เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 มหาปรินิพพานสูตร ๑๓/๑๔ ให้สาวกถามข้อสงสัยถึง 3 ครั้งทุกคนนิ่งจากนั้นจึงเสด็จปรินิพพาน 636
 
 มหาปรินิพพานสูตร ตอนที่ ๑๐  ๑๑ ๑๒ ๑๓ ๑๔
 

มหาปรินิพพานสูตร #๑๓ (เนื้อหาพอสังเขป)

1 ตรัสเรื่อง ปาพจน์ (คำสอนที่เป็นหลักธรรม)
ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาขงพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

2 พระผู้มีพระภาคให้ภิกษุถามปัญหา
ตรัสถามถึง 3 ครั้ง แต่ภิกษุพากันนิ่ง พระอานนท์ กราบทูลว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ความสงสัย เคลือบแคลง ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ มิได้มี แก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้

3 ปัจฉิมวาจา คำพูดประโยคสุดท้าย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ในบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุรูปที่ต่ำที่สุด ก็เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในภายหน้า ลำดับนั้นทรงรับสั่ง บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขาร ทั้งหลายมีความเสื่อมไป เป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความ ไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

4 การปรินิพพาน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน(ระดับ1) ไปจนถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ(ระดับ9) แล้วไล่ ระดับลงจนถึงระดับ 1 แล้วย้อนขึ้นไปถึงระดับ 4 (จตุตถฌาน) แล้วปรินิพพาน จากนั้นได้เกิดแผ่นดิน ไหวใหญ่ เกิดความขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ ก็บันลือขึ้น

5 เกิดแผ่นดินไหว เกิดความขนพองสยองเกล้า
ทั้งกลองทิพย์ ก็บันลือขึ้น

6 คาถาของท้าวสหัมสบดีพรหม
พระตถาคตผู้เป็นศาสดาเช่นนั้น หาบุคคลจะ เปรียบเทียบมิได้ในโลก

7 คาถาของท้าวสักกะจอมเทพ
สังขาร ทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา....

8 คาถาของท่านพระอนุรุทธะ
ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ของพระมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว.. เหมือนดวงประทีปดับไปฉะนั้น

9. คาถาของท่านพระอานนท์
ความว่า เมื่อพระสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยอาการ อันประเสริฐ ทั้งปวงเสด็จ ปรินิพพานแล้ว ....

10. ท่านพระอนุรุทธะเตือนภิกษุ
พวกท่านอย่าเศร้าโศกอย่าร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่หรือว่าความเป็น ต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักทั้งสิ้น ต้องมี

11 อาการของเหล่าเทวดาหลังพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน
บางพวกสำคัญอากาศว่าเป็นแผ่นดิน สยายผมประคองแขน คร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือก ไปมา
บางพวกสำคัญแผ่นดินว่าเป็นแผ่นดิน สยายผมประคองแขน คร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา
เทวดาที่ปราศจากราคะ มีสติสัมปชัญญะ อดกลั้น โดยธรรม สังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง

12. พวกเจ้ามัลละเตรียมงานบูชาพระสรีระงาน ตกแต่งพุทธมณฑล ตลอด7วัน
ดูกรพนายพวกท่านจงเตรียมของหอมมาลัย และเครื่องดนตรีทั้งปวง บรรดามีในกรุงกุสินารา ไว้ให้พร้อม พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ทรงถือเอาของ หอม มาลัย และเครื่อง ดนตรีทั้งปวง กับผ้า ๕๐๐ คู่ เสด็จเข้าไปยังสาลวัน อันเป็นที่แวะพัก แห่งพวกเจ้ามัลละ เตรียมการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัยและ ของหอม ดาดเพดานผ้า ตกแต่งโรงมณฑล

 
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๗ -๑๑๑


มหาปรินิพพานสูตร (๑๓)
[๑๔๑][๑๕๒]

1
ตรัสเรื่อง ปาพจน์ (คำสอนที่เป็นหลักธรรม)

