พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๗ -๑๑๑
มหาปรินิพพานสูตร (๑๐)
1
(ปุกกุสะ สาวกของอาฬารดาบส เข้าเฝ้าฯ)
[๑๒๐] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ เป็นสาวกของอาฬารดาบส กาลามโคตร ออกจากเมืองกุสินารา เดินทางไกลไปยังเมืองปาวา ปุกกุสมัลลบุตร ได้เห็น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง เมื่อโอรส เจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว พวกบรรพชิตย่อม อยู่ด้วย วิหารธรรม*อันสงบหนอ
*(สงฆ์หมู่มากที่ติดตามพระผู้มีพระภาคนั่งสงบนิ่ง แบบอริยะ)
2
(เรื่องเคยมีมาแล้ว)
เรื่องเคยมีมาแล้ว อาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางไกล แวะออกจาก หนทาง นั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ในที่ไม่ไกล ครั้งนั้นเกวียน ประมาณ ๕๐๐ เล่ม ได้ผ่าน อาฬารดาบสกาลามโคตร ติดกันไป บุรุษคนหนึ่งซึ่งเดินทางตามหลัง หมู่เกวียนมา เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร ถึงที่พัก ครั้นเข้าไปหาแล้วถามท่าน อาฬาร ดาบสกาลามโคตรว่า
บ.
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไป บ้างหรือ
อ. ท่านผู้มีอายุ เรามิได้เห็น
บ. ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ
อ. เราไม่ได้ยิน
บ.ท่านหลับหรือ
อ.เรามิได้หลับ
บ.ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ
อ.อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ
บ. ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน ติดๆกันไป และไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าของท่านเปรอะเปื้อนไปด้วยธุลีบ้างหรือ*
อ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ
*
(ไม่ได้ยินเสียง แต่ผ้าเปื้อนฝุ่น)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้นบุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์ หนอ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่านผู้ยังมี สัญญาตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่านติดๆกันไป และ ไม่ได้ยินเสียง บุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วหลีกไป
พระผู้มีพระภาคตรัสถาม ปุกกุสมัลลบุตรว่า
3
(ฟ้าผ่าแต่ไม่ได้ยิน กับไม่ได้ยินเสียงเกวียน อย่างไหนทำได้ยากกว่ากัน)
ดูกรปุกกุสะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน
ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ (1) ไม่เห็นเกวียน ประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่านติดๆกันไป และ ไม่ได้ยินเสียงอย่างหนึ่ง
ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ (2) เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ยินเสียง อย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้ อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน
ปุกกุสมัลลบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕๐๐ เล่ม ๖๐๐ เล่ม ๗๐๐ เล่ม ๘๐๐ เล่ม ๙๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ฯลฯ ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม จักกระทำอะไรได้ ผู้ที่ยังมี สัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ ยินเสียงอย่างนี้แหละ ทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ ยากกว่า
(อาฬารดาบสทำสมาธิในระดับ อรูปสัญญา หรือ อาเนยชาสมาบัติ จึงไม่ได้ยินเสียง กองเกวียน 500เล่ม ที่ผ่านไป แต่พระพุทธเจ้าทำสมาธิได้ลึกกว่า เหนือกว่า ยากกว่า ถึงขนาดฟ้าผ่าก็ไม่ได้ยิน)
[๑๒๑] ดูกรปุกกุสะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ในโรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา สมัยนั้น เมื่อฝน กำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง และ โคพลิพัท สี่ตัว(วัวตัวผู้) ถูกสายฟ้าฟาด ในที่ใกล้โรงกระเดื่อง ลำดับนั้น หมู่มหาชน ในเมืองอาตุมา พากันออกมา แล้วเข้าไปหาชาวนาสองพี่น้องนั้น และโคพลิพัท สี่ตัว ซึ่งถูกสายฟ้าฟาด
ดูกรปุกกุสะ สมัยนั้นเราออกจากโรงกระเดื่อง จงกรม อยู่ในที่แจ้งใกล้ประตู โรงกระเดื่อง ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่ง ออกมาจากหมู่มหาชนนั้น เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาแล้ว อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเราได้กล่าวกะบุรุษนั้น ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั้นประชุมกันทำไมหนอ
