19
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๒
อรหันตสูตร
อินทรีย์ ๕ อาศัยผัสสะเกิดเวทนา
[๙๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ สุขินทรีย์... อุเปกขินทรีย์.
[๙๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนาเกิดขึ้นภิกษุนั้นสบายกาย ก็รู้ชัดว่าสบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา นั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ สุขินทรีย์ ที่อาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป.
[๙๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นไม่สบายกาย ก็รู้ชัดว่าเราไม่สบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา นั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ทุกขินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป.
[๙๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โสมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง โสมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นสบายใจ ก็รู้ชัดว่าเราสบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะ ผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ โสมนัสสินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป.
[๙๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้ง แห่งโทสนัสสเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุไม่สบายใจ ก็รู้ชัดว่า เราไม่สบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสสเวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ ผัสสะนั้น คือ โทมนัสสินทรีย์ที่อาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสสเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป.
[๙๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุเปกขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่ง อุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นรู้สึกเฉยๆ ก็รู้ชัดว่า เรารู้สึกเฉยๆ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะ ผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนา นั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ อุเปกขินทรีย์ที่อาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป.
[๙๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไม้ ๒ อัน เสียดสีกันจึงเกิด ความร้อน เกิดไฟขึ้น เพราะแยกไม้ ๒ อันนั่นเองให้ออกจากกันเสีย ความร้อนที่เกิด เพราะความเสียดสี ย่อมดับสงบไป ฉันใด สุขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นสบายกาย ก็รู้ชัดว่า เราสบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา นั้นแหละดับไปเวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะ คือ สุขินทรีย์ ที่อาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไปสงบไป ทุกขินทรีย์ย่อม อาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ โสมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสส ะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ โสมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ
อุเปกขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้น รู้สึกเฉยๆ ก็รู้ชัดว่า เรารู้สึกเฉยๆ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง อุเบกขาเวทนา นั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ อุเปกขินทรีย์ที่อาศัย ผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป ฉันนั้น เหมือนกัน.
20
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๔
อุปปฏิกสูตร
อินทรีย์ ๕ มีนิมิตเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง
[๙๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือทุกขินทรีย์ ๑ โทมนัสสินทรีย์ ๑ สุขินทรีย์ ๑ โสมนัสสินทรีย์ ๑ อุเปกขินทรีย์ ๑.
[๙๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ทุกขินทรีย์เกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขินทรีย์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และทุกขินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย แต่จะอนุมานเอาว่า ทุกขินทรีย์นั้น ไม่ต้องมีนิมิต ไม่มีเหตุ ไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย จักเกิดขึ้นได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เธอย่อมรู้ชัดทุกขินทรีย์ เหตุเกิดแห่งทุกขินทรีย์ ความดับแห่ง ทุกขินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับ โดยไม่เหลือแห่งทุกขินทรีย์ ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ ทุกขินทรีย์ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ไม่มีเหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งทุกขินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
[๙๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
โทมนัสสินทรีย์เกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า โทมนัสสินทรีย์ เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา และโทมนัสสินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย แต่จะอนุมานเอาว่า โทมนัสสินทรีย์นั้นไม่ต้องมีนิมิต ไม่มีเหตุ ไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย จักเกิดขึ้นได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้
เธอย่อมรู้ชัดโทมนัสสินทรีย์ เหตุเกิดแห่ง โทมนัสสินทรีย์ ความดับแห่งโทมนัส สินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับโดย ไม่เหลือ แห่งโทมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็โทมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ไม่มีเหลือในที่ไหน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าทุติยฌาน อันมีความ ผ่องใสแห่งจิต ในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจาร สงบไป มีปีติและ สุขเกิดแต่สมาธิอยู่
โทมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มี เหลือในที่นี้ ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งโทมนัสสินทรีย์ และน้อมจิต เข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
[๙๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีความเด็ดเดี่ยว สุขินทรีย์เกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า สุขินทรีย์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และสุขินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย แต่จะอนุมานเอาว่า สุขินทรีย์ นั้น ไม่ต้องมีนิมิตไม่มีเหตุ ไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย จักเกิดขึ้นได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้ เธอย่อมรู้ชัดสุขินทรีย์ เหตุเกิดแห่งสุขินทรีย์ ความดับแห่งสุขินทรีย์ และ ข้อปฏิบัติ ที่ดับโดยไม่เหลือแห่งสุขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ก็สุขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน?
