เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อริยะวินัย (คัดมาบางพระสูตร จากหนังสือ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ) 920
 
 
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ออกไปหน้าแรก
 
 
 
1

ผ้าเปลือกปอ.. ภิกษุ ที่มีคุณค่าน้อย ทุศิล เป็นอยู่เลวทราม ไม่ต่างกับผ้าคุณภาพต่ำ ที่ทำจากเปลือกของต้นปอ

2 นํ้าติดก้นกะลา (ภิกษุกล่าวเท็จ คุณค่าแห่งสมณะย่อมเหลืออยู่น้อยนิด ไม่ต่างกับน้ำที่ติดก้นกะลา)
3 งูเปื้อนคูถ (ภิกษุ ที่ทำตัวน่าขยะแขยง ทุศีล ไม่สะอาดกายเปรียบเหมือนงูที่เปื้อนของเน่าเหม็น)
4 ทำตัวเหมือนโจร (ทรงอุปมาภิกษุ ทำตัวเหมือนโจร 5 ประเภท)
5 กอดกองไฟ (กอดกองไฟให้ไฟเผา ยังดีกว่าต้องไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก)
6 การ “ตัด” ถึงเยื่อในกระดูก การรับโทษด้วยการถูกตัดเนื้อ เจียนตาย ยังดีกว่าได้รับทุกข์จากนรก
7 ก้อนข้าวที่ลุกเป็นไฟ (เป็นคนทุศีล ถูกลงโทษด้วยการกลืนก้อนไฟ ยังดีกว่าการต้องไปเกิดใน อบาย นรก)
8 ผู้หมดหวัง(ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ เป็นนักบวชที่ทุศีล)
9 เมื่อโจรกำเริบ(พวกโจรมีกำลัง พระราชาเสื่อมกำลัง,มีภิกษุลามกมาก ภิกษุมีศีลก็นั่งนิ่ง)
10 ผู้ชี้ขุมทรัพย์ (พระศาสดากระทำต่อสาวกอย่างไม่ทะนุถนอม เหมือนกับช่างปั้นหม้อ)
11 ภิกษุผู้ไม่สังวรอินทรีย์ ก็เหมือนถูกฉุดรอบด้าน(อายะตนะทั้ง6 ไม่ต่างกับจับสัตว์ 6ชนิด มาผูกกับเสาหลัก)
12 ภิกษุที่ไม่อดทน เหมือนเนื้อนาที่ไม่เกิดบุญ(ช้างศึกที่ฝึกมาดีย่อมอดทน ภิกษุย่อมทนต่อสิ่งที่มากระทบทางอายตนะ)
13 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อันตรายทารุณเผ็ดแสบ
14 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาหมือนสุนัขขี้เรื้อน
15 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนเต่าติดชนัก
16 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนปลากลืนเบ็ด
17 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนผู้กินคูถ
18 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนผู้ติดเซิงหนาม
19 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนถูกสายฟ้าฟาด
20 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. เหมือนถูกพายุร้ายพัดไปในอากาศ
21 ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. เหมือนลูกสุนัขดุถูกขยี้ด้วยดีสัตว์(ดุกว่าเดิม)
22 ความฉิบหายของผู้หลงสักการะ จิตย่อมติดแน่นในสิ่งนั้น
23 ฤทธิเดชของลาภสักการะ เหมือนต้นไม้ออกผลเพื่อฆ่าตนเอง
24 ผู้ไม่หนุนหมอนไม้ เป็นผู้ประมาท มารย่อมสบช่อง
25 ผู้ไม่หนุนหมอนไม้เป็นผู้ประมาท มารย่อมสบช่อง
26 ภัยของภิกษุข้อที ๑ ต้องการความสวยงามในจีวร
27 ภัยของภิกษุข้อที ๒ ต้องการความเอร็ดอร่อยในอาหาร เหินห่างจากป่า
28 ภัยของภิกษุข้อที ๓ ต้องการการนั่ง นอน สบาย เลิกร้างการอยู่ป่า
29 ราคีของนักบวช (ความเศร้าหมองของสมณะ) รับเงินทอง ดึ่มสุรา เลี้ยงชีพผิดวิสัยสมณะ
30 คนนอกบัญชี (นอกธรรมวินัย หลอกลวง จองหอง)
31 คนแหวกแนว ทำให้ประชาชนหมดสุข กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมผิดแนวคำสอน
32 คนทิ้งธรรม (ตริตรึกในกาม มุ่งร้าย ทำความลำบากให้คนอื่น แก่งแย่ง ทะเลาะ ทิ่มแทงด้วยหอกปาก)
33 คืนวันที่มีแต่ “ความมืด” (มักมากจนเป็นทุกข์ ไม่มีคนศรัทธา ทุศีล เกียจคร้าน สติฟั่นเฟือน ปัญญาทึบ)
34 ผู้ถูกตรึง (ภิกษุเคลือบแคลงสงสัยในธรรม ไม่เลื่อมใส สงสัยในไตรสิกขา จิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อเผากิเลส)
35 ผู้ถูกแมลงวันตอม (ภิกษุปล่อยสติปราศจากสัมปะชัญญะ กระหายกาม เหมือนทำตัวให้เน่าพองมีความคิดที่เป็นอกุศล)
36 ป่าช้าผีดิบ (ภิกษุทำตัวอันไม่สะอาดทางกาย วาจา ใจ)
37 ติดบ่วงนายพราน (ภิกษุที่ติดใจในอายตนะ6 ในรูปเสีย กลิ่นรส .. ที่ยั่วยวนใจเป็นผู้ถึงความพินาศ มารย่อมสบช่อง)
  (ภิกษุทำตัวอันไม่สะอาดทางกาย วาจา ใจ)

 
 
 


1

ผ้าเปลือกปอ

(ภิกษุ ที่มีคุณค่าน้อย ทุศิล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่ต่างกับผ้าคุณภาพต่ำ ที่ทำจากเปลือกของต้นปอ)

ภิกษุท. ! ผ้าทอด้วยเปลือกปอ ถึงจะยังใหม่อยู่ สีก็ไม่งาม นุ่งห่ม เข้าก็เจ็บเนื้อ ราคาก็ถูก  แม้จะกลางใหม่กลางเก่าแล้ว สีก็ยังไม่งาม นุ่งห่มเข้าก็ยังเจ็บเนื้อ ราคาก็ถูกมาก  แม้จะเก่าครํ่าแล้ว สีก็ยังไม่งาม นุ่งห่มเข้าก็ยังเจ็บเนื้อ ราคาก็ถูกมากอยู่นั่นเอง.

