เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

พระพุทธเจ้าสมัยเป็นพราหมณ์ชื่อ"มหาโควินทพราหมณ์" ตอนที่ 1 1638
 
  P1638 P1639 P1640 P1641  
มหาโควินทพราหมณ์  
 

(ย่อ)
มหาโควินทสูตร ตอนที่ 1
พระพุทธเจ้าสมัยเป็นพราหมณ์ชื่อ มหาโควินทพราหมณ์ ทรงเล่าให้คนธรรพเทพบุตร นามว่า ปัญจสิขะ (คนธรรพ์) ได้ฟัง

(1) คนธรรพ์ชื่อปัญจสิขะ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
คนธรรพชื่อปัญจสิขะ สอบถามเรื่องที่ฟังมาจาก สุธรรมสภา (ที่ประชุมเทวดา) ในคืนจันทร์เเพ็ญ อุโบสถที่ 15 ประกอบด้วยเทวดาเหล่าต่างๆ
1. เทวดาชั้นดาวดึงส์ (พระอินทร์)
2. เทวดา จาตุมหาราช นั่งอยู่ใน ๔ ทิศ ประกอบด้วย
    -ท้าวธตรฐมหาราช (เทพประจำทิศตะวันออก)
    -ท้าววิรุฬหกมหาราช (เทพประจำทิศใต้)
    -ท้าววิรูปักขมหาราช (เทพประจำทิศตะวันตก)
    -ท้าวเวสสวรรณมหาราช (เทพประจำทิศเหนือ)

3. เทวดาชั้นดาวดึงส์ผู้มาใหม่ ที่ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค
พากันปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัสว่า กายทิพย์ย่อมบริบูรณ์หนอ อสุรกาย ย่อมเสื่อมไป

ท้าวสักกะจอมเทพ ทราบความเบิกบานใจของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยพระอินทร์
ว่าเทวดาผู้ใหม่ ที่เป็นสาวกของพระตถาคต มีวรรณะ มียศ มีปัญญากว้าง เห็นแล้วย่อมยินดี ถวายนมัสการพระตถาคต ว่าพระธรรมของพระองค์เป็นธรรมดี

(2) ท้าวสักกะจอมเทพ จึงได้ยกทรงคุณของพระพุทธเจ้า 8 ประการ แสดงแก่เหล่าเทวดา
1.ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อความสุขแก่มนุษย์และเทวดา
2.ทรงตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน
3.ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า นี้กุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ นี้ควรเสพ นี้ไม่ควรเสพ นี้เลว นี้ประณีต
4.ทรงบัญญัตินิพพานคามินีปฏิปทา เพื่อพระสาวก ทั้งหลายไว้ดีแล้ว
5.ทรงได้พระเสขะ(ผู้เดินมรรค) และพระขีณาสพ(อรหันต์) ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นสหาย
6.พระภาคพระองค์นั้น ปราศจากความเมา เสวยพระกระยาหาร
7.ทรงตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใดตรัสอย่างนั้น
8.ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความคลางแคลง มีความดำริถึงที่สุด (แห่งพรหมจรรย์)

(3) พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ที่อุบัติในโลก แสดงธรรมเหมือนกัน
(4) พระพุทธเจ้า 2 พระองค์จะอุบัติในโลกธาตุเดียวกัน ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาส
(5) แสงสว่างเกิดที่ใด จะเป็นเหตุให้พรหมปรากฎที่นั้น
(6) เทวดาชั้นดาวดึงส์ และท้าวจาตุมหาราช จะไม่จากไป จนกว่าจะทำให้แจ้ง
(7) สนังกุมารพรหม
  - เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฎแก่เทวดาดาวดึงส์ ก็นิรมิตอัตตภาพอันยิ่งใหญ่(แสดงตนให้ดูยิ่งใหญ่)
  - เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาทั้งหมดนั่งประณมมือนิ่งอยู่บนบัลลังก์
  - เมื่อสนังกุมารพรหม นั่งบนบัลลังก์ของเทวดาใด เทวดาผู้นั้นย่อมได้ความยินดี ได้โสมนัสอย่างยิ่ง
  - เทวดาทั้งหลายเห็นว่าธรรมของตถาคตเป็นธรรมที่ดี เทวดาผู้ใหม่ที่เป็นสาวกตถาคต มีปัญญา กว้างขวาง บรรลุคุณวิเศษแล้ว รุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น
  - เสียงสนังกุมารพรหมประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือแจ่มใส ชัดเจน นุ่มนวล น่าฟัง กลมกล่อม ไม่พร่า ลึก มีกังวาน ผู้ใดมีคุณสมบัติดังนี้ กล่าวกันว่า มีเสียงดังเสียงพรหม
  - ท้าวสักกะจอมเทพ ยกย่ององค์คุณ ๘ ประการของตถาคต เช่นเดียวกับสนังกุมารพรหม ว่าไม่เคย เห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ แม้ในอดีตกาลก็ไม่เคยเห็น
- ครั้งนั้น สนังกุมารพรหม นิมิตอัตภาพใหญ่ยิ่ง เป็นเพศกุมารีแกละ ๕ แกละ เหาะขึ้นยังเวหาส นั่ง ขัดสมาธิอยู่ในอากาศที่ว่าง

