1
สุภาษิตชยสูตรที่ ๕
(พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -5)
[๘๗๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ฯลฯ
[๘๗๘] พระผู้มีพระภาค ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมี มาแล้ว สงครามระหว่าง พวกเทวดากับอสูร ได้ประชิดกันแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสกะ ท้าวสักกะจอมเทวดา ว่าแน่จอมเทวดา เราจงเอาชนะกัน ด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด
2
(ท้าวสักกะตรัสกับท้าวเวปจิตติ ว่าเอาชนะกัน ด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด)
ท้าวสักกะจอมเทวดา ตรัสว่า แน่ะท้าวเวปจิตติ ตกลงเราจงเอาชนะกัน ด้วยการก ล่าวคำ สุภาษิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกเทวดาและพวกอสูร ได้ร่วมกันตั้งผู้ตัดสินว่า ผู้ตัดสินเหล่านี้จักรู้ทั่วถึงคำ สุภาษิต คำทุพภาษิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทวดา ว่า แน่ะจอมเทวดา ท่านจงตรัสคาถา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติ ตรัสเช่นนี้ ท้าวสักกะจอมเทวดา ได้ตรัสกะ ท้าวเวปจิตติ จอมอสูรว่า แน่ะท้าวเวปจิตติ ในเทวโลกนี้ ท่านเป็นเทพมาก่อน ท่านจงกล่าวคาถาเถิด
3
(ท้าวเวปจิตติ- พวกคนพาลยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าหากบุคคลไม่ตัดรอนเสีย นักปราชญ์ ผู้มีปัญญา ควรกำจัดคนพาล ด้วยอาญาอันรุนแรง)
[๘๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้แล้ว ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสคาถานี้ว่า พวกคนพาล ยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าหากบุคคลไม่ตัดรอนเสีย ฉะนั้น นักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงควรกำจัดคนพาล เสียด้วยอาญาอันรุนแรง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสคาถาแล้ว เหล่าอสูร พากัน อนุโมทนา พวกเทวดา ต่างก็พากันนิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติ
จอมอสูร ได้กล่าวกะ ท้าวสักกะจอมเทวดา ว่า แน่ะจอมเทวดา ท่านจงกล่าวคาถาเถิด
4
(ท้าวสักกะ - ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้เราเห็นว่าการระงับ ไว้ได้ ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล)
[๘๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติตรัสเช่นนี้แล้ว ท้าวสักกะ จอมเทวดา ได้ตรัสคาถานี้ว่า
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ เราเห็นว่าการระงับไว้ได้ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อ ท้าวสักกะจอมเทวดา ได้ภาษิตคาถาแล้ว พวกเทวดา พากันอนุโมทนา เหล่าอสูร ต่างก็นิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะ จอมเทวดา ตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า ดูกรท้าวเวปจิตติ ท่านจงตรัสคาถาเถิด
[๘๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ ท้าวสักกะ ตรัสเช่นนี้ ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัส คาถานี้ ว่า ดูกรท้าววาสวะ เราเห็นโทษของการอดกลั้นนี่แหละ เพราะว่า เมื่อใด คนพาล สำคัญเห็นผู้นั้นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะความกลัว เมื่อนั้นคนพาล ผู้ทราม ปัญญายิ่ง ข่มขี่ผู้นั้น เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวแพ้ที่หนีไปฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ภาษิตคาถาแล้ว เหล่าอสูรพากัน อนุโมทนาพวกเทวดา ต่างก็นิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทวดา ว่า แน่ะจอมเทวดา ท่านจงตรัสคาถาเถิด ฯ
[๘๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ตรัสเช่นนี้ ท้าวสักกะ จอมเทวดา ได้ตรัสคาถาเหล่านี้ ว่าบุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะ ความกลัว หรือหาไม่ก็ตามที ประโยชน์ทั้งหลาย มีประโยชน์ของตน เป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ ยิ่งกว่า ขันติ ไม่มี
ผู้ใดแลเป็นคน มีกำลังอดกลั้นต่อคนทุรพลไว้ได้ ความอดกลั้นไว้ได้ของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวว่า เป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพลย่อมจะอดทนอยู่เป็นนิตย์ บัณฑิตทั้งหลาย เรียกกำลังของผู้ที่มีกำลัง อย่างคนพาล ว่ามิใช่กำลัง ไม่มีผู้ใด ที่จะกล่าวโต้ ต่อผู้ที่มีกำลัง อันธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย เพราะความโกรธนั้น โทษอันลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว บุคคลผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนผู้ที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็น ผู้ที่รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและคนอื่น ว่าเป็นคนโง่ ดังนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ ท้าวสักกะจอมเทวดา ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ แล้วพวกเทวดา พากันอนุโมทนา เหล่าอสูรต่างก็นิ่ง
