พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๗๙ ข้อที่ ๔๙๓ – ๔๙๔
๓. มหาเวทัลลสูตร
(การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ ระหว่างพระสารีบุตร กับ พระมหาโกฏฐิกะ)
ดูพระสูตรโดยย่อ
[๔๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะ* ออกจากที่หลีกเร้น แล้วจึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่ ได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการทักทายปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
*(พระไตรปิฏกบางฉบับเขียนเป็น พระมหาโกฏฐิตะ)
เรื่องปัญญากับวิญญาณ
ท่านพระมหาโกฏฐิกะครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามท่านพระสารีบุตร ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลมีปัญญาทรามๆดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงไรหนอ จึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญาทราม? (คนปัญญาทรามเป็นอย่างไร)
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านผู้มีอายุบุคคลไม่รู้ชัดๆ เพราะฉะนั้นพระผู้มี พระภาค จึงตรัสว่าเป็นบุคคลมีปัญญาทราม ไม่รู้ชัดอะไร ไม่รู้ชัดว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ไม่รู้อริยสัจสี่) บุคคลไม่รู้ชัดๆ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญาทราม.
...........................................................................................................
ท่านพระมหาโกฏฐิกะ ยินดีอนุโมทนาภาษิต ของท่านพระสารีบุตรว่า ถูกละท่านผู้มีอายุ ดังนี้แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลมีปัญญาๆดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงไรหนอจึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญา? (คนมีปัญญาในความหมายนี้เป็นอย่างไร)
ส.(สารีบุตร). ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลรู้ชัดๆเพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่าเป็นบุคคลมีปัญญา รู้ชัดอะไร รู้ชัดว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญา.
............................................................................................................
ก. (โกฏฐิกะ). ดูกรท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าวิญญาณๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ จึงตรัสว่าวิญญาณ? (วิญญาณคืออะไร)
สา. ธรรมชาติที่รู้แจ้งๆ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่าวิญญาณ รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งว่านี้สุข นี้ทุกข์ นี้มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ธรรมชาติย่อมรู้แจ้งๆ เพราะ ฉะนั้นจึงตรัสว่าวิญญาณ.
............................................................................................................
ก. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ปะปนกันหรือแยกจากกัน ท่านผู้มีอายุอาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้หรือไม่? (ปัญญากับวิญญาณ ปนกัน หรือแยกกันอย่างไร)
สา. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน ผมไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณ ก็รู้แจ้งสิ่งนั้น วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น ฉะนั้นธรรม ๒ ประการนี้ จึงปะปนกันไม่แยกจากกัน ผมไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้.
............................................................................................................
ก. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ปะปนกันไม่แยกจากกัน แต่มีกิจที่จะพึงทำต่างกันบ้างหรือไม่? (ปัญญากับวิญญาณทำหน้าที่กันอย่างไร)
สา. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกันไม่แยกจากกัน แต่ปัญญาควรเจริญ วิญญาณควรกำหนดรู้ นี่เป็นกิจที่จะพึงทำต่างกันแห่งธรรม ๒ ประการนี้.
............................................................................................................
เรื่อง เวทนา สัญญา และ วิญญาณ
ก. พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเวทนาๆดังนี้ ด้วยเหตุเพียง ไรหนอจึงตรัสว่า เวทนา? (เวทนาคืออะไร)
สา. ธรรมชาติที่รู้ๆเพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เวทนารู้อะไร รู้สุขบ้าง รู้ทุกข์บ้าง รู้สิ่งที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง ธรรมชาติย่อมรู้ๆ ฉะนั้นจึงตรัสว่า เวทนา
............................................................................................................
ก. พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสัญญาๆดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ จึงตรัสว่า สัญญา? (สัญญาคืออะไร)
สา. ธรรมชาติที่จำๆ ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัญญา จำอะไร จำสีเขียว บ้าง จำสีเหลืองบ้าง จำสีแดงบ้าง จำสีขาวบ้าง ธรรมชาติย่อมจำๆ ฉะนั้น จึงตรัสว่าสัญญา
............................................................................................................
ก. เวทนา สัญญา และวิญญาณ ธรรม ๓ ประการนี้ ปะปนกัน หรือแยกจากกัน ท่านผู้มีอายุ อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้หรือไม่?
สา. เวทนา สัญญา และวิญญาณ ธรรม ๓ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกันผม ไม่อาจ แยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้ เพราะเวทนา รู้สิ่งใด สัญญาก็จำสิ่งนั้น สัญญาจำสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น ฉะนั้นธรรม ๓ ประการนี้ จึงปะปนกัน ไม่แยกจากกันผมไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่ อันต่างกันได้.
............................................................................................................
