เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 การสนทนาธรรมเรื่องผู้ทำให้ป่างาม (มหาโคสิงคสาลสูตร) 1028
 
 


พระสารีบุตร ได้ตั้งหัวข้อถามกับพระเถระว่า

"ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน สะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้าย ทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็น ปานไร? " (ป่างามด้วยภิกษุ มีคุณสมบัติ เช่นไร)

ความเห็นของ พระเถระสาวก

1.พระอานนท์... ภิกษุเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ
2.พระเรวตะ... ภิกษุเป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น
3.พระอนุรุทธ...ภิกษุ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์
4.พระมหากัสสป..ภิกษุกล่าวสรรเสริญคุณการอยู่ในป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
5.พระโมคคัลลานะ ภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย
6.พระสารีบุตร.. ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด ในเวลาเช้า-เที่ยง-เย็น

พระผู้มีพระภาค
ดูกรสารีบุตร คำของพวกเธอทั้งหมด เป็นสุภาษิตโดยปริยายก็แต่พวกเธอจงฟังคำของเรา คำถามว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วย ภิกษุ เห็นปานไรนั้น

เราตอบว่า
ดูกรสารีบุตร ภิกษุในศาสนานี้ กลับจากบิณฑบาต ในเวลา หลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรา ยังไม่หมด ความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพียงใด เราจักไม่ทำลาย บัลลังก์นี้ เพียงนั้น ดังนี้ ดูกรสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วย ภิกษุเห็นปานนี้ แล.

   เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
   การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
   การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
   แสวงหาสัจจะ บำเพ็ญทุกรกิริยา
   ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
   ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
   ปลงสังขาร ปรินิพพาน
   ลำดับขั้นการปรินิพพาน
   เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
   แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๒๘๐

การสนทนาธรรมเรื่องผู้ทำให้ป่างาม (มหาโคสิงคสาลสูตร)

(พระสูตรย่อ)

        [๓๖๙] สมัย หนึ่ง พระเถระสาวก (๕ รูป) คือ ท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระเรวตะ และท่านพระอานนท์ ได้ชวนกัน ไปหาท่าน พระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม เมื่อถึงแล้วท่านพระสารีบุตร ได้ตั้งหัวข้อถามกับ ทุกคน ดังนี้ว่า

        [๓๗๐] "ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน สะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็น ปานไร?" (ป่างามด้วยภิกษุมีคุณสมบัติเช่นไร)

        ความเห็นพระอานนท์
"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ... สดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น ภิกษุนั้น แสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ... ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

        [๓๗๑] ความเห็นพระเรวตะ
"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่ห่างเหินแล้ว ประกอบด้วย วิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

        [๓๗๒] ความเห็นพระอนุรุทธ
"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

        [๓๗๓] ความเห็นพระมหากัสสป
"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ กระทำตนเองและกล่าวสรรเสริญคุณการอยู่ในป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนา น้อย เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้สงัด ไม่คลุกคลี ปรารถความเพียร ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อม ด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา ถึงพร้อมด้วยวิมุติ ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณ ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

        [๓๗๔] ความเห็นพระโมคคัลลานะ
"ภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย และธรรมกถาของเธอทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

        [๓๗๕] ความเห็นพระสารีบุตร
"ภิกษุ ในพระศาสนานี้ ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจและไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า-เที่ยง-เย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้น ได้ในเวลาเช้า-เที่ยง-เย็น ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

        [๓๗๖] ลำดับนั้น ท่านสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านผู้มีอายุเหล่านั้นดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ปฏิภาณตามที่เป็นของตนๆ พวกเราทุกรูปพยากรณ์แล้ว มาไปกันเถิด พวกเราจักเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ

        ครั้นแล้ว จักกราบทูลเนื้อความนี้ แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรง พยากรณ์ แก่พวกเราอย่างใด พวกเราจัก ทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น. ท่านผู้มี อายุเหล่านั้น รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว...

        [๓๘๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า คำของใครหนอเป็นสุภาษิต?

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรสารีบุตร คำของพวกเธอทั้งหมด เป็นสุภาษิตโดยปริยาย ก็แต่พวกเธอจงฟังคำ ของเรา คำถามว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็น ปานไรนั้น เราตอบว่า

        "ดูกรสารีบุตร ภิกษุในศาสนานี้ กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรายังไม่หมดความ ถือมั่น ยังไม่ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น ดังนี้ ดูกรสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล."

        พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.

จบ มหาโคสิงคสาลสูตร ที่ ๒


(พระสูตรเต็ม)

ฟังเสียงอ่านพระสูตร

๒. มหาโคสิงคสาลสูตร
การสนทนาธรรมเรื่องผู้ทำให้ป่างาม


        [๓๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระสาวก ผู้เถระ ซึ่งมีชื่อเสียงมากรูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวกผู้เถระ ซึ่งมีชื่อเสียงอื่นๆ

     ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไปหาท่าน พระมหากัสสป ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า มาไปกันเถิด ท่านกัสสป เราจักเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ท่านพระมหากัสสป รับคำท่าน พระ มหาโมคคัลลานะแล้ว

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป และท่านพระอนุรุทธ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่าน พระมหา โมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป และท่านพระอนุรุทธเข้าไปหาท่าน พระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม

ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาท่านพระเรวตะแล้วกล่าวกะท่านพระเรวตะว่า ท่านเรวตะ ท่านสัปบุรุษพวกโน้น กำลังเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม มาไปกันเถิด ท่านเรวตะ เราจักเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ท่านพระเรวตะรับคำท่าน พระอานนท์แล้ว ลำดับนั้น ท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์ เข้าไปหาท่าน พระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม.