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข สุขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่เหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งสุขินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
[๙๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว โสมนัสสินทรีย์เกิดขึ้น เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า โสมนัสสินทรีย์นี้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา และโสมนัสสินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย แต่จะอนุมาน เอาว่า โสมนัสสินทรีย์นั้นไม่ต้องมีนิมิต ไม่มีเหตุ ไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย จักเกิดขึ้นได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เธอย่อมรู้ชัดโสมนัสสินทรีย์ เหตุเกิดแห่ง โสมนัสสินทรีย์ ความดับแห่งโสมนัสสินทรีย์ และข้อปฏิบัติ เป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่ง โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือ ในที่ไหน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข และละทุกข์ละสุข และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งโสมนัสสินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
[๙๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อุเปกขินทรีย์เกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อุเปกขินทรีย์นี้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา และอุเปกขินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย แต่จะอนุมานเอาว่า อุเปกขินทรีย์นั้นไม่ต้องมีนิมิต ไม่มีเหตุ ไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย จักเกิดขึ้นได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้เธอ ย่อมรู้ชัดอุเปกขินทรีย์ เหตุเกิดแห่งอุเปกขินทรีย์ ความดับ แห่งอุเปกขินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ แห่งอุเปกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็อุเปกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อุเปกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่เหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งอุเปกขินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
21
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๘
อุณณาภพราหมณสูตร
อินทรีย์ ๕ มีอารมณ์ต่างกัน
[๙๖๖] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น อุณณภพราหมณ์เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
[๙๖๗] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน
อินทรีย์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ
จักขุนทรีย์ ๑
โสตินทรีย์ ๑
ฆานินทรีย์ ๑
ชิวหินทรีย์ ๑
กายินทรีย์ ๑
อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจร ต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และอะไรย่อมเสวยอารมณ์อันเป็น โคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้?
[๙๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ ๕ ประการ เป็นไฉน?คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ ใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และใจย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจร ของอินทรีย์ ๕ ประการนี้.
[๙๖๙] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจเล่า?
พ. ดูกรพราหมณ์ สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจ.
[๙๗๐] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติเล่า?
พ. ดูกรพราหมณ์ วิมุติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติ.
[๙๗๑] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุติเล่า?
พ. ดูกรพราหมณ์ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุติ.
อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งนิพพาน.
พ. ดูกรพราหมณ์ ท่านล่วงเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่สุด แห่งปัญหา ได้ด้วยว่า พรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็น เบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด.
[๙๗๒] ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์ชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิต ของพระผู้มี พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป.
[๙๗๓] ครั้นอุณณาภพราหมณ์หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า
[๙๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรือนยอดหรือศาลาคล้ายเรือนยอด มีหน้าต่าง ในทิศเหนือหรือทิศตะวันออก เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไป แสงส่องเข้าไปทางหน้าต่าง ตั้งอยู่ที่ฝาด้านไหน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก พระเจ้าข้า.
พ. อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาในพระตถาคตของ อุณณาภพราหมณ์ มั่นคงแล้ว มีรากเกิดแล้ว ตั้งอยู่มั่นแล้ว อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลกจะพึงชักนำไปไม่ได้ ถ้าอุณณาภพราหมณ์ พึงทำกาละ ในสมัยนี้ไซร้ ย่อมไม่มีสังโยชน์ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบให้อุณณาภพราหมณ์ ต้องมา ยังโลกนี้อีก.
22
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎกหน้าที่ ๒๓๙
สาเกตสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์ ๕ พละ ๕
[๙๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมิคทายวัน ใกล้เมืองสาเกต ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้ว ย่อมเป็นพละ ๕ ที่พละ ๕ อาศัยแล้ว ย่อมเป็นอินทรีย์ ๕ มีอยู่หรือหนอ?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาค เป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้ง กะพระผู้มีพระภาค เถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้.
[๙๗๖] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้ว เป็นพละ ๕ ที่พละ ๕อาศัยแล้ว เป็นอินทรีย์ ๕ มีอยู่ ปริยายที่อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้ว เป็นพละ ๕ ที่พละ ๕ อาศัยแล้ว เป็นอินทรีย์ ๕ เป็นไฉน?
[๙๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละ
สิ่งใดเป็นสัทธาพละ สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์
สิ่งใดเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นวิริยพละ
สิ่งใดเป็นวิริยพละสิ่งนั้นเป็นวิริยินทรีย์
สิ่งใดเป็นสตินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสติพละ
สิ่งใดเป็นสติพละ สิ่งนั้นเป็นสตินทรีย์
สิ่งใดเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสมาธิพละ
สิ่งใดเป็นสมาธิพละ สิ่งนั้นเป็นสมาธินทรีย์
สิ่งใดเป็นปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ
สิ่งใดเป็นปัญญาพละ สิ่งนั้นเป็นปัญญินทรีย์.