5
(ผู้ตัดสิน-ท้าวเวปจิตติกล่าวคาถาที่เกี่ยวเกาะด้วยอาชญา ด้วยศาสตรา
เป็นเหตุให้มีการทะเลาะวิวาท)
[๘๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ผู้ตัดสินทั้งของพวกเทวดาและพวกอสูร ได้กล่าวคำนี้ว่า ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสคาถาทั้งหลายแล้วแล แต่คาถาเหล่านั้น มีความเกี่ยวเกาะด้วยอาชญา มีความเกี่ยวเกาะด้วยศาตรา เพราะเหตุเช่นนี้ จึงมีความหมายมั่น ความแก่งแย่งความทะเลาะวิวาท
6
(ท้าวสักกะชนะ เพราะกล่าวคาถาที่ไม่เกี่ยวเกาะด้วยอาชญา ด้วยศาสตรา จึงไม่เป็นเหตุให้มีการทะเลาะวิวาท)
ท้าวสักกะจอมเทวดา ได้ตรัสคาถาทั้งหลายแล้วแล ก็คาถาเหล่านั้น ไม่เกี่ยวเกาะด้วย อาชญา ไม่เกี่ยวเกาะด้วยศาตรา เพราะเหตุเช่นนี้ จึงมีความไม่หมายมั่น ความไม่แก่งแย่ง ความไม่ทะเลาะวิวาท ท้าวสักกะจอมเทวดา ชนะ เพราะได้ตรัสคำ สุภาษิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชัยชนะด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ได้เป็นของ ท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยประการฉะนี้แล
7
กุลาวกสูตรที่ ๖
(พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -6 พวกอสูรเป็นฝ่ายมีชัย )
[๘๘๔] สาวัตถีนิทาน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างพวกเทวดาและอสูร ได้ประชิด กันแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในสงครามคราวนั้น พวกอสูรเป็นฝ่ายมีชัย พวกเทวดา เป็นฝ่ายปราชัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาผู้พ่ายแพ้ ต่างพากันหนีไปทางทิศอุดร พวกอสูรได้ชวนกันไล่ พวกเทวดาเหล่านั้น ไปแล้วทีแล้ว
[๘๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดา ได้ตรัส กะมาตลีสังคาหก เทพบุตร ด้วยคาถาว่า ดูกรมาตลี เธอจงหลีกเลี่ยงรังนก ในป่าไม้งิ้ว โดยบ่ายหน้างอนรถ กลับถึงเราจะต้องเสียสละชีวิต ในพวกอสูร ก็ตามที นกเหล่านี้ อย่าได้ปราศจาก รังเสียเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตลีสังคาหกเทพบุตร รับพระดำรัสของ ท้าวสักกะจอมเทวดา ว่า ขอความเจริญ จงมีแด่พระองค์ ดั่งนี้แล้ว ให้รถซึ่งเทียมด้วยม้าอาชาไนย พันตัว หันหลังกลับ
[๘๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกอสูรคิดว่า บัดนี้รถ ซึ่งเทียมด้วยม้า อาชาไนย พันตัว ของ ท้าวสักกะจอมเทวดา หันกลับมาแล้ว พวกเทวดาจักทำสงคราม กับพวกอสูร แม้เป็นครั้งที่สองแล พวกอสูรต่างตกใจกลับเข้าไปสู่อสูรบุรี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชัยชนะโดยธรรมแท้ๆ ได้เป็นของท้าวสักกะจอมเทวดาแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
8
นทุพภิยสูตรที่ ๗
(พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -7 ท้าวเวปปาจิติถูกท้าวสักกะจับ)
[๘๘๗] สาวัตถีนิทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะ จอมเทวดา ผู้หลีกเร้นออกอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความตรึก นึกคิดขึ้นว่า เราไม่ควร ประทุษร้ายแม้แก่ผู้ที่เป็นข้าศึกต่อเรา ดูกรภิกษุทั้งหลายครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติ จอมอสูร ได้ทราบความดำริของ ท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยใจของตนแล้ว เข้าไปหา ท้าวสักกะจอมเทวดา จนถึงที่ประทับ
[๘๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดา ได้ทอดพระเนตร เห็นท้าว เวปจิตติ จอมอสูร ผู้มาแต่ไกล ทีเดียว ครั้นแล้วจึงตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า หยุดเถอะ ท่านท้าวเวปจิตติ ท่านถูกจับเสียแล้ว
ท้าวเวปจิตติตรัสถามว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านละทิ้งความคิดเมื่อก่อนของท่าน เสียแล้วหรือ
ท้าวสักกะ ตรัสว่า ท้าวเวปจิตติ ก็ท่านจงสาบานเพื่อที่จะไม่ประทุษร้ายต่อเรา
[๘๘๙] ท้าวเวปจิตติตรัสคาถาว่า แน่ะท้าวสุชัมบดี บาปของคนพูดเท็จ บาปของคน ผู้ติเตียนพระอริยะเจ้า บาปของคนผู้ประทุษร้ายต่อมิตร และบาปของคน อกตัญญู จงถูกต้องผู้ที่ประทุษร้ายต่อท่าน
9
วิโรจนอสุรินทสูตรที่ ๘
(พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -8)
(คาถาของท้าวเวโรจนะจอมอสูร กับคาถาของท้าวสักกะจอมเทวดา)
|
(ย่อ)
ท้าวสักกะเมื่อยังเป็นมนุษย์ เป็นมาณพชื่อว่ามฆะ จึงถูกเรียกว่า ท้าวมฆวา
ท้าวสักกะเมื่อยังเป็นมนุษย์ ได้ให้ทานมาก่อน จึงถูกเรียกว่า ท้าวปุรินททะ
ท้าวสักกะเมื่อยังเป็นมนุษย์ ได้ให้ทานโดยเคารพ จึงถูกเรียกว่า ท้าวสักกะ