        [๓๗๐] ท่านพระสารีบุตร ได้เห็นท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์ กำลังเดินมาแต่ไกลครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์จงมาเถิด ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค มาดีแล้ว ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน สะพรั่ง ทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงาม ด้วยภิกษุเห็นปานไร?

ความเห็นพระอานนท์ (๑)
     ท่านพระอานนท์ตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรง สุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็น ปานนั้น อันภิกษุนั้นสดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่ง ด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและ พยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัยท่านพระสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระเรวตะ (๒)
        [๓๗๑] เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะ ท่านพระเรวตะว่า ท่านเรวตะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอานนท์พยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรี แจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

     ท่านพระเรวตะตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความหลีกเร้น เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่ห่างเหินแล้ว ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระอนุรุทธ (๓)
        [๓๗๒] เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่าน พระอนุรุทธว่า ท่านอนุรุทธ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านเรวตะพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราขอถามท่านอนุรุทธในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่ม กระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอนุรุทธ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

     ท่านอนุรุทธตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่ง ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ขึ้นปราสาท อันงดงามชั้นบน พึงแลดูมณฑลแห่งกงตั้งพันได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระมหากัสสป (๔)
        [๓๗๓] เมื่อท่านพระอนุรุทธกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะ ท่าน พระมหากัสสปดังนี้ว่า ท่านกัสสป ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอนุรุทธ พยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราขอขอถามท่านกัสสปในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถาน น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านกัสสป ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

     ท่านพระมหากัสสปตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ตนเองอยู่ในป่า เป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรด้วย ตนเองเที่ยว บิณฑบาต เป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาต เป็นวัตร ด้วย ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรด้วย ตนเอง ถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตรด้วย ตนเอง เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ เป็นผู้มีความ ปรารถนาน้อยด้วย ตนเองเป็นผู้สันโดษ

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วย ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความสงัดด้วย ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความ ไม่คลุกคลี ด้วยตนเอง เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการ ปรารภความเพียรด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วย ปัญญาและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วย ตนเอง เป็นผู้ถึง พร้อมด้วยวิมุติ

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมวิมุติด้วย ตนเอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระมหาโมคคัลลานะ (๕)
        [๓๗๔] เมื่อท่านพระมหากัสสปกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าว กะท่าน พระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า ท่านโมคคัลลานะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านมหากัสสปพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านมหาโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุ เห็นปานไร?

     ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย และธรรมกถาของเธอทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

ความเห็นพระสารีบุตร
        [๓๗๕] ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตร ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร ปฏิภาณตามที่เป็นของเรา อันเราทั้งหมดพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านสารีบุตร ในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

     ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระศาสนานี้ ยังจิตให้เป็นไป ในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติ ใดในเวลา เช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น เปรียบเหมือนผอบผ้าของ พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมแล้ว เป็นสีต่างๆพระราชา หรือราชมหาอำมาตย์นั้น

หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเช้า ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเช้า หวังจะห่มคู่ผ้า ชนิดใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใด ในเวลาเย็น ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเย็น ฉันใด ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่ เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า

หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

        [๓๗๖] ลำดับนั้น ท่านสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านผู้มีอายุเหล่านั้นดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฏิภาณตามที่เป็นของตนๆ พวกเราทุกรูปพยากรณ์แล้ว มาไปกันเถิด พวกเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้ว จักกราบทูล เนื้อความนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์แก่พวกเราอย่างใด พวกเราจักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น. ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตร แล้ว.

เข้าเฝ้าพระพุทธองค์

     ลำดับนั้น ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วท่านพระสารีบุตร ได้กราบทูลดังนี้ว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม ข้าพระองค์ได้เห็นท่าน พระเรวตะ และท่านพระอานนท์กำลังเดินมาแต่ไกลครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่าน พระอานนท์ ดังนี้ว่า

ท่านอานนท์ จงมาเถิด ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้ พระผู้มีพระภาค มาดีแล้ว ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไปท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว

ท่านพระอานนท์(๑) ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นพหูสูต
เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่าใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้นสดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัยท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร อานนท์ เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า อานนท์ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรม เหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันอานนท์นั้น สดับมากแล้ว ทรงไว้แล้วสั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วย ความเห็น อานนท์นั้น แสดงธรรมแก่บริษัท ๔ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัย.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
        [๓๗๗] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ ได้กล่าวกะท่านพระเรวตะดังนี้ว่า ท่านเรวตะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอานนท์ พยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว

ท่านพระเรวตะ (๒)ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า
ท่าน สารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความ หลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร เรวตะเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึง พยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า เรวตะ เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความ หลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่เหินห่าง ประกอบ ด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

