เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

4/5 พระสูตรเรื่องขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ (ขันธ์๕) ฉบับหลวง 1534
  P1531 P1532 P1533 P1534 P1535
รวมพระสูตร ขันธ์๕
ฉบับหลวง เล่ม ๑๗
1 ว่าด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของ พระอริยเจ้า ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน
2 ว่าด้วยข้อปฏิบัติเพื่อความเกิดและความดับสักกายทิฏฐิ ปุถุชนผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยเจ้า ย่อมไม่ตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป
3 ความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕ ..รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา... นั่นไม่ใช่ของเรา... เห็นอยู่อย่างนี้ จิต ย่อมคลายกำหนัด
4 ความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕ รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา... เห็นอยู่อย่างนี้ ทิฐิ ย่อมไม่มี
5 การพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ ..ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน…
6 ขันธ์ ๕ เป็นไฉนขันธ์ ..รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด นี้เรียกว่า รูปขันธ์
  6.1 อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน ..รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก ที่เป็นไปกับ ด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์คือ รูป
7 ว่าด้วยขันธ์ ๕ มิใช่ของเรา
8 ผู้ควรยกย่องและไม่ควรยกย่อง (ภิกษุไม่ทราบชัดรูป เหตุเกิด ความดับ และข้อปฏิบัติ เราไม่ยกย่องว่าเป็นสมณะ
9 การสิ้นความยินดีเป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์ ภิกษุเห็นรูปอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็น สัมมาทิฏฐิ
10 การสิ้นความยินดีเป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูป ตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่าย…ย่อมหลุดพ้น
  รวมพระสูตรเรื่องขันธ์๕ จากหนังสือพุทธวจน และ อริยสัจจากพระโอษฐ์ (P1101)
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๒

(1)

ว่าด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม (๑. อัตตทีปสูตร)
(ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้เห็น สัตบุรุษ ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป ย่อมเห็นรูปในตน ย่อมเห็นตนในรูป)

            [๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะจงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อยู่เถิด

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายจะมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่น เป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่ จะต้องพิจารณา โดยแยบคายว่า โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร?

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมา อย่างไร เกิดมาจากอะไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้ เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับแนะนำ ในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับ แนะนำใน สัปปุริสธรรม

ย่อมตามเห็นรูป โดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑


รูปนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะรูปแปรไปและเป็นอื่นไป

ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ

ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมเห็นในมีวิญญาณ ๑

วิญญาณนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะวิญญาณแปรไป และเป็นอย่างอื่นไป

            [๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อภิกษุรู้ว่ารูปไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไปเห็นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า รูปในกาลก่อนและรูป ทั้งมวลในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังนี้ ย่อมละ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้ เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุขภิกษุผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า ผู้ดับแล้ว ด้วยองค์นั้น

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อภิกษุรู้ว่าเวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง แปรปรวนไปคลายไป ดับไป เห็นตามความ เป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า วิญญาณในกาลก่อน และวิญญาณทั้งมวล ในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้ เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า ผู้ดับแล้วด้วยองค์นั้น




(2)
ว่าด้วยข้อปฏิบัติเพื่อความเกิดและความดับสักกายทิฏฐิ(๒. ปฏิปทาสูตร)
(ปุถุชนผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้เห็นสัตบุรุษ
ย่อม ไม่ตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป ย่อมไม่ตามเห็นรูปในตน
ย่อมไม่ตามเห็นตนในรูป)


            [๘๙] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราจักแสดงปฏิปทาอันจะยัง สัตว์ให้ถึง สักกายสมุทัย
(ความเกิดขึ้นแห่งกายตน) และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึง สักกายนิโรธ (ความดับแห่งกายตน)
เธอทั้งหลาย จงฟังปฏิปทาทั้ง ๒ นั้น.

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงสักกายสมุทัยเป็นไฉน?

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมแห่งพระอริยะ มิได้รับการแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็น สัตบุรุษ ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำใน สัปปุริสธรรม

ย่อม ตามเห็นรูป โดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑

ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ

ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงสักกายสมุทัย

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่กล่าวแล้วนี้ เรียกว่า การตามเห็นอันจะยังสัตว์ ให้ถึง ทุกขสมุทัย (ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์) นี้แล เป็นใจความข้อนี้

            [๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงสักกายนิโรธเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในศาสนานี้ ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับการแนะนำดีแล้วในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีแล้วในสัปปุริสธรรม

ย่อม ไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตน ๑
ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมไม่ตามเห็นรูปในตน ๑
ย่อมไม่ตามเห็นตนในรูป ๑


ไม่ตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่ตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ

ไม่ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ไม่ตามเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ไม่ตามเห็นวิญญาณในตน ๑
ไม่ตามเห็นตนในวิญญาณ ๑.

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงสักกายนิโรธ.

