เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 จูฬเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ ภิกษุณีสอนธรรมให้กับอุบาสก 879
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

จูฬเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ
การสนทนาธรรม ระหว่าง ธรรมทินนาภิกษุณี
(เอตทัคคะด้านธรรมกถึก) กับ วิสาขะอบาสก (ชายที่ ชื่อ วิสาข) ที่พระพุทธเจ้ารับรอง และ ตรัสชม ธรรมทินนาภิกษุณี ว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก)

เรื่องที่สนทนา
เรื่องสักกายทิฏฐิ
เรื่องมรรค ๘ กับขันธ์ ๓
เรื่องสมาธิและสังขาร
เรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธ
เรื่องเวทนา

วิสาขอุบาสก ชื่นชมอนุโมทนา ภาษิตของ ธรรมทินนาภิกษุณีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้กราบทูลเรื่องที่ตน สนทนาธรรมกถากับ ธรรมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบ ทุกประการ.

เมื่อวิสาขาอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า ดูกรวิสาขะ ธรรมทินนาภิกษุณี เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากท่านพึงสอบถามเนื้อความ นั้นกะเรา แม้เราก็พึงพยากรณ์ เนื้อความนั้น เหมือนที่ ธรรมทินนาภิกษุณี พยากรณ์แล้ว เนื้อความแห่งพยากรณ์นั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านพึงจำทรงไว้อย่างนั้น เถิด

ธรรมทินนาภิกษุณี (เอตทัคคะด้านธรรมกถึก หมวดภิกษุณี ลำดับที่ ๕)

 
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๓๘๗ – ๓๙๔


๔. จูฬเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ
(การสนทนา ระหว่าง ธรรมทินนาภิกษุณี กับ วิสาขะอบาสก ที่พระพุทธเจ้ารับรอง และตรัสชม ธรรมทินนาภิกษุณี ว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก)

                [๕๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขต พระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น วิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณีถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง.

เรื่องสักกายทิฏฐิ

                [๕๐๖] วิสาขอุบาสก ครั้นนั่งแล้ว ได้ถาม ธรรมทินนาภิกษุณีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ สักกายะ ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มี พระภาคตรัสว่า สักกายะ? ธรรมทินนาภิกษุณี ตอบว่า ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ คือรูปูปาทานขันธ์ ๑เวทนูปาทานขันธ์ ๑ สัญญูปาทานขันธ์ ๑ สังขารูปาทานขันธ์ ๑ วิญญาณูปาทานขันธ์ ๑ อุปาทานขันธ์ ๕ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ. (สักกายะ คือความยึดมั่นในขันธ์5)
......................................................................................................

     วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณีว่า ถูกละพระแม่เจ้า ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหาต่อไปว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกาย สมุทัย สักกายสมุทัย ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสักกายสมุทัย?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ตัณหา อันทำให้เกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัด ยินดีเพลิดเพลิน ยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย. (ตัณหา ความกำหนัดในอารมณ์ ประกอบด้วย กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา คือสักกายะสมุทัย หรือความยึดมั่นในเหตุเกิดของทุกข์ เรียกว่า ภพใหม่บังเกิดขึ้นแล้ว)

.....................................................................................................

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ สักกายนิโรธ ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มี พระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพัน ด้วยตัณหานั้น นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ. (ความดับ ความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ คือสักกายนิโรธ)

.....................................................................................................

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา สักกาย นิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินี ปฏิปทา?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยะมรรคมีองค์ ๘ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา. (ทางดำเนินให้ดับไม่เหลือใน สักกายนิโรธคือ มรรค๘)

.....................................................................................................

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า อุปาทาน กับ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอันเดียวกันหรือ อุปาทาน เป็นอย่างอื่น จาก อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกันไม่ อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่ ความกำหนัดพอใจ ใน อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอุปาทาน ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น (อุปาทาน กับ อุปาทานขันธ์๕ คนละอย่างกัน อุปทานในขันธ์ ๕ คือ ความกำหนัด ความพอใจ)

.....................................................................................................

                [๕๐๗] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาด ในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัปบุรุษ ไม่ฉลาด ในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมตามเห็นรูป โดยความเป็นตน บ้าง ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ตามเห็นรูปในตน บ้าง ตามเห็นตนในรูปบ้าง ย่อมตามเห็นเวทนา ... ย่อมตามเห็นสัญญา ... ย่อมตามเห็นสังขาร ทั้งหลาย ... ย่อมตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ตามเห็น วิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แลสักกายทิฏฐิจึงมีได้. (ผู้ไม่ได้สดับในคำของตถาคต ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตนบ้าง เห็นตนว่ามีรูปบ้าง...)

