พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๓๓
1
๑๒. ธรรมิกสูตร
(ชาวบ้านขับไล่พระธรรมิะเจ้าอาวาส ที่ด่าบริภาษพระที่จรมา)
[๓๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระธรรมิกะ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอาวาส ๗ แห่ง ที่มีอยู่ในชาติภูมิ ชนบททั้งหมด ทราบข่าวว่า ท่านพระธรรมิกะ ย่อมด่า บริภาษเบียดเบียนทิ่มแทง เสียดสีซึ่งภิกษุทั้งหลาย ที่จรมาอาศัยด้วยวาจา และภิกษุผู้จรมาอาศัยเหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะด่าบริภาษ เบียดเบียนทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจาย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป
ครั้งนั้น พวกอุบาสก ชาวชาติภูมิชนบท คิดกันว่าพวกเราได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ก็แต่ว่า พวกภิกษุที่จรมา อาศัยย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป
อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พวกภิกษุผู้จรมาอาศัยหลีกไป ไม่อยู่ ละ อาวาสไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า ท่านพระธรรมิกะนี้แล ย่อมด่าบริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีพวกภิกษุผู้จรมาอาศัยด้วยวาจา และ พวกภิกษุที่จรมา อาศัย เหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะด่า บริภาษเบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ ท่าน พระธรรมิกะให้หนีไป
ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะ จงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่านไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้ต่อไป
ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะ ได้จากอาวาสนั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ที่อาวาส นั้น ท่านพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ ... ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้พากัน ไปหาท่านพระธรรมิกะ ถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะ จงหลีกไปจากอาวาสแม้นี้ ท่านไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้
ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะ ได้จากอาวาสแม้นั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ใน อาวาสนั้น ท่านพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ ... ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ท่านพระธรรมิกะ ให้หลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมดครั้งนั้น พวกอุบาสก ชาวชาติภูมิชนบท ได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ และได้กล่าวกะท่าน พระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะ จงหลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด
ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้คิดว่า เราถูกพวกอุบาสก ชาวชาติภูมิชนบท ขับไล่ออก จากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด บัดนี้ เราจะไปที่ไหนหนอ ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้คิดว่า ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
2
(ท่านพระธรรมิกะ ถูกชาวชนบท ขับไล่ออกจากอาวาสรวมทั้งหมด ๗ แห่ง เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค)
ลำดับนั้น ท่านพระธรรมิกะถือบาตรและจีวร หลีกไปทางกรุงราชคฤห์ไปถึง กรุงราชคฤห์ และภูเขาคิชฌกูฏโดยลำดับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เออ เธอมาจากที่ไหนหนอ ท่านพระธรรมิกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกพวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ขับไล่ออกจาก อาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด
พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ ควรแล้ว จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอ ด้วยการอยู่ในชาติภูมิ ชนบทนี้ เธอถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้นๆ แล้วมาในสำนักของเรา
3
(ทรงอุปมาเรื่องพ่อค้าเดินเรือปล่อยนกที่ค้นหาฝั่ง-นกพิราบ)
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าทางสมุทร จับนกที่ค้นหาฝั่ง แล้วนำเรือออกเดินทางไปในสมุทร เมื่อเดินเรือไปยังไม่เห็นฝั่ง พ่อค้าเหล่านั้น จึงปล่อยนกที่ค้นหาฝั่ง มันบินไปทางทิศตะวันออก บินไปทางทิศตะวันตกบินไป ทางทิศเหนือ บินไปทางทิศใต้บินขึ้นสูง บินไปตามทิศน้อย ถ้ามันเห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็บินเข้าหาฝั่งไปเลยทีเดียว แต่ถ้ามันไม่เห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็กลับมาที่เรือนั้น ฉันใด
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้นๆ แล้วมาในสำนักของเรา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