ท้าวสักกะเมื่อยังเป็นมนุษย์ ได้ให้ที่พักอาศัย จึงถูกเรียกว่า ท้าววาสวะ
ท้าวสักกะย่อมทรงคิดเนื้อความตั้งพันโดยครู่เดียว จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์
ท้าวสักกะทรงมีนางอสุรกัญญานามว่าสุชาเป็นปชาบดี จึงถูกเรียกว่า ท้าวสุชัมบดี
ท้าวสักกะเสวยรัชสมบัติเป็นอิสราธิบดี ของเทพชั้นดาวดึงส์ จึงถูกเรียกว่า เทวานมินทะ |
[๘๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จเข้าที่พัก กลางวัน ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดา กับ ท้าววิโรจนะ จอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ยืนพิงบานพระทวาร องค์ละข้าง
[๘๙๑] ลำดับนั้นแล ท้าวเวโรจนะจอมอสูร ได้ตรัสคาถานี้ ในสำนักของ พระผู้มีพระภาคว่า เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์งดงาม อยู่ที่ความสำเร็จ นี้เป็นถ้อยคำของเวโรจนะ
[๘๙๒] ท้าวสักกะจอมเทวดา ตรัสว่า เป็นชายควรพยายามไปจนกว่า ประโยชน์ สำเร็จประโยชน์ทั้งหลายงดงามอยู่ที่ความสำเร็จ ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติ ไม่มี
[๘๙๓] ท้าวเวโรจนะจอมอสูรตรัสว่าสรรพสัตว์ ย่อมเกิดความต้องการใน สิ่งนั้นๆ ตามควร ส่วนการบริโภคของสรรพสัตว์ มีการปรุงประกอบเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหลาย งดงามอยู่ที่ความสำเร็จ นี้เป็นถ้อยคำของเวโรจนะ
[๘๙๔] ท้าวสักกะจอมเทวดา ตรัสว่าสรรพสัตว์ ย่อมเกิดความต้องการ ในสิ่งนั้นๆ ตามควร ส่วนการบริโภคของสรรพสัตว์ มีการปรุงประกอบเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหลาย งดงามอยู่ที่ความสำเร็จ ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี
10
อารัญญกสูตรที่ ๙
(พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ - 9)
(ท้าวสักกะจอมเทวดา กับ ท้าวเวปจิตติจอมอสูร เข้าไปหาฤาษี)
[๘๙๕] สาวัตถีนิทาน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ฤาษีผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมมากรูปด้วยกัน อาศัย อยู่ในกุฎี ที่มุงบังด้วยใบไม้ ในราวป่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะ จอมเทวดา กับ ท้าวเวปจิตติจอมอสูร เข้าไปหาฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ถึงที่อยู่
[๘๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร สวมรองเท้าหนา หลายชั้นสะพายดาบ มีผู้กั้นร่มให้ เข้าไปสู่อาศรมทางทวาร อันเลิศเข้าไปใกล้ฤาษี ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านั้นห่างไม่ถึงวา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแลท้าวสักกะ จอมเทวดา ทรงถอดฉลองพระบาท ประทานพระขรรค์ให้แก่ผู้อื่นรับสั่งให้ลดฉัตร เสด็จเข้าไปทาง อาศรม โดยทางทวารเข้าออก ประทับประคองอัญชลีนมัสการฤาษี ผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น อยู่ใต้ลม
[๘๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ได้กล่าวกะ ท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยคาถาว่ากลิ่นของพวกฤาษี ผู้ประพฤติพรต มานาน ย่อมจะฟุ้งจากกายไปตามลม ดูกรท้าวสหัสนัยน์ พระองค์จงถอยไป เสียจากที่นี้ ดูกรท้าวเทวราช กลิ่นของพวกฤาษีไม่สะอาด
[๘๙๘] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่า กลิ่นของพวกฤาษีผู้ประพฤตพรตมานาน ย่อมจะฟุ้งจากกายไปตามลมท่านเจ้าข้า พวกข้าพเจ้าต่างก็มุ่งหวังกลิ่นนี้ เหมือนกับ บุคคล มุ่งหวังระเบียบดอกไม้อันวิจิตร งดงาม บนศีรษะ ฉะนั้น ก็พวกเทวดาหา มีความสำคัญ ในกลิ่นของผู้มีศีลนี้ว่า เป็นกลิ่นปฏิกูลไม่
11
สมุททกสูตรที่ ๑๐
(พวกอสูร รบกับ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ -10)
(พวกฤาษีกลัวภัยจากอสูรรบกับเทวดา จึงเข้าไปหาท้าวสมพรจอมอสูร เพื่อขออภัยทาน ท้าวสมพรไม่ให้ เราให้เฉพาะแต่ภัยเท่านั้น)
[๘๙๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ฯลฯ
[๙๐๐] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมมากรูปด้วยกัน อาศัยอยู่ในกุฎีที่มุงบัง ด้วยใบไม้แทบฝั่งสมุทร ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้นแล สงครามระหว่างพวกเทวดา กับอสูร ได้ประชิดกันแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม เหล่านั้น พากันคิดเห็นว่า พวกเทวดาตั้งอยู่ในธรรม พวกอสูรไม่ตั้งอยู่ในธรรม ภัยนั้นพึงเกิด แก่พวกเราเพราะอสูรโดยแท้ อย่ากระนั้นเลยพวกเราควรเข้าไปหา ท้าวสมพร จอมอสูร แล้วขออภัยทานเถิด
[๙๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ได้อันตรธานไปในบรรณกุฎีแทบฝั่งสมุทร ไปปรากฏอยู่ตรงหน้าท้าวสมพรจอมอสูร เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พวกฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ได้กล่าวกะ ท้าวสมพรจอมอสูร ด้วยคาถาว่า พวกฤาษีมาขออภัยกะท่านท้าวสมพร การให้ภัยหรือให้อภัยท่าน กระทำได้โดยแท้
