เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
เรื่องพระสารีบุตร หน้า 1/5 1481
  P1481 P1482 P1483 P1484 P1485
รวมพระสูตร พระสารีบุตร
 

(โดยย่อ)
(1) พระอัสสชิพบกับพระสารีบุตร(ปริพาชกโกลิตะ) P403
(2) พระอัสสชิเถระแสดงธรรมแก่สารีบุตรปริพาชก เกิดดวงตาเห็นธรรม P403
(3) โมคคัลลานและสารีบุตรปริพาชก ออกจากสำนักสัญชัยพร้อมสาวก 250 คน P403
(4) โกลิตะ(สารีบุตร)และอุปติสสะ (โมคคัลลานะ)จะเป็นสาวกผู้เยี่ยมของเรา P403
(5) การเข้าสมาธิ ๙ ระดับของพระสารีบุตร P316
(6) พระสารีบุตรสำเร็จอรหันต์ ขณะนั่งถวายงานพัด P1479
(7) พระสารีบุตรเห็นพระโมคคัลลานะผิวพรรณผ่องใส M104
(8) พระสารีบุตรถูกกล่าวหาว่าบันลือสีหนาท P1086
(9) พระผู้มีพระภาคตัดสินการบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร P1086
(10) พระสารีบุตรลุกขึ้น กระทบพระศาสดา โดยไม่กล่าวขอโทษ P232
(11) พระผู้มีพระภาค ตำหนิภิกษุที่กล่าวตู่พระสารีบุตร P232
(12) พระสารีบุตรเดินจงกรมกับภิกษุผู้มีปัญญามาก สัตว์ย่อมคบค้าสมาคมกันโดยธาต P710
(13) ศิษย์พระโมคและสารีบุตรถูกผู้มีพระภาคประณามว่าส่งเสียงดังราวกะชาวประมงแย่งปลา P917
(14) การปรินิพพานของพระสารีบุตร : จุนทสูตร (พุทธวจน หน้า 733)
(15) บุคลผู้ประเสริฐของโลก 6 จำพวก (ฉักกนิทเทส) P503


เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

 


(1)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้า ๕๖ - ๖๒

พระอัสสชิ พบกับ พระสารีบุตร (ปริพาชกโกลิตะ)
(P403)

              [๖๔] ก็โดยสมัยนั้นแล สญชัยปริพาชก อาศัยอยู่ในพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ จำนวน ๒๕๐ คน. ก็ครั้งนั้น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพาชก.

               ท่านทั้งสองได้ทำกติกากันไว้ว่า ผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อนผู้นั้น จงบอกแก่ อีกคนหนึ่ง. ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิ นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขนน่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ.

              สารีบุตรปาริพาชกได้เห็นท่านพระอัสสชิ กำลังเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครราชคฤห์ มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขนเหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ

               ครั้นแล้วได้มีความดำริว่าบรรดาพระอรหันต์ หรือท่านผู้ได้บรรลุ พระอรหัตมรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหา ภิกษุรูปนี้ แล้วถามว่า ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่าน ชอบใจธรรม ของใคร? แล้วได้ดำริต่อไปว่า ยังเป็นกาลไม่สมควรจะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่าน กำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้น เราพึงติดตามภิกษุรูปนี้ ไปข้างหลังๆ เพราะเป็นทางอันผู้มุ่งประโยชน์ทั้งหลายจะต้องสนใจ.

               ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ถือบิณฑบาต กลับไป. จึงสารีบุตรปริพาชกเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ ถึงแล้วได้พูดปราศรัยกับท่าน พระอัสสชิ ครั้นผ่านการพูดปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.

               สารีบุตรปริพาชกยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคำนี้ กะท่าน พระอัสสชิว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวช เฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?

              อ. มีอยู่ ท่าน พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกทรงผนวชจาก ศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น
              สา. ก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร?

              อ. เราเป็นคนใหม่บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจ แสดงธรรม แก่ท่านได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ.
              สา. น้อยหรือมากนิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.



(2)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้า ๕๖ - ๖๒

พระอัสสชิเถระแสดงธรรมแก่สารีบุตร ปริพาชก
(P403)

              [๖๕] ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิ ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่ สารีบุตร ปริพาชก ว่าดังนี้:- ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดง เหตุแห่งธรรม เหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้.

สารีบุตรปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม

              [๖๖] ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับไปเป็นธรรมดา ได้เกิดขึ้นแก่สารีบุตรปริพาชก ธรรมนี้แหละถ้ามีก็เพียงนี้ เท่านั้น ท่านทั้งหลายจงแทงตลอดบทอันหาความโศกมิได้ บทอันหาความโศก มิได้นี้ พวกเรายังไม่เห็นล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัลป์.

สารีบุตรปริพาชก เปลื้องคำปฏิญญา

              [๖๗] เวลาต่อมา สารีบุตรปริพาชกเข้าไปหาโมคคัลลานปริพาชก. โมคคัลลานปริพาชก ได้เห็นสารีบุตรปริพาชกเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ถามสารีบุตร ปริพาชกว่า ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วกระมังหนอ?
              สา. ถูกละ ผู้มีอายุ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว (บรรลุโสดาบัน)
              โมค. ท่านบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร ด้วยวิธีไร?

