฝ้าประตูพระนครนั้น เป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา ห้ามคนที่ไม่รู้จัก ปล่อยคน ที่รู้จักให้เข้าไปได้ เขาเดินตรวจดูหนทาง ตามลำดับ โดยรอบพระนครนั้น ไม่เห็นที่หัวประจบ แห่งกำแพง หรือช่องกำแพง โดยที่สุดแม้เพียงแมวลอดออกได้ เขาพึงมีความรู้สึกว่า สัตว์ที่ ตัวโต ทุกชนิดจะ เข้าออกนครนี้ ย่อมเข้าออกโดยประตูนี้ แม้ฉันใด แนวแห่งธรรม ก็ฉันนั้น เหมือนกัน

      ข้าพระองค์รู้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้มีแล้วในอดีตกาล ทุกพระองค์ ทรงละนิวรณ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ ทุรพล มีพระทัยตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความ เป็นจริง ตรัสรู้พระอนุตร สัมมาสัมโพธิญาณ แล้วแม้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ที่จักมีในอนาคตกาลทุกพระองค์ จักทรงละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้า หมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัยตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้  

      พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัย ตั้งมั่นดีแล้ว ใน สติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง ตรัสรู้พระ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

      ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในปาวาทิกอัมพวัน ในบ้านนาฬันทา แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีลอย่างนี้ สมาธิอย่างนี้ ปัญญาสมาธิ อันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอัน สมาธิอบรม แล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากอาสวะ โดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ



(28)

อริยวินัย หน้า 613

ทรงรับสั่งกะพระสารีบุตร จงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวก อัสสชิ ที่ดุร้ายหยาบคาย
เรื่องภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ
P613


             [๘๗] พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์… ทรงสอบถาม… ทรงติเตียน… รับสั่งกะ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ว่าไปเถิดสารีบุตร และโมคคัลลานะ พวกเธอไปถึงชนบทกิฏาคีรีแล้ว จงทำปัพพาชนียกรรม แก่ภิกษุพวกอัสสชิ และ ปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรี เพราะภิกษุพวกนั้น เป็นสัทธิวิหาริกของพวกเธอ.

พวกข้าพระพุทธเจ้า จะทำปัพพาชนียกรรม แก่ภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรี ได้ด้วยวิธีไร เพราะภิกษุพวกนั้น ดุร้ายหยาบคาย พระพุทธเจ้าข้า.

ดูกรสารีบุตร และโมคคัลลานะ ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงไปพร้อมด้วยภิกษุหลายๆ รูป.
อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า.

วิธีทำปัพพาชนียกรรม (การโจทก์ประจาน)

             [๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลปัพพาชนียกรรม พึงทำ อย่างนี้ คือ พึงโจทภิกษุพวกอัสสชิ และปุนัพพสุกะก่อน ครั้นแล้วพึง ให้พวกเธอให้การ แล้วพึงปรับอาบัติ ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ จตุตถกรรม วาจา



(29)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๗๙  ข้อที่ ๔๙๓ – ๔๙๔

การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ พระสารีบุตร กับ โกฏฐิกะ
มหาเวทัลลสูตร
P362

             [๔๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะ* ออกจากที่หลีกเร้น แล้วจึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่ ได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการทักทายปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
*(พระไตรปิฏกบางฉบับเขียนเป็น พระมหาโกฏฐิตะ)