ก. พระโยคาวจร* มีมโนวิญญาณ (จิตอันสัมปยุตด้วย รูปาวจรฌานที่ ๔) อันสละแล้ว อันบริสุทธิ์จากอินทรีย์ ๕ พึงรู้สิ่งอะไร?
สา. พระโยคาวจรมีมโนวิญญาณอันสละแล้ว อันบริสุทธิ์ จากอินทรีย์ ๕
พึงรู้อากาสานัญจายตนฌานว่า อากาศหาที่สุดมิได้
พึงรู้วิญญาณัญจายตนฌานว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้
พึงรู้อากิญจัญญายตนฌานว่า น้อยหนึ่งมิได้มี.
* (พระโยคาวจร คือ ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร ทำความเพียรเผากิเลส ผู้เจริญภาวนา)
............................................................................................................
เรื่องประโยชน์แห่งปัญญาและเหตุเกิดสัมมาทิฏฐิ
ก. พระโยคาวจร ย่อมรู้ธรรมอันตนพึงรู้ด้วยอะไร?
สา. พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมอันตนพึงรู้ด้วยปัญญาจักษุ.
............................................................................................................
ก. ปัญญา มีอะไรเป็นประโยชน์?
สา. ปัญญา มีความรู้ยิ่ง เป็นประโยชน์
ปัญญา มีความกำหนดรู้ เป็นประโยชน์
ปัญญา มีความละ เป็นประโยชน์.
............................................................................................................
ก. ก็ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มีเท่าไร?
สา. ธรรม ๒ ประการ
คือ
ความได้สดับ แต่บุคคลอื่น ๑
ความทำในใจ โดยแยบคาย ๑ เป็นปัจจัย
เพื่อความเกิดขึ้นแห่ง สัมมาทิฏฐิ ธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นปัจจัยเมื่อความ เกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ.
............................................................................................................
ก. สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผล และมีผลคือเจโตวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีผลคือปัญญาวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรมเท่าไร อนุเคราะห์แล้ว?
สา. สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผล และมีผลคือ เจโตวิมุติ เป็น อานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีผลคือปัญญาวิมุติ เป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรม ๕ ประการ อนุเคราะห์แล้ว คือ
สัมมาทิฏฐิ อันศีลอนุเคราะห์แล้ว ๑
อันสุตะอนุเคราะห์ แล้ว ๑
อันสากัจฉา(การสนทนา) อนุเคราะห์
แล้ว ๑
อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว ๑
อันวิปัสสนา อนุเคราะห์แล้ว ๑
สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผล
และมีผลคือเจโตวิมุติ เป็นอานิสงส์ ด้วย มีปัญญาวิมุติ เป็นผล และมีผลคือ
ปัญญาวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรม ๕ ประการนี้แล อนุเคราะห์แล้ว.
............................................................................................................
เรื่องภพและฌาน
ก. ภพมีเท่าไร?
สา. ภพมี ๓ คือ กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ.
............................................................................................................
ก. ความเกิดในภพใหม่ในอนาคต มีได้อย่างไร?
สา. ความยินดียิ่งในอารมณ์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกีดกัน
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ความเกิดในภพใหม่ในอนาคตมีได้อย่างนี้.
............................................................................................................
ก. ความเกิดในภพใหม่ในอนาคต จะไม่มีอย่างไร?
สา. เพราะความสิ้นแห่งอวิชชา เพราะความเกิด ขึ้นแห่งวิชชาและ
เพราะความดับแห่งตัณหาอย่างนี้ความเกิดในภพใหม่ในอนาคตจึงจะไม่มี.
............................................................................................................
ก. ปฐมฌาน เป็นไฉน?
สา. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ฌานนี้พระผู้มีพระภาค ตรัสว่าปฐมฌาน.
............................................................................................................
ก. ปฐมฌาน มีองค์เท่าไร?
สา. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก ๑.. วิจาร ๑.. ปีติ ๑.. สุข ๑.. เอกัคคตา*๑ ย่อมเป็นไปแก่ภิกษุผู้เข้าปฐมฌานมีองค์ ๕ ปฐมฌานมีองค์ ๕ อย่างนี้แล.
* (มีอารมณ์เดียว)
............................................................................................................
ก. ปฐมฌานละองค์เท่าไร ประกอบด้วยองค์เท่าไร?
สา. ปฐมฌานละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เข้าปฐมฌาน ละกามฉันท์ได้แล้ว
ละพยาบาทได้แล้ว ละถีนมิทธะได้แล้ว
ละอุทธัจจ กุกกุจจะได้แล้ว
ละวิจิกิจฉาได้แล้ว
มีวิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑ เป็นไปอยู่
ปฐมฌานละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล.
............................................................................................................
