เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

การเจริญอิทธิบาทโดยละเอียด ฤทธิ์มีได้อย่างไร พระโมคสิ้นอาสวะได้อย่างไร 1593
  P1591 P1592 P1593 P1594  
รวมเรื่องอิทธิบาท ๔  
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
  เรื่องอิทธิบาท : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๒๗๓ - ๓๐๐ (ข้อ ๑๑๒๓ - ๑๒๔๘)
 
11) อิทธิบาท ๔ เจริญกระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก
    11.1 ฉันทะสมาธิ วิริยะ จิตต วิมังสาสมาธิและปธานสังขารจักไม่ย่อหย่อนเกินไป

(ฉันทะ)
    11.2 ฉันทะย่อหย่อนเกินไป ประคองเกินไป หดหู่ ฟุ้งซ่าน..เป็นไฉน
    11.3 เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างไร?
    11.4 เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างไร?
    11.5 กลางวันฉันใดกลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใดกลางวันก็ฉันนั้น อย่างไร?
    11.6 ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างไร?

(วิริยะ)
    11.7 วิริยะที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน? คือเกียจคร้าน อุทธัจจะ ถีนมิทะ ปรารภกามคุณ

(จิตต)
    11.8 ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างไร

(วิมังสา)
    11.9 วิมังสาที่ย่อหย่อนเกินไป ประคองเกินไป หดหู่ภายใน ฟุ้งซ่านในภายนอก เป็นไฉน

12) ครั้งเราเป็นพระโพธิสัตว์ อะไรหนอ เป็นมรรคา เป็นปฏิปทา แห่งการเจริญอิทธิบาท
    12.1 เมื่อเจริญอิทธิบาท ๔ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาวะมิได้

13) ว่าด้วยการแสดงฤทธิ์
    13.1 อานนท์ เราเข้าถึงพรหมโลกด้วยฤทธิ์ พร้อมทั้งกายอันสำเร็จแต่ใจ
    13.2 พระตถาคตทั้งหลาย ประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ และเป็นผู้ไม่เคยมีมา
    13.3 กายของตถาคตย่อมเบากว่าปกติ เมื่อตั้งกายไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย
    13.4 เมื่อตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตไว้ที่กาย กายของตถาคตย่อมลอยขึ้นสู่อากาศดุจปุยนุ่น
    13.5 เมื่อกายของตถาคตลอยขึ้นสู่อากาศ ตถาคตย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง

14) อิทธิ อิทธิบาท อิทธิบาทภาวนา ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน?

15) นี้เรียกว่าอิทธิ นี้เรียกว่าอิทธิบาท นี้เรียกว่าอิทธิบาทภาวนา นี้เรียกว่าปฏิปทา
   
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๒๘๗

11)
วิธีเจริญอิทธิบาท ๔ (วิภังคสูตร)
(อิทธิบาท ๔ เจริญกระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก)

          [๑๑๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็อิทธิบาท ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก?

11.1
(ฉันทะสมาธิ วิริยะ จิตต วิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร จักไม่ย่อหย่อนเกินไป

          ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท ประกอบด้วยฉันทสมาธิ และ ปธานสังขาร ดังนี้ว่า ฉันทะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้า ก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น

          กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีจิต เปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิต ให้สว่างอยู่ ย่อมเจริญอิทธิบาท ประกอบด้วย วิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า วิมังสาของเรา
จักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป
ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก
และเธอ มีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า
เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลัง ก็ฉันนั้น
เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น
เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น
เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น
กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น
กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น
เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(ฉันทะ)

11.2
(ฉันทะย่อหย่อนเกินไป ประคองเกินไป หดหู่ ฟุ้งซ่าน..เป็นไฉน)

          [๑๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ฉันทะที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน? ฉันทะ ที่ประกอบด้วยความเกียจคร้าน สัมปยุตด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่า ฉันทะ ที่ย่อหย่อนเกินไป

          [๑๑๘๑] ก็ฉันทะที่ต้องประคองเกินไปเป็นไฉน? ฉันทะที่ประกอบด้วย อุทธัจจะ สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ นี้เรียกว่า ฉันทะที่ต้องประคองเกินไป

          [๑๑๘๒] ก็ฉันทะที่หดหู่ในภายในเป็นไฉน? ฉันทะที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ สัมปยุตด้วยถีนมิทธะ นี้เรียกว่า ฉันทะที่หดหู่ในภายใน

          [๑๑๘๓] ก็ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกเป็นไฉน? ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไปปรารภกามคุณ ๕ ในภายนอก นี้เรียกว่า ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก

11.3
(เบื้องหน้า ฉันใดเบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างไร?)