[๙๐๒] ท้าวสมพรจอมอสูรได้กล่าวตอบ ว่าการอภัยไม่มีแก่พวกฤาษี ผู้ชั่วช้าคบหา ท้าวสักกะ เราให้เฉพาะแต่ภัยเท่านั้น แก่พวกท่านผู้ขออภัย
[๙๐๓] พวกฤาษีกล่าวว่า ท่านให้เฉพาะแต่ภัยเท่านั้นแก่พวกเราผู้ขออภัย พวกเราขอรับเอาแต่อภัยอย่างเดียว ส่วนภัยจงเป็นของท่านเถิด บุคคลหว่านพืช เช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว แน่ะพ่อ ท่านหว่านพืช ลงไปไว้แล้ว ท่านจักต้องเสวยผลของมัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ได้สาปแช่ง ท้าวสมพรจอมอสูร แล้วอันตรธานหายไปในที่ตรงหน้าท้าวสมพรจอมอสูร แล้วไป ปรากฏ อยู่ใน บรรณกุฎี แทบฝั่งสมุทร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน ที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น
[๙๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสมพรจอมอสูร ถูกฤาษีผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านั้น สาปแช่งแล้ว ได้ยินว่าในคืนวันนั้น ตกใจหวาดหวั่นถึงสามครั้ง
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๕
12
ทุติยวรรคที่ ๒
ปฐมเทวสูตรที่ ๑
(สมาทานวัตรบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ)
[๙๐๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของ อนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ในกาลครั้งนั้นแล ฯลฯ
[๙๐๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายท้าวสักกะ จอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้ สมาทานวัตรบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ วัตรบท ๗ ประการเป็นไฉน คือ
๑)
เราพึงเลี้ยงมารดาบิดาจนตลอดชีวิต
๒) เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลจนตลอดชีวิต
๓) เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต
๔) เราไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑
๕) เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่ อันเป็นมลทินอยู่ครองเรือน มีการบริจาค อันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่มยินดีในการสละควรแก่การขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ตลอดชีวิต
๖) เราพึงพูดคำสัตย์ตลอดชีวิต
๗) เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต
ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสีย โดยฉับพลันทีเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตร บท ๗ ประการนี้บริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการดังนี้ จึงได้ถึงความเป็น ท้าวสักกะ
[๙๐๗] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวถึงนรชน ผู้เป็นบุคคล เลี้ยงมารดาบิดา มีปรกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวแต่คำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัด ความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้ นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษดังนี้
13
ทุติยเทวสูตรที่ ๒
(ธรรมอันเป็นเครื่องกระทำในสมัยมนุษย์ ทำให้ได้เกิดเป็น ท้าวสักกะ)
[๙๐๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ในกาลครั้งนั้นแล ฯลฯ
[๙๐๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะ จอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน เป็นมาณพ ชื่อว่ามฆะ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวมฆวา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์ อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทาน มาก่อน เพราะเหตุนั้นจึง ถูกเรียกว่า ท้าวปุรินททะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทาน โดยเคารพ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสักกะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ที่พัก อาศัย เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าววาสวะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ ย่อมทรง คิดเนื้อความได้ตั้งพันโดยครู่เดียว เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงมีนางอสุรกัญญา นามว่าสุชาเป็นปชาบดี เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสุชัมบดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เสวย รัชสมบัติ เป็นอิสราธิบดีของทวยเทพชั้น ดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า เทวานมินทะ
[๙๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ จึงได้ถึงความเป็น ท้าวสักกะ วัตรบท
๗ ประการเป็นไฉน คือ
เราพึงเลี้ยงมารดาบิดา จนตลอดชีวิต ๑ ...
ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสียโดยฉับพลัน ทีเดียว ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการนี้บริบูรณ์เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการดังนี้ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ
[๙๑๑] พระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า เทวดาชั้น ดาวดึงส์ กล่าวนรชนผู้เป็นบุคคลเลี้ยงมารดาบิดา...ว่า เป็นสัปบุรุษ ดังนี้
14
ตติยเทวสูตรที่ ๓
(ธรรมอันเป็นเครื่องกระทำในสมัยมนุษย์ ทำให้ได้เกิดเป็น ท้าวสักกะ)
[๙๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี
ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวี พระนามว่า มหาลี เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระองค์ทรงเห็น ท้าวสักกะจอมเทพ หรือพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาลี อาตมาเห็นท้าวสักกะจอมเทพ ถวายพร ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผู้ที่พระองค์ทรงเห็นนั้น จักเป็นรูปเปรียบของท้าวสักกะ เป็นแน่ เพราะว่า ท้าวสักกะจอมเทพ ยากที่ใครๆ จะเห็นได้พระพุทธเจ้าข้า
[๙๑๓] พ. ดูกรมหาลี อาตมารู้จัก ท้าวสักกะ ด้วย รู้ธรรมเครื่องกระทำให้เป็น ท้าวสักกะด้วย และรู้ถึงธรรมที่ ท้าวสักกะ ได้ถึงความเป็น ท้าวสักกะ เพราะเป็นผู้สมาทานธรรม นั้นด้วย
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน เป็นมาณพชื่อว่ามฆะ เพราะเหตุนั้นจึงถูกเรียกว่า ท้าวมฆวา
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์ อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทานมาก่อน เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวปุรินททะ
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทานโดยเคารพ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่าท้าวสักกะ
ดูกรมหาลีท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์ อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ที่พักอาศัย เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าววาสวะ
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพ ย่อมทรงคิด เนื้อความได้ตั้งพันโดยครู่เดียว เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงมีนางอสุรกัญญานามว่า สุชาเป็นปชาบดี เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่าท้าวสุชัมบดี
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพ เสวยรัชสมบัติ เป็นอิสราธิบดีของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่าเทวานมินทะ
[๙๑๔] ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตร บท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการจึงได้ถึงความเป็น ท้าวสักกะวัตรบท ๗ ประการเป็นไฉน คือ เราพึงเลี้ยงมารดาบิดาจนตลอดชีวิต ๑ เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑
เราไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑ เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทินอยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๑
เราพึงพูดคำสัตย์ตลอดชีวิต ๑
เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสียโดยฉับพลัน ทีเดียว ๑
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการนี้บริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการดังนี้ จึงได้ถึงความเป็น ท้าวสักกะ
[๙๑๕] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวนรชนผู้เป็นบุคคลเลี้ยง มารดาบิดา มีปรกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวแต่คำ สมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้ นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษ ดังนี้
15
ทฬิททสูตรที่ ๔
(มนุษย์ยากไร้ เขายึดมั่นศรัทธาศีล สุตะจาคะปัญญา ในธรรมวินัยของตถาคต หลังกายแตก ได้มาเกิดเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์)
[๙๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลัน ทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาค ว่าพระพุทธเจ้าข้า
[๙๑๗] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วในพระนครราชคฤห์นี้แล ได้มีบุรุษคนหนึ่งเป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์กำพร้า เป็นมนุษย์ยากไร้ เขายึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศแล้วครั้นเขายึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะจาคะ ปัญญา ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ได้อุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ คือ ความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เทพบุตรนั้นรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น ด้วยรัศมีและยศ
