เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

รวมเรื่องท้าวสักกะจอมเทพ ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตอนที่ 7) 1647
  P1645 P1646 P1647 P1648 P1649 P1650
รวมเรื่องท้าวสักกะจอมเทพ
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
ท้าวสักกจอมเทพ ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
---------------------------------------------------------------------------
(3)

1 ท้าวสักกะเที่ยวแสวงหาพระตถาคตเป็นเวลานาน เห็นสมณะใดอยู่สงัดจึงคิดว่าเป็นพระตถาคต
2 ท้าวสักกะข้ามความสงสัยได้แล้ว เมื่อเข้ามานั่งใกล้พระตถาคต
3 ท้าวสักกะจอมเทพ เกิดดวงตาเห็นธรรม
4 ว่าด้วยข้อปฏิบัติธรรม เป็นที่สิ้นตัณหา
5 ท้าวสักกะ เข้าไปเยี่ยมพระมหาโมคคัลลานะ
6 พระโมค ถามท้าวสักกะว่าตถาคตตรัสธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาไว้อย่างไร..ท้าวสักกะลืมหมดแล้ว
7 ท้าวสักกะ เล่าให้พระโมคฟังว่าเทวดากับอสูรเคยรบกัน เทวดาชนะ อสูรแพ้
8 ท้าวสักกะ พาพระโมคเที่ยวชมเวชยันตปราสาท ที่มีเทพธิดาบำรุง บำเรอ
9 พระโมค ใช้หัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทให้สั่นสะท้าน เพราะเห็นว่าท้าวสักกะเป็นผู้ประมาท
10 พระโมค ถามท้าวสักกะว่าพระผู้มีพระภาคตรัส ธรรมอันเป็นที่สิ้นแห่งตัณหาไว้อย่างไร
11 ท้าวสักกะ กล่าวตามที่รับฟังมาจากพระผู้มีพระภาค ถึงธรรมอันเป็นไป เพื่อการสิ้นตัณหา
12 พระโมค หายจากดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของ มิคารมารดาในวิหารบุพพาราม
13 พระโมค เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า พระองค์กล่าวโดยย่อแก่เทพ หรือหนอ
14 ท้าวสักกะ เชิญพระเจ้านิมิราช เสด็จสู่ดาวดึงส์
15 พระเจ้านิมิราช ทอดพระเนตร นรก-สวรรค์
16 เทวดา เชิญพระเจ้านิมิราช อยู่ในสวรรค์ แต่ทรงปฏิเสธ
17 ข้อที่สตรี พึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
18 ท้าวสักกะ กล่าวคาถา หลังจากพระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
19 พวกอสูรรบกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -1 ท้าวสักกะตรัสเรียกสุวีรเทพบุตรไปปกป้อง
20 ท้าวสักกะตรัสเรียก สุวีรเทพบุตร มาบัญชาให้ไปป้องกันอสูรถึง 3 ครั้ง
21 ท้าวสักกะตรัสกะ สุวีรเทพบุตร บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม จะประสพสุขได้หรือ
22 ท้าวสักกะบอกทางอันประเสริฐแก่ สุวีรเทพบุตร คือทางแห่งนิพพาน
23 พวกอสูรรบกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์-2
24 ท้าวสักกะตรัสเรียก สิสิมเทพบุตร มาบัญชาให้ไปป้องกันอสูรถึง 3 ครั้ง
25 ท้าวสักกะตรัสกะ สุสิม.. บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม จะประสพสุขได้หรือ
26 ท้าวสักกะบอกทางอันประเสริฐแก่ สุวีรเทพบุตร คือทางแห่งนิพพาน
27 พวกอสูร รบกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -3
28 ท้าวสักกะ ตรัสกะเทวดาชั้นดาวดึงส์ ว่าพึงแลดูยอดธงของเทวดา ความกลัวก็จะหายไป
29 ส่วนเราตถาคต ภิกษุอยู่ป่า พึงระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความกลัวก็จะหายไป
30 พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -4) พวกอสูรชนะ เวปจิตติสูตรที่ ๔
31 ท้าวเวปจิตติจอมอสูรกล่าว ถ้าอสูรชนะ พึงจับท้าวสักกะ นำตัวมายัง อสูรบุรี
32 ท้าวสักกะกล่าวว่า ถ้าเทวดาชนะ พึงจับมัดท้าวเวปจิตติ นำตัวมายัง สุธรรมสภา
33 ครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ จับท้าวเวปจิตติจอมอสูร นำตัวมายังสุธรรมาสภา
34 ครั้งนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ด่าบริภาษท้าวสักกะ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย
35 มาตลี- ถามท้าวสักกะว่า ท่านทนถ้อยคำหยายคายเพราะความกลัว หรือเพราะไม่มีกำลัง
36 ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่า ความอดกลั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง
37 บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก

 


1

(ท้าวสักกะเที่ยวเสาะแสวงหาพระตถาคตเป็นเวลานาน เห็นสมณะใด อยู่สงัด ก็คิดว่าเป็นพระตถาคต)

         [๒๗๐] ข้าพระองค์มีความดำริ ยังไม่ถึงที่สุด ยังมีความสงสัยเคลือบแคลง เที่ยวเสาะแสวงหาพระตถาคต อยู่ตลอดกาลนาน ข้าพระองค์สำคัญสมณะเหล่าใด ซึ่งเป็นผู้มีปรกติอยู่เงียบสงัด เข้าใจว่าเป็นพระสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปหาสมณะเหล่านั้น

ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามว่า ความพอใจเป็นอย่างไร ความไม่พอใจเป็นอย่างไร ก็หาชี้แจงในมรรคและข้อปฏิบัติไม่ ในเวลาที่ท่านเหล่านั้นรู้ข้าพระองค์ว่า เป็นสักกะ มาจากเทวโลก จึงถามข้าพระองค์ทีเดียวว่า ท่านทำอะไรจึงได้ลุถึงฐานะนี้ ข้าพระองค์ จึงแสดงธรรมตามที่ฟังมา แก่ท่านเหล่านั้น ให้ปรากฏในหมู่ชน



2

(ท้าวสักกะข้ามความสงสัยได้แล้ว เมื่อเข้ามานั่งใกล้พระตถาคต )

ท่านเหล่านั้นมีความพอใจ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว ในเวลาใด ข้าพระองค์ได้เห็น พระสัมพุทธเจ้า ผู้ข้ามความสงสัยได้แล้ว ในเวลานั้น ข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจากความกลัววันนี้ ได้เข้ามานั่งใกล้ พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดเสียได้ซึ่งลูกศรคือตัณหา ซึ่งหาบุคคลเปรียบมิได้เป็น มหาวีระ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทวดา กระทำความนอบน้อมอันใด แก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถวาย ความนอบน้อมนั้นแด่พระองค์ ข้าพระองค์ขอทำความนอบน้อม แด่พระองค์ด้วยตนเองพระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้ พระนิพพาน พระองค์เป็นศาสดาอย่างยอดเยี่ยมในโลก กับทั้งเทวโลก จะหาบุคคล เปรียบพระองค์มิได้

         [๒๗๑] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสเรียก ปัญจสิขคันธรรพบุตร มาแล้ว ตรัสว่าพ่อปัญจสิขะ พ่อเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก ด้วยเหตุที่พ่อ ให้พระผู้มีพระภาค ทรงพอพระหฤทัยก่อน พ่อให้พระองค์ทรงพอพระหฤทัยก่อนแล้ว ภายหลังพวกเรา จึงได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น เราจักตั้งพ่อไว้ ในตำแหน่งแทนบิดา พ่อจักเป็นราชาแห่งคนธรรพ์ และเราจะให้ นางภัททาสุริยวัจฉสา แก่พ่อ เพราะว่า นางนั้น พ่อปรารถนายิ่งนัก

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ เอาพระหัตถ์ตบปฐพี แล้วทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้ง ว่าขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



3

(ท้าวสักกะจอมเทพ เกิดดวงตาเห็นธรรม)

         [๒๗๒] ก็เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน บังเกิดขึ้นแก่ ท้าวสักกะจอมเทพ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา และบังเกิด ขึ้นแก่เทวดาแปดหมื่นพวกอื่น ปัญหาที่เชื้อเชิญให้ถามที่ ท้าวสักกะจอมเทพ ทูลถามนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว ด้วยประการดังนี้ เพราะฉะนั้น คำว่า สักกปัญหา จึงเป็นชื่อของไวยากรณ์ภาษิตนี้ ฉะนี้แล


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๕

4
ว่าด้วยข้อปฏิบัติธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา (๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร)

         [๔๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้: สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ที่ปราสาทแห่งมิคารมารดา (มหาอุบาสิกาวิสาขา ผู้เป็นดังว่ามารดาแห่งมิคารเศรษฐี) ในวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไป แล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วนมีความปลอดโปร่งจากกิเลส เป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนเป็นผู้ประเสริฐกว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย?

         [๔๓๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า
(๑) ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนี้ ภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้น
(๒) ย่อมรู้ยิ่งซึ่ง ธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว
(๓) ย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง
ครั้นทราบชัดธรรม ทั้งปวงแล้ว
(๔) ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว
(๕)
เธอได้เสวย เวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดีมิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี
(๖) ธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็น ความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น
(๗) ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น
(๗) ย่อมไม่สะดุ้ง หวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
(๗) ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และ
(๗) ทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
(๗) กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี ดังนี้

ดูกรจอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้แลภิกษุชื่อว่าน้อมไป ในธรรม เป็นที่สิ้น แห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลส เป็นเครื่อง ประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณและหายไปในที่นั้นนั่นเอง



5

(ท้าวสักกะ เข้าไปเยี่ยมพระมหาโมคคัลลานะ)

         [๔๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ได้มีความดำริว่า ท้าวสักกะ นั้น ทราบความพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงยินดี หรือว่าไม่ทราบก็ยินดีถ้ากระไร เราพึงรู้เรื่องท้าวสักกะ ทราบความพระภาษิต ของ พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ ได้หายไปในปราสาทของมิคารมารดา ในวิหารบุพพาราม ปรากฏในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประหนึ่งว่าบุรุษที่กำลังเหยียดแขน ทึ่งออกไปหรืองอแขนที่เหยียดเข้ามา ฉะนั้น

สมัยนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ กำลังอิ่มเอิบ พร้อมพรั่งบำเรออยู่ ด้วยทิพยดนตรีห้าร้อย ในสวนดอกบุณฑริกล้วน. ท้าวเธอได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลาน์มาอยู่แต่ที่ไกล จึงให้หยุดเสียงทิพยดนตรีห้าร้อยไว้ แล้วก็เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลาน์ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระโมคคัลลาน์ผู้นฤทุกข์ นิมนต์มาเถิด ท่านมาดีแล้ว นานแล้ว ท่านได้ทำปริยายเพื่อจะมาในที่นี้ นิมนต์นั่งเถิด อาสนะนี้แต่งตั้งไว้แล้ว ส่วนท้าวสักกะ จอมเทพ ก็ถืออาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง



6

(พระโมค-ถามท้าวสักกะว่า ตถาคตกล่าวการปฏิบัติธรรม เป็นที่สิ้นตัณหา ไว้อย่างไร... ท้าวสักกะลืมหมดแล้ว)

         [๔๓๖] ท่านพระโมคคัลลาน์ได้ถาม ท้าวสักกะผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ว่า ดูกรท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงความน้อมไปในธรรม เป็นที่สิ้นแห่งตัณหา โดยย่อแก่ท่านอย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้ข้าพเจ้าจักขอมีส่วนเพื่อจะฟังกถานั้น

ท้าวสักกะ ตรัสว่า ข้าแต่ท่านโมคคัลลาน์ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก ทั้งธุระส่วนตัว ทั้งธุระของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ พระภาษิตใดที่ข้าพเจ้าฟังแล้ว ลืมเสียเร็วพลัน พระภาษิตนั้น ท่านฟังดี เรียนดี ทำไว้ในใจดี ทรงไว้ดีแล้ว



7

(ท้าวสักกะเล่าให้พระโมคฟังว่าเทวดากับอสูรเคยรบกัน เทวดาชนะ อสูรแพ้ )

ข้าแต่พระโมคคัลลาน์ เรื่องเคยมีมาแล้วสงคราม ระหว่างเทวดาและอสูร ได้ประชิดกันแล้ว ในสงครามนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ ข้าพเจ้าชนะเทวาสุร สงครามเสร็จสิ้นแล้ว กลับจากสงครามนั้นแล้ว ให้สร้างเวชยันตปราสาท
เวชยันตปราสาท มีร้อยชั้น
ในชั้นหนึ่งๆ มีกูฏาคารเจ็ดร้อยๆ
ในกูฏาคารแห่งหนึ่งๆ มีนางอัปสรเจ็ดร้อยๆ
นางอัปสรผู้หนึ่งๆ มีเทพธิดาผู้บำเรอเจ็ดร้อยๆ

ข้าแต่ท่าน พระโมคคัลลาน์ ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์ แห่งเวชยันตปราสาท หรือไม่? ท่านพระมหาโมคคัลลาน์รับด้วยดุษณีภาพ



8

(ท้าวสักกะพาพระโมคคัล-เที่ยวชมเวชยันตปราสาท มีเทพธิดาบำรุงบำเรอ)

         [๔๓๗] ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวเวสวัณมหาราช นิมนต์ท่าน พระมหาโมคคัลลาน์ออกหน้าแล้ว ก็เข้าไปยังเวชยันตปราสาท. พวกเทพธิดาผู้บำเรอ ของ ท้าวสักกะ เห็นท่านพระมหาโมคคัลลาน์มาอยู่แต่ที่ไกล เกรงกลัวละอายอยู่ ก็เข้าสู่ห้องเล็กของตนๆ คล้ายกะว่าหญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวเข้าก็เกรงกลัวละอายอยู่ ฉะนั้น.

ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวเวสวัณมหาราช เมื่อให้ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ เที่ยวเดินไปในเวชยันตปราสาท ได้ตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลาน์ ขอท่านจงดู สถานที่ น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาท แม้นี้ ขอท่านจงดูสถานที่น่ารื่นรมย์ แห่ง เวชยันตปราสาทแม้นี้

ท่านพระมหาโมคคัลลาน์กล่าวว่า สถานที่น่ารื่นรมย์ของท่านท้าวโกสีนี้ย่อมงดงาม เหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน แม้มนุษย์ทั้งหลายเห็นสถานที่ น่ารื่นรมย์ไหนๆ เข้าแล้วกล่าวกันว่า งามจริง ดุจสถานที่น่ารื่นรมย์ของพวกเทวดา ชั้นดาวดึงส์



9

(พระโมคใช้หัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทให้สั่นสะท้าน เพราะเห็นว่า ท้าวสักกะ เป็นผู้ประมาท)

ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ได้มีความดำริว่า ท้าวสักกะนี้เป็นผู้ประมาท อยู่มากนัก ถ้ากระไร เราพึงให้ท้าวสักกะนี้สังเวชเถิด จึงบันดาลอิทธาภิสังขาร เอาหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่น สะท้าน หวั่นไหว.

ทันใดนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสวัณมหาราช และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีความประหลาดมหัศจรรย์จิต กล่าวกันว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นี่เป็นความประหลาด อัศจรรย์ พระสมณะมีฤทธิ์มาก อานุภาพมาก เอาหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพ เขย่าให้สั่น สะท้าน หวั่นไหวได้



10

(พระโมคถามท้าวสักกะอีกครั้งว่าพระผู้มีพระภาคตรัส ธรรมอันเป็นที่สิ้นแห่ง ตัณหา ไว้อย่างไร

         [๔๓๘] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ทราบว่า ท้าวสักกะจอมเทพ มีความสลดจิตขนลุกแล้ว จึงถามว่า ดูกรท้าวโกสีย์(ท้าวสักกะ) พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสความน้อมไป ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา โดยย่นย่ออย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้ข้าพเจ้าจัก ขอมีส่วนเพื่อฟังกถานั้น

ท้าวสักกะจึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลาน์ผู้นฤทุกข์ ข้าพเจ้าจะเล่าถวาย ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว จึงได้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติ เพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้าทูลถาม อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า



11

(ท้าวสักกะกล่าวโดยย่อ ตามที่รับฟังมาจากพระผู้มีพระภาค ถึงธรรม อันเป็นไป เพื่อการสิ้นตัณหา)

ดูกรจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนั้น ภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมทราบชัด ธรรมทั้งปวง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ ธรรมทั้งปวงดังนั้นแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดีทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณา เห็นดังนั้น ก็ไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่นย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้

ดูกรจอมเทพ กล่าวโดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วนมีความปลอดโปร่งจากกิเลส เป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่า เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลาน์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความ น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา โดยย่อแก่ข้าพเจ้าอย่างนี้แล



12

(พระโมคชื่นชมยินดีภาษิต จึงหายจากดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของ มิคารมารดา ในวิหารบุพพาราม)

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ ชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวสักกะ แล้วได้หายไป ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมารดา ในวิหารบุพพาราม ประหนึ่งว่าบุรุษที่กำลังเหยียดแขนที่งอออกไป หรืองอแขนที่เหยียดเข้ามา ฉะนั้น

ครั้งนั้น พวกเทพธิดาผู้บำเรอของท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลาน์ หลีกไปแล้วไม่นาน ได้ทูลถามท้าวสักกะ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นฤทุกข์ พระสมณะนั้น เป็นพระผู้มีพระภาค ผู้พระศาสดาของพระองค์หรือหนอ?

ท้าวสักกะ ตรัสบอกว่า ดูกรเหล่าเทพธิดาผู้นฤทุกข์ พระสมณะนั้น ไม่ใช่พระผู้มี พระภาค ผู้พระศาสดาของเรา เป็นท่านพระมหาโมคคัลลาน์ ผู้เป็นสพรหมจารีของเรา

พวกเทพธิดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นฤทุกข์ เป็นลาภของพระองค์ๆ ได้ดีแล้วที่ได้ พระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เป็นสพรหมจารีของพระองค์ พระผู้มีพระภาค ผู้ศาสดาของพระองค์ คงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์ เป็นแน่



13

(พระโมค-เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า พระองค์กล่าวโดยย่อแก่เทพ หรือหนอ)


         [๔๓๙] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่าพระองค์ เป็นผู้ตรัสความ น้อมไป ในธรรม เป็นที่สิ้นแห่งตัณหาโดยย่อแก่เทพ ผู้มีศักดิ์มากผู้ใดผู้หนึ่งบ้าง หรือหนอ?

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมคคัลลาน์ เรารู้เฉพาะอยู่จะเล่าให้ฟัง ท้าวสักกะจอมเทพ เข้ามาหาเรา อภิวาทแล้ว ได้ไปยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อ ว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่ง จากกิเลส เป็นเครื่องประกอบล่วงส่วนเป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่า เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรโมคคัลลาน์ เมื่อท้าวสักกะนั้น ถามอย่างนี้แล้ว เราบอกว่า

ดูกรจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนั้นภิกษุได้ สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมทราบชัดธรรม ทั้งปวง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรม ทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดีมิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่น สิ่งอะไรๆในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้ง หวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้

ดูกรจอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลส เป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรโมคคัลลาน์ เราจำได้อยู่ว่า เราเป็นผู้กล่าวความ น้อมไปในธรรม เป็นที่สิ้นแห่งตัณหาโดยย่อ แก่ ท้าวสักกะจอมเทพ อย่างนี้แล

พระผู้มีพระภาค ตรัสพระพุทธพจน์นี้จบแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๑


14

ท้าวสักกะเชิญพระเจ้านิมิราช เสด็จสู่ดาวดึงส์

         [๔๕๙] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายปรารถนาจะเห็น พระเจ้านิมิราช (กษัตริย์ผู้ทรงธรรม) หรือไม่?

เทวดาชั้นดาวดึงส์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ปรารถนา จะเห็น พระเจ้านิมิราช.

ดูกรอานนท์ สมัยนั้น ในวันอุโบสถที่สิบห้า พระเจ้านิมิราช ทรงสนานพระกาย ทั่วพระเศียรแล้ว ทรงรักษาอุโบสถ เสด็จขึ้นปราสาท อันประเสริฐประทับนั่งอยู่ชั้นบน. ครั้งนั้นท้าวสักกะจอมเทพ ทรงหายไปในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏเฉพาะ พระพักตร์ พระเจ้านิมิราช เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือพึง คู้แขน ที่เหยียดเข้า ฉะนั้น. แล้วได้ตรัสว่าข้าแต่มหาราช เป็นลาภของพระองค์

ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ดีแล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์ นั่งประชุมกันสรรเสริญอยู่ใน สุธรรมาสภาว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เป็นลาภของ ชนชาววิเทหะ* หนอ ดูกรท่านผู้เจริญ ชนชาววิเทหะได้ดีแล้วหนอ ที่พระเจ้านิมิราชผู้ทรงธรรม เป็นพระธรรมราชาเป็น พระมหาราชาผู้สถิตอยู่ในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์คหบดี ชาวนิคมและชาว ชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปดแห่งปักข์
* วิเทหะคือชุมชนของพระเจ้ามัฆเทวะ อดีตชาติของพระตถาคต สมัยมนุษย์อายุ 336,000 ปี

ข้าแต่มหาราชเทวดา ชั้นดาวดึงส์ปรารถนาจะเห็นพระองค์ หม่อมฉันจักส่งรถม้า อาชาไนยเทียมม้าพันหนึ่ง มาให้พระองค์ พระองค์พึงขึ้นประทับทิพยานเถิด อย่าทรงหวั่นพระทัยเลย. พระเจ้านิมิราชทรงรับด้วยอาการนิ่งอยู่

ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงทราบว่า พระเจ้านิมิราช ทรงรับเชิญแล้วทรงหายไปใน ที่เฉพาะพระพักตร์ พระเจ้านิมิราช มาปรากฏในเทวดาชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ออก หรือพึงคู้แขนที่เหยียดเข้าฉะนั้น.



15

พระเจ้านิมิราชทอดพระเนตรนรก-สวรรค์

         [๔๖๐] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสเรียกมาตลีเทพบุตร ผู้รับใช้มาว่าดูกรเพื่อนมาตลี มาเถิดท่าน จงเทียมรถม้าอาชาไนยอันเทียมม้าพันหนึ่ง แล้วเข้าไปเฝ้าพระเจ้านิมิราช จงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช รถม้าอาชาไนยเทียม ด้วยม้าพันหนึ่งนี้ ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงส่งมารับพระองค์ พระองค์พึงเสด็จขึ้นประทับ ทิพยานเถิด อย่าทรงหวั่นพระทัยเลย.

มาตลีเทพบุตร ผู้รับใช้ทูลรับ รับสั่งของ ท้าวสักกะจอมเทพ แล้วเทียมรถม้าอาชาไนย อันเทียมด้วยม้าพันหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระเจ้านิมิราชแล้วทูลว่า ข้าแต่มหาราช รถม้าอาชาไนยอันเทียมด้วยม้าพันหนึ่งนี้ ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงส่งมารับพระองค์ เชิญเสด็จขึ้นประทับทิพยานเถิด อย่าทรงหวั่นพระทัยเลย

อนึ่ง ทางสำหรับสัตว์ ผู้มีกรรมอันลามก เสวยผลของกรรมอันลามกทางหนึ่ง(นรก) ทางสำหรับสัตว์ผู้มีกรรมอันงาม(สวรรค์) เสวยผลของกรรมอันงามทางหนึ่ง ข้าพระองค์จะเชิญเสด็จพระองค์โดยทางไหน?

พระเจ้านิมิราชตรัสว่า ดูกรมาตลี จงนำเราไปโดยทางทั้งสองนั่นแหละ

มาตลีเทพบุตรผู้รับใช้ นำเสด็จพระเจ้านิมิราชถึงสุธรรมาสภา. ท้าวสักกะจอมเทพ ทอดพระเนตร เห็นพระเจ้านิมิราช กำลังเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้ตรัสว่า ข้าแต่มหาราช เชิญเสด็จมาเถิด ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์ประชุม สรรเสริญอยู่ในสุธรรมาสภาว่า



16


(เทวดาเชิญพระเจ้านิมิราชผู้ทรงธรรม ให้อยู่ในสวรรค์ต่อไปเพื่อเหล่าเทวดา จะได้เห็นพระองค์ แต่ทรงปฏิเสธ)

ดูกรท่านผู้เจริญ เป็นลาภของชน ชาววิเทหะหนอ ชนชาววิเทหะได้ดีแล้วหนอ ที่พระเจ้านิมิราชผู้ทรงธรรม เป็นพระธรรมราชา เป็นพระมหาราชาผู้สถิตอยู่ในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์คหบดี ชาวนิคมและชนบท และทรงรักษาอุโบสถ ทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปดแห่งปักข์ ข้าแต่มหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ ปรารถนาจะพบเห็นพระองค์ ขอเชิญพระองค์จงอภิรมย์อยู่ในเทวดาทั้งหลาย ด้วยเทวานุภาพเถิด

พระเจ้านิมิราชตรัสว่า อย่าเลย พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอจงนำหม่อมฉันกลับไปยัง เมืองมิถิลาในมนุษย์โลกนั้นเถิด หม่อมฉันจักได้ประพฤติธรรมอย่างนั้น ในพราหมณ์ คหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท และจักได้รักษาอุโบสถ ทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปดแห่งปักข์เถิด

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสเรียกมาตลีเทพบุตรผู้รับใช้มาว่า ดูกรเพื่อนมาตลี ท่านจงเทียมรถม้าอาชาไนย อันเทียมด้วยม้าพันหนึ่ง แล้วนำพระเจ้านิมิราช กลับไปยัง เมืองมิถิลาในมนุษย์โลกนั้น มาตลีเทพบุตร ผู้รับใช้ทูลรับรับสั่งของ ท้าวสักกะจอมเทพ แล้ว เทียมรถม้าอาชาไนยอันเทียมด้วยม้าพันหนึ่ง แล้วนำ พระเจ้านิมิราช กลับไปยังเมืองมิถิลาในมนุษยโลกนั้น


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หน้าที่ ๑๓๓

17

(ข้อที่สตรีพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส)
(พหุธาตุกสูตร)
......

         (๑๔) ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ สตรีพึงสำเร็จเป็น ท้าวสักกะ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ .. ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือบุรุษ พึงสำเร็จเป็น ท้าวสักกะ นั่นเป็นฐานะที่มีได้


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๒

18

(ท้าวสักกะกล่าวคาถา หลังจากพระผู้มีพระภาคปรินิพพาน)
(มหาปรินิพพานสูตร)

         [๖๒๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าว คาถานี้ พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพาน ว่า "สัตว์ทุกหมู่เหล่า จักทอดทิ้งร่างกายไว้ ในโลก พระตถาคต ผู้ศาสดาผู้หาบุคคลเปรียบมิได้ในโลก ถึงแล้วซึ่งกำลังพระญาน เป็นพระสัมพุทธเช่นนี้ ยังปรินิพพานแล้ว "

         [๖๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่ของ ทวยเทพ ได้กล่าวคาถานี้ พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า "สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดาเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขาร เหล่านั้นเป็นสุข"


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๐

19

(พวกอสูรรบกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -1) ท้าวสักกะตรัสเรียกสุวีรเทพบุตรไปปกป้อง)
สุวีรสูตรที่ ๑