เรื่องปัญญากับวิญญาณ

             ท่านพระมหาโกฏฐิกะครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามท่านพระสารีบุตร ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลมีปัญญาทรามๆดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงไรหนอ จึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญาทราม? (คนปัญญาทรามเป็นอย่างไร)
             ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านผู้มีอายุบุคคลไม่รู้ชัดๆ เพราะฉะนั้นพระผู้มี พระภาค จึงตรัสว่าเป็นบุคคลมีปัญญาทราม ไม่รู้ชัดอะไร ไม่รู้ชัดว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ไม่รู้อริยสัจสี่) บุคคลไม่รู้ชัดๆ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญาทราม.
...........................................................................................................
             ท่านพระมหาโกฏฐิกะ ยินดีอนุโมทนาภาษิต ของท่านพระสารีบุตรว่า ถูกละท่านผู้มีอายุ ดังนี้แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า
             ดูกรท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลมีปัญญาๆดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงไรหนอจึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญา? (คนมีปัญญาในความหมายนี้เป็นอย่างไร)
            .(สารีบุตร). ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลรู้ชัดๆเพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่าเป็นบุคคลมีปัญญา รู้ชัดอะไร รู้ชัดว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญา.
............................................................................................................
            . (โกฏฐิกะ). ดูกรท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าวิญญาณๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ จึงตรัสว่าวิญญาณ? (วิญญาณคืออะไร)
              สา. ธรรมชาติที่รู้แจ้งๆ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่าวิญญาณ รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งว่านี้สุข นี้ทุกข์ นี้มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ธรรมชาติย่อมรู้แจ้งๆ เพราะ ฉะนั้นจึงตรัสว่าวิญญาณ.
............................................................................................................
             ก. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ปะปนกันหรือแยกจากกัน ท่านผู้มีอายุอาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้หรือไม่? (ปัญญากับวิญญาณ ปนกัน หรือแยกกันอย่างไร)
             สา. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน ผมไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณ ก็รู้แจ้งสิ่งนั้น วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น ฉะนั้นธรรม ๒ ประการนี้ จึงปะปนกันไม่แยกจากกัน ผมไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้.
............................................................................................................
             . ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ปะปนกันไม่แยกจากกัน แต่มีกิจที่จะพึงทำต่างกันบ้างหรือไม่? (ปัญญากับวิญญาณทำหน้าที่กันอย่างไร)
             สา. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกันไม่แยกจากกัน แต่ปัญญาควรเจริญ วิญญาณควรกำหนดรู้ นี่เป็นกิจที่จะพึงทำต่างกันแห่งธรรม ๒ ประการนี้.
............................................................................................................
เรื่อง เวทนา สัญญา และ วิญญาณ

               ก. พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเวทนาๆดังนี้ ด้วยเหตุเพียง ไรหนอจึงตรัสว่า เวทนา? (เวทนาคืออะไร)
             สา. ธรรมชาติที่รู้ๆเพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เวทนารู้อะไร รู้สุขบ้าง รู้ทุกข์บ้าง รู้สิ่งที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง ธรรมชาติย่อมรู้ๆ ฉะนั้นจึงตรัสว่า เวทนา
............................................................................................................
             ก. พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสัญญาๆดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ จึงตรัสว่า สัญญา? (สัญญาคืออะไร)
             สา. ธรรมชาติที่จำๆ ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัญญา จำอะไร จำสีเขียว บ้าง จำสีเหลืองบ้าง จำสีแดงบ้าง จำสีขาวบ้าง ธรรมชาติย่อมจำๆ ฉะนั้น จึงตรัสว่าสัญญา
............................................................................................................
             . เวทนา สัญญา และวิญญาณ ธรรม ๓ ประการนี้ ปะปนกัน หรือแยกจากกัน ท่านผู้มีอายุ อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้หรือไม่?
             สา. เวทนา สัญญา และวิญญาณ ธรรม ๓ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกันผม ไม่อาจ แยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้ เพราะเวทนา รู้สิ่งใด สัญญาก็จำสิ่งนั้น สัญญาจำสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น ฉะนั้นธรรม ๓ ประการนี้ จึงปะปนกัน ไม่แยกจากกันผมไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่ อันต่างกันได้.
............................................................................................................
               ก. พระโยคาวจร* มีมโนวิญญาณ (จิตอันสัมปยุตด้วย รูปาวจรฌานที่ ๔) อันสละแล้ว อันบริสุทธิ์จากอินทรีย์ ๕ พึงรู้สิ่งอะไร?
             สา. พระโยคาวจรมีมโนวิญญาณอันสละแล้ว อันบริสุทธิ์ จากอินทรีย์ ๕
             พึงรู้อากาสานัญจายตนฌานว่า อากาศหาที่สุดมิได้
             พึงรู้วิญญาณัญจายตนฌานว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้
             พึงรู้อากิญจัญญายตนฌานว่า น้อยหนึ่งมิได้มี.