เรื่องอินทรีย์ ๕
ก. อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ
จักขุนทรีย์ ๑
โสตินทรีย์ ๑
ฆานินทรีย์ ๑
ชิวหินทรีย์ ๑
กายินทรีย์ ๑
มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัย อันเป็นโคจรของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกัน และกัน จะมีอะไรเป็นที่อาศัย และธรรมอะไรรับรู้วิสัย อันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์ เหล่านั้น?
สา. อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอัน เป็นโคจร ของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕ เหล่านี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้ วิสัยอันเป็น โคจรของกันและกัน มีใจเป็นที่อาศัย ใจย่อมรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่ง อินทรีย์ เหล่านั้น
............................................................................................................
ก. อินทรีย์ ๕ ประการ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑
ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ อินทรีย์ ๕ นี้ อาศัยอะไรตั้งอยู่?
สา. อินทรีย์ ๕ ประการนี้นั้น คือจักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ อาศัยอายุ (ชีวิตินทรีย์) ตั้งอยู่.
............................................................................................................
ก. อายุ อาศัยอะไรตั้งอยู่?
สา. อายุ อาศัยไออุ่น (ไฟที่เกิดแต่กรรม)ตั้งอยู่.
............................................................................................................
ก. ไออุ่น อาศัยอะไรตั้งอยู่?
สา. ไออุ่น อาศัยอายุตั้งอยู่.
............................................................................................................
ก. ผมรู้ทั่วถึงภาษิตของพระสารีบุตรผู้มีอายุในบัดนี้เองอย่างนี้ว่า อายุ อาศัยไออุ่นตั้งอยู่ และว่าไออุ่นอาศัยอายุตั้งอยู่ แต่ผมจะพึงเห็นความแห่งภาษิต นี้ได้อย่างไร?
สา. ถ้าเช่นนั้น ผมจักทำอุปมาแก่คุณ เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมทราบความแห่งภาษิตได้แม้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันกำลังติดไฟอยู่ แสงสว่างอาศัยเปลวปรากฏอยู่ เปลวก็อาศัยแสงสว่างปรากฏอยู่ฉันใด อายุอาศัย ไออุ่น ตั้งอยู่ ไออุ่นก็อาศัยอายุตั้งอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน
............................................................................................................
ก. อายุสังขาร (อายุ ชีวิตินทรีย์) กับเวทนียธรรม (เวทนา) เป็นอันเสมอกัน หรือว่าอายุสังขารกับเวทนียธรรมเป็นคนละอย่าง?
สา. อายุสังขารกับเวทนียธรรม ไม่ใช่อันเดียวกัน (ถ้า) อายุสังขารกับ เวทนียธรรม เป็นอันเดียวกันแล้ว การออกจากสมาบัติของภิกษุ ผู้เข้าสัญญาเวทยิต นิโรธ ก็ไม่พึงปรากฏ แต่เพราะอายุสังขารกับเวทนียธรรมเป็นคนละอย่าง ฉะนั้น การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ จึงปรากฏอยู่
............................................................................................................
ก.ในเมื่อธรรมเท่าไรละกายนี้ไป กายนี้ก็ถูกทอดทิ้ง นอนนิ่ง
เหมือน ท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา?
สา. ในเมื่อธรรม ๓ ประการ คือ อายุ ไออุ่น และวิญญาณ ละ กายนี้ไป กายนี้ก็ถูกทอดทิ้ง นอนนิ่ง เหมือนท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา.
............................................................................................................
ก. สัตว์ผู้ตายทำกาละไป กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีความแปลก กันอย่างไร?
สา. สัตว์ผู้ตายทำกาละไป มีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตสังขารดับระงับ ไป มีอายุหมดสิ้นไป มีไออุ่นสงบ มีอินทรีย์แตกทำลาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิต นิโรธ มีกายสังขารวจีสังขาร และจิตสังขารดับ ระงับไป แต่มีอายุยังไม่หมดสิ้น มีไอ อุ่นยังไม่สงบ มีอินทรีย์ผ่องใส สัตว์ผู้ตายทำกาละไป กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิต นิโรธ มีความแปลกกัน ฉะนี้.
............................................................................................................
เรื่องปัจจัยเจโตวิมุติ
ก. ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติ อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
มีเท่าไร?
สา.ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติ อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุขมี ๔ อย่าง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสในก่อนเสียได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ปัจจัยแห่ง สมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มี ๔ อย่าง ดังนี้แล.
............................................................................................................
ก. ปัจจัยแห่งสมาบัติ ที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีเท่าไร?
สา. ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่างคือ การไม่ มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ การมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑ ปัจจัยแห่ง สมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่าง ดังนี้แล.
............................................................................................................
ก. ปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของ เจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีเท่าไร?