ผ้าเปลือกปอ ที่เก่าครํ่าแล้ว มีแต่จะถูกใช้ เช็ดหม้อข้าว หรือทิ้งอยู่ตามกองขยะ มูลฝอย นี้ฉันใด ภิกษุท. ! ภิกษุที่ทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน



2
นํ้าติดก้นกะลา
(ภิกษุกล่าวเท็จ คุณค่าแห่งสมณะย่อมเหลืออยู่น้อยนิด ไม่ต่างกับน้ำที่ติดก้นกะลา)

“ราหุล ! นักบวช ที่ไม่มีความละอาย ในการแกล้งกล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จ ก็มีความเป็นสมณะ เหลืออยู่น้อย เหมือนนํ้าที่สักว่าเหลือติดอยู่ตาม ภาชนะ (หลังจากที่สาดเทออกไปแล้วโดยแรง) นี้ฉันนั้น”



3
งูเปื้อนคูถ
(ภิกษุ ที่ทำตัวน่าขยะแขยง ทุศีล ไม่สะอาดกายเปรียบเหมือนงูที่เปื้อนของเน่าเหม็น)

ภิกษุท. ! นักบวชชนิดไร ที่ทุก ๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้?

ภิกษุท. ! นักบวชบางคนในกรณีนี้เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติ ชนิด ที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนง ตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิด ซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คน ประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญา ว่าประพฤติพรหมจรรย์เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติ หมักหมม เหมือนบ่อที่เท ขยะมูลฝอย.



4

ทำตัวเหมือนโจร
(ทรงอุปมาภิกษุ ทำตัวเหมือนโจร 5 ประเภท)

มหาโจร 5 ประเภท
1) ได้อาศัยที่ซ่องสุม (ภิกษุนิสัยคดโกงทั้งกาย วาจา ใจ)
2) ได้อาศัยที่กำบัง (ภิกษุลามกเป็นคนมี มิจฉาทิฏฐิประกอบด้วยทิฏฐิอันแล่นดิ่ง)
3) ได้อาศัยพึ่งพิงผู้มีอำนาจ (หวังพึ่งพระราชา ให้พระราชาช่วยโต้แทน)
4) ได้อาศัยการโปรยทรัพย์ (ถูกใตรตำหนิก็เอาปิดปากด้วยลาภ)
5) เที่ยวไปคนเดียว (หวังได้ลาภโดยเลี่ยงไปอยู่แต่ผู้เดียวในชนบท)



5

กอดกองไฟ
(กอดกองไฟให้ไฟเผา ยังดีกว่าต้องไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก)

ภิกษุท. ! เพราะว่า การที่เขาจะต้องตายหรือได้รับทุกข์เจียนตาย เนื่องจากเหตุที่ เข้าไป นั่งกอด นอนกอดไฟกองใหญ่อย่างนั้น หาได้เป็น เหตุให้เขาต้องไปเกิด ในอบาย ทุคติวินิบาต นรก ภายหลังแต่ความตาย เพราะการทำลายแห่งกายไม่

ส่วนการที่เขาเป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่ลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิด ที่ ตนเองนึกแล้ว ก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะ ก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เท ขยะมูลฝอย  แล้วยัง (มีความคิดที่จะ) เข้าไป นั่งกอด นอนกอด นางสาวน้อยแห่งกษัตริย์ หรือนางสาวน้อย แห่งพราหมณ์ หรือนางสาวน้อย แห่งคฤหบดี ผู้ล้วนแต่มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนิ่มนวลนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความ ทุกข์ไม่เกื้อกูลแก่เขา ตลอดกาลนาน ภายหลังแต่ความตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก



6

การ “ตัด” ถึงเยื่อในกระดูก
การรับอภิวาท (รับโทษของกษัตริย์) ด้วยการถูกตัดเนื้อ เจียนตาย
ยังดีกว่าได้รับทุกข์ จากนรกหลังความตาย


การที่เขาจะต้องตายหรือได้รับทุกข์เจียนตาย เนื่องจากเหตุที่เขาถูกบุรุษ มีกำลังแข็งแรง เอาเชือกขนทรายอันเหนียว พันแข้งทั้งสองข้างแล้วถูไปถูมา หาได้เป็นเหตุให้เขา ต้องเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก ภายหลังแต่ความตาย เพราะการทำลายแห่งกาย ไม่ (ไม่ไปเกิดในอบาย)

ส่วน การที่เขาเป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่ลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติ ชนิดที่ ตนเอง นึกแล้วก็กินแหนง ตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะ ก็ ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติ พรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เท ขยะมูลฝอย แล้วยัง (มีความคิดที่จะ) รับการอภิวาทของพวกกษัตริย์มหาศาล หรือพราหมณ์ มหาศาล หรือ คฤหบดีมหาศาลนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลแก่เขา ตลอดกาลนาน ภายหลังแต่ ความตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก



7

ก้อนข้าวที่ลุกเป็นไฟ
เป็นคนทุศีล แล้วถูกลงโทษด้วยการกลืนก้อนไฟ ยังดีกว่าการต้องไปเกิดใน อบาย ทุคติวินิบาต นรก เพราะทุกข์ในนรกรุนแรงกว่า การกลืนก้อนไฟ ชนิดเทียบกันไม่ได้

