พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๗ -๑๑๑
มหาปรินิพพานสูตร (๖)
1
เสด็จเมืองเวสาลี เพื่อปลงสังขาร
[๙๔] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไป บิณฑบาตยังเมืองเวสาลี ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจาก บิณฑบาตแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ เธอจงถือเอา ผ้านิสีทนะ* ไปเราจักเข้าไปยัง ปาวาลเจดีย์** เพื่อ พักผ่อนตอนกลางวัน ท่านพระอานนท์ ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ถือเอาผ้านิสีทนะ ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์ฯ(ตามไปข้างหลัง)
*ผ้านิสีทนะ คือ ผ้าปูรองนั่ง
**ปาวาลเจดีย์(สถูปเจดีย์) คือสถานที่พระผู้มีพระภาคใช้ปลงสังขาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ครั้นเสด็จเข้าไป
แล้วประทับนั่ง บนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูลาดถวาย ฝ่ายท่านพระอานนท์ ถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้ว นั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์ นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มี พระภาคได้รับสั่งกะท่านว่า
ดูกรอานนท์ เมืองเวสาลี น่ารื่นมย์ อุเทนเจดีย์ โคตมเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์ ปาวาลเจดีย์ ต่างน่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่ง เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้วผู้นั้นเมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป
ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำ ให้เป็น ดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป
แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง กระทำนิมิตอันหยาบ โอภาสอันหยาบอย่างนี้ *ท่านพระอานนท์ ก็มิอาจรู้ทัน จึงมิได้ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจง ทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้
*(พระไตรปิฏกบางสำนักใช้คำว่า นิมิตอันโอฬาร โอภาสอันโอฬาร)
เพราะถูกมารเข้าดลใจแล้ว แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งกะท่าน พระอานนท์ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งกะท่านพระอานนท์ ฯลฯ ท่านพระอานนท์ก็ มิอาจรู้ทัน .. เพราะถูกมารเข้าดลใจแล้ว (มารเข้าสิงอานนท์)
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า เธอจงไปเถิดอานนท์ เธอรู้กาล อันควรในบัดนี้ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วไปนั่ง ณ โคนไม้ แห่งหนึ่งในที่ไม่ไกลฯ
(พระพุทธเจ้าทรงกล่าว อิทธิบาท๔ ว่าหากพระองค์เจริญแล้ว จะทำให้มีชีวิตไปถึง 1 กัป หรือมากกว่า แต่พระอานนท์ไม่ได้เฉลียวใจ จึงไม่ได้ทูลขอให้พระองค์ทรงพระชนม์ชีพยืนนาน แม้พระองค์จะตรัสถึง 3 ครั้ง พระอานนท์ก็ไม่เข้าใจ ... เหตุเป็นเพราะพระอานนท์ ถูกมาร กลั่นแกล้ง ดลใจ ไม่ให้รู้ตามทันพระพุทธเจ้า)
....................................................................................................................................................
2
(มารเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอให้พระองค์
จงปรินิพพาน)
[๙๕] ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง มารผู้มีบาปยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจง ปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
ก็พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า
ดูกรมารผู้มีบาป (ตรัสครั้งที่ ๑) ภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ยังแสดง ธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ ปรับปวาท ที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ เพียงใด เราจักยังไม่ ปรินิพพานเพียงนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุผู้เป็นสาวก ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ เฉียบแหลม แล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้าเป็น พหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรม สมควร แก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ ปรับปวาท ที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้ ฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจง ปรินิพพาน ในบัดนี้เถิด ขอพระ สุคตจงปรินิพพาน ในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลา ปรินิพพาน ของพระผู้มี พระภาค
ก็พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า
ดูกรมารผู้มีบาป(ครั้งที่ ๒) ภิกษุณีผู้สาวิกา ของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ภิกษุณีผู้สาวิกาของ พระผู้มีพระภาค เป็นผู้ เฉียบแหลม แล้ว.. แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ ปรับปวาทที่ บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อย โดยสหธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจง ปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มี พระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัส พระวาจานี้ไว้ว่า
ดูกรมารผู้มีบาป (ครั้งที่ ๓) อุบาสกผู้เป็นสาวก ของเรา จักยังไม่เฉียบ แหลม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ อุบาสกผู้เป็นสาวก ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ เฉียบแหลมแล้ว ... แสดงธรรม มีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาท ที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อย โดยสหธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคต จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า
ดูกรมารผู้มีบาป(ครั้งที่ ๔) อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกา ของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ อุบาสิกาผู้เป็น สาวิกาของ พระผู้มีพระภาค เป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ ของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกกระทำ ให้ง่ายได้ แสดงธรรม มีปาฏิหาริย์ข่มขี่ ปรับปวาท ที่บังเกิดขึ้นให้ เรียบร้อยโดย สหธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจง ปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า
ดูกรมารผู้มีบาป (ครั้งที่ ๕) พรหมจรรย์ของเรานี้ จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลายรู้กัน โดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่ง พวกเทวดาและมนุษย์ ประกาศ ได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคนี้ สมบูรณ์แล้ว กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งพวกเทวดา และมนุษย์ ประกาศได้ดีแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคต จง ปรินิพพาน ในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรมารผู้ มีบาปท่านจง มีความขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีก สามเดือนแต่นี้ตถาคตก็จักปรินิพพาน
....................................................................................................................................................
