เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

เสขปฏิปทาสูตร ว่าด้วยผู้มีเสขปฏิปทา ทางดำเนินของพระเสขะ-แสดงธรรมโดยพระอานนท์ 1839
 


1) เสขปฏิปทาสูตร ว่าด้วยผู้มีเสขปฏิปทา
(ทางดำเนินของพระเสขะ)
พระผู้มีพระภาค ทรงยังพวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาว่า ดูกรอานนท์ ปฏิปทาของเสขบุคคล จงแจ่มแจ้งกะเธอ เพื่อพวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์เถิด เราเมื่อยหลัง เราจักเหยียดหลัง
.....................................................................................................................................................................................................................................

2) พระอานนท์ แสดงธรรมให้กับพวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
2. เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์
3. เป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ
4. เป็นผู้ประกอบความเพียร
5. เป็นผู้ประกอบด้วย สัปปุริสธรรม ๗ ประการ
    5.1 เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ ของพระตถาคต
    5.2 เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
    5.3 เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
    5.4 เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรม ที่ได้สดับแล้ว
    5.5 เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อม แห่งกุศลธรรม
    5.6 เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติ และปัญญา เครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง
    5.7 เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิด และความดับ

.....................................................................................................................................................................................................................................

3) เรื่อง ฌานทั้ง ๔
  - อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌานมีวิตก บรรลุทุติยฌาน บรรลุตติยฌาน บรรลุจตุตถฌาน
  -อริยสาวกนั้น อาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมระลึกชาติก่อน ได้เป็นอันมาก
  -อริยสาวกนั้น อาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์ อยู่ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ อย่างเดียว เธอเห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ
  -อริยสาวกนั้น อาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุ ให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ อย่างเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ .....................................................................................................................................................................................................................................

4) เป็นผู้มีวิชชา และจรณะ

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลนี้ ก็เป็นจรณะ ของเธอประการหนึ่ง
เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย นี้ ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง
เป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง
เป็นผู้ประกอบความเพียร เครื่องตื่น นี้ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง
เป็นผู้ประกอบด้วย สัปปุริสธรรม ๗ ประการ นี้ ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง
เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อัน เป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง นี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง
 
- อริยสาวก ระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง นี้ ก็เป็นวิชชาของเธอ ประการหนึ่ง
 - อริยสาวก เห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง
 - อริยสาวก ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง

5) พระผู้มีพระภาคกล่าวสาธุๆ ทรงยินดีกับพระอานนท์
พระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า สาธุๆ อานนท์เธอได้กล่าว เสขปฏิปทา แก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ดีแล ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวภาษิตนี้จบลงแล้ว พระศาสดา ทรงยินดี พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระอานนท์ดังนี้แล

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 

           

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒-๒๙

1)
๓. เสขปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยผู้มีเสขปฏิปทา
(ทางดำเนินของพระเสขะ-แสดงธรรมโดยพระอานนท์)

           [๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. ก็สมัยนั้น สัณฐาคารใหม่ ที่พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ให้สร้างแล้วไม่นาน อันสมณพราหมณ์ หรือมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่ง ยังมิได้เคยอยู่เลย

           ครั้งนั้น พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส สัณฐาคารใหม่ อันพวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ให้สร้างแล้ว ไม่นาน อันสมณพราหมณ์ หรือมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่ง ยังมิได้ เคยอยู่เลย ขอเชิญ พระผู้มีพระภาค ทรงบริโภคสัณฐาคารนั้น เป็นปฐมฤกษ์ พระผู้มีพระภาค ทรงบริโภค เป็นปฐมฤกษ์แล้ว พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ จักบริโภค ภายหลัง ข้อนั้น พึงมีเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่พวกเจ้าศากยะ เมือง กบิลพัสดุ์ สิ้นกาลนาน พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ

           ลำดับนั้น พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ทราบการรับ ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วเข้าไปยังสัณฐาคาร ใหม่ แล้วสั่งให้ปูลาดสัณฐาคาร ให้มีเครื่องลาดทุกแห่ง ให้แต่งตั้งอาสนะ ให้ตั้งหม้อน้ำ ให้ตามประทีปน้ำมัน แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปูลาดสัณฐาคาร ให้มีเครื่องลาดทุกแห่ง แต่งตั้งอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันแล้ว บัดนี้ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงทราบ กาลอันควรเถิด

           [๒๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังสัณฐาคาร ทรงชำระพระบาทยุคลแล้ว เสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งพิงเสากลาง ทรงผินพระพักตร์ ตรงทิศบูรพา. แม้ภิกษุสงฆ์ชำระเท้าแล้ว เข้าไปสู่สัณฐาคาร แล้วนั่งพิงฝา ด้านทิศปัศจิม ผินหน้าเฉพาะทิศบูรพา แวดล้อม พระผู้มีพระภาค. แม้พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ชำระพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่ สัณฐาคาร ประทับนั่งพิงฝา ด้านทิศบูรพา ผินพักตร์เฉพาะ ทิศปัศจิม แวดล้อม พระผู้มีพระภาค

           ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงยังพวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ตลอดราตรี เป็นอันมาก แล้วตรัสเรียก ท่านพระอานนท์มาว่า

            ดูกรอานนท์ ปฏิปทาของเสขบุคคล จงแจ่มแจ้งกะเธอ เพื่อพวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์เถิด เราเมื่อยหลัง เราจักเหยียดหลัง นั้น ท่านพระอานนท์ทูลรับ พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคโปรด ให้ปูลาดผ้าสังฆาฏิ เป็น ๔ ชั้น สำเร็จ สีหไสยาสน์ ด้วยพระปรัสเบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาท เหลื่อมพระบาท มีพระสติ สัมปชัญญะ ทรงมนสิการสัญญา ในอันเสด็จลุกขึ้น

.............................................................................................................................................................................................

2)

(พระอานนท์แสดงธรรม )

           [๒๖] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ เชิญท้าวมหานามศากยะ มาว่า ดูกรมหานาม อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเครื่องตื่น ประกอบด้วย สัปปุริสธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเป็นธรรม อาศัยซึ่งจิต อันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก

           [๒๗] ดูกรมหานาม อย่างไรอริยสาวก จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวัง ในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วย มารยาท และโคจรมีปกติ เห็นภัยในโทษ เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ดูกรมหานามอย่างนี้แล อริยสาวก ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

           [๒๘] ดูกรมหานาม อย่างไรอริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลาย อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถือ อนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม จักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุ ให้อกุศลธรรม อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษา จักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวม ในจักขุนทรีย์ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ... ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้ อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษา มนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวม ในมนินทรีย์ ดูกรมหานาม อย่างนี้แลอริยสาวกชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย

           [๒๙] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวก จึงจะชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคาย แล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อจะเล่น เพื่อจะมัวเมา เพื่อความผ่องใส เพื่อความงดงาม เพียงเพื่อความดำรงอยู่ แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้เพื่อบำบัด ความอยากอาหาร เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วย คิดว่า จักกำจัดเวทนาเก่า เสียด้วยจักไม่ให้เวทนาใหม่ เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไปแห่ง อิริยาบถ ความเป็นผู้ไม่มีโทษ และความอยู่เป็นผาสุก จักมีแก่เรา ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่า เป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ

           [๓๐] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบความเพียร เครื่องตื่นอริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ เวลากลางวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมเครื่อง กั้นจิต ด้วยการเดินการนั่ง เวลากลางคืน ในปฐมยาม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรม เครื่องกั้นจิต ด้วยการเดินการนั่ง เวลากลางคืน ในมัชฌิมยาม สำเร็จสีหไสยาสน์ โดย ข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ มนสิการสัญญา ในอันที่จะลุกขึ้น เวลากลางคืน ในปัจฉิมยาม ลุกขึ้นแล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิตด้วยการ เดิน การนั่ง ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น

           [๓๑] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวก จึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วย สัปปุริสธรรม ๗ ประการ คืออริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้

      ๑. เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ ของพระตถาคต ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม

      ๒. เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อมแห่ง อกุศลธรรม อันลามก

      ๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัว ต่อการถึง พร้อมแห่ง อกุศลธรรม อันลามก

      ๔. เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรม ที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใด งามใน เบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลาย เห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมา มาก ทรงจำไว้ได้สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น

      ๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อม แห่งกุศลธรรม มีความ เข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรมทั้งหลาย

      ๖. เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติ และปัญญา เครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ตาม ระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการ ที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำ ที่พูดไว้แล้วนาน

      ๗. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิด และความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

            ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วย สัปปุริสธรรม ๗ ประการ

.............................................................................................................................................................................................

