เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ขันธ์ ๕ และ อุปมาขันธ์ ๕... ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ ขันธ์ ๕ คือมาร คือหัวฝี 1101
 
 
รวมพระสูตรเรื่องขันธ์๕ จากหนังสือพุทธวจน และ อริยสัจจากพระโอษฐ์

ขันธ์ ๕ คือ

(1) ขันธ ๕ คือมาร
(2) ขันธ์ ๕ เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก...
(3) ขันธ์ ๕ เป็นทั้งผู้ฆ่า และผู้ตาย
(4) คือ ปัญจุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ยังมีอุปาทาน) คือที่ตั้งแห่งอุปาทาน
(5) ขันธ์ ๕ คือ สักกายะ และสักกายันตระ
(6) ขันธ์ ๕ เป็นที่บัญญัติกฎแห่งสังขตะ :กฎแห่งความบังเกิดขึ้น กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี
(7) ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นทุกขธรรม (มีทุกข์เป็นธรรมดา) เป็นอนัตตา นั้นไม่ใช่ของเรา
(8) เหตุปัจจัยของ ขันธ์ ๕ ก็เป็นทุกข์ เมื่อเหตุปัจจัยเป็นทุกข์แล้ว จักเป็นสุขได้อย่างไร
(9) เหตุปัจจัยของ ขันธ์ ๕ ก็เป็นอนัตตา 
(10) สุข-ทุกข์ เนื่องจากการมีอยู่แห่ง ขันธ์ทั้ง ๕ 

(11)
อุปมาแห่ง ขันธ์ ๕
(12) ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้
(13) มูลฐานแห่งการบัญญัติ ขันธ์ ๕ (แต่ละขันธ์)
(14) การถูกตราหน้าเพราะอนุสัยใน ขันธ ๕
(15) การถูกตราหน้าเพราะตายตาม ขันธ์ ๕
(16) สัญโญชน์ และที่ตั้งแห่งสัญโญชน์
(17) ความลับของ ขันธ์ ๕
(18) ขันธ์ ๕ เป็นธรรมฝ่ายที่แตกสลายได้
(19) ขันธ์ ๕ ไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา
(20) สิ่งใดมิใช่ของเรา

(21) ขันธ์ ๕ เป็นภาระที่หนัก
(22) ขันธ์ ๕ เป็นกองถ่านเถ้ารึง (กองเถ้าที่ยังร้อนระอุ)
(23) ขันธ์ ๕ เป็นเครื่องผูกพันสัตว์
(24) เรียกกันว่า “สัตว์” เพราะติด ขันธ ๕
(25) ไม่รู้จัก ขันธ์ ๕ ชื่อว่ามีอวิชชา
(26) เพลินใน ขันธ์ ๕ เท่ากับเพลินในทุกข์
(27) ขันธ์ ๕ คือที่สุดแห่งโลก คือที่สุดแห่งทุกข์
(28) กายนี้ (ขันธ์ ๕) เป็น “กรรมเก่า” เป็นเพียงกระแสปฏิจจสมุปบาท
(29) ขันธ์ ๕ เป็นไฉน
(30) อุปทานขันธ์ ๕ (ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปทาน)

(31) “สิ่งนั้น” หาพบในกายนี้ (ขันธ ๕) คือที่สุดแห่งโลก ที่สุดแห่งทุกข์
(32) ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง คำสอนที่ทรงสั่งสอนบ่อยมาก
(33) ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง..ขันธ์ ๕

(34) ธรรมชาติของ ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
(35) เราถูกขันธ์ ๕ เคี้ยวกินอยู่ จึงไม่เพ่งต่อขันธ์ ๕ อันเป็นอดีต ไม่เพลินต่ออนาคต
(36) ขันธ์๕ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์.. ควรหรือหนอ ? ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา
(37) ขันธ์๕ ที่เป็นอดีต-อนาคต-ปัจจุบัน มีภายใน-ภายนอก
(38) ขันธ์๕ (ระดับเสขะ) เธอย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา
(39) ขันธ์๕ (ระดับอเสขะ) ไม่ก่อไม่ยุบแต่ยุบแล้วดำรงอยู่ ไม่ขว้างทิ้งไม่ถือเอาแต่ทิ้งแล้วดำรงอยู่

(รวมพระสูตรเรื่องขันธ์๕ จากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง) P1531
   เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
   การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
   การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
   แสวงหาสัจจะ บำเพ็ญทุกรกิริยา
   ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
   ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
   ปลงสังขาร ปรินิพพาน
   ลำดับขั้นการปรินิพพาน
   เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
   แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 


(1) ขันธ์ ๕ คือ มาร
จากหนังสือ ปฏิบัติ สมถะวิปัสสนา-พุทธวจน หัวข้อ 102-103

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๙/๓๗๗.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่ามาร มาร ดังนี้ ก็มารเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า 

ราธะ : รูปเป็นมาร.. เวทนาเป็นมาร.. สัญญาเป็นมาร.. สังขารเป็นมาร.. วิญญาณเป็นมาร 

ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว
เห็นอยู่อย่างนี้ - ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย - ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด - ย่อมหลุดพ้น
ครั้นหลุดพ้นแล้ว - ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

เธอย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

---------------------------------------------------------------------

(2) ขันธ์ ๕ คือ มาร เป็นทั้งผู้ทำให้ตาย และเป็นผู้ตาย
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๑/๓๖๖.

ราธะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่ามาร มาร ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงถูกเรียกว่ามาร พระเจ้าข้า 
พ. มื่อรูปมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงพิจารณาเห็นรูป ว่าเป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นเหตุเกิดแห่ง ความยากลำบาก บุคคลเหล่าใด พิจารณาเห็นรูปนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ เมื่อเวทนามีอยู่ … เมื่อสัญญามีอยู่ … เมื่อสังขารมีอยู่ … เมื่อวิญญาณมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี 

พ. เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงพิจารณาเห็นวิญญาณ ว่าเป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นเหตุเกิดแห่งความ ยากลำบาก บุคคลเหล่าใด พิจารณาเห็นวิญญาณนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ

ราธะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเห็นชอบมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า 
พ. ความเห็นชอบมีประโยชน์ ให้เบื่อหน่าย

ราธะ
ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า
พ. ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์ให้คลายกำหนัด

ราธะ
ก็ความคลายกำหนัดเล่า มีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า 
พ. ความคลายกำหนัดมีประโยชน์ให้หลุดพ้น

ราธะ ความหลุดพ้นเล่า มีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า
พ. ความหลุดพ้นมีประโยชน์เพื่อนิพพาน

ราธะ
นิพพานเล่ามีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า
พ. เธอถามเลยปัญหาไปเสียแล้ว เธอไม่อาจ เพื่อถือเอาที่สุดของปัญหาได้
อันพรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่นี้ หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด.

