เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 มหาปรินิพพานสูตร ๑๒/๑๔ อานนท์ร่ำให้ สุภัททะ ถามข้อสงสัยแล้วขอบวช(สาวกคนสุดท้าย) 635
 
 มหาปรินิพพานสูตร ตอนที่ ๑๐  ๑๑ ๑๒ ๑๓ ๑๔
 
มหาปรินิพพานสูตร #๑๒ (เนื้อหาพอสังเขป)

1) ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก(ผู้สมควรสร้างสถูป) ๑. พระตถาคตอรหันตสัมมา- ๒. พระปัจเจก ๓. สาวกของ ตถาคต ๔. พระเจ้าจักรพรรดิ

2) พระอานนท์ร่ำให้ ว่าพระศาสดาจะปรินิพพานเสียแล้ว ขณะที่ตนเอง ยังเป็นแค่เสขบุคคล ยังไม่บรรลุเป็นอรหันต์ จึงมีกิจที่ต้องทำต่อ พระศาสดา จึงเรียกมาอบรม ถึงความพลัดพราก การทำลาย ว่าเป็นของธรรมดา การขอให้ ไม่ถูกทำลายจึงเป็นฐานะที่เป็นไปไม่ได้  พร้อมตรัสว่า อานนท์ได้ทำ คุณประโยชน์ ในฐานะเป็น อุปัฏฐากตถาคต เป็นบุญกุศลที่จะทำให้พ้นไปจากอาสวะ

3) อัพภูตธรรม อันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มีอยู่ในอานนท์ เช่นเดียวกับคุณสมบัติของจักรพรรดิ.. ๔ ประการ คือ ๑. ภิกษุย่อมยินดีเมื่อเห็นพระอานนท์ ๒. ภิกษุยินดีเมื่ออานนท์แสดงธรรม ๓. ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ย่อมยินดีเมื่อเห็นพระอานนท์ ๔. อุบาสก อุบาสิกกาย่อมยินดี เมื่ออานนท์แสดงธรรม

4) อานนท์ทูลว่า กุสินาราเป็นเมืองเล็ก ไม่ควรเสด็จปรินิพพาน.. พระศาสดาตรัสว่า กุสินาราในอดีต มีชื่อว่า กุสาวดีราชธานี  มีพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นจักรพรรดิ์ เป็นเมืองที่มีความรุ่งเรือง มั่งคั่ง กลางวันกลางคืน มีเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง

5) เสด็จไปยังเมืองกุสินารา อานนท์ทูลว่า กุสินารา เป็นเมืองเล็ก ไม่ควรปรินิพพานที่เมืองนี้ ... พระผู้มีพระภาคให้พระอานนท์ไปบอกเจ้าเมือง มัลละ ว่า ตถาคตจะปรินิพพานที่เมืองนี้ ในปัจฉิมยาม แห่งราตรีนี้.. เจ้ามัลละ และพระญาติ เป็นทุกข์ เสียใจ พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ร่วมกับอำมาตย์ เป็น จำนวนมาก พระอานนท์จึงจัดให้เข้าเฝ้า ตามลำดับสกุล

6) ปริพาชก สุภัททะ เข้าเฝ้าในปัจฉิมยามนั้น เพื่อซักถามข้อธรรม.. แต่พระอานนท์ตรัสห้ามถึง 3 ครั้ง ว่าเป็น การเบียดเบียนพระตถาคต พระองค์เรียก อานนท์มารับสั่งว่า สุภัททะ ไม่ได้มาเบียดเบียน แต่ต้องการถามปัญหา เพื่อความรู้ จึงให้เข้ามาพบ ข้อสงสัยของ สุภัททะ คือ จะเชื่อได้อย่างไรว่า สมณะ พราหมณ์ ลัทธิต่างๆ ได้ตรัสรู้จริงตามที่อ้างกัน หรือว่ายังไม่ได้ตรัสรู้

7) มรรคมีองค์แปด มีเฉพาะธรรมวินัยตถาคตเท่านั้น
ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรค คือองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะ ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔
ส่วนธรรมวินัย ใด มีอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ย่อมมีสมณะที่ ๑ ๒ ๓ ๔ (มรรค ๘ มีในธรรมของตถาคตเท่านั้น) สุภัททปริพาชก ได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์นี้ ขอถึง พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ พร้อมกับขอบรรพชา

 
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๗ -๑๑๑


มหาปรินิพพานสูตร (๑๒)
[๑๓๔][๑๔๐]

1
(
ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก(ผู้สมควรสร้างสถูป)

        [๑๓๔] ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล* ๔ จำพวก ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
*(ถูปารหบุคคล ผู้สมควรสร้างสถูป)
      ๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็น ถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง
      ๒. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เป็น ถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง
      ๓. สาวกของพระตถาคต เป็น ถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง
      ๔. พระเจ้าจักรพรรดิ เป็น ถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง

      ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระตถาคตอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า จึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมาก ยังจิตให้เลื่อมใสว่านี้ เป็นสถูปของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใส ใน สถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัย อำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็น ถูปารหบุคคล

      ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงเป็น ถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใส ว่า นี้เป็นสถูปของพระปัจเจก สัมพุทธเจ้า นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสใน สถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ ข้อนี้แล พระปัจเจก สัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล

      ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สาวกของพระตถาคต จึงเป็น ถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมาก ยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของสาวกของพระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นพวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจ ประโยชน์ข้อนี้แล สาวกของพระตถาคตจึงเป็นถูปารหบุคคล

      ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็น ถูปารหบุคคลชน เป็นอันมาก ยังจิตให้เลื่อมใส ว่า นี้เป็นสถูปของพระธรรมราชา ผู้ทรงธรรมนั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็นถูปารหบุคคล ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้แล



2
(
พระอานนท์ร่ำให้)

[๑๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้คันทวย ร้องไห้ อยู่ว่าเรายังเป็น เสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้ อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งถามพวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไป ไหน พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหาร ยืนเหนี่ยวไม้คันทวย ร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่ พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย

พระผู้มีพระภาค จึงรับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า เธอจงไปเถิดภิกษุ จงบอกอานนท์ตามคำ ของเราว่า ท่านอานนท์ พระศาสดา รับสั่งหาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่ใกล้

ครั้นเข้าไปหาแล้วบอกว่า ท่านอานนท์พระศาสดา รับสั่งหาท่าน ท่านพระอานนท์ รับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง

ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านว่า อย่าเลย อานนท์เธออย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย เราได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็น ต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของ ชอบใจทั้งสิ้นต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้ แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัย ปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่าขอสิ่งนั้น อย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ดูกรอานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคต ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบ ด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน ธอได้กระทำบุญไว้แล้วอานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มี อาสวะโดยฉับพลัน

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด ได้มีแล้วในอดีตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐาก ของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้นอย่างยิ่ง ก็เพียงนี้ เท่านั้น คือเหมือนอานนท์ของเรา

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด จักมีในอนาคตกาล ภิกษุผู้เป็น อุปัฏฐาก ของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้น อย่างยิ่งก็เพียงนี้เท่านั้นคือ เหมือนอานนท์ของเรา

อานนท์เป็นบัณฑิต ย่อมรู้ว่า

นี้เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคต
นี้เป็นกาลของพวกภิกษุ
นี้เป็นกาลของพวกภิกษุณี
นี้เป็นกาลของพวกอุบาสก
นี้เป็นกาลของพวกอุบาสิกา
นี้เป็นกาลของพระราชา
นี้เป็นกาลของราชมหาอำมาตย์
นี้เป็นกาลของพวกเดียรถีย์
นี้เป็นกาลของพวกสาวกเดียรถีย์ ฯ



3
(อัพภูตธรรม อันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มีอยู่ในอานนท์)

      [๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรม อันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มีอยู่ใน อานนท์ อัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

.ถ้าภิกษุบริษัท เข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี

.ถ้าอานนท์แสดงธรรมใน ภิกษุบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดงธรรม ภิกษุบริษัทนั้นก็ยินดี ภิกษุบริษัท ยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น

๓.ถ้าภิกษุณีบริษัท.. อุบาสกบริษัท .. อุบาสิกา บริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น อุบาสิกาบริษัทนั้นย่อมยินดี

.ถ้าอานนท์แสดงธรรม ในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดงอุบาสิกา บริษัทนั้นก็ยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น

     
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในอานนท์

( สรุป 1.ภิกษุเห็นอานนท์ย่อมยินดี 2.ภิกษุฟังธรรมจากอานนท์ย่อมยินดี 3.ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เห็นพระอานนท์ย่อมยินดี 4.อุบาบกอุบาสิกาฟังธรรมจากพระอานนท์ย่อมยินดี)

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มีอยู่ในพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าขัตติยบริษัท เข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการที่ได้เฝ้า ขัตติย บริษัทนั้นย่อม ยินดี

      ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระราชดำรัส ในขัตติย บริษัทนั้น แม้ด้วยพระราชดำรัส ขัตติยบริษัทนั้นก็ยินดี ขัตติยบริษัทยังไม่อิ่มเลย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงนิ่งไป ในเวลานั้น ถ้าพราหมณ์บริษัท ... คฤหบดีบริษัท ... สมณบริษัท เข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการที่ได้เฝ้า สมณบริษัทนั้นย่อมยินดี

      ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชดำรัส ในสมณบริษัทนั้น แม้ด้วยพระราชดำรัส สมณ  บริษัทนั้นก็ยินดีสมณบริษัทยังไม่อิ่มเลย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงนิ่งไป ในเวลานั้น ฯ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการ มีอยู่ในอานนท์ ฉันนั้น เหมือนกัน


      ถ้าภิกษุบริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น ภิกษุบริษัทนั้น ย่อมยินดี ถ้าอานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดง ภิกษุบริษัทนั้น ย่อมยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น

      ถ้าภิกษุณีบริษัท ... อุบาสกบริษัท ... อุบาสิกาบริษัท เข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น อุบาสิกาบริษัทนั้นย่อมยินดี

      ถ้าอานนท์ แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดง อุบาสิกาบริษัทนั้น ก็ยินดี  อุบาสิกาบริษัทยังไม่อิ่มเลยอานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในอานนท์ ฯ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


4

(พระอานนท์ทูลว่า กุสินาราเป็นเมืองเล็ก ไม่ควรปรินิพพานที่เมือ
งนี้
)

      [๑๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่นมีอยู่ คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพีเมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จ  ปรินิพพานในเมือง เหล่านี้เถิด

      กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาลที่เลื่อมใสอย่างยิ่ง ในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น จักกระทำการบูชาพระสรีระ ของพระตถาคต ฯ

      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

      ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองดังนี้เลย

      ดูกรอานนท์ แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพา และทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศทักษิณและทิศอุดร ๗ โยชน์ กุสาวดี ราชธานีเป็นเมือง ที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย

      ดูกรอานนท์ อาลกมันทาราชธานี แห่งเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเมืองที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย แม้ฉันใด กุสาวดี ราชธานี ก็ฉันนั้น เหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษา หาได้ง่าย

      กุสาวดีราชธานี มิได้เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ ประการ ทั้งกลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภค จงดื่มจงเคี้ยวกิน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

5
(เสด็จไปยังเมืองกุสินารา)


      จงไปเถิดอานนท์ เธอจงเข้าไปในเมืองกุสินารา แล้วบอกแก่พวกเจ้า มัลละ เมืองกุสินาราว่า

      ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจักปรินิพพาน ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปกัน เถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าพระตถาคต ในกาลครั้งสุดท้าย ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปในเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียวสมัยนั้น พวกเจ้ามัลละเมือง กุสินารา ประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคารด้วยกรณียกิจบางอย่าง

      ลำดับนั้นท่านพระอานนท์เข้าไปยัง สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ครั้นแล้วได้บอกแก่พวก เจ้ามัลละ เมืองกุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระตถาคต จักเสด็จปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี ในวันนี้ พวกท่านจงรีบออก ไปเถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจใน ภายหลังว่า พระตถาคต ได้ปรินิพพาน ในคามเขต ของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าพระตถาคตในกาล เป็นครั้งสุดท้าย

      พวกเจ้ามัลละ กับโอรส สุณิสา และปชาบดีได้ สดับคำนี้ของท่านพระอานนท์ แล้ว เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ใจ บางพวกสยายพระเกศา ประคอง หัตถ์ ทั้งสองคร่ำครวญ อยู่ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีบาทอันขาดแล้ว ทรงรำพันว่า พระผู้มีพระภาคจัก เสด็จปรินิพพาน เสียเร็วนัก พระสุคตจักเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก จักอันตรธานเสียเร็วนัก

      ครั้งนั้น พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสา ปชาบดี เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วย ความทุกข์ใจ เสด็จเข้าไป ยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของเจ้า มัลละ  ทั้งหลาย เสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า

      ถ้าเราจักให้พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทีละองค์ๆ พวกเจ้า มัลละเมืองกุสินารา จักมิได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทั่วกัน ราตรีนี้ จักสว่างเสีย ถ้ากระไร เราควรจะจัดให้พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค โดยลำดับสกุลๆ ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละ มีนามอย่างนี้พร้อม ด้วยโอรส ชายา บริษัทและอำมาตย์ขอถวายบังคมพระบาท ทั้งสองของพระผู้มี พระภาค ด้วยเศียรเกล้า

      ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ จัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคโดยลำดับสกุล ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละ มีนามอย่างนี้ พร้อมด้วย โอรส ชายา บริษัทและอำมาตย์ ขอถวายบังคมพระบาท ทั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า โดยอุบายเช่นนี้ ท่านพระอานนท์ ยังพวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ให้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเสร็จ โดยปฐมยาม เท่านั้น



6
(
ปริพาชก สุภัททะ เข้าเฝ้าในปัจฉิมยามนั้น)