[๙๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำ ซึ่งไหลไปทางทิศ ตะวันออก หลั่งไปทางทิศตะวันออก บ่าไปทางทิศตะวันออก ที่ตรงกลางแม่น้ำนั้น มีเกาะ ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียวมีอยู่ อนึ่ง ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่าสองกระแสที่มีอยู่.
[๙๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น อาศัยแล้ว ย่อมถึง ซึ่งความนับว่ากระแสเดียวเป็นไฉน? คือ น้ำในที่สุดด้านตะวันออกและในที่สุด ด้านตะวันตกแห่งเกาะนั้นปริยายนี้แล ที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่ง ความนับว่ากระแสเดียว.
[๙๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น อาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่าสองกระแสเป็นไฉน? คือ น้ำในที่สุดด้านเหนือ และในที่สุด ด้านใต้แห่งเกาะนั้นปริยายนี้แล ที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความ นับว่า สองกระแส ฉันใด.
[๙๘๑] ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละสิ่งใดเป็นสัทธาพละ สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งใดเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นวิริยพละ สิ่งใดเป็นวิริยพละ สิ่งนั้นเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งใดเป็นสตินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสติพละ สิ่งใดเป็นสติพละสิ่งนั้นเป็นสตินทรีย์ สิ่งใดเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสมาธิพละ สิ่งใดเป็นสมาธิพละ สิ่งนั้นเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งใดเป็นปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ สิ่งใดเป็นปัญญาพละ สิ่งนั้นเป็นปัญญินทรีย์.
[๙๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๕ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุจึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.
23
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๐
ปุพพโกฏฐกสูตร
พระสารีบุตรไม่เชื่อพระพุทธเจ้า
[๙๘๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพโกฏฐกะ ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้ว ตรัสว่า
[๙๘๔] ดูกรสารีบุตร เธอเชื่อหรือว่า สัทธินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด วิริยินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็น เบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.
[๙๘๕] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ไม่ถึงความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นพึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่น ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่ อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ก็แลอมตะนั้นชนเหล่าใดรู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น หมดความ เคลือบแคลงสงสัย ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อมตะนั้น ข้าพระองค์รู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้ง แล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ข้าพระองค์จึงหมดความ เคลือบแคลง สงสัย ในอมตะนั้นว่าสัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.
[๙๘๖] พ. ดีละๆ สารีบุตร ด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น พึงถึงความ เชื่อต่อชนเหล่าอื่ นในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ก็แล อมตะนั้น ชนเหล่าใดรู้แล้ว เห็นแล้วทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้ว ด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นหมดความเคลือบแคลงสงสัย ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็น เบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.
24
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๒
ปุพพารามสูตรที่ ๑
ว่าด้วยปัญญินทรีย์เป็นใหญ่
[๙๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในปุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษ ทั้งหลาย มาแล้วตรัสถามว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์เท่าไรหนอ อันตนเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้วภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ
[๙๘๘] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ประการหนึ่ง อันตน เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อินทรีย์อย่างหนึ่งเป็นไฉน? คือปัญญินทรีย์.
[๙๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อันไปตามปัญญาของ พระอริยสาวกผู้มีปัญญา ย่อมตั้งมั่น.
[๙๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ประการหนึ่งนี้แล อันตน เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
25
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๓
ปุพพารามสูตรที่ ๒
ว่าด้วยอินทรีย์ ๒
[๙๙๑] นิทานนั้นเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์เท่าไรหนอ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพย่อมพยากรณ์
[๙๙๒] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๒ ประการ อันตนเจริญ แล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[๙๙๓] อินทรีย์ ๒ ประการเป็นไฉน? คือ ปัญญาอันเป็นอริยะ ๑ วิมุติอันเป็น อริยะ ๑ ก็ปัญญา อันเป็นอริยะของภิกษุนั้น เป็นปัญญินทรีย์ วิมุติอันเป็นอริยะของ ภิกษุนั้น เป็นสมาธินทรีย์.
[๙๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๒ ประการนี้แล อันตน เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
26
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๔
ปุพพารามสูตรที่ ๓
ว่าด้วยอินทรีย์ ๔
[๙๙๕] นิทานนั้นเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์เท่าไรหนอ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวก ข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ
[๙๙๖] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๔ ประการ อันตน เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้.
[๙๙๗] อินทรีย์ ๔ ประการเป็นไฉน? คือ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ปัญญินทรีย์ ๑.
[๙๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๔ ประการนี้แล อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
27
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๔
ปุพพารามสูตรที่ ๔
ว่าด้วยอินทรีย์ ๕
[๙๙๙] นิทานนั้นเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์เท่าไรหนอ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวก ข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ
[๑๐๐๐] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๕ ประการ อันตน เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[๑๐๐๑] อินทรีย์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑.
[๑๐๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล อันตน เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
|