        [๓๗๘] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ ได้กล่าว กะพระอนุรุทธดังนี้ว่า ท่านอนุรุทธ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านเรวตะ พยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านอนุรุทธในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถาน น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอนุรุทธ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว

ท่านพระอนุรุทธ(๓) ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่ง ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีจักษุ ขึ้นปราสาทอันงดงามชั้นบน พึงแลดู มณฑลแห่งกง ตั้งพันได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่ง ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร อนุรุทธ เมื่อจะพยากรณ์โดย ชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า อนุรุทธ ย่อมตรวจดูโลกตั้งพันด้วย ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

        [๓๗๙] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระอนุรุทธกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ ได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปดังนี้ว่า ท่านกัสสป ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านพระอนุรุทธพยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านมหากัสสปในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่างไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านกัสสป ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุ เห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว

ท่านมหากัสสป (๔) ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่าท่าน สารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ตนเองอยู่ในป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรด้วย ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาต เป็นวัตร ด้วย ตนเองถือผ้า บังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือ ผ้าบังสุกุลเป็นวัตรด้วย ตนเองเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความเป็นผู้ถือ ไตรจีวร เป็นวัตรด้วย ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยด้วย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วย ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดด้วย ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วย ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเองเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยวิมุติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุติด้วย ตนเอง เป็นผู้ถึง พร้อม ด้วยวิมุตติ ญาณทัสสะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อม ด้วยวิมุตติ ญาณทัสสนะด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร กัสสป เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า กัสสป ตนเองเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตร และกล่าว สรรเสริญ คุณ แห่งความเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรด้วย ตนเองเที่ยว บิณฑบาต เป็นวัตร และกล่าว สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตรด้วย ตนเองถือผ้าบังสุกุล เป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ เป็นผู้ถือบังสุกุล เป็นวัตรด้วย ตนเองถือไตร จีวร เป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือ ไตรจีวร เป็นวัตรด้วย ตนเอง เป็นผู้มีความ ปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความเป็นผู้มีความ ปรารถนา น้อยด้วย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญ คุณ แห่งความเป็นผู้สันโดษ ด้วยตนเอง เป็นผู้สงัด

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัดด้วย ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าว สรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วย ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าว สรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย ปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วย ตนเองเป็นถึงพร้อม ด้วยวิมุติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุติด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณ ทัสสนะด้วย.

        [๓๘๐] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระมหากัสสปกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ ได้ กล่าวกะท่านมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า ดูกรท่านโมคคัลลานะ ปฏิภาณตามที่เป็น ของตน ท่านพระมหากัสสปพยากรณ์แล้ว เราจะขอถามท่านโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ดูกรท่านโมคคัลลานะป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงาม ด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว

ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูปในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกัน และกัน ถามปัญหากัน แล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วยและธรรมกถา ของเธอทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย ดูกรท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุ เห็นปานนี้ แล.

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร โมคคัลลานะ เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบพึง พยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า โมคคัลลานะ เป็นธรรมกถึก.

        [๓๘๑] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ในลำดับต่อไป ข้าพระองค์ได้ กล่าวกะท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ดูกรท่านสารีบุตร ปฏิภาณตามที่เป็นของตน เราทั้งหมดพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ดูกรท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วย ภิกษุ เห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์ กล่าวอย่างนี้แล้ว

ท่านพระสารีบุตร ได้ตอบข้าพระองค์ ดังนี้ว่า ดูกรท่านโมคคัลลานะ ภิกษุใน พระศาสนานี้ ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวัง จะอยู่ ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า

เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ ในเวลา เที่ยง เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ ในเวลาเย็น เปรียบเหมือนผอบผ้าของพระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ ซึ่งเต็มด้วยผ้า ที่ย้อม เป็นสีต่างๆ พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใด ในเวลาเช้า ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเช้า หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเย็น ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเย็น ฉันใด

ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วย วิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า เธอหวังจะอยู่ ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง เธอหวัง จะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น ฉันนั้น เหมือนกัน ดูกรท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล.

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ โมคคัลลานะ สารีบุตร เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า สารีบุตรยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไป ตามอำนาจของจิตเธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัติ นั้น ได้ในเวลาเช้า เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัติ นั้นได้ในเวลาเที่ยง เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหาร สมาบัติใด ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วย วิหารสมาบัตินั้น ได้ในเวลาเย็น.

พระพุทธโอวาท

        [๓๘๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล พระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า คำของใครหนอเป็นสุภาษิต?

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร คำของพวกเธอทั้งหมด เป็นสุภาษิตโดย ปริยายก็แต่พวกเธอจงฟังคำของเรา คำถามว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วย ภิกษุ เห็นปานไรนั้น เราตอบว่า ดูกรสารีบุตร ภิกษุในศาสนานี้ กลับจากบิณฑบาต ในเวลา หลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรา ยังไม่หมด ความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลาย บัลลังก์นี้ เพียงนั้น ดังนี้ ดูกรสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้ แล.
     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.

จบ มหาโคสิงคสาลสูตร ที่ ๒

 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์