พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๙
เราจักไปโกฏิคาม
1
(เพราะไม่รู้อริยสัจสี่จึงท่องเที่ยวไป)
[๘๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์มาไปกันเถิด เราจักไปโกฏิคาม
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงโกฏิคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ โกฏิคามนั้น ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่ง กะภิกษุ ทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เราและพวกเธอ จึงเร่ร่อน ท่องเที่ยวไป สิ้นกาลนานอย่างนี้ เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เป็นไฉน เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอด ทุกขอริยสัจ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไป ตลอดกาลนานอย่างนี้ เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอด ทุกขสมุทัยอริยสัจ ... ทุกขนิโรธ อริยสัจ ... ทุกขนิโรธคา มินีปฏิปทา อริยสัจเรา และ พวกเธอจึงเร่ร่อน ท่องเที่ยวไป สิ้นกาลนานอย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว ตัณหา อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๘๗] เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง เราและพวกเธอจึงท่องเที่ยวไป ในชาติ นั้นๆ สิ้นกาลนานเราได้เห็นอริยสัจ ๔ เหล่านั้นแล้ว เราถอนตัณหาอันจะนำไป สู่ภพ เสียได้แล้ว มูลแห่งทุกข์เราตัดได้ขาดแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ดังนี้
[๘๘] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคามแม้นั้น ทรงกระทำ ธรรมีกถา นี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรม แล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิ อบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ โดยชอบคือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
[๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคาม แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
2
(เสด็จไปยังนาทิกคาม)
ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไป ยังนาทิกคาม
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนาทิกคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค ประทับในที่พัก ซึ่งก่อด้วยอิฐที่นาทิกคามนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไป เฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มี พระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
3
(ทรงทำนายชาวเมืองนาทิกคามที่ทำกาละไปแล้ว)
ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภิกษุนามว่าสาฬหะ มรณภาพแล้วในนาทิกคาม คติและภพ เบื้องหน้า ของเธอเป็นไฉน
ภิกษุณีนามว่า นันทา มรณภาพแล้วใน นาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้า ของเธอ เป็นไฉน อุบาสกนามว่า สุทัตตะ ... อุบาสิกา นามว่า สุชาดา ... อุบาสกนามว่ากกุธะ ... อุบาสกนามว่า การฬิมพะ ... อุบาสก นามว่า นิกฏะ ... อุบาสกนามว่า กฏิสสหะ ... อุบาสกนามว่า ตุฏฐะ ... อุบาสก นามว่า สันตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า ภฏะ ... อุบาสกนามว่า สุภฏะ ทำกาละ แล้วในนาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเขาเป็นไฉน
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุนามว่า สาฬหะ กระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่ง ของตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ภิกษุณีนามว่า นันทา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไปเป็น โอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็น ธรรมดา
อุบาสกนามว่า สุทัตตะ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง เป็นพระสกทาคามี กลับมายังโลก นี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุด แห่งทุกข์
อุบาสิกานามว่า สุชาดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไปเป็น พระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า
อุบาสกนามว่า กกุธะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพาน ในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
อุบาสกนามว่า การฬิมพะ ... อุบาสกนามว่า นิกฏะ ... อุบาสกนามว่ากฏิสสหะ ...
อุบาสกนามว่า ตุฏฐะ ...อุบาสกนามว่า สันตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า ภฏะ ... อุบาสกนามว่า สุภฏะ เพราะ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพาน ในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
ดูกรอานนท์ พวกอุบาสกในนาทิกคาม อีก ๕๐ คน กระทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์ เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอัน ไม่กลับมาจากโลกนั้น เป็นธรรมดา
พวกอุบาสกในนาทิกคาม ๙๖ คน ทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และ เพราะ ราคะโทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี กลับมายังโลกนี้ คราวเดียว เท่านั้น แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์
พวกอุบาสกในนาทิกคาม ๕๑๐ คน ทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไปเป็นพระ โสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ ในภายหน้า
ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วจะพึงทำกาละนั้น ไม่อัศจรรย์ เมื่อผู้นั้นๆ ทำ กาละ แล้ว พวกเธอจักเข้าไปเฝ้าพระตถาคต แล้วทูลถามเนื้อความนั้น อันนี้เป็นความลำบากแก่พระตถาคต เพราะฉะนั้น เราจักแสดงธรรมปริยาย
ชื่อ ธรรมาทาส สำหรับที่จะให้ อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์ ตนด้วยตนเอง ได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่ง สัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัย
สิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็น พระโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ดังนี้
ก็ธรรมปริยายชื่อว่า ธรรมาทาส นั้น เป็นไฉน
ดูกรอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอัน ไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้ง ซึ่งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น ยิ่งไปกว่าเป็นพระศาสดาของ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้วเป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้ เป็นผู้ ประกอบ ด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ว่าพระธรรมอันพระผู้มีพระภาค ตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้า มาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้
4
(บุคคลแปดจำพวกควรทำอัญชลี)
เป็นผู้ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติ ดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษสี่ บุรุษบุคคลแปด นี้พระสงฆ์สาวกของ พระผู้มีพระภาค เป็นผู้ ควรของคำนับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลอันพระอริยะ ใคร่แล้ว อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฐิ ไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ
ดูกรอานนท์ อันนี้แลคือธรรมปริยายชื่อว่าธรรมาทาส สำหรับที่จะให้ อริยสาวก ผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก สิ้นแล้ว มีกำเนิด แห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็น พระโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมี อันจะตรัสรู้ ในภายหน้า ฯ
ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐในนาทิกคามนั้น ทรงกระทำ มีกถา นี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ
อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีล อบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญา อันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อม หลุดพ้น จากอาสวะ โดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
[๙๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในนาทิกคาม แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
5
(เสด็จไปยังเมืองเวสาลี)
ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังเมืองเวสาลี
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค พร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเมืองเวสาลีแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ใน อัมพปาลีวัน เขตเมืองเวสาลีนั้น ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มารับสั่งว่า
6
(จงมีสติสัมปะชัญญะเห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ อยู่นี้เป็นอนุสาสนี ของเรา สำหรับเธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา เห็นกายในกายอยู่ พิจารณา เห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ พิจารณา เห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็น ธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ ประกอบด้วยสัมป ชัญญะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูดการนิ่ง อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนี ของเราสำหรับเธอ
7
(แสดงธรรมมิกถาที่เมืองเวสาลี)
[๙๑] นางอัมพปาลีคณิกา ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงเมือง เวสาลี ประทับอยู่ ณ อัมพวันของเรา เขตเมืองเวสาลี ครั้งนั้น นางอัมพปาลีคณิกา สั่งให้จัดยานที่ดีๆแล้ว ขึ้นยานออกจากเมืองเวสาลีตรงไปยังอารามของตน จนตลอด ภูมิประเทศ เท่าที่ยานจะไปได้ ลงจากยานเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงยัง นางอัมพปาลีคณิกา ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา นางอัมพปาลีคณิกา อันพระผู้มี พระภาคทรง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตของหม่อมฉัน ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วย ดุษณีภาพ
ลำดับนั้น นางอัมพปาลีคณิกา ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว จึงลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณหลีกไปแล้ว
|