---------------------------------------------------------------------

(3) ขันธ์ ๕ เป็นทั้งผู้ฆ่า และผู้ตาย 
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า 246

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนกล่าวกันว่า มารมาร ดังนี้ เขากล่าวกันว่า มาร เช่นนี้มีความหมายเพียงไรพระเจ้าข้า? 

ราธะ !
เมื่อความยึดถือในรูปมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี.
เมื่อความยึดถือในเวทนามีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี
เมื่อความยึดถือในสัญญามีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี
เมื่อความยึดถือในสังขารทั้งหลายมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี
เมื่อความยึดถือในวิญญาณมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี

ราธะ ! เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ เธอพึงเห็นรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารทั้งหลายก็ดี และวิญญาณก็ดี ว่าเป็นมาร ว่าเป็นผู้ให้ตาย ว่าผู้ตาย ว่าโรค ว่าหัวฝี ว่าลูกศร ว่าทุกข์ และว่าทุกข์ที่เกิดแล้ว

บุคคลเหล่าใดเห็นขันธ์ทั้งห้าในลักษณะเช่นนี้ บุคคลเช่นนั้นชื่อว่าเห็นอยู่ โดยชอบแล

----------------------------------------------------------

(4) ปัญจุปาทานขันธ์
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า208

ภิกษุ ท. ! ปัญจุปาทานขันธ์ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! รูปชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม ซึ่งยังมีอาสวะเป็นที่ตั้งอาศัยอยู่แห่งอุปาทาน.

ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า รูปขันธ์ที่ยังมีอุปาทาน.

เวทนา สัญญา สีงขาร วิญญาณ ก็ตรัสทำนองเดียวกัน

ภิกษุ ท. ! ขันธ์ที่ยังมีอุปาทานห้าขันธ์เหล่านี้ เรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์แล.

---------------------------------------------------------------------

(5) ขันธ์ ๕ ได้นามว่า สักกายะ และ สักกายันตะ 
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า214

ภิกษุ ท. ! สักกายะเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! คำตอบคืออุปาทานขันธ์ทั้งห้า คือ 
๑. รูปขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน  
๒. เวทนาขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน  
๓. สัญญาขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน  
๔. สังขารขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน
๕. วิญญาณขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน
ภิกษุ ท. ! นี้ เรียกว่า สักกายะ

ภิกษุ ท. ! สักกายันตะเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! คำตอบ คืออุปาทานขันธ์ทั้งห้า คือ 
๑. รูปขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน  
๒. เวทนาขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน  
๓. สัญญาขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน
๔. สังขารขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน  
๕. วิญญาณขันธ์ ที่ยังมีอุปาทาน
ภิกษุ ท. ! นี้ เรียกว่า สักกายันตะ แล. 

---------------------------------------------------------------------

(6) ขันธ์ ๕ เป็นที่บัญญัติกฎแห่งสังขตะ 

อานนท์ ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธออย่างนี้ว่า
   กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี
   กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี
   กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น จากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี

ได้ถูกบัญญัติแล้ว จักถูกบัญญัติ และ ย่อมถูกบัญญัติอยู่แก่ธรรมเหล่าไหนเล่า?

อานนท์ ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบเขาว่าอย่างไร ?

คือ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ

ถูกแล้ว อานนท์ ! ถูกแล้ว

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณเหล่าใด (ขันธ์ ๕)
   ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว (ขันธ์๕ ในอดีต)
   ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ (ขันธ์๕ ในอนาคต)
   เป็นสิ่งเกิดอยู่แล้ว ปรากฏอยู่แล้ว (ขันธ์๕ ในปัจจุบัน)
กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็น อย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี ได้ถูกบัญญัติแล้วแก่หมู่แห่งธรรมเหล่านั้น

สังขต อสังขต
1 เกิดปรากฎ
(อุปฺปาโท ปญฺญายติ)
1 เกิดไม่ปรากฎ
(น อุปฺปาโท ปญฺญายติ)
2 เสื่อมปรากฎ
(วโย ปญฺญายติ)
2 เสื่อมไม่ปรากฏ
(น วโย ปญฺญายติ)
3 เมื่อตั้งอยู่ ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฎ
(ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ)
3 เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฎ
(น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ)

---------------------------------------------------------------------

(7)
ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นทุกขธรรม เป็นอนัตตา นั้นไม่ใช่ของเรา

ราธะ ! รูป เป็นทุกข์ เวทนา เป็นทุกข์ สัญญา เป็นทุกข์ สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์ และ วิญญาณ เป็นทุกข์ แล

ราธะ ! รูป เป็นทุกขธรรม (มีทุกข์เป็นธรรมดา) เวทนา เป็นทุกขธรรม สัญญา เป็นทุกข์ธรรม สังขารทั้งหลาย เป็นทุกขธรรม และวิญญาณ เป็นทุกขธรรม แล.

ภิกษุ ท. ! รูป เป็น ทุกข์ สิ่งใด เป็นทุกข์ สิ่งนั้น เป็นอนัตตา สิ่งใด เป็นอนัตตา พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม) นั่นไม่ใช่เรา (เนโสหมสฺมิ) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา)” ดังนี้…

แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตรัสทำนองเดียวกัน

---------------------------------------------------------------------

(8)
เหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ ก็เป็นทุกข์

ภิกษุ ท. !
รูป เป็นทุกข์ แม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของรูป ก็เป็นทุกข์
รูป ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นทุกข์แล้ว จักเป็นสุขได้อย่างไร

เวทนา เป็นทุกข์.. แม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของเวทนา ก็เป็นทุกข์
สัญญา เป็นทุกข์.. แม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของสัญญา ก็เป็นทุกข์
สังขารท. เป็นทุกข์.. แม้เหตุปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของสังขารทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์
วิญญาณ เป็นทุกข์.. แม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของวิญญาณ ก็เป็นทุกข์

เวทนา สัญญา สังขาร ท. วิญญาณ ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นทุกข์แล้ว จักเป็นสุขได้อย่างไร

---------------------------------------------------------------------

(9) เหตุปัจจัยของ ขันธ์ ๕ ก็เป็นอนัตตา 
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า 246

ภิกษุ ท. ! รูป เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของรูป ก็เป็นอนัตตา 
รูป ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร


ภิกษุ ท. ! เวทนา เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของเวทนา ก็เป็นอนัตตา 
เวทนา ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร  

ภิกษุ ท. ! สัญญา เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของสัญญา ก็เป็นอนัตตา 
สัญญา ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้วจักเป็นอัตตาได้อย่างไร  

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัยเพื่อการบังเกิดขึ้นของสังขารทั้งหลาย ก็เป็นอนัตตา 
สังขาร ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร  

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ เป็นอนัตตา. 
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของวิญญาณ ก็เป็นอนัตตา 
วิญญาณที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร แล.