* (พระโยคาวจร คือ ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร ทำความเพียรเผากิเลส ผู้เจริญภาวนา)
............................................................................................................
เรื่องประโยชน์แห่งปัญญาและเหตุเกิดสัมมาทิฏฐิ

             . พระโยคาวจร ย่อมรู้ธรรมอันตนพึงรู้ด้วยอะไร?
             สา. พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมอันตนพึงรู้ด้วยปัญญาจักษุ.
............................................................................................................
             ก. ปัญญา มีอะไรเป็นประโยชน์?
             สา. ปัญญา มีความรู้ยิ่ง เป็นประโยชน์
                     
ปัญญา มีความกำหนดรู้ เป็นประโยชน์
                    
 ปัญญา มีความละ เป็นประโยชน์.

............................................................................................................
               ก. ก็ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มีเท่าไร?    
               สา.
ธรรม ๒ ประการ คือ
             
ความได้สดับ แต่บุคคลอื่น ๑
            
ความทำในใจ โดยแยบคาย ๑ เป็นปัจจัย เพื่อความเกิดขึ้นแห่ง สัมมาทิฏฐิ ธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นปัจจัยเมื่อความ เกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ.
............................................................................................................
             ก. สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผล และมีผลคือเจโตวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีผลคือปัญญาวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรมเท่าไร อนุเคราะห์แล้ว?
             สา. สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผล และมีผลคือ เจโตวิมุติ เป็น อานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีผลคือปัญญาวิมุติ เป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรม ๕ ประการ อนุเคราะห์แล้ว คือ
             สัมมาทิฏฐิ อันศีลอนุเคราะห์แล้ว ๑
             อันสุตะอนุเคราะห์ แล้ว ๑
             อันสากัจฉา
(การสนทนา) อนุเคราะห์ แล้ว ๑
             อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว ๑
             อันวิปัสสนา อนุเคราะห์แล้ว ๑

สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผล และมีผลคือเจโตวิมุติ เป็นอานิสงส์ ด้วย มีปัญญาวิมุติ เป็นผล และมีผลคือ ปัญญาวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรม ๕ ประการนี้แล อนุเคราะห์แล้ว.
............................................................................................................
เรื่องภพและฌาน

             ก. ภพมีเท่าไร?
             สา. ภพมี ๓ คือ กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ.
............................................................................................................
             . ความเกิดในภพใหม่ในอนาคต มีได้อย่างไร?
             สา. ความยินดียิ่งในอารมณ์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกีดกัน
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ความเกิดในภพใหม่ในอนาคตมีได้อย่างนี้.
............................................................................................................
            . ความเกิดในภพใหม่ในอนาคต จะไม่มีอย่างไร?
             สา. เพราะความสิ้นแห่งอวิชชา เพราะความเกิด ขึ้นแห่งวิชชาและ
เพราะความดับแห่งตัณหาอย่างนี้ความเกิดในภพใหม่ในอนาคตจึงจะไม่มี.

