พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๗ -๑๑๑
1)
เสด็จไปยังบ้านเวฬุวคาม (๕)
[๙๓] ครั้นนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยใน อัมพปาลีวัน แล้วตรัส เรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังบ้านเวฬุวคาม
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อม ภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่เสด็จถึงบ้านเวฬุวคามแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จ ประทับ อยู่ในบ้าน เวฬุวคาม นั้น
ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจำพรรษารอบ เมืองเวสาลี ตามที่เป็นมิตรกัน ตามที่เคยเห็นกัน ตามที่เคย คบกันเถิด ส่วนเราจะจำพรรษาในบ้านเวฬุวคามนี้แหละ พวกภิกษุทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาค แล้วจำพรรษารอบเมืองเวสาลีตามที่เป็นมิตรกัน ตามที่เคยเห็น กัน ตามที่เคย คบกัน ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาในบ้านเวฬุวคามนั้นแหละ
2
(ทรงประชวรอย่างหนัก ใกล้จะปรินิพพาน)
ครั้งนั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ทรงประชวรอย่างหนัก เกิด เวทนา อย่างร้ายแรง ถึงใกล้จะปรินิพพาน ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงมี พระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น ไม่พรั่นพรึง
ทรงพระดำริว่าการที่เราจะไม่บอกภิกษุ ผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพาน เสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไรเราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรง ชีวิตสังขาร อยู่เถิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้น ทรงดำรงชีวิตสังขาร อยู่แล้ว อาพาธของพระองค์สงบไปแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงหายประชวร คือหายจากความเป็นคนไข้ไม่นาน เสด็จออกจากวิหารไปประทับนั่งบนอาสนะ ที่ภิกษุ จัดถวายไว้ที่เงาวิหาร
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไป เฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์ นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นความอดทนของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็แต่ว่า เพราะการประชวรของพระผู้มีพระภาค กายของข้าพระองค์ประหนึ่ง จะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลาย ก็ไม่แจ่ม แจ้งแก่ข้าพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระองค์มามีความเบาใจ อยู่หน่อยหนึ่งว่าพระผู้มี พระภาคจักยังไม่เสด็จ ปรินิพพาน จนกว่าจะได้ทรงปรารภ ภิกษุสงฆ์ แล้วตรัส พระพุทธพจน์ อย่างใดอย่างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราได้แสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในมีนอกกำมือ อาจารย์ในธรรมทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดจะพึงคิด อย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์ จะเชิดชูเราดังนี้ ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่
ดูกรอานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่า ภิกษุสงฆ์ จักเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้ว กล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่ง ในคราวหนึ่ง
ดูกรอานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ เพราะการซ่อมแซม ด้วยไม้ไผ่ แม้ฉันใดกายของ ตถาคต ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ ก็คล้าย กับ เกวียนเก่า ที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่
3)
(
พึ่งตนพึ่งธรรม ตรัสกับพระอานนท์)
ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ* อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้นพวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
*(รู้ความนึกคิดในใจของสัตว์และบุคคลว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน)
ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น ที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลก อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
ดูกรอานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็น ที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็นยอดยิ่ง
จบคามกัณฑ์ในมหาปรินิพพานสูตร
จบภาณวารที่สอง
|