กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๕
๕. กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ
สมเด็จพระบรมนารถบพิตร ฯ..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
ไอ้มาต้องเมถุนปาราชิกแล้ว มิได้กลัวบาปละอายแก่บาป ปฏิญาณตัวว่า เป็นภิกษุ เข้ากระทำสังฆกรรมด้วยพระสงฆ์ เป็นอุปัชฌาย์บวชนาค ปลอมเข้า ผูกโบสถ์แลรับกฐิน..... ไอ้ชูต้องอทินนาทานปาราชิก..... แล้วปกปิดโทษไว้ ปฎิญาณตัวว่าเป็นภิกษุสมณะ นั่งหัตถบาทบวชนาค เข้าผูกอุโบสถทำสังฆกรรม ด้วยสงฆ์ ให้พระศาสนาเศร้าหมอง แลไอ้แก้วต้องอทินนาทาน ปาราชิก..... แล เอามลทินไปโทษป้ายท่าน ผู้มีศีลบริสุทธิ์
พระสงฆ์ว่ากล่าวแล้วฉะนี้ หวังจะให้ทายกทั้งปวง ที่ศรัทธากระทำกุศลไว้ สอดแคล้วกินแหนงท่านผู้มีศีลบริสุทธิ์ จะให้ผลของทายกนั้นน้อยไป มิควรหนักหนา
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าภิกษุองค์ใด ต้องจตุปาราชิกทั้งสี่ แด่อันใดอันหนึ่ง ปาราชิกแล้ว ให้มาบอกแก่สงฆ์ จงแจ้งแด่ในอุโบสถเดียวนั้น อย่าให้ปกปิดโทษ จตุปาราชิกไว้ ปฎิญาณตัวเป็นสงฆ์สมณะ เข้ากระทำสังฆกรรม อุปสมบทกรรม ด้วย คณะสงฆ์ให้เป็นมณทิล ในสังฆกรรมทั้งปวง..... ให้ศาสนาเศร้าหมอง
ถ้ามีผู้โจทนา ว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัจจะ เอาตัวเป็นโทษถึงสิ้นชีวิต แล้วให้ ริบราชบาท ขับเฆี่ยนตี โบยญาติโยมจงหนัก อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยยี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก
ที่มา : เว็บไซต์ หอมรดกไทย http://thaiheritage.net/religion/misc/law.htm |