เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

โลหิจจสูตร เรื่องโลหิจจพราหมณ์ (พระไตรปิฎกฉบับหลวง) ดูฉบับมหาจุฬา คลิก 1841
 
(พระไตรปิฎกฉบับหลวง)


โลหิจจสูตร เรื่องโลหิจจพราหมณ์
1. โลหิจจพราหมณ์เข้าเฝ้า
2. ว่าด้วยพระพุทธคุณ
3. ทรงโปรดโลหิจจพราหมณ์
4. ศาสดาที่ควรแก่การท้วง ๓ จำพวก
5. ศาสดาที่ไม่ควรท้วง
6. จุลศีล
7. มัชฌิมศีล
8. มหาศีล
9. อินทรียสังวร
10. สติสัมปชัญญะ
11. สันโดษ
12. อุปมานิวรณ์ ๕
13. รูปฌาน ๔
14. วิชชา ๘ วิปัสสนาญาณ
15. มโนมยิทธิญาณ
16. อิทธิวิธญาณ
17. ทิพยโสตญาณ
18. เจโตปริยญาณ
19. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
20. จุตูปปาตญาณ
21. อาสวักขยญาณ
22. โลหิจจพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๓๐-๓๕๗

(ดูพระสูตรย่อ ฉบับมหาจุฬา)


1)

๑๒. โลหิจจสูตร
เรื่องโลหิจจพราหมณ์

           [๓๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านสาลวติกา ก็สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์ ครองบ้านสาลวติกา ซึ่งคับคั่งด้วย ประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหารซึ่งเป็นราชสมบัติอันพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานปูนบำเหน็จ ให้เป็นส่วนพรหมไท.


2)

ว่าด้วยพระพุทธคุณ

           [๓๕๒] ครั้งนั้น โลหิจจพราหมณ์ เกิดมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้ว ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภ ว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไร ให้แก่ผู้อื่นได้ดังนี้

           โลหิจจพราหมณ์ ได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกมา ในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านสาลวติกาโดยลำดับ และกิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่าแม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม

           พระองค์ทรงกระทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดามนุษย์ ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล.

           [๓๕๓] ครั้งนั้น โลหิจจพราหมณ์ เรียกโรสิกะ ช่างกัลบกมาว่า มานี่แน่ะ เพื่อนโรสิกะ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลถาม พระสมณโคดม ผู้มีอาพาธน้อยพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงพระกำลังอยู่สำราญ ตามคำของเราว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ ถามถึงพระองค์ผู้มีอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงพระกำลังอยู่สำราญ อนึ่ง จงทูลอย่างนี้ว่า

           ขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหาร ของโลหิจจพราหมณ์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้. โรสิกะช่างกัลบก รับคำโลหิจจพราหมณ์แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ ถามถึงพระองค์ ผู้มีอาพาธน้อยพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงพระกำลังอยู่สำราญ และให้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้.

           พระผู้มีพระภาค ทรงรับนิมนต์แล้ว ด้วยดุษณีภาพ.

           [๓๕๔] ครั้งนั้น โรสิกะช่างกัลบก ทราบว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ ถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ตามคำของท่านแล้ว และพระผู้มีพระภาค ก็ทรงรับนิมนต์แล้ว.

            ลำดับนั้นโลหิจจพราหมณ์ ได้ตกแต่งขาทนียโภชนียะ อันประณีตไว้ในนิเวศน์
ของตน โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น แล้วเรียกโรสิกะ ช่างกัลบกมาว่า มานี่แน่ะ เพื่อนโรสิกะ ท่านจงไปเฝ้าพระสมณโคดม ถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลเวลา แด่พระสมณโคดมว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้วภัตตาหารสำเร็จแล้ว. โรสิกะช่างกัลบก รับคำโลหิจจพราหมณ์แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว.


3)

ทรงโปรดโลหิจจพราหมณ์

           [๓๕๕] ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงครองอันตรวาสก แล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังบ้านสาลวติกา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. เวลานั้น โรสิกะช่างกัลบก ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ เกิดมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้ว ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจัก ทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำอื่นขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงเปลื้องโลหิจจพราหมณ์ เสียจากทิฏฐิอันลามกนั้น. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่เป็นไร โรสิกะ ไม่เป็นไร โรสิกะ เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ ของโลหิจจพราหมณ์แล้ว ประทับเหนืออาสนะอันเขาปูลาดไว้. ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์ จึงอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตด้วยมือของตนให้อิ่มหนำแล้ว.