พวกเธอทั้งหลาย จักตัดสินเนื้อความสองข้อนี้ว่า อย่างไหน จะดีกว่ากัน คือ

1. การที่ถูก บุรุษมีกำลังแข็งแรง เอาขอเหล็กร้อนเป็นไฟ ลุกโพลง กระชากปาก ให้เปิด แล้วโยนก้อนเหล็กแดง อันร้อนแรง เข้าไปในปาก มันไหม้ริมฝีปากไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ไหม้คอ ไหม้ท้อง ไหม้ลำไส้ใหญ่ของเขา พาลำไส้เล็กออกมา โดยทวาร เบื้องตํ่า... นั่น ต่างหากเป็นการดี

2.ส่วนการที่เขา เป็นคน ทุศีล มีความเป็นอยู่ลามก ไม่สะอาด ไม่ใช่สมณะก็ ปฏิญญา ว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คน ประพฤติ พรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่า ประพฤติ พรหมจรรย์ เป็นคนเน่าในเปียกแฉะ มีสัญชาติ หมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย แล้วยัง (มีความคิดที่จะ)บริโภคก้อนข้าว ที่พวกกษัตริย์มหาศาล หรือ พราหมณ์ มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ถวายด้วยศรัทธา นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูล แก่เขา ตลอดกาลนาน ภายหลังแต่ความตาย เพราะการทำลาย แห่งกาย เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติวินิบาต นรก.



8

ผู้หมดหวัง
(ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นนักบวชที่ทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม)

            ภิกษุ ท. ! นักบวชบางคน ในกรณีนี้เป็น คนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้ว ก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำ ที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อ ที่เทขยะมูลฝอย.

            นักบวชผู้นั้นได้ยินข่าวว่า “ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา วิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะหมดอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในชาติที่ปรากฏ อยู่นี้แล้ว จึงเข้าอยู่ในวิหารธรรมนั้น” ดังนี้ ก็คิดถึงตัวว่า “สำหรับเรา ย่อมไม่มีหวังเลย ที่จะทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะหมดอาสวะ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในชาติที่ปรากฏอยู่นี้แล้ว จึงเข้าอยู่ในวิหาร ธรรมนั้น” ดังนี้.

ภิกษุท. ! นี้เรียกว่า คนหมดหวัง.



9

เมื่อโจรกำเริบ
(พวกโจรมีกำลัง พระราชาเสื่อมกำลัง,มีภิกษุลามกมาก ภิกษุมีศีลก็นั่งนิ่ง)

            ภิกษุท. ! คราวใด พวกโจรมีกำลัง พระราชาเสื่อมกำลัง คราวนั้น ทั้งพระราชาเองก็หมด ความผาสุก ที่จะเข้าใน ออกนอก หรือจะมีใบบอกไปยัง ชนบทปลายแดน ถึงแม้พวกพราหมณ์ และคฤหบดีก็หมดความสะดวกที่จะเข้า ใน ออกนอก หรือที่จะอำนวยการงานนอกเมือง. ข้อนี้ฉันใด

            ภิกษุท. ! คราวใด พวกภิกษุลามกมีกำลัง และหมู่ภิกษุผู้มีศีลเป็น ที่รักเสื่อมกำลัง คราวนั้น หมู่ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก จำต้องเป็นผู้นิ่ง เงียบเชียบ อยู่ในท่ามกลางสงฆ์หรือถึงกับ ต้องไปอยู่ตามชนบท ชายแดน ฉันนั้นเหมือนกัน



10

ผู้ชี้ขุมทรัพย์ !
(พระศาสดากระทำต่อสาวกอย่างไม่ทะนุถนอม เหมือนกับช่างปั้นหม้อ)

อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม
เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่

อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด
อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้.

คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใด ๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าว
คำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละ คือผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ

ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น, เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้น
อยู่ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย.



11

ภิกษุผู้ไม่สังวรอินทรีย์ ก็เหมือนถูกฉุดรอบด้าน)
(ทรงอุปมาอายะตนะทั้ง 6 ไม่ต่างกับจับสัตว์ 6ชนิด มาผูกกับเสาหลัก)

ภิกษุท. ! ภิกษุใดไม่อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว 

ตา ก็จะฉุด เอาภิกษุนั้น ไปหารูปที่น่าพอใจ 
รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็กลายเป็น สิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัด ขยะแขยง 

หู
 ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหา เสียงที่น่าฟัง
เสียงที่ไม่น่าฟังก็กลาย เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง 

จมูก 
ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไป หากลิ่นที่น่าสูดดม
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัด ขยะแขยง 

ลิ้น
 ก็จะฉุดเอา ภิกษุนั้น ไปหารสที่ชอบใจ
รสที่ไม่ชอบใจก็กลาย เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง 

กาย 
ก็จะฉุดเอา ภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัด ขยะแขยง

ใจ ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

ภิกษุท. ! ภิกษุผู้ไม่มีสังวรเป็นอย่างนี้แล.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด มาผูกรวมกันด้วยเชือก จับงู จับจระเข้ จับนก จับสุนัขบ้าน จับสุนัขจิ้งจอก จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง เมื่อปล่อยแล้ว งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงนํ้า นกจะบินขึ้นไปในอากาศ สุนัข จะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า ลิงก็จะไปป่า.

