เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อริยะวินัย (คัดมาบางพระสูตร จากหนังสือ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ) 920-4
 
 
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ออกไปหน้าแรก
 
 
 
1

ผู้มีศีลไม่ทำการบริโภคสะสม(ไม่สะสมข้าวบ้าง น้ำดึ่มบ้าง ผ้าบ้าง ยานพาหนะ เครื่องนอนบ้าง สะสมอามิสบ้าง)

2 ผู้มีศีลไม่ดูการเล่น (ดูการฟ้อน ฟังขับ ฟังนิยาย ฟังเพลงปรบมือ ดุชนช้าง แข่งม้า ชนโค ชกมวย ดูการตั้งขบวนทัพ)
3 ผู้มีศีลไม่ประดับตกแต่งร่างกาย (อบตัว เคล้นตัว นวดเนื้อ ส่องดูเงา ใช้ดอกไม้ ผูกเครื่องประดับที่มือ การถือไม้ถือ)
4 ผู้มีศีลไม่พูดคุยเดรัจฉานกถา (ไม่พูดเรื่องโจร อำมาตย์ เรื่องน่ากลัว เรื่องโลก เรื่องสมุทร ความเจริญ-ฉิบหาย)
5 ผู้มีศีลไม่เป็นทูตนำข่าว (ไม่ให้รับใช้กษัตริย์ พระราชา คหบดี ไม่เป็นเด็กรับใช้ คนรับใช้ ถูกคนอื่นไหว้วาน)
6 ผู้มีศีลไม่เป็นหมอทายโชคลาง(ลักษณะร่างกาย ทำนายฝัน ทายชะตา พิธีจุดไฟบูชา หมอปลุกเสก-เป่า ทำยันต์)
7 ผู้มีศีลไม่เป็นหมอทายลักษณะสิ่งของ (ลักษณะแก้วมณี ลักษณะต่างๆ ศัสตรา ลักษณะหญิง-ชาย ลักษณะสัตว์)
8 ผู้มีศีลไม่เป็นหมอทำนายการรบพุ่ง(ดูฤกษ์ยาตราทัพ จักรุก จักถอย จักแพ้ จักชนะ)
9 ผู้มีศีลไม่เป็นหมอโหราศาสตร์ (ทำนายดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ การเดินทาง ดาวพระเคราะห์ ดวงดาว)
10 ผู้มีศีลไม่เป็นหมอทำนายดินฟ้าอากาศ(ทำนายฝน-แล้ง การนับคะแนน แต่งกาพย์กลอน สอนตำราทางโลก)
11 ผู้มีศีลไม่เป็นหมอดูฤกษ์ยาม(ฤกษ์วิวาห์ ฤกษ์ต่างๆ การลงทุน โชคดี-โชคร้าย ร่ายมนต์ บวงสรวง ร่ายมนต์)
12 ผู้มีศีลไม่เป็นหมอผีและหมอยา(แก้บน สอนมนต์กันผี บวงสรวงปลูกเรือน บวงสรวงแก้บน ประกอบยา ทำยา)
13 อธิศีลสิกขา (อธิศีลสิกขา คือเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมก สมบูรณ์ด้วยมรรยาท-โคจร เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย)
14 สมณกิจ (กิจของสงฆ์คือ การสมาทานการปฏิบัติในศีล ในจิต ในปัญญา อันยิ่ง)
15 กิจของชาวนา(กิจของชาวนา 3 อย่าง คือ ไถคราด หว่านพืช ไขน้ำเข้าไขน้ำออกนา)
16 ผู้ต้องติดต่อด้วยสตรี(การปฏิบัติต่อสตรี : ไม่พบปะ ถ้าพบปะจะไม่พูดด้วย ถ้าพูดด้วยต้องมีสติ)
17 ผู้ทำตามคำสั่งแท้จริง(แม้ร่างกายจะถูