เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

  • รวมเรื่องอินทรีย์ ๕ (Page3/5)
1663
  P1661 P1662 P1663 P1664 P1665
รวมเรื่องอินทรีย์ ๕
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
  รวมเรื่องอินทรีย์ ๕
28 ว่าด้วยอินทรีย์ ๓ (ปิณโฑลภารทวาชสูตร)
29 ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก (สัทธาสูตร)
30 ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรม (โกสลสูตร)
31 ว่าด้วยอินทรีย์ ๔ (มัลลกสูตร)
32 ว่าด้วยพระเสขะและพระอเสขะ (เสขสูตร)
33 บทธรรมที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ (ปทสูตร)
34 ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม (สารสูตร)
35 ว่าด้วยธรรมอันเอก (ปติฎฐิตสูตร)
36 ว่าด้วยท้าวสหัมบดีพรหม (พรหมสูตร)
37 ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ (สูกรขาตาสูตร)
   
 


28

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๔
ปิณโฑลภารทวาชสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์ ๓

            [๑๐๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ก็สมัยนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ได้พยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๔] ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ พยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ เห็นอำนาจ ประโยชน์อะไรหนอ จึงพยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการอันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะ จึงพยากรณ์ อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๗] อินทรีย์ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑.

            [๑๐๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการนี้แล อันตน เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะจึงพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ...กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์ ๓ ประการนี้ มีอะไรเป็นที่สุด มีความสิ้นเป็นที่สุด มีความสิ้นแห่งอะไรเป็นที่สุด มีความสิ้นแห่งชาติ ชราและมรณะ เป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุปิณโฑลภารทวาชะเห็นว่า ความสิ้นแห่งชาติ ชรา และ มรณะดังนี้แล จึงพยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี.



29
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๕
สัทธาสูตร
ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก

            [๑๐๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคะชื่ออาปณะ ในแคว้นอังคะณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้ว ตรัสว่า ดูกรสารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลง หรือสงสัยในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต.

            [๑๐๑๑] พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด มีศรัทธามั่นเลื่อมใสยิ่ง ในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคตหรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

            [๑๐๑๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำ และ คำพูดแม้นานได้.

            [๑๐๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต.

            [๑๐๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่าจักรู้ชัดอย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้นอันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืด คืออวิชชา นั้นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีตคือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัดความดับ นิพพาน.

            [๑๐๑๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่น อย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้ว รู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.

            [๑๐๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ศรัทธาของอริยสาวก เป็นสัทธินทรีย์ ดังนี้แล.

            [๑๐๑๗] พ. ดีละๆ สารีบุตร อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสในตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคต หรือในศาสนาของ พระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

            [๑๐๑๘] ดูกรสารีบุตร ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่า อริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติ ประกอบ ด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำที่พูด แม้นานได้.

            [๑๐๑๙] ดูกรสารีบุตร ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวก ผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วง นิพพาน ให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต.

            [๑๐๒๐] ดูกรสารีบุตร ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่า อริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ชัดอย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้น อันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืด คืออวิชชา นั่นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีตคือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัดความดับ นิพพาน.

            [๑๐๒๑] ดูกรสารีบุตร ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้วรู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วย นามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.

            [๑๐๒๒] ดูกรสารีบุตร สิ่งใดเป็นศรัทธาของอริยสาวกนั้น สิ่งนั้นเป็น
สัทธินทรีย์ ของอริยสาวกนั้น ดังนี้แล.



30
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๘
โกสลสูตร
ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรม

            [๑๐๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกสลพราหมณคาม ในแคว้นโกศล ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า.

            [๑๐๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์ดิรัจฉานทุกจำพวก สีหมฤคราช โลกกล่าวว่า เป็นยอดของสัตว์เหล่านั้น เพราะมีกำลัง มีฝีเท้า มีความกล้า ฉันใด             บรรดาโพธิปักขิยธรรมทุกอย่าง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

            [๑๐๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้.

            [๑๐๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์ดิรัจฉานทุกจำพวก สีหมฤคราช โลกกล่าวว่า เป็นยอดของสัตว์เหล่านั้น เพราะมีกำลัง มีฝีเท้า มีความกล้า ฉันใด บรรดาโพธิปักขิยธรรมทุกอย่าง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรม เหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.



31
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๘
มัลลกสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์ ๔

            [๑๐๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวมัลละ ชื่ออุรุเวลกัปปะ ในแคว้นมัลละ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

            [๑๐๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อริยญาณยังไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกเพียงใด อินทรีย์ ๔ก็ยังไม่ตั้งลงมั่นเพียงนั้น เมื่อใดอริยญาณ เกิดขึ้นแล้วแก่อริยสาวก เมื่อนั้น อินทรีย์ ๔ ก็ตั้งลงมั่น.

            [๑๐๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนยอด เมื่อเขายังไม่ได้ยกยอด ขึ้นเพียงใด กลอนเรือนก็ยังไม่ชื่อว่า ตั้งอยู่มั่นคง เพียงนั้น เมื่อใด เขายกยอดขึ้นแล้ว เมื่อนั้นกลอนเรือนจึงเรียกว่า ตั้งอยู่มั่นคง ฉันใด อริยญาณ ยังไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวก เพียงใด อินทรีย์๔ ก็ยังไม่ตั้งลงมั่นเพียงนั้น เมื่อใด อริยญาณเกิดขึ้นแล้วแก่อริยสาวก เมื่อนั้น อินทรีย์ ๔ ก็ตั้งลงมั่น ฉันนั้นเหมือนกัน อินทรีย์ ๔ เป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑.

            [๑๐๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อันไปตามปัญญา ของอริยสาวกผู้มีปัญญา ย่อมตั้งมั่น.



32
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๙
เสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะและพระอเสขะ

            [๑๐๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่ภิกษุ ผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ พึงรู้ว่า เราเป็นพระเสขะ ที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะ อาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิ พึงรู้ว่า เราเป็นพระอเสขะ มีอยู่หรือ? ภิกษุทั้งหลาย
กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน.

            [๑๐๓๒] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ใน เสขภูมิ พึงรู้ว่า เราเป็นพระเสขะ ที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิ พึงรู้ว่า เราเป็นพระอเสขะมีอยู่.

            [๑๐๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ใน เสขภูมิ ย่อมรู้ว่า เราเป็นพระเสขะ เป็นไฉน? ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายแม้นี้แล ที่ภิกษุผู้เป็นเสขะ อาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ ย่อมรู้ชัดว่า เราเป็นพระเสขะ.

            [๑๐๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเสขะ ย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์อื่น ภายนอกจากศาสนานี้ ซึ่งจะแสดงธรรม ที่จริงแท้ แน่นอน เหมือนพระผู้มีพระภาค มีอยู่หรือ? พระเสขะนั้นย่อมรู้ชัด อย่างนี้ว่า สมณะ หรือพราหมณ์อื่นภายนอกจากศาสนานี้ ซึ่งจะแสดงธรรมที่จริงแท้แน่นอน เหมือนพระ ผู้มีพระภาค ไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลายปริยายแม้นี้แล ที่ภิกษุผู้เป็นเสขะ อาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ ย่อมรู้ว่าเราเป็นพระเสขะ.

            [๑๐๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเสขะย่อมรู้ชัด ซึ่งอินทรีย์ ๕คือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ อินทรีย์ ๕ นั้นมีสิ่งใดเป็นคติ มีสิ่งใดเป็นอย่างยิ่ง มีสิ่งใดเป็นผล มีสิ่งใดเป็นที่สุด ภิกษุผู้เป็นเสขะยังไม่ถูกต้องสิ่งนั้นด้วยนามกาย แต่เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายแม้นี้แลที่ภิกษุผู้เป็นเสขะ อาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ ย่อมรู้ว่า เราเป็นพระเสขะ.

            [๑๐๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่ภิกษุ ผู้เป็นอเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิย่อมรู้ว่า เราเป็นพระอเสขะ เป็นไฉน? ภิกษุผู้เป็นอเสขะในธรรม วินัยนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่งอินทรีย์ ๕คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ ๕ มีสิ่งใดเป็นคติ มีสิ่งใดเป็นอย่างยิ่ง มีสิ่งใดเป็นผลมีสิ่งใดเป็นที่สุด อริยสาวกผู้เป็นอเสขะ ถูกต้อง สิ่งนั้น ด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายแม้นี้แล ที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะอาศัย และตั้งอยู่ในอเสขภูมิย่อมรู้ว่า เราเป็นพระเสขะ.

            [๑๐๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นอเสขะย่อมรู้ชัด ซึ่งอินทรีย์ ๖ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายยินทรีย์ ๑ มนินทรีย์ ๑ อริยสาวกผู้เป็นอเสขะย่อมรู้ชัดว่า อินทรีย์ ๖ เหล่านี้ จักดับไปหมดสิ้น โดยประการทั้งปวง ไม่มีเหลือ และอินทรีย์ ๖ เหล่าอื่น จักไม่เกิดขึ้นในภพไหนๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายแม้นี้แลที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิ ย่อมรู้ชัดว่า เราเป็นพระอเสขะ.



