พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘
(1)
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕ ในสามกาล
(๙. อตีตานาคต ปัจจุปันนสูตรที่ ๑)
(รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันไม่เที่ยง)
[๓๖] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นอดีต อนาคต ไม่เที่ยง จักกล่าวถึงรูปที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความ อาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความ เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูปที่เป็นปัจจุบัน
เวทนาที่เป็นอดีต เวทนาที่เป็นอนาคต ไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาที่เป็นอดีต สัญญา ที่เป็นอนาคตไม่เที่ยง ฯลฯสังขารที่เป็นอดีต สังขารที่เป็นอนาคตไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณที่เป็นอดีต วิญญาณที่เป็นอนาคตไม่เที่ยง จักกล่าวถึงวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน ไปไยเล่า?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความ อาลัย ในวิญญาณที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินวิญญาณที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน
(2)
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งขันธ์ ๕ ในสามกาล
(๑๐. อตีตานาคต ปัจจุปันนสูตรที่ ๒)
(รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นทุกข์)
[๓๗] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นอดีต รูปที่เป็นอนาคตเป็นทุกข์ จักกล่าวถึงรูป ที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความ อาลัย ในรูปที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความ เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูปที่เป็นปัจจุบัน
เวทนาที่เป็นอดีต เวทนาที่เป็นอนาคต เป็นทุกข์ ฯลฯ สัญญาที่เป็นอดีต สัญญา ที่เป็นอนาคต เป็นทุกข์ฯลฯ สังขารที่เป็นอดีต สังขารที่เป็นอนาคต เป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณที่เป็นอดีต วิญญาณที่เป็นอนาคต เป็นทุกข์ จักกล่าวถึงวิญญาณที่เป็น ปัจจุบันไปไยเล่า?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความ อาลัยในวิญญาณที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินวิญญาณที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน
(3)
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งขันธ์ ๕ ในสามกาล
(๑๑. อตีตานาคต ปัจจุปันนสูตรที่ ๓)
(รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นอนัตตา)
[๓๘] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นอดีต รูปที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา จักกล่าวถึงรูปที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความ อาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินในรูปที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความ เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูปที่เป็นปัจจุบัน
เวทนาที่เป็นอดีต เวทนาที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาที่เป็นอดีต สัญญาที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารที่เป็นอดีต สังขารที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณที่เป็นอดีตวิญญาณที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา จักกล่าวถึงวิญญาณที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มี ความอาลัยในวิญญาณ ที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินวิญญาณที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน
(4)
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕ (อนิจจสูตรที่ ๑)
(รูปไม่เที่ยง.. ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ...)
[๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนาแม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(5)
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งขันธ์ ๕ (๒. ทุกขสูตรที่ ๑)
(รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์... ผู้ได้สดับแล้วย่อมรู้ชัด ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว)
[๔๐] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์. อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(6)
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งขันธ์ ๕ (๓. อนัตตสูตรที่ ๑)
(รูปเป็นอนัตตา...ผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายในรูป
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลาย กำหนัด...)
[๔๑] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา
ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญาแม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(7)
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕ (๔. อนิจจสูตรที่ ๒)
(รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็น อนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)
[๔๒] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนา ไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็น อนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(8)
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งขันธ์ ๕ (๕. ทุกขสูตรที่ ๒)
(รูปเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็น อนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)
[๔๓] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็น อนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเราข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วย ปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้
เวทนาเป็นทุกข์ ฯลฯ สัญญาเป็นทุกข์ ฯลฯ สังขารเป็นทุกข์ ฯลฯ
วิญญาณเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(9)
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งขันธ์ ๕ (๖. อนัตตสูตรที่ ๒)
(รูปเป็นอนัตตา รูปนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)
[๔๔] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา รูปนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาเป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี
(10)
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งเหตุปัจจัย (๗. อนิจจเหตุสูตร)
(รูปไม่เที่ยง แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง รูปที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า?)
[๔๕] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า? เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดจากสิ่งไม่เที่ยง ที่ไหนจะเที่ยงเล่า? อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(11)
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งเหตุปัจจัย (๘. ทุกขเหตุสูตร)
(รูปเป็นทุกข์ แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์ รูปที่เกิดจากสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจะเป็นสุขเล่า?)
[๔๖] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เกิดจากสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจะเป็นสุขเล่า? เวทนาเป็นทุกข์ ฯลฯ สัญญาเป็นทุกข์ ฯลฯ สังขารเป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณเป็นทุกข์ แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดจากสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจักเป็นสุขเล่า? อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(12)
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งเหตุปัจจัย (๙. อนัตตเหตุสูตร)
(รูปเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็เป็นอนัตตา รูปเกิดจากสิ่งที่เป็น อนัตตาที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า? )
[๔๗] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็เป็นอนัตตา.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเกิดจากสิ่งที่เป็น อนัตตาที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า? เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาเป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารเป็นอนัตตาฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้น ก็เป็นอนัตตา
ดูกรภิกษุทั้งหลายวิญญาณที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า? อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(13)
ว่าด้วยความดับแห่งขันธ์ ๕ (๑๐. อานันทสูตร)
(ความดับเรียกว่านิโรธ ความดับแห่งธรรมเหล่าไหน แล เรียกว่านิโรธ รูปแลเป็นของ ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป มีความคลายไป ความดับไปเป็นธรรมดา ความดับแห่งรูปนั้น เรียกว่านิโรธ)
[๔๘] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าเฝ้า พระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความดับเรียกว่านิโรธ ความดับแห่งธรรมเหล่าไหน แล เรียกว่านิโรธ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ รูปแลเป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไป เป็นธรรมดามีความดับไปเป็นธรรมดา ความดับแห่งรูปนั้น เรียกว่านิโรธ
เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็น ธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ความดับแห่งวิญญาณ นั้น เรียกว่านิโรธ
ดูกรอานนท์ ความดับแห่งธรรมเหล่านี้แล เรียกว่านิโรธ |