           [๓๕๖] ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสวยแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงถืออาสนะอันหนึ่งซึ่งต่ำกว่า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะโลหิจจพราหมณ์ว่า จริงหรือ โลหิจจะ ได้ยินว่า ท่านเกิดมีทิฏฐิลามก เห็นปานนี้ว่าสมณะ หรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้ว ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำอื่น ขึ้นใหม่ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่า เป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้.

           โลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญเป็นอย่างนั้น.
ภ. ดูกรโลหิจจะ เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ท่านครองบ้านสาลวติกานี้ มิใช่หรือ.

           ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เป็นอย่างนั้น.
ดูกรโลหิจจะ เราขอถามท่าน ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โลหิจจพราหมณ์ ครองบ้านสาลวติกาอยู่ โลหิจจพราหมณ์ ควรใช้สอยผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้น ในบ้านสาลวติกานั้น แต่ผู้เดียว ไม่ควรให้ผู้อื่น ดังนี้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น จะชื่อว่าทำอันตรายแก่ชน ที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพ อยู่ได้หรือไม่?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าทำอันตรายได้.

           เมื่อทำอันตราย จะชื่อว่าหวังประโยชน์ ต่อชนเหล่านั้นหรือไม่หวัง.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์.

           ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์ต่อ จะชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเมตตา ไว้ในชนเหล่านั้น หรือจะชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู.

           เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือเป็นสัมมาทิฏฐิ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ.

           ดูกรโลหิจจะ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง.

           [๓๕๗] ดูกรโลหิจจะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศลมิใช่หรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เป็นเช่นนั้น.

           ดูกรโลหิจจะเราขอถามท่าน ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศลอยู่ พระองค์ควรทรงใช้สอยผลประโยชน์ ที่เกิดในแคว้นทั้ง ๒ นั้นแต่พระองค์เดียว ไม่ควรพระราชทานแก่ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำอันตรายแก่พวกท่านและคนอื่นๆ ซึ่งได้พึ่งพระบารมี พระเจ้าปเสนทิโกศล เลี้ยงชีพอยู่ได้หรือไม่?
           ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าทำอันตรายได้.

           เมื่อทำอันตราย จะชื่อว่าหวังประโยชน์ ต่อชนเหล่านั้น หรือไม่หวัง.
           ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์.

ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเมตตา ไว้ในชนเหล่านั้น หรือจะชื่อว่าเข้าไป
ตั้งจิตเป็นศัตรู.
           ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู.

เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิ?
           ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ.

           ดูกรโลหิจจะ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง.

           [๓๕๘] ดูกรโลหิจจะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันฟังได้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โลหิจจพราหมณ์ ครองบ้านสาลวติกา ควรใช้สอยผลประโยชน์ อันเกิดในบ้านสาลวติก าแต่ผู้เดียวไม่ควรให้ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำอันตรายแก่ชน ที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพอยู่ เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฉันนั้นนั่นแล

            ดูกรโลหิจจะ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้.

           บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำอื่น ขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภ ว่าเป็นธรรมอันลามกเพราะผู้อื่น จักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำอันตรายแก่กุลบุตร ผู้ที่ได้อาศัย พระธรรมวินัย อันตถาคตแสดงไว้แล้ว จึงบรรลุธรรมวิเศษ อันโอฬาร เห็นปานนี้ คือทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตผลบ้าง และแก่กุลบุตร ผู้ที่อบรมครรภ์อันเป็นทิพย์ เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ต่อเมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไป ตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

           ดูกรโลหิจจะ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเรา กล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง.

           [๓๕๙] ดูกรโลหิจจะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันฟังได้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศล พระองค์ควรใช้สอย ผลประโยชน์ อันเกิดขึ้นในแคว้นทั้ง ๒ นั้นแต่พระองค์เดียว ไม่ควรพระราชทานแก่ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำอันตรายแก่ชนทั้งหลาย คือตัวท่านและคนอื่นๆ ผู้ที่ได้พึง บารมี พระเจ้าปเสนทิโกศลเลี้ยงชีพ เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิต เป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฉันนั้นนั่นแล

           ดูกรโลหิจจะ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุ กุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควรบอกแก่ผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคล ตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำอื่นขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ ก็ ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือความโลภ ว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ ผู้อื่นได้ ผู้กล่าวอย่างนี้นั้น ย่อมชื่อว่าทำอันตรายแก่กุลบุตรผู้ที่ได้อาศัยพระธรรมวินัย อันตถาคตแสดงไว้แล้ว จึงบรรลุธรรมวิเศษ อันโอฬารเห็นปานนี้ คือทำให้แจ้ง โสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตผลบ้าง และกุลบุตรผู้ที่ อบรมครรภ์ อันเป็นทิพย์ เพื่อบังเกิดในภพ อันเป็นทิพย์ เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

           ดูกรโลหิจจะ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรก หรือ กำเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง.