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อย่างไรสักกายทิฏฐิจึงจะไม่มีฯ
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรม ของ พระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัปบุรุษ ฉลาด ในธรรมของสัปบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรม ของสัปบุรุษ ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็น ตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ไม่ตามเห็นรูปในตน บ้าง ไม่ตามเห็นตนในรูปบ้าง ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา ...ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา ... ย่อมไม่ตามเห็น สังขาร ทั้งหลาย ... ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี. (เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมไม่ตามเห็นรูป ในความเป็นตน ไม่เห็นตนว่ามีรูป..ย่อมไม่เห็นตามเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน ตามเห็นอย่างนี้ จะละสักกายทิฏฐิได้)

 

เรื่องมรรค ๘ กับขันธ์ ๓

                [๕๐๘] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ ไฉน?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะหรือเป็นอสังขตะ?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ขันธ์ ๓ (กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา) พระผู้มีพระภาคทรง สงเคราะห์ด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าอริยมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ ด้วยขันธ์ ๓.
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรค มีองค์ ๘
ส่วน อริยมรรค มีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ
วาจาชอบ ๑
ทำการงานชอบ ๑
เลี้ยงชีวิตชอบ

ทรงสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์
ความเพียรชอบ ๑
ความระลึกชอบ ๑
ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑

ทรงสงเคราะห์ด้วย สมาธิขันธ์
ปัญญาอันเห็นชอบ ๑
ความดำริชอบ ๑

ทรงสงเคราะห์ด้วย ปัญญาขันธ์
(ความหมายของขันธ์ ๓ คือกลุ่มธรรมในมรรค ๘ ที่ประกอบด้วย3กลุ่ม ศีล สมาธิ ปัญญา)
...................................................................................

มรรค8 โดยย่อ
ปัญญา (ปัญญาขันธ์)
1. สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ ปัญญาชอบ)
2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)


ศีล (ศีลขันธ์)
3. สัมมาวาจา (วาจาชอบ)
4. สัมมากัมมันตะ (การพฤติชอบ)
5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)


สมาธิ
(สมาธิขันธ์)
6. สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ)
7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตชอบ จิตตั้งมั่น)

...................................................................................

เรื่องสมาธิและสังขาร

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ธรรมอย่างไร เป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใด เป็นนิมิตของสมาธิธรรมเหล่าใด เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การทำให้สมาธิเจริญ เป็นอย่างไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว เป็นสมาธิ สติปัฏฐาน ๔เป็นนิมิตของ สมาธิ สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรม เหล่านั้นแหละ เป็นการทำให้สมาธิเจริญ.

                [๕๐๙] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สังขาร มีเท่าไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ สังขารเหล่านี้ มี ๓ ประการคือ กายสังขาร วจีสังขารจิตต สังขาร.
     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็กายสังขาร เป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขาร เป็นอย่างไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เป็นกายสังขาร วิตก และวิจารเป็น วจีสังขาร สัญญาและเวทนา เป็นจิตตสังขาร.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เหตุไร ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร วิตก และวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ เป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร บุคคลย่อม ตรึกย่อมตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจา ฉะนั้น วิตกและวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร สัญญา และเวทนาเป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต ฉะนั้นสัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร.

 

เรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธ

                [๕๑๐] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักเข้า สัญญาเวทยิตนิโรธ ว่าเรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ว่าเราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว ก็แต่ ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรม คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน ย่อมดับไปก่อน?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารก็ดับ จิตตสังขารดับทีหลัง.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นอย่างไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิได้มีความคิด อย่างนี้ว่า เราจักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ว่าเรากำลังออกจากสัญญา เวทยิตนิโรธสมาบัติ ว่า เราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ก็แต่ความคิด อันนำเข้าไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วแต่แรก.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมคือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน เกิดขึ้นก่อน.
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขาร เกิดขึ้นก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารก็เกิดขึ้น วจีสังขารเกิดขึ้นทีหลัง.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจาก สัญญาเวทยิต นิโรธสมาบัติ?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ผัสสะ ๓ ประการ คือ ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง) ผัสสะชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต) และผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง) ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ. มีจิตน้อมไป ในธรรมอะไร โอนไปในธรรมอะไร เอนไปในธรรมอะไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มีจิตน้อมไป ในวิเวก โอนไปในวิเวก เอนไปในวิเวก.

