เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  มหาปรินิพพานสูตร ๑/๑๔ พระเจ้าอชาตศัตรูจะตีเมืองวัชชี ส่งพราหมณ์เข้าเฝ้าให้ทรงทำนาย 624
 
 มหาปรินิพพานสูตร ตอนที่ ๑๐  ๑๑ ๑๒ ๑๓ ๑๔
 

มหาปรินิพพานสูตร #๑ (เนื้อหาพอสังเขป)

อปริหานิยธรรมทั้ง ๗

1 อชาตศัตรูจะไปตีแคว้นวัชชี จึงส่งพราหมณ์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงปรารถนา จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี จึงตรัสเรียก วัสสการ พราหมณ์อำมาตย์ ให้ไปเฝ้าฯ เพื่อทูลถามถึงพระอาการ อาพาธ และขอให้พระองค์ ทรงพยากรณ์ การเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี เพราะรู้ว่าพระตถาคต ย่อมไม่ตรัสคำที่ไม่จริงเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ วัสสการพราหมณ์ ว่าพระองค์ได้แสดง อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ แก่พวก เจ้าวัชชี ทำให้พวกเจ้าวัชชี สนใจ น้อมรับ และตั้งไว้ในใจ จึงหวังได้ว่าเจ้าวัชชจะพบแต่ความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น


2 อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ เจ้าวัชชีกระทำอยู่เนืองๆ

๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ

๒. พวกภิกษุจัก พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียง ช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงกระทำ

. พวกภิกษุ จักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้แล้ว จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทาน ประพฤติอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ตามที่ได้บัญญัติไว้แล้ว

๔. พวกภิกษุ จักสักการะเคารพนับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้รัตตัญญบวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้น

๕. พวกภิกษุ จักไม่ลุอำนาจแก่ตัณหาอันจะก่อให้เกิด ภพใหม่ซึ่ง บังเกิดขึ้นแล้ว

๖. พวกภิกษุ จักเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะป่า

๗. พวกภิกษุ จักเข้าไปตั้งสติไว้ในภายในว่า ไฉนหนอเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รัก ที่ยังมิได้มา พึงมาเถิด และที่มาแล้วพึงอยู่เป็นผาสุก ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ ภิกษุ จักสนใจใน อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใดหมู่ภิกษุพึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัสสการพราหมณ์ ได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีมาประกอบด้วย อปริหานิยธรรม แม้ข้อหนึ่งๆก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม จะป่วยกล่าวไปไยถึงอปรินิยธรรมทั้ง ๗ ข้อเล่า พระเจ้า อชาตศัตรู ไม่ควร ทำการรบ กับเจ้าวัชชี แต่ควรมีความ ปรองดองดัน ควรเป็นพวกกันไม่ควรยุให้แตกกัน

วัสสการพราหมณ์ ชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป

 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้าที่ ๖๕

มหาปรินิพพานสูตร (๑)
[๖๗ - ๗๕]

1
(อชาตศัตรูจะไปตีแคว้นวัชชี จึงส่งพราหมณ์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า)

          [๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
      สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงปรารถนา จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวก เจ้าวัชชีผู้มี ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ๆจักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียก วัสสการ พราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ มาตรัสสั่งว่า

      ดูกรพราหมณ์ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จงถวาย บังคมพระบาท ทั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา ทูล ถาม ถึงอาพาธน้อย พระโรค เบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง การประทับอยู่ สำราญว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู  เวเทหีบุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสอง ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้ กระเปร่าพระกำลัง การประทับ อยู่สำราญ และจงทูลอย่างนี้ว่า

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ปรารถนา จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอ  รับสั่งอย่างนี้ว่าก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชี ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ดังนี้ และพระผู้มีพระภาค ทรงพยากรณ์ แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำ ข้อนั้น มาบอกเรา พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่ตรัสคำที่ไม่จริงเลย

      วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ รับพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดิน มคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร แล้วเทียมยานที่ดีๆ ขึ้น ยานออกจากพระนคร ราชคฤห์ ตรงไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดภูมิประเทศเท่าที่ยาน จะไปได้ จึงลงจาก ยานเดินเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการ ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ ผู้ใหญ่ในมคธรัฐนั่ง เรียบร้อยแล้วทูลว่า

      ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหี บุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงอาพาธ น้อยพระโรค เบาบางความกระปรี้กระเปร่า พระกำลังการประทับอยู่สำราญ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้น วัชชีท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวก เจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย



2
( อปริหานิยธรรมทั้ง ๗
เจ้าวัชชีกระทำอยู่เนืองๆ
)

      [๖๘] ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ยืนถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า         ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆ หรือ ฯ (1)

   ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า

      ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
      ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมา อย่างไร พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกัน เลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำหรือ ฯ (2)

ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า

      ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกัน เลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำอยู่เพียงใด พึงหวัง ได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
      ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ได้บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ถอน สิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของ  เก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วหรือ ฯ (3)

ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า

      ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จักไม่ถอน สิ่งที่ได้บัญญัติ ไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้ แล้วอยู่เพียงใด พึงหวัง ได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น
      ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการเคารพนับถือบูชา ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นหรือ ฯ (4)

ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า

       ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของ พวกเจ้าวัชชี และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้น อยู่เพียงใด พึงหวังได้   ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น
      ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือ กุมารีในสกุลให้อยู่ร่วมด้วยหรือ ฯ (5)

ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า

      ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล ให้อยู่ร่วมด้วย อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
      ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการะเคารพนับถือบูชาเจดีย์ ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไปหรือ ฯ (6)

ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า

      ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของ พวกเจ้าวัชชี ทั้ง ภายใน ภายนอก และจักไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์ เหล่านั้น เสื่อมทรามไปอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น
      ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่ง  ความ อารักขา ป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า  ไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็น   ผาสุกใน แว่นแคว้น ดังนี้หรือ ฯ (7)

ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า

      ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขา ป้องกัน คุ้มครอง อันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอพระอรหันต์ 
ที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

.................................................................................................


      [๖๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะ วัสสการ พราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ ในมคธรัฐ ว่าดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่งเราอยู่ที่สารันททเจดีย์เขตเมือง เวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดง อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ แก่พวกเจ้าวัชชี ก็อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชี และพวกเจ้าวัชชีจักสนใจใน อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใดพราหมณ์  พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียวไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

      เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ ในมคธรัฐได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีมาประกอบด้วย อปริหานิยธรรม แม้ข้อหนึ่งๆ ก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม จะป่วยกล่าวไปไยถึงอปรินิยธรรมทั้ง ๗ ข้อเล่า พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ไม่ควรกระทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะปรองดอง นอกจากจะยุให้แตกกันเป็นพวก

      ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีกรณียะมากจะขอลาไปในบัดนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้น วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว

      [๗๐] ครั้งนั้น เมื่อวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐหลีกไปไม่นาน พระผู้มี พระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงไปจงสั่งให้ภิกษุทุกรูป ซึ่งอยู่อาศัย พระนครราชคฤห์ ให้มาประชุมกันใน อุปัฏฐานศาลา ท่านพระอานนท์ รับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว สั่งให้ภิกษุทุกรูปซึ่งอยู่อาศัย พระนครราชคฤห์ ให้ประชุมกันใน อุปัฏฐานศาลา แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด

.................................................................................................


      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐาน ศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นประทับนั่งแล้ว รับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราจักแสดง อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ แก่พวกเธอ  พวกเธอจง ฟัง จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

      ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

      ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียง กัน เลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงกระทำ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้แล้ว จักไม่ถอนสิ่ง ที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ตามที่ได้บัญญัติไว้แล้วอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

      ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักสักการะเคารพนับถือ บูชาภิกษุผู้เป็น เถระ ผู้รัตตัญญบวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักเชื่อฟัง  ถ้อยคำของท่าน เหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

      ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่ลุอำนาจแก่ตัณหาอันจะก่อให้เกิด ภพใหม่ซึ่ง บังเกิดขึ้นแล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะป่า อยู่เพียงใด   พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งสติไว้ในภายในว่า ไฉนหนอ เพื่อน พรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังมิได้มา พึงมาเถิดและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็น ผาสุก ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ ภิกษุ จักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใดหมู่ภิกษุพึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

.................................................................................................