[๙๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ในกาลครั้งนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ พากันยกโทษตำหนิติเตียนว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์นัก ดูกรท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ยังไม่เคยมีมาเลย เทพบุตรผู้นี้เมื่อยังเป็นมนุษย์ อยู่ในกาลก่อน เป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์กำพร้า เป็นมนุษย์ยากไร้ เมื่อแตกกาย ตายแล้ว เขาอุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ คือ ความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่นด้วยรัศมีและยศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสกะเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ายกโทษต่อเทพบุตรนี้เลย
ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ทั้งหลาย เทพบุตรนี้แลเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ในกาลก่อน ยึดมั่น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ครั้นยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะจาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว เมื่อแตกกายตายลง จึงอุบัติยังสุคติ โลกสวรรค์ คือ ความเป็นสหายของเทวดาชั้น ดาวดึงส์ ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น ด้วยรัศมีและยศ
16
(บุคคลผู้ไม่ขัดสน)
[๙๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อจะทรงพลอย ยินดี กะพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่าบุคคลใด มีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยะเจ้าพอใจสรรเสริญ มีความเลื่อมใส ในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรงบัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของบุคคลนั้น ไม่เปล่าประโยชน์เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอน ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็น ธรรมเถิด
17
รามเณยยกสูตรที่ ๕
(พระอรหันต์อยู่ที่ใด ที่นั่นย่อมเป็นภูมิสถานอันน่ารื่นรมย์ )
[๙๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ
ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ทรงถวายบังคม แล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ทรงประทับเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสถาม พระผู้มีพระภาคว่า สถานที่เช่นไรหนอ เป็นภูมิสถานอันน่ารื่นรมย์
[๙๒๑] พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า อารามอันวิจิตร ป่าอันวิจิตร สระโบกขรณีที่สร้างอย่างดี ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันแบ่งออก ๑๖ ครั้ง แห่งภูมิสถาน อันรื่นรมย์ของมนุษย์ พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด เป็นบ้านหรือป่าก็ตาม เป็นที่ลุ่ม หรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้นเป็นภูมิสถานอันน่ารื่นรมย์
18
ยชมานสูตรที่ ๖
(ทานที่ให้แล้วในที่ไหนมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในสงฆ์ผู้ซื่อตรงในปัญญาและศีล)
[๙๒๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วทรงถวายบังคมแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง
[๙๒๓] ท้าวสักกะจอมเทพ ประทับ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง เรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่าเมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ผู้เป็นสัตว์ปรารถนาบุญ บูชาอยู่ กระทำบุญมีอุปธิเป็นผล ทานที่ให้แล้วในที่ไหนมีผลมาก พระพุทธเจ้าข้า
[๙๒๔] พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่าท่านผู้ปฏิบัติ ๔ จำพวก ท่านผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวก นั่นคือพระสงฆ์เป็นผู้ซื่อตรง ประกอบด้วยปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ ทั้งหลาย ผู้เป็นสัตว์ ปรารถนาบุญบูชาอยู่ กระทำบุญมีอุปธิเป็นผล ทานที่ให้แล้ว ในสงฆ์มีผลมาก
19
วันทนสูตรที่ ๗
(ท้าวสหัมบดีพรหม ค้านคำกล่าวของ ท้าวสักกะจอมเทพ)
[๙๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่พักกลางวัน ฯ
ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ และ ท้าวสหัมบดีพรหม เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ประทับยืนพิงบาน พระทวารอยู่ องค์ละบาน