         [๘๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

         [๘๔๘] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกอสูรได้รบกับพวกเทวดา



20


(ท้าวสักกะตรัสเรียก สุวีรเทพบุตร มาบัญชาให้ไปป้องกันอสูรถึง 3 ครั้ง)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดา ตรัสเรียกสุวีรเทพบุตร มาบัญชา ว่า พ่อสุวีระ พวกอสูรเหล่านี้ กำลังพากันมารบ พวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูร ไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุวีรเทพบุตรรับบัญชา ของท้าวสักกะจอมเทวดา ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญดังนี้ แล้วมัวประมาทเสีย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ แลท้าวสักกะจอมเทวดา ก็ได้ตรัสเรียก สุวีรเทพบุตร มาสั่งว่า พ่อสุวีระ พวกอสูรเหล่านี้กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกัน พวกอสูรไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ สุวีรเทพบุตรรับบัญชาของ ท้าวสักกะ จอมเทวดา ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ แล้วมัวประมาทเสีย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวสักกะจอมเทวดา ก็ได้ตรัสเรียก สุวีรเทพบุตร มาสั่งว่าพ่อสุวีระ พวกอสูรเหล่านี้กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกัน พวกอสูรไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ สุวีรเทพบุตรรับบัญชาของท้าวสักกะ จอมเทวดาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ แล้วมัวประมาทเสีย



21

(ท้าวสักกะตรัสกะ สุวีรเทพบุตร บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม จะประสพสุขได้หรือ)

         [๘๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดา ตรัสกะ สุวีรเทพบุตร ด้วยคาถาว่า บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม จะประสพสุขได้ ณ ที่ใด ดูกรสุวีระ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด

         [๘๕๐] สุวีรเทพบุตรกราบทูลว่า บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่หมั่น และ ไม่ใช้ใครๆ ให้กระทำกิจทั้งหลายอีกด้วย เขาพึงพรั่งพร้อมด้วยกามทุกอย่าง ข้าแต่ ท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอกฐานะอันประเสริฐนั้นแก่ข้าพระองค์



22


(ท้าวสักกะบอกทางอันประเสริฐแก่ สุวีรเทพบุตร คือทางแห่งนิพพาน)

         [๘๕๑] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่าที่ใด บุคคลเกียจคร้าน ไม่หมั่น ถึงความสุข ล่วงส่วนได้ สุวีระ เจ้าจงไป ณ ที่นั้นและจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด

         [๘๕๒] สุวีรเทพบุตรทูลว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะพึงได้ความสุขใด โดยไม่ต้องทำการงาน ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอพระองค์ จงตรัสบอกความสุขนั้นอันประเสริฐ ที่ไม่มีความแห้งใจ ไม่มีความคับแค้น แก่ข้าพระองค์เถิด

         [๘๕๓] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่า หากความสุขจะมีได้โดยไม่ต้องทำการงาน ไม่ว่าในที่ไหนๆใครๆย่อมทรงชีพอยู่ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นทางแห่งนิพพาน สุวีระ เจ้า จงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด

         [๘๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ท้าวสักกะจอมเทวดา พระองค์นั้น อาศัยผลบุญ ของพระองค์เป็นอยู่ เสวยรัชสมบัติอันมีความเป็นใหญ่ยิ่ง ด้วยความเป็นอิสระแห่ง เทวดาชั้นดาวดึงส์ ยังมาพรรณนาคุณแห่งความเพียรคือ ความหมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวชอบแล้วอย่างนี้ พึงหมั่นเพียร พยายาม เพื่อบรรลุมรรคผล ที่ยังไม่บรรลุ เพื่อได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อกระทำ ให้แจ้งซึ่งมรรคผล ที่ยังไม่ได้กระทำให้แจ้ง ข้อนี้จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้



23

(พวกอสูรรบกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์-2)
สุสิมสูตรที่ ๒

         [๘๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว



24


(ท้าวสักกะตรัสเรียก สิสิมเทพบุตร มาบัญชาให้ไปป้องกันอสูรถึง 3 ครั้ง)

         [๘๕๖] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกอสูร ได้พากันมารบกับพวกเทวดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ท้าวสักกะ จอมเทวดา ตรัสเรียกสุสิมเทพบุตร มาบัญชาว่า พ่อสุสิมะ พวกอสูรเหล่านี้กำลัง พากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูรไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุสิมเทพบุตร รับบัญชาท้าวสักกะจอมเทวดา ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญดังนี้ แล้วมัวประมาทเสีย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวสักกะจอมเทวดา ก็ได้ตรัสเรียก สุสิมเทพบุตรมาบัญชาว่า พ่อสุสิมะ พวกอสูรเหล่านี้กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูรไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้ในครั้งที่ ๓ สุสิมเทพบุตรรับบัญชา ท้าวสักกะจอมเทวดา ว่า ขอเดชะขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ดังนี้ แล้วมัวประมาทเสีย



25


(ท้าวสักกะตรัสกะ สุสิม .. บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม จะประสพสุขได้หรือ)

         [๘๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดา ตรัสกะสุสิม เทพบุตร ด้วยคาถาว่าบุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม แต่ประสบความสุขได้ ณ ที่ใด ดูกรสุสิมะเจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด

         [๘๕๘] สุสิมเทพบุตรกราบทูลว่า บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่หมั่น และ ไม่ใช้ใครๆ ให้กระทำกิจทั้งหลายอีกด้วย เขาพึงพรั่งพร้อมด้วยกามทุกอย่าง ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอกฐานะอันประเสริฐนั้นแก่ข้าพระองค์



26


(ท้าวสักกะบอกทางอันประเสริฐแก่ สุวีรเทพบุตร คือทางแห่งนิพพาน)