---------------------------------------------------------------------

(10)
สุข-ทุกข์ เนื่องจากการมีอยู่แห่งขันธ์ทั้ง ๕ 

ภิกษุ ท. ! เมื่อรูป มีอยู่
ความรู้สึกที่เป็นสุขหรือทุกข์ในใจ ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยรูป

ภิกษุ ท. ! เมื่อเวทนา มีอยู่
ความรู้สึกที่เป็นสุขหรือทุกข์ในใจ ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยเวทนา

ภิกษุ ท. ! เมื่อสัญญา มีอยู่
ความรู้สึกที่เป็นสุขหรือทุกข์ในใจ ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยสัญญา

ภิกษุ ท. ! เมื่อสังขารทั้งหลาย มีอย่,
ความรู้สึกที่เป็นสุขหรือทุกข์ในใจย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยสังขารทั้งหลาย

ภิกษุ ท. ! เมื่อวิญญาณ มีอยู่ ความรู้สึกที่เป็นสุขหรือทุกข์ในใจย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยวิญญาณ แล.

---------------------------------------------------------------------

(11) อุปมาแห่งขันธ์ ๕
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๓. เผณปิณฑสูตร ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕


รูป
- คือสิ่งที่แตกสลายได้จากความร้อน ความเย็น อาการที่แตกสลาย เรียกว่า รูป
รูป- อุปมาเหมือนฟองน้ำในแม่น้ำ ที่มีแต่ความว่างเปล่าไม่มีแก่นสาร

เวทนา- คือกริยาที่รู้สึกจากผัสสะ รู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง รู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
เวทนา- อุปมาเป็นต่อมน้ำที่แตกกระจายบนผิวน้ำ ย่อมไม่มีแก่นสาร เป็นของว่างเปล่า

สัญญา-คือกริยาที่หมายรู้ รูว่าเป็นสีเขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง
สัญญา-อุปมาเป็นพยับแดดที่ระยิบระยับตอนเที่ยงวัน

สังขาร-คือกริยาปรุงแต่งรูปให้สำเร็จความเป็นรูป ปรุงแต่งเวทนา ปรุงแต่งสัญญา ปรุงแต่งสังขาร ให้สำเร็จรูป
สังขาร-อุปมาเหมือนลอกกาบกล้วยต้นอ่อน ที่ปอกไปแล้วก็หาแก่นไม่ได้

วิญญาณ-คือกริยาที่รู้แจ้งต่ออารมณ์ที่มากระทบ รู้ว่าเปรี้ยวบ้าง เผ็ดบ้าง เค็มบ้าง
วิญญาณ-เปรียบเป็นนักมายากล ว่าเป็นของว่างเปล่า หาแก่นสารในกลนั้นไม่ได้

---------------------------------------------------------------------

(12) ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 221

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ พวกเธอทั้งหลายจงฟังข้อนั้น
ภิกษุ ท. ! สิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! รูป เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ เวทนา เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ สัญญา เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ และ วิญญาณ เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้
ภิกษุ ท. ! สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เรียกว่า สิ่งที่ควรรอบรู้แล

---------------------------------------------------------------------

(13) มูลฐานแห่งการบัญญัติขันธ์๕ (แต่ละขันธ์)
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 222

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! อะไรเป็นเหตุปัจจัยเพื่อการบัญญัติ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เล่า? พระเจ้าข้า!”

ภิกษุ! มหาภูต (ธาตุ) สี่อย่าง เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติรูปขันธ์

ภิกษุ ! ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ เวทนาขันธ์
ภิกษุ ! ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ สัญญาขันธ์
ภิกษุ ! ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ สังขารขันธ์
ภิกษุ ! นามรูป แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อการบัญญัติ วิญญาณขันธ์

---------------------------------------------------------------------

(14) การถูกตราหน้าเพราะอนุสัยในขันธ์
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 224

ภิกษุ ! เธอเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อ (ว่าถ้ามีอนุสัยในสิ่งใด จะถูกตราหน้า เพราะสิ่งนั้น) ได้โดยพิสดารอย่างถูกต้องแล้ว

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัย*ใน รูป
เขาย่อมถูกตราหน้า เพราะอนุสัยซึ่งเข้าไปมีใน รูป นั้น

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัยใน เวทนา
เขาย่อมถูกตราหน้า เพราะอนุสัยซึ่งเข้าไปมีใน เวทนา นั้น

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัย ในสัญญา
เขาย่อมถูกตราหน้า เพราะอนุสัยซึ่งเข้าไปมีใน สัญญา นั้น

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัยใน สังขารทั้งหลาย
เขาย่อมถูกตราหน้า เพราะอนุสัย ซึ่งเข้าไปมีใน สังขารทั้งหลาย นั้น

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัยใน วิญญาณ
เขาย่อมถูกตราหน้าเพราะอนุสัย ซึ่งเข้าไปมีใน วิญญาณ นั้น

(ปฏิปักขนัย) ในทางตรงกันข้าม
ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตไม่เข้าไปมีอนุสัยใน รูป เขาย่อมไม่ถูกตราหน้า เพราะอนุสัยซึ่งเข้าไปมีใน รูป นั้น
...........................................................................
* อนุสัย ในที่นี้ ได้แก่ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย และ อวิชชานุสัย เป็นต้น และ เขา จะถูก ตราหน้าว่าเป็นคนกำหนัดแล้ว ด้วยกามราคานุสัย หรือเป็นคนโกรธแล้วด้วย ปฏิฆานุสัย หรือว่า เป็นคนหลงแล้วด้วยอวิชชานุสัย ในเพราะรูปเป็นต้น ดังนี้
............................................................................


(15) การถูกตราหน้าเพราะตายตามขันธ์
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 226

ถูกแล้ว ภิกษุ ! ถูกแล้ว ภิกษุ ! เธอเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อ (ว่าถ้ามีอนุสัยในสิ่งใด ย่อมตายไปตามสิ่งนั้น ตายตามสิ่งใดไปย่อมถูกตราหน้า เพราะสิ่งนั้น) ได้โดยพิสดาร อย่างถูกต้องแล้ว

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมี อนุสัย (ยึดถือเคยชิน) ใน รูป เขาย่อมตายไปตามรูปนั้น ตายตามสิ่งใดไป เขาย่อมถูกตราหน้า เพราะสิ่งนั้น

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัยใน เวทนา เขาย่อมตายไปตามเวทนานั้น ตายตามสิ่งใดไป เขาย่อมถูกตราหน้า เพราะสิ่งนั้น

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัยในสัญญา เขาย่อมตายไปตามสัญญานั้น ตายตามสิ่งใดไป เขาย่อมถูกตราหน้าเพราะสิ่งนั้น

