เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

การเจริญอิทธิบาทโดยละเอียด ฤทธิ์มีได้อย่างไร พระโมคสิ้นอาสวะได้อย่างไร 1592
  P1591 P1592 P1593 P1594  
รวมเรื่องอิทธิบาท ๔  
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
  เรื่องอิทธิบาท : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๒๗๓ - ๓๐๐ (ข้อ ๑๑๒๓ - ๑๒๔๘)
 
5) พระโมค-แสดงฤทธิ์ ทำให้ปราสาทของมิคารมารดาสั่นไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า
    5.1) พระโมคคัลลาละมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะได้เจริญอิทธิบาท๔
    5.2) พระโมคคัลลานะ เจริญอิทธิบาท ๔ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง

6) ว่าด้วยปฏิปทาเพื่อละฉันทะ
    6.1) ภิกษุเจริญอิทธิบาท ๔ นี้แลเป็นมรรคา เป็นปฏิปทา เพื่อละฉันทะ
    6.2) ภิกษุมีความพอใจเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุแล้วความพอใจนั้น ก็ระงับไป

7) ผู้มีฤทธิ์มาก เพราะเจริญอิทธิบาท ๔ (สมณพราหมณ์สูตรที่ ๑)
8) แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างเพราะเจริญอิทธิบาท ๔ (สมณพราหมณ์สูตรที่ ๒)
9) ได้เจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เพราะเจริญอิทธิบาท ๔

10) แสดงปฏิปทาเข้าถึงอิทธิบาทภาวนา (เทสนาสูตร)
    10.1) ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก


5)
พระโมคคัลลานแสดงฤทธิ์ (โมคคัลลานสูตร)
(ทำให้ปราสาทของมิคารมารดาสั่นไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า)

          [๑๑๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมารดา ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุมากรูป ที่อยู่ภายใต้ปราสาทของมิคารมารดา เป็นผู้ฟุ้งซ่าน อวดตัวมีจิตกวัดแกว่ง ปากกล้า พูดจาอื้อฉาว ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น คิดจะสึก ไม่สำรวมอินทรีย์.

          [๑๑๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะ มาตรัสว่า ดูกรโมคคัลลานะ สพรหมจารีเหล่านี้ ที่อาศัยอยู่ภายใต้ปราสาท ของ มิคารมารดา เป็นผู้ฟุ้งซ่านอวดตัว มีจิตกวัดแกว่ง ปากกล้า พูดจาอื้อฉาว ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น คิดจะสึก ไม่สำรวมอินทรีย์ ไปเถิด โมคคัลลานะ เธอจงยังภิกษุเหล่านั้นให้สังเวช ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว แสดงอิทธาภิสังขาร ให้ปราสาทของมิคารมารดา สะเทือนสะท้าน หวั่นไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า.

          [๑๑๕๖] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเกิดความสลดใจ ขนพองสยองเกล้า ได้ไปยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว พูดกันว่า น่าอัศจรรย์หนอท่าน ไม่เคยมีมาแล้ว ลมก็ไม่มี ทั้งปราสาทของมิคารมารดานี้ ก็มีรากลึก ฝังไว้ดีแล้ว จะโยกคลอนไม่ได้ ก็แหละเมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ปราสาทนี้สะเทือนสะท้านหวั่นไหว.

          [๑๑๕๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังที่ซึ่งภิกษุเหล่านั้นยืนอยู่ แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเกิดความสลดใจ ขนพองสยองเกล้า ไปยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งเพราะเหตุอะไร? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วลมก็ไม่มี ทั้งปราสาทของมิคารมารดานี้ ก็มีรากลึก ฝังไว้ดีแล้ว จะโยกคลอนไม่ได้ ก็แหละเมื่อเป็นเช่นนั้น อะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ปราสาทนี้ สะเทือนสะท้านหวั่นไหว.

          [๑๑๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโมคคัลลานะ ประสงค์จะให้เธอทั้งหลายสังเวช จึงทำปราสาทของมิคารมารดา ให้สะเทือนสะท้าน หวั่นไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน? ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ธรรมเหล่าไหน เพราะได้กระทำให้มากซึ่งธรรมเหล่าไหน?