              สา. ผู้มีอายุ วันนี้เราได้เห็นพระอัสสชิ กำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนคร ราชคฤห์ มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว เหยียดแขน คู้แขน น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ ครั้นแล้วเราได้มีความดำริว่า บรรดา พระอรหันต์ หรือท่านผู้ได้บรรลุอรหัตมรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้ แล้วถามว่าท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดา ของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร เรานั้นได้ยั้งคิดว่า ยังเป็นกาลไม่สมควร จะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่านยังกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้นเราพึง ติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลังๆ เพราะเป็นทางอันผู้มุ่งประโยชน์ทั้งหลายจะต้องสนใจ

               ลำดับนั้น พระอัสสชิเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ถือบิณฑบาต กลับไปแล้ว ต่อมา เราได้เข้าไปหาพระอัสสชิ ครั้นถึงแล้ว ได้พูดปราศรัยกับ พระอัสสชิ ครั้นผ่านการพูดปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เรายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคำนี้ ต่อพระอัสสชิว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวช เฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?

               พระอัสสชิตอบว่า มีอยู่ ท่านพระมหาสมณะศากยบุตรเสด็จออกทร งผนวชจาก ศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราได้ถาม พระอัสสชิ ต่อไปว่า ก็พระศาสดาของชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราได้ถามพระอัสสชิ ต่อไปว่าก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไรแนะนำอย่างไร?

               พระอัสสชิตอบว่า เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัย นี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่าน ได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ เราได้เรียนว่า น้อยหรือมาก นิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.

              [๖๘] ผู้มีอายุ ครั้งนั้น พระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ ว่าดังนี้
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับ
แห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้.


โมคคัลลานปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม
(บรรลุโสดาบัน)

              [๖๙] ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจาก มลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับไปเป็น ธรรมดา ได้เกิดขึ้นแก่โมคคัลลานปริพาชก ธรรมนี้แหละ ถ้ามีก็เพียงนี้เท่านั้น ท่านทั้งหลายจงแทงตลอดบทอันหาความโศกมิได้ บทอันหา ความโศกมิได้นี้ พวกเรายังไม่เห็น ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัลป์.



(3)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้า ๕๖ - ๖๒

โมคคัลลานและสารีบุตรปริพาชกออกจากสำนักสัญชัย
(P403)

              [๗๐] ครั้งนั้น โมคคัลลานปริพาชกได้กล่าวชักชวนสารีบุตรปริพาชกว่า ผู้มีอายุ เราพากันไปสำนักพระผู้มีพระภาคเถิด เพราะพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระศาสดาของเรา.

               สารีบุตรปริพาชกกล่าวว่าผู้มีอายุปริพาชก ๒๕๐ คนนี้อาศัยเรา เห็นแก่เรา จึงอยู่ในสำนักนี้ เราจงบอกกล่าวพวกนั้นก่อน พวกนั้นจักทำตามที่เข้าใจ.

               ลำดับนั้น สารีบุตรโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้น ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้ต่อพวกปริพาชกนั้นว่า ท่านทั้งหลาย เราจะไปในสำนัก พระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระศาสดาของเรา.

               พวกปริพาชกตอบว่า พวกข้าพเจ้าอาศัยท่าน เห็นแก่ท่านจึงอยู่ในสำนัก นี้ ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ พวกข้าพเจ้าทั้งหมด ก็จัก ประพฤติ พรหมจรรย์ในพระมหาสมณะด้วย.

               ต่อมา สารีบุตรโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปหาท่านสญชัยปริพาชก ครั้นถึงแล้วได้เรียนว่า ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปในสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะ พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระศาสดาของพวกกระผม สญชัยปริพาชกพูดห้ามว่า อย่าเลย ท่านทั้งหลายอย่าไปเลย เราทั้งหมด ๓ คนจักช่วยกันบริหารคณะนี้.

                แม้ครั้งที่ ๒ ...

                แม้ครั้งที่สาม สารีบุตรโมคคัลลานะได้กล่าวคำนี้ต่อสญชัยปริพาชกว่า ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปในสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคนั้นเป็น พระศาสดา ของพวกกระผม.

              สญชัยปริพาชกพูดห้ามว่าอย่าเลย ท่านทั้งหลาย อย่าไปเลย เราทั้งหมด ๓ คนจักช่วยกันบริหารคณะนี้.

              ครั้งนั้น สารีบุตรโมคคัลลานะ พาปริพาชก ๒๕๐ คนนั้น มุ่งไปทาง ที่จะไป พระวิหารเวฬุวัน. ก็โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปาก สญชัยปริพาชก ในที่นั้นเอง.



(4)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้า ๕๖ - ๖๒

ทรงพยากรณ์โกลิตะและอุปติสสะ จะเป็นสาวกผู้เยี่ยมของเรา
(P403)

              [๗๑] พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตร โมคคัลลานะ มาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหาย สองคน นั้น คือโกลิตะ(ชื่อเดิมพระสารีบุตร) และ อุปติสสะ (ชื่อเดิมพระโมคคัลลานะ) กำลังมานั่น จักเป็นคู่สาวกของเราจักเป็นคู่อัน เจริญชั้นเยี่ยมของเรา ก็สหายสองคน นั้น พ้นวิเศษแล้ว ในธรรมอันเป็นที่สิ้นอุปธิ อันยอดเยี่ยม มีญาณวิสัยอันลึกซึ้ง ยังมาไม่ทันถึงพระวิหารเวฬุวัน พระศาสดา ทรงพยากรณ์ ว่าดังนี้ สหายสองคนนี้คือ โกลิตะ และ อุปติสสะ กำลังมานั่น จักเป็นคู่ สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญ ชั้นเยี่ยมของเรา.

เข้าเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท

              [๗๒] ครั้งนั้นสารีบุตรโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ซบเศียรลงที่พระบาทของผู้มีพระภาค แล้วทูลขอบรรพชา อุปสมบท ต่อพระผู้มีพระภาคว่าขอพวกข้าพระพุทธเจ้า พึงได้บรรพชา พึงได้ อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าข้า.