4
(ทรงอุปมาต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ มี ๕ กิ่ง )
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ต้นไทรใหญ่ ชื่อสุปติฏฐะ ของพระเจ้า โกรัพยะมี ๕ กิ่ง ร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ ก็ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ มีปริมณฑลใหญ่ สิบสองโยชน์ มีรากแผ่ไป ๕ โยชน์ มีผลใหญ่ เหมือนกะทะหุงข้าวสารได้หนึ่ง อาฬหกะ ฉะนั้น มีผลอร่อยเหมือนรวงผึ้งเล็กซึ่งไม่มีโทษ ฉะนั้น
ก็พระราชากับพวกสนม ย่อมทรงเสวย และบริโภคผลไทร ชื่อสุปติฏฐะเฉพาะ กิ่งหนึ่ง เหล่าทหาร ย่อมบริโภคเฉพาะ กิ่งหนึ่ง
ชาวนิคมชนบท ย่อมบริโภคเฉพาะ กิ่งหนึ่ง
สมณพราหมณ์ ทั้งหลาย ย่อมบริโภคเฉพาะ กิ่งหนึ่ง
เนื้อแหละนก ย่อมกิน กิ่งหนึ่ง
ก็ใครๆ ย่อมไม่รักษา ผลแห่งต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ และไม่มีใครๆทำอันตรายผล ของกันและกัน
ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งบริโภคผล แห่งต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ พอแก่ความต้องการแล้ว หักกิ่งหลีกไป ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ ชื่อสุปติฏฐะได้คิดว่า ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ มนุษย์ใจบาปคนนี้ บริโภคผลของ ต้นไทรใหญ่ ชื่อสุปติฏฐะพอแก่ความต้องการแล้วหักกิ่งหลีกไป ไฉนหนอ ต้นไทร ใหญ่ ชื่อสุปติฏฐะไม่ได้ออกผลต่อไป
พระเจ้าโกรัพยะ เสด็จเข้าไปเฝ้า ท้าวสักกะ จอมเทพ ถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า ขอเดชะ ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์พึงทรงทราบเถิด ว่า ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ ไม่ออกผล
5
(ท้าวสักกะบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝนที่แรงกล้า พัดโค่นต้นไทรใหญ่ ล้มลง ทำให้เทวดาที่สิงสถิตเสียใจ)
ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝนที่แรงกล้า พัดโค่น ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงสถิต อยู่ที่ ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ มีทุกข์เสียใจ มีหน้านองด้วยน้ำตายืนร้องไห้อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง
ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้เสด็จเข้าไปหาเทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ที่ ต้นไทรใหญ่ ชื่อสุปติฏฐะ แล้วตรัสถามว่า
ดูกรเทวดา เหตุไรหนอท่านจึงมีทุกข์ เสียใจ มีหน้านองด้วยน้ำตา ยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ลมฝนที่แรงกล้าได้พัดมาโค่น ที่อยู่ (ภพ) ของข้าพระองค์ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ดังที่เห็นอยู่นี้ พระเจ้าข้า
ส. ดูกรเทวดา ก็เมื่อท่านดำรงอยู่ในรุกขธรรมแล้ว (ธรรมที่เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ จะต้องประพฤติ) ลมฝนที่แรงกล้า ได้พัดมาโค่นที่อยู่ของท่านล้มลง ทำให้มีราก อยู่ข้างบนได้อย่างไร
ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ใน รุกขธรรม อย่างไร
ส. ดูกรเทวดา พวกชนที่ต้องการราก ย่อมนำรากต้นไม้ไป พวกชนผู้ต้องการเปลือก ย่อมนำเปลือกไป พวกชนผู้ต้องการใบย่อมนำใบไป พวกชนผู้ต้องการดอก ย่อมนำ ดอกไป พวกชนผู้ต้องการผลย่อมนำผลไป ก็แต่เทวดาไม่พึงกระทำความเสียใจ หรือความดีใจเพราะการกระทำนั้นๆ ดูกรเทวดา เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในรุกขธรรมอย่างนี้แล
ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ไม่ดำรงอยู่ในรุกขธรรมเป็นแน่เทียว ลมฝน ที่แรงกล้าจึงได้พัดมาโค่นที่อยู่ให้ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน
ส. ดูกรเทวดา ถ้าว่าท่านพึงดำรงอยู่ในรุกขธรรมไซร้ ที่อยู่ของท่านก็พึงมิเหมือน กาลก่อน
ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงดำรงอยู่ในรุกขธรรม ขอให้ที่อยู่ของ ข้าพระองค์ พึงมีเหมือนกาลก่อนเถิด
6
(ลำดับนั้นท้าวสักกะได้ทรงบันดาลฤทธิ์ ให้มีลมพัดต้นไทรใหญ่กลับตั้งขึ้นดังเดิม)
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝนที่แรงกล้า พัดต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ ให้กลับตั้งขึ้นดังเดิม ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ ได้มีราก ตั้งอยู่ดังเดิมฉันใด
7
(ฉันนั้นเหมือนกัน ก็สมณะไม่ดำรงอยู่ในธรรม จึงถูกขับไล่ออกจากอาว่าสทั้ง ๗ แห่ง)
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เออก็ พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้ขับไล่เธอผู้ดำรงอยู่ใน สมณธรรม ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่งในชาติภูมิชนบท ทั้งหมด ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านพระธรรมิกะทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมณะ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ใน สมณธรรม อย่างไร
พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ สมณะในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ด่าตอบบุคคลผู้ด่า ไม่เสียดสี ตอบบุคคลผู้เสียดสี ไม่ประหารตอบบุคคลผู้ประหาร ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ สมณะ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมอย่างนี้แล
ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้ขับไล่ข้าพระองค์ ผู้ไม่ดำรงอยู่ในสมณธรรมออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด พระเจ้าข้า
8
(เรื่องเจ้าลัทธิชื่อสุเนตตะ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม แสดงธรรมแก่สาวก เพื่อไปเกิดในพรหมโลก แต่สาวกยังไม่มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย สาวกที่มีจิตเลื่อมใส ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์)
พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรม แก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก
ก็สาวกเหล่าใดเมื่อท่านศาสดาจารย์ ชื่อสุเนตตะแสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิด ในพรหมโลก ไม่ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะแสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์
9
(เรื่องเจ้าลัทธอื่นก็เช่นกัน จิตไม่เลื่อมใสย่อมเข้าถึงอบาย จิตเลื่อมใสย่อมถึงสุคติ)
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว
มีศาสดาจารย์ชื่อ มูคปักขะ ฯลฯ
มีศาสดาจารย์ชื่ออรเนมิ ฯลฯ
มีศาสดาจารย์ชื่อ กุททาลกะ ฯลฯ
มีศาสดาจารย์ชื่อ โชติปาละ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรม แก่สาวกทั้งหลายเพื่อความ เป็นผู้ไปเกิดใน พรหมโลก
ก็สาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละแสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิด ในพรหมโลก ไม่ยังจิตให้เลื่อมใสสาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละแสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไป แล้ว ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
10
(ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย ด่า บริภาษ เจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ผู้นั้นพึงประสบสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก)
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสบสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก หรือ
ธ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นั้น ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากผู้ใดมีจิตประทุษร้าย ย่อมด่า บริภาษบุคคลผู้มีทิฐิสมบูรณ์คนเดียว ผู้นี้ย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากก ว่าผู้ด่าว่า บริภาษท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นั้น
11
(ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเจ้าลัทธิเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ จิตของเราจักไม่ คิดประทุษร้าย ด่าว่า บริภาษ)
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราหากล่าวการขุดโค่น คุณความดีของตนภายนอก ศาสนานี้ เหมือนการด่าว่าบริภาษ ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันนี้ไม่
ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษา อย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่ ประทุษร้าย ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันของตน ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอพึง ศึกษาอย่างนี้แล
12
(ผู้ใดด่าบริภาษ ผู้สิ้นความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา พ้นจากกามสังโยชน์ คลายกาม ราคะ ก็เช่นกัน)
ได้มีท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ ชื่อมูคปักขะ ชื่ออรเนมิชื่อกุททาลกะ ชื่อหัตถิปาละ และได้มีพราหมณ์ปุโรหิต ของพระราชาถึง ๗ พระองค์ เป็นเจ้าแห่งโค เป็นศาสดาจารย์ ชื่อโชติปาละ ท่านศาสดาจารย์ผู้มียศเป็นผู้ได้รับยกย่องว่า เป็นเจ้าลัทธิในอดีต ท่านเหล่านั้นได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาปคือ ความโกรธ มุ่งมั่น ในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้ เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก สาวกของท่านเหล่านั้นแม้หลายร้อย
ได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาป คือความโกรธ มุ่งมั่น ในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้ ก็เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก นรชนใดมีความดำริทางใจประทุษร้าย ย่อมด่าบริภาษท่านเหล่านั้น