3
(ปลงสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์)
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหว ใหญ่ และขนพองสยองเกล้า น่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ ก็บันลือลั่น
พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
[๙๖] มุนีปลงเสียได้แล้วซึ่งกรรมที่ชั่งได้ และกรรมที่ชั่งไม่ได้ อันเป็นเหตุ สมภพ เป็นเครื่องปรุงแต่งภพ และได้ยินดีในภายในมีจิตตั้งมั่น ทำลายกิเลสที่เกิด ในตนเสีย เหมือนนักรบทำลายเกราะฉะนั้น
[๙๗] ครั้งนั้น พระอานนท์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ เหตุไม่ เคยมีมา มีขึ้น แผ่นดินใหญ่นี้ไหวได้ แผ่นดินใหญ่นี้ไหวได้จริงๆ ความขนพอง สยองเกล้า น่าพึงกลัวทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็น ปัจจัย สำหรับให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้า แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์ นั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมามีขึ้น แผ่นดินใหญ่นี้ไหวได้ แผ่นดินใหญ่นี้ไหวได้จริงๆ ความขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือ ลั่น อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย สำหรับให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
....................................................................................................................................................
4
เหตุเกิดแผ่นดินไหว ๘ ประการ
[๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพระอานนท์ เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการเหล่านี้แล เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ๘ ประการเป็นไฉน
(1) ดูกรอานนท์ มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ สมัยที่ลมใหญ่พัด เมื่อลมใหญ่พัดอยู่ย่อมยังน้ำให้ไหว น้ำไหวแล้ว ย่อมยังแผ่นดิน ให้ไหว อันนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่หนึ่ง เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
(2) อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญใน ทางจิต หรือว่าเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เขาเจริญปฐวีสัญญาเพียง เล็กน้อย เจริญอาโปสัญญาอย่างแรงกล้า เขาย่อมยังแผ่นดินนี้ให้สะเทือนสะท้าน หวั่นไหวได้ อันนี้เป็นปัจจัยข้อที่สอง เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
(3) อีกประการหนึ่ง เมื่อใดพระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ลงสู่พระ ครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้าน หวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็น ปัจจัยข้อที่สาม เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
(4) อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติ จากพระครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่สี่ เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
(5) อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ห้า เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
(6) อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตให้อนุตรธรรมจักร เป็นไป เมื่อนั้นแผ่นดิน นี้ ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่หก เพื่อให้แผ่นดินไหว ใหญ่ปรากฏ
(7) อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุ สังขาร เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อ ที่เจ็ด เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
(8) อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส นิพพานธาตุ เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็น ปัจจัยข้อที่แปด เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ
ดูกรอานนท์ เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการ เหล่านี้แล เพื่อให้ แผ่นดินไหว ใหญ่ปรากฏ
....................................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐
สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๑
5
บริษัท ๘ พวกเป็นไฉน (ตรัสกับอานนท์)
[๙๙] ดูกรอานนท์ บริษัท ๘ พวกเหล่านี้แล ๘ พวกเป็นไฉน คือ
(๑) ขัตติย บริษัท
(๒) พราหมณบริษัท
(๓) คฤหบดีบริษัท
(๔) สมณบริษัท
(๕) จาตุมหาราชิกบริษัท
(๖) ดาวดึงส์บริษัท
(๗) มารบริษัท
(๘) พรหมบริษัท
ดูกรอานนท์ เรายังจำได้ว่า เราเข้าไปยังขัตติยบริษัท หลายร้อยครั้ง ทั้งเราเคยนั่ง เคยปราศรัย เคยเข้าสนทนาในขัตติยบริษัทนั้น วรรณะของพวกนั้น เป็นเช่นใด ของเราก็เป็นเช่นนั้น เสียงของพวกนั้นเป็นเช่นใด ของเราก็เป็นเช่นนั้น เรายังพวกนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา เมื่อเราพูดอยู่ก็ไม่มีใครรู้ว่า ผู้นี้คือใครหนอพูดอยู่ จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์
ครั้นเรายังพวกนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วย ธรรมีกถา แล้วหายไป เมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ผู้นี้คือใครหนอ หายไปแล้ว จะเป็น เทวดาหรือมนุษย์