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันต หน้าที่ ๑๙๙-๒๒๖

(1)

พระพุทธเจ้าสมัยเป็นพราหมณ์ชื่อ"มหาโควินทพราหมณ์"
(มหาโควินทสูตร)

            [๒๐๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น คนธรรพเทพบุตร* นามปัญจสิขะ มีผิวพรรณผ่องใส เมื่อล่วงปฐมยามแล้ว ยังภูเขา คิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นคนธรรพเทพบุตร นามว่าปัญจสิขะ ยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะขอกราบทูลข้อความ ที่ข้าพระองค์สดับมาแล้ว รับมาแล้ว ต่อหน้าพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เชิญท่าน บอกแก่พวกเราเถิด ปัญจสิขะ
*คนธรรพ์ ต่ำกว่าเทวดาชั้นจาตุ (แต่นับเนื่องเป็นเทวดา)

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ นานมาแล้วในวันอุโบสถที่ ๑๕ ในราตรี มีพระจันทร์เพ็ญ วันปวารณา เทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้น นั่งประชุมกันในสุธรรมาสภา เทวบริษัท เป็นอันมากนั่งอยู่รอบๆ และ ท้าวจาตุมหาราช นั่งอยู่ใน ๔ ทิศ คือ

(๑) ในทิศบูรพา ท้าวธตรฐมหาราช (เทพประจำทิศตะวันออก) แวดล้อมด้วยเทวดา ทั้งหลาย นั่งผินหน้าไปทางทิศปัศจิม (หันหน้าจากทิศตะวันออกไปตะวันตก)

(๒)
ในทิศทักษิณ ท้าววิรุฬหกมหาราช (เทพประจำทิศใต้) แวดล้อมด้วยเทวดา ทั้งหลาย นั่งผินหน้าไปทางทิศอุดร (หันหน้าจากทิศใต้ ไปทิศเหนือ)

(๓)
ในทิศปัศจิม ท้าววิรูปักขมหาราช (เทพประจำทิศตะวันตก) แวดล้อมด้วยเทวดา ทั้งหลาย นั่งผินหน้าไปทางทิศบูรพา (หันหน้าจากตะวันตกไปทิศตะวันออก)

(๔)
ในทิศอุดร ท้าวเวสสวรรณมหาราช (เทพประจำทิศเหนือ) แวดล้อมด้วยเทวดา ทั้งหลาย นั่งผินหน้าไปทางทิศทักษิณ (หันหน้าจากทิศเหนือไปทิศใต้)

           

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อใด เทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้น นั่งประชุมกันใน สุธรรมาสภา เทวบริษัทเป็นอันมาก นั่งอยู่โดยรอบ และท้าวจาตุมหาราชนั่งอยู่ใน ๔ ทิศ ที่อาสนะของท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น หลังถัดออกมาก็อาสนะของข้าพระองค์ ยังมีเหล่าเทวดา ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค แล้วบังเกิดในหมู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์ ไม่นาน รุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น ด้วยวรรณะและยศ ได้ยินว่า เพราะเหตุนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหลาย ย่อมปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัสว่า ท่านผู้เจริญ กายทิพย์ย่อมบริบูรณ์หนอ อสุรกายย่อมเสื่อมไป

      ข้าแต่พระผู้เจริญ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทราบความเบิกบานใจของเหล่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ แล้วบันเทิงตามด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