............................................................................................................
               ก. ปฐมฌาน เป็นไฉน?
             สา. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ฌานนี้พระผู้มีพระภาค ตรัสว่าปฐมฌาน.
............................................................................................................
             . ปฐมฌาน มีองค์เท่าไร?
             สา. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก ๑.. วิจาร ๑.. ปีติ ๑.. สุข ๑.. เอกัคคตา*ย่อมเป็นไปแก่ภิกษุผู้เข้าปฐมฌานมีองค์ ๕ ปฐมฌานมีองค์ ๕ อย่างนี้แล.
* (มีอารมณ์เดียว)
............................................................................................................
             ก. ปฐมฌานละองค์เท่าไร ประกอบด้วยองค์เท่าไร?
             สา. ปฐมฌานละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
                  เข้าปฐมฌาน ละกามฉันท์ได้แล้ว
                  ละพยาบาทได้แล้ว ละถีนมิทธะได้แล้ว
                  ละอุทธัจจ กุกกุจจะได้แล้ว
                  ละวิจิกิจฉาได้แล้ว
                  มีวิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑ เป็นไปอยู่
                  ปฐมฌานละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล.

............................................................................................................
เรื่องอินทรีย์ ๕

              ก. อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ
                  จักขุนทรีย์ ๑
                  โสตินทรีย์ ๑
                  ฆานินทรีย์ ๑
                  ชิวหินทรีย์ ๑
                  กายินทรีย์ ๑
                  มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัย อันเป็นโคจรของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกัน และกัน จะมีอะไรเป็นที่อาศัย และธรรมอะไรรับรู้วิสัย อันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์ เหล่านั้น?
             สา. อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอัน เป็นโคจร ของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕ เหล่านี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้ วิสัยอันเป็น โคจรของกันและกัน มีใจเป็นที่อาศัยจย่อมรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่ง อินทรีย์ เหล่านั้น
............................................................................................................
               ก. อินทรีย์ ๕ ประการ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ อินทรีย์ ๕ นี้ อาศัยอะไรตั้งอยู่?
             สา. อินทรีย์ ๕ ประการนี้นั้น คือจักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ อาศัยอายุ (ชีวิตินทรีย์) ตั้งอยู่.
............................................................................................................
             ก. อายุ อาศัยอะไรตั้งอยู่?
             สา. อายุ อาศัยไออุ่น (ไฟที่เกิดแต่กรรม)ตั้งอยู่.
............................................................................................................
             ก. ไออุ่น อาศัยอะไรตั้งอยู่?
             สา. ไออุ่น อาศัยอายุตั้งอยู่.
............................................................................................................
             . ผมรู้ทั่วถึงภาษิตของพระสารีบุตรผู้มีอายุในบัดนี้เองอย่างนี้ว่า อายุ อาศัยไออุ่นตั้งอยู่ และว่าไออุ่นอาศัยอายุตั้งอยู่ แต่ผมจะพึงเห็นความแห่งภาษิต นี้ได้อย่างไร?
             สา. ถ้าเช่นนั้น ผมจักทำอุปมาแก่คุณ เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมทราบความแห่งภาษิตได้แม้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันกำลังติดไฟอยู่ แสงสว่างอาศัยเปลวปรากฏอยู่ เปลวก็อาศัยแสงสว่างปรากฏอยู่ฉันใด อายุอาศัย ไออุ่น ตั้งอยู่ ไออุ่นก็อาศัยอายุตั้งอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน
............................................................................................................
             ก. อายุสังขาร (อายุ ชีวิตินทรีย์) กับเวทนียธรรม (เวทนา) เป็นอันเสมอกัน หรือว่าอายุสังขารกับเวทนียธรรมเป็นคนละอย่าง?
             สา. อายุสังขารกับเวทนียธรรม ไม่ใช่อันเดียวกัน (ถ้า) อายุสังขารกับ เวทนียธรรม เป็นอันเดียวกันแล้ว การออกจากสมาบัติของภิกษุ ผู้เข้าสัญญาเวทยิต นิโรธ ก็ไม่พึงปรากฏ แต่เพราะอายุสังขารกับเวทนียธรรมเป็นคนละอย่าง ฉะนั้น การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ จึงปรากฏอยู่
............................................................................................................
              ก.ในเมื่อธรรมเท่าไรละกายนี้ไป กายนี้ก็ถูกทอดทิ้ง นอนนิ่ง เหมือน ท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา?
             สา. ในเมื่อธรรม ๓ ประการ คือ อายุ ไออุ่น และวิญญาณ ละ กายนี้ไป กายนี้ก็ถูกทอดทิ้ง นอนนิ่ง เหมือนท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา.
............................................................................................................
             ก. สัตว์ผู้ตายทำกาละไป กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีความแปลก กันอย่างไร?
             สา. สัตว์ผู้ตายทำกาละไป มีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตสังขารดับระงับ ไป มีอายุหมดสิ้นไป มีไออุ่นสงบ มีอินทรีย์แตกทำลาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิต นิโรธ มีกายสังขารวจีสังขาร และจิตสังขารดับ ระงับไป แต่มีอายุยังไม่หมดสิ้น มีไอ อุ่นยังไม่สงบ มีอินทรีย์ผ่องใส สัตว์ผู้ตายทำกาละไป กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิต นิโรธ มีความแปลกกัน ฉะนี้.
............................................................................................................
เรื่องปัจจัยเจโตวิมุติ