33
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๑
ปทสูตร
บทธรรมที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

            [๑๐๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง โลกกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด บทแห่งธรรม เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บท คือ ปัญญินทรีย์เรา กล่าวว่า เป็นยอดแห่งบทธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

            [๑๐๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทแห่งธรรมทั้งหลายเป็นไฉน ย่อมเป็นไป เพื่อความตรัสรู้? ได้แก่บทแห่งธรรม คือ สัทธินทรีย์ ... วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้.



34
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๑
สารสูตร
ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม

            [๑๐๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด บทแห่งธรรม เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บท คือ ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดของบทแห่งธรรมเหล่านั้นเพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

            [๑๐๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่น ชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

            [๑๐๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ ...วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้.

            [๑๐๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.



35
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๒

ปติฎฐิตสูตร
ว่าด้วยธรรมอันเอก

            [๑๐๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เป็นอันภิกษุ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันเอก เจริญแล้วเจริญดีแล้ว ธรรมอันเอกเป็นไฉน? คือความไม่ประมาท.

            [๑๐๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไม่ประมาทเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัย นี้ ย่อมรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ เมื่อเธอรักษาจิตไว้ในอาสวะ และธรรมที่มีอาสวะสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ แม้ปัญญินทรีย์ ก็ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.

            [๑๐๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เป็นอันภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันเอก เจริญแล้วเจริญดีแล้ว แม้ด้วยประการฉะนี้แล



36
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๒
พรหมสูตร
ว่าด้วยท้าวสหัมบดีพรหม

            [๑๐๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่าง:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสผู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ แทบฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ทรงเกิดความ ปริวิตกแห่งพระหฤทัยอย่างนี้ว่า อินทรีย์ ๕ ที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่ง ลงสู่อมตะมีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

            อินทรีย์ ๕ เป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ ที่เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่ อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ฯลฯ ปัญญินทรีย์ที่เจริญ แล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ ที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็น เบื้องหน้ามี อมตะเป็นที่สุด.

            [๑๐๔๘] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัย ด้วยใจแล้วจึงหายตัวจากพรหมโลก มาปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษ ผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น.

            [๑๐๔๙] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม กระทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนม อัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็น อย่างนั้น ข้าแต่พระสุคตข้อนี้เป็นอย่างนั้น อินทรีย์ ๕ ที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด อินทรีย์ ๕ เป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ ที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ที่เจริญแล้ว กระทำมากแล้วย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ ที่เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.

            [๑๐๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์ได้ประพฤติ พรหมจรรย์ ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ แม้ในเวลานั้น เขารู้จัก พระองค์อย่างนี้ว่า สหกภิกษุๆ เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ อันข้าพระองค์ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วข้าพระองค์ จึงคลายกามฉันท์ ในกามทั้งหลายเสียได้ เมื่อตายไป ได้เข้าถึงสุคติพรหมโลก แม้ในพรหมโลกนั้น เขาก็รู้จักข้าพระองค์ อย่างนี้ว่า ท้าวสหัมบดีพรหมๆ.

            [๑๐๕๑] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้ เป็นอย่างนั้นข้าพระองค์รู้ ข้าพระองค์เห็น ข้อที่อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.



37
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๓
สูกรขาตาสูตร
ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ

            [๑๐๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระองค์ตรัสเรียกท่านพระสารีบุตร แล้วตรัสถามว่า ดูกรสารีบุตรภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอ จึงประพฤตินอบน้อม อย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต.

            [๑๐๕๓] ท่านสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่ง ในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต.

            [๑๐๕๔] พ. ถูกละๆ สารีบุตร ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นธรรมเป็นแดนเกษมจาก โยคะอันยอดเยี่ยม จึงประพฤตินอบน้อม ในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต

            [๑๐๕๕] ดูกรสารีบุตร ก็ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม ที่ภิกษุขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่ง ในตถาคต หรือในศาสนาของ ตถาคตนั้น เป็นไฉน?

            [๑๐๕๖] สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ สัทธินทรีย์อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ย่อมเจริญวิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ...ปัญญินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤติ นอบน้อมอย่างยิ่ง ในตถาคตหรือ ในศาสนาของพระตถาคต

            [๑๐๕๗] พ. ถูกละๆ สารีบุตร ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม นี้แลที่ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนา ของตถาค

            [๑๐๕๘] ดูกรสารีบุตร การนอบน้อมอย่างยิ่ง ที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติใน ตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต เป็นไฉน?

            [๑๐๕๙] สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ มีความ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ในสมาธิ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การนอบน้อมอย่างยิ่งแล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติ ในพระตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต.

            [๑๐๖๐] พ. ถูกละๆ สารีบุตร การนอบน้อมอย่างยิ่งนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพ ประพฤติในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต.

 

 





พุทธวจน : ออนไลน์
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์