            [๒๑๐] ดูกรท่านผู้เจริญ เทวดาชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยพระอินทร์ ย่อม บันเทิงใจ ถวายนมัสการ พระตถาคต และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เห็นเทวดา ผู้ใหม่ๆ มีวรรณะมียศประพฤติพรหมจรรย์ ในพระสุคตแล้ว มาในที่นี้ เทวดาเหล่านั้น เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระปัญญากว้างขวาง บรรลุคุณวิเศษแล้วรุ่งเรือง ล่วงเทวดาเหล่าอื่น ณ ที่นี้ ด้วยวรรณะ ด้วยยศ และอายุเทวดาชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วย พระอินทร์ เห็นเช่นนี้แล้ว ย่อมยินดีถวายนมัสการพระตถาคต และความที่พระธรรม เป็นธรรมดี

            [๒๑๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ยินว่า เพราะเหตุนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัสโดยยิ่งกว่าประมาณว่า ดูกรท่านผู้เจริญ กายทิพย์ย่อมบริบูรณ์หนอ อสุรกายย่อมเสื่อมไป

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงทราบความเบิกบานใจ ของเทวดา ชั้นดาวดึงส์ แล้วตรัสเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาว่า
---------------------------------------------------------------------------


(2)
(องค์คุณ ๘ ประการ ที่เหล่าเทวดาฟังแล้วรู้สึก ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ และโสมนัส ยิ่งกว่าประมาณ )

      ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายปรารถนาจะฟังพระคุณ ตามที่มีจริง ๘ ประการ ของพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นหรือ เทวดาชั้นดาวดึงส์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ ทั้งหลายปรารถนา จะฟังพระคุณตามที่มีจริง ๘ ประการ ของพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น

      ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงยกพระคุณตามที่มีจริง ๘ ประการของพระผู้มี พระภาค ขึ้นแสดงแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เทวดาชั้น ดาวดึงส์จะสำคัญความข้อนี้นั้น เป็นไฉน

     (1) พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เพียงไร เราไม่เคยเห็น พระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ทรงปฏิบัติเพื่อ เกื้อกูลแก่ชน เป็นอันมาก เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เพื่อ เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อย่างนี้ ในอดีตกาลเลยถึงในบัดนี้ ก็ไม่เห็น นอกจาก พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

      (2) อนึ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็นพระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ทรงแสดงธรรม อันควรน้อม เข้ามาในตน อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น

      (3) นึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า นี้กุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มี โทษ นี้ควรเสพ นี้ไม่ควรเสพ นี้เลว นี้ประณีต นี้มีส่วนเทียบด้วยธรรมดำและธรรมขาว เราไม่เคยเห็นพระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ทรงบัญญัติธรรมอันเป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ควรเสพ ไม่ควรเสพ เลวประณีต มีส่วนเทียบด้วยธรรมดำ และธรรมขาว อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น

      (4) อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัตินิพพานคามินีปฏิปทา เพื่อ พระสาวก ทั้งหลายไว้ดีแล้ว พระนิพพานและปฏิปทาย่อมเทียบเคียงกัน ได้ดุจน้ำ ในแม่น้ำคงคากับน้ำในแม่น้ำยมุนา ย่อมไหล คลุกคละกันได้ฉะนั้น เราไม่เคยเห็น พระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ทรงบัญญัติ นิพพานคามินีปฏิปทาอย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

      (5) อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะผู้ดำรงอยู่ในปฏิปทา และ พระขีณาสพ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นสหาย เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเบาพระทัย ประกอบความเป็นผู้ยินดีอยู่ พระองค์เดียว เราไม่เคยเห็นพระศาสดา ผู้ประกอบด้วย องค์คุณเช่นนี้ ทรงประกอบความเป็นผู้ยินดี อยู่พระองค์เดียวอย่างนี้ในอดีตกาลเล ยถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

      (6) อนึ่ง ลาภ ความสรรเสริญ เกิดแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เห็นจะตลอดถึง กษัตริย์ทั้งหลาย ที่ยินดีอยู่ แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ปราศจากความเมา เสวย พระกระยาหาร เราไม่เคยเห็น พระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ผู้ ปราศจาก ความเมา เสวยพระกระยาหารอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจาก พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

      (7) อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีปรกติ ตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น เหตุนั้น พระองค์จึงชื่อว่า ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น เราไม่เคยเห็นพระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ทรงปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมอย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น