ผู้เป็นฤาษีผู้เป็นนักบวชนอกศาสนา ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่นก็นรชนเช่นนั้น ย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก ส่วนนรชนใดมีความดำริทางใจประทุษร้าย ย่อมด่า บริภาษภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ผู้มีทิฐิสมบูรณ์รูปเดียว นรชนผู้นี้ย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่า ผู้ด่าว่าบริภาษ ท่านศาสดาจารย์เหล่านั้น นรชนไม่พึงเสียดสีท่านผู้มีความดี
13
(นรชนใดเบียดเบียนทำร้าย บุคคลที่เจ็ด แห่งพระอริยสงฆ์ ชื่อว่าทำร้ายตนเอง ย่อมบั่นรอนอรหัตผลในภายหลัง จึงพึงรักษาความดีของตนไว้ทุกเมื่อ)
ผู้ละทิฐิบุคคลใด เป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมถะและ วิปัสสนาอ่อน บุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม เราเรียกว่าเป็น บุคคลที่เจ็ด แห่ง พระอริยสงฆ์ *
นรชนใดเบียดเบียน ทำร้ายบุคคลเช่นนั้นผู้เป็นภิกษุ ในกาลก่อน นรชนนั้นชื่อว่า ทำร้ายตนเอง ย่อมบั่นรอนอรหัตผลในภายหลัง
ส่วนนรชนใดย่อมรักษาตน นรชนนั้นชื่อว่าเป็นผู้รักษาตนที่เป็นส่วนภายนอก เพราะเหตุนั้น บัณฑิตไม่ขุดโค่นคุณความดีของตน ชื่อว่าพึงรักษาตนทุกเมื่อ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
*
บุคคลที่เจ็ดแห่งอริยสงฆ์ คือ (สัทธานุสารี- สมถะและวิปัสนาอ่อน)
1. อุภโตภาควิมุต
2. ปัญญาวิมุต
3. กายสักขี
4. ทิฏฐิปปัตตะ
5. สัทธาวิมุต
6. ธัมมานุสารี
7. สัทธานุสารี
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๕
14
ปุญญวิปากสูตร
(เธอทั้งหลาย อย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข )
[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมรู้ชัดซึ่งผลแห่งบุญ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้ว ตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี ครั้นแล้ว เราไม่ได้กลับมายังโลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อโลกถึงความพินาศ [ถูกไฟไหม้] เราเข้าถึงพรหมโลก ชั้น อาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ เราย่อมเข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่า ได้ยินว่าใน วิมานพรหมนั้น
15
(พระผู้มีพระภาค เคยเป็นท้าวสักกะ ๓๖ ครั้ง เป็นธรรมราชามีสมุทรทั้ง ๔ เป็น ขอบเขต ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ เคยมีบุตรมากกว่าพันคนคนกล้าหาญชาญชัย ครอบครองมณฑลนี้โดยธรรมไม่ต้องใช้ศาสตรา)
เราเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ใครๆ ครอบงำ ไม่ได้ มีความเห็น แน่นอน มีอำนาจเต็ม เป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งทวยเทพ ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ตั้งอยู่ในธรรม เป็นธรรมราชามีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ชนะสงคราม มีชนบทถึง ความ สถาพร ตั้งมั่นประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ รัตนะ ๗ ประการของเรานั้นคือ จักรแก้วช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ขุนพลแก้วเป็นที่ ๗ อนึ่งเรา เคยมีบุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ เราครอบครอง ปฐพีมณฑลนี้ อันมีมหาสมุทร เป็นขอบเขต โดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา เชิญดูผลแห่งบุญกุศล ของบุคคล ผู้แสวงหาความสุข
16
(เราเจริญเมตตาจิตมา ๗ ปี ไม่ต้องกลับมาสู่โลกนี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกถึงความพินาศเราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเจริญ เมตตาจิต มาแล้ว ๗ ปี ไม่ต้องกลับมาสู่โลกนี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกถึง ความพินาศ เราเข้าถึง พรหมโลกชั้นอาภัสสระ
17
(เราเป็นท้าวมหาพรหม ๗ ครั้ง เป็นท้าวสักกะจอมเทพ ๓๖ ครั้ง)
เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ เราเข้าถึงวิมานอันว่างเปล่า ในกาลนั้น เราเป็นท้าว มหาพรหมผู้มี อำนาจเต็ม ๗ ครั้ง เป็นท้าวสักกะจอมเทพ เสวยสมบัติในเทวโลก ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป เป็นกษัตริย์ได้รับ มุรธาภิเศกแล้ว เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ ปกครอง ปฐพี มณฑลนี้ โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา สั่งสอนคนในปฐพีมณฑลนั้น โดยธรรมสม่ำเสมอ ไม่ผลุนผลัน
18
(เราได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มากมาย บริบูรณ์พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ)
ครั้นได้เสวยราช ในปฐพีมณฑลนี้ โดยธรรมแล้ว ได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติ มากมาย ทั้งบริบูรณ์พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ อันอำนวยความประสงค์ให้ทุกอย่าง ฐานะดังที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้สงเคราะห์ประชาชาวโลก ทรงแสดง ไว้ดีแล้ว
เหตุที่ท่านเรียกว่าเป็นเจ้าแผ่นดิน เพราะความเป็นใหญ่ เราเป็นพระราชาผู้เรืองเดช มีอุปกรณ์ เครื่องให้ปลื้มใจมากมาย มีฤทธิ์ มียศ เป็นใหญ่ ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป ใครบ้างได้ฟังแล้ว จะไม่เลื่อมใส แม้จะเป็นคนมีชาติต่ำ เพราะฉะนั้นแหละ ผู้มุ่งประโยชน์ จำนงหวังความเป็นใหญ่ ระลึกถึงคำสอน ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพสัทธรรม
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก
19
(สุริยสูตร)
(สุเนตตศาสดาเป็นท้าวมหาพรหม เป็นท้าวสักกะ ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีอายุยืนนาน แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ เพราะไม่แทงตลอดธรรม ๔ ประการ คือ อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุติ )
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดา มีความคิดเห็นว่า การที่เรา จะพึงเป็นผู้มีสติ เสมอกับสาวกทั้งหลาย ในสัมปรายภพไม่สมควรเลย ผิฉะนั้น เราควรจะ เจริญเมตตา ให้ยิ่งขึ้น ไปอีก ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดาจึงได้เจริญเมตตาจิต ตลอด ๗ ปี แล้วไม่มาสู่โลกนี้ตลอด ๗สังวัฏฏวิวัฏฏกัล์ป เมื่อโลกวิบัติเข้าถึง พรหมโลก ชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญ เข้าถึงวิมานพรหมที่ว่าง
ในวิมานนั้น สุเนตตศาสดาเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์ โดยถ่องแท้ เป็นผู้มีอำนาจมาก เกิดเป็นท้าวสักกะจอมเทวดา ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ได้ชัยชนะสงคราม สถาปนาประชาชนไว้เป็นปึกแผ่นมั่นคง พรั่งพร้อม ด้วยรัตนะ ๗ ประการ หลายร้อยครั้ง
พระราชโอรส ของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ล้วนแต่องอาจ กล้าหาญ ชาญชัย ย่ำยีศัตรู ได้พระเจ้า จักรพรรดินั้น ทรงปกครองปฐพีมณฑล อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ใช้ธรรมปกครอง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุเนตตศาสดานั้นแล มีอายุยืนนานดำรงมั่นอยู่อย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้น จากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นจากทุกข์ได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังไม่ตรัสรู้ไม่ได้แทงตลอดธรรม ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ อริยศีล ๑ อริยสมาธิ ๑ อริยปัญญา ๑ อริยวิมุติ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุติ เราตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว เราถอนตัณหาในภพได้แล้ว ตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี
พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ ต่อไปอีกว่า
ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุติอย่างยิ่ง พระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้า ผู้เป็น ศาสดา ผู้มีพระจักษุ ทรงรู้ยิ่งด้วยประการดังนี้แล้ว ตรัสบอกธรรม ๔ ประการแก่ ภิกษุทั้งหลาย ทรงกระทำที่สุดทุกข์แล้วปรินิพพาน
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๖
20
อุตตรสูตร
(เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณา เห็นความวิบัติของตน เห็นความวิบัติของคนอื่น เห็นสมบัติของตน ... เห็นสมบัติของผู้อื่น โดยกาลอันควร)
[๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระอุตตระ อยู่ที่วิหารชื่อว่า วัฏฏชาลิกา ใกล้ภูเขา สังเขยยกะณ มหิสพัสดุชนบท ณ ที่นั้นแล ท่านพระอุตตระ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณา เห็นความวิบัติของตน โดยกาลอันควร
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณา เห็นความวิบัติของคนอื่น โดยกาลอันควร
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณา เห็นสมบัติของตน โดยกาล อันควร
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ ภิกษุพิจารณา เห็นสมบัติของผู้อื่น โดยกาลอันควร
ก็สมัยนั้นแล ท้าวเวสสวัณมหาราช ออกจากทิศเหนือ ผ่านไปทางทิศใต้ด้วย กรณียกิจ บางอย่าง ได้สดับคำที่ท่านพระอุตตระ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ในวัฏฏชาลิกา วิหาร ใกล้ภูเขา สังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท อย่างนี้ ... ได้หายจาก วัฏฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท ไปปรากฏในเทวดาชั้น ดาวดึงส์ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วเข้าไปเฝ้า ท้าวสักกะจอมเทพ ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์โปรดทรงทราบว่า ท่านพระอุตตระนี้ ได้แสดงธรรม แก่ภิกษุใน วัฏฏชาลิกา วิหาร อย่างนี้ ...