สา. ปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๓ อย่าง คือการไม่ มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ การมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑ อภิสังขาร (ความกำหนดระยะกาล)ในเบื้องต้น ๑ ปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของเจโตวิมุติ อันไม่มี นิมิต มี ๓ อย่าง ดังนี้แล.
............................................................................................................
ก. ปัจจัยแห่งความออก ของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีเท่าไร?
สา. ปัจจัยแห่งความออก ของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่างคือการ มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ การไม่มนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑ ปัจจัยแห่งความออกของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่าง ดังนี้แล.
............................................................................................................
ก. เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีประมาณ เจโตวิมุติมีอารมณ์ ว่า ไม่มีอะไรๆ เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิตธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกันต่างกันแต่เพียง พยัญชนะเท่านั้น?
สา. เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีประมาณ เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มี อะไรๆ เจโตวิมุติ มีอารมณ์อันว่าง เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต ปริยายที่บ่งว่าธรรม เหล่านี้ มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกันก็มี และปริยายที่บ่งว่า ธรรมเหล่านี้ มีอรรถ อย่างเดียวกันต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้นก็มี.
............................................................................................................
ก็ปริยายที่บ่งว่า ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกันเป็น ไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไป สู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และมีจิตสหรคต ด้วยเมตตาอันกว้างขวางเป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไป สู่โลกหมดทุกส่วน เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง ในที่ทุกสถานทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง อยู่ดังนี้
มีจิตสหรคตด้วยกรุณา ...มีจิตสหรคตด้วยมุทิตา ... มีจิตสหรคต ด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ที่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่าง นั้นแผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกหมด ทุกส่วน เพื่อประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวง ในที่ทุกสถาน ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง อยู่ดังนี้ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโตวิมุติมีอารมณ์อันหาประมาณมิได้.
............................................................................................................
เจโตวิมุติมีอารมณ์ว่าไม่มีอะไรๆ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ล่วงวิญญา ณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรๆ อยู่ ดังนี้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโตวิมุติมีอารมณ์ว่าไม่มี อะไรๆ.
เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดีไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นว่า สิ่งนี้ว่างจากตนบ้าง จากสิ่งที่เนื่อง ด้วย ตนเอง ดังนี้ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง.
เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเจโต สมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโต วิมุตติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต.
............................................................................................................
ดูกรผู้มีอายุ นี้แลปริยายที่บ่งว่า ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะ ต่างกัน. ก็ปริยายที่บ่งว่า ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียง พยัญชนะเท่านั้นเป็นไฉน? ราคะอันทำประมาณ โทสะอันทำประมาณ โมหะอันทำ ประมาณ ราคะเป็นต้นนั้น อันภิกษุผู้ขีณาสพ ละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาด แล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังว่าต้นตาลแล้ว ทำไม่ให้มีต่อไปแล้วมีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา.
เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ ท่านกล่าวว่า เลิศกว่าเจโตวิมุติมีอารมณ์ ไม่มี ประมาณทั้งหมด เจโตวิมุติอันไม่กำเริบนั้นแล ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจาก โมหะ. ราคะอันเป็น เครื่องกังวล โทสะอันเป็นเครื่องกังวล โมหะอันเป็นเครื่องกังวล ราคะเป็นต้นนั้น อันภิกษุผู้ขีณาสพละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้ง ดังว่า ต้นตาลแล้ว ทำไม่ให้มีต่อไปแล้ว มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.
เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ ท่านกล่าวว่า เลิศกว่าเจโตวิมุติอันมีอารมณ์ ว่าไม่มี อะไรๆทั้งหมด. เจโตวิมุติอันไม กำเริบนั้นแล ว่างจากราคะว่างจากโทสะ ว่างจาก โมหะ. ราคะอันทำนิมิต โทสะอันทำนิมิต โมหะอันทำนิมิต ราคะเป็นต้นนั้น อันภิกษุผู้ ขีณาสพละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังว่าต้นตาลแล้ว ทำไม่ให้มี ต่อไปแล้ว มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.
เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ ท่านกล่าวว่า เลิศกว่าเจโตวิมุติมีอารมณ์อัน ไม่มีนิมิต เจโตวิมุติอันไม่กำเริบนั้นแล ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ
ดูกรผู้มีอายุ นี้แลปริยายที่บ่งว่า ธรรมเหล่านี้ มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกัน แต่เพียงพยัญชนะเท่านั้น.
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวแก้ปัญหานี้แล้ว ท่านพระมหาโกฏฐิกะชื่นชมยินดี ภาษิตของ ท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล.
จบ มหาเวทัลลสูตร ที่ ๓
ดูพระสูตรโดยย่อ |