      [๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง อปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวก เธอพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

       ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการงาน ไม่ยินดีแล้วในการงาน ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการคุย ไม่ยินดีแล้วในการคุย ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการคุย อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง  ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

       ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีแล้ว ในการ นอนหลับ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ อยู่เพียงใด  พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดี แล้วใน ความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบ ความคลุกคลี ด้วยหมู่ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่ลุ อำนาจ แก่ความปรารถนาอันลามก อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้ไม่มีมิตรชั่ว ไม่มีสหายชั่ว ไม่คบ คนชั่วอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่ถึงความนอนใจในระหว่าง เพราะการบรรลุ คุณวิเศษเพียงขั้นต่ำ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

.................................................................................................

      [๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวก เธอพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาค แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย   
๑. พวกภิกษุจักเป็นผู้มีศรัทธา...
๒. ...มีใจประกอบด้วยหิริ...
๓. ...มีโอตตัปปะ...
๔. ...เป็นพหูสูตร...
๕. ...ปรารภความเพียร...
๖. ...มีสติตั้งมั่น...
๗. พวกภิกษุจักเป็นผู้มีปัญญา อยู่เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ภิกษุจัก สนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

.................................................................................................


      [๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวก เธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ  พระดำรัส ของพระผู้มี พระภาคแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย  
๑. พวกภิกษุจักเจริญสติสัมโพชฌงค์....,
๒. ...พวก ภิกษุจักเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์...
๓. ...พวกภิกษุจักเจริญวิริยสัมโพชฌงค์...
๔. ... พวกภิกษุจักเจริญปีติสัมโพชฌงค์...
๕. ... พวกภิกษุจักเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  
๖.... พวกภิกษุจักเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์...
๗. พวกภิกษุจักเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อยู่ เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุ จักสนใจ ในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

.................................................................................................

      [๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวก เธอพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระดำรัส ของพระผู้มี พระภาค แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย  
๑. พวกภิกษุจักเจริญอนิจจสัญญา...
๒. ... พวกภิกษุจักเจริญอนัตตสัญญา...
๓. ... พวกภิกษุจักเจริญอสุภสัญญา...
๔. ... พวกภิกษุจักเจริญอาทีนวสัญญา...
๕. ... พวกภิกษุจักเจริญปหานสัญญา
๖. ... พวกภิกษุจักเจริญวิราคสัญญา...
๗. พวก ภิกษุจักเจริญนิโรธสัญญา อยู่เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น


      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุ จักสนใจ ใน อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

.................................................................................................

      [๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๖ อีกหมวดหนึ่ง   แก่พวกเธอพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสขอ พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

      ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง  ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้แบ่งปันลาภอันเป็นธรรม ที่ได้ มาโดยธรรมโดยที่สุดแม้มาตรว่าอาหารอันนับเนื่องในบาตร คือเฉลี่ยกันบริโภค    กับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลทั้งหลาย อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

       ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักมีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อยเป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ  อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้มีทิฐิเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในทิฐิอันประเสริฐนำออกไปจากทุกข์ นำผู้ปฏิบัติตาม
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรมทั้ง ๖ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ ภิกษุจักสนใจ ใน อปริหานิยธรรมทั้ง ๖ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

      ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์แม้นั้น ทรง กระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่าอย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา
สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ ใหญ่
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นอาสวะโดยชอบ
คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสว  

มหาปรินิพพานสูตร 2/14  Next
 
 
 
พุทธวจน : ออนไลน์
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์