เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

โลหิจจสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ (พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬา) ดูฉบับหลวง คลิก 1842
 
(พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬา)


โลหิจจสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ

1. พราหมณ์ชื่อโลหิจจะ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระสมณโคดม เสด็จมาในแคว้นโกศล ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นความดีอย่างแท้จริง”

2. มีความคิดเห็นชั่วร้ายของโลหิจจพราหมณ์
ทรงตรัสถามโลหิจจพราหมณ์ว่า ทราบว่าท่านมีความคิดเห็นชั่วร้าย ว่าสมณะ พราหมณ์
ที่บรรลุกุศลธรรมแล้ว ไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอน ใด เปรียบเหมือนบุคคล ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว กลับสร้างเครื่องจองจำใหม่ ขึ้นมาแทน...จริงพระเจ้าข้า

3. ศาสดาที่สมควรถูกทักท้วง ๓ ประเภท
   3.1 ศาสดาที่ ยังไม่บรรล แต่สอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขแก่พวกท่าน ส่วนสาวกก็ไม่ตั้งใจฟัง และหลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตาม

   3.2 ศาสดาที่ ยังไม่บรรล แต่สอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขแก่พวกท่าน ส่วนสาวกก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจที่จะประพฤติตามคำสอน

   3.2 ศาสดาที่ บรรลุจุดมุ่งหมาย สอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขแก่พวกท่าน แต่สาวกไม่ตั้งใจฟัง หลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน

4. ศาสดาที่ไม่สมควรถูกทักท้วง
โลหิจจะ ศาสดาซึ่งไม่สมควรถูกทักท้วงมีอยู่” ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบศาสดาที่สาวก ได้บรรลุคุณวิเศษ อันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ ไม่สมควรถูกทักท้วง

5. โลหิจจพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก
ข้าฯ ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม
จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนตลอดชีวิต

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 
  ข้อสังเกตุ

๑๒.โลหิจจสูตร
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก)
พระสูตรนี้ ฉบับหลวงและมหาจุฬา ที่ความต่างกัน โดยมหาจุฬาตัดบางเรื่องออกไป คือ
จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ อุปมานิวรณ์ ๕ รูปฌาน ๔

วิชชา ๘ (วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิญาณ อิทธิวิธญาณ ทิพพโสตญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ)

(มหาจุฬาไม่นำมาใส่ไว้ น่าจะมาจากมีเนื้อหาที่ยาวมาก และมีถ้อยคำที่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็น
พระสูตรที่พระศาสดาตรัสไว้กับสมณะพราหมณ์เหล่าอื่น จะต่างกันเฉพาะชื่อบุคคลเท่านั้น เช่น
...)
...........................................................................................................................................
1) เรื่องหมอชีวก กับพระเจ้าอชาตศัตรู / ๒. สามัญญผลสูตร (Chi_Wa_Ka_03.htm)
2) เรื่อง อเจลก กัสสป / ๘.มหาสีหนาทสูตร (P147)
3) เรื่องของมัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก / ๗. ชาลิยสูตร (P282)
4) เรื่องสุปปิยปริพาชก กับ พรหมทัตตมานพ / ๑.พรหมชาลสูตร (P618)
5) มหาลิ เข้ามาบวชเพื่อต้องการความเป็นทิพย์ / ๖.มหาลิสูตร (P1401
6) พราหมณ์กูฏทันตะ เตรียมพิธีบูชายัญ/ ๕. กูฏทันตสูตร (P1642
7) พราหมณ์โสณทัณฑะ ครองนครจัมปา / ๔.โสณทัณฑสูตร (P1825
8) พระอานนท์แสดงธรรมให้กับมหานาม / ๓.เสขปฏิปทาสูตร (P1839
9) ตรัสกับ อัมพัฏฐมาณพ ศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ / ๓.อัมพัฏฐสูต (P1840)

....และอีกหลายพระสูตร ....