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่กล่าวแล้วนี้ เรียกว่า การพิจารณาเห็นอันจะยังสัตว์ ให้ถึง ทุกขนิโรธ นี้แล เป็นใจความในข้อนี้




(3)
ว่าด้วยความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕ (๓. อนิจจสูตรที่ ๑)
(รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใด เป็นอนัตตา พึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นชอบตามความจริงอย่างนี้ จิต ย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เพราะไม่ถือมั่น)

            [๙๑] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา. นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

        เวทนาไม่เที่ยง ... สัญญาไม่เที่ยง ... สังขารไม่เที่ยง ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา

        นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความจริง อย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

            [๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากรูปธาตุ หลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

         ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากเวทนาธาตุ ... จากสัญญาธาตุ ... จากสังขารธาตุ ... จากวิญญาณธาตุ หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

        เพราะหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดี พร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น

        ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี




(4)
ว่าด้วยความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕ (๔. อนิจจสูตรที่ ๒)
(รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใด เป็นอนัตตา พึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ ทิฏฐิ เป็นไปตามส่วนเบื้องต้น (อดีต) ย่อมไม่มี ทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องปลาย (อนาคต) ความยึดมั่นอย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี

            [๙๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        เวทนาไม่เที่ยง ... สัญญาไม่เที่ยง ... สังขารไม่เที่ยง ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ทิฏฐิเป็นไปตามส่วน เบื้องต้น (อดีต) ย่อมไม่มี เมื่อทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องต้นไม่มี ทิฏฐิเป็นไปตาม ส่วนเบื้องปลาย (อนาคต) ย่อมไม่มีเมื่อทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องปลายไม่มี ความยึดมั่น อย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี

         เมื่อความยึดมั่นอย่างแรงกล้าไม่มี จิตย่อมคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

        เพราะหลุดพ้น จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อมเพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น

         ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติ สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี




(5)
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ (๕. สมนุปัสสนาสูตร)
(อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ปุถุชนไม่ได้สดับ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อม ตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมตามเห็นตนมีรูป ย่อมตามเห็นรูปในตน ย่อมตามเห็น ตนในรูป อารมณ์ ซึ่งเกิดจาก อวิชชา สัมผัสถูกต้องแล้ว เขาย่อมมีความยึดมั่นถือมั่น ว่า เราเป็นบ้าง นี้เป็นเราบ้าง เราจักเป็นบ้าง จักไม่เป็นบ้าง จักมีรูปบ้าง ไม่มีรูปบ้าง)

            [๙๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นตนเป็นหลายวิธี สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ หรือแต่อย่างใด อย่างหนึ่ง

อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน?

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ทั้งหลาย ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมตามเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมตามเห็นรูปในตน ๑
ย่อมตามเห็นตนในรูป ๑


ย่อมตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ...
ย่อมตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ...
ย่อมตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ...

ย่อมตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ย่อมตามเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมตามเห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมตามเห็นตนในวิญญาณ ๑

        การตามเห็นด้วยประการดังนี้แล เป็นอันผู้นั้นยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น เมื่อผู้นั้น ยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น ในกาลนั้น อินทรีย์ ๕ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ ย่อมหยั่งลง ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนะมีอยู่ ธรรมทั้งหลายมีอยู่ อวิชชาธาตุ มีอยู่

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว อันความเสวยอารมณ์ ซึ่งเกิดจาก อวิชชา สัมผัสถูกต้องแล้ว เขาย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็นดังนี้ บ้าง นี้เป็นเรา ดังนี้ บ้าง เราจักเป็นดังนี้บ้าง จักไม่เป็นดังนี้บ้างจักมีรูปดังนี้บ้าง จักไม่มีรูป ดังนี้บ้าง จักมีสัญญาดังนี้บ้าง จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้าง จักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญา ก็หามิได้ดังนี้บ้าง

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์ ๕ ย่อมตั้งอยู่ ในเพราะการตามเห็นนั้นทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ อวิชชาย่อมเกิดขึ้น เพราะความคลายไปแห่งอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งอวิชชา อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในอินทรีย์เหล่านั้นว่า เราเป็นดังนี้บ้าง นี้เป็นเราดังนี้บ้าง เราจักเป็นดังนี้บ้าง จักไม่เป็นดังนี้บ้าง จักมีรูปดังนี้บ้าง จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง จักมีสัญญา ดังนี้บ้าง จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้างจักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง




(6)
ว่าด้วยขันธ์ และ อุปาทานขันธ์ ๕ (๖. ปัญจขันธสูตร)
(ขันธ์ ๕ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่า รูปขันธ์ .. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ )

(อุปาทานขันธ์๕ รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก ที่เป็นไปกับ ด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์คือ รูป ...เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นไปกับด้วย อาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

เหล่านี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ (อุปาทานในรูป และอุปาทานในวิญญาณ)

            [๙๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง.

         
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใด อย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่า รูปขันธ์

        เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้. นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า ขันธ์ ๕ (รูปขันธ์ และวิญญาณขันธ์)


(6.1)
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน?