      (8) อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความ คลางแคลง มีความดำริ ถึงที่สุด ด้วยพระอัธยาศัยเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วย องค์คุณเช่นนี้ ผู้ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความคลางแคลง มีความดำริถึงที่สุด ด้วยพระอัธยาศัยเป็นเบื้องต้นแห่ง พรหมจรรย์อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงยกพระคุณตามที่มีจริง ๘ ประการนี้แล ของพระผู้มีพระภาคขึ้นแสดงแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์
---------------------------------------------------------------------------

(3)
(พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ แสดงธรรมเหมือนกัน)

            [๒๑๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ยินว่า เพราะเหตุนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้สดับพระคุณตามที่มีจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคจึง ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ และโสมนัสยิ่งกว่าประมาณ ในเทวดาเหล่านั้น

       เทวดาบางพวกกล่าว อย่างนี้ว่า (1) ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย โอหนอ การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ พระองค์ พึงอุบัติในโลก พึงทรงแสดงธรรม เหมือน พระผู้มีพระภาค(โคตม) ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อ เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุข แก่ชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

      เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า (2) ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ยกไว้เถิด การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ พระองค์ พึงอุบัติในโลก พึงทรงแสดงธรรม เหมือนพระผู้มีพระภาค ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อ เกื้อกูลแก่ชน เป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

      เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า (3) ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ พระองค์* ยกไว้เถิด การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ พึงอุบัติในโลก พึงทรง แสดงธรรม เหมือนพระผู้มีพระภาค ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
*(กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ โคตม)
---------------------------------------------------------------------------

(4)
(พระพุทธเจ้า 2 พระองค์จะอุบัติในโลกธาตุเดียวกัน ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาส)

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวดาทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสกะเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ข้อที่พระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ พึงอุบัติในโลกธาตุเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังนี้ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ (ในโลกธาตุเดียวกันจะไม่มีพระพุทธเจ้า 2 พระองค์ เกิดขึ้นซ้ำกัน)

       ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอให้สมความหวัง ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง พึงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ นั่งประชุมกันในสุธรรมาสภา ด้วยความประสงค์อันใด ท้าวจาตุมหาราช แม้อันเทวดาชั้นดาวดึงส์คิดความนั้น ปรึกษาความนั้นแล้ว ทูลให้ทราบก็มีอยู่ ในข้อประสงค์นั้น แม้จะรับคำสั่งกำชับแล้ว ก็มีอยู่ในข้อประสงค์นั้น ประทับอยู่บนอาสนะของตนๆ ยังไม่ไป

            [๒๑๓] ท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้นรับคำแล้ว รับคำพร่ำสอนแล้ว มีใจผ่องใส ประทับสงบ อยู่บนอาสนะของตนๆ
---------------------------------------------------------------------------

(5)
(แสงสว่างเกิดที่ใด จะเป็นเหตุให้พรหมปรากฎที่นั้น)

            [๒๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น แสงสว่างอย่างมากปรากฏในทิศอุดร โอภาสปรากฏล่วง เทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ จึงตรัสเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย นิมิตปรากฏ แสงสว่างเกิด โอภาสปรากฏ ฉันใด พรหมจักปรากฏฉันนั้น การที่แสงสว่างเกิด โอภาสปรากฏนี้ เป็นบุพพนิมิตที่พรหมจะปรากฏ

            [๒๑๕] นิมิตปรากฏ ฉันใด พรหมจักปรากฏ ฉันนั้นการที่โอภาส อันไพบูลย์ มาก ปรากฏนี้ เป็นบุพพนิมิตที่พรหมจะปรากฏ
---------------------------------------------------------------------------

(6)
(เทวดาชั้นดาวดึงส์ และท้าวจาตุมหาราช จะไม่จากไป จนกว่าจะทำให้แจ้ง)