1)


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก [ฉบับมหาจุฬาฯ] หน้าที่ ๒๒๑-๒๒๙

๑๒. โลหิจจสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ

           [๕๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านสาลวติกา สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์ ปกครอง หมู่บ้านสาลวติกา ซึ่งมีประชากร และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร และ น้ำหญ้า อุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานปูน บำเหน็จให้เป็นพรหมไทย* (ส่วนพิเศษ)
* (ที่ดิน ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลปูนบำเหน็จให้)

           [๕๐๒] สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์ มีความคิดเห็นชั่วร้ายเกิดขึ้นว่า ‘สมณะหรือ พราหมณ์ในโลกนี้ จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้ว ไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มี ผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคล ผู้ตัดเครื่องจองจำเก่า ออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภ อันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ ’

           [๕๐๓] โลหิจจพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า “พระสมณโคดม เป็นศากยบุตร เสด็จ ผนวช จากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านสาลวติกาโดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้น มีกิตติศัพท์ อันงามขจรไป อย่างนี้ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย พระองค์เอง โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และ หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ ผู้อื่น รู้ตาม ทรงแสดงธรรม มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน ท่ามกลาง และ มีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้ง อรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลาย เช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”

           [๕๐๔] ทีนั้น โลหิจจพราหมณ์ เรียกช่างกัลบก ชื่อโรสิกะ มาสั่งว่า “มานี่แน่ะ เพื่อนโรสิกะ ท่านจงไปเข้าเฝ้า พระสมณโคดม แล้วทูลถาม พระสมณโคดม ถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญตามคำของเรา ว่า โลหิจจพราหมณ์ทูลถาม ท่านพระโคดมถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และท่านจงกราบทูลว่า ขอท่านพระโคดม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหาร ของโลหิจจพราหมณ์ในวันพรุ่งนี้เถิด”

           [๕๐๕] โรสิกกัลบก รับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ กราบ แล้วนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “โลหิจจพราหมณ์ทูลถาม พระผู้มีพระภาคถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญแลกราบทูล ว่า ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์ ในวันพรุ่งนี้เถิด”

           พระผู้มีพระภาค ทรงรับนิมนต์ ด้วยอาการดุษณี

           [๕๐๖] ทีนั้น โรสิกกัลบก ทราบอาการ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงรับนิมนต์ แล้วจึง ลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ แล้วบอกว่า “ข้าพเจ้าได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ตามคำของท่านว่า ‘โลหิจจพราหมณ์ ทูลถามพระผู้มีพระภาค ... ในวันพรุ่งนี้เถิด’ และพระผู้มีพระภาคนั้นก็ทรงรับนิมนต์แล้ว”

           [๕๐๗] ครั้นล่วงราตรีนั้น โลหิจจพราหมณ์ ได้จัดของขบฉันอย่างดี ไว้ในนิเวศน์ ของตน เรียบร้อยแล้ว เรียกโรสิกกัลบกมาสั่งว่า “มานี่แน่ะ เพื่อนโรสิกะ ท่านจงไป เข้าเฝ้าพระสมณโคดม แล้วกราบทูลภัตกาลว่า ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว ภัตตาหาร เสร็จแล้ว” โรสิกกัลบกรับคำของโล หิจจพราหมณ์ แล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับกราบแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

           [๕๐๘] ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง อันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยัง หมู่บ้านสาลวติกา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โรสิกกัลบกตามเสด็จไปเบื้อง พระปฤษฎางค์ กราบทูลว่า

           “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ มีความคิดเห็น ชั่วร้าย เกิดขึ้นว่า ‘สมณะ หรือ พราหมณ์ในโลกนี้ จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้ว ไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มี ผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคล ผู้ตัดเครื่องจองจำเก่า ออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อ เปรียบเทียบ อย่างนี้ว่า เป็นความโลภ อันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้

           ’ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรง ปลดเปลื้อง โลหิจจพราหมณ์ออกจากความคิดเห็น อันชั่วร้ายนั้น ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรสิกะ นั่นเป็นหน้าที่ของเรา”

           ทีนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ ของโลหิจจพราหมณ์ แล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ โลหิจจพราหมณ์ ประเคนของขบฉันอย่างดี แด่ภิกษุสงฆ์ ที่มีพระพุทธเจ้า ทรงเป็นประธาน ด้วยตนเองจนอิ่มหนำ


2)

ความคิดเห็นชั่วร้ายของโลหิจจพราหมณ์
(ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์)

           [๕๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาค เสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์ โลหิจจพราหมณ์จึงนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า