4)

ศาสดาที่ควรแก่การท้วง ๓ จำพวก

           [๓๖๐] ดูกรโลหิจจะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้ ควรท้วงในโลก และทั้งการท้วง ของผู้ที่ท้วงศาสดา เห็นปานนี้ ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ ศาสดา ๓ จำพวกนั้นเป็นไฉน? ดูกรโลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว เขาไม่ได้บรรลุประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น. แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อสุขของท่านทั้งหลาย.

           สาวกของเขา ย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติ จากคำสอนของศาสดา. เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใดประโยชน์ ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว ท่านไม่ได้บรรลุประโยชน์ ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุข ของท่านทั้งหลายสาวก ของท่านนั้นย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และย่อมหลีกเลี่ยงประพฤติ จากคำสอนของศาสดา เหมือนบุรุษที่รุกเข้าไปหาสตรี ที่กำลังถอยหลังหนี หรือดุจบุรุษพึงกอดสตรีที่หันหลังให้ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้

           ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดาที่ ๑ ซึ่งควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดา เห็นปานนี้ ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.

           [๓๖๑] ดูกรโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว เขาไม่ได้บรรลุประโยชน์ ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤติ จากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว ท่านไม่ได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านนั้น ย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและไม่หลีกเลี่ยงประพฤติ จากคำสอนของศาสดา เหมือนบุคคลละเลยนาของตนแล้ว สำคัญเห็นนาของผู้อื่นว่าเป็นที่อันตนควรบำรุง ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้.

           ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดาที่ ๒ ซึ่งควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนั้น ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.

           [๓๖๒] ดูกรโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาได้บรรลุแล้ว เขาได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกของเขาไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านได้บรรลุแล้ว ท่านเองได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกของท่านนั้นไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เหมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ ฉันใด

           ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือความโลภ ว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไร ให้แก่ผู้อื่นได้ ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดาที่ ๓ ซึ่งควรท้วงในโลก และทั้งการท้วง ของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนั้น ก็จริงแท้เป็นธรรมไม่มีโทษ ดูกรโลหิจจะ ศาสดา ๓ จำพวกเหล่านี้แล ควรท้วงได้ในโลก และทั้งการท้วง ของผู้ที่ท้วงศาสดาทั้งหลายเห็นปานนั้น ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.


5)

ศาสดาที่ไม่ควรท้วง

           [๓๖๓] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว โลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ศาสดาบางคน ซึ่งไม่ควรท้วงในโลกมีบ้างหรือ.

           พ. ดูกรโลหิจจะ ศาสดาที่ไม่ควรท้วงในโลกมีอยู่.
           ล. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ศาสดาที่ไม่ควรท้วงในโลก เป็นไฉน.

           ดูกรโลหิจจะ พระตถาคต เสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก พระธรรมพระตถาคต พระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยด้วยพระปัญญา อันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น

           ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนัก ว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิตสมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวดนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัย ในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีลคุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ


6)

จุลศีล

           ดูกรโลหิจจะ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?

๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะวางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง.

๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาด จากเมถุน อันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้น แตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจาก คำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิง อรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วย ประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

๘. เธอเว้นขาดจาก การพรากพืชคามและภูตคาม.
๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล.
๑๐. เธอเว้นขาดจาก การฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล
๑๑. เธอเว้นขาดจาก การทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอม และ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว.
๑๒. เธอเว้นขาดจาก การนั่งนอนบนที่นั่งที่นอน อันสูงใหญ่.
๑๓. เธอเว้นขาดจาก การรับทองและเงิน.
๑๔. เธอเว้นขาดจาก การรับธัญญาหารดิบ.
๑๕. เธอเว้นขาดจาก การรับเนื้อดิบ.
๑๖. เธอเว้นขาดจาก การรับสตรีและกุมารี.
๑๗. เธอเว้นขาดจาก การรับทาสีและทาส.
๑๘. เธอเว้นขาดจาก การรับแพะและแกะ.
๑๙. เธอเว้นขาดจาก การรับไก่และสุกร.
๒๐. เธอเว้นขาดจาก การรับช้าง โค ม้า และลา.
๒๑. เธอเว้นขาดจาก การรับไร่นาและที่ดิน.
๒๒. เธอเว้นขาดจาก การประกอบทูตกรรมและการรับใช้.
๒๓. เธอเว้นขาดจาก การซื้อการขาย.
๒๔. เธอเว้นขาดจาก การโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่อง ตวงวัด.