[๙๒๖] ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสพระคาถานี้ ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ทรงชนะสงครามแล้ว ทรงปลงภาระลงแล้ว ไม่ทรงมีหนี้ ขอเชิญพระองค์เสด็จลุกขึ้นเสด็จเที่ยวไปในโลกเถิด อนึ่งจิตของพระองค์ หลุดพ้นดีแล้ว เหมือนพระจันทร์ในราตรีวันเพ็ญ ฉะนั้น
[๙๒๗] ท้าวสหัมบดีพรหม ตรัสค้านว่า ดูกรจอมเทพ พระองค์ไม่ควรกราบทูล พระตถาคตอย่างนี้เลย แต่ควรจะกราบทูลพระตถาคตอย่างนี้แลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้แกล้วกล้า ทรงชนะสงครามแล้ว ทรงเป็นผู้นำพวก ไม่ทรงมีหนี้สิน ขอเชิญพระองค์ เสด็จลุกขึ้นเสด็จเที่ยวไปในโลก ขอเชิญพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจัก มีผู้รู้ทั่วถึงธรรมเป็นแน่
20
ปฐมสักกนมัสนสูตรที่ ๘
(ท้าวสักกะนอมน้อม พราหมณ์ผู้บรรลุไตรวิชชา กษัตริย์ในภูมิภาคนี้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ (เทวดาชั้นจาตุ) และ ทวยเทพชาวไตรทศ)
[๙๒๘] สาวัตถีนิทาน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสกะ มาตลีสังคาหก เทพบุตร ว่า ดูกรสหายมาตลี ท่านจงเตรียมจัดรถม้าอาชาไนยซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัว เราจะไปยังพื้นที่อุทยานเพื่อชมภูมิภาคอันงดงาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตลีสังคาหกเทพบุตร ทูลรับพระดำรัส ท้าวสักกะจอมเทพ ว่า ขอเดชะ ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ ดังนี้แล้ว เตรียมจัดรถม้าอาชาไนย ซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัวเสร็จแล้ว กราบทูลแด่ ท้าวสักกะจอมเทพว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์รถม้าอาชาไนย ซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัว สำหรับพระองค์เตรียมจัดไว้เสร็จแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ได้ทราบว่า ท้าวสักกะจอมเทพ ขณะเสด็จลงจาก เวชยันตปราสาท ทรงประนมอัญชลีนมัสการทิศเป็นอันมาก
[๙๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีสังคาหกเทพบุตร ได้ทูลถาม ท้าวสักกะจอมเทพ ด้วยคาถาว่า พราหมณ์ทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา กษัตริย์ทั้งหลาย ณ ภูมิภาคทั้งหมด ท้าวมหาราชทั้ง ๔ และ ทวยเทพชาวไตรทศ ผู้มียศย่อมนอบน้อม พระองค์ข้าแต่ ท้าวสักกะ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงนอบน้อม ท่านผู้ควรบูชาคนใด ท่านผู้ควรบูชาคนนั้นชื่อไรเล่า ขอเดชะ
[๙๓๐] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่าพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้บรรลุไตรวิชชา กษัตริย์ทั้งหลาย ณ ภูมิภาคทั้งหมดท้าวมหาราชทั้ง ๔ และทวยเทพชาวไตรทศ ผู้มียศ นอบน้อมท่านผู้ใดซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีจิตตั้งมั่นตลอดกาลนาน ผู้บวชแล้วโดยชอบ มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า คฤหัสถ์เหล่าใดเป็นผู้ทำบุญ มีศีล เป็นอุบาสกเลี้ยงดูภรรยาโดยชอบธรรม ดูกรมาตลี เรานอบน้อมคฤหัสถ์เหล่านั้น
[๙๓๑] มา. ข้าแต่ ท้าวสักกะ ได้ยินว่า พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก เทียวข้าแต่ท้าววาสวะ พระองค์ทรง นอบน้อม บุคคลเหล่าใด ถึง ข้าพระองค์ก็ขอนอบน้อมบุคคลเหล่านั้น ฯ
[๙๓๒] ท้าวมฆวาสุชัมบดีเทวราช ผู้เป็นประมุขของเทวดาทั้งหลาย ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงน้อมนมัสการทิศเป็นอันมาก แล้วเสด็จขึ้นรถ ฯ
21
ทุติยสักกนมัสนสูตรที่ ๙
(ท้าวสักกะนอบน้อมใครบูชาคนใด ดูกรมาตลี เราน้อบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ขีณาสพ และ พระเสขะ)
[๙๓๓] สาวัตถีนิทาน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสกะ มาตลีสังคาหก เทพบุตร ว่า ดูกรสหายมาตลี ท่านจงเตรียมจัดรถม้าอาชาไนยซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัว เราจะไปยังพื้นที่อุทยานเพื่อชมภูมิภาคอันงดงาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตลีสังคาหกเทพบุตร ทูลรับพระดำรัส ท้าวสักกะจอมเทพ ว่า ขอเดชะ ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ ดังนี้แล้ว จัดเตรียมรถม้าอาชาไนย ซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัวเสร็จแล้ว กราบทูลแก่ ท้าวสักกะจอมเทพ ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ รถม้าอาชาไนยซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัว สำหรับพระองค์ จัดเตรียมไว้เสร็จแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ทราบว่า ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ขณะเสด็จลงจาก เวชยันตปราสาท ทรงประนมอัญชลี นมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่