5.1)
(พระโมคคัลลาละมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเพราะได้เจริญกระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท๔)

          ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาค เป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ขอประทาน พระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลาย ได้ฟังแล้ว จักทรงจำไว้.

          [๑๑๕๙] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟังเถิด ภิกษุ โมคคัลลานะ มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำ ให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔

5.2)
(พระโมคคัลลานะ เจริญอิทธิบาท ๔ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง )

          อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน?

          ภิกษุโมคคัลลานะย่อมเจริญอิทธิบาท ประกอบด้วยฉันทสมาธิ และ ปธานสังขาร ... วิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า วิมังสาของเรา จักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปใน ภายนอก

          และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลัง ก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใดเบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น

          กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีจิต เปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก อย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล

          [๑๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ภิกษุโมคคัลลานะ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ฯลฯ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้

          [๑๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ภิกษุโมคคัลลานะ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๓

6)
ว่าด้วยปฏิปทาเพื่อละฉันทะ (พราหมณสูตร)

          [๑๑๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น อุณณาภ พราหมณ์ เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่าน พระอานนท์ว่า

          [๑๑๖๓] ดูกรท่านอานนท์ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์อะไร? ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูกรพราหมณ์ เราประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคเพื่อละฉันทะ.

          [๑๑๖๔] อุณ. ดูกรท่านอานนท์ ก็มรรคา ปฏิปทา เพื่อละฉันทะนั้น มีอยู่หรือ?
          อา. มีอยู่ พราหมณ์

          [๑๑๖๕] อุณ. ดูกรท่านอานนท์ ก็มรรคาเป็นไฉน ปฏิปทาเป็นไฉน?

6.1)
(ภิกษุเจริญอิทธิบาท ๔ นี้แลเป็นมรรคา เป็นปฏิปทา เพื่อละฉันทะ)

          อา. ดูกรพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร นี้แลเป็นมรรคา เป็นปฏิปทา เพื่อละฉันทะนั้น.

          [๑๑๖๖] อุณ. ดูกรท่านอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันทะนั้นยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี บุคคล จักละฉันท ะด้วยฉันทะนั่นเอง ข้อนี้มิใช่ฐานะที่มีได้

          อา. ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจะย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านเห็นควร อย่างไร พึงแก้ อย่างนั้นเถิด.

          [๑๑๖๗] ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? ในเบื้องต้นท่าน ได้มีความพอใจว่า จักไปอาราม เมื่อท่านไปถึงอารามแล้ว ความพอใจที่เกิดขึ้นนั้น ก็ระงับไปมิใช่หรือ?
          อุณ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ

          อา. ในเบื้องต้น ท่านได้มีความเพียรว่า จักไปอาราม เมื่อท่านไปถึงอารามแล้ว ความเพียร ที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไปมิใช่หรือ?
          อุณ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ

          อา. ในเบื้องต้น ท่านได้มีความคิดว่า จักไปอาราม เมื่อท่านไปถึงอารามแล้ว ความคิด ที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไปมิใช่หรือ?
          อุณ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ

          อา. ในเบื้องต้น ท่านได้ตริตรองพิจารณาว่า จักไปอาราม เมื่อท่านไปถึง อารามแล้ว ความตริตรองพิจารณาที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไปมิใช่หรือ?
          อุณ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ

6.2)
(ภิกษุนั้นในเบื้องต้นก็มีความพอใจเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุแล้วความพอใจนั้น ก็ระงับไป)

          [๑๑๖๘] อา. ดูกรพราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุใดเป็นพระอรหันต ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ ของตนถึงแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ โดยชอบ ภิกษุนั้น ในเบื้องต้นก็มีความพอใจเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุแล้ว ความพอใจ ที่เกิดขึ้น นั้น ก็ระงับไป ในเบื้องต้นก็มีความเพียรเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุแล้ว ความเพียร ที่เกิดขึ้น นั้น ก็ระงับไป ในเบื้องต้น ก็มีความคิดเพื่อบรรลุ อรหัต เมื่อบรรลุแล้ว ความคิด ที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไป ในเบื้องต้นก็มีความตริตรอง พิจารณาเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุแล้ว ความตริตรองพิจารณาที่เกิดขึ้นนั้น ก็ระงับไป

          [๑๑๖๙] ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? เมื่อเป็นเช่นนั้น ความพอใจนั้นยังมีอยู่หรือว่าไม่มี?