3)

(เรื่อง ฌานทั้ง ๔ )

           [๓๒] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็น ธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้ โดยไม่ยากไม่ลำบาก อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความ ผ่องใส แห่งจิตในภายใน มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะ ปีติ สิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติอยู่เป็น สุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่            ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่า เป็นผู้ได้ ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรม อาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดย ไม่ยาก ไม่ลำบาก

           [๓๓] ดูกรมหานาม เพราะอริยสาวก เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ คุ้มครอง ทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้ รู้จักประมาณ ในโภชนะอย่างนี้ ประกอบความเพียร เครื่องตื่นอย่างนี้ ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ อย่างนี้ เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรม อาศัย ซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้ โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อย่างนี้บัณฑิต จึงกล่าวอริยสาวกนี้ ว่าเป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ซึ่งเป็นดุจฟองไข่ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากกิเลส เครื่องประกอบ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

           ดูกรมหานาม เปรียบเหมือนฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไข่ เหล่านั้น แม่ไก่นอนทับ กก อบให้ได้ไออุ่นดีแล้ว ถึงแม่ไก่นั้น จะไม่เกิดความปรารถนา อย่างนี้ว่า ขอลูกไก่เหล่านี้ พึงทำลายเปลือกไข่ ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกได้โดยสะดวกเถิดดังนี้ ลูกไก่ภายในเปลือกไข่นั้น ก็คงทำลายเปลือกไข่ ออกได้ โดยสวัสดี ฉันใด

           ดูกรมหานาม อริยสาวกก็ฉันนั้น เพราะท่านเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีล อย่างนี้ คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้ รู้จักประมาณ ในโภชนะอย่างนี้ ประกอบ ความเพียร เครื่องตื่นอย่างนี้ ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ อย่างนี้ เป็นผู้ได้ฌาน ทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิต อันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ในทิฏฐธรรมตามความ ปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากอย่างนี้ บัณฑิตจึงกล่าวอริยสาวกนี้ว่า เป็นผู้มีเสข ปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ซึ่งเป็นดุจฟองไข่ ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรก กิเลส ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากกิเลส เครื่องประกอบ ไม่มี ธรรมอื่น ยิ่งกว่า

           ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้น อาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมระลึกชาติก่อน ได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ ชาติหนึ่ง บ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏ วิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณ อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึง ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้เป็น ความแตกฉาน แห่งฌานข้อที่หนึ่ง ของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่ เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น

           ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้น อาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์ อยู่ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ อย่างเดียว เธอเห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกาย ทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจ มิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกาย แตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษ์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้ เป็นความ แตกฉาน แห่งฌาน ข้อที่สอง ของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่ เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น

           ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้น อาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุ ให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ อย่างเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็น ความแตกฉาน แห่งฌานข้อที่สาม ของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่ เจาะเปลือก ไข่ออก ฉะนั้น

.............................................................................................................................................................................................

4)

ความเป็นผู้มีวิชชา และจรณะ

           [๓๔] ดูกรมหานาม

      แม้ข้อที่อริยสาวก เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลนี้ ก็เป็นจรณะ ของเธอประการหนึ่ง       แม้ข้อที่อริยสาวก เป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง
      แม้ข้อที่อริยสาวก เป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง
      แม้ข้อที่อริยสาวก เป็นผู้ประกอบความเพียร เครื่องตื่น นี้ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง
      แม้ข้อที่อริยสาวก เป็นผู้ประกอบด้วย สัปปุริสธรรม ๗ ประการนี้ ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง
      แม้ข้อที่อริยสาวก เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อัน เป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่ เป็นสุข ในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากนี้ ก็เป็นจรณะ ของเธอประการหนึ่ง

      แม้ข้อที่อริยสาวก ระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้างสี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สี่สิบชาติ บ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้างพันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอันมาก บ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัป เป็นอันมาก บ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหาร อย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณ อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ นี้ ก็เป็นวิชชาของเธอ ประการหนึ่ง

       แม้ข้อที่อริยสาวก เห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของ มนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ว่าสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิยึดถือการกระทำด้วยอำนาจ มิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือ การกระทำ ด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก เขาย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณ ทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง

       แม้ข้อที่อริยสาวก ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะ อาสวะ ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอ ประการหนึ่ง

.............................................................................................................................................................................................
5)

พระผู้มีพระภาคตรัส สาธุๆ กับพระอานนท์

           ดูกรมหานาม อริยสาวกนี้ บัณฑิตสรรเสริญว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา แม้เพราะ เหตุนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย จรณะแม้เพราะเหตุนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ แม้เพราะเหตุนี้ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้กล่าวคาถาไว้ว่าในชุมชน ที่ยัง รังเกียจกัน ด้วยโคตร กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์ ท่านผู้ถึงพร้อม ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุด

           [๓๕] ดูกรมหานาม คาถานั้น สนังกุมารพรหม ขับดีแล้ว มิใช่ขับชั่ว กล่าวดีแล้ว มิใช่กล่าวชั่ว ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระผู้มีพระภาค ทรงอนุมัติแล้ว

           ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า สาธุๆ อานนท์เธอได้กล่าว เสขปฏิปทา แก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ดีแล

           ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวภาษิตนี้จบลงแล้วพระศาสดาทรงยินดี พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระอานนท์ดังนี้แล

จบ เสขปฏิปทาสูตร ที่ ๓

 

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์