เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

2/5 พระสูตรเรื่องขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ (ขันธ์๕) ฉบับหลวง 1532
  P1531 P1532 P1533 P1534 P1535
รวมพระสูตร ขันธ์๕
ฉบับหลวง เล่ม ๑๗
1 ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ ภาระ คืออุปาทานขันธ์ ๕ คือรูปอุปาทาน เวทนาอุปาทาน...
      1.1 ผู้แบกภาระเป็นไฉน? บุคคลบุคคลนี้ นั้น คือท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้
      1.2 เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? คือตัณหาที่นำไปสู่ภพ ประกอบด้วยความกำหนัด
      1.3 การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั้นแลดับไป สำรอกไป ความไม่อาลัย
2 ธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือ รูป เวทนา..ควรกำหนดรู้ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ... คือความรอบรู้
3 ผู้ไม่ควร และ ผู้ควรสิ้นทุกข์.. บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่กำหนดรู้ ไม่ละซึ่งรูป เป็นผู้ไม่ควรเพื่อสิ้นทุกข์
4 การละฉันทราคะในขันธ์ ๕ เธอจงละฉันทราคะในรูปเสีย ทำให้เป็นตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มี
5 ความปริวิตกของโพธิสัตว์เกี่ยวกับขันธ์ ๕ อะไรหนอ เป็นคุณ เป็นโทษ เครื่องสลัดออก ของรูป
6 สิ่งที่พระองค์ค้นพบ..เราค้นหาคุณแห่งรูป เห็นคุณแห่งรูป พบโทษแห่งรูป เห็นโทษแห่งรูป
7 คุณ-โทษ-เครื่องสลัดออกแห่งขันธ์ ๕ ถ้าคุณแห่งรูปจักไม่มี สัตว์ก็จะไม่พึงกำหนัดในรูป.. แต่
   7.1 ถ้าคุณแห่งรูปจักไม่มี สัตว์ก็จะไม่พึงกำหนัดในรูป แต่เพราะคุณแห่งรูปมีอยู่
8 ผลแห่งความเพลิดเพลิน และ ไม่เพลิดเพลินในขันธ์ ๕ ผู้ใดเพลินรูป ชื่อว่าเพลินทุกข์
9 ความเกิดและความดับทุกข์..ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ความปรากฏแห่งรูป นี้เป็นความเกิดแห่งทุกข์
10 ทุกข์ และ มูลเหตุแห่งทุกข์ ก็ทุกข์เป็นไฉน? ทุกข์คือรูป ทุกข์คือเวทนา สัญญา..นี้เรียกว่าทุกข์
11 ความสลาย และไม่สลายแห่งทุกข์ รูป เป็นภาวะสลาย.. ความดับแห่งรูปเป็นภาวะไม่สลาย
  รวมพระสูตรเรื่องขันธ์๕ จากหนังสือพุทธวจน และ อริยสัจจากพระโอษฐ์ (P1101)
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ หน้าที่ ๒๕

(1)
ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ (๑. ภารสูตร)
(ภาระ คืออุปาทานขันธ์ ๕ คือรูป อุปาทาน เวทนาอุปาทาน...)

            [๔๙] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระ ผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์ ๕

         อุปาทานขันธ์ ๕เป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์ คือ รูป อุปาทานขันธ์ คือเวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทานขันธ์ คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ

(1.1)

(ผู้แบกภาระเป็นไฉน? บุคคลบุคคลนี้ นั้น คือท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้)

            [๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคลนี้ นั้น คือท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบก ภาระ

(1.2)

(เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? คือตัณหาที่นำไปสู่ภพ ประกอบด้วยความกำหนัด)

            [๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติ เพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า เครื่องถือมั่นภาระ

(1.3)

(ก็การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั้นแลดับไป สำรอกไป ความไม่อาลัย)

            [๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั่นแล ดับไปด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย

        ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่าการวางภาระ. พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีก ใน ภายหลังว่า

            [๕๓] ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่น ภาระ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนัก เสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อม ทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว ดังนี้




(2)
ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้ และความรอบรู้ (๒. ปริญญาสูตร)
(รูป เวทนา..เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ ความสิ้นไปแห่งราคะโทสะโมหะ คือความรอบรู้)

            [๕๔] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม ที่ควรกำหนดรู้และความรอบรู้ เธอทั้งหลายจงฟัง

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นธรรมที่ ควรกำหนดรู้ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นธรรมที่ควร กำหนดรู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้

            [๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรอบรู้เป็นไฉน? คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความรอบรู้




(3)
ว่าด้วยผู้ไม่ควรและ ผู้ควรสิ้นทุกข์ (๓. ปริชานสูตร)
(บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่กำหนดรู้ ไม่ละซึ่งรูป เวทนา...เป็นผู้ไม่ควรเพื่อสิ้นทุกข์)

            [๕๖] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละ ซึ่งรูป เป็นผู้ไม่ควรเพื่อสิ้นทุกข์ บุคคลเมื่อไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อสิ้นทุกข์

(บุคคลเมื่อรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ ละซึ่งรูป เวทนา...เป็นผู้ควรเพื่อสิ้นทุกข์)

            [๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ เมื่อหน่าย เมื่อละได้ซึ่งรูป จึงเป็นผู้ควรเพื่อสิ้นทุกข์ บุคคลเมื่อรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ เมื่อหน่าย เมื่อละได้ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญาซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ จึงเป็นผู้ควรเพื่อสิ้นทุกข์




(4)
ว่าด้วยการละฉันทราคะในขันธ์ ๕ (๔. ฉันทราคสูตร)
(เธอจงละฉันทราคะในรูปเสีย กระทำให้เป็นตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิด)

            [๕๘] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละฉันทราคะในรูปเสีย ด้วยการละอย่างนี้ รูปนั้นจักเป็นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้วกระทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา

        เธอทั้งหลายจงละ ฉันทราคะ ในเวทนาเสีย ฯลฯ เธอทั้งหลาย จงละฉันทราคะ ในสัญญาเสีย ฯลฯ เธอทั้งหลายจงละฉันทราคะในสังขารเสีย ฯลฯ เธอทั้งหลาย จงละฉันทราคะในวิญญาณเสีย ด้วยการละอย่างนี้ วิญญาณนั้นจักเป็นอันเธอ ทั้งหลาย ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา


(5)
ว่าด้วยความปริวิตกของพระโพธิสัตว์เกี่ยวกับขันธ์ ๕ (๕. อัสสาทสูตรที่ ๑)
(อะไรหนอเป็นคุณของรูป อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก)
-สุขโสมนัสใด อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของรูป
-รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ นี้เป็นโทษของรูป
-กำจัดฉันทราคะ ในรูปเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออก

            [๕๙] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า

อะไรหนอเป็นคุณของรูป อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกอะไรเป็นคุณของเวทนา ... อะไรเป็นคุณของสัญญา ...อะไรเป็นคุณของสังขาร ... อะไรเป็นคุณของวิญญาณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้ปริวิตกต่อไปว่า

สุขโสมนัส อันใด อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของรูป
รูปใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของรูป การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ ในรูปเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป

สุขโสมนัสอันใด อาศัยเวทนาเกิดขึ้น ...
สุขโสมนัสอันใด อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ...
สุขโสมนัสอันใด อาศัยสังขารเกิดขึ้น ...

สุขโสมนัสอันใด อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ
วิญญาณใด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่ง วิญญาณ

            [๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณ โดยความเป็นคุณ โทษ โดยความเป็นโทษ และเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่ง อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เพียงนั้น

        เมื่อใด เรารู้ยิ่งซึ่งคุณ โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่อง สลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความ เป็นจริงอย่างนี้ เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