ครั้นเหนื่อยล้ากัน ทั้งหกสัตว์แล้ว สัตว์ใดมีกำลังกว่า สัตว์นอกนั้นก็ต้อง ถูกลาก ติดตามไปตาม อำนาจของสัตว์นั้น. (สัตว์ที่แข็งแรงกว่า จะลากสัตว์อื่น ให้ไปตาม อำนาจของตน)



12

ภิกษุที่ไม่อดทน เหมือนเนื้อนาที่ไม่เกิดบุญ
(ทรงอุปมาเปรียบเหมือนช้างศึกที่ฝึกมาดีแล้ว ย่อมอดทน ไม่หวั่นไหว ภิกษุก็เช่นกัน ย่อมอดทนต่อสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ องค์5)

ช้างหลวงที่ไม่คู่ควรแก่พระราชา คือ ช้างที่ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย ไม่อดทน ต่อเสียงทั้งหลาย ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย ไม่อดทน ต่อรส ทั้งหลาย ไม่อด ทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยเหตุห้าอย่างแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควร แก่ของบูชา ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ของทำบุญ ไม่ควรทำอัญชลี ไม่เป็นเนื้อนาบุญของ โลกอย่าง ดีเยี่ยม.

เหตุห้าอย่างอะไรกันเล่า ? เหตุห้าอย่างคือ ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้ ไม่อดทนต่อรูป ทั้งหลาย ไม่อดทน ต่อเสียงทั้งหลาย ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย ไม่อดทนต่อรส ทั้งหลาย ไม่อดทน ต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.(ไม่อดทนต่ออายตนะ ที่กระทบผัสสะ)



13

ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อันตรายทารุณเผ็ดแสบ
บาลี พระพุทธภาษิต นิทาน. สํ. ๑๖/๒๗๘-๙/๕๗๓-๕๗๖,๕๗๙, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตะวัน ใกล้นครสาวัตถี.

(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่1)


       1)    ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ
เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรม อื่นยิ่งกว่า

       2)    ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะ และเสียงเยินยอนี้ก็ฉันนั้นมันย่อมจะบาดผิวหนัง
ครั้นบาดผิวหนังแล้ว ย่อมจะบาดหนัง
ครั้นบาดหนังแล้ว ย่อมจะบาดเนื้อ
ครั้นบาดเนื้อแล้วย่อมจะบาดเอ็น
ครั้นบาดเอ็นแล้วย่อมจะบาดกระดูก
ครั้นบาดกระดูกแล้วย่อมจะเข้าจดอยู่ที่เยื่อกระดูก

14
ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาหมือนสุนัขขี้เรื้อน
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่2)

ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรม อื่นยิ่งกว่า

ภิกษุ ท. ! พวกเธอเห็นสุนัขจิ้งจอกตัวที่อาศัยอยู่เมื่อตอนยํ่ารุ่ง แห่ง ราตรีนี้ไหม ?
“เห็น พระเจ้าข้า”

ภิกษุ ท. ! สุนัขจิ้งจอกตัวนั้น เป็นโรคหูชัน (โรคเรื้อนสุนัข)๒ วิ่งไป บนแผ่นดินก็ไม่ สบาย ไปอยู่ที่โคนไม้ก็ไม่สบาย ไปอยู่กลางแจ้งก็ไม่สบาย. มันไปในที่ใด มันยืนใน ที่ใด มันนั่งในที่ใด มันนอนในที่ใด ล้วนแต่ได้รับ ทุกข์ทรมาน ในที่นั้น ๆ

15
ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนเต่าติดชนัก
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 4 )

           ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่า.

อุปมา เต่าตัวหนึ่งไปหากินในถิ่น ทั้งๆที่ถูกเตือนจากเต่าด้วยกัน ถูกชาวประมงแทง ด้วยชนัก แถมมีเชือกสายชนัก ติดหลังมาด้วย จนถูกเพื่อนเต่าสมนํ้าหน้า
คำว่า “ชาวประมง” เป็นคำชื่อแทนคำว่า “มารผู้มีบาป”
คำว่า “ชนัก” เป็นคำชื่อแทนคำว่า “ลาภสักการะและ เสียงเยินยอ”
คำว่า “เชือกด้าย” เป็นคำชื่อแทนคำว่า “นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดีเพราะเพลิน)

ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ยังรู้สึกอร่อยติดใจในลาภสักการะ และเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น หรือดิ้นรนใคร่ที่จะ ได้อยู่ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ภิกษุผู้ได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ ด้วยชนัก แล้วแต่มารผู้มีบาป ใคร่จะทำประการใด

16
ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนปลากลืนเบ็ด
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 5)

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนพรานเบ็ด ซัดเบ็ดที่มีเหยื่อลงไปในห้วงนํ้าลึก. ปลาที่เห็นแต่จะกินเหยื่อตัวหนึ่ง ได้กลืนเบ็ดนั้นเข้าไป. ปลาที่กลืนเบ็ด ตัวนั้น ย่อมได้รับทุกข์ถึงความพินาศ แล้วแต่พรานเบ็ดผู้นั้น ใคร่จะทำ ประการใด.

คำว่า “พรานเบ็ด” เป็นคำชื่อแทนคำว่า “มารผู้มีบาป”
คำว่า “เบ็ด” เป็นคำชื่อแทนคำว่า “ลาภสักการะและเสียง เยินยอ”.


ภิกษุ ท. ! ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ยังรู้สึกอร่อย ยังติดใจในลาภ สักการะและเสียง เยินยอที่เกิดขึ้น หรือดิ้นรนใคร่จะได้อยู่ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้กลืนเบ็ดของมาร จะได้รับทุกข์ถึงความพินาศ แล้วแต่มารผู้มีบาป ใคร่จะทำ ประการใด

17
ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนผู้กินคูถ
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 6)

เปรียบเหมือนตัว กังสฬกะ(สัตว์กินคูถชนิดหนึ่ง) ซึ่งกินคูถเป็นอาหาร อิ่มแล้ว ด้วยคูถ ท้องป่องด้วยคูถ อนึ่ง กองคูถใหญ่ก็มีอยู่ตรงหน้าของมัน เพราะเหตุนั้นมันจึงนึกดูหมิ่น กังสฬกะ ตัวอื่นว่า “เราผู้มีคูถเป็นภักษา อิ่มแล้ว ด้วยคูถ ท้องป่องด้วยคูถ. อนึ่ง กองคูถใหญ่ตรงหน้าของเราก็ยังมี. กังสฬกะตัวอื่น มีบุญน้อย มีเกียรติน้อย ไม่รวยลาภด้วยคูถ” ดังนี้.