              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัส ต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุด ทุกข์ โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุ เหล่านั้น.



(5)

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๙๑

การเข้าสมาธิ ๙ ระดับของพระสารีบุตร
(อนุปทวรรค)
(P316)

๑. อนุปทสูตร (๑๑๑)

         [๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระดำรัสแล้ว

         [๑๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็น บัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มีปัญญาร่าเริง มีปัญญาว่องไว มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาทำลายกิเลส ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเห็นแจ้ง ธรรมตามลำดับบทได้เพียง กึ่งเดือน ในการเห็นแจ้งธรรม ตามลำดับบท ของสารีบุตรนั้น เป็นดังต่อไปนี้

         [๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ สารีบุตรสงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ก็ธรรมใน ปฐมฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญาเจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตร รู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และถึงความดับ เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เราย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรม นั้นๆ มีใจอันกระทำ ให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัด ออก ยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่

         [๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตร เข้า ทุติยฌาน มีความผ่องใส แห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตก และวิจารไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ อยู่ ก็ธรรมในทุติยฌาน คือความผ่องใสแห่งใจภายใน ปีติ สุข จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญาเจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และถึงความดับ เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เราย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้ว ในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดน ได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรม เครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่

         [๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรเป็นผู้วางเฉย เพราะหน่าย ปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุข ด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะ เรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่ เป็นสุข อยู่ ก็ธรรมในตติยฌานคือ อุเบกขา สุข สติ สัมปชัญญะ จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญาเจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตร รู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่าธรรมที่ไม่มีแก่เราย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วใน ธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่อง สลัดออก ยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออก นั้นให้มาก ก็มีอยู่

         [๑๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตร เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่ ก็ธรรมในจตุตถฌาน คือ อุเบกขาอทุกขมสุขเวทนา ความไม่คำนึงแห่งใจ เพราะบริสุทธิ์แล้ว สติบริสุทธิ์ จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะสติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตร กำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดีไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดน ได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออก นั้นให้มาก ก็มีอยู่

         [๑๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตร เข้าอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด อยู่ เพราะล่วง รูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการ นานัตตสัญญา ก็ธรรมในอากาสานัญจายตนฌาน คือ อากาสานัญจายตนสัญญา จิตเตกัคคตา ผัสสะเวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขามนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่าธรรม ที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจาก เขตแดน ได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็น ต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่

         [๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรล่วง อากาสานัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่าวิญญาณไม่มีที่สุด อยู่ ก็ธรรมในวิญญาณัญจายตนฌาน คือ วิญญาณัญจายตนฌาน จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่ายังมีธรรมเครื่องสลัดออก ยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่

         [๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรล่วง วิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรสักน้อยหนึ่ง อยู่ ก็ธรรมในอากิญจัญญายตนฌาน คือ อากิญจัญญายตนฌาน จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่าธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้ว ในธรรมนั้นๆ มีใจอัน กระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่ายังมีธรรม เครื่องสลัดออก ยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออก นั้น ให้มาก ก็มีอยู่ฯ

         [๑๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตร ล่วงอากิญจัญญาย ตนฌาน โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ เธอเป็นผู้มีสติ ออกจากสมาบัตินั้น ครั้นแล้ว พิจารณาเห็นธรรมที่ล่วงแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆมีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดน ได้แล้วอยู่ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออก ยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่

         [๑๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรล่วง เนวสัญญา นาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง แล้วเข้า สัญญา เวทยิตนิโรธ อยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญอาสวะของเธอจึงเป็นอันสิ้นไป เธอย่อม มีสติออกจาก สมาบัตินั้น ครั้นแล้วย่อมพิจารณาเห็นธรรมที่ล่วงแล้ว ดับแล้ว แปรปรวน ไปแล้วว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เราย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วใน ธรรมนั้นๆมีใจ อันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่อง สลัดออก ยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่าผู้ที่ทำเครื่องสลัดออก นั้นให้มาก ก็มีอยู่

         [๑๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชมภิกษุรูปใดว่า เป็นผู้ถึง ความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยศีล ในอริยสมาธิ ในอริยปัญญา ในอริยวิมุติ ภิกษุรูปนั้นคือ สารีบุตรนั่นเอง ผู้ที่กล่าวชอบ พึงกล่าวชมว่า เป็นผู้ถึง ความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยศีล ในอริยสมาธิในอริยปัญญา ในอริยวิมุติ

         [๑๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชมภิกษุรูปใดว่า เป็นบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่ธรรมอัน ธรรมเนรมิต เป็นธรรมทายาท ไม่ใช่เป็นทายาทของอามิส ภิกษุรูปนั้น คือสารีบุตร นั่นเอง ที่ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชมว่า เป็นบุตรเป็นโอรสของ พระผู้มีพระภาคเกิดแต่ พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่ธรรม อันธรรมเนรมิต เป็นธรรมทายาท ไม่ใช่เป็น ทายาทของอามิส

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรย่อมประกาศธรรมจักร อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่ตถาคตให้เป็นไปแล้ว ไปตามลำดับโดยชอบทีเดียว

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค แล

จบ อนุปทสูตร ที่ ๑



(6)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๐๔-๒๐๘

พระสารีบุตรสำเร็จอรหันต์
๔. ทีฆนขสูตร เรื่องทีฆนขปริพาชก ตรัสกับอัคคิเวสนะ
(P1479)

              [๒๗๔] ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร นั่งถวายอยู่งานพัด ณ เบื้อง พระปฤษฎางค์พระผู้มีพระภาค. ได้มีความดำริว่า ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคตรัส การละธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสุคตตรัสการ สละคืนธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย

              เมื่อท่านพระสารีบุตร เห็นตระหนักดังนี้
จิตก็หลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้น แล้ว แก่ทีฆนขปริพาชกว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด มีความดับไปเป็นธรรมดา



(7)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๒๗๘

พระสารีบุตรเห็นพระโมคคัลลานะผิวพรรณผ่องใส ฆฏสูตร
(M104.htm#b38)

(ย่อ) พระสารีบุตร เห็นพระโมคคัลลานะ มีอินทรีย์ผิวพรรณผ่องใส คิดว่าพระโมค อยู่ใน วิหารธรรมอันละเอียดเป็นแน่... ม.ตอบว่า วันนี้ผมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันหยาบ แต่ได้สนธนา ธรรมกับพระผู้มีพระภาค ด้วยทิพยจักษุ และทิพยโสตธาตุ อันหมดจด เท่าพระผู้มีพระภาค แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีทิพยจักษุและทิพยโสตธาตุอันหมดจดเท่าผม ...

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียร ด้วยตั้งสัตยาธิษฐาน ว่าจะเหลืออยู่ แต่หนัง เอ็นและกระดูกก็ตามที เลือดและเนื้อในร่างกาย จงเหือด แห้งไปเถิด ผลอันใดที่จะ พึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ ยังไม่บรรลุผลนั้นแล้ว จะหยุดความเพียรเสีย เป็นอันไม่มี ภิกษุย่อมเป็นผู้ปรารภ ความเพียร อย่างนี้แล (ความเพียรอันไม่ถอยกลับ)


           [๖๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคคัลลานะ อยู่ในวิหารเดียวกันในพระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน

      ครั้งนั้นแล เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตร ออกจากที่เร้น เข้าไปหาท่านพระมหา โมคคัลลานะ ถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับท่าน พระมหา โมคคัลลานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง

           [๖๙๒] ครั้นท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหา โมคคัลลานะว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวหน้าของท่านบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ชรอยวันนี้ ท่านมหาโมคคัลลานะ จะอยู่ด้วยวิหารธรรมอันละเอียด

      ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวว่าอาวุโส วันนี้ผมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันหยาบ  อนึ่ง ผมได้มีธรรมีกถา

      สา. ท่านมหาโมคคัลลานะได้มีธรรมีกถากับใคร
      ม.  ผมได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาค

      สา. เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ไกลนัก ท่านมหาโมคคัลลานะไปเฝ้า พระผู้มี พระภาคด้วยฤทธิ์หรือ หรือว่าพระผู้มีพระภาค เสด็จมาหาท่านมหาโมคคัลลานะ ด้วยฤทธิ์
      ม. ผมไม่ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยฤทธิ์ แม้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้เสด็จ มาหาผม ด้วยฤทธิ์ แต่ผมมีทิพยจักษุ และทิพยโสตธาตุ อันหมดจด เท่าพระผู้มี พระภาค แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีทิพยจักษุ และทิพยโสตธาตุอันหมดจด เท่าผม (มีตาทิพย์ หูทิพย์เท่ากับพระผู้มีพระภาค)

      สา. ท่านมหาโมคคัลลานะได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาคอย่างไร
      ม. ผมได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคในที่นี้ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ที่เรียกว่า ผู้ปรารภความเพียรๆ ดังนี้ ก็บุคคลจะชื่อว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร ด้วยเหตุประมาณ เท่าไรพระพุทธเจ้าข้า

      อาวุโส เมื่อผมกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะผมดังนี้ว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียร ด้วยตั้ง สัตยา ธิษฐาน ว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็นและกระดูกก็ตามที เลือดและเนื้อใน ร่างกายจง เหือดแห้ง ไปเถิด ผลอันใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียร ของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุผลนั้นแล้ว จะหยุด ความเพียรเสีย เป็นอันไม่มี โมคคัลลานะ ภิกษุย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียร อย่างนี้แล  (ความเพียรอันไม่ถอยกลับ)

      อาวุโส ผมได้มีธรรมีกถา กับพระผู้มีพระภาคอย่างนี้แล

      สา. อาวุโส เปรียบเหมือนก้อนหินเล็กๆ ที่บุคคลเอาไปวาง เปรียบเทียบ กับขุนเขาหิมพานต์ฉันใด เราเมื่อเปรียบเทียบเคียง กับท่านมหา โมคคัลลานะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริงท่านมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อจำนงอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัปแล
      ม. อาวุโส ก้อนเกลือเล็กๆ ที่บุคคลหยิบเอาไปวางเปรียบเทียบ กับ หม้อเกลือใหญ่ ฉันใด ผมเมื่อเปรียบเทียบท่านสารีบุตร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริง ท่านพระสารีบุตร เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชม ทรงสรรเสริญ ทรงยกย่อง แล้ว โดยปริยายมิใช่น้อย มีอาทิว่า ภิกษุผู้ถึงซึ่งฝั่งคือพระนิพพาน เป็นผู้เยี่ยมด้วย ปัญญา ด้วยศีล และอุปสมะ(ความสงบ) คือพระสารีบุตร ดังนี้



(8)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๕๒-๕๙

๒. กฬารขัตติยสูตร
พระสารีบุตรถูกกล่าวหาว่าบันลือสีหนาท
P1086


             [๑๑๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปแล้วไม่นานนัก ท่านพระสารีบุตร จึงกล่าวกะภิกษุทั้งหลาย ในที่นั้นว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถาม ปัญหาข้อแรก กะผม ซึ่งผมยังไม่เคยรู้มาก่อน ผมจึงทูล ตอบปัญหาล่าช้าไป ต่อเมื่อ พระผู้มีพระภาค ทรงอนุโมทนาปัญหาข้อแรก ของผมแล้ว ผมจึงคิดได้ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผม ตลอดทั้งวัน ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ

             แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้นถวายพระผู้มีพระภาค ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งวัน แม้ถ้าพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้น กะผมด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืน

             แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืน หากพระผู้มีพระภาค จะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืนทั้งวัน

            แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืนทั้งวัน หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้น กะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสองคืนสองวัน

             แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาค ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอด สองคืนสองวัน หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความ ข้อนั้น กะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสามคืนสามวัน

             แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาค ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสามคืนสามวัน หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้น กะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสี่คืนสี่วัน

             แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้นถวายพระผู้มีพระภาค ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสี่คืนสี่วัน หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดห้าคืนห้าวัน

             แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาค ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดห้าคืนห้าวัน หากพระผู้มีพระภาค จะพึงตรัสถามความข้อนั้น กะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดหกคืนหกวัน

             แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดหกคืนหกวัน หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้น กะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน

             แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้นถวายพระผู้มีพระภาคได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน

------------------------------------------------------------------------------

(พระกฬารขัตติยภิกษุฟ้องพระผู้มีพระภาค ว่าพระสารีบุตรบันลือสีหนาท )

             [๑๑๖] ลำดับนั้น พระกฬารขัตติยภิกษุลุกขึ้นจากอาสนะ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า

         ท่านพระสารีบุตร บันลือสีหนาท ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามปัญหา ข้อแรกกะผม ซึ่งผมยังไม่เคยรู้มาก่อน ผมจึงทูลตอบปัญหา ล่าช้าไป ต่อเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา ปัญหาข้อแรกของผมแล้ว ผมจึง คิดได้ว่า

         ถ้าพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถาม ความข้อนั้นกะผมตลอดทั้งวันด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งวัน

         แม้ถ้าพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้น กะผมด้วยบทอื่นๆด้วยปริยาย อื่นๆ ตลอดทั้งคืน แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ด้วย บทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืน

         หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผมด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยาย อื่นๆ ตลอดทั้งคืนทั้งวัน แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ด้วย บทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืนทั้งวัน

         หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผมด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยาย อื่นๆ ตลอดสองคืนสองวัน แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสองคืนสองวัน

         หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผมด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยาย อื่นๆ ตลอดสามคืนสามวัน แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสามคืนสามวัน

         หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผมด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยาย อื่นๆ ตลอดสี่คืน สี่วัน แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้นถวายพระผู้มีพระภาคได้ด้วย บทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสี่คืนสี่วัน

         หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยาย อื่นๆ ตลอดห้าคืนห้าวัน แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ด้วย บทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดห้าคืนห้าวัน

         หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยาย อื่นๆ ตลอดหกคืนหกวัน แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้น ถวายพระผู้มีพระภาคได้ ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดหกคืนหกวัน

         หากพระผู้มีพระภาคจะพึงตรัสถามความข้อนั้นกะผม ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยาย อื่นๆ ตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน แม้ผมก็พึงทูลตอบความข้อนั้นถวายพระผู้มีพระภาค ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน
------------------------------------------------------------------------------

(9)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๕๒-๕๙

กฬารขัตติยสูตร
พระผู้มีพระภาคตัดสิน
P1086

             [๑๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ก็เพราะธรรมธาตุอันสารีบุตร แทงตลอด ดีแล้ว แม้หากว่าเราจะพึงถามความข้อนั้นกะสารีบุตร ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งวัน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เรา ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งวัน

         หากเราจะถามความข้อนั้นกะสารีบุตรด้วยบทอื่นๆด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เรา ด้วยบทอื่นๆด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืน

         หากเราจะถามความข้อนั้นกะสารีบุตรด้วยบทอื่นๆด้วยปริยายอื่นๆ ตลอด ทั้งคืนทั้งวัน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เรา ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดทั้งคืนทั้งวัน

         หากเราจะถามความข้อนั้นกะสารีบุตรด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอด สองคืนสองวัน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เรา ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสองคืนสองวัน

         หากเราจะถามความข้อนั้นกะสารีบุตรด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอด สามคืน สามวัน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เรา ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอด สามคืนสามวัน

         หากเราจะถามความข้อนั้นกะสารีบุตรด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสี่คืนสี่วัน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เรา ได้ด้วยบทอื่นๆด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดสี่คืนสี่วัน

         หากเราจะถามความข้อนั้นกะสารีบุตรด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอด ห้าคืนห้าวัน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เรา ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดห้าคืน ห้าวัน

         หากเราจะถามความข้อนั้นกะสารีบุตรด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอด หกคืนหกวัน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เราได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดหกคืนหกวัน

         หากเราจะถามความข้อนั้นกะสารีบุตรด้วยบทอื่นๆด้วยปริยายอื่นๆ ตลอด เจ็ดคืนเจ็ดวัน สารีบุตรก็คงตอบความข้อนั้นแก่เรา ได้ด้วยบทอื่นๆ ด้วยปริยายอื่นๆ ตลอดเจ็ดคืน เจ็ดวัน



(10)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๐๐

วุฏฐิสูตร
พระสารีบุตรลุกขึ้น กระทบพระศาสดา โดยไม่กล่าวขอโทษ
(P232)


                [๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

         ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จำ พรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถีแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะหลีกจาริก ไปในชนบท 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

         ดูกรสารีบุตร เธอจงสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตร ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

         ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุรูปหนึ่ง ได้กราบทูล พระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์ แล้วไม่ขอโทษหลีกจาริกไป 

         ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูกรภิกษุเธอจงมานี่ จงไป เรียกสารีบุตรตามคำของเรา ว่า ดูกรอาวุโสสารีบุตร พระศาสดารับสั่ง ให้หาท่าน ภิกษุนั้น ทูลรับพระดำรัสพระผู้มี พระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าว กะท่านพระสารีบุตรว่า

         ดูกรอาวุโสสารีบุตร พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ท่านพระสารีบุตร รับคำของ ภิกษุนั้น แล้ว

         ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ และท่านพระอานนท์ ถือลูกดานเที่ยว ประกาศไปตามวิหารว่าท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงรีบออกเถิดๆ บัดนี้ท่านพระสารีบุตร จะบันลือสีหนาท เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค

         ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่าน พระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร เพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ กล่าวหาเธอว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้ว ไม่ขอโทษหลีกจาริก ไปแล้ว

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใด ไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ แล้วไม่ขอโทษแล้ว พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่ อึดอัดระอา หรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอ ด้วย แผ่นดินอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียด เบียนอยู่ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุ ใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบ เพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงในน้ำ น้ำก็ไม่อึดอัดระอา หรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้นแม้ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยน้ำอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้ แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไป เป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ไฟย่อมไม่อึดอัดระอา หรือ เกลียดชังด้วย สิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยไฟ อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อน พรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่ง ในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริก ไปเป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลมย่อมพัดซึ่งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลมย่อมไม่อึดอัดระอาหรือ เกลียด ชัง ด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยลม อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษพึงหลีกจาริกไป เป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ย่อมชำระของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ผ้าเช็ดธุลี ย่อมไม่อึดอัด ระอา หรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล มีใจเสมอ ด้วย ผ้าสำหรับเช็ดธุลี อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียด เบียน อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใด ไม่เข้าไป ตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไป เป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมาร หรือ กุมาริกาของคนจัณฑาล ถือตะกร้า นุ่งผ้าเก่าๆ เข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิตนอบน้อมเข้าไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ ฉันนั้น เหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยกุมาร หรือกุมาริกาของคนจัณฑาล อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อน พรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่ง ในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษพึงหลีกจาริกไปเป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคเขาขาดสงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว เดินไป ตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบ อะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญกายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อน พรหมจรรย์ รูปหนึ่ง ในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาว เป็นคนชอบประดับ ตบแต่ง พึงอึดอัด ระอา และเกลียดชังด้วยซากศพงู หรือซากศพสุนัขที่เขา ผูกไว้ที่คอ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมอึดอัดระอา และ เกลียดชัง ด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใด ไม่เข้าไป ตั้งไว้ แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่ง ในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริก ไปเป็นแน่

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนประคองภาชนะมันข้น มีรูทะลุเป็นช่องเล็ก ช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมบริหารกายนี้ ที่มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อน พรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริก ไปเป็นแน่

เมื่อท่านพระสารีบุตรกราบทูลอย่างนี้แล้ว

         ลำดับนั้นแล ภิกษุรูปนั้นลุกจากอาสนะ
กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาท ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำ ข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคนไม่ฉลาด ที่ข้าพระองค์ได้กล่าวตู่ ท่านพระสารีบุตร ด้วยคำ อันไม่มีเป็นคำเปล่าคำเท็จไม่เป็นจริง ขอพระผู้มีพระภาคทรง โปรดรับโทษของ ข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด 

(พระสารีบุตรตั้งไว้ซึ่ง กายคตาสติ ตลอดเวลา)
---------------------------------------------------------------------------

(11)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๐๐-๓๐๓

พระผู้มีพระภาคตรัสตำหนิภิกษุที่กล่าวตู่พระสารีบุตร
วุฏฐิสูตร (ข้อพึงระวังในการกล่าวตู่อรหันต์)
(P232)

           ดูกรภิกษุ โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล คนหลง ไม่ฉลาด ที่เธอได้ กล่าวตู่ สารีบุตร ด้วยคำอันไม่มี เป็นคำเปล่า คำเท็จ ไม่เป็นจริง แต่เพราะ เธอเห็น โทษโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม เราย่อมรับโทษของเธอนั้น

           ดูกรภิกษุ ข้อที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวม ต่อไปนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า 

           ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร เธอจง อดโทษต่อโมฆบุรุษผู้นี้ มิฉะนั้น เพราะโทษนั้นนั่นแล ศีรษะของโมฆบุรุษนี้ จักแตก ๗ เสี่ยง

           ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมอดโทษ ต่อท่าน อาวุโสนั้น ถ้าอาวุโสนั้นกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ขอท่านอาวุโสนั้น จงอดโทษ แก่ข้าพเจ้าด้วย ดังนี้



(12)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ หน้า ๑๕๒

พระสารีบุตรเดินจงกรมกับภิกษุผู้มีปัญญามาก สัตว์ย่อมคบกันโดยธาตุ
(จังกมสูตร)
P710

๕. จังกมสูตร


           [๓๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล
ท่านพระสารีบุตร
จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกล...
ท่านพระมหากัสสป ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระอนุรุทธ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกล...
ท่านพระอุบาลี ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระอานนท์ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
แม้พระเทวทัตต์ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค


           [๓๖๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอเห็นสารีบุตร กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับ ภิกษุหลายรูปหรือไม่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีปัญญามาก

พวกเธอเห็นมหาโมคคัลลานะ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีฤทธิ์มาก

พวกเธอเห็นมหากัสสป กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธุตวาท (เป็นเลิศด้านธุดงค์ )

พวกเธอเห็นอนุรุทธ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้มีทิพยจักษุ

