เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

5/5 พระสูตรเรื่องขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ (ขันธ์๕) ฉบับหลวง 1535
  P1531 P1532 P1533 P1534 P1535
รวมพระสูตร ขันธ์๕
ฉบับหลวง เล่ม ๑๗
1 อุปมาวิญญาณด้วยพืช ๕ อย่าง พืชงอกจากเหง้า จากลำต้น จากข้อ จากยอด จากเมล็ด
2 การตัดสังโยชน์ และความสิ้นอาสวะ เราไม่พึงมีขันธปัญจก(ขันธ์๕) ของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขาร จักไม่มี การปฏิสนธิ ก็จักไม่มีแก่เรา
3 ว่าด้วยการรู้อุปาทานขันธ์โดยเวียนรอบ ๔ คือ เรารู้ยิ่งซึ่งรูป ความเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งรูป (พิจารณาอุปาทานขันธ์ แต่ละขันธ์ โดยนัยยะแห่งอริยสัจสี่)
4 ว่าด้วยการรู้ขันธ์ ๕ ในฐานะ ๗ ประการ (๑) รู้ชัดซึ่งรูป (๒) เหตุเกิด (๓) ความดับ (๔) ปฏิปทา อันให้ถึงความดับ (๕) คุณแห่งรูป (๖) โทษแห่งรูป (๗) อุบายเครื่องสลัดออก
5 ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ตถาคตหลุดพ้น เพราะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (หลุดพ้นเพราะละ ขันธ์๕ได้)
6 ลักษณะแห่งอนัตตา..รูปมิใช่ตัวตน หากว่ารูปเป็นตัวตนแล้ว รูปก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ
  6.1 เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ... ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
  6.2 เพราะเหตุนั้นแหละพึงเห็น(รูป) ด้วยปัญญา ว่าไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
  รวมพระสูตรเรื่องขันธ์๕ จากหนังสือพุทธวจน และ อริยสัจจากพระโอษฐ์ (P1101)
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๔

(1)
ว่าด้วยอุปมาวิญญาณด้วยพืช (๒. พีชสูตร)
(พืช ๕ อย่าง คือ พืชงอกจากเหง้า จากลำต้น จากข้อ จากยอด จากเมล็ด ถ้าเก็บไว้ดี แต่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ย่อมไม่เจริญงอกงาม เปรียบเหมือนวิญญาณฐิติ มีที่ตั้ง... วิญญาณที่เข้าถึงรูป ก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูป เป็นอารมณ์ มีรูปเป็น ที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์)

            [๑๐๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ อย่างนี้. ๕ อย่างเป็นไฉน? คือ พืชงอกจากเหง้า ๑ พืชงอกจากลำต้น ๑ พืชงอกจากข้อ ๑ พืชงอกจากยอด ๑ พืชงอกจากเมล็ด ๑

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ไม่เน่า ไม่ถูกลมแดด ทำให้เสีย ยังเพาะขึ้น อันบุคคลเก็บไว้ดี แต่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ. พืช ๕ อย่าง พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้อนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า

        พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ฯลฯ อันบุคคลเก็บไว้ดี และมีดิน มีน้ำ. พืช ๕ อย่างนี้ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ?

        ภิ. ได้ พระพุทธเจ้าข้า

            [๑๐๗] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
พึงเห็นวิญญาณฐิติ ๔
เหมือนปฐวีธาตุ (ธาตุดิน-ผืนนา)
พึงเห็นความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิน เหมือนอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)
พึงเห็นวิญญาณ พร้อมด้วยอาหาร เหมือนพืช ๕ อย่าง

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึง สัญญาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มี สังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งมีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความ เจริญ งอกงามไพบูลย์

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัด เสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มี ที่ตั้ง นั้น ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไปจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น

        เธอย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


(2)
ว่าด้วยการตัดสังโยชน์และความสิ้นอาสวะ (๓. อุทานสูตร)
(เราไม่พึงมี ขันธปัญจก (ขันธ์๕) ของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี การปฏิสนธิ ก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมตาม เห็น รูปโดยความเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป  เขาย่อมไม่ทราบชัดว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นปัจจัยปรุงแต่ง)

            [๑๐๘] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทานว่า ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจก (ขันธ์๕) ของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี การปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้

            [๑๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอุทานอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเรา ก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ ได้อย่างไร พระเจ้าข้า?

        พระผู้มีภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระ อริยเจ้าฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำใน สัปปุริสธรรม
ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑

ตามเห็นเวทนาโดยความ เป็นตน ฯลฯ
ตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ
ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑

        เขาย่อมไม่ทราบชัด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความ เป็นจริงว่าเป็นของ ไม่เที่ยง
        ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์
        ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา
        ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
        ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณจักมี (แท้จริงแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งที่ไม่มี)

            [๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ผู้ใดเห็นพระ อริยเจ้าฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับการแนะนำดีในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีใน สัปปุริสธรรม
ย่อมไม่พิจารณา เห็นรูป โดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็น เวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็น สัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็น สังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็น วิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ

        เธอย่อมทราบชัด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง
        ย่อมทราบชัด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงว่า เป็นว่าทุกข์
        ย่อมทราบชัด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา
        ย่อมทราบชัด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
        ย่อมทราบชัด ตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี
        ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น เพราะเห็นความเป็นต่างๆ แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

        ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้แลว่า
ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจก(ขันธ์๕) ของเรา ก็ไม่พึงมี
กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิ ก็จักไม่มีแก่เราดังนี้
พึงตัด โอรัมภาคิยสังโยชน์ ได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล

            [๑๑๑] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุน้อมใจไปอยู่อย่างนี้ พึงตัด โอรัมภาคิยสังโยชน์เสียได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างไร อาสวะ ทั้งหลายจึงจะสิ้นไปในกาลเป็นลำดับ

        พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ ย่อมถึงความสะดุ้ง ในฐานะ อันไม่ควรสะดุ้ง. ดูกรภิกษุ ก็ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ย่อมมีความสะดุ้ง ดังนี้ว่า ถ้าเรา ไม่พึงมี แม้ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้

        ดูกรภิกษุ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ฯลฯ ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งในฐานะ อันไม่ควรสะดุ้ง. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ไม่มีความสะดุ้งดังนี้ว่า ถ้าเรา ไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มีปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้

        ดูกรภิกษุ วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูปเป็น อารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์

        วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสัญญาก็ดี ฯลฯ วิญญาณ ที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์

        ภิกษุนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไปจุติ อุปบัติ หรือ ความเจริญงอกงามไพบูลย์ แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขารดังนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัด เสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงามไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อมเพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น

        เธอย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไป ในกาลเป็นลำดับ


(3)
ว่าด้วยการรู้อุปาทานขันธ์โดยเวียนรอบ ๔ (๔. ปริวัฏฏสูตร)
(เวียนรอบ ๔ อย่างไร? คือ เรารู้ยิ่งซึ่งรูป ความเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งรูป... ก็รูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ ..ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร ความดับแห่งรูปย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ นี้แล เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป)

            [๑๑๒] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่ง อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริง เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่ง สัมมา สัมโพธิญาณ อย่างยอดเยี่ยม ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เพียงนั้น

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล เรารู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่ง สัมมา สัมโพธิญาณ อย่างยอดเยี่ยม ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และ มนุษย์

เวียนรอบ ๔ อย่างไร?
(พิจารณา ขันธ์๕ โดยนัยะแห่งอริยสัจสี่)

        คือ เรารู้ยิ่งซึ่งรูป ความเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่งรูป รู้ยิ่งซึ่งเวทนา ฯลฯ รู้ยิ่งซึ่งสัญญา ฯลฯ รู้ยิ่งซึ่งสังขาร ฯลฯ รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ ความเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ (เวียนนรอบ ๔ ของแต่ละขันธ์)

            [๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัย มหาภูตรูป ๔. นี้เรียกว่ารูป. ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่ง อาหาร ความดับแห่งรูปย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯสัมมาสมาธิ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่งรูป

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งปฏิปทาอันให้ถึง ความดับแห่งรูปอย่างนี้ ปฏิบัติแล้วเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติ อันให้ถึงความดับแห่งรูปอย่างนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลาย กำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า หลุดพ้นแล้วดี สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีกำลัง สามารถเป็นของตน ความเวียนวนเพื่อปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะ หรือ พราหมณ์ เหล่านั้น

            [๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน? เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนาเกิดแต่จักขุสัมผัส เวทนาเกิดแต่โสตสัมผัส เวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส เวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัสเวทนาเกิดแต่กายสัมผัส เวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเวทนา ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความ เกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งเวทนา

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งเวทนา อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ ปฏิบัติแล้วเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับเวทนา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งเวทนา อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งเวทนาอย่างนี้รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่ง ข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นเวทนาสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า หลุดพ้นดีแล้ว

       สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้วสมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น เป็นผู้มี กำลังสามารถเป็นของตน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้ มีกำลัง สามารถเป็น ของตน ความเวียนวนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะ หรือ พราหมณ์ เหล่านั้น

            [๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๖ หมวดนี้คือ ความสำคัญในรูป ความสำคัญในเสียง ความสำคัญในกลิ่น ความสำคัญ ในรส ความสำคัญในโผฏฐัพพะ ความสำคัญในธรรมารมณ์

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสัญญา. ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมี เพราะ ความ เกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสัญญา ย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ

        นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ยิ่งซึ่งสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ ความวนเวียนเพื่อความ ปรากฏ ย่อมไม่มี แก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น

            [๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจตนา ๖ หมวดนี้คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพ สัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสังขาร. ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความ เกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทา อันให้ถึง ความดับแห่งสังขาร

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งสังขาร อย่างนี้ ฯลฯ ความวนเวียนเพื่อปรากฏ ย่อมไม่มี แก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น

            [๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ๖ หมวดนี้คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า วิญญาณ. ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณย่อมมี เพราะความดับแห่ง นามรูป อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่ง วิญญาณ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งเหตุเกิดแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ ปฏิบัติแล้ว เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้.