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ทรงหายจากเทวดาชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏต่อหน้า ท่าน พระอุตตระ ในวัฏฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วเสด็จ เข้าไปหาท่านพระอุตตระ ถึงที่อยู่อภิวาทแล้ว ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระอุตตระ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ท่านพระอุตตระ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ ...จริงหรือ ท่านพระอุตตระถวายพระพรว่า จริงอย่างนั้น มหาบพิตร
ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คำนี้เป็นปฏิภาณของพระคุณเจ้าเอง หรือว่าเป็นของพระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อ. ดูกรมหาบพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจะทำข้ออุปมา ให้มหาบพิตรทรงสดับ ซึ่งวิญญูชน บางพวกจะรู้เนื้อความแห่งภาษิต ได้ด้วยข้ออุปมา ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนข้าวเปลือก กองใหญ่ซึ่งมีอยู่ไม่ไกลบ้านหรือนิคมนัก ชนหมู่มาก ขนข้าวเปลือก ออกจากกองนั้น ด้วยกระเช้าบ้าง ด้วยตระกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้าง ด้วยกอบมือบ้าง ดูกรมหาบพิตร บุคคลผู้หนึ่งเข้าไปถาม ชนหมู่ใหญ่นั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายขนข้าวเปลือกนี้มาจากไหน ดูกรมหาบพิตร มหาชนนั้น จะตอบอย่างไร จึงจะตอบได้อย่างถูกต้อง
ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มหาชนนั้นพึงตอบให้ถูกต้อง ได้อย่างนี้ว่า พวกเราขนมาจาก กอง ข้าวเปลือก กองใหญ่โน้น
อุ. ดูกรมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็นพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนั้นอาตมภาพ จึงชักเอา ข้าวเปลือก มาถวายพระพร โดยเทียบเคียงสุภาษิต อันเป็นพระดำรัสของพระผู้มี พระภาค นั้น ขอถวายพระพร
ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านพระอุตตระ ได้กล่าวไว้เป็นอย่างดีดังนี้ว่า คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มี พระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนั้น อาตมภาพจึงชักเอาข้าวเปลือก มาถวายพระพร โดยเทียบเคียงสุภาษิต อันเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั้น ท่านอุตตระผู้เจริญ
21
(พระเทวทัตต์มีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการ (โลกธรรม ๘) ครอบงำ ย่ำยีแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์แก้ไขไม่ได้)
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้เมือง ราชคฤห์ เมื่อพระ เทวทัตต์หลีกไปแล้ว ไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภ พระเทวทัตต์ ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของตน โดยกาล อันควร ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์มีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำ ย่ำยีแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ ประการ (โลกธรรม ๘) เป็นไฉน คือลาภ ... ความเป็นผู้ มีมิตรชั่ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์มีจิตอัน อสัทธรรม ๘ ประการนี้แลครอบงำย่ำยีแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่ว กัลป์ แก้ไขไม่ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นความดี แล้ว ที่ภิกษุจะพึงครอบงำย่ำยี ความเสื่อมลาภ ...ยศ ... ความเสื่อมยศ ... สักการะ ... ความเสื่อมสักการะ ... ความเป็นผู้ปรารถนาลามก ... ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้น แล้ว เพราะว่าเมื่อภิกษุไม่ครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิด ความคับแค้นเดือดร้อน พึงเกิดขึ้น เมื่อ ภิกษุครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะ ที่ทำให้เกิดความคับแค้น เดือดร้อน เหล่านั้น ย่อมไม่เกิดเพราะว่า
เมื่อภิกษุไม่ครอบงำ ย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความ คับแค้น เดือดร้อน พึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะ ที่ทำให้เกิดความคับแค้นเดือดร้อนเหล่านั้น ย่อมไม่เกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้น แล้ว ...จึงควรครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย จักครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว ... จักครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้แล
ข้าแต่ท่านพระอุตตระผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ในหมู่มนุษย์มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยายนี้ก็หาได้ตั้งอยู่ในบริษัทหมู่ไหนไม่ ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าอุตตระ จงเล่าเรียนธรรมบรรยายนี้จงทรงจำ ธรรมบรรยายนี้ ไว้ด้วยว่า ธรรมบรรยายนี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๗
22
ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