               ก. ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติ อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีเท่าไร?
             สา.ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติ อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุขมี ๔ อย่าง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสในก่อนเสียได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ปัจจัยแห่ง สมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มี ๔ อย่าง ดังนี้แล.
............................................................................................................
             ก. ปัจจัยแห่งสมาบัติ ที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีเท่าไร?
             สา. ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่างคือ การไม่ มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ การมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑ ปัจจัยแห่ง สมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่าง ดังนี้แล.
............................................................................................................
             . ปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของ เจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีเท่าไร?
             สา. ปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๓ อย่าง คือการไม่ มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ การมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑ อภิสังขาร (ความกำหนดระยะกาล)ในเบื้องต้น ๑ ปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของเจโตวิมุติ อันไม่มี นิมิต มี ๓ อย่าง ดังนี้แล.
............................................................................................................
             ก. ปัจจัยแห่งความออก ของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีเท่าไร?
             สา. ปัจจัยแห่งความออก ของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่างคือการ มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ การไม่มนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑ ปัจจัยแห่งความออกของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่าง ดังนี้แล.
............................................................................................................
               ก. เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีประมาณ เจโตวิมุติมีอารมณ์ ว่า ไม่มีอะไรๆ เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิตธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกันต่างกันแต่เพียง พยัญชนะเท่านั้น?
             สา. เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีประมาณ เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มี อะไรๆ เจโตวิมุติ มีอารมณ์อันว่าง เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต ปริยายที่บ่งว่าธรรม เหล่านี้ มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกันก็มี และปริยายที่บ่งว่า ธรรมเหล่านี้ มีอรรถ อย่างเดียวกันต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้นก็มี.
............................................................................................................
             ก็ปริยายที่บ่งว่า ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกันเป็น ไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไป สู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และมีจิตสหรคต ด้วยเมตตาอันกว้างขวางเป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไป สู่โลกหมดทุกส่วน เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง ในที่ทุกสถานทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง อยู่ดังนี้
             มีจิตสหรคตด้วยกรุณา ...มีจิตสหรคตด้วยมุทิตา ... มีจิตสหรคต ด้วยอุเบกขา
แผ่ไปสู่ที่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่าง นั้นแผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกหมด ทุกส่วน เพื่อประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวง ในที่ทุกสถาน ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง อยู่ดังนี้ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโตวิมุติมีอารมณ์อันหาประมาณมิได้.
............................................................................................................
             เจโตวิมุติมีอารมณ์ว่าไม่มีอะไรๆ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ล่วงวิญญา ณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรๆ อยู่ ดังนี้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโตวิมุติมีอารมณ์ว่าไม่มี อะไรๆ.
             เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดีไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นว่า สิ่งนี้ว่างจากตนบ้าง จากสิ่งที่เนื่อง ด้วย ตนเอง ดังนี้ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง.
             เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเจโต สมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโต วิมุตติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต.
............................................................................................................
             ดูกรผู้มีอายุ นี้แลปริยายที่บ่งว่า ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะ ต่างกัน. ก็ปริยายที่บ่งว่า ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียง พยัญชนะเท่านั้นเป็นไฉน? ราคะอันทำประมาณ โทสะอันทำประมาณ โมหะอันทำ ประมาณ ราคะเป็นต้นนั้น อันภิกษุผู้ขีณาสพ ละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาด แล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังว่าต้นตาลแล้ว ทำไม่ให้มีต่อไปแล้วมีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา.

             เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ ท่านกล่าวว่า เลิศกว่าเจโตวิมุติมีอารมณ์ ไม่มี ประมาณทั้งหมด เจโตวิมุติอันไม่กำเริบนั้นแล ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจาก โมหะ. ราคะอันเป็น เครื่องกังวล โทสะอันเป็นเครื่องกังวล โมหะอันเป็นเครื่องกังวล ราคะเป็นต้นนั้น อันภิกษุผู้ขีณาสพละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้ง ดังว่า ต้นตาลแล้ว ทำไม่ให้มีต่อไปแล้ว มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.

             เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ ท่านกล่าวว่า เลิศกว่าเจโตวิมุติอันมีอารมณ์ ว่าไม่มี อะไรๆทั้งหมด. เจโตวิมุติอันไม กำเริบนั้นแล ว่างจากราคะว่างจากโทสะ ว่างจาก โมหะ. ราคะอันทำนิมิต โทสะอันทำนิมิต โมหะอันทำนิมิต ราคะเป็นต้นนั้น อันภิกษุผู้ ขีณาสพละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังว่าต้นตาลแล้ว ทำไม่ให้มี ต่อไปแล้ว มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.

             เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ ท่านกล่าวว่า เลิศกว่าเจโตวิมุติมีอารมณ์อัน ไม่มีนิมิต เจโตวิมุติอันไม่กำเริบนั้นแล ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ

             ดูกรผู้มีอายุ นี้แลปริยายที่บ่งว่า ธรรมเหล่านี้ มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกัน แต่เพียงพยัญชนะเท่านั้น.

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวแก้ปัญหานี้แล้ว ท่านพระมหาโกฏฐิกะชื่นชมยินดี ภาษิตของ ท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล.

จบ มหาเวทัลลสูตร ที่ ๓

ดูพระสูตรโดยย่อ



(30)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๑๑๐

การปฏิบัติที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ตถาคตก็เคยหลงผิดมาแล้ว
P699

วาทะและทิฏฐิ

                [๑๘๖] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ อย่างนี้ มีทิฏฐิ อย่างนี้ว่า

         ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยอาหาร พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า
เราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] ถั่วเขียว ฯลฯ
พวกเราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] งา ฯลฯ
พวกเราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสาร ดังนี้
พวกเขาเคี้ยวกิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารบ้างข้าวสารป่นบ้าง ดื่มน้ำ [ประมาณเท่าเมล็ด] ข้าวสาร ย่อมบริโภค [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารที่จัดทำให้แปลก มีประการมิใช่น้อยบ้าง

           ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้สึกว่ากิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้น

           ดูกรสารีบุตร เธอจะพึงมีความสำคัญว่า ข้าวสารในสมัยนั้น ชะรอยจะเมล็ด ใหญ่เป็นแน่ ข้อนี้ เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น ข้าวสารที่เป็นขนาดใหญ่ นั้นเทียว ก็มีเมล็ดเท่าข้าวสารในบัดนี้ (เมล็ดข้าวในสมัยก่อนกับสมัยนี้มีขนาดเท่ากัน)

           ดูกรสารีบุตร เมื่อเรากิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้น
ร่างกาย ก็ถึงความซูบผอมยิ่งนัก อวัยวะน้อยใหญ่ของเรา เปรียบเหมือนเถาวัลย์ ที่ข้อมาก และข้อดำ เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง

           ตะโพกของเรา เปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ เพราะความที่เรามีอาหารน้อย นั่นเอง กระดูก สันหลังของเรา นูนขึ้นเป็นปุ่มๆ เหมือนเถาสะบ้า เพราะความ ที่เรามีอาหารน้อย นั่นเอง

         กระดูกซี่โครงของเราเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลงเห็นปรากฏ เหมือนกลอนแห่ง ศาลาเก่า เหลื่อมกัน ฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง

         ดวงตาของเราลึกเข้าไปในเบ้าตา เหมือนเงาดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำ อันลึก ฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง

         หนังศีรษะของเราอันลมถูกต้องแล้ว ก็เหี่ยวแห้ง เปรียบเหมือนน้ำเต้าขม ที่ถูกตัด ขั้ว แต่ยังอ่อน อันลมแดดสัมผัสแล้ว ย่อมเป็นของเหี่ยวแห้งไป ฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง

           ดูกรสารีบุตร เรานั้นแล คิดว่าจะลูบคลำผิวหนังท้อง ก็คลำถูกกระดูก สันหลัง ทีเดียว คิดว่า จะลูบคลำกระดูกสันหลัง ก็คลำถูกผิวหนังท้องทีเดียว ดูกรสารีบุตร ผิวหนังท้องของเรา ติดกระดูกสันหลัง เพราะความที่เรามีอาหารน้อย นั่นเอง

         เรานั้นคิดว่า จะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะก็ซวนล้ม ณ ที่นั้นเอง เพราะความ ที่เรา มีอาหารน้อยนั่นเอง

*เรานั้นเมื่อจะยังร่างกายให้คล่องแคล่วก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนตั้งหลาย มีรากอันเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง.

*(หนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ แปลไว้ดังนี้ : ราชกุมาร ! ตถาคตหวังจะให้กายมี ความสุขบ้าง จึงลูบไปตามตัวด้วยฝุามือ ขนมีรากอันเน่าหลุดตกลงจากกาย)

     ดูกรสารีบุตร ด้วยการปฏิบัติอย่างไม่มีใครสู้แม้นั้น ด้วยปฏิปทาแม้นั้นด้วยความ เพียรที่กระทำได้แสนยากนั้น เราก็ไม่ได้บรรลุธรรมอันยิ่ง ของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ

(การอดอาหารที่ทำได้ยากแสนยาก แต่ก็ยังไม่บรรลุธรม จึงเป็นเหตุให้พระองค์ตัดสินใจมา กินอาหารหยาบ คือข้าวสุก และขนมสด อ่านพระสูตรเต็ม)

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

         เพราะมิใช่ปฏิปทาที่เป็นเหตุบรรลุปัญญาอันประเสริฐปัญญานี้แล ที่ซึ่งเราได้ บรรลุแล้ว เป็นของประเสริฐ นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบ แห่ง บุคคลผู้ กระทำอยู่ตามนั้น.

                [๑๘๗] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ อย่างนี้ ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เรา ไม่เคย ท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นสิ่งที่ หาไม่ได้ง่าย นัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะ ไม่พึงมาสู่โลกนี้ อีก.

                [๑๘๘] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ อย่าง นี้ว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยอุบัติ ดูกรสารีบุตร ความอุบัติที่เราไม่เคย เข้าถึงแล้ว โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นของหาไม่ได้ ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงอุบัติในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็ไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก.

                [๑๘๙] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ อย่างนี้ว่าความหมดจดย่อมมีได้ด้วยอาวาส ดูกรสารีบุตร ก็อาวาสที่เราไม่เคยอยู่ อาศัยแล้ว โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นของหาไม่ได้ ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงอยู่อาศัยในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็ไม่พึงมาสู่โลก นี้อีก.

