พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙
สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๗
16)
ว่าด้วยอิทธิฤทธิ์ (ภิกขุสูตรที่ ๑)
(คนเดียวเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ไปถึงพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่าอิทธิ)
[๑๒๓๑] ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อิทธิเป็นไฉน อิทธิบาทเป็นไฉน อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน?
[๑๒๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว ก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่าอิทธิ
[๑๒๓๓] ก็อิทธิบาทเป็นไฉน? มรรคาอันใด ปฏิปทาอันใด ย่อมเป็นไปเพื่อ ได้ฤทธิ์ เพื่อได้เฉพาะซึ่งฤทธิ์ นี้เรียกว่า อิทธิบาท
[๑๒๓๔] ก็อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย วิริยสมาธิ ...จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เรียกว่าอิทธิบาทภาวนา
[๑๒๓๕] ก็ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน? อริยมรรคประกอบ ด้วยองค์ ๘นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๗
17)
ว่าด้วยอิทธิฤทธิ์ (ภิกขุสูตรที่ ๒)
[๑๒๓๖] ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิทธิเป็นไฉน อิทธิบาทเป็นไฉน อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ
[๑๒๓๗] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อิทธิเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดถึงพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิ.
[๑๒๓๘] ก็อิทธิบาทเป็นไฉน? มรรคาอันใด ปฏิปทาอันใด ย่อมเป็นไป เพื่อได้ฤทธิ์ เพื่อได้เฉพาะซึ่งฤทธิ์ นี้เรียกว่า อิทธิบาท.
[๑๒๓๙] ก็อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิแ ละปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย วิริยสมาธิ ...จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เรียกว่า อิทธิบาทภาวนา.
[๑๒๔๐] ก็ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน? อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาท ภาวนา.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙
สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๘
18)
สรรเสริญพระโมคคัลลานว่ามีฤทธิ์มาก (โมคคัลลานสูตร)
[๑๒๔๑] ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุโมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก อย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งธรรม เหล่าไหน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลาย ของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ
18.1
(โมคคัลลานะเจริญอิทธิบาท ๔ ว่าจะไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ...)
[๑๒๔๒] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน? ภิกษุโมคคัลลานะย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และ ปธานสังขารดังนี้ว่า ฉันทะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก
และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลัง ก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้า ก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบน ก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น
กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจ เปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตใจให้สว่างอยู่ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย วิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ...วิมังสาสมาธิ และ ปธานสังขารดังนี้ว่า วิมังสาของเราจักไม่ ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ฯลฯ เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิต ให้สว่างอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล.
[๑๒๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุโมคคัลลานะแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้.
18.2
(พระโมค
กระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เพราะได้เจริญอิทธิบาท ๔)
[๑๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุโมคคัลลานะ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอัน ยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙
สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๙
19)
พระตถาคตมีฤทธิ์มาก (ตถาคตสูตร)
[๑๒๔๕] ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ตถาคต มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งธรรม เหล่าไหน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลาย ของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ
[๑๒๔๖] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก อย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔
อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน?
ตถาคตย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร ดังนี้ว่า ฉันทะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านในภายนอก
และตถาคตมีความสำคัญในเบื้องหน้า และเบื้องหลังอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลัง ก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบน ฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น
กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น ตถาคตมีใจ เปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่ออบรมจิตให้สว่างอยู่ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย วิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขารดังนี้ว่า วิมังสาของเราจักไม่ ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ฯลฯ
19.1
(ตถาคตมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ตถาคตมีฤทธิ์มาก เพราะได้ เจริญอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ แล)
ตถาคตมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ตถาคตมีฤทธิ์มาก อย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ แล
[๑๒๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงอิทธิฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไป ตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้
[๑๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ตถาคต ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้
(พึงให้อภิญญาทั้ง ๖ พิสดาร)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๑
20)
คังคาทิเปยยาลแห่งอิทธิบาทสังยุตที่ ๔
ว่าด้วยผลแห่งอิทธิบาท ๔
(ภิกษุเจริญกระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ ย่อมน้อมไป โน้มไป โอนไปสู่นิพพาน)
[๑๒๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเจริญอิทธิบาท ๔ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๑๒๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเจริญอิทธิบาท ๔ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔อย่างไรเล่า จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิและ ปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิ และ ปธานสังขาร ภิกษุเจริญอิทธิบาท ๔ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน.
(พึงขยายความบาลีในอิทธิบาท จนกระทั่งถึงความแสวงหา)
[๑๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เหล่านี้ สังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เป็นไฉน? คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์
20.1
(ภิกษุพึงเจริญอิทธิบาท ๔ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕)
[๑๒๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเจริญอิทธิบาท ๔ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เหล่านี้แล อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และ ปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิ และ ปธานสังขาร ภิกษุพึงเจริญอิทธิบาท ๔ เหล่านี้เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เหล่านี้แล.
(คังคาเปยยาลเหมือนกับมรรคสังยุต ที่ข้าพเจ้าให้พิสดารแล้ว พึงขยายความบาลี ในอิทธิบาท จนกระทั่งถึงความแสวงหา) |