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะ เบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ สมณะหรือ พราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน สมณะหรือ พราหมณ์ เหล่าใดเป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน ความวนเวียนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มี แก่สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น


(4)
ว่าด้วยการรู้ขันธ์ ๕ โดยฐานะ (๕. สัตตัฏฐานสูตร)
(ภิกษุผู้ฉลาดในในฐานะ ๗ ประการ เป็นอย่างไร? รู้ชัดซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบาย เครื่องสลัดออกแห่งรูป)
-ความสุขโสมนัส อาศัยรูป นี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป
-รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนนี้เป็นโทษแห่งรูป
-การกำจัดฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป


            [๑๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่ายอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ฉลาดในในฐานะ ๗ ประการ เป็นอย่างไร?

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับ แห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่อง สลัดออกแห่งรูป. รู้ชัดเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เหตุเกิดแห่ง วิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่ง วิญญาณโทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ

            [๑๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน? มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัย มหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป. ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร ความดับแห่งรูป ย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป

        ความสุขโสมนัสอาศัยรูปนี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป การกำจัดฉันทราคะการละฉันทราคะ ในรูปเสียได้ นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิด แห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้วปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงใน ธรรมวินัยนี้

        ส่วน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดความดับ (และ) เพราะไม่ถือมั่นรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือ พราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจ สมณะหรือ พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก

            [๑๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน? สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนาเกิดเพราะจักขุสัมผัส ฯลฯ เวทนาเกิดเพราะมโนสัมผัส. นี้เรียกว่าเวทนา. ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก

            [๑๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาเป็นไฉน? สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา. นี้เรียกว่าสัญญา. ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับ แห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก

            [๑๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารเป็นไฉน? เจตนา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญเจตนาฯลฯ ธรรมสัญเจตนา. นี้เรียกว่าสังขาร. ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งสังขาร ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อความปรากฏอีก

            [๑๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณเป็นไฉน? วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณ. ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯสัมมาสมาธิ

       นี้แล เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ. สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณ เกิดขึ้นนี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็น ธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นความสลัดออกแห่งวิญญาณ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้ว ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ สมณะหรือ พราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหลั่งลงในธรรมวินัยนี้

        สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก

            [๑๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เป็นอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุประการหนึ่ง โดยความเป็นอายตนะประการหนึ่ง โดยความเป็นปฏิจจสมุปบาทประการหนึ่ง

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ. ภิกษุฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่า ยอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้

(ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ คือฉลาดในขันธ์๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และเพ่งพินิจ อีก ๓ คือ รู้จักคุณ รู้จักโทษ รู้อุบายเครื่องออกไปพ้น รวม เป็น ๗ ประการ)


(5)
ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (๖. พุทธสูตร)
ตถาคตหลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เทวดาและมนุษย์ต่างพากันเรียกว่า พระสัมมา สัมพุทธเจ้า


            [๑๒๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัดเพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เทวดาและมนุษย์ต่างพากันเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญาหลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ...สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เราเรียกว่า ผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

            [๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นจะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน จะมีอะไร เป็นข้อประสงค์ที่ยิ่งกว่ากัน จะมีอะไรเป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา?

        ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน เป็นแบบฉบับ เป็นที่อิงอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขออรรถแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคทีเดียวเถิด ภิกษุทั้งหลาย ได้สดับ ต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรคที่ใครๆไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทาง ประกาศทางให้ปรากฏ ฉลาดในทาง

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลาย ในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง.อันนี้แล เป็นข้อแปลกกัน อันนี้ เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้ เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้ หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา


(6)
ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา (๗. ปัญวัคคิยสูตร)
(รูป มิใช่ตัวตน หากว่ารูปนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ  รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา)

 

            [๑๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณาสี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้วตรัสว่า

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย
รูป มิใช่ตัวตน ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

        ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความ ปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่างได้เป็นอย่างนั้นเลย

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา มิใช่ตัวตน ก็หากเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธทั้งยังจะได้ตาม ความปรารถนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

        ก็เพราะเหตุที่เวทนามิใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา มิใช่ตัวตน ก็หากสัญญานี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตาม ความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้น เลย

        ก็เพราะเหตุที่สัญญามิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และ ไม่ได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขาร มิใช่ตัวตน ก็หากสังขารนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

        ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ มิใช่ตัวตน ก็หากวิญญาณนี้ จักเป็นตัวตนแล้ว ไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณ ของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

        ก็เพราะเหตุที่วิญญาณมิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และ ไม่ได้ ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

6.1
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

            [๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?
ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า


6.2
เพราะเหตุนั้นแหละ ... รูป ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

            [๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ

        รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายใน หรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกล หรือใกล้ เวทนาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกล หรือใกล้ สัญญาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกล หรือใกล้สังขารทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายใน หรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ วิญญาณ ทั้งหมด นั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

            [๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น

         เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

        พระผู้มีพระภาค ได้ตรัส อนัตตลักขณสูตร นี้ จบลงแล้ว ภิกษุเบญจวัคคีย์ ต่างมีใจ ยินดีชื่นชมพระภาษิตของผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัส ไวยากรณ ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์