          อุณ. ข้าแต่ท่านอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความพอใจก็มีอยู่โดยแท้ ไม่มีหามิได้ ข้าแต่ ท่าน พระอานนท์ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ภาษิต ของท่าน แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ท่านประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือน หงาย ของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีป ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้นข้าพเจ้านี้ ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้ง พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระอานนท์ จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็น อุบาสก ผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๕

7)
ผู้มีฤทธิ์มาก เพราะเจริญอิทธิบาท ๔ (สมณพราหมณ์สูตรที่ ๑)

          [๑๑๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล จักมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น จักเป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔

          สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในปัจจุบัน เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน?

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

          [๑๑๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

          สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น จักเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก็เพราะ เป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในปัจจุบัน ย่อมเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณะหรือพราหมณ์ ทั้งหมด ย่อมเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๕

8)
แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างเพราะเจริญอิทธิบาท ๔ (สมณพราหมณ์สูตรที่ ๒)

          [๑๑๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ... ใช้อำนาจ ทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น แสดงฤทธิ์ได้ หลายอย่างเช่นนั้น เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล ...

          สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในปัจจุบัน แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ...ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ สมณะ หรือ พราหมณ์ ทั้งหมดนั้น แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างเช่นนั้น ก็เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำ ให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน?

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร

          [๑๑๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ... ใช้อำนาจ ทางกายไป ตลอดพรหมโลกก็ได้ สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น แสดงฤทธิ์ ได้หลายอย่าง เช่นนั้น ก็เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล

          สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล ... สมณะหรือ พราหมณ์ เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในปัจจุบัน แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียว เป็นหลายคนก็ได้ ... ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ สมณะหรือพราหมณ์ ทั้งหมดนั้น แสดงฤทธิ์ หลายอย่าง เช่นนั้น ก็เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๗ หน้าที่ ๒๘๖

9)
ได้เจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เพราะเจริญอิทธิบาท ๔
(อภิญญาสูตร)

          [๑๑๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน?

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะ เป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๗

10)
แสดงปฏิปทาเข้าถึงอิทธิบาทภาวนา (เทสนาสูตร)

          [๑๑๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง อิทธิ อิทธิบาท อิทธิบาทภาวนา และ ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนา แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ก็อิทธิ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคน ก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิ

          [๑๑๗๖] ก็อิทธิบาทเป็นไฉน? มรรคาอันใด ปฏิปทาอันใด ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ฤทธิ์เพื่อได้เฉพาะซึ่งฤทธิ์ นี้เรียกว่า อิทธิบาท

10.1)
(ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘)

          [๑๑๗๗] ก็อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย วิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เรียกว่า อิทธิบาทภาวนา

          [๑๑๗๘] ก็ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา

 

อิทธิ เป็นไฉน? ภิกษุย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิ

อิทธิบาท เป็นไฉน? มรรคาอันใด ปฏิปทาอันใด ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ฤทธิ์เพื่อได้เฉพาะซึ่งฤทธิ์ นี้เรียกว่า อิทธิบาท

อิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน?
-เจริญอิทธิบาท ด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร
-เจริญอิทธิบาท ด้วย วิริยสมาธิ และปธานสังขาร
-เจริญอิทธิบาท ด้วยจิตตสมาธิ และปธานสังขาร
-เจริญอิทธิบาท ด้วยวิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร

นี้เรียกว่า อิทธิบาทภาวน

ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน? อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึง อิทธิบาทภาวนา

พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์