เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ บรรพชา 403
 
 

(โดยย่อ)

พระโมคคัลลานะ กับ พระสารีบุตร เดิมเป็นศิษย์ของปริพาชก มีชื่อว่า สญชัย มีลูกศิษย์จำนวน 250 คน ครั้งหนึ่ง พระอัสสชิ เดินบิณฑบาตที่กรุงราชคฤห์ ด้วยท่วงท่าที่น่าเลื่อมใส พระสารีบุตร เห็นแล้วเกิดความศรัทธา ตั้งใจเข้าไปสอบถาม แต่เห็นว่า ควรรอให้พระอัสสชิ บิณฑบาตเสร็จเสีย ก่อน

สารีบุตรถาม พระอัสสชิ ว่า  ท่านเป็นสาวกของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน

พระอัสสชิตอบว่า เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราชอบใจธรรมของพระองค์นั้น พระมหาสมณะศากยบุตร ท่านเป็นศาสดาของเรา

สารีบุตร.. ก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร?
อัสสชิ.. เราเป็นคนใหม่บวชยังไม่นาน ไม่อาจแสดงธรรมได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวโดยย่อ "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา”

สารีบุตร... ได้ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ได้เกิดขึ้นแก่สารีบุตรปริพาชก (บรรลุโสดาบัน)
จากนั้น สารีบุตร กลับไปเล่าเรื่องนี้ให้กับ โมคคคัลลานะ ทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน จึงชวนกัน ไปร่ำลา สญชัย เจ้าสำนัก เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่วิหารเวรุวัณ พร้อมกับปริพาชกอีก 250 คน  

ลำดับนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปาก สญชัยปริพาชก ในที่นั้นเอง (กระอักเลือดตาย)

โกลิตะ...ชื่อเดิมพระสารีบุตร
อุปติสสะ..ชื่อเดิมพระโมคคัลลานะ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สารีบุตรโมคคัลลานะ พาปริพาชก ๒๕๐ คนเข้าเฝ้าฯ
พระผู้มีพระภาคเห็นมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับภิกษุ ท.ว่าสหายสองคนนั้น พ้นวิเศษแล้ว ในธรรมอัน เป็นที่สิ้นอุปธิ อันยอดเยี่ยม มีญาณวิสัยอันลึกซึ้ง ทรงพยากรณ์ ว่า สหายสองคนนี้ จักเป็นคู่สาวก ของเรา จักเป็นคู่อันเจริญชั้นเยี่ยมของเรา

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้า ๕๖ - ๖๒


พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ บรรพชา

พระอัสสชิเถระ

              [๖๔] ก็โดยสมัยนั้นแล สญชัยปริพาชก อาศัยอยู่ในพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ จำนวน ๒๕๐ คน. ก็ครั้งนั้น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพาชก.

               ท่านทั้งสองได้ทำกติกากันไว้ว่า ผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อนผู้นั้น จงบอกแก่ อีกคนหนึ่ง. ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิ นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขนน่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ.

              สารีบุตรปาริพาชกได้เห็นท่านพระอัสสชิ กำลังเที่ยวบิณฑบาต ในพระนคร ราชคฤห์ มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขนเหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ

               ครั้นแล้วได้มีความดำริว่าบรรดาพระอรหันต์ หรือท่านผู้ได้บรรลุพระอรหัต มรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้ แล้วถามว่า ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรม ของใคร? แล้วได้ดำริต่อไปว่า ยังเป็นกาลไม่สมควรจะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่าน กำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้น เราพึงติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลังๆ เพราะเป็นทางอันผู้มุ่งประโยชน์ทั้งหลายจะต้องสนใจ.

               ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ถือบิณฑบาต กลับไป. จึงสารีบุตรปริพาชกเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ ถึงแล้วได้พูดปราศรัยกับท่าน พระอัสสชิ ครั้นผ่านการพูดปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.

               สารีบุตรปริพาชกยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคำนี้ กะท่าน พระอัสสชิว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวช เฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?

              อ. มีอยู่ ท่าน พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกทรงผนวชจาก ศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น
              สา. ก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร?

              อ. เราเป็นคนใหม่บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรม แก่ท่านได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ.
              สา. น้อยหรือมากนิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.

พระอัสสชิเถระแสดงธรรม

              [๖๕] ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิ ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตรปริพาชก ว่าดังนี้:- ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดง เหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้.

สารีบุตรปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม

              [๖๖] ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจาก มลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไป เป็นธรรมดา ได้เกิดขึ้นแก่สารีบุตรปริพาชก ธรรมนี้แหละถ้ามีก็เพียงนี้เท่านั้น ท่านทั้งหลายจงแทงตลอดบทอันหาความโศกมิได้ บทอันหาความโศกมิได้นี้ พวกเรายังไม่เห็นล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัลป์.

สารีบุตรปริพาชก เปลื้องคำปฏิญญา

              [๖๗] เวลาต่อมา สารีบุตรปริพาชกเข้าไปหาโมคคัลลานปริพาชก. โมคคัลลานปริพาชก ได้เห็นสารีบุตรปริพาชกเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ถามสารีบุตร ปริพาชกว่า ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วกระมังหนอ?
              สา. ถูกละ ผู้มีอายุ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว.(บรรลุโสดาบัน)
              โมค. ท่านบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร ด้วยวิธีไร?