          [๑๑๘๔] ภิกษุมีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้า ฉันใดเบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างไร? ความสำคัญ ในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา ภิกษุชื่อว่า มีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใดเบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้า ก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

11.4
(เบื้องล่างฉันใดเบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใดเบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างไร?)

          [๑๑๘๕] ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใดเบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณากายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมาเบื้องล่าง แต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วย ของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่าในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับพังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อมันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ภิกษุชื่อว่า มีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

11.5
(กลางวันฉันใดกลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใดกลางวันก็ฉันนั้น อย่างไร?)

          [๑๑๘๖] ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืน ฉันใดกลางวันก็ฉันนั้น อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขารในกลางคืน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น

          อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และ ปธานสังขาร ในกลางคืน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญ อิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืน ก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

11.6
(ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างไร?)

          [๑๑๘๗] ก็ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างไร? อาโลกสัญญา (ความสำคัญว่าแสงสว่าง) อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว ความสำคัญว่ากลางวัน ตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างนี้แล

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(วิริยะ)

11.7
(วิริยะที่ ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน? คือเกียจคร้าน อุทธัจจะ ถีนมิทะ ปรารภกามคุณ)

          [๑๑๘๘] ก็วิริยะที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน? วิริยะที่ประกอบด้วย ความ เกียจคร้าน สัมปยุต(ประกอบด้วย) ด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่าวิริยะที่ย่อหย่อน เกินไป

          [๑๑๘๙] ก็วิริยะที่ต้องประคองเกินไปเป็นไฉน? วิริยะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ นี้เรียกว่า วิริยะที่ต้องประคองเกินไป

          [๑๑๙๐] ก็วิริยะที่หดหู่ในภายในเป็นไฉน? วิริยะที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ สัมปยุต ด้วยถีนมิทธะ นี้เรียกว่า วิริยะหดหู่ในภายใน

          [๑๑๙๑] ก็วิริยะที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกเป็นไฉน? วิริยะที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไป ปรารภกามคุณ ๕ ในภายนอก นี้เรียกว่าวิริยะที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก ฯลฯ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(จิตต)

11.8
(ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างไร)

          [๑๑๙๒] ก็ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างไร อาโลกสัญญา อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว ความสำคัญว่า กลางวัน ตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างนี้แล.

          [๑๑๙๓] ก็จิตที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน? จิตที่ประกอบด้วยความเกียจคร้าน สัมปยุต ด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่า จิตที่ย่อหย่อนเกินไป

          [๑๑๙๔] ก็จิตที่ต้องประคองเกินไปเป็นไฉน? จิตที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ สัมปยุต ด้วยอุทธัจจะ นี้เรียกว่า จิตที่ต้องประคองเกินไป

          [๑๑๙๕] ก็จิตที่หดหู่ในภายในเป็นไฉน? จิตที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ สัมปยุต ด้วยถีนมิทธะ นี้เรียกว่า จิตที่หดหู่ในภายใน

          [๑๑๙๖] ก็จิตที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกเป็นไฉน? จิตที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไป ปรารภ กามคุณ ๕ ในภายนอก นี้เรียกว่า จิตที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก ฯลฯ

          [๑๑๙๗] ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างนี้แล

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(วิมังสา)

11.9
(วิมังสาที่ย่อหย่อนเกินไป ประคองเกินไป หดหู่ภายใน ฟุ้งซ่านในภายนอก เป็นไฉน)