         [๘๕๙] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่าที่ใด บุคคลเกียจคร้าน ไม่หมั่น ถึงความสุข ล่วงส่วนได้สุสิมะ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด

         [๘๖๐] สุสิมเทพบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่ ท้าวสักกะ ผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะพึงได้ความสุขใด โดยไม่ต้องทำการงาน ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอกความสุขนั้น อันประเสริฐ ที่ไม่มีความแห้งใจ ไม่มีความคับแค้น แก่ข้าพระองค์เถิด

         [๘๖๑] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่าหากความสุขจะมีได้โดยไม่ต้องทำการงาน ไม่ว่าในที่ไหนๆ ใครๆย่อมยังชีพอยู่ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นทางแห่งนิพพาน สุสิมะ เจ้าจงไปณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด

         [๘๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ท้าวสักกะจอมเทวดา พระองค์นั้นอาศัย ผลบุญ ของ พระองค์เป็นอยู่ เสวยรัชสมบัติมีความเป็นใหญ่ยิ่ง ด้วยความเป็นอิสระแห่งเทวดา ชั้นดาวดึงส์ จึงจักพรรณนาคุณแห่งความเพียรคือความหมั่น

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบวชแล้วในธรรมวินัย อันเรากล่าวชอบแล้วอย่างนี้ พึงหมั่นเพียร พยายาม เพื่อบรรลุมรรคผลที่ยังไม่บรรลุ เพื่อได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล อันตนยังมิได้ทำให้แจ้ง ข้อนี้จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้ โดยแท้



27

(พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -3 )
ธชัคคสูตรที่ ๓

         [๘๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

         [๘๖๔] พระผู้มีพระภาค ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่าง เทวดากับอสูร ประชิดกันแล้ว



28

(ท้าวสักกะตรัสเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ว่าความกลัวความหวาดเสียวจะพึงเกิดขึ้น พึงแลดูยอดธงของเรา ของท้าวปชาบดี ของท้าวอีสานเทวราช ความกลัวก็จะหายไป)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งเทวดา ตรัสเรียกเทวดาชั้น ดาวดึงส์ มาสั่งว่าแน่ะ ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความขนพอง สยองเกล้า ก็ดี จะพึงเกิดขึ้นแก่พวกเทวดาผู้ไปในสงคราม สมัยนั้น พวกท่าน พึงแลดูยอดธงของเราทีเดียว เพราะว่าเมื่อพวกท่าน แลดูยอดธงของเรา อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จัก หายไป

ถ้าพวกท่านไม่แลดูยอดธงของเรา ทีนั้นพวกท่าน พึงแลดูยอดธงของท้าวปชาบดี เทวราชเถิด เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราช อยู่ความกลัว ก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป หาก พวกท่าน ไม่แลดูยอดธง ของท้าวปชาบดีเทวราช ทีนั้น พวกท่านพึงแลดูยอดธง ของท้าววรุณเทวราชเถิด เพราะว่าเมื่อพวกท่าน แลดูยอดธง ของท้าววรุณเทวราชอยู่

ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป หากพวกท่านไม่แลดูยอดธงของท้าววรุณเทวราช ทีนั้นพวกท่าน พึงแลดูยอดธง ของท้าวอีสานเทวราชเถิด เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธง ของท้าวอีสาน เทวราช อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพอง สยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเทวดาแลดูยอดธง ของท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดา ก็ดี แลดูยอดธง ของท้าวปชาบดีเทวราชอยู่ก็ดี แลดูยอดธงของท้าววรุณเทวราช อยู่ก็ดี แลดูยอดธงของท้าวอีสานเทวราช อยู่ก็ดี ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นพึงหายไปได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ข้อนั้นเป็นเหตุ แห่งอะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุว่าท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดา ยังเป็นผู้ไม่ ปราศจาก ราคะ ไม่ปราศจากโทสะ ไม่ปราศจากโมหะยังเป็นผู้กลัว หวาดสะดุ้ง หนีไปอยู่



29

(ส่วนเราตถาคต พึงกล่าวว่า ความกลัว พึงเกิดแก่พวกเธอ ผู้ไปอยู่ป่า อยู่โคนไม้ พึงระลึกถึงตถาคต ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ดังนี้ ความกลัวก็จะหายไป)

         [๘๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแลกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดีพึง บังเกิดแก่ พวกเธอ ผู้ไปในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่างเปล่าก็ดีทีนั้น พวกเธอพึงตาม ระลึกถึง เรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้ง โลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของ เทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า เมื่อพวกเธอตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาด สะดุ้ง ก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป หากพวกเธอไม่ตามระลึก ถึงเรา ทีนั้น พวกเธอพึงตามระลึกถึงพระธรรม ว่าพระธรรม อันพระผู้มีพระภาค ตรัสดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบ ด้วยกาลควรเรียกให้มาดูได้ ควรน้อม เข้าไป ในตน อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตนดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า เมื่อพวกเธอตามระลึก ถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป หากพวกเธอ ไม่ตามระลึกถึงพระธรรม ทีนั้น พวกเธอพึงตามระลึกถึงพระสงฆ์ ว่า พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์นั้นคือใครได้แก่คู่แห่งบุรุษสี่ รวมเป็นบุรุษบุคคลแปด นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขต ของโลก ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

เพราะว่า เมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระสงฆ์ อยู่ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้า ก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร เพราะว่าพระตถาค ตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ปราศจากราคะปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไป

         [๘๖๖] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ ต่อไปอีกว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดีอยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย ถ้าว่าเธอทั้งหลาย ไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ทีนั้นเธอทั้งหลาย พึงระลึกถึงพระธรรม อันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว

ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรม อันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้า ทรงแสดงดีแล้ว ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่น ยิ่งไปกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย



30

(พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -4) พวกอสูรชนะ
เวปจิตติสูตรที่ ๔

         [๘๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ฯลฯ

         [๘๖๘] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกันแล้ว



31


(ท้าวเวปจิตติจอมอสูรกล่าว ถ้าอสูรชนะ พึงจับท้าวสักกะ นำตัวมายังอสูรบุรี)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ตรัสกะพวกอสูรว่า ดูกรท่านผู้ นิรทุกข์ ทั้งหลาย ถ้าเมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกัน พวกอสูรพึงชนะ พวกเทวดาพึงปราชัยไซร้ ท่านทั้งหลายพึงมัด ท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยการมัด ห้าแห่งอันมีคอ เป็นที่ ๕ แล้วพึงนำมายังอสูรบุรี ในสำนักของเรา



32


(ท้าวสักกะกล่าวว่า ถ้าเทวดาชนะ พึงจับมัดท้าวเวปจิตติ นำตัวมายังสุธรรมสภา)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ ท้าวสักกะจอมเทวดา ก็บัญชากะเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกัน พวกเทวดา พึงชนะ พวกอสูรถึงปราชัยไซร้ ท่านทั้งหลายพึงมัดท้าวเวปจิตติจอมอสูร ด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ ๕ แล้วพึงนำมายังสุธรรมาสภาในสำนักของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลในสงครามครั้งนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรปราชัย

33

(เทวดาชั้นดาวดึงส์ จับท้าวเวปจิตติจอมอสูร นำตัวมายังสุธรรมาสภา)

ครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้จับท้าวเวปจิตติจอมอสูร มัดด้วยการมัดห้าแห่ง อันมีคอเป็นที่ ๕ แล้วนำมายังสุธรรมาสภา ในสำนักของท้าวสักกะจอมเทวดา

34

(ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ด่าบริภาษท้าวสักกะ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย)

         [๘๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ทราบว่า ในครั้งนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ถูกมัดด้วยการมัดห้าแห่ง อันมีคอเป็นที่ ๕ ได้ด่าบริภาษ ท้าวสักกะจอมเทวดา ซึ่งกำลังเสด็จเข้าและออกยังสุธรรมาสภา ด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ



35

(มาตลีเทพบุตร ทูลถามท้าวสักกะว่า ท่านทนถ้อยคำหยายคายเพราะความกลัว หรือเพราะไม่มีกำลัง )

         [๘๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีเทพบุตร ผู้สงเคราะห์ได้ทูลถาม ท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยคาถาว่าข้าแต่ท้าวสักกะมฆวาฬ พระองค์ได้ทรงสดับ ถ้อยคำ อันหยาบคาย เฉพาะหน้า ของท้าวเวปจิตติ จอมอสูร ยังทรงอดทนได้ เพราะความกลัว หรือเพราะไม่มีกำลัง พระเจ้าข้า

         [๘๗๑] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่า เราอดทนถ้อยคำอันหยาบคายของ ท้าวเวปจิตติ ได้ เพราะความกลัวหรือ เพราะไม่มีกำลัง ก็หาไม่ วิญญูชนผู้เช่นเรา ไฉนจะพึงโต้ตอบกับคนพาลเล่า

         [๘๗๒] มาตลีเทพบุตรกราบทูลว่าคนพาล พึงทำลายได้อย่างยิ่ง ถ้าไม่พึง เกียดกันเสียก่อน เพราะฉะนั้น ธีรชนพึงเกียดกันคนพาลด้วยอาชญาอย่างรุนแรง



36

(ท้าวสักกะตรัสว่า ความอดกลั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง)

         [๘๗๓] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่า ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธ แล้วเป็นผู้มีสติสงบระงับ ได้ เราเห็นว่าการสงบระงับได้ของผู้นั้นแล เป็นการเกียดกันคนพาลละ

         [๘๗๔] มาตลีเทพบุตรกราบทูลว่าข้าแต่ท้าววาสวะ ข้าพระองค์เห็นโทษ ในความอดทนนี้แล เมื่อใด คนพาลย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า ผู้นี้ย่อมอดกลั้นต่อเรา เพราะความกลัวเมื่อนั้น คนมีปัญญาทรามยิ่งข่มขี่ผู้นั้น เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวที่แพ้ หนีไป ฉะนั้น

         [๘๗๕] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่า บุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามที ประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตน เป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลัง อดกลั้นต่อคนผู้ทุรพลไว้ได้ ความอดกลั้นของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพล จำต้องอดทนอยู่เป็นนิตย์



37

(บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก)

บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวกำลังของผู้ ซึ่งมีกำลังอย่างคนพาลว่ามิใช่กำลัง ไม่มีผู้ใด ที่จะกล่าวโต้ต่อผู้มีกำลังผู้ ซึ่งธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย เพราะความโกรธนั้น โทษที่ลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ ระงับไว้ได้ผู้นั้น ชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของคนอื่น ว่าเป็นคนโง่ ดังนี้

         [๘๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ ท้าวสักกะจอมเทวดา พระองค์นั้น เข้าไปอาศัย ผลบุญของพระองค์เป็นอยู่ เสวยรัชสมบัติมีความเป็นใหญ่ยิ่ง ด้วยความเป็นอิสระแห่ง เทวดาชั้นดาวดึงส์ ยังจักพรรณนาคุณของขันติ และโสรัจจะได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่พวกเธอบวชแล้ว ในธรรมวินัย ที่เรากล่าวชอบแล้วเช่นนี้ เป็นผู้อดทนและ สงบเสงี่ยมนี้ จะพึงงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้

 

 



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์