[๙๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีสังคาหกเทพบุตรได้ทูลถาม ท้าวสักกะจอมเทพ ด้วยคาถาว่า
ข้าแต่ท้าววาสวะ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมนอบน้อมพระองค์นั่นเทียว ข้าแต่ ท้าวสักกะ เมื่อเช่นนั้น พระองค์ทรงนอบน้อมท่านผู้ควรบูชาคนใด ท่านผู้ควรบูชา คนนั้น คือใครเล่า
[๙๓๕] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่า
ดูกรมาตลี (1) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เรานอบน้อม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นศาสดา มีพระนามไม่ทราม
ดูกรมาตลี (2) ท่านเหล่าใด สำรอกราคะ โทสะ และอวิชช าแล้วเป็น พระอรหันต ขีณาสพ เรานอบน้อมท่านเหล่านั้น
ดูกรมาตลี (3) ท่านเหล่าใดกำจัด ราคะ และ โทสะ ก้าวล่วงอวิชชา ยังเป็น พระเสขะ ยินดีในธรรมเครื่องปราศจาก การสั่งสม เป็นผู้ไม่ประมาท ตามศึกษาอยู่เรานอบน้อม ท่านเหล่านั้น
[๙๓๖] มา. ข้าแต่ ท้าวสักกะ ได้ยินว่า พระองค์ทรงนอบน้อม บุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลกเทียว ข้าแต่ท้าววาสวะ พระองค์ทรง นอบน้อม บุคคลเหล่าใด แม้ข้าพระองค์ก็ขอนอบน้อมบุคคลเหล่านั้น
[๙๓๗] ท้าวมฆวาสุชัมบดีเทวราช ผู้เป็นประมุขของเทวดาทั้งหลาย ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาค แล้วเสด็จขึ้นรถ
22
ตติยสักกนมัสนสูตรที่ ๑๐
(เหตุใดท้าวสักกะจึงโปรดปรานผู้ไม่มีเรือน ท่านเหล่านั้นมีวัตรอันงาม แสวงหา อาหารที่ผู้อื่น เยียวยาอัตภาพด้วยอาหารนั้น ท่านเป็นนักปราชญ์ กล่าวคำสุภาษิต เป็นผู้นิ่ง แม้พวกเทวดายังโกรธกับพวกอสูร แต่ท่านไม่โกรธ)
[๙๓๘] สาวัตถีนิทาน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสกะมาตลีสังคาหก เทพบุตรว่า ดูกรสหายมาตลี ท่านจงเตรียมจัดรถม้าอาชาไนย ซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัว เราจะไปยังพื้นที่อุทยานเพื่อชมภูมิภาคอันงดงาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตลีสังคาหก เทพบุตร ทูลรับพระดำรัส ท้าวสักกะจอมเทพ ว่า ขอเดชะ ขอความเจริญจงมีแด่ พระองค์ ดังนี้แล้ว จัดเตรียมรถม้าอาชาไนย ซึ่งเทียม ด้วยม้า พันตัวเสร็จแล้ว กราบทูลแก่ ท้าวสักกะจอมเทพ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ รถม้าอาชาไนยซึ่งเทียม ด้วยม้า พันตัว สำหรับพระองค์ จัดเตรียมไว้เสร็จแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาล อันควรในบัดนี้เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ทราบว่า ครั้งนั้น แล ท้าวสักกะจอมเทพ ขณะเสด็จลงจาก เวชยันตปราสาท ทรงประนมอัญชลี น้อมนมัสการพระภิกษุสงฆ์อยู่
[๙๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีสังคาหกเทพบุตร ได้ทูลถาม ท้าวสักกะจอมเทพ ด้วยคาถา ว่านรชนผู้นอนทับกายอันเปื่อยเน่าเหล่านี้ พึงนอบน้อม พระองค์นั่นเทียว พวกเขาจมอยู่ในซากอันเต็มไปด้วยความหิวและความกระหาย ข้าแต่ท้าววาสวะ(ท้าวสักกะ) เพราะเหตุไรหนอพระองค์ จึงทรงโปรดปรานท่านผู้ไม่มี เรือนเหล่านั้น ขอพระองค์ตรัสบอกมรรยาทของฤาษีทั้งหลาย ข้าพระองค์ขอฟัง พระดำรัสของ พระองค์
[๙๔๐] ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่าดูกรมาตลี เราโปรดปรานมรรยาทของท่าน ผู้ไม่มีเรือนเหล่านั้น ท่านเหล่านั้น เป็นผู้ไม่มีความห่วงใยในบ้านที่ท่านหลีกออกไป บุคคลผู้จะเก็บข้าวเปลือกของท่านเหล่านั้นไว้ในฉางก็ไม่มี ผู้จะเก็บไว้ในหม้อ ก็ไม่มีผู้จะเก็บไว้ในกระเช้าก็ไม่มี ท่านเหล่านั้นมีวัตรอันงาม แสวงหาอาหารที่ผู้อื่น ทำเสร็จแล้วเยียวยาอัตภาพด้วยอาหารนั้น ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์กล่าวคำ สุภาษิต เป็นผู้นิ่งประพฤติสม่ำเสมอ
ดูกรมาตลี พวกเทวดายังโกรธกับพวกอสูร และสัตว์เป็นอันมากยังมีโกรธกันและกัน เมื่อเขายังโกรธกัน ท่านเหล่านั้นไม่โกรธ ดับเสียได้ในบุคคลผู้มีอาชญาในตน เมื่อ ชนทั้งหลายยังมีความถือมั่น ท่านเหล่านั้น ไม่ถือมั่น ดูกรมาตลี เราน้อมนมัสการท่าน เหล่านั้น
[๙๔๑] มา. ข้าแต่ ท้าวสักกะ ได้ยินว่า พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลกเทียว ข้าแต่ท้าววาสวะ พระองค์ทรง นอบน้อม บุคคลเหล่าใด แม้ข้าพระองค์ก็ขอนอบน้อมบุคคลเหล่านั้น
[๙๔๒] ท้าวมฆวาสุชัมบดีเทวราช ผู้เป็นประมุขของเทวดาทั้งหลาย ครั้นตรัส ดังนี้แล้ว ทรงน้อมนมัสการพระภิกษุสงฆ์ แล้วเสด็จขึ้นรถ ฉะนี้แล |