๒๕. เธอเว้นขาดจาก การรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง.
๒๖. เธอเว้นขาดจาก การตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิงการปล้น และกรรโชกแม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

จบจุลศีล


7)
มัชฌิมศีล

           ๑. ภิกษุเว้นขาดจาก การพรากพืชคาม และภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคาม และภูตคาม เห็นปานนี้คือพืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่ เมล็ด เป็นที่ครบห้าแม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

           ๒. ภิกษุเว้นขาดจาก การบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่ สมณ พราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการ บริโภคของ ที่ทำการสะสม ไว้ปานนี้คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสม ที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง.

           ๓. ภิกษุเว้นขาดจาก การดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณ พราหมณ์ ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำ เป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมือง ที่สวยงาม การเล่นของ คนจัณฑาลการเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัด กระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

           ๔. ภิกษุเว้นขาดจาก การขวนขวาย เล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่นอย่าง ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่น การพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุก แถวละแปดตา แถวละ สิบตาเล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเรียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง.

           ๕. ภิกษุเว้นขาดจาก การนั่งนอน บนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอน บนที่นั่ง ที่นอน อันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูป สัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตร ด้วยลวดลาย เครื่องลาด ที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตร ด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะ และเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหม ขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ อันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดี ทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาด มีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

           ๖. ภิกษุเว้นขาดจาก การประกอบ การประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่ง การแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย ศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะอาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปากประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้า ประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

           ๗. ภิกษุเว้นขาดจาก ติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชน ะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถา เห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษเรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ ล่วงลับ ไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง.

           ๘. ภิกษุเว้นขาดจาก การกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เห็นปานนี้ เช่นว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิดข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำ ของข้าพเจ้า เป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็น ประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะ กล่าว ภายหลัง ท่านกลับ กล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคย ช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้า จับผิดวาทะของท่าน ได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้น จงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง.

           ๙. ภิกษุเว้นขาดจาก การประกอบทูตกรรม และการรับใช้ เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบทูตกรรม และการรับใช้เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่าท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจง นำเอา สิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

           ๑๐. ภิกษุเว้นขาด จากการพูดหลอกลวง และการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง.

จบมัชฌิมศีล.


8)

มหาศีล

           ๑. ภิกษุเว้นขาดจาก การเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดย ทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้าทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดรำ บูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรม ด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้านดูลักษณะที่นา เป็นหมอ ปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองูเป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอ รักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทาย เสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสก กันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

           ๒. ภิกษุเว้นขาดจาก การเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดย ทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้าทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง.

           ๓. ภิกษุเว้นขาดจาก การเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจัก ไม่ยกออก พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอก จักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอก จักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง.

           ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดย ทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนัก ษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ จักเดินผิดทาง

           ดาวนักษัตร จักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมี ดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และ ดาวนักษัตร จักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผล เป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เดินถูกทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทาง จักมีผล เป็นอย่างนี้

           ดาวนักษัตรเดินถูกทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทาง จักมีผล เป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาต จักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหว จักมีผล เป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรขึ้น จักมีผล เป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมอง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรกระจ่าง จักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง

           ๕. ภิกษุเว้นขาด จากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือพยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยากจักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณนับประมวลแต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง

           ๖. ภิกษุเว้นขาดจาก การเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่าง ที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้น กระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็งร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอ ทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาวเป็นหมอทรงเจ้าบวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวง ท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญแม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอ ประการหนึ่ง.

           ๗. ภิกษุเว้นขาด จากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกัน บ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่ายโทษ เบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมัน หยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตาทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

            ดูกรโลหิจจะ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีล สังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น ดูกรอัมพัฏฐะ ภิกษุก็ฉันนั้นสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆเพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้ เสวยสุข อันปราศจาก โทษ ในภายใน

            ดูกรโลหิจจะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีล

จบมหาศีล


9)

อินทรียสังวร

            ดูกรโลหิจจะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

            ดูกรโลหิจจะ ภิกษุในธรรมนี้
            เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อม ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวม ในจักขุนทรีย์

            ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวม ในมนินทรีย์

            ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวร อันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุข อันไม่ระคน ด้วยกิเลสในภายใน

             ดูกรโลหิจจะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย.