          [๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
          ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (คำสอนที่เป็นหลักธรรม) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มีก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ พวกเธอธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไป แห่งเรา

          ดูกรอานนท์ บัดนี้พวกภิกษุยังเรียกกัน และกันด้วยวาทะว่าอาวุโส ฉันใด โดย กาลล่วง ไปแห่งเรา ไม่ควรเรียกกัน ฉันนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุ ผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือ โคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส แต่ ภิกษุผู้อ่อนกว่า พึงเรียกภิกษุ ผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรือ อายัสมา

          ดูกรอานนท์ โดยล่วงไปแห่งเราสงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อย เสียบ้างได้ โดยล่วงไปแห่งเรา พึงลง พรหมทัณฑ์ (ลงโทษ) แก่ ฉันนภิกษุ(ภิกษุรูปเดียว) ท่านพระอานนท์ กราบทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พรหมทัณฑ์ เป็นไฉน

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

          ดูกรอานนท์  ฉันนภิกษุ พึงพูดได้ตามที่ตนปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่า ไม่พึงกล่าว ไม่พึงสั่งสอน



2
(พระผู้มีพระภาคเปิดโอกาสให้ภิกษุถามปัญหา)


          [๑๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ จะพึงมีบ้างแก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความ ร้อนใจ ภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว ยังมิอาจ ทูลถาม พระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะ พระพักตร์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นพากันนิ่ง แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม

          พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัย เคลือบแคลง ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติจะพึงมีบ้าง แก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อน ใจในภายหลังว่า พระศาสดา อยู่เฉพาะหน้าเรา แล้ว เรายังมิอาจทูลถามพระผู้มี พระภาคในที่เฉพาะ พระพักตร์ แม้ครั้งที่สามภิกษุเหล่านั้นก็พากันนิ่ง

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บางทีพวกเธอ ไม่ถาม แม้เพราะความเคารพในพระศาสดา แม้ภิกษุผู้เป็นสหาย ก็จงบอกแก่ภิกษุ ผู้สหายเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกนั้น พากันนิ่ง

          ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์ เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า ความสงสัย เคลือบแคลง ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ มิได้มีแก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

          ดูกรอานนท์ เธอพูดเพราะความเลื่อมใสตถาคตหยั่งรู้ในข้อนี้เหมือนกันว่า ความสงสัย เคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ มิได้มีแก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ บรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุรูปที่ต่ำที่สุด ก็เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า



3
(ปัจฉิมวาจา คำพูดสุดท้าย)


          [๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมี ความเสื่อมไป เป็นธรรมดา พวกเธอ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระปัจฉิมวาจา ของ พระตถาคต




4
ลำดับขั้นการปรินิพพาน

          [๑๔๔] ลำดับนั้น
(ลำดับเข้าสมาธิ ปริพนิพพาน เริ่มจากสมาธิระดับ 1 ขึ้นไปถึงระดับ9)
พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน (ฌาน1)
ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน (ออกฌาน1 เข้าฌาน2)
ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน (ออกฌาน2 เข้าฌาน3)
ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน (ออกฌาน3 เข้าฌาน4)
ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ(ออกฌาน4 เข้าอากาสา-ระดับ5)
ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ (ออก5เข้า6)
ออกจาก วิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ (ออก6เข้า7)ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ(ออก7เข้า8) ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ(ออก8เข้า9

          ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถามท่านพระอนุรุทธะว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานแล้วหรือ ท่านพระอนุรุทธะ ตอบว่าอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาค ยังไม่เสด็จปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค
(จากสมาธิระดับ 9 ลงมาจนถึงระดับ 1 แล้วย้อนขึ้นไปถึงระดับ 4 แล้วปรินิพพาน)

ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้วทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ(ออก9เข้า8)
ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ (ออก8เข้า7)ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ (ออก7 เข้า6)ออกจากวิญญานัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ (ออก6 เข้า5)ออกจากอากาสนัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน (ออก5 เข้า4)
ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน (ออก4 เข้า3)
ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน (ออก3 เข้า2)
ออกจากทุติยฌาน แล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน (ออก2 เข้า1)
ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน (ออก1 เข้า2) **ย้อนขึ้น**
ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน (ออก2 เข้า3)
ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน (ออก3 เข้า4)
พระผู้มีพระภาค ออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับ (แห่งการพิจารณาองค์จตุตถฌานนั้น)


5
(เกิดแผ่นดินไหว เกิดความขนพองสยองเกล้า)


          [๑๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดความขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ ก็บันลือขึ้น



6
(คาถาของท้าวสหัมบดีพรหม)

          [๑๔๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จปรินิพพาน
ท้าวสหัมบดีพรหม (เทวดาชั้นพรหม) ได้กล่าวคาถานี้ความว่า
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จักต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แต่พระตถาคตผู้เป็นศาสดาเช่นนั้น หาบุคคลจะ
เปรียบเทียบ มิได้ในโลก เป็นพระสัมพุทธเจ้าทรงมีพระกำลังยังเสด็จ ปรินิพพาน

[๑๔๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จปรินิพพาน



7
(คาถาของท้าวสักกะจอมเทพ)


          ท้าวสักกะจอมเทพ (ราชาแห่งเทวดาชั้นพรหม) ได้ตรัสพระคาถานี้ความว่า สังขาร ทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขาร เหล่านั้นเป็นสุข



8
(คาถาของท่านพระอนุรุทธะ)

          [๑๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จปรินิพพาน
          ท่านพระอนุรุทธะ(พระอรหันต์) ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ความว่า ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ของพระมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงปรารภสันติ ทรงทำกาละ มิได้มีแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงอดกลั้นเวทนาได้แล้ว ความพ้นแห่งจิต ได้มีแล้ว เหมือนดวงประทีปดับไปฉะนั้น



9

(คาถาของพระอานนท์)

          [๑๔๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จปรินิพพาน
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวคาถานี้ ความว่า เมื่อพระสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยอาการ อันประเสริฐทั้งปวงเสด็จ ปรินิพพานแล้ว ในครั้งนั้นได้เกิดความอัศจรรย์น่าพึงกลัว และ เกิดความขนพองสยองเกล้า

          [๑๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุทั้งหลาย นั้น ภิกษุเหล่าใดยังมีราคะไม่ไปปราศแล้ว ภิกษุเหล่านั้น บางพวกประคองแขนทั้งสอง คร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมาดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุ ในโลก อันตรธานเสียเร็วนัก ส่วนภิกษุเหล่าใดที่มีราคะไปปราศ แล้วภิกษุเหล่านั้น มีสติ สัมปชัญญะ อดกลั้นโดยธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์จะพึงได้ในสังขารนี้แต่ที่ไหน



10
(ท่านพระอนุรุทธะเตือนภิกษุ
)

          [๑๕๑] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะ เตือนภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยอาวุโส ทั้งหลาย พวกท่านอย่าเศร้าโศกอย่าร่ำไรไปเลย เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัส บอกไว้ ก่อนแล้ว ไม่ใช่หรือว่าความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรัก ของชอบใจ ทั้งสิ้นต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้ แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิด แล้วมีแล้วปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่า ทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

          ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พวกเทวดาพากันยกโทษอยู่


11

(อาการของเหล่าเทวดาหลังพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน)

          ท่านพระอานนท์ถามว่า ท่าน อนุรุทธะ พวกเทวดาเป็นอย่างไร กระทำไว้ ในใจเป็นไฉน ท่านพระอนุรุทธะ ตอบว่ามีอยู่ อานนท์ผู้มีอายุ เทวดาบางพวกสำคัญ อากาศ ว่าเป็นแผ่นดิน สยายผมประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือก ไปมา ดุจมีเท้าอันขาดแล้วรำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคต เสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก อันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้