          [๑๑๙๘] ก็วิมังสาที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน? วิมังสาที่ประกอบด้วยความ เกียจคร้าน สัมปยุตด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่า วิมังสาที่ย่อหย่อนเกินไป

          [๑๑๙๙] ก็วิมังสาที่ต้องประคองเกินไปเป็นไฉน? วิมังสาที่ประกอบด้วย อุทธัจจะสัมปยุต ด้วยอุทธัจจะ นี้เรียกว่า วิมังสาที่ต้องประคองเกินไป

          [๑๒๐๐] ก็วิมังสาที่หดหู่ในภายในเป็นไฉน? วิมังสาที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ สัมปยุตด้วยถีนมิทธะ นี้เรียกว่า วิมังสาที่หดหู่ในภายใน

          [๑๒๐๑] ก็วิมังสาที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกเป็นไฉน? วิมังสาที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไปปรารภกามคุณ ๕ ในภายนอก นี้เรียกว่า วิมังสาที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก ฯลฯ

          [๑๒๐๒] ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

          [๑๒๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้แล ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคน เป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดถึงพรหมโลกก็ได้

          [๑๒๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้แล ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

(พึงขยายอภิญญาแม้ทั้งหกให้พิสดาร)


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๒

12)
ว่าด้วยปฏิปทาแห่งการเจริญอิทธิบาท (มรรคสูตร)
(ครั้งเราเป็นพระโพธิสัตว์ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อะไรหนอ เป็นมรรคา เป็นปฏิปทา แห่งการเจริญอิทธิบาท)

          [๑๒๐๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ ครั้งเราเป็น พระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อะไรหนอ เป็นมรรคา เป็นปฏิปทา แห่งการเจริญอิทธิบาท เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุนั้นย่อมเจริญ อิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขารดังนี้ว่า ฉันทะของเราจักไม่ ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใดเบื้องหลัง ก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบน ฉันใดเบื้องล่างก็ฉันนั้น

          กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุย่อมเจริญ อิทธิบาท อันประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร ดังนี้ว่าวิมังสาของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก

          และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลัง ก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบน ฉันใดเบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวัน ก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ด้วยประการฉะนี้

          [๑๒๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอิทธิบาท ๔ แล้วอย่างนี้ กระทำ ให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

12.1
(เมื่อเจริญอิทธิบาท ๔ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้)

          [๑๒๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอิทธิบาท ๔ แล้วอย่างนี้ กระทำ ให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

(แม้อภิญญาทั้งหกก็พึงขยายความออกไป)


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๓

13)

ว่าด้วยการแสดงฤทธิ์ (อโยคุฬสูตร)

          [๑๒๐๘] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงทราบอยู่ หรือว่า พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลก ด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระกายอันสำเร็จแต่ใจ?

13.1
(อานนท์ เราเข้าถึงพรหมโลกด้วยฤทธิ์ พร้อมทั้งกายอันสำเร็จแต่ใจ)

          พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราทราบอยู่ อานนท์ ว่าเราเข้าถึงพรหมโลก ด้วยฤทธิ์ พร้อมทั้งกายอันสำเร็จแต่ใจ

          อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคทรงทราบอยู่หรือว่า พระองค์ ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ ?

          พ. เราทราบอยู่ อานนท์ ว่าเราเข้าถึงพรหมโลกด้วยฤทธิ์ พร้อมทั้งกาย อันประกอบด้วย มหาภูตรูป ๔ นี้.

          [๑๒๐๙] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พระองค์ ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระกายอันสำเร็จด้วยใจ และทรงทราบว่า พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระกาย อันประกอบด้วย มหาภูตรูป ๔ นี้ เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ ทั้งไม่เคยมีมาแล้ว

13.2
(พระตถาคตทั้งหลาย ประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ และเป็นผู้ไม่เคยมีมา)

          พ. ดูกรอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้อัศจรรย์ และประกอบด้วยธรรม อันน่า อัศจรรย์ เป็นผู้ไม่เคยมีมา และประกอบด้วยธรรมอันไม่เคยมีมา

13.3

(กายของตถาคตย่อมเบากว่าปกติ เมื่อตั้งกายไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย)