                [๑๙๐] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ อย่างนี้ ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยการบูชายัญ ดูกรสารีบุตร ก็ยัญที่เราไม่เคย บูชาแล้ว โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เป็นของหาไม่ได้ง่ายนัก แต่ยัญนั้นอันเราเป็น พระราชา ผู้เป็น กษัตริย์ได้มูรธาภิเษก หรือเป็นพราหมณ์ผู้มหาศาลจึงบูชา.

                [๑๙๑] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ อย่างนี้ว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยการบำเรอไฟ ดูกรสารีบุตร ก็ไฟที่เราไม่เคย บำเรอแล้ว โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เป็นของหาไม่ได้ง่ายนัก แต่ไฟนั้น อันเราเป็น พระราชาผู้เป็น กษัตริย์ได้มูรธาภิเษก หรือเป็นพราหมณ์ผู้มหาศาลจึงบำเรอ.

                [๑๙๒] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ อย่างนี้ ว่า บุรุษรุ่นหนุ่มผู้เจริญนี้ มีเกศาดำสนิท ประกอบด้วยวัยหนุ่มอันเจริญ ประกอบด้วย ปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่งสมกับวัยต้น ต่อมา บุรุษผู้เจริญนี้ เป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า ถือเอาซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยโดยลำดับ คือ มีอายุถึง ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง โดยชาติ ย่อมเสื่อมจากปัญญาความ เฉลียวฉลาดนั้น ในภายหลัง

           ดูกรสารีบุตร ข้อนี้ เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็บัดนี้เราเป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า ถือเอาซึ่ง ความเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยโดยลำดับ อายุของเราแปดสิบปีเข้านี่แล้ว สาวก บริษัททั้ง ๔ ของเราในธรรมวินัยนี้ มีอายุถึงร้อยปี เป็นอยู่ได้ตั้งร้อยปี ประกอบด้วย สติ คติ ธิติ อันยอดเยี่ยม และปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง

           ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนนักธนูมั่นคง ได้รับการฝึกหัดแล้ว ช่ำชอง ชำนิ ชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้ว พึงยิงงวงตาลโดยขวางให้ตกลง ด้วยลูกศร ขนาดเบา โดย ง่ายดาย แม้ฉันใด สาวกบริษัท ๔ ของเราเป็นผู้มีสติอันยิ่ง มีคติอันยิ่ง มีปัญญา ทรงจำ อันยิ่ง ประกอบ ด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ฉันนั้น

         พวกเธอพึงถามปัญหาอิง สติปัฏฐาน ๔ กะเรา เราถูกถามปัญหาแล้วๆ พึงพยากรณ์ แก่พวกเธอ พวกเธอพึงทรงจำคำที่เราพยากรณ์แล้ว โดยเป็นคำ พยากรณ์ มิได้สอบถาม เราให้ยิ่งกว่า ๒ ครั้ง เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจาก การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับและบรรเทาความเมื่อยล้า

           ดูกรสารีบุตร ธรรมเทศนาของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น บทและพยัญชนะ แห่งธรรม ของ ตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น ความแจ่มแจ้งแห่งปัญหาของตถาคตนั้น ไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเป็น ดังนั้นสาวกบริษัท ๔ ของเราเหล่านั้น จึงมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี พึงกระทำกาละโดยล่วงไปแห่ง ๑๐๐ ปี

           ดูกรสารีบุตร ถ้าแม้พวกเธอจะพึงหามเราไปด้วยเตียงน้อย ความเป็นอย่างอื่น แห่งปัญญา เฉลียวฉลาดของตถาคต ย่อมไม่มีเลย

           ดูกรสารีบุตร บุคคลเมื่อจะกล่าว โดยชอบพึงกล่าวคำใดว่า สัตว์ผู้มีความไม่ ลุ่มหลง เป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่ชนเป็นมาก เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าว คำนั้น กะเราเท่านั้นว่าสัตว์ ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่ชนเป็น อันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้.










พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์