บ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนา สองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด หมู่มหาชน ประชุมกัน เพราะเหตุนี้ ก็ท่านอยู่ในที่ไหนเล่า
เราอยู่ในที่นี้เอง
ก็ท่านไม่เห็นหรือ
เราไม่ได้เห็น
ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ
เราไม่ได้ยิน
ก็ท่านหลับหรือ
เราไม่ได้หลับ
ก็ท่านยังมีสัญญาหรือ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ
ก็ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้เห็น และ ไม่ได้ยินเสียงหรือ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ
ดูกรปุกกุสะ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์หนอ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่าน ผู้ยังมีสัญญา ตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้เห็น และไม่ได้ยิน เสียงบุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในเรา กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปุกกุสมัลลบุตร ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์โปรยความเลื่อมใส ในอาฬาร ดาบส กาลามโคตร ลงในพายุใหญ่ หรือลอยเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว
(ทิ้งความเลื่อมใสที่มีต่ออาฬารดาบส ให้ลอยไปในแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว คือ เลิกศรัทธา)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอก ทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มี พระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนเป็นต้นไป
(ปุกกุสะ ได้ปฏิญาณตนในศรัทธาอันหยั่งลงมั่นต่อพระตถาคต ซึ่งเป็นลักษณาศรัทธาของ สัตตบุรุษ หรือผู้เป็นอริยะ)
.....................................................................................................................................................
4
(ปุกกุสมัลลบุตรถวายผ้าเนื้อดีสีดั่งทอง 2 ผืน)
ลำดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตร สั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ดูกร พนายท่าน* จงช่วยนำ คู่ผ้าเนื้อ ละเอียด มีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา บุรุษนั้นรับคำ ปุกกุสมัลลบุตรแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเขามาแล้ว ปุกกุสมัลลบุตร จึงน้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปถวายแด่พระผู้มี พระภาคว่า *(พนายเป็นคำสุภาพ แปลว่า ท่าน คุณท่าน)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คู่ผ้าเนื้อละเอียด มีสีดังทองสิงคี นี้ เป็นผ้าทรง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความอนุเคราะห์ทรงรับคู่ผ้านั้นของข้า พระองค์เถิด พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า
ดูกรปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้เราครอง ผืนหนึ่งให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง ปุกกุสมัลลบุตร รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้วยังพระผู้มีพระภาคให้ทรงครอง ผืนหนึ่ง ให้ท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยัง ปุกกุสมัลลบุตร ให้เห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้ว ปุกกุสมัลลบุตร อันพระผู้มีพระภาคทรง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป
5
(ผิวพรรณพระผู้มีพระภาคผุดผ่องดั่งทอง ด้วยเหตุ 2 ประการ)
[๑๒๒] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ได้น้อมคู่ผ้า เนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้นเข้าไปสู่พระกาย ของ พระผู้มีพระภาค ผ้าที่ท่านพระอานนท์ น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค นั้น ย่อมปรากฏดัง ถ่านไฟที่ปราศจากเปลวฉะนั้น
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ยิ่งนัก คู่ผ้าเนื้อ ละเอียด มีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนี้ ข้าพระองค์น้อมเข้าไป สู่พระกาย ของพระผู้มี พระภาคย่อมปรากฏ ดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว
(ผ้าสีดั่งมองเนื้อดีที่ปุกกุสะ ถวาย เป็นจีวรผืนสุดท้าย ที่พระผู้มีพระภาคใช้ห่มจนปรินิพพาน)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ในกาลทั้งสอง กายของ ตถาคต ย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ในกาลทั้งสองเป็นไฉน
คือ ในราตรีที่ ตถาคต ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑
ในราตรีที่ตถาคต ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสส นิพพานธาตุ ๑
ดูกรอานนท์ในกาลทั้งสองนี้แล กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณ ผุดผ่อง ยิ่งนัก
ดูกรอานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ แล ความปรินิพพานของตถาคต จักมีใน ระหว่าง ไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวันอันเป็นที่แวะพักของ มัลลกษัตริย์ ทั้งหลาย ในเมืองกุสินารา
6
(เสด็จไปยังแม่น้ำกกุธานที)
มาไปกันเถิด อานนท์ เราจักไปยัง แม่น้ำกกุธานที
ท่านพระอานนท์ทูลรับ พระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว
[๑๒๓] ปุกกุสะนำผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี เข้าไปถวายพระศาสดา ทรงครอง คู่ผ้านั้นแล้ว มีพระวรรณดังทอง งดงามแล้ว
[๑๒๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยัง แม่น้ำ กกุธานที ครั้นแล้วเสด็จลงสู่แม่น้ำกกุธานที ทรงสรงแล้วเสวย แล้วเสด็จขึ้น เสด็จไปยัง อัมพวัน(ป่ามะม่วง) ตรัสเรียกท่านพระจุนทกะมารับสั่งว่า
ดูกรจุนทกะ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อย นัก จักนอนพัก ท่านพระจุนทกะทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิ ซ้อนกันเป็นสี่ชั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัส เบื้องขวาทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาทมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงมนสิการ อุฏฐานสัญญา(ต้้งพระทัยว่าจะลุกขึ้น) ส่วน ท่านพระจุนทกะ นั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาค ในที่นั้นแหละ
(ปูผ้า
สังฆาฏิ เพื่อใช้เป็นที่บรรทม มีข้อสังเกตุ คือ พระผู้มีพระภาคให้ นายจุนทะ ทำหน้าที่ แทนพระอานนท์ เข้าใจว่าจะเป็นอานิสงส์ใหญ่ สำหรับนายจุนทะ หลังบวชเป็นภิกษุแล้ว)
[๑๒๕] พระพุทธเจ้าผู้ศาสดา ผู้พระตถาคต หาผู้เปรียบมิได้ในโลก ทรงเหน็ดเหนื่อย เสด็จถึงแม่น้ำกกุธานที มีน้ำใส จืด สะอาด เสด็จลงแล้วทรงสรง และเสวยน้ำแล้ว อันหมู่ภิกษุแวดล้อม เสด็จไปในท่ามกลาง พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดา ทรงแสวงหา คุณอันยิ่งใหญ่ ทรงเป็นไปในธรรมนี้เสด็จถึงอัมพวันแล้ว รับสั่งกะ ภิกษุนามว่า จุนทกะว่า เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็น สี่ชั้นให้เรา เราจะนอน พระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาคผู้อบรม พระองค์ทรงเตือนแล้ว รีบปูผ้าสังฆาฏิพับ เป็นสี่ชั้นถวาย พระศาสดาทรงบรรทมแล้ว หายเหน็ดเหนื่อย
7
(ฝ่ายพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะ พระพักตร์ในที่นั้น)
[๑๒๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีใครๆ จะทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ มิใช่ลาภของท่านท่านได้ไม่ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของ ท่านเป็น ครั้งสุดท้ายเสด็จปรินิพพานแล้ว ดังนี้เธอพึงช่วยบันเทาความร้อนใจ ของนาย จุนทกัมมารบุตรเสียอย่างนี้ว่า
(จุนทะ กังวลใจ ร้อนใจ ว่าตนเป็นต้นเหตุทำให้พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จปรินิพพาน)
ดูกร นายจุนทะ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวย บิณฑบาต ของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เสด็จปรินิพพานแล้ว เรื่องนี้เราได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาตสองคราวนี้ มีผลเสมอๆกัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ อื่นๆยิ่งนัก
8
(บิณฑบาตสองคราวเป็นไฉน)
คือ ตถาคตเสวย บิณฑบาตใด แล้วตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างหนึ่ง ตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพานธาตุ อย่างหนึ่ง
บิณฑบาตสองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก กรรมที่นายจุนทกัมมารบุตรก่อสร้างแล้ว เป็น ไปเพื่ออายุ ... เป็นไปเพื่อวรรณะ ... เป็นไปเพื่อความสุข ... เป็นไปเพื่อยศ ... เป็นไปเพื่อสวรรค์ ... เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่ยิ่ง ดูกรอานนท์ เธอพึงช่วยบันเทา ความร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตร เสียด้วยประการฉะนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
[๑๒๗] บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่ คนฉลาดเทียว ย่อมละกรรมอันลามก เขาดับแล้วเพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป
จบภาณวารที่สี่
|