เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

การเจริญอิทธิบาทโดยละเอียด ฤทธิ์มีได้อย่างไร พระโมคสิ้นอาสวะได้อย่างไร 1591
  P1591 P1592 P1593 P1594  
รวมเรื่องอิทธิบาท ๔  
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
  เรื่องอิทธิบาท : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๒๗๓ - ๓๐๐ (ข้อ ๑๑๒๓ - ๑๒๔๘)
 
1) การเจริญอิทธิบาท ๔ พึงดำรงอยู่ได้กัลป์หนึ่ง หรือเกินกว่ากัลป์หนึ่ง
   1.1) พระอานนท์ถูกมารดลใจ จึงไม่ได้ทูลขอวิงวอน
   1.2) พระผู้มีพระภาคให้พระอานนท์ออกไปเสีย ไม่ควรอยู่ที่นี่
   1.3) มารขอให้พระผู้มีพระภาค จงปรินิพพานเสียบัดนี้เถิด
   1.4) ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เฉีบบแหลม ยังไม่แกล้วกล้าพอ
   1.5) ตถาคตจะปรินิพพาน ล่วงไปอีก ๓ เดือน จากนั้นทรงปลงอายุสังขาร

2) วิธีเจริญอิทธิบาท ๔
   2.1) อิทธิบาท ๔ กระทำให้มากย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างเช่นเดินบนน้ำ
   2.2) อิทธิบาท ๔ กระทำให้มากย่อมได้ยินเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์
   2.3) อิทธิบาท ๔ กระทำให้มากย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์ และบุคคลอื่น
   2.4) อิทธิบาท ๔ กระทำให้มากย่อมระลึก ชาติก่อนได้เป็นอันมาก
   2.5) อิทธิบาท ๔ กระทำให้มากย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ -อุปบัติ เลว-ประณีต
   2.6) อิทธิบาท ๔ กระทำให้มากย่อมรู้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ

3) ผลของการเจริญอิทธิบาท ใช้อำนาจไปจนถึงพรหมโลก
   3.1) อิทธิบาท ๔ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

4) ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะแล้ว ได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า ฉันทสมาธิ
   4.1) ถ้าภิกษุอาศัย วิริยะ แล้วได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ
   4.2) ถ้าภิกษุอาศัย จิต แล้วได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า จิตสมาธิ
   4.3) ถ้าภิกษุอาศัย วิมังสา แล้วได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ
   
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๒๗๓ - หน้าที่ ๓๐๐ (ข้อ ๑๑๒๓ - ๑๒๔๘)

1)


การเจริญอิทธิบาท ๔ ทำให้อายุยืน (เจติยสูตร)

(การเจริญอิทธิบาท ๔ พึงดำรงอยู่ได้กัลป์หนึ่ง หรือเกินกว่ากัลป์หนึ่ง)

          [๑๑๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป บิณฑบาตยังเมืองเวสาลี ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตรแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจาก บิณฑบาตร แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า

          ดูกรอานนท์ เธอจงถือเอาผ้านิสีทนะ เราจะเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ เพื่อพักผ่อน ในตอนกลางวัน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วถือผ้านิสีทนะ ตามพระผู้มีพระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์.

          [๑๑๒๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบน อาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูถวาย ส่วนท่านพระอานนท์ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เมืองเวสาลีเป็นที่น่ารื่นรมย์อุเทนเจดีย์ ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์ ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ พหุปุตตกเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์ ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์

          อิทธิบาท ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็น ดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง ให้คล่องแคล่วแล้วสั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อจำนง อยู่ พึงดำรงอยู่ได้กัลป์หนึ่ง หรือเกินกว่ากัลป์หนึ่ง

          ดูกรอานนท์ อิทธิบาท ๔ อันตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้ เป็นดุจยานกระทำให้เป็นที่ตั้ง ให้คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่พึงดำรงอยู่ได้กัลป์หนึ่ง หรือเกินกว่ากัลป์หนึ่ง

1.1)

(พระอานนท์ถูกมารดลใจ จึงไม่ได้ทูลขอวิงวอน)