ดูกรอานนท์ เรายังจำได้ว่า เราเข้าไปยังพราหมณบริษัท หลายร้อยครั้ง ... คฤหบดีบริษัทหลายร้อยครั้ง ... สมณบริษัทหลายร้อยครั้ง ... จาตุมหาราชิกบริษัท หลายร้อยครั้ง ... ดาวดึงสบริษัทหลายร้อยครั้ง ... มารบริษัท หลายร้อยครั้ง ... พรหมบริษัทหลายร้อยครั้ง ... ทั้งเราเคยนั่ง เคยปราศรัย
เคยเข้าสนทนาในพรหมบริษัทนั้น วรรณะของพวกนั้นเป็นเช่นใด ของเราก็เป็น เช่นนั้น เสียงของพวกนั้นเป็นเช่นไร ของเราก็เป็นเช่นนั้น เรายังพวกนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา เมื่อเราพูดอยู่ก็ไม่มีใครรู้ว่า ผู้นี้คือ ใครหนอพูดอยู่ จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์
ครั้นเรายังพวกนั้นให้ เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ใช้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วหายไป เมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ผู้นี้คือใครหนอ หายไปแล้วจะเป็น เทวดาหรือมนุษย์
ดูกรอานนท์ บริษัท ๘ เหล่านี้แล
6
อภิภายตนะ ๘ ประการ
[๑๐๐] ดูกรอานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการ เหล่านี้แล ๘ ประการ
เป็นไฉน คือ
(1) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็กซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิว พรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็น อภิภายตนะข้อที่หนึ่ง
(2) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่สอง
(3) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่สาม
(4) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ ซึ่งมีผิวพรรณ ดีและมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่สี่
(5) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอก อันเขียว มีวรรณะ เขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว ดอกผักตบอันเขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยงเขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว แม้ฉันใด
ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว ฉันนั้น เหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่ห้า
(6) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง ดอกกรรณิการ์อันเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสอง เกลี้ยงเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วนมีรัศมีเหลือง แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญ อย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะ ข้อที่หก ฯ
(7) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง ดอกหงอนไก่อันแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง หรือว่าผ้าที่กำเนิด ในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยงแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง แม้ฉันใด
ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความ สำคัญ อย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่เจ็ด
(8) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว ดาวประกายพฤกษ์อันขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว หรือว่าผ้าที่ กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยงขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว แม้ฉันใด
ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่แปด
ดูกรอานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการ เหล่านี้แล
....................................................................................................................................................
7
วิโมกข์ ๘ ประการ
[๑๐๑] ดูกรอานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้แล ๘ ประการ เป็น ไฉน คือ
(1) ภิกษุเห็นรูป อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่หนึ่ง
(2) ภิกษุมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอก อันนี้เป็นวิโมกข์ ข้อที่สอง
(3) ภิกษุน้อมใจไปว่า สิ่งนี้งาม อันนี้ เป็นวิโมกข์ข้อที่สาม
(4) เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา ภิกษุเข้าถึงอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ ดังนี้ อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่สี่
(5) เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง ภิกษุเข้าถึงวิญญา ณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ห้า
(6) เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง ภิกษุเข้าถึงอากิญ จัญญายตนะด้วยมนสิการว่า น้อยหนึ่งไม่มี ดังนี้ อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่หก
(7)เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง ภิกษุเข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่เจ็ด
(8) เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง ภิกษุเข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่แปด
ดูกรอานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้แล
|