(ท้าวสักกะชั้นดาวดึงส์ทำบุญกิริยาวัตถุ ที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก .... สำเร็จ ด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยฐานะ ๑๐ ประการ)
[๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือบุญ กิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล ๑ บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จ ด้วยภาวนา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุ ที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย ไม่เจริญบุญ กิริยาวัตถุ ที่สำเร็จด้วยภาวนา เลย เมื่อตายไปเขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาราชทั้ง ๔ ในชั้นนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดา ชั้นจาตุมมหาราช โดย ฐานะ ๑๐ ประการ
คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ ในชั้นดาวดึงส์นั้น กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยฐานะ ๑๐ ประการ
คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสยามเทพบุตรในชั้นยามานั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก
ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นยามาโดยฐานะ ๑๐ ประการ
คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสันดุสิตเทพบุตรในชั้นดุสิตนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก
ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นดุสิตโดยฐานะ ๑๐ ประการ
คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสุนิมมิตเทพบุตร ในชั้นนิมมานรดีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก
ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นนิมมานรดีโดยฐานะ ๑๐ ประการ
คือ อายุทิพย์ ฯลฯโผฏฐัพพทิพย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทาน มีประมาณยิ่งทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล มีประมาณยิ่ง
ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุ ที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีเทพบุตร
ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุ ที่สำเร็จด้วยศีล เป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดา ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีโดยฐานะ ๑๐ ประการ
คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้แล
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หน้าที่ ๘๒
23
๗. มหากัสสปสูตร
(ท้าวสักกะนิรมิตรเพศเป็นช่างหูก ประสงค์จะถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสป)
[๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้ พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสป นั่งเข้าสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง อยู่ โดยบัลลังก์เดียว ที่ถ้ำปิปผลิคูหา สิ้น ๗ วัน ครั้นพอล่วง ๗ วันนั้นไปท่าน พระมหากัสสป ก็ออกจากสมาธินั้น เมื่อท่านพระมหากัสสป ออกจากสมาธินั้นแล้ว ได้มีความคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์เถิด
ก็สมัยนั้นแล เทวดาประมาณ ๕๐๐ ถึงความขวนขวาย เพื่อจะให้ท่านพระมหากัสสป ได้บิณฑบาต ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น แล้วนุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครราชคฤห์
[๘๐] ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงพระประสงค์จะถวายบิณฑบาต แก่ท่านพระมหากัสสป จึงทรงนิรมิตเพศเป็น นายช่างหูก ทอหูก อยู่ นางอสุรกัญญา ชื่อว่าสุชาดากรอด้ายหลอดอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป เที่ยวไปบิณฑบาต ในพระนครราชคฤห์ตามลำดับตรอก เข้าไปถึงนิเวศน์ของ ท้าวสักกะจอมเทพ
ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ทรงเห็นท่านพระมหากัสสปมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จออก จากเรือนทรงต้อนรับ ทรงรับบาตรจากมือเสด็จเข้าไปสู่เรือน ทรงคดข้าวออกจากหม้อ ใส่เต็มบาตร แล้วทรงถวายแด่ท่านพระมหากัสสปบิณฑบาตนั้น มีสูปะและพยัญชนะ เป็นอันมาก
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปคิดว่า สัตว์นี้เป็นใครหนอแล มีอิทธานุภาพเห็นปานนี้ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปมีความคิดว่า ท้าวสักกะจอมเทพ หรือหนอแล ท่านพระมหากัสสปทราบดังนี้แล้ว ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพ ว่า
ดูกรท้าวโกสีย์ มหาบพิตร ทำกรรมนี้แล้วแล มหาบพิตรอย่าได้ทำกรรมเห็นปานนี้ แม้อีกท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสปผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้า ก็ต้องการบุญ แม้ข้าพเจ้าก็พึงทำเพราะบุญครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงอภิวาท ท่านพระมหากัสสป ทรงทำประทักษิณแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส เปล่งอุทาน ๓ ครั้ง ในอากาศว่า
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่งเราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