พวกเธอเห็นปุณณมันตานีบุตร กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธรรมกถึก

พวกเธอเห็นอุบาลี กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงวินัย

พวกเธอเห็นอานนท์ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพหูสูต

พวกเธอเห็นเทวทัตต์กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีความปรารถนาลามก

           [๓๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยดี

แม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายก็ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว โดยธาตุเทียว
คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยดี

แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายก็จักคบค้ากัน จักสมาคมกัน โดยธาตุเทียว
คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว จักคบค้ากัน จักสมาคมกัน กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี จักคบค้ากันจักสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี

แม้ในปัจจุบันกาล สัตว์ทั้งหลายก็ย่อมคบค้ากันย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มี อัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยดี



(13)

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๕๒

ศิษย์พระโมคและสารีบุตรถูกผู้มีพระภาคประณามว่าส่งเสียง ดังราวกะชาวประมงแย่งปลา
(จาตุมสูตร-พระอาคันตุกะพูดเสียงดัง)
P917


               [๑๘๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อามลกีวัน ใกล้บ้านจาตุมา. ก็สมัยนั้น ภิกษุประมาณห้าร้อยรูปมีพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า ไปถึงจาตุมคาม เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค. ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับ ภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวร เป็นผู้มีเสียงสูง มีเสียงดัง.

     ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่าน พระอานนท์มาว่า ดูกรอานนท์ ผู้ที่เสียงสูง เสียงดังนั้น เป็นใคร ราวกะชาวประมงแย่งปลากัน?

     ท่านพระอานนท์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณห้าร้อยนั้น มีพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ เป็นหัวหน้า มาถึงจาตุมคาม เพื่อเฝ้า พระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับ ภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ เป็นผู้มีเสียงสูงมีเสียงดัง.

     ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปเรียกพวกภิกษุมาตามคำของเราว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย. ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่พัก ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พระศาสดาตรัสเรียก ท่านทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ตรัส กะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมีเสียงสูง มีเสียงดังราวกะชาวประมงแย่งปลากัน เพราะเหตุอะไรหนอ?

     พวกภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณห้าร้อยนั้น มีพระสารีบุตรและโมคคัลลานะ เป็นหัวหน้า มาถึงจาตุมคามเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านี้นั้นปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตร และจีวรอยู่ จึงมีเสียงสูง เสียงดัง พระเจ้าข้า.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพากันไป เราประณามพวกเธอ พวกเธอไม่ควร อยู่ใน สำนักเรา. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะถวายบังคม พระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้ว เก็บอาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกไปแล้ว.

                [๑๘๗] ก็สมัยนั้น พวกเจ้าศากยะ ชาวเมืองจาตุ มาประชุมกัน อยู่ที่เรือนรับแขก ด้วยกรณียะบางอย่าง. ได้เห็นภิกษุเหล่านั้นมาแต่ไกล ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นจนถึง ที่ใกล้ ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูเถิด ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะพากันไปไหนเล่า?


     ภ. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์ถูกพระผู้มีพระภาคทรงประณามแล้ว.
     ส. ข้าแต่ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงนั่งอยู่ครู่หนึ่ง แม้ไฉน ข้าพเจ้าทั้งหลายพึงอาจให้ พระผู้มีพระภาค ทรงเลื่อมใสได้. ภิกษุเหล่านั้น รับคำ พวกเจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมาแล้ว.

     ลำดับนั้น พวกศากยะชาวเมืองจาตุมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญของพระผู้มีพระภาค จงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาค จงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์ในกาลก่อนเถิด

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้า พระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อพืช ที่ยังอ่อนไม่ได้น้ำ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ภิกษุทั้งหลาย ที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเปรียบเหมือน เมื่อลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไปฉันใด

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไปข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาค จงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาค จงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์เหมือน ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในกาลก่อนเถิด.

พรหมอาราธนาพระพุทธเจ้า

               [๑๘๘] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบพระพุทธดำริแห่งพระทัย ของ พระผู้มีพระภาค ด้วยใจของตนแล้ว หายไปในพรหมโลก มาปรากฏตรง พระพักตร์ พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่ เหยียดเข้า ฉะนั้น.

     ครั้นแล้ว ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทาง ที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาค จงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ ในกาลก่อนเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเปรียบเหมือนพืชที่ยังอ่อนไม่ได้น้ำ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลาย ที่ยังเป็น ผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้า พระผู้มี พระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลาย ที่ยังเป็นผู้ใหม่บวช ไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาคจงรับสั่งกะ ภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุ สงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ ในกาลก่อนเถิด.

     เจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมา และท้าวสหัมบดีพรหม ได้สามารถทูลให้พระผู้มี พระภาค ทรงเลื่อมใส ด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยข้าวกล้าอ่อน และด้วยคำวิงวอน เปรียบด้วย ลูกโคอ่อน ฉะนี้แล.

พระอาคันตุกะเข้าเฝ้า

                [๑๘๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ จึงเรียกภิกษุทั้งหลาย มาว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงถือเอาบาตรและ จีวร เถิด พระผู้มีพระภาค อันเจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมา และท้าวสหัมบดีพรหมทรง ให้เลื่อมใสแล้ว ด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยข้าวกล้าอ่อน และด้วยคำวิงวอน เปรียบด้วยลูกโคอ่อน.

     ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถือบาตร และ จีวร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่านพระสารีบุตร ผู้นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ว่า ดูกรสารีบุตร เมื่อเราประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของเธอได้มี อย่างไร?

     ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงประณาม ภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของข้าพระองค์ได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาค จักทรงมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรม เป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ใน ทิฏฐธรรมอยู่ แม้เราทั้งหลายก็จักมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรม เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ในบัดนี้.