            [๒๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ นั่งบนอาสนะ ตามที่ของตนๆ ด้วยความหวังว่า เราทั้งหลายจักรู้โอภาสนี้ วิบากอันใดจักมีเรา ทั้งหลาย จักทำวิบากนั้นให้แจ้งเสียก่อน แล้วจึงจะไป แม้ท้าวจาตุมหาราช ก็นั่งอยู่บน อาสนะตามที่ของตนๆ ด้วยความหวังว่า เราทั้งหลายจักรู้โอภาสนี้ วิบากอันใดจักมี เราทั้งหลายจักทำวิบากนั้นให้แจ้งเสียก่อน แล้วจึงจะไป เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฟังความ ข้อนี้แล้วไม่ระส่ำระสาย สงบอยู่ ด้วยหวังกันว่า เราทั้งหลายรู้โอภาสนี้ วิบากอันใด จักมี เราทั้งหลายจักทำวิบากนั้นให้แจ้งเสียก่อน แล้วจึงจะไป
---------------------------------------------------------------------------

(7)
(สนังกุมารพรหม)

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อใด สนังกุมารพรหม ปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ เมื่อนั้น สนังกุมารพรหม นิรมิตอัตตภาพอันยิ่งใหญ่ปรากฏ ก็วรรณปรกติของพรหม อันเทวดาเหล่าอื่นไม่พึงถึงปรากฏในคลองจักษุของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เมื่อ สนังกุมารพรหม ปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์นั้น ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดา เหล่าอื่นด้วยวรรณและยศ เหมือนกายเทวดา ย่อมรุ่งเรืองล่วงกายมนุษย์ ฉะนั้น

       เมื่อ สนังกุมารพรหม ปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์นั้น เทวดาไหนๆ ในบริษัทนั้น ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ และไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ เทวดาทั้งหมดนั่งประณมมือ นิ่ง อยู่บนบัลลังก์ ด้วยความดำริว่า บัดนี้ สนังกุมารพรหม ปรารถนาบัลลังก์ของเทวดา ผู้ใด จักนั่งบน บัลลังก์ของเทวดาผู้นั้น

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหม นั่งบนบัลลังก์ของเทวดาใด เทวดา ผู้นั้นย่อมได้ความยินดี ได้โสมนัสอย่างยิ่ง ดังพระราชาผู้กษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้ว เสวยราชสมบัติใหม่ๆ ย่อมได้ความยินดี ได้ความโสมนัสอย่างยิ่งฉะนั้น

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น สนังกุมารพรหม ทราบความเบิกบานใจของเทวดา ชั้นดาวดึงส์ หายไปแล้ว บันเทิงตามด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

            [๒๑๗] ดูกรท่านผู้เจริญ เทวดาชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยพระอินทร์ ย่อม บันเทิงใจ ถวายนมัสการพระตถาคต และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เห็นเทวดา ผู้ใหม่ๆ มีวรรณ มียศ ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระสุคตแล้วมาในที่นี้ เทวดาเหล่านั้น เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระปัญญากว้างขวาง บรรลุคุณวิเศษแล้ว ย่อมรุ่งเรือง ล่วงเทวดาเหล่าอื่น ณ ที่นี้ ด้วยวรรณ ด้วยยศและอายุ เทวดาชั้น ดาวดึงส์ พร้อมด้วยพระอินทร์ เห็นเช่นนี้แล้ว ย่อมยินดีถวายนมัสการ พระตถาคต และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี

            [๒๑๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความข้อนี้ สนังกุมารพรหม ได้กล่าวแล้ว เสียงของสนังกุมารพรหม ผู้กล่าวเนื้อความนี้ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือ แจ่มใส ๑ ชัดเจน ๑ นุ่มนวล ๑ น่าฟัง ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ ลึก ๑ มีกังวาน ๑ สนังกุมารพรหม ย่อมให้บริษัทประมาณเท่าใดทราบความ ด้วยเสียง กระแสเสียง ก็ไม่แพร่ไปในภายนอกบริษัทเท่านั้น ก็ผู้ใดมีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ผู้นั้นท่านกล่าวกันว่า มีเสียงดังเสียงพรหม

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้กล่าวกะ สนังกุมารพรหม ว่า ข้าแต่ท้าวมหาพรหม ขอโอกาสเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายทราบเนื้อความนั้นแล้ว ขอโมทนา มีอยู่พระคุณตามที่เป็นจริง ๘ ประการ ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ท้าวสักกะจอมเทพภาษิตแล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายทราบแล้ว ขอโมทนา