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัยในสังขารทั้งหลาย เขาย่อมตายไปตามสังขารนั้น ตายตามสิ่งใดไป เขาย่อมถูกตราหน้าเพราะสิ่งนั้น

ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตเข้าไปมีอนุสัยในวิญญาณ เขาย่อมตายไปตามวิญญาณนั้น ตายตามสิ่งใดไป เขาย่อมถูกตราหน้าเพราะสิ่งนั้น

(ปฏิปักขนัย) ในทางตรงกันข้าม
ภิกษุ ! ถ้าบุคคลมีจิตไม่เข้าไปมีอนุสัยในรูป เขาย่อมไม่ตายไปตามรูปนั้น ไม่ตายตามสิ่งใดไป เขาย่อมไม่ถูกตราหน้าเพราะสิ่งนั้น

---------------------------------------------------------------------

(16) สัญโญชน์และที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ (ความยึดถือหรือเครื่องร้อยรัดจิต)
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 227

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ (สญฺโญชนิยธมฺม) และตัวสัญโญชน์ พวกเธอทั้งหลาย จงฟังข้อนั้น

ภิกษุ ท. ! สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ เป็นอย่างไร ?
และ ตัวสัญโญชน์ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! รูป (กาย) เป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์
*ฉันทราคะ
ใด เข้าไปมีอยู่ในรูปนั้น ฉันทราคะนั้น คือตัวสัญโญชน์ในรูปนั้น

ภิกษุ ท. ! เวทนา เป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์
ฉันทราคะ
ใด เข้าไปมีอยู่ในเวทนานั้น ฉันทราคะนั้น คือตัวสัญโญชน์ ในเวทนานั้น

ภิกษุ ท. ! สัญญา เป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์
ฉันทราคะ
ใด เข้าไปมีอยู่ในสัญญานั้น ฉันทราคะนั้น คือ ตัวสัญโญชน์ ในสัญญานั้น

ภิกษุ ท. ! สังขาร ทั้งหลาย เป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์
ฉันทราคะ
ใด เข้าไปมีอยู่ใน สังขารทั้งหลายเหล่านั้น ฉันทราคะนั้น คือตัวสัญโญชน์ ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ เป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์
ฉันทราคะ
ใด เข้าไปมีอยู่ในวิญญาณ นั้น ฉันทราคะนั้น คือตัวสัญโญชน์ในวิญญาณนั้น

ภิกษุ ท. ! ขันธ์เหล่านี้ เรียกว่า สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฉันทราคะนี้เรียกว่า ตัวสัญโญชน์ แล
* (ฉันทราคะ คือ ความกำหนัดเพราะพอใจ)

(ในสูตรอื่นทรงแสดง สัญโญชนิยธรรม ด้วยอายตนะภายในหก (๑๘/๑๑๐/๑๕๙) และอายตนะภายนอกหก)

---------------------------------------------------------------------

(17) ความลับของ ขันธ์๕
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 228


ภิกษุ ท. ! ถ้าหาก อัสสาทะ (รสอร่อย) ของรูปก็ดี ของเวทนาก็ดี ของสัญญาก็ดี ของสังขารทั้งหลายก็ดี และของวิญญาณก็ดี เหล่านี้ จักไม่ได้มีอยู่แล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่กำหนัดยินดีนักในรูป ในเวทนา ในสัญญาในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ เหล่านี้

ภิกษุ ท. ! แต่เพราะเหตุที่อัสสาทะ ของรูปก็ดี ของเวทนาก็ดี ของสัญญาก็ดี ของสังขาร ทั้งหลายก็ดีและของวิญญาณก็ดี มีอยู่ สัตว์ทั้งหลาย จึงกำหนัดยินดีนัก ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ

ภิกษุ ท. ! ถ้าหาก อาทีนพ (โทษ) ของรูปก็ดี ของเวทนาก็ดี ของสัญญาก็ดี ของสังขาร ทั้งหลายก็ดี และของวิญญาณก็ดี เหล่านี้ จักไม่ได้มีอยู่แล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่ เบื่อหน่ายในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลายและในวิญญาณ เหล่านี้

ภิกษุ ท. ! แต่เพราะเหตุที่อาทีนพ ของรูปก็ดี ของเวทนาก็ดี ของสัญญาก็ดี ของสังขาร ทั้งหลายก็ดี และของวิญญาณก็ดี มีอยู่ สัตว์ทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลายและในวิญญาณ

ภิกษุ ท. ! ถ้าหาก นิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไปได้) จากรูปก็ดีจากเวทนาก็ดี จากสัญญาก็ดี จากสังขารทั้งหลายก็ดี และจากวิญญาณก็ดีเหล่านี้ จักไม่ได้มีอยู่แล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่ออกไปพ้นได้จากรูปจากเวทนา จากสัญญา จากสังขารทั้งหลาย และจากวิญญาณ เหล่านี้

ภิกษุ ท. ! แต่เพราะเหตุที่ นิสสรณะ จากรูปก็ดี จากเวทนาก็ดี จากสัญญาก็ดี จากสังขาร ทั้งหลายก็ดี และจากวิญญาณก็ดี มีอยู่ สัตว์ทั้งหลาย จึงออกไปพ้นได้ จากรูป จากเวทนา จากสัญญา จากสังขารทั้งหลาย และจากวิญญาณ ดังนี้ แล

---------------------------------------------------------------------

(18) ขันธ์๕ เป็นธรรมฝ่ายที่แตกสลายได้
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 232

ภิกษุ ท.!
สิ่งซึ่ง แตกสลายได้
เป็นอย่างไร ? และ
สิ่งซึ่ง แตกสลายไม่ได้
เป็นอย่างไรเล่า?

ภิกษุ ท. ! รูป เป็นสิ่งซึ่งแตกสลายได้ ส่วนธรรมเป็นที่ดับไม่เหลือเป็นที่สงบระงับ และเป็นที่เข้าไปตั้งอยู่ไม่ได้ ของรูปนั้น นั่นคือสิ่งซึ่งแตกสลายไม่ได้

ภิกษุ ท. ! เวทนา เป็นสิ่งซึ่งแตกสลายได้ ส่วนธรรมเป็นที่ดับไม่เหลือ เป็นที่สงบระงับ และเป็น ที่เข้าไปตั้งอยู่ไม่ได้ ของเวทนานั้น นั่นคือสิ่งซึ่งแตกสลายไม่ได้

ภิกษุ ท. ! สัญญา เป็นสิ่งซึ่งแตกสลายได้ ส่วนธรรมเป็นที่ดับไม่เหลือ เป็นที่สงบระงับ และเป็นที่เข้าไปตั้งอยู่ไม่ได้ ของสัญญานั้น นั่นคือสิ่งซึ่งแตกสลายไม่ได้

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งซึ่งแตกสลายได้ ส่วนธรรมเป็นที่ดับไม่เหลือ เป็นที่สงบ ระงับ และเป็นที่เข้าไปตั้งอยู่ไม่ได้ ของสังขารทั้งหลายเหล่านั้น นั่นคือสิ่งซึ่ง แตกสลายไม่ได้

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ เป็นสิ่งซึ่งแตกสลายได้ ส่วนธรรมเป็นที่ดับไม่เหลือ เป็นที่สงบ ระงับ และเป็นที่เข้าไปตั้งอยู่ไม่ได้ ของวิญญาณนั้น นั่นคือ สิ่งซึ่งแตกสลายไม่ได้ ดังนี้ แล

---------------------------------------------------------------------

(19) ขันธ์ ไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 240

ภิกษุ ท. ! รูป เป็นอนัตตา
ภิกษุ ท. ! ถ้ารูป จักเป็นอัตตาแล้วไซร้รูปนี้ ก็ไม่พึงเป็นไป เพื่ออาพาธ (ความถูกเบียดเบียนด้วยโรคเป็นต้น) อนึ่งสัตว์จะพึงได้ในรูปตามปรารถนาว่า รูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดังนี้  ภิกษุ ท. ! แต่เพราะเหตุที่ รูปเป็นอนัตตารูป จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ย่อมไม่ได้ในรูป ตามปราถนาว่ารูป ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เวทนา เป็นอนัตตา
ภิกษุ ท. ! ถ้าเวทนา จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ เวทนานี้ ก็ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์จะพึงได้ในเวทนาตามปรารถนาว่า ‘เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด เวทนาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ ดังนี้. ภิกษุ ท. ! แต่เพราะ เหตุที่ เวทนา เป็นอนัตตา เวทนา จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ ย่อมไม่ได้ในเวทนา ตามปรารถนาว่า ‘เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิดเวทนาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้น เลย’ ดังนี้

ภิกษุ ท. ! สัญญา เป็นอนัตตา
ภิกษุ ท. ! ถ้าสัญญา จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ สัญญานี้ ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ จะพึงได้ในสัญญาตามปรารถนาว่า ‘สัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ ดังนี้ ภิกษุ ท. ! แต่เพราะ เหตุที่ สัญญาเป็น อนัตตา สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ย่อมไม่ได้ในสัญญา ตามปรารถนาว่า ‘สัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิดสัญญาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้น เลย’ ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา
ภิกษุ ท. ! ถ้าสังขารทั้งหลายจักเป็นอัตตา แล้วไซร้ สังขารทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่พึงเป็น ไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์จะพึงได้ในสังขาร ทั้งหลาย ตามปรารถนาว่า ‘สังขารทั้งหลาย ของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลาย ของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ ดังนี้. ภิกษุ ท. ! แต่เพราะเหตุที่สังขารทั้งหลายเป็น อนัตตา สังขารทั้งหลาย จึงเป็นไปเพื่อ อาพาธ อนึ่ง สัตว์ ย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลาย ตามปรารถนาว่า ‘สังขารทั้งหลาย ของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ เป็นอนัตตา
ภิกษุ ท. ! ถ้าวิญญาณ จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ วิญญาณนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ จะพึงได้ในวิญญาณตามปรารถนาว่า ‘วิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย’ ดังนี้. ภิกษุ ท. ! แต่เพราะเหตุที่ วิญญาณ เป็น อนัตตาวิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ อนึ่ง สัตว์ ย่อมไม่ได้ในวิญญาณตาม ปรารถนาว่า ‘วิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้น เลย’ ดังนี้. ....
-----------------------------------------------------

ภิกษุ ท. ! เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ รูป ชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่ จะเป็น อดีต อนาคต หรือ ปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีต ก็ตาม มีในที่ไกล หรือใกล้ก็ตาม รูปทั้งปวงนั้น อันใคร ๆพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริง อย่างนี้ว่า
นั่น ไม่ใช่ของเรา (เนต มม)
นั่นไม่ใช่เรา (เนโสหมสฺมิ)

นั่นไม่ใช่ตัวตน ของเรา (น
เมโสอตฺตา) ดังนี้.

ในกรณี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตรัสในทำนองเดียวกัน

---------------------------------------------------------------------

(20) สิ่งใดมิใช่ของเรา
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 243

ภิกษุ ท. ! เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้, สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! ก็สิ่งใดเล่า มิใช่ของพวกเธอ?

ภิกษุ ท. ! รูป มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! เวทนา มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละเวทนานั้นเสีย เวทนานั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! สัญญา มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสัญญานั้นเสีย สัญญานั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสังขารทั้งหลาย เหล่านั้นเสีย สังขารทั้งหลายเหล่านั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ มิใช่ของพวกเธอ, พวกเธอจงละวิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน

ภิกษุ ท. ! พวกเธอจะสำคัญ ความข้อนี้ว่าอย่างไร ?
คือข้อที่หญ้าไม้ กิ่งไม้และใบไม้ ใดๆ มีอยู่ ในเชตวันนี้ เมื่อคนเขาขนเอามันไป ก็ตาม เผา เสีย ก็ตาม หรือกระทำ ตามความ ต้องการ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม พวกเธอ เคยเกิด ความคิดอย่างนี้บ้างหรือไม่ ว่า “คนเขาขนเอาเราไปบ้าง เขาเผาเราบ้าง เขาทำแก่เรา ตามความปรารถนาของเขาบ้าง” ดังนี้? “ข้อนั้นหามิได้พระเจ้าข้า !

” ข้อนั้น เพราะเหตุไรเล่า ? “เพราะเหตุว่านั่นหาได้เป็นตัวตน หรือของเนื่องด้วยตัวตน ของ ข้าพระองค์ไม่พระเจ้าข้า!”

ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น คือ
  สิ่งใด มิใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสิ่งนั้นเสีย
  สิ่งนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว
จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน


---------------------------------------------------------------------

(21) ขันธ์ ๕ เป็นภาระที่หนัก
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 246

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงภาระ (ของหนัก)... แก่พวกเธอ
เธอทั้งหลายจงฟังข้อนั้น. ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า เป็นของหนัก ?