          [๑๑๒๕] แม้เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำนิมิตอันโอฬาร กระทำโอภาส อันโอฬารอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็มิอาจรู้ทัน จึงมิได้ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาค จงทรงดำรงอยู่ตลอดกัลป์หนึ่ง ขอพระสุคต จงทรงดำรงอยู่ตลอดกัลป์หนึ่ง เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เมื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้ เพราะถูกมาร เข้าดลใจ

          [๑๑๒๖] แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เมืองเวสาลีเป็นที่น่ารื่นรมย์ ... ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ กัลป์หนึ่งหรือเกินกว่ากัลป์หนึ่ง

          [๑๑๒๗] แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงกระทำนิมิตอันโอฬาร กระทำโอภาส อันโอฬารอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็มิอาจรู้ทัน จึงมิได้ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาค ... เพราะถูกมารเข้าดลใจ

1.2)

(พระผู้มีพระภาคให้พระอานนท์ออกไปเสีย ไม่ควรอยู่ที่นี่)

          [๑๑๒๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า เธอจงไปเกิด อานนท์ เธอรู้กาลอันควรในบัดนี้เถิด ท่านพระอานนท์ ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว ไปนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกล

1.3)
(มารขอให้พระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานเสียบัดนี้เถิด)

          [๑๑๒๙] ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคต จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า

          ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาทที่บังเกิดขึ้น ให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพาน เพียงนั้น ดังนี้

1.4)
(ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เฉีบบแหลม ยังไม่แกล้วกล้าพอ)

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติแต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาท ที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคต จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค

          [๑๑๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุณีสาวิกา ของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ... แสดงธรรม มีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาทที่บังเกิดขึ้น ให้เรียบร้อย โดยสหธรรมได้

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคต จงทรงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลา ปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาค

          [๑๑๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสก ฯลฯ อุบาสิกาสาวิกาของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับ แนะนำ ไม่แกล้วกล้าไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปราท ที่บังเกิดขึ้น ให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพาน เพียงนั้น ดังนี้

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ อุบาสิกาสาวิกาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ เฉียบแหลม แล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหุสูต ทรงธรรมปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอกแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ ปรับปวาท ที่บังเกิดขึ้น ให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงปรินิพพาน ในบัดนี้เถิด ขอพระสุคต จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาค

          [๑๑๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป พรหมจรรย์ของเรานี้ จักยังไม่สมบูรณ์ แพร่หลาย กว้างขวาง รู้กัน โดยมาก แน่นหนา (มั่นคง) จนกระทั่งพวกเทวดา และมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มี พระภาค สมบูรณ์แล้ว แพร่หลายกว้างขวาง รู้กันโดยมาก แน่นหนา (มั่นคง) จนกระทั่งพวกเทวดา และมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคต จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค

1.5)

(ตถาคตจะปรินิพพาน ล่วงไปอีก ๓ เดือนนับแต่นี้ จากนั้นทรงปลงอายุสังขาร )

          [๑๑๓๓] เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรมาร ผู้มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด การปรินิพพานแห่งตถาคตจักมี ในไม่ช้า แต่นี้ล่วงไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน

          [๑๑๓๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงปลง อายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ และเมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงปลงอายุสังขารแล้ว ได้เกิด แผ่นดินไหวใหญ่ และเกิดขนพองสยองเกล้าน่าสะพรึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ ก็บันลือลั่น.

          [๑๑๓๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่ง พระอุทานนี้ ในเวลานั้น ความว่ามุนี เมื่อเทียบเคียงนิพพานและภพ ได้ปลงเสียแล้วซึ่ง ธรรมอันปรุงแต่งภพ ยินดีแล้วในภายใน มีจิตตั้งมั่นแล้วได้ทำลายแล้วซึ่งข่าย คือกิเลส อันเกิดในตนเปรียบดังเกาะ


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๗

2)
วิธีเจริญอิทธิบาท ๔ (ปุพพสูตร)

          [๑๑๓๖] พระนครสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อน แต่ตรัสรู้ ครั้งเราเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ของการเจริญอิทธิบาท.