18
ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนผู้ติดเซิงหนาม
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 7)


ภิกษุ ท. ! แกะชนิดมีขนยาว เข้าไปสู่เซิงหนาม มันข้องอยู่ในที่นั้น ๆ ติดอยู่ในที่นั้น ๆ พัวพัน อยู่ในที่นั้น ๆ ได้รับทุกข์พินาศอยู่ในที่นั้น ๆ

19
ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. อุปมาเหมือนถูกสายฟ้าฟาด
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 9)

ภิกษุ ท. ! จักรแห่งอสนีบาต(สายฟ้า) อันลุกโพลง ตกลงถูกกระหม่อม ของใคร กันนะ ? ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ จะตามติดภิกษุผู้ยังต้อง ศึกษา ยังไม่ลุถึงขั้นสุดแห่งสิ่งที่ตนจำนงหวัง.

ภิกษุ ท. ! คำว่า “จักรแห่งอสนีบาตอันลุกโพลง” เป็นคำชื่อ แทนคำว่า “ลาภสักการะและเสียงเยินยอ”

20
ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. เหมือนถูกพายุร้ายพัดไปในอากาศ
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 10)


ภิกษุ ท. ! ลมชื่อว่า เวรัมภา (พายุร้าย)พัดอยู่แต่ในอากาศเบื้องบน. นกตัว ใดบินเหินลมขึ้นไปถึงที่นั้น ลมเวรัมภา ก็ซัดเอานกตัวนั้นให้ลอยปลิวไป. เมื่อนกถูก ลมเวรัมภา ชัดเอาแล้ว เท้าของมันขาดไปทางหนึ่ง ปีกของมันขาดไป ทางหนึ่ง ศีรษะของมันขาดไปทางหนึ่ง ตัวของมันขาดไปทางหนึ่ง.

21
ฤทธิเดชของลาภสักการะ.. เหมือนลูกสุนัขดุถูกขยี้ด้วยดีสัตว์(ดุกว่าเดิม)
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 10)

ภิกษุ ท. ! ใครขยี้ดีสัตว์เข้าที่จมูกของลูกสุนัขตัวดุร้าย ลูกสุนัข ตัวนั้น ก็จะกลับดุยิ่งกว่าเดิม ด้วยการกระทำอย่างนี้. ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุ ท. ! ตลอดเวลาที่ พระเจ้าอชาตสัตตุกุมาร ยังไปบำรุง พระเทวทัต ด้วยรถ ๕๐๐ คัน ทั้งเช้าทั้งเย็น และอาหารที่นำไปมีจำนวนถึง ๕๐๐ สำรับ อยู่เพียงใด ตลอด เวลาเพียงนั้น พระเทวทัต หวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรม ทั้งหลาย อย่างเดียว หวังความเจริญไม่ได้ ฉันนั้น.

22
ความฉิบหายของผู้หลงสักการะ จิตย่อมติดแน่นในสิ่งนั้น
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 11)

     ภิกษุ ท. ! พระเทวทัต ถูกลาภสักการะและเสียงเยินยอครอบงำเอาแล้ว มีจิตติดแน่น อยู่ในสิ่งนั้นๆ
... จึงทำลายสงฆ์

... รากเหง้าแห่งธรรมอันเป็นกุศลของเธอ จึงถึงความขาดสูญ
... ธรรมอันเป็นตัวกุศลของเธอ จึงถึงความขาดสูญ
... ธรรมอันขาวสะอาดของเธอ จึงถึงความขาดสูญ

23
ฤทธิเดชของลาภสักการะ เหมือนต้นไม้ออกผลเพื่อฆ่าตนเอง
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 12)
อุปมาเหมือนต้นกล้วย ไม้อ้อ และนางม้าอัสดี ที่ออกผล ออกลูก เพื่อฆ่าตนเอง)

           ภิกษุ ท. ! กล้วย เมื่อจะออกผล ก็ออกผลเพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความฉิบหาย ของมันเอง ข้อนี้ฉันใด ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เกิดขึ้นแล้วแก่ พระเทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความฉิบหายของตนเอง ข้อนี้ก็ฉันนั้น

           ภิกษุ ท. ! ไม้อ้อ เมื่อจะออกผล ก็ออกผลเพื่อฆ่าตนเอง เพื่อ ความฉิบหายของมันเอง ข้อนี้ฉันใด ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เกิดขึ้นแล้วแก่ พระเทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความฉิบหายของตนเอง ข้อนี้ก็ฉันนั้น

           ภิกษุ ท. ! นางม้าอัสดร ย่อมตั้งครรภ์เพื่อความตายของตนเอง เพื่อความฉิบหายของตนเอง ข้อนี้ฉันใด  ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เกิดขึ้นแล้วแก่ พระเทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความฉิบหายของตนเอง ข้อนี้ก็ฉันนั้น

           ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียง เยินยอ เกิดขึ้นแล้วแก่ พระเทวทัต เพื่อฆ่า ตนเอง เพื่อความฉิบหายของตนเอง ข้อนี้ก็ฉันนั้น. ธรรมอื่นยิ่งกว่า ด้วยอาการอย่างนี้

           เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอ ทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ดังนี้ว่า “เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใยในลาภสักการะ และเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น. อนึ่ง ลาภ สักการะ และเสียง เยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา



24

ผู้ไม่หนุนหมอนไม้ เป็นผู้ประมาท มารย่อมสบช่อง

           ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ภิกษุทั้งหลาย ก็มีท่อนไม้เป็นหมอนหนุน เป็นอยู่อย่าง ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ในชั้นความเพียรที่เป็นหลักเป็นประธาน. มาร ผู้ใจบาป จึงหาช่องทางทำลายล้างมิได้หา โอกาส ที่จะทำตามอำเภอใจแก่ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านั้น มิได้

           ภิกษุ ท. ! ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย ที่ทำตนเป็น สุขุมาลชาติ(ผู้ดีมีสกุล)จนมีฝ่ามือ และฝ่าเท้าอ่อนนิ่ม. ภิกษุเหล่านั้น จักสำเร็จการ นอน บนที่นอนอันอ่อนนุ่ม มีหมอนใหญ่ๆ หนุน นอนจนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น.