          เทวดาบางพวก สำคัญแผ่นดินว่าเป็นแผ่นดิน สยายผม ประคองแขน ทั้งสอง คร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมาดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพาน เสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลกอันตรธาน เสียเร็วนัก ดังนี้

          ส่วนเทวดาที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ อดกลั้น โดยธรรม สังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์จะพึงได้ในสังขารนี้ แต่ที่ไหน

          ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระอานนท์ ยังกาลให้ล่วงไปด้วย ธรรมีกถา ตลอดราตรีที่ยังเหลืออยู่นั้น ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะสั่งท่าน พระอานนท์ ว่า ไปเถิด อานนท์ผู้มีอายุท่านจงเข้าไปเมืองกุสินารา บอกแก่พวกเจ้ามัลละ เมือง กุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ขอพวกท่านจง ทราบกาล อันควรในบัดนี้เถิด ท่านพระอานนท์รับคำท่านพระอนุรุทธะแล้ว เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือ บาตร และจีวร เข้าไปเมืองกุสินารา ลำพังผู้เดียว

          [๑๕๒]
สมัยนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคาร ด้วย เรื่องปรินิพพานนั้นอย่างเดียว ลำดับนั้นท่านพระอานนท์ เข้าไปยังสัณฐาคาร  ของพวกเจ้า มัลละเมืองกุสินารา ครั้นเข้าไปแล้วได้บอกแก่พวกเจ้ามัลละเมือง กุสินารา ว่า



12

(พวกเจ้ามัลละเตรียมงานบูชาพระสรีระ งานตกแต่งพุทธมณฑลตลอด ๗ วัน)

          ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ขอท่านทั้งหลาย จงทราบกาลอันควร ในบัดนี้เถิด พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสาและ ประชาบดี ได้ทรง สดับคำนี้ของท่านพระอานนท์แล้ว เป็นทุกข์เสียพระทัยเปี่ยม ไปด้วยความทุกข์ในใจ บางพวกสยาย พระเกศา ประคองหัตถ์ทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีบาทอันขาดแล้วทรงรำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จ ปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุ ในโลกอันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้

          ลำดับนั้นพวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินาราตรัสสั่งพวกบุรุษว่า ดูกรพนาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงเตรียมของหอมมาลัย และเครื่องดนตรีทั้งปวง บรรดามีในกรุง กุสินารา ไว้ให้พร้อมเถิด พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ทรงถือเอาของ หอม มาลัย และเครื่อง ดนตรีทั้งปวง กับผ้า ๕๐๐ คู่ เสด็จเข้าไปยังสาลวัน อันเป็นที่แวะพัก แห่งพวกเจ้ามัลละ และเสด็จเข้าไปถึงพระสรีระพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปถึง แล้วสักการะเคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัยและ ของหอม ดาดเพดานผ้า ตกแต่งโรงมณฑล ยังวันนั้น ให้ล่วงไป ด้วยประการฉะนี้

ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราได้มีความดำริว่า การถวายพระเพลิงพระสรีระ พระผู้มีพระภาคในวันนี้พลบค่ำเสียแล้ว พรุ่งนี้เราจักถวายพระเพลิง พระสรีระ พระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราสักการะ เคารพนับถือ บูชา พระสรีระ พระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัยและของหอม ดาดเพดานผ้า ตกแต่งโรงมณฑล ยังวันที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ให้ล่วงไป

          ครั้นถึงวันที่เจ็ด พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราได้มีความดำริว่า เราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัย และ ของหอม จักเชิญไปทางทิศทักษิณแห่งพระนคร แล้วเชิญไปภายนอกพระนคร ถวายพระเพลิง พระสรีระพระผู้มีพระภาค ทางทิศทักษิณ แห่งพระนครเถิด

มหาปรินิพพานสูตร 14/14  Next
 
 
พุทธวจน : ออนไลน์
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์