     ดูกรสารีบุตร เธอจงรอก่อน ดูกรสารีบุตร เธอจงรอก่อน ดูกรสารีบุตร เธออย่าพึงให้จิตเห็นปานนี้เกิดขึ้นอีกเลย.

     ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมาว่า ดูกรโมคคัลลานะ เมื่อเราประณาม ภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของเธอได้มีอย่างไร?

     ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประณามภิกษุสงฆ์ แล้ว จิตของข้าพระองค์ ได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงมีความขวนขวายน้อย ประกอบ ตามธรรม เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ เรา และท่านพระสารีบุตร จักช่วยกันปกครอง ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้.

     ดีละ โมคคัลลานะ ความจริงเรา หรือ สารีบุตร และโมคคัลลานะ เท่านั้น พึงปกครองภิกษุสงฆ์.



(14)

หนังสือพุทธวจน หน้า 733

การปรินิพพานของพระสารีบุตร จุนทสูตร


          สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของ ท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้ พระนครสาวัตถีก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ บ้านนาฬกคาม ในแคว้น มคธ อาพาธ เป็น ไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณร จุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน ด้วยอาพาธ นั่นแหละ.


          ครั้งนั้น สามเณรจุนทะถือเอาบาตร และจีวรของท่านพระสารีบุตร เข้าไปหา พระอานนท์ยังพระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนคร สาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าว กะท่านพระอานนท์ ว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตร ปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

          ดูกรอาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้า พระผู้มีพระภาค มีอยู่ มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระองค์ สามเณรจุนทะ รับคำ ของท่านพระอานนท์แล้ว.

          ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กับสามเณรจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่าน พระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะรูปนี้ได้บอก อย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตร ปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมงมไป แม้ทิศทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏ แก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว.

          พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุติขันธ์ หรือ วิมุติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพาน ไปด้วยหรือ ?

          ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตร มิได้พา ศีลขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ฯลฯ มิได้พาวิมุติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ก็แต่ว่าท่าน พระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวแสดงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้าน ในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลาย มาตามระลึกถึง โอชะแห่งธรรม ธรรมสมบัติ และการอนุเคราะห์ ด้วยธรรมนั้น ของท่านพระสารีบุตร.

          พ. ดูกรอานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกแก่เธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่หรือว่า จักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรัก ของชอบใจ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรัก ของชอบใจนี้แต่ที่ไหน ? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้น อย่าทำลายไปเลยดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้.

          ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น ตั้งอยู่ ลำต้นใดซึ่งใหญ่กว่า พึ่งทำลายลงฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรปรินิพพาน แล้วฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน ? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้วมีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ย่อมมีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่งอย่ามีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

         ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรม เป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอืนเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร ? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชญาและ โทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณา เห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่...ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็น ที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่งคือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล.

          ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง พวกภิกษุเหล่านั้นที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ



(15)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๖ หน้าที่ ๑๘๒

บุคคลผู้ประเสริฐของโลก 6 จำพวก (ฉักกนิทเทส)
P503

         
บุคคลผู้ประเสริฐของโลก (โดยย่อ)
(๑) พระพุทธเจ้า
(๒) พระปัจเจก
(๓) พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ (สาวก)
(๔) พระอรหันต์ที่เหลือ
(๕) พระอานาคามี
(๖) พระโสดาบัน และ พระสกทาคามี

          [๑๔๗] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลนี้ใด ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเอง ในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้สดับมาแล้วในกาลก่อน ทั้งบรรลุความเป็นสัพพัญญู ในธรรมนั้นด้วย ทั้งถึงความชำนาญในธรรม เป็นกำลังทั้งหลายด้วยบุคคลนั้น พึงเห็นว่าเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (1) ด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น

          บุคคลนี้ใด ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้สดับ มาแล้ว ในกาลก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมนั้นด้วย ทั้งมิได้ถึงความ ชำนาญในธรรมเป็นกำลังทั้งหลายด้วยบุคคลนั้น พึงเห็นว่าเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า (2) ด้วยปัจเจกโพธิญาณนั้น

          บุคคลนี้ใด มิได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สดับมาแล้ว ในกาลก่อน เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรมเทียว ทั้งบรรลุสาวก บารมีด้วย บุคคลเหล่านั้นพึงเห็นว่าเป็น พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ (3) ด้วย สาวกบารมีญาณนั้น

          บุคคลนี้ใด มิได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สดับมาแล้ว ในกาลก่อน เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรมเทียว แต่ไม่บรรลุสาวก บารมี บุคคลเหล่านั้นพึงเห็นว่าเป็น พระอรหันต์ ที่เหลือ (4) ด้วยการกระทำที่สุด แห่งทุกข์นั้น

          บุคคลนี้ใด มิได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สดับมาแล้ว ในกาลก่อน ทั้งมิได้กระทำที่สุดทุกข์ในทิฏฐธรรมเทียว เป็นพระอนาคามี ไม่มาแล้วสู่ ความเป็นอย่างนี้ บุคคลนั้น พึงเห็นว่าเป็น พระอนาคามี (5) ด้วยการ ไม่กลับมาสู่ความ เป็นอย่างนี้นั้น

          บุคคลนี้ใด มิได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สดับมาแล้ว ในกาลก่อน ทั้งไม่ได้ทำที่สุดทุกข์ในทิฏฐธรรมเทียว ยังมาสู่ความเป็น อย่างนี้ บุคคลเหล่านั้น พึงเห็นว่าเป็น พระโสดาบัน พระสกทาคามี (6) ด้วยการ มาสู่ความเป็นอย่างนี้นั้น







พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์