        ก็แล ญาณทัสสนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มี




(6)
ว่าด้วยสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ (๖. อัสสาทสูตรที่ ๒)
เราค้นหา คุณ แห่งรูป พบคุณแห่งรูป เห็นคุณแห่งรูป เท่าที่มีอยู่ด้วยปัญญา
เราค้นหา โทษ แห่งรูป พบโทษแห่งรูป เห็นโทษแห่งรูป เท่าที่มีอยู่
เราค้นหา เครื่องสลัดออก แห่งรูป เราพบเครื่องสลัดออก เราเห็นเครื่องสลัดออก

            [๖๑] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เราได้เที่ยว ค้นหาคุณแห่งรูป
เราได้ พบคุณแห่งรูป แล้ว
เราได้ เห็นคุณแห่งรูปเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว
(ค้นหา คุณ แห่งรูป พบคุณแห่งรูป เห็นคุณแห่งรูปเท่าที่มีอยู่ด้วยปัญญา)

เราได้เที่ยวค้นหาโทษ แห่งรูป
เราได้พบโทษแห่งรูปแล้ว
เราได้เห็นโทษแห่งรูปเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว
(ค้นหา โทษ แห่งรูป พบโทษแห่งรูป เห็นโทษแห่งรูปเท่าที่มีอยู่)

เราได้เที่ยว ค้นหา เครื่องสลัดออกแห่งรูป
เราได้พบเครื่องสลัดออกแห่งรูปแล้ว
เราได้เห็นเครื่องสลัดออกแห่งรูปเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว
(ค้นหา เครื่องสลัดออก แห่งรูป ...)
------------------------------------------------

เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่งเวทนา ฯลฯ
เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่งสัญญา ฯลฯ
เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่งสังขาร ฯลฯ
เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่งวิญญาณ

เราได้พบคุณแห่งวิญญาณแล้ว
เราได้เห็นคุณแห่งวิญญาณเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว

เราได้เที่ยวค้นหาโทษแห่งวิญญาณ
เราได้พบโทษแห่งวิญญาณแล้ว
เราได้เห็นโทษแห่งวิญญาณ เท่าที่มีอยู่ด้วยปัญญาดีแล้ว

เราได้เที่ยวค้นหาเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ เราได้พบเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณแล้ว เราได้เห็นเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณ โดยความเป็นคุณ โทษโดยความ เป็นโทษ เครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง เพียงใดเราก็ยังไม่ปฏิญาณ ฯลฯ เพียงนั้น

         ก็แลญาณทัสสนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบชาตินี้เป็นที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มี


(7)
ว่าด้วยคุณโทษ และ เครื่องสลัดออกแห่งขันธ์ ๕ (๗. อัสสาทสูตรที่ ๓)
ถ้าคุณแห่งรูปจักไม่มีไซร้ สัตว์ก็จะไม่พึงกำหนัดในรูป.. แต่เพราะคุณแห่งรูปมีอยู่
ถ้าโทษแห่งรูปจักไม่มีไซร้ สัตว์ก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในรูป..แต่เพราะโทษแห่งรูปมีอยู่
ถ้าเครื่องสลัดออกจักไม่มีไซร้ สัตว์ก็จะไม่พึงออกไปจากรูปได้
..แต่เพราะเครื่องสลัด

            [๖๒] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณแห่งรูปจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงกำหนัดในรูปแต่เพราะคุณแห่งรูปมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงกำหนัดในรูป

ถ้าโทษแห่งรูปจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในรูปแต่เพราะโทษแห่งรูปมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในรูป

ถ้าเครื่องสลัดออกแห่งรูปจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงออกไปจากรูปได้ แต่เพราะเครื่องสลัดออกแห่งรูปมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงออกไปจากรูปได้

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าคุณแห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯแห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงกำหนัดในวิญญาณ. แต่เพราะคุณแห่งวิญญาณมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงกำหนัดในวิญญาณ

ถ้าโทษแห่งวิญญาณจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในวิญญาณ. แต่เพราะโทษแห่งวิญญาณมีอยู่ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในวิญาณ

ถ้าเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณจักไม่มีไซร้สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงออกไปจาก วิญญาณได้. แต่เพราะเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณมีอยู่ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงออกไปจากวิญญาณได้


(7.1)
ถ้าคุณแห่งรูปจักไม่มี สัตว์ก็จะไม่พึงกำหนัดในรูป แต่เพราะคุณแห่งรูปมีอยู่
ถ้าโทษแห่งรูปจักไม่มีไซร้ สัตว์ก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในรูป..แต่เพราะโทษแห่งรูปมีอยู่
ถ้าเครื่องสลัดออกจักไม่มีไซร้ สัตว์ก็จะไม่พึงออกไปจากรูปได้
..แต่เพราะเครื่องสลัด สัตว์จึงไม่ออกไปพ้น...แต่เมื่อใดรู้ยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ..

            [๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ยังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็น คุณ โทษโดยความเป็นโทษ และเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่ง อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง เพียงใด สัตว์ทั้งหลาย ก็ยังไม่เป็นผู้ออกไป พรากไป หลุดพ้นไป มีใจอันหาขอบเขตมิได้อยู่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด สัตว์ทั้งหลาย รู้ยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่ง อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ออกไป พรากไปหลุดพ้นไป มีใจอันหาขอบเขตมิได้อยู่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์




(8)
ว่าด้วยผลแห่งความเพลิดเพลิน และ ไม่เพลิดเพลินในขันธ์ ๕ (๘. อภินันทนสูตร)
(ผู้ใดเพลิดเพลินรูป ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์)

            [๖๔] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเพลิดเพลินรูป ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์

        ผู้ใดเพลิดเพลินเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่ าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์

            [๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแล ไม่เพลิดเพลินรูป ผู้นั้นชื่อว่าไม่เพลิดเพลิน ทุกข์ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์

        ผู้ใดไม่เพลิดเพลินเวทนา ฯลฯสัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่า ไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์ได้


(9)
ว่าด้วยความเกิด และ ความดับทุกข์ (๙. อุปปาทสูตร)
(ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความปรากฏแห่งรูป เวทนา..นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์)
(ความดับไป ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูป นี้เป็นความดับแห่งทุกข์)

            [๖๖] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งรูป นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ

       ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ นี้เป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ

            [๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่งรูป นี้เป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความเข้าไประงับแห่งโรค เป็นความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่งชราและมรณะ

       ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯแห่งวิญญาณ นี้เป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความเข้าไประงับแห่งโรค เป็นความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชราและมรณะ


(10)
ว่าด้วยทุกข์ และ มูลเหตุแห่งทุกข์ (๑๐. อฆมูลสูตร)
ก็ทุกข์เป็นไฉน? ทุกข์คือรูป ทุกข์คือเวทนา สัญญา....นี้เรียกว่าทุกข์
ตัณหาที่ทำให้เกิดในภพใหม่ ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิน นี้เรียกว่ามูลเหตุแห่งทุกข์

            [๖๘] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงทุกข์ และมูลเหตุแห่งทุกข์แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกข์เป็นไฉน? ทุกข์คือรูป ทุกข์คือเวทนา ทุกข์คือสัญญา ทุกข์คือสังขาร ทุกข์คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุกข์

            [๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มูลเหตุแห่งทุกข์เป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิด ในภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติ เพลิดเพลินยิ่ง ในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ามูลเหตุแห่งทุกข์



(11)
ว่าด้วยความสลาย และ ไม่สลายแห่งทุกข์ (๑๑. ปภังคสูตร)
(รูป เป็นภาวะ สลาย ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูปนั้นนี้ เป็นภาวะไม่สลาย)

            [๗๐] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจัก แสดงภาวะสลาย และภาวะไม่สลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นภาวะสลาย อะไรเป็นภาวะไม่สลาย? รูป เป็นภาวะ สลาย ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูปนั้นนี้ เป็นภาวะไม่สลาย

        เวทนาเป็นภาวะสลาย ฯลฯ สัญญาเป็นภาวะสลาย ฯลฯ สังขารเป็นภาวะสลาย ฯลฯ วิญญาณเป็นภาวะสลาย ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่งวิญญาณนั้น นี้เป็นภาวะไม่สลาย

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์