          [๑๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร* ดังนี้ ว่า ฉันทะของเรา จักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไป ในภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตใจให้ สว่างอยู่  *(ปธานสังขาร หมายถึง ปรารภความเพียงอย่างไม่ท้อถอย)

          [๑๑๓๘] ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย วิริยสมาธิ และ ปธานสังขาร ดังนี้ว่าวิริยะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ... ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่

          [๑๑๓๙] ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย จิตตสมาธิ และ ปธานสังขาร ดังนี้ว่าจิตของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ... ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่

          [๑๑๔๐] ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย วิมังสาสมาธิ และ ปธานสังขาร ดังนี้ว่า วิมังสาของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลัง และเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้า ก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใดเบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่.

2.1)
(อิทธิบาท ๔ เมื่อกระทำให้มากย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง เช่นเดินบนน้ำ)

          [๑๑๔๑] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมแสดง ฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไป ในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดิน บนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลก ก็ได้

2.2)
(อิทธิบาท ๔ เมื่อกระทำให้มากย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์)

          [๑๑๔๒] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิดคือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งอยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์.

2.3)
(อิทธิบาท ๔ เมื่อกระทำให้มากย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์ และของบุคคลอื่น)

          [๑๑๔๓] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมกำหนด รู้ใจ ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจาก ราคะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่า จิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะจิตมีโมหะ ก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่า จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่น ก็รู้ว่า จิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น

2.4)
(อิทธิบาท ๔ เมื่อกระทำให้มากย่อมระลึก ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก)

          [๑๑๔๔] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมระลึก ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้างสิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้างพันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

          ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึง ชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.

2.5)
(อิทธิบาท ๔ เมื่อกระทำให้มากย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว-ประณีต)

          [๑๑๔๕] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมเห็น หมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดมั่นการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

          ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดมั่นการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

2.6)
(อิทธิบาท ๔ เมื่อกระทำให้มากย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้)

          [๑๑๔๖] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมกระทำ ให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก

3)

อานิสงส์ของการเจริญอิทธิบาท (มหัปผลสูตร)
(แสดงฤทธิ์ได้ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ กระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติได้ จนสิ้นอาสวะได้)

          [๑๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มาก แล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็อิทธิบาท อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก?

          ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และ ปธานสังขาร ดังนี้ว่า ฉันทะของเรา จักไม่ย่อหย่อน เกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอ มีความสำคัญในเบื้องหลัง เบื้องหน้า อยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลัง ฉันใด เบื้องหน้า ก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น

          กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีจิต เปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย วิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า วิมังสาของเรา จักไม่ย่อหย่อน เกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไป ในภายนอก และเธอ

           มีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลัง ก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใดเบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้นกลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่

3.1
(อิทธิบาท ๔ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก)

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

          [๑๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจ ทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้

          [๑๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๐

ว่าด้วยอิทธิบาท กับปธานสังขาร (ฉันทสูตร)

4)

(ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะแล้ว ได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า ฉันทสมาธิ)

          [๑๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะแล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่าฉันทสมาธิ เธอยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่งๆขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขารฉันทะนี้ด้วย ฉันทสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาท ประกอบด้วย ฉันทสมาธิและปธานสังขาร

4.1)

(ถ้าภิกษุอาศัย วิริยะ แล้วได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ)

          [๑๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยวิริยะแล้ว ได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ เธอยังฉันทะให้เกิด ฯลฯ เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร วิริยะนี้ด้วย วิริยสมาธินี้ด้วย และ ปธานสังขาร เหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วย วิริยสมาธิ และปธานสังขาร

4.2)

(ถ้าภิกษุอาศัย จิต แล้วได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า จิตสมาธิ)

          [๑๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยจิตแล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า จิตตสมาธิ เธอยังฉันทะให้เกิด ฯลฯ เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้วเหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร จิตนี้ด้วย จิตตสมาธินี้ด้วย และปธานสังขาร เหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วย จิตตสมาธิ และ ปธานสังขาร

4.3)

(ถ้าภิกษุอาศัย วิมังสา แล้วได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ)

          [๑๑๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยวิมังสาแล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิมังสาสมาธิ เธอยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อละบาป อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่งๆขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร วิมังสานี้ด้วย วิมังสาสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้นี้เรียกว่า อิทธิบาท ประกอบด้วย วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์