           คราวนั้นเอง มารผู้ใจบาป ก็จักได้ช่องทางทำลายล้าง จักได้โอกาสที่จะทำ ตามอำเภอใจ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.



25

ผู้ไม่หนุนหมอนไม้ เป็นผู้ประมาท มารย่อมสบช่อง

           ภิกษุ ท. ! ในบัดนี้ภิกษุทั้งหลาย ก็มีท่อนไม้เป็นหมอนหนุน เป็นอยู่อย่าง ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ในชั้นความเพียรที่เป็นหลักเป็นประธาน. มาร ผู้ใจบาป จึงหาช่องทางทำลายล้างมิได้หา โอกาส ที่จะทำตามอำเภอใจแก่ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านั้น มิได้

           ภิกษุ ท. ! ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย ที่ทำตนเป็น สุขุมาลชาติ(ผู้ดีมีสกุล)จนมีฝ่ามือ และฝ่าเท้าอ่อนนิ่ม. ภิกษุเหล่านั้น จักสำเร็จการ นอน บนที่นอนอันอ่อนนุ่ม มีหมอนใหญ่ๆ หนุน นอนจนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น.

           คราวนั้นเอง มารผู้ใจบาป ก็จักได้ช่องทางทำลายล้าง จักได้โอกาสที่จะทำ ตามอำเภอใจ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.



26

ภัยของภิกษุข้อที ๑
ต้องการความสวยงามในจีวร


ภิกษุ ท. ! ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย ผู้ต้องการ ความสวยงามในเครื่องนุ่งห่ม (จีวร) เธอทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้นอยู่จักเริดร้าง จากการใช้ผ้าบังสุกุล จักเหินห่างที่นอนที่นั่ง อันเป็นป่า และป่าชัฏ เงียบสงัด จักมั่วสุมชุมนุมกันอยู่แต่ในย่านหมู่บ้าน นิคม และเมืองหลวง และจักถึง อเนสนกรรม คือการแสวงหาอันไม่สมควรหลายแบบหลายวิธี พราะความต้องการความสวยงาม ในเครื่องนุ่งห่มนั้น เป็นเหตุ.

ภิกษุท. ! นี้เป็น อนาคตภัยข้อที่หนึ่ง ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้แต่จัก เกิดขึ้น ในเวลาต่อไป. พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้ครั้นได้สำนึกแล้ว ก็พึง พยายามเพื่อ กำจัดภัยนั้นเสีย.

27
ภัยของภิกษุข้อที ๒
ต้องการความเอร็ดอร่อยในอาหาร เหินห่างจากป่า

ภิกษุ ท. ! ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย ผู้ต้องการ ความเอร็ดอร่อยในอาหาร เธอทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้นอยู่จักเริดร้าง จากการเที่ยว บิณฑบาต จักเหินห่างที่นอนที่นั่งอันเป็นป่า และป่าชัฏเงียบ สงัด จักมั่วสุมชุมนุมกัน อยู่แต่ใน ย่านหมู่บ้าน นิคม และเมืองหลวง และจัก ถึงอเนสนกรรม คือการแสวงหา อันไม่สมควรหลายแบบหลายวิธีเพราะ ความต้องการความเอร็ดอร่อย ในอาหารนั้น เป็นเหตุ

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อนาคตภัยข้อที่สอง ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้แต่จัก เกิดขึ้น ในเวลาต่อไป. พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้ครั้นได้สำนึกแล้ว ก็พึง พยายามเพื่อ กำจัดภัยนั้นเสีย

28
ภัยของภิกษุข้อที ๓
ต้องการการนั่ง นอน สบาย เลิกร้างการอยู่ป่า

ภิกษุ ท. ! ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย ผู้ต้อง การนอนสบาย นั่งสบาย เธอทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้นอยู่จักเริดร้างจากการอยู่ป่า (หรือจากการอยู่โคนไม้) จักเหินห่างที่นอนที่นั่งอันเป็นป่า และป่าชัฏเงียบสงัด จักมั่วสุมชุมนุมกันอยู่แต่ในย่านหมู่บ้าน นิคม และเมืองหลวง และจักถึงอเนสนกรรม คือการแสวงหาอันไม่สมควรหลายแบบหลายวิธีเพราะ ความต้องการนอนสบาย นั่งสบาย นั้นเป็นเหตุ.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อนาคตภัยข้อที่สาม ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้แต่จัก เกิดขึ้น ในเวลาต่อไป. พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้ครั้นได้สำนึกแล้ว ก็พึง พยายาม เพื่อกำจัดภัยนั้นเสีย.

29
ราคีของนักบวช (ความเศร้าหมองของสมณะ)

             ภิกษุ ท. ! เครื่องเศร้าหมองของพระจันทร์และพระอาทิตย์มีอยู่สี่อย่าง อันเป็นเหตุให้พระจันทร์ และพระอาทิตย์ไม่สุกใส ไม่สว่างไสวรุ่งเรือง. สี่อย่าง

             อะไรบ้าง ? สี่อย่างคือ เมฆ หมอก ผงคลี แล ะอสุรินทราหู. ภิกษุ ท. ! เครื่องเศร้าหมองของ พระจันทร์และพระอาทิตย์อันเป็นเหตุให้พระจันทร์และ พระอาทิตย์ไม่สุกใส ไม่สว่างไสวรุ่งเรือง มีอยู่สี่อย่างนี้

             ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น เครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ก็มีอยู่สี่อย่าง อันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์ไม่ผ่องใส ไม่งามสง่ารุ่งเรือง. สี่อย่าง อะไรบ้าง ?
สี่อย่างคือ
(๑) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดื่มสุราเมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุรา เมรัย
(๒) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยังมีการกระทำ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) อย่างที่คนคู่เขาทำ ต่อกัน ไม่งดเว้นจาก การกระทำเช่นนั้น
(๓) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง รับทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการรับทอง และเงิน
(๔) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง สำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ผิดวิสัย ของสมณะ ไม่งดเว้นจากการ เลี้ยงชีวิตที่ผิดวิสัย.