          [๑๒๑๐] ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตตั้งกายไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญา และลหุสัญญา ในกายอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติ

          [๑๒๑๑] ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนก้อนเหล็กที่เผาไฟอยู่วันยังค่ำ ย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติ ฉันใด สมัยใด ตถาคตตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญา และ ลหุสัญญา(เบา) ในกายอยู่ สมัยนั้นกายของตถาคต ย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติฉันนั้นเหมือนกัน

13.4
(เมื่อตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย กายของตถาคต ย่อมลอยขึ้นสู่อากาศ เหมือยปุยนุ่น)

          [๑๒๑๒] ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาในกายอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคต ย่อมลอยจาก แผ่นดิน ขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ตถาคตนั้นย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายคน คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้หลายคน เป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอด พรหมโลกก็ได้

          [๑๒๑๓] ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย ซึ่งเป็นเชื้อธาตุที่เบา ย่อมลอยจากแผ่นดิน ขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ฉันใด สมัยใด ตถาคตตั้งกาย ลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญา และลหุสัญญาอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคต ย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ

13.5
(เมื่อกายของตถาคตลอยขึ้นสู่อากาศ ตถาคตย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง)

          [๑๒๑๔] ดูกรอานนท์ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมลอยจากแผ่นดิน ขึ้นสู่ อากาศ ได้โดยไม่ยากเลย ตถาคตนั้นย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียว เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอด พรหมโลกก็ได้


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๕

14)
(อิทธิ อิทธิบาท อิทธิบาทภาวนา ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน?)
ว่าด้วยปฏิปทาที่จะถึงอิทธิบาท (อานันทสูตรที่ ๑)

          [๑๒๒๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อิทธิเป็นไฉน อิทธิบาทเป็นไฉน อิทธิบาทภาวนา เป็นไฉนปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน?

          [๑๒๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว ก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่าอิทธิ

          [๑๒๒๓] ก็อิทธิบาทเป็นไฉน? มรรคอันใด ปฏิปทาอันใด ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ฤทธิ์ เพื่อได้เฉพาะซึ่งฤทธิ์ นี้เรียกว่า อิทธิบาท

          [๑๒๒๔] ก็อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ... ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย วิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เรียกว่าอิทธิบาทภาวนา

          [๑๒๒๕] ปฏิปทาที่จะถึงอิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน? อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา

 

อิทธิ เป็นไฉน? ภิกษุย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิ

อิทธิบาท เป็นไฉน? มรรคาอันใด ปฏิปทาอันใด ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ฤทธิ์เพื่อได้เฉพาะซึ่งฤทธิ์ นี้เรียกว่า อิทธิบาท

อิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน?
-เจริญอิทธิบาท ด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร
-เจริญอิทธิบาท ด้วย วิริยสมาธิ และปธานสังขาร
-เจริญอิทธิบาท ด้วยจิตตสมาธิ และปธานสังขาร
-เจริญอิทธิบาท ด้วยวิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร

นี้เรียกว่า อิทธิบาทภาวน

ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๖

15)

ว่าด้วยอิทธิฤทธิ์ (อานันทสูตรที่ ๒)

(นี้เรียกว่าอิทธิ นี้เรียกว่าอิทธิบาท นี้เรียกว่าอิทธิบาทภาวนา นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา)

          [๑๒๒๖] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งว่าดูกรอานนท์ อิทธิเป็นไฉน อิทธิบาทเป็นไฉน อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ

          [๑๒๒๗] พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไป ตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิ

          [๑๒๒๘] ก็อิทธิบาทเป็นไฉน? มรรคาอันใด ปฏิปทาอันใด ย่อมเป็นไป เพื่อได้ฤทธิ์ เพื่อได้เฉพาะซึ่งฤทธิ์ นี้เรียกว่า อิทธิบาท

          [๑๒๒๙] ก็อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบ ด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย วิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เรียกว่าอิทธิบาทภาวนา

          [๑๒๓๐] ก็ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? อริยมรรคประกอบ ด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา

พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์