10)

สติสัมปชัญญะ

           ดูกรโลหิจจะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะ.

           ดูกรโลหิจจะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแลในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉันการดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืนการนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

             ดูกรโลหิจจะ ด้วยประการดังกล่าวมา นี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วย สติ สัมปชัญญะ


11)

สันโดษ

           ดูกรโลหิจจะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.

           ดูกรโลหิจจะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรโลหิจจะ นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง
            ดูกรโลหิจจะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ

           ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ อันเป็น อริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้าป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

           เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจาก ความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้

            ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากความ ประทุษร้าย คือพยาบาทได้

            ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมาย อยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากถีนมิทธะได้

            ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์ จากอุทธัจจกุกกุจจะได้

            ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา.


12)

อุปมานิวรณ์ ๕

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขา จะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไร ของเขา จะพึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อน เรากู้หนี้ไ ปประกอบการงาน บัดนี้การงานของเรานั้น สำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็น ต้นทุนเดิม ให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่ สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัสมีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงเป็นผู้อาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกาย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนักบริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้เราหายจาก อาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความ ปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึง พ้นจากเรือนจำนั้น โดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้น โดยสวัสดี ไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่นเป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาส นั้นแล้วพึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทย แก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ จะพึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึง หมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อน เรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้น ทางกันดารนั้น บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัสมีภูมิสถาน อันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

           ดูกรโลหิจจะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.


13)

รูปฌาน ๔

           เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้ เสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่.

           ดูกรโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด ศาสดานี้แล ไม่ควรท้วงในโลก อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ นั้น ก็ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรมประกอบด้วยโทษ.

           ดูกรโลหิจจะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่ง จิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

           ดูกรโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษ อันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด ศาสดานี้แล ไม่ควรในโลก อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ นั้น ก็ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ.

           ดูกรโลหิจจะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลาย สรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข

            ดูกรโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษ อันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด ศาสดานี้แล ไม่ควรท้วงในโลก อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ นั้น ก็ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรมประกอบด้วยโทษ.

           ดูกรโลหิจจะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะ ละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์

            ดูกรโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด ศาสดานี้แล ไม่ควรท้วงในโลกอนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ นั้นก็ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ.


14)

วิชชา ๘
วิปัสสนาญาณ

           ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุก และขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลาย และ กระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้น วางไว้ในมือแล้ว พิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไน ดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ ในนั้น ฉันใด.

           ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อ ญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุก และขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลาย และกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

           ดูกรโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษ อันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด ศาสดานี้แล ไม่ควรท้วงในโลก อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ นั้น ก็ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ.


15)

มโนมยิทธิญาณ

           ภิกษุนั้น ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่น จากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

            ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือน บุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิด เห็นอย่างนี้ว่า นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้หญ้าปล้อง อย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจาก หญ้าปล้องนั่นเอง

            อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่งก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง

            อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักงูออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเองฉันใด

            ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูป อันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่น จากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

            แม้ข้อนี้ ก็เป็น วิชชาของเธอประการหนึ่ง


16)

อิทธิวิธญาณ

           ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธี หลายประการ คือ คนเดียวเป็น หลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไป ก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ใน แผ่นดิน เหมือนในน้ำ ก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปใน อากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือ ก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไป ตลอดพรหมโลกก็ได้

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนช่างหม้อ หรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวด ดิน ดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือน ช่างงา หรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงา ชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้

           อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทอง หรือลูกมือของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อ หลอมทอง ดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จ ได้ ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธี หลายประการ คือคนเดียว เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏ ก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุ ฝากำแพง ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้

            ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำ ก็ได้เดินบนน้ำ ไม่แตกเหมือนเดิน บนแผ่นดิน ก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมาก ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้

            แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง.


17)

ทิพยโสตญาณ

           ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสต อันบริสุทธิ์ ล่วงโสต ของมนุษย์

            ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาพึงเข้าใจว่า เสียงกลอง ดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียงเปิงมางดังนี้บ้าง ฉันใด

            ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และใกล้ ด้วยทิพยโสต อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์

            แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง.