             ภิกษุ ท. ! เครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์มีอยู่สี่อย่างนี้อันเป็น เหตุให้สมณพราหมณ์ ไม่ผ่องใส ไม่งามสง่ารุ่งเรือง แล



30

คนนอกบัญชี (นอกธรรมวินัย)

ภิกษุ ท. ! ภิกษุเหล่าใด เป็นคนหลอกลวง กระด้าง พูดพล่าม ยกตัว จองหอง ใจฟุ้งเฟ้อ ภิกษุ ท . ! ภิกษุเหล่านั้น ไม่ใช่ “คนของเรา”

ภิกษุ ท. ! ภิกษุเหล่านั้น ได้ออกไปนอกธรรมวินัยนี้เสียแล้ว และ พวกภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ใน ธรรมวินัยนี้ได้เลย



31

คนแหวกแนว
ทำให้ประชาชนหมดสุข กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมผิดแนวคำสอน

ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป เมื่อมีการกระทำ สามอย่างนี้แล้ว จะได้ชื่อว่าเป็น ผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชน ให้หมดสุข ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแต่เป็นไปเพื่อ ความทุกข์ ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. การกระทำสามอย่างอะไรบ้างเล่า ? สามอย่าง คือ
(๑) ทำการชักชวนมหาชนในกายกรรม อันผิดแนวแห่งการทำ ที่สุดทุกข์ในพระศาสนา.
(๒) ทำการชักชวนมหาชนในวจีกรรม อันผิดแนวแห่งการทำที่สุด ทุกข์ในพระศาสนา.
(๓) ทำการชักชวนมหาชนในการบำเพ็ญทางจิต อันผิดแนว แห่งการ ทำที่สุดทุกข์ในพระศาสนา.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป เมื่อมีการกระทำ สามอย่าง เหล่านี้เข้าแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชนให้หมดสุข ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แต่เป็น ไปเพื่อความทุกข์ ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล



32

คนทิ้งธรรม
(ตริตรึกในกาม มุ่งร้าย ทำความลำบากให้คนอื่น แก่งแย่ง ทะเลาะ ทิ่มแทงด้วยหอกปาก)

ก็ธรรมอีกสามอย่างอะไรบ้างเล่า ที่พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถือกระทำเพิ่มพูน ให้มาก ? สามอย่าง คือ :-
(๑) ความตรึกในทางกาม
(๒) ความตรึกในทางมุ่งร้าย
(๓) ความตรึกที่ก่อให้เกิดความลำบากแก่ผู้อื่น
ธรรมสามอย่างเหล่านี้แล ที่พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถือ กระทำเพิ่มพูน ให้มาก

ภิกษุ ท. ! ในทิศใด พวกภิกษุเกิดแก่งแย่ง ทะเลาะวิวาท ทิ่มแทง กัน และกัน ด้วยหอกปากอยู่ ภิกษุ ท. ! ทิศนั้น แม้แต่เพียงนึกถึงก็ไม่เป็น ที่ผาสุกแก่เรา เสียแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงการไปในที่นั้น. ในกรณีนี้เราเชื่อแน่แก่ใจว่า เป็นเพราะพวก ภิกษุเหล่านั้น ละทิ้งธรรมสามอย่างเหล่าโน้นเสียแล้ว และพากันมาถือ กระทำให้มาก ในธรรมสามอย่างเหล่านี้แทน.



33

คืนวันที่มีแต่ “ความมืด”
(มักมากจนเป็นทุกข์ ไม่มีคนศรัทธา ทุศีล เกียจคร้าน สติฟั่นเฟือน ปัญญาทึบ)

             ภิกษุ ท. ! คืนวันของภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ประกอบหกอย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมผ่านไป โดยหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว หาความเจริญ มิได้. หกอย่างอะไรบ้างเล่า ? หกอย่าง คือ ภิกษุในกรณีนี้
             (๑) มีความต้องการมาก จนเป็นทุกข์เพราะไม่รู้จักพอในเรื่องจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัย เภสัชบริกขาร
             (๒) เป็นคนไม่มีศรัทธา
             (๓) เป็นคนทุศีล
             (๔) เป็นคนเกียจคร้าน
             (๕) เป็นคนมีสติฟั่นเฟือน
             (๖) เป็นคนมีปัญญาทึบ

             ภิกษุ ท. ! คืนวันของภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ประกอบหกอย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมผ่านไป โดยหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว หาความเจริญ มิได้.



34

ผู้ถูกตรึง
(ภิกษุที่เคลือบแคลงสงสัยในธรรม ไม่เลื่อมใสพระศาสดา สงสัยในไตรสิกขา จิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อเผากิเลส เป็นผู้หวังได้แต่ความเสื่อม)

ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังละ ตะปู ตรึงใจ ห้าตัวไม่ได้ คืนวันของบรรพชิตรูปนั้น ย่อมผ่านไป โดยหวังได้แต่ความเสื่อมใน กุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว หาความเจริญมิได้. ตะปูตรึงใจห้าตัว ที่บรรพชิตรูปนั้น ยังละไม่ได้ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ยังสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส
ในพระศาสดา 

ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุยังสงสัย ฯลฯ ในธรรม 
ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุยังสงสัย ฯลฯ ในพระสงฆ์
ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุยังสงสัย ฯลฯ ในไตรสิกขา 
ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ครุ่นโกรธในเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ด้วยกัน
ไม่ชอบใจ มีจิตอันโทสะ กระทบกระทั่งแล้วจนเกิดเป็นเครื่อง
ตรึงใจ.