              สา. ผู้มีอายุ วันนี้เราได้เห็นพระอัสสชิ กำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนคร ราชคฤห์ มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว เหยียดแขน คู้แขน น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ ครั้นแล้วเราได้มีความดำริว่า บรรดา พระอรหันต์ หรือท่านผู้ได้บรรลุอรหัตมรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้ แล้วถามว่าท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดา ของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร เรานั้นได้ยั้งคิดว่า ยังเป็นกาลไม่สมควร จะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่านยังกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้นเราพึง ติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลังๆ เพราะเป็นทางอันผู้มุ่งประโยชน์ทั้งหลายจะต้องสนใจ

               ลำดับนั้น พระอัสสชิเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ถือบิณฑบาต กลับไปแล้ว ต่อมา เราได้เข้าไปหาพระอัสสชิ ครั้นถึงแล้ว ได้พูดปราศรัยกับพระอัสสชิ ครั้นผ่านการพูดปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เรายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคำนี้ต่อพระอัสสชิว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?

               พระอัสสชิตอบว่า มีอยู่ ท่านพระมหาสมณะศากยบุตรเสด็จออกทร งผนวชจาก ศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราได้ถาม พระอัสสชิ ต่อไปว่า ก็พระศาสดาของชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราได้ถามพระอัสสชิ ต่อไปว่าก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไรแนะนำอย่างไร?

               พระอัสสชิตอบว่า เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่าน ได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ เราได้เรียนว่า น้อยหรือมาก นิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.

              [๖๘] ผู้มีอายุ ครั้งนั้น พระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ ว่าดังนี้:-
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้.


โมคคัลลานปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม
(บรรลุโสดาบัน)

              [๖๙] ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจาก มลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับไปเป็น ธรรมดา ได้เกิดขึ้นแก่โมคคัลลานปริพาชก ธรรมนี้แหละ ถ้ามีก็เพียงนี้เท่านั้น ท่านทั้งหลายจงแทงตลอดบทอันหาความโศกมิได้ บทอันหา ความโศกมิได้นี้ พวกเรายังไม่เห็น ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัลป์.

สองสหายอำลาอาจารย์

              [๗๐] ครั้งนั้น โมคคัลลานปริพาชกได้กล่าวชักชวนสารีบุตรปริพาชกว่า ผู้มีอายุ เราพากันไปสำนักพระผู้มีพระภาคเถิด เพราะพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระศาสดาของเรา.

               สารีบุตรปริพาชกกล่าวว่าผู้มีอายุปริพาชก ๒๕๐ คนนี้อาศัยเรา เห็นแก่เรา จึงอยู่ในสำนักนี้ เราจงบอกกล่าวพวกนั้นก่อน พวกนั้นจักทำตามที่เข้าใจ.

               ลำดับนั้น สารีบุตรโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้น ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้ต่อพวกปริพาชกนั้นว่า ท่านทั้งหลาย เราจะไปในสำนัก พระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระศาสดาของเรา.

               พวกปริพาชกตอบว่า พวกข้าพเจ้าอาศัยท่าน เห็นแก่ท่านจึงอยู่ในสำนักนี้ ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ พวกข้าพเจ้าทั้งหมด ก็จักประพฤติ พรหมจรรย์ในพระมหาสมณะด้วย.

               ต่อมา สารีบุตรโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปหาท่านสญชัยปริพาชก ครั้นถึงแล้วได้เรียนว่า ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปในสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะ พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระศาสดาของพวกกระผม สญชัยปริพาชกพูดห้ามว่า อย่าเลย ท่านทั้งหลายอย่าไปเลย เราทั้งหมด ๓ คนจักช่วยกันบริหารคณะนี้.

                แม้ครั้งที่ ๒ ...

                แม้ครั้งที่สาม สารีบุตรโมคคัลลานะได้กล่าวคำนี้ต่อสญชัยปริพาชกว่า ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปในสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคนั้นเป็น พระศาสดา ของพวกกระผม.

              สญชัยปริพาชกพูดห้ามว่าอย่าเลย ท่านทั้งหลาย อย่าไปเลย เราทั้งหมด ๓ คนจักช่วยกันบริหารคณะนี้.

              ครั้งนั้น สารีบุตรโมคคัลลานะ พาปริพาชก ๒๕๐ คนนั้น มุ่งไปทาง ที่จะไป พระวิหารเวฬุวัน. ก็โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปาก สญชัยปริพาชก ในที่นั้นเอง.

ทรงพยากรณ์พระอัครสาวก

              [๗๑] พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตร โมคคัลลานะ มาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหาย สองคนนั้น คือโกลิตะ(ชื่อเดิมพระสารีบุตร) และ อุปติสสะ (ชื่อเดิมพระโมคคัลลานะ) กำลังมานั่น จักเป็นคู่สาวกของเราจักเป็นคู่อัน เจริญชั้นเยี่ยมของเรา ก็สหายสองคนนั้น พ้นวิเศษแล้ว ในธรรมอันเป็นที่สิ้นอุปธิ อันยอดเยี่ยม มีญาณวิสัยอันลึกซึ้งยังมาไม่ทันถึงพระวิหารเวฬุวัน พระศาสดา ทรงพยากรณ์ ว่าดังนี้ สหายสองคนนี้คือ โกลิตะ และ อุปติสสะ กำลังมานั่น จักเป็นคู่ สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญชั้นเยี่ยมของเรา.

เข้าเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท

              [๗๒] ครั้งนั้นสารีบุตรโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ซบเศียรลงที่พระบาทของผู้มีพระภาค แล้วทูลขอบรรพชา อุปสมบท ต่อพระผู้มีพระภาคว่าขอพวกข้าพระพุทธเจ้า พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนัก พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าข้า.

              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัส ต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์ โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุ เหล่านั้น.


 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์