ภิกษุ ท. ! อุปาทานขันธ์ทั้งห้านั้นแหละ เรากล่าวว่าเป็นของหนัก.
ห้าอย่างเหล่าไหนเล่า ? ห้าอย่างคือ

ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ รูป
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ เวทนา
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สัญญา
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สังขาร
และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ วิญญาณ

ภิกษุ ท. ! นี้ เราเรียกว่า ของหนัก แล

---------------------------------------------------------------------

(22) ขันธ์ ๕ เป็นกองถ่านเถ้ารึง (กองเถ้าที่ยังร้อนระอุ)
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 247

ภิกษุ ท. ! รูป เป็นกองถ่านเถ้ารึง เวทนา เป็นกองถ่านเถ้ารึง สัญญา เป็นกองถ่านเถ้ารึง สังขารทั้งหลาย เป็นกองถ่านเถ้ารึง และ วิญญาณ เป็นกองถ่านเถ้ารึง

ภิกษุ ท. ! สาวกของพระอริยเจ้า ผู้ได้ยินได้ฟัง เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่าย แม้ใน รูป
ย่อมเบื่อหน่าย แม้ใน เวทนา
ย่อมเบื่อหน่าย แม้ใน สัญญา
ย่อมเบื่อหน่าย แม้ใน สังขารทั้งหลาย
ย่อมเบื่อหน่าย แม้ใน วิญญาณ

---------------------------------------------------------------------

(23) ขันธ์ ๕ เป็นเครื่องผูกพันสัตว์
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 248

ภิกษุ ท. ! ในโลกนี้ บุถุชน ผู้ไม่ได้ยิน ได้ฟัง ไม่ได้เห็นเหล่าพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดใน ธรรมของ พระอริยเจ้า ไม่ถูกแนะนำในธรรมของพระ-อริยเจ้า ไม่ได้เห็นเหล่าสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรม ของสัตบุรุษ ไม่ถูกแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมตามเห็นพร้อม ซึ่งรูป โดยความเป็นตน หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีรูป หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งรูปว่ามีอยู่ในตนหรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตนว่ามีอยู่ในรูป บ้าง

ย่อมตามเห็นพร้อม
ซึ่งเวทนา โดยความเป็นตน หรือตามเห็นพร้อมซึ่งตน ว่ามีเวทนา หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งเวทนาว่ามีอยู่ในตน หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตนว่ามีอยู่ในเวทนา บ้าง

ย่อมตามเห็นพร้อม
ซึ่งสัญญา โดยความเป็นตน หรือตามเห็นพร้อมซึ่งตนว่ามีสัญญา หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งสัญญาว่ามีอยู่ในตน หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตนว่ามีอยู่ในสัญญา บ้าง

ย่อมตามเห็นพร้อม ซึ่งสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นตน หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีสังขาร หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งสังขารทั้งหลาย ว่ามีอยู่ในตน หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตนว่ามีอยู่ในสังขารทั้งหลาย บ้าง

ย่อมตามเห็นพร้อม
ซึ่งวิญญาณ โดยความเป็นตน หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตน ว่ามีวิญญาณ หรือตามเห็นพร้อม ซึ่งวิญญาณ ว่ามีอยู่ในตนหรือตามเห็นพร้อม ซึ่งตนว่ามีอยู่ในวิญญาณ บ้าง

ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่ได้ยินได้ฟังนี้ เราเรียกว่า
ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพัน คือรูปบ้าง
ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพัน คือเวทนาบ้าง
ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพัน คือสัญญาบ้าง
ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพัน คือสังขารทั้งหลายบ้าง
ผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพัน คือวิญญาณบ้าง

เป็นผู้ถูกผูกพันด้วยเครื่องผูกพันทั้งภายในและภายนอก เป็นผู้ไม่เห็นฝั่งนี้ (คือวัฏฏสงสาร) เป็นผู้ไม่เห็นฝั่งโน้น (คือนิพพาน) เกิดอยู่อย่างผู้มีเครื่องผูกพันแก่อยู่อย่างผู้มีเครื่อง ผูกพัน ตายอยู่อย่างผู้มีเครื่องผูกพัน จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นอย่างผู้มีเครื่องผูกพัน แล

---------------------------------------------------------------------

(24) เรียกกันว่า สัตว์เพราะติดขันธ์ ๕
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 249

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนกล่าวกันว่า สัตว์สัตว์ดังนี, เขากล่าวกันว่า สัตว์เช่นนี้มีความหมายเพียงไร? พระเจ้าข้า!”

ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน)ตัณหา (ความทะยานอยาก) ใด ๆ มีอยู่ ในรูป สัตว์ ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในรูปนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า“สัตว์ (ผู้ข้องติด)” ดังนี้

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในเวทนา
สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในเวทนานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น
เพราะฉะนั้นสัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสัญญา
สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสัญญานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น
เพราะฉะนั้นสัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย
สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น
เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในวิญญาณ สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในวิญญาณนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น
เพราะฉะนั้นสัตว์นั้น
จึงถูกเรียกว่าสัตว์ดังนี้ แล

---------------------------------------------------------------------

(25) ไม่รู้จัก ขันธ์ ๕ ชื่อว่ามีอวิชชา
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 251


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! คนกล่าวกันว่าอวิชชาอวิชชาดังนี้. ก็อวิชชานั้นเป็นอย่างไร? และ บุคคลชื่อว่า มีอวิชชาด้วยเหตุเพียงไรเล่า? พระเจ้าข้า!”

ภิกษุ ! ในโลกนี้ บุถุชน ผู้ไม่ได้ยินได้ฟัง

ย่อมไม่รู้จักรูป
ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของรูป
ไม่รู้จักความดับไม่เหลือของรูป
ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของรูป

เขาย่อมไม่รู้จักเวทนา
ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของเวทนา
ไม่รู้จักความดับไม่เหลือของเวทนา
ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของเวทนา

เขาย่อมไม่รู้จักสัญญา
ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของสัญญา
ไม่รู้จักความดับไม่เหลือของสัญญา
ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของสัญญา

เขาย่อม ไม่รู้จักสังขารทั้งหลาย
ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของสังขารทั้งหลาย
ไม่รู้จักความดับ ไม่เหลือ ของสังขารทั้งหลาย
ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ ของสังขาร ทั้งหลาย

และเขาย่อม ไม่รู้จักวิญญาณ
ไม่รู้จักเหตุให้เกิดของวิญญาณ
ไม่รู้จักความดับไม่เหลือของวิญญาณ
ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของวิญญาณ

ภิกษุ ! ความไม่รู้นี้เราเรียกว่า อวิชชา'
และบุคคลชื่อว่ามีอวิชชาด้วยเหตุ มีประมาณ เท่านี้ แล
---------------------------------------------------------------------

(26) เพลินในขันธ์เท่ากับเพลินในทุกข์
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) หน้า 251

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ในรูป
ผู้นั้น เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์
เรากล่าวว่า “ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์” ดังนี้

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลิน อยู่ในเวทนา
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
เรากล่าวว่า “ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์” ดังนี้

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสัญญา
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์.
เรากล่าวว่า “ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์” ดังนี้

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสังขารทั้งหลาย
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็น ทุกข์
เรากล่าวว่า “ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์” ดังนี้

ภิกษุ ท. ! ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในวิญญาณ
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
เรากล่าวว่า “ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์” ดังนี้ แล

---------------------------------------------------------------------

(27) ขันธ์ ๕ คือที่สุดแห่งโลก คือที่สุดแห่งทุกข์ (โรหิตัสสสูตร)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต หน้าที่ ๔๗-๕๐