ภิกษุใด เป็นดังกล่าวนี้จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อ ความเพียร เผากิเลส เพียรประกอบเนือง ๆ เพียรตั้งหลักติดต่อเนื่องกัน. จิตของผู้ใด ไม่น้อมไป ตามนัยที่กล่าวนี้ นั่นแหละ เป็นตะปูตรึงใจตัวที่ห้า ที่เธอนั้นยังละไม่ได้.

ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังละตะปู ตรึงใจ ห้าตัวไม่ได้ คืนวันของบรรพชิตรูปนั้นย่อมผ่านไป โดยหวังได้แต่ความเสื่อมใน กุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว หาความเจริญมิได้



35

ผู้ถูกแมลงวันตอม
(ภิกษุปล่อยสติปราศจากสัมปะชัญญะ กระหายกาม เหมือนทำตัวให้เน่าพอง มีแมลงวันตอม เหม็นกลิ่นคาว มีความคิดที่เป็นอกุศล)

ภิกษุ ท. ! เมื่อเช้านี้เราครองจีวร ถือบาตร ไปบิณฑบาตในเมืองพาราณสี เราได้เห็นภิกษุรูปหนึ่ง เที่ยวบิณฑบาตอยู่ตามแหล่งที่ซื้อขายโค ของพวก มิลักขะ  เป็นภิกษุมีท่าทางกระหายกาม คิดสึก ปล่อยสติปราศจากสัมปชัญญะ จิตฟุ้ง
 ใจเขว ผิวพรรณแห้งเกรียม. ครั้นเห็นแล้ว เราได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ! เธออย่า ทำตัวให้เน่าพอง. ตัวที่เน่าพองส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้งแล้ว แมลงวันจักไม่ตอม ไม่ดูดนั้น เป็นไปไม่ได้นะภิกษุ ! ดังนี้. ภิกษุนั้น ถูกเราทักอย่างนี้ก็เกิดความสลด ขึ้นในใจ.

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสดังนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามขึ้นว่า “อะไรเล่าพระเจ้าข้าชื่อว่า ของ เน่าพอง ? อะไรเล่า ชื่อว่า กลิ่นเหม็นคาว ? อะไรเล่า ชื่อว่า แมลงวัน ?”

            “อภิชฌา นี่แหละภิกษุ ! ชื่อว่า ของเน่าพอง พยาบาท ชื่อว่า กลิ่นเหม็นคาว ความคิดที่เป็น อกุศลลามก ชื่อว่า แมลงวัน. ตัวที่เน่าพองส่งกลิ่น เหม็นคาว คลุ้งแล้ว แมลงวันจักไม่ตอมไม่ดูดนั้น เป็นไปไม่ได้นะภิกษุ !”ดังนี้แล.



36

ป่าช้าผีดิบ
(ภิกษุทำตัวอันไม่สะอาดทางกาย วาจา ใจ)

ภิกษุ ท. ! โทษห้าอย่างเหล่านี้เป็นโทษในป่าช้าผีดิบ ห้าอย่างห้าอย่าง คือ  1. ป่าช้าผีดิบ 2.เป็นที่ไม่สะอาด 3.มีกลิ่นเหม็น 4. มีภัยเฉพาะหน้า 5. เป็นที่พัก อาศัย ของพวก อมนุษย์ที่ดุร้าย และเป็นที่ที่ร้องไห้พิไรรํ่าของคนเป็นจำนวนมาก โทษห้าอย่างเหล่านี้เป็นโทษในป่าช้าผีดิบ.

ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น เป็นโทษใน นักบวชที่เปรียบ ด้วยป่าช้าผีดิบ.

ห้าอย่างอะไรบ้าง ? ห้าอย่างคือ

1) เป็นกระทำ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อันไม่สะอาด
2) เป็นผู้ประกอบกรรม ไม่สะอาด

3) ผู้มีศีลเป็นที่รัก ย่อมเว้นห่างไกลจากคนที่มีกลิ่นเหม็น
4) คนชั่วช้าอยู่ร่วมกันได้ คือไม่สะอาดกายวาจา ใจ ซึ่งเป็นที่อาศัยของอมนุษย์
5) ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน ซึ่งมีศีลเป็นที่รัก ได้เห็น นักบวชชนิดนั้นเข้าแล้ว ก็นึกตำหนิ ได้ว่า “พุทโธ่เอ๋ย ! ความทุกข์ของพวก เรา มีอยู่ตรงที่พวกเรา จำต้องอยู่ ร่วมกับนักบวช ชนิดนั้นด้วย”ดังนี้.



37

ติดบ่วงนายพราน
(ภิกษุที่ติดใจในอายตนะ6 ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมมารมณ์ ที่ยั่วยวนใจ เป็นผู้ถึงความพินาศ มารผู้ใจบาปย่อมสบช่อง)

ภิกษุท. ! กามคุณเหล่านี้มีห้าอย่าง. ห้าอย่างอะไรกันเล่า ? ห้าอย่าง คือ รูปที่เห็นด้วยตา เสียงที่ ฟังด้วยหู กลิ่นที่ดมด้วยจมูก รสที่ลิ้มด้วยลิ้น และโผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกาย อันเป็นสิ่งที่น่า ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งไว้ซึ่งความใคร่  เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ.

ภิกษุ ท. !กามคุณมีห้าอย่างเหล่านี้แล.

ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ติดอกติดใจ สยบอยู่เมาหมก อยู่ใน กามคุณ ห้าอย่างเหล่านี้แล้ว ก็ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบาย เป็นเครื่องออก ไปจากทุกข์ ทำการบริโภคกามคุณทั้งห้านั้นอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ พวกนั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า เป็นผู้ถึงความพินาศย่อยยับ แล้วแต่มารผู้ใจบาป ต้องการจะทำตามอำเภอใจอย่าง ใด ดังนี้.


หน้าถัดไป

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์