      ครั้งนั้น สนังกุมารพรหม ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า ดูกรท่านผู้จอมเทพ ขอโอกาสเถิด แม้เราทั้งหลายก็พึงฟังพระคุณตามที่มีจริง ๘ ประการ ของพระผู้มี พระภาคพระองค์นั้น ท้าวสักกะ จอมเทพ รับคำ สนังกุมารพรหม แล้วทรงยกพระคุณ ตามที่มีจริง ๘ ประการ ของพระผู้มีพระภาค ขึ้นแสดงว่า ท่านมหาพรหมจะสำคัญ ความข้อนั้น เป็นไฉน ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงปฏิบัติ เพื่อเกื้อกูลแก่ชน เป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลกเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพียงไรข้าพเจ้าไม่เคยเห็น พระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอย่างนี้ ในอดีตกาลเลยถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

      อนึ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ทรงแสดงธรรมอันควร น้อมเข้ามาในตน อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ ก็ไม่เห็นนอกจากพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น

      อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว ว่า นี้กุศล นี้อกุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ นี้ควรเสพ นี้ไม่ควรเสพ นี้เลว นี้ประณีต นี้มีส่วนเทียบด้วยธรรม ดำและ ธรรมขาว ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น พระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ทรงบัญญัต ิธรรมอันเป็นกุศล อกุศลมีโทษ ไม่มีโทษ ควรเสพไม่ควรเสพ เลว ประณีต มีส่วนเทียบด้วยธรรมดำและธรรมขาว อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

      อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัตินิพพานคามินีปฏิปทา เพื่อพระ สาวก ทั้งหลายไว้ดีแล้ว พระนิพพานและปฏิปทา ย่อมเทียบเคียงกันได้ ดุจน้ำ ในแม่น้ำคงคา กับน้ำในแม่น้ำยมุนา ย่อมไหลคลุกคละกันได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้า ไม่เคยเห็นพระศาสดา ผู้ประกอบองค์คุณเช่นนี้ ทรงบัญญัตินิพพานคา มินีปฏิปทา อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น

      อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะผู้ดำรงอยู่ในปฏิปทา และพระขีณาสพ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นสหาย เหตุนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเบา พระทัย ประกอบความเป็นผู้ยินดี อยู่พระองค์เดียว ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระศาสดา ผู้ประกอบด้วย องค์คุณเช่นนี้ ทรงประกอบ ความเป็นผู้ยินดี อยู่พระองค์เดียวอย่างนี้ ในอดีตกาล เลยถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

      อนึ่ง ลาภ ความสรรเสริญ เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เห็นจะตลอดถึง กษัตริย์ทั้งหลาย ที่ยินดีอยู่ แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ปราศจากความเมา เสวยพระกระยาหารข้าพเจ้าไม่เคยเห็น พระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ผู้ปราศจากความเมา เสวยพระกระยาหารอย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคองค์นั้น

      อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีปรกติตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น เหตุนั้น พระองค์จึงชื่อว่า ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระศาสดา ผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ทรงปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมอย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

      อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความ คลางแคลง มีความดำริ ถึงที่สุด ด้วยพระอัธยาศัยเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วย องค์คุณเช่นนี้ ทรงข้ามความสงสัย ได้แล้ว ปราศจากความคลางแคลง มีความดำริถึงที่สุด ด้วยพระอัธยาศัย เป็นเบื้องต้น แห่งพรหมจรรย์อย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงยกพระคุณตามที่มีจริง ๘ ประการ นี้แล ของพระผู้มีพระภาค ขึ้นแสดงแก่สนังกุมารพรหม

            [๒๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ยินว่า เพราะเหตุนั้น สนังกุมารพรหม จึงปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ และโสมนัส เพราะได้สดับพระคุณตามที่มีจริง ๘ ประการ ของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น สนังกุมารพรหม นิมิตอัตตภาพใหญ่ยิ่งเป็นเพศกุมารี แกละ ๕ แกละ ปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ สนังกุมารพรหม นั้น เหาะขึ้นยังเวหาส นั่ง ขัดสมาธิอยู่ในอากาศที่ว่าง เปรียบดังบุรุษผู้มีกำลังนั่งขัดสมาธิอยู่บนบัลลังก์ ที่ปูลาด เรียบร้อย หรือบนภาคพื้นราบเรียบฉะนั้น แล้วเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นผู้มีพระปัญญามากได้มีมาแล้วสิ้นกาลนานเพียงไร

อ่านต่อตอนที่ 2 > P1639

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์