 

 เรื่องเวทนา

                [๕๑๑] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า เวทนามีเท่าไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เวทนานี้มี ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อทุกขมสุข เวทนาเป็นอย่างไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขสำราญ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นสุขเวทนา ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ไม่สำราญ อันเป็นไป ทางกายหรือเป็นไปทางจิต นี่เป็น ทุกขเวทนา ความเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญ และมิใช่ความไม่สำราญ (เป็นส่วนกลางมิใช่สุข มิใช่ทุกข์) อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นอทุกขมสุขเวทนา.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สุขเวทนา เป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ สุขเวทนา เป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป ทุกขเวทนา เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป อทุกขมสุขเวทนา เป็นสุข เพราะรู้ชอบเป็นทุกข์เพราะรู้ผิด.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อนุสัยอะไร ตามนอนอยู่ในสุขเวทนา อนุสัยอะไร ตามนอน อยู่ในทุกขเวทนา อนุสัยอะไร ตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนา ปฏิฆานุสัยตามนอน อยู่ใน ทุกขเวทนา อวิชชานุสัยตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ราคานุสัยตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด ปฏิฆานุสัย ตามนอน อยู่ใน ทุกขเวทนาทั้งหมด อวิชชานุสัยตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา ทั้งหมด หรือหนอแล?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้ ปฏิฆานุสัย ตามนอน อยู่ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้ อวิชชานุสัย ตามนอนอยู่ใน อทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ธรรมอะไรจะพึงละได้ในสุขเวทนา ธรรมอะไร จะพึงละได้ใน ทุกขเวทนา ธรรมอะไรจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนา ปฏิฆานุสัย จะพึงละได้ ในทุกขเวทนา อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา.

     วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด ปฏิฆานุสัย จะพึงละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ในอทุกขมสุข เวทนาทั้งหมด หรือหนอแล?
     ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้ ปฏิฆานุสัยจะพึงละ เสียได้ ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้ อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ ใน อทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้

ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมละราคาด้วย ปฐมฌานนั้น ราคานุสัย มิได้ตามนอนอยู่ ในปฐมฌานนั้น อนึ่งภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา เห็นอยู่ว่า เมื่อไร เราจะได้บรรลุอายตนะ ที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้ว อยู่ในบัดนี้ ดังนี้

เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลาย อันเป็นอนุตตรธรรมอย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความ โทมนัสนั้นปฏิฆานุสัย มิได้ตามนอนอยู่ใน ความโทมนัสนั้น อนึ่ง ภิกษุใน พระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และ ดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ย่อมละอวิชชา ได้ด้วย จตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตฌานนั้น.

                [๕๑๒] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา?
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคะ เป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา.

วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งทุกขเวทนา?
ธ. ปฏิฆะ เป็นส่วนแห่งเปรียบแห่งทุกขเวทนา.

วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา?
ธ. อวิชชา เป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา.

วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา?
ธ. วิชชา เป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา.

วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา?
ธ. วิมุติ เป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา.

วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ?
ธ. นิพพาน เป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ?

วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งนิพพาน?
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ท่านล่วงเลยปัญหาเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาส่วนสุดแห่งปัญหาได้

ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เพราะพรหมจรรย์หยั่งลงในพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่ถึงใน เบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นที่สุด ถ้าท่านจำนงอยู่ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามเนื้อความนี้เถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างใด ท่านพึง จำทรงพระพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้น เถิด

 

วิสาขอุบาสก สรรเสริญธรรมทินนาภิกษุณี

                [๕๑๓] ลำดับนั้น วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของ ธรรมทินนา ภิกษุณีแล้ว ลุกจากอาสนะ อภิวาทธรรมทินนาภิกษุณี ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลเรื่องที่ตน สนทนาธรรมกถากับ ธรรมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ.

     เมื่อวิสาขาอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า ดูกรวิสาขะ ธรรมทินนาภิกษุณี เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากท่านพึงสอบถามเนื้อความ นั้นกะเรา แม้เราก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้น เหมือนที่ธรรมทินนาภิกษุณี พยากรณ์แล้ว เนื้อความแห่งพยากรณ์นั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านพึงจำทรงไว้อย่างนั้น เถิด

     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพจน์นี้แล้ว วิสาขอุบาสก ชื่นชมยินดีพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ฉะนั้นแล.

จบ จูฬเวทัทลสูตร ที่ ๔

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์