(สรุปย่อ)
         โรหิตัสสเทวบุตร(เทวดา) เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่เชตวันวิหาร ในปฐมยาม มีรัศมีงามยิ่งนัก ถามพระองค์ว่า ที่ใด สัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ หรือ เพื่อจะทรงถึงซึ่งที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ คนเห็น และควรไป

        โรหิตัสสเทวบุตร เล่าว่าสมัยเป็นมนุษย์ เคยเป็นฤาษี ชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตร นายบ้าน มีฤทธิ์ ไปในอากาศได้ ความเร็วเปรียบได้กับความเร็วของธนู พึงยิงลูกศร อันเบา ให้ผ่านเงาตาล ด้านขวางไปได้ โดยไม่สู้ยาก การยกย่างเท้าแต่ละก้าว เปรียบด้วยสมุทร ด้านตะวันตก ไกลจากสมุทร ด้านตะวันออก ระหว่างที่เป็นมนุษย์ (ฤาษี)เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยวการลิ้ม เว้นจากการ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับ และ การบรรเทา ความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี แต่ก็ยังไปไม่ถึงที่สุดของโลก เพราะทำกาละเสียก่อน

พระศาสดาตรัสว่า พระองค์จะไม่กล่าวว่า สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด

เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลกที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป และเรา ย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไป ไม่ถึง ที่สุดแห่งโลก
แต่เราย่อม บัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และ ปฏิปทา เครื่องให้ถึงความ ดับแห่งโลก (อริยสัจ) ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา และมีใจนี้เท่านั้น

ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลก อันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไป และการเปลื้องตน ให้พ้นจากทุกข์ ย่อมไม่มี เพราะไม่ถึงที่สุดแห่งโลก เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดี ถึงที่สุดแห่งโลก มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาป อันสงบ รู้ที่สุด แห่งโลกแล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้ และโลกหน้า ฯ
---------------------------------------------------------------------

(28) กายนี้ (ขันธ์๕) เป็น “กรรมเก่า”
กายนี้เป็นเพียงกระแสปฏิจจสมุปบาท

(ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์หน้า 64)

ภิกษุทั้งหลาย !  กายนี้ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย และ ทั้งไม่ใช่ของ บุคคลเหล่าอื่น

ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมเก่า (กาย) นี้ อันเธอทั้งหลาย
     พึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น (อภิสงฺขต)
     เป็นสิ่งที่ปัจจัย ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น (อภิสญฺเจตยิต)
     เป็นสิ่งที่มีความ รู้สึกต่ออารมณ์ได้ (เวทนีย)

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีของกายนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมทำไว้ในใจโดย แยบคายเป็นอย่างดีซึ่ง ปฏิจจสมุปบาท นั่นเทียว ดังนี้ว่า “ด้วยอาการอย่างนี้

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป

---------------------------------------------------------------------

(29) ขันธ์ ๕ เป็นไฉน
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕
เธอทั้งหลายจงฟัง.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ ๕ เป็นไฉน ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต
และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้.
นี้เรียกว่า รูปขันธ์.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่า เวทนาขันธ์
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
นี้เรียกว่า สัญญาขันธ์

สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่า สังขารขันธ์

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
อยู่ในที่ไกลหรือใกล้. นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์.

---------------------------------------------------------------------

(30) อุปาทานขันธ์ ๕
(ความยึดในขันธ์ ยึดในรูป ยึดในเวทนา..สัญญา สังขาร วิญญาณ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน
เป็นภายใน หรือ ภายนอก
หยาบ หรือ ละเอียด
เลว หรือ ประณีต
อยู่ในที่ไกล หรือใกล้

เป็นไปกับด้วยอาสวะ
เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน.

นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือ รูป
แปลว่า ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ รูป

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา
แปลว่า ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ เวทนา

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือ สัญญา
แปลว่า ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ สัญญา

สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ
นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร
แปลว่า ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ สังขาร

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน
เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต
อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
เป็นไปกับด้วยอาสวะ
เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน
.
นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ 
แปลว่า ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ วิญญาณ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕.

---------------------------------------------------------------------

(31) “สิ่งนั้น” หาพบในกายนี้ (ขันธ์ ๕)
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๐/๔๕.

“แน่ะเธอ ! ที่สุดโลกแห่งใด
อันสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ
เราไม่กล่าวว่า ใครๆ อาจรู้ อาจเห็น
อาจถึงที่สุดแห่งโลกนั้น ได้ด้วยการไป.

“แน่ะเธอ ! ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง
ที่ยังประกอบด้วยสัญญาและใจนี้เอง
เราได้บัญญัติโลก, เหตุให้เกิดโลก
ความดับสนิทไม่เหลือของโลก
และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลกไว้” ดังนี้แล.

---------------------------------------------------------------------

(32) ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง คำสอนที่ทรงสั่งสอนบ่อยมาก
มู. ม. ๑๒/๔๒๖/๓๙๖

“พระโคดมผู้เจริญ ! ทรงนำสาวกทั้งหลายไปอย่างไร ?
อนึ่ง อนุสาสนีของพระโคดมผู้เจริญ ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย
ส่วนมาก มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างไร ? ”

อัคคิเวสสนะ ! เราย่อมนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้
อนึ่ง อนุสาสนีของเรา ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก
มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างนี้ว่า

“ภิกษุ ทั้งหลาย. !
รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง.

ภิกษุ ทั้งหลาย. !
รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน
วิญญาณไม่ใช่ตัวตน. สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน”
ดังนี้.

อัคคิเวสสนะ ! เราย่อมนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้
อนึ่ง อนุสาสนีของเรา ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก
มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างนี้ ดังนี้.

---------------------------------------------------------------------

(33) ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง... ขันธ์ ๕
(อินทรีย์สังวร - พุทธวจน หน้า 99)

(คลิป)

ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง อุปาทานขันธ์ ทั้งห้า หรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง แห่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้านั้น.

ห้าอย่างไรกันเล่า ? ห้าอย่างคือ :-

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง รูป นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีรูปอย่างนี้” ดังนี้บ้าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง เวทนา นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีเวทนาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สัญญา นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สังขาร นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสังขารอย่างนี้” ดังนี้บ้าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง วิญญาณ นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีวิญญาณอย่างนี้” ดังนี้บ้าง.