           พระผู้มีพระภาคตรัสถามโลหิจจพราหมณ์ว่า โลหิจจะ ทราบว่า ท่านมีความคิดเห็น ชั่วร้ายเกิดขึ้นว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ จะพึงบรรลุ กุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้วไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคล ผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ ขึ้นมาแทน เราเรียก ข้อเปรียบเทียบ อย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้ ’ ดังนี้ เป็นความจริงหรือ”
           เขาทูลตอบว่า “จริงอย่างนั้น ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาค ตรัสถามว่า “โลหิจจะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ท่านปกครอง หมู่บ้านสาลวติกามิใช่หรือ”
           เขาทูลตอบว่า “เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาค ตรัสถาม ต่อไปว่า “โลหิจจะ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘โลหิจจพราหมณ์ ปกครองหมู่บ้านสาลวติกา ก็ควรได้รับผลประโยชน์ ที่เกิดในหมู่บ้าน สาลวติกา แต่เพียง ผู้เดียว ไม่ควรแบ่งให้ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ จะชื่อว่าทำความ เดือดร้อนให้แก่คนที่อาศัย ท่านเลี้ยงชีพใช่หรือไม่”
           เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้ ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาค ตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อทำความเดือดร้อนให้ จะชื่อว่าหวัง ประโยชน์ หรือไม่หวังประโยชน์ ต่อคนเหล่านั้น”
           เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาค ตรัสถามต่อไปว่า “ผู้ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่ามีเมตตาจิต หรือ ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู กับคนเหล่านั้นเล่า”
           เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อคิดเป็นศัตรู จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือ สัมมาทิฏฐิเล่า”
           เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน”

           [๕๑๐] พระผู้มีพระภาค ตรัสถามต่อไปว่า “โลหิจจะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้น ว่า อย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงปกครองแคว้นกาสี กับแคว้นโกศล มิใช่หรือ”
          เขาทูลตอบว่า “เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาค ตรัสถามต่อไปว่า “โลหิจจะ ผู้ที่กล่าวว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงปกครองแคว้นกาสี กับแคว้นโกศล พระองค์ก็ควรได้รับผลประโยชน์ ที่เกิดในแคว้น ทั้งสอง แต่เพียงลำพัง ไม่ควรพระราชทานให้แก่ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ จะชื่อว่าทำ ความเดือดร้อนให้แก่ท่าน และแก่คนอื่น ซึ่งอาศัยพระบรมโพธิสมภาร ของพระองค์ เลี้ยงชีพใช่หรือไม่”
           เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้ ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาค ตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อทำความเดือดร้อนให้ จะชื่อว่า หวังประโยชน์ หรือไม่หวังประโยชน์ ต่อคนเหล่านั้น”
           เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าไม่หวัง ประโยชน์ ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาค ตรัสถามต่อไปว่า “ผู้ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่ามีเมตตาจิต หรือชื่อว่าคิดเป็นศัตรู กับคนเหล่านั้นเล่า”
           เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาค ตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อคิดเป็นศัตรู จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือ สัมมาทิฏฐิเล่า”
           เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านพระโคดม”

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน

           [๕๑๑] โลหิจจะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ผู้กล่าวว่า ‘โลหิจจพราหมณ์ ปกครอง หมู่บ้าน สาลวติกา ก็ควรได้รับผลประโยชน์ ที่เกิดในหมู่บ้านสาลวติกา แต่เพียงผู้เดียว ไม่ควรแบ่งให้ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ ชื่อว่าทำความเดือดร้อน ให้แก่คนที่อาศัย ท่านเลี้ยงชีพ เมื่อทำความเดือดร้อนให้ ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ ก็ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรู ก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน

            ผู้ที่กล่าวว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้ว ไม่ควรสอนคนผู้อื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคล ผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียก ข้อเปรียบเทียบ อย่างนี้ ว่าเป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้’

            ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่า ทำความเดือดร้อน ให้แก่เหล่ากุลบุตร ผู้อาศัยธรรมวินัย ที่เราแสดงแล้วบรรลุคุณวิเศษ คือ ทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง ทำให้แจ้ง สกทาคามิผล บ้าง ทำให้แจ้งอนาคามิผลบ้าง ทำให้แจ้งอรหัตตผลบ้าง และชื่อว่าทำความเดือดร้อน ให้แก่เหล่ากุลบุตร ผู้อบรมคุณธรรม ให้แก่กล้า เพื่อบังเกิดในภพ อันเป็นทิพย์ยิ่งขึ้นไป เมื่อทำความเดือดร้อน ให้ก็ชื่อว่าไม่หวัง ประโยชน์ ผู้ไม่หวัง ประโยชน์ ก็ชื่อว่าคิด เป็นศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรู ก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน

           [๕๑๒] โลหิจจะ คนที่กล่าวว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงปกครองแคว้นกาสี กับแคว้นโกศล พระองค์ก็ควรได้รับผลประโยชน์ ที่เกิดในแคว้นทั้งสอง แต่เพียงลำพัง ไม่ควรพระราชทาน ให้แก่ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่า ทำความเดือดร้อนให้แก่ท่าน และแก่คนอื่น ซึ่งอาศัยพระบรมโพธิสมภาร ของพระองค์เลี้ยงชีพ เมื่อทำความ เดือดร้อน ให้ ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ ก็ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู เมื่อคิด เป็นศัตรู ก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน ผู้ที่กล่าวว่า ‘สมณะหรือ พราหมณ์ ในโลกนี้ จะพึงบรรลุกุศลธรรม

            เมื่อบรรลุแล้ว ไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคล ผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออก แล้วสร้างเครื่อง จองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่าเป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้

            ผู้กล่าวอย่างนี้ ชื่อว่าทำความเดือดร้อน ให้แก่เหล่ากุลบุตร ผู้อาศัยธรรมวินัย ที่เราแสดงแล้ว บรรลุคุณวิเศษ คือทำให้แจ้ง โสดาปัตติผลบ้าง ทำให้แจ้งสกทาคามิผล บ้าง ทำให้แจ้งอนาคามิผลบ้าง ทำให้แจ้งอรหัตตผลบ้าง และชื่อว่าทำความเดือดร้อน ให้แก่เหล่ากุลบุตร ผู้อบรมคุณธรรมให้แก่กล้า เพื่อบังเกิดในภพ อันเป็นทิพย์ยิ่งขึ้นไป

            เมื่อทำความเดือดร้อนให้ ก็ชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ ก็ชื่อว่า คิดเป็นศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรู ก็ชื่อว่าเป็น มิจฉาทิฏฐิ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรก หรือกำเนิด เดรัจฉาน


3)

ศาสดาที่สมควรถูกทักท้วง ๓ ประเภท

           [๕๑๓] โลหิจจะ ศาสดา ๓ ประเภทต่อไปนี้ สมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วง ของผู้ทักท้วงศาสดา เห็นปานนั้นก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ ศาสดา ๓ ประเภท เป็นเช่นไร คือ

           (๑) โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือน ไปบวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ บรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็น สมณะ แต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขแก่ พวกท่าน’ สาวกของเขาจึงไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และหลีกเลี่ยงที่จะประพฤติ ตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือน ไปบวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ บรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็น สมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็น สมณะ แต่กลับแสดงธรรม สอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุข แก่ พวกท่าน สาวกของท่าน จึงไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และหลีกเลี่ยง ที่จะประพฤติ ตามคำสั่งสอน เปรียบเหมือน บุรุษที่ประชิดตัวสตรี ผู้กำลังถอยหนี หรือเปรียบเหมือน บุรุษสวมกอดสตรี ที่หันหลังให้ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภ อันชั่วร้าย เพราะไม่มี ผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้’ นี้คือศาสดา ประเภทที่ ๑ ซึ่งสมควรถูกทักท้วง ทั้งการ ทักท้วง ของผู้ทักท้วงศาสดา ประเภทนี้ ก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ

           [๕๑๔] (๒) ยังมีอีก โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือน ไปบวช เป็นบรรพชิต ยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลจุด มุ่งหมาย แห่งความเป็นสมณะ แต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขแก่พวกท่าน’ สาวกของเขาก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะรู้ และไม่หลีกเลี่ยง ที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือน ไปบวชเป็น บรรพชิต ยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็น สมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็นสมณะ แต่กลับแสดงธรรมสอนสาวก ว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์ และเพื่อ ความสุขแก่พวกท่าน สาวกของท่านก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะรู้ และไม่หลีกเลี่ยง ที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน

            เปรียบเหมือนคน ผู้ละเลยนาของตน เข้าใจนาของผู้อื่น ว่าเป็น ที่อันตน ควรบำรุง ข้ออุปไมยนี้ ก็เช่นเดียวกัน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภ อันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วยผู้สอนได้’ นี้คือศาสดา ประเภทที่ ๒ ซึ่งสมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วง ของผู้ทักท้วงศาสดา ประเภทนี้ ก็จัดว่าจริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ

           [๕๑๕] (๓) ยังมีอีก โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนไปบวช เป็นบรรพชิต ได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ครั้นบรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็น สมณะ แล้วก็แสดงธรรม สอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์ และเพื่อ ความสุขแก่พวกท่าน’ แต่สาวกของเขากลับไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และยัง หลีกเลี่ยงที่จะประพฤติ ตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือน ไปบวชเป็นบรรพชิตได้บรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็นสมณะ

            ครั้นบรรลุจุดมุ่งหมาย แห่งความเป็นสมณะ แล้วก็แสดงธรรมสอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขแก่พวกท่าน แต่สาวกของท่านกลับไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และยังหลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน เปรียบเหมือนบุคคล ผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อ เปรียบเทียบ อย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด จะช่วย ผู้สอนได้’ นี้คือศาสดา ประเภทที่ ๓ ซึ่งสมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วง ของผู้ทักท้วง ศาสดา ประเภทนี้ก็จัดว่า จริง แท้เป็นธรรม ไม่มีโทษ

           โลหิจจะ ศาสดา ๓ ประเภทเหล่านี้แล สมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของผู้ ทักท้วงศาสดา เห็นปานนี้ก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ”


4)

ศาสดาที่ไม่สมควรถูกทักท้วง

           [๕๑๖] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ศาสดาซึ่งไม่สมควรถูกทักท้วง มีบ้างไหม”

           พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โลหิจจะ ศาสดาซึ่งไม่สมควรถูกทักท้วงมีอยู่”
เขาทูลถามว่า

           ศาสดาประเภทนี้ เป็นเช่นไร ท่านพระโคดม


           พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า “โลหิจจะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ โลหิจจะ ศาสดาที่สาวก ได้บรรลุคุณวิเศษ อันยอดเยี่ยม เห็นปานนี้ ไม่สมควรถูก ทักท้วง การทักท้วง ของผู้ทักท้วงศาสดา เห็นปานนี้ ก็จัดว่า ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ โลหิจจะ ศาสดาที่สาวก ได้บรรลุคุณวิเศษ อันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ ไม่สมควรถูกทักท้วง การทักท้วง ของผู้ ทักท้วงศาสดา เห็นปานนี้ ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษฯลฯ

            น้อมจิตไปเพื่อ ญาณทัสสนะ โลหิจจะ ศาสดาที่สาวก ได้บรรลุคุณวิเศษ อันยอดเยี่ยม เห็น ปานนี้ ไม่สมควร ถูกทักท้วง การทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดา เห็นปานนี้ ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ อีกต่อไป โลหิจจะ ศาสดาที่สาวก ได้บรรลุคุณวิเศษ อันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ ไม่สมควร ถูกทักท้วง การทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดา เห็นปานนี้ ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้ไม่เป็นธรรม มีโทษ”


5)

โลหิจจพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก

           [๕๑๗] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ ได้กราบทูล ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กำลังจะตกเหว คือนรก แต่ท่านพระโคดม ช่วยฉุดให้ กลับขึ้นมายืนอยู่บนที่มั่น เปรียบเหมือนคนผู้หนึ่ง คว้าผมของอีกคนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะ ตกเหว แล้วฉุดให้กลับขึ้นมายืนอยู่บนที่มั่น ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่าน พระโคดม ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก

           ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม ทรงประกาศธรรม แจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า คนมีตาดี จักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนตลอดชีวิต”

โลหิจจสูตรที่ ๑๒ จบ

(อ่านพระสูตรเต็มฉบับหลวง ที่ไม่มีการตัดทอนเนื้อหา)

 

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์