      [๑๓๘] ก็สมัยนั้นปริพาชกนามว่า สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา สุภัทท ปริพาชก ได้สดับว่า พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยาม แห่งราตรี ในวันนี้ แหละ สุภัททปริพาชก ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ก็เราสดับถ้อยคำของพวกปริพาชก ผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า จะอุบัติ ในโลก ในบางครั้งบางคราวพระสมณโคดมจัก ปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี ในวันนี้แหละ อนึ่งธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่เราก็มีอยู่ เราเลื่อมใสใน พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่เรา โดยประการ ที่เราจะพึงละธรรม อันเป็นที่สงสัยนี้ได้

      ลำดับนั้น สุภัททปริพาชกเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของพวกเจ้ามัลละ เข้าไป หาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้สดับ ถ้อยคำ ของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์ และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว พระสมณโคดม จักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ

      อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใส ในพระ สมณโคดม อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรม แก่ ข้าพเจ้าโดย ประการที่ข้าพเจ้าจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้

      ข้าแต่ท่านอานนท์ ขอโอกาสเถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม เมื่อสุภัทท ปริพาชก กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวตอบ สุภัททปริพาชกว่า อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบาก แล้ว แม้ครั้งที่สอง สุภัททปริพาชก ... แม้ครั้งที่สาม สุภัททปริพาชก ก็ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้สดับถ้อยคำ ของพวก ปริพาชก ผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็น อาจารย์ และปาจารย์ กล่าวอยู่ว่าพระตถาคตอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้ง บางคราว พระสมณโคดม จักปรินิพพาน ในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้ แหละอนึ่ง ธรรมเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า ก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสใน พระสมณโคดม อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถ จะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า โดยประการที่ข้าพเจ้า จะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้

      ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ขอโอกาสเถิดข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์ ก็ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชก ว่าอย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาค ทรงลำบากแล้ว พระผู้มีพระภาค ทรงได้ยินถ้อยคำท่านพระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชก

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้าตถาคต สุภัททะจักถามปัญหา อย่างใด อย่างหนึ่งกะเราจักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียนอนึ่ง เราอันสุภัททะ ถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อความนั้น โดยฉับพลัน ทีเดียว

      ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้บอกสุภัททปริพาชกว่า ไปเถิดสุภัททะ  พระผู้มีพระภาค ทรงทำโอกาสแก่ท่าน สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้า ไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า

      สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้า จึงกราบทูลถามปัญหา

      ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่านี้ใด เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดีคือ บูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครณฐนาฏบุตร สมณพราหมณ์ เหล่านั้นทั้งหมด ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญา ของตนๆ หรือว่าทั้งหมด ไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้

(ข้อสงสัยของ สุภัททคือ จะเชื่อได้อย่างไรว่า สมณพราหมณ์ลัทธิต่างๆ ได้ตรัสรู้ตามที่อ้าง ๆกัน หรือว่ายังไม่ได้ตรัสรู้)

      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่าเลย สุภัททะ ที่ข้อถามนั้นงดเสียเถิด

      ดูกรสุภัททะเราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว สุภัททปริพาชก ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

7
(มรรคมีองค์แปด มีเฉพาะธรรมวินัยตถาคตเท่านั้น)


      ดูกรสุภัททะ

   
  ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้นไม่มีสมณะ ที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ 

     ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔


      ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้ เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุ เหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

      [๑๓๙] ดูกรสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้วตามแสวงหาว่าอะไร เป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศ แห่งธรรม เป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้ ฯ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

      [๑๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภัททปริพาชก ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทาง แก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ฉันใด พระผู้มี พระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในธรรม วินัยนี้ ผู้นั้นต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุ ทั้งหลายเต็มใจแล้วจึงให้บรรพชาให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่าเรารู้ความ ต่างแห่งบุคคลในข้อนี้

      สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วง สี่เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้วจึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาสสี่ปี เมื่อล่วงสี่ปีภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบทเถิด

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว สุภัททปริพาชกได้กล่าว กะท่านพระอานนท์ว่า

      ดูกรท่านอานนท์ ผู้มีอายุเป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่พระศาสดาทรง อภิเษก ด้วย อันเตวาสิกาภิเษก ในที่เฉพาะพระพักตร์ในพระศาสนานี้ สุภัททปริพาชก ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค

      ก็ท่าน สุภัททปริพาชกได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว ไม่นานหลีกออกไปอยู่ แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่ช้านานนัก ก็ทำให้แจ้ง ซึ่ง ที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลาย

      ผู้มีความต้องการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

      ท่านสุภัททะได้ เป็นอรหันต์รูปหนึ่ง
ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นสักขิสาวกองค์ สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค

จบภาณวารที่ห้า
มหาปรินิพพานสูตร 13/14  Next
 
 
พุทธวจน : ออนไลน์
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์