----------------------------------------------------------------

(34) ธรรมชาติของ ขันธ์๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
(อินทรีย์สังวร - พุทธวจน หน้า 99)

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า รูป ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย (รุปฺปติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป.
สลายเพราะอะไร ? สลายเพราะความเย็นบ้าง เพราะความร้อนบ้าง
เพราะความหิวบ้าง เพราะความระหายบ้าง เพราะการสัมผัสกับเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย เหตุนั้น จึงเรียกว่า รูป

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า เวทนา ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ (เวทยติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา. รู้สึกซึ่งอะไร ? รู้สึกซึ่งสุขบ้าง ซึ่งทุกข์บ้าง ซึ่งอทุกขมสุขบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สัญญา ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม (สญฺชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา. หมายรู้ได้พร้อมซึ่งอะไร ? หมายรู้ได้พร้อมซึ่งสีเขียวบ้าง ซึ่งสีเหลืองบ้าง ซึ่งสีแดงบ้าง ซึ่งสีขาวบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สังขาร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่ง (อภิสงฺขโรนฺติ) ให้เป็นของปรุงแต่ง เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร.
ปรุงแต่งอะไรให้เป็นของปรุงแต่ง ?
ปรุงแต่งรูป ให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นรูป
ปรุงแต่งเวทนา ให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นเวทนา
ปรุงแต่งสัญญา ให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นสัญญา
ปรุงแต่งสังขาร ให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นสังขาร
ปรุงแต่งวิญญาณ ให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้นย่อมปรุงแต่งให้เป็นของปรุงแต่ง เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า วิญญาณ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง (วิชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ.
รู้แจ้งซึ่งอะไร ? รู้แจ้งซึ่งความเปรี้ยวบ้าง ซึ่งความขมบ้าง ซึ่งความเผ็ดร้อนบ้าง ซึ่งความหวานบ้าง ซึ่งความขื่นบ้าง ซึ่งความไม่ขื่นบ้าง ซึ่งความเค็มบ้าง ซึ่งความไม่เค็มบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย !ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ
-----------------------------------------------------------------

(35) เราถูกขันธ์ ๕ เคี้ยวกินอยู่
จึงไม่เพ่งต่อขันธ์ ๕ อันเป็นอดีต ไม่เพลินต่ออนาคต พึงปฎิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย ดับไม่เหลือในปัจจุบัน
(อินทรีย์สังวร - พุทธวจน หน้า 99)

ภิกษุทั้งหลาย ! ในขันธ์ทั้งห้า นั้น อริยสาวกผู้มีการสดับ ย่อมพิจารณาเห็นโดย ประจักษ์ชัดดังนี้ว่า “ในกาลนี้ เราถูกรูปเคี้ยวกินอยู่ แม้ในอดีตกาลนานไกล เราก็ถูกรูปเคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกรูป อันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น.

ถ้าเราเพลิดเพลินรูปในอนาคต แม้ในอนาคตนานไกล เราก็จะถูกรูปเคี้ยวกิน เหมือนกับที่เราถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น”.

อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ไม่เพ่งต่อรูป อันเป็น อดีต ไม่เพลิดเพลินรูป อนาคต
ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัดดับไม่เหลือ แห่งรูปอันเป็น ปัจจุบัน.

(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกัน แล้วตรัส ต่อไปว่า)
-----------------------------------------------------------------

(36)
ขันธ์๕ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์.. ควรหรือหนอ ? ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา
(อินทรีย์สังวร - พุทธวจน หน้า 100)

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร

รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”.

สิ่งใดที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า ?
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”.

สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ? ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา” ดังนี้.
“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”

(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีการถามตอบแบบเดียวกัน แล้วตรัสต่อไปว่า)
-----------------------------------------------------------------

(37)
ขันธ์๕ ที่เป็นอดีต-อนาคต-ปัจจุบัน มีภายใน-ภายนอก หยาบ-ละเอียด เลว-ปราณี มีในที่ไกล-ที่ใกล้.. นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
(อินทรีย์สังวร - พุทธวจน หน้า 100)

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน มีในภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีต ก็ตาม มีในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม รูปทั้งหมดนั้นบุคคลควรเห็นด้วย ปัญญาโดยชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” ดังนี้.
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกัน แล้วตรัสต่อไปว่า)
-----------------------------------------------------------------

(38)
ขันธ์๕ (ระดับเสขะ) เสขะหมายถึง ผู้ศึกษา ผู้เดินมรรค
เธอย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ย่อมทำให้กระจัดกระจาย ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ย่อมทำให้มอด ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง
(อินทรีย์สังวร - พุทธวจน หน้า 100)

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ เรากล่าวว่า เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ย่อมทำให้มอด- ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง.

อริยสาวกนั้น ย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งอะไร ?
เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.

อริยสาวกนั้น ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งอะไร ?
เธอย่อมขว้างทิ้ง- ย่อมไม่ถือเอาซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.

อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งอะไร ?
เธอย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.

อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งอะไร ? เธอย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลงซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย กำหนัด เพราะความคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว.

อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.
-----------------------------------------------------------------


(39) ขันธ์๕ (ระดับอเสขะ) อเสขะหมายถึง ผู้หลุดพ้นแล้ว พระอรหันต์
ไม่ก่อ-ไม่ยุบ แต่ยุบแล้วดำรงอยู่
ไม่ขว้างทิ้ง-ไม่ถือเอา
แต่ขว้างทิ้งแล้วดำรงอยู่
ไม่ทำให้กระจัดกระจาย-ไม่ทำให้เป็นกอง
แต่กระจัดกระจายแล้วดำรงอยู่
ไม่ทำให้มอด- ไม่ทำให้ลุกโพลง
แต่มอดแล้วดำรงอยู่
(อินทรีย์สังวร - พุทธวจน หน้า 100)


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ (ผู้ซึ่งหลุดพ้นแล้ว) นี้ เราเรียกว่า
ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่ เป็นอันว่ายุบแล้ว-ดำรงอยู่
ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่ เป็นอันว่า ขว้างทิ้งแล้ว-ดำรงอยู่
ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่ เป็นอันว่าทำให้กระจัด กระจายแล้ว-ดำรงอยู่
ไม่ทำให้มอดอยู่- ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่ เป็นอันว่าทำให้มอดแล้ว-ดำรงอยู่.

ภิกษุนั้น ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่
แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ?
เธอไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่

ภิกษุนั้น ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่
แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ?
เธอไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.

ภิกษุนั้น ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจาย ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ?
เธอไม่ทำให้กระจัด กระจายอยู่- ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้ กระจัดกระจาย ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.

ภิกษุนั้น ไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้มอด ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ?
เธอไม่ทำให้มอดอยู่- ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งอินทร์ พรหม และปชาบดี ย่อมนมัสการภิกษุ ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ มาจากที่ไกลเทียว กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ! ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด ! ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะทราบ สิ่งซึ่งท่าน อาศัยแล้วเพ่ง ของท่าน” ดังนี้
(เพ่งสมาธิใน ปฐมฌาน-พรหมกายิกา -ทุติยฌาน(ปิติ)-ชั้นอภัสระพรหม)


-----------------------------------------------------------------


 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
จาก
พระโอษฐ์

อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉาน
วิชา
กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์