18)

เจโตปริยญาณ

           ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของ สัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

            จิตเป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิต ไม่เป็น มหรรคตจิต มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิต ไม่มี จิตอื่น ยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตไม่เป็น สมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

           ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่ม ที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงา หน้าของตน ในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝก็จะพึงรู้ว่า หน้ามีไฝ หรือหน้า ไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแลย่อมโน้ม น้อมจิตไป เพื่อเจโตปริยญาณ

           เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิต มีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่า จิตมีโทสะ หรือจิต ปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจาก โมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

            จิตเป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็น มหรรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิต ไม่มีจิตอื่น ยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิต ไม่เป็น สมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

            แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชา ของเธอประการหนึ่


19)

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

           ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึก ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้างสิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้างพันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป เป็นอันมาก บ้างตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัป เป็นอันมาก บ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหาร อย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

           ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึง ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่นแล้วจากบ้าน แม้นั้น ไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้น กลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้ อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูด อย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืน อย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจาก บ้านนั้น มาสู่บ้านของตนตามเดิม ดังนี้ฉันใด

           ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึก ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้างสี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

           ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึง ชาติก่อนได้ เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

            แม้ข้อนี้ก็เป็น วิชชาของเธอ ประการหนึ่ง


20)

จุตูปปาตญาณ

           ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อรู้จุติและอุปบัติ ของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็น หมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก

            ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้า แต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้

           เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรม ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ ณ ทาง๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชน กำลังเข้าไป สู่เรือนบ้าง กำลัง ออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลาง พระนคร บ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน เหล่านี้ออกจาก เรือน เหล่านี้สัญจร เป็นแถวในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลาง พระนคร ฉันใด

           ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อรู้จุติและ อุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรม ว่าสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

            ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระ อริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้

            เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลัง อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

            แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง


21)

อาสวักขยญาณ

           ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ว่า นี้ทุกข์นี้ ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธนี้ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จาก กามาสวะ แม้จากภวาสวะแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้น แล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

           ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนสระน้ำ บนยอดเขาใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุ ยืนอยู่บน ขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่ง และหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวด และ ก้อนหิน บ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้างหยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและ ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ดังนี้ ฉันใด

           ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็น จริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้ อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้จิต ย่อม หลุดพ้น แม้จาก กามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้ มิได้มี แม้ข้อนี้ ก็เป็นวิชชาของเธอ ประการหนึ่ง

           ดูกรโลหิจจะ นี้แลคือวิชชานั้น

           ดูกรโลหิจจะ ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนี้ เรียกว่าผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาบ้าง ผู้ถึงพร้อม ด้วยจรณะบ้าง ผู้ถึงพร้อมด้วยทั้งวิชชา และจรณะบ้าง อันวิชชาสมบัติ และจรณสมบัติ อย่างอื่น ซึ่งดียิ่งกว่าหรือประณีตกว่านี้ไม่มี.


22)

โลหิจจพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก

           [๓๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว โลหิจจพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้หนึ่ง พึงฉวยผมบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งกำลังจะตกไปสู่เหว คือนรกไว้ ฉุดขึ้นให้ยืนอยู่บนบก ฉันใด ข้าพระองค์กำลังจะตกไป สู่เหว คือ นรก พระโคดมผู้เจริญ ได้ยกขึ้นให้ยืนอยู่บนบก ฉันนั้นเหมือนกัน

           ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าคนมีจักษุ จักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศพระธรรม โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ

           ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึง สรณะ ตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โทษได้ถึงข้าพระองค์ ผู้เป็นพาล ผู้หลง ผู้ไม่รู้เท่าถึงการณ์

           ข้าพระองค์ใด ได้ท้วงพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นศาสดา อันสาวกไม่ควรท้วงในโลก และการท้วงพระผู้มีพระภาคนั้น ก็ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงรับโทษนั้น โดยความเป็นโทษแก่ข้าพระองค์นั้น เพื่อสำรวม ต่อไป

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เอาเถอะ โลหิจจะ โทษได้ถึงท่านผู้เป็นพาล ผู้หลง ผู้ไม่รู้เท่า ถึงการณ์ ท่านได้ท้วงเราผู้เป็นศาสดา อันสาวกไม่ควรท้วงในโลก และการท้วงเรา ผู้เป็นศาสดานั้น ก็ไม่จริงไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ

            เพราะเหตุนั้นแล เธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว จงกระทำคืนตาม ธรรม เรารับ รับโทษนั้น นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย ผู้เห็นโทษ โดยความเป็นโทษ ย่อมกระทำคืน ตามธรรม ย่อมถึงความสำรวมต่อไป.

           เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โลหิจจพราหมณ์ ได้ชื่นชมภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะหลีกไป ดังนี้แล.

จบโลหิจจสูตรที่ ๑๒

(ดูพระสูตรย่อ ฉบับมหาจุฬา)

 

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์