[๘๑] พระผู้มีพระภาค ได้ทรงสดับอุทานของท้าวสักกะจอมเทพ เสด็จเหาะ ขึ้นไปสู่เวหาสแล้ว ทรงเปล่งอุทานในอากาศ ๓ ครั้งว่า
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่งเราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ลำดับนั้นแลพระผู้มีพระภาค ทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุ ผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตนมิใช่เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่สงบแล้วมีสติทุกเมื่อ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หน้าที่ ๑๗๒
24
ปุญญสูตร
(บัณฑิต พึงเจริญทาน ๑ ความประพฤติสงบ ๑ เมตตาจิต ๑ อันเป็นเหตุเกิด แห่งความสุข ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียนเป็นสุข )
บุญ เป็นชื่อแห่งความสุขอันน่าปรารถนาน่ารักน่าพอใจ
วิบากแห่งบุญ (ผลที่ได้) :-
- เรารู้ด้วยญาณวิเศษ ซึ่งวิบากที่ตนได้ทำไว้ตลอดกาลนาน (ตรัสรู้แล้ว)
- เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี ไม่กลับมาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป (ภพมนุษย์)
- เมื่อกัปฉิบหายอยู่ เราเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ชั้นอาภัสสระ (เทวดาพรหม)
- เมื่อกัปเจริญอยู่ เราย่อมเข้าถึงวิมานแห่งพรหมที่ว่าง (เทวดาชั้นพรหมอื่นๆ)
- เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ (เทวดาพรหม)
- เราเป็นผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ อยู่ในวิมานพรหมนั้น (เทวดาพรหม)
- เราเป็นผู้เห็น อดีต อนาคต ปัจจุบันโดยแท้ (ด้วยญาณ-หลังตรัสรู้)
- เราได้เป็น ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ ๓๖ ครั้ง (เทวดาชั้นดาวดึงส์)
- เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ประกอบด้วยธรรม (ภพมนุษย์)
- เราเป็นพระธรรมราชา มีสมุทรสาครสี่ เป็นขอบเขต (ภพมนุษย์)
- เราเป็นผู้ชนะ วิเศษแล้ว (ภพมนุษย์ - ตรัสรู้แล้ว)
-
จะกล่าวใยถึงความเป็นพระเจ้าประเทศราชเล่า (เป็นกษัตริย์นับครั้งไม่ถ้วน-ภพมนุษย์)
- เราเป็นผู้มั่นคงในชนบท ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ หลายร้อยครั้ง (ภพมนุษย์) |
[๒๐๐] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่ง ความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารักน่าพอใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรารู้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง ซึ่งวิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ ที่ตนเสวยแล้วสิ้นกาลนาน แห่งบุญทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้สิ้นกาลนาน
เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี แล้วไม่กลับมาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อกัปฉิบหายอยู่ เราเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญอยู่ เราย่อมเข้าถึงวิมานแห่งพรหมที่ว่าง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ใครครอบงำ ไม่ได้ เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน โดยแท้ เป็นผู้ยังจิตให้เป็นไปใน อำนาจ อยู่ในวิมานพรหมนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราได้เป็น ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ ๓๖ ครั้ง
ได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระธรรมราชามีสมุทรสาครสี่ เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะ วิเศษแล้ว ถึงความเป็นผู้มั่นคงในชนบท ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ หลายร้อยครั้ง จะกล่าวใยถึง ความเป็นพระเจ้าประเทศราชเล่า
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
25
(วิบากกรรมอะไรหนอ ที่ทำให้เรา
เป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก
คือผลวิบากแห่งกรรม 3 ประการ 1.ทาน 2.ทมะ (ฝึกตน) 3.สัญญมะ (เว้นขาด-สำรวม)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นดำริว่าบัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก อย่างนี้ เพราะผลวิบากแห่งกรรม อะไรของเราหนอแล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้น ดำริว่า บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก อย่างนี้ เพราะผลวิบากแห่งกรรม ๓ ประการของเราคือ ทาน๑ ทมะ๑ สัญญมะ๑
พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถา ประพันธ์ดังนี้ว่า กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแล อันสูงสุดต่อไปซึ่ง มีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน ๑ ความประพฤติสงบ ๑ เมตตาจิต ๑
บัณฑิตครั้นเจริญธรรม ๓ ประการอันเป็นเหตุเกิดแห่งความสุข เหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึง โลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข
เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล
(จบเรื่องท้าวสักกะจอมเทพ) |