            [๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบ หรือละเอียดเลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่ อุปาทาน. นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์คือ รูป

        เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วย อาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน. นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ (อุปาทานในรูป และอุปาทานในวิญญาณ)




(7)
ว่าด้วยขันธ์ ๕ มิใช่ของเรา (๗. โสณสูตรที่ ๑)

            [๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์. ครั้งนั้นแล คฤหบดีบุตรชื่อโสณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

         ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะคฤหบดีบุตรชื่อโสณะว่า ดูกรโสณะ ก็สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐ กว่าเขา พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือพิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยรูปอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการไม่เห็นธรรม ตามความเป็นจริง

        ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือพิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยเวทนาอันไม่เที่ยง ... ด้วยสัญญาอันไม่เที่ยง ... ด้วยสังขารอันไม่เที่ยง ... ด้วยวิญญาณอันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการไม่เห็นธรรม ตามความเป็นจริง

            [๙๘] ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณา เห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือไม่ พิจารณา เห็นว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยรูปอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกลนอกจากการเห็นธรรม ตามความเป็นจริง

        ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยเวทนาอันไม่เที่ยง ... ด้วยสัญญา อันไม่เที่ยง ... ด้วยสังขารอันไม่เที่ยง ... ด้วยวิญญาณอันไม่เที่ยง ... ด้วยสังขารอันไม่เที่ยง ... ด้วยวิญญาณอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็น ธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการเห็นธรรม ตามความเป็นจริง

            [๙๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโสณะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? คฤหบดีบุตรชื่อโสณะทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ส. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะพิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ส. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.

พ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. สังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ส. ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ส. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะพิจารณา เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ส. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า

            [๑๐๐] ดูกรโสณะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

        เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือ ภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเราไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

        ดูกรโสณะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลาย กำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี




(8)
ว่าด้วยผู้ควรยกย่องและไม่ควรยกย่องเป็นสมณพราหมณ์ (๘. โสณสูตรที่ ๒)
(ภิกษุ ไม่ทราบชัดรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป และไม่ทราบชัดข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับแห่งรูป.. เราไม่ยกย่องว่าเป็นสมณะ)

            [๑๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล คฤหบดีบุตรชื่อโสณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะคฤหบดีบุตรชื่อโสณะว่า

        ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ทราบชัดรูป ไม่ทราบชัด เหตุเกิดแห่งรูป ไม่ทราบชัดความดับแห่งรูป ไม่ทราบชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ แห่งรูป ไม่ทราบชัดเวทนา ...ไม่ทราบชัดสัญญา .. ไม่ทราบชัดสังขาร ...ไม่ทราบชัด วิญญาณไม่ทราบชัดเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ไม่ทราบชัดความดับแห่งวิญญาณ ไม่ทราบชัด ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ (ไม่ทราบชัดอริยสัจสี่ และขันธ์๕)

        ดูกรโสณะ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านี้เราไม่ยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ อนึ่ง ท่านเหล่านั้น หาทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่ง ความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ไม่

            [๑๐๒] ดูกรโสณะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ทราบชัดรูป
ทราบชัดเหตุเกิดแห่งรูป
ทราบชัดความดับแห่งรูป
ทราบชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งรูป

ทราบชัดเวทนา ... ทราบชัดสัญญา ... ทราบชัดสังขาร ... ทราบชัดวิญญาณ ทราบชัดเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ทราบชัดความดับแห่งวิญญาณ ทราบชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ

        ดูกรโสณะสมณะหรือพราหมณ์ เหล่านี้แล เรายกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ อนึ่ง ท่านเหล่านั้น ย่อมทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ แห่งความเป็นสมณะ และประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่




(9)
ว่าด้วยการสิ้นความยินดีเป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์ (๙. นันทิขยสูตรที่ ๑)
(ภิกษุเห็นรูปอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเธอเห็นโดยชอบ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นความยินดี ย่อมสิ้นความกำหนัด ย่อม หลุดพ้น)

            [๑๐๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นรูปอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเธอเห็นโดยชอบ ย่อมเบื่อหน่าย. เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดี และความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นเวทนาอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ฯลฯ เห็นสัญญาอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ฯลฯ เห็นสังขารอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ฯลฯ เห็นวิญญาณอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ

         เมื่อเธอเห็นโดยชอบ ย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความยินดีเพราะสิ้นความยินดีและความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว




(10)
ว่าด้วยการสิ้นความยินดีเป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์ (๑๐. นันทิขยสูตรที่ ๒)
(เธอจงทำไว้ในใจซึ่งรูป โดยอุบายอันแยบคาย และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูป ตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในรูป ย่อมสิ้นความยินดี ย่อมสิ้นความกำหนัด ย่อมหลุดพ้น)

            [๑๐๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงทำไว้ในใจซึ่งรูป โดยอุบายอันแยบคาย และจงพิจารณาเห็นความ ไม่เที่ยงแห่งรูป ตามความเป็นจริง

         เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งรูป โดยอุบายอันแยบคาย และพิจารณาเห็นความ ไม่เที่ยงแห่งรูป ตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้น ความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดี และ ความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้วเรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำไว้ในใจ ซึ่งเวทนาโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งสัญญาโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งสังขารโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งวิญญาณโดยอุบายอันแยบคาย และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณ ตามความเป็นจริง

        เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งวิญญาณโดยอุบายอันแยบคาย และพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ

         เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความ ยินดี เพราะสิ้นความยินดี และความกำหนัด จึงหลุดพ้นแล้ว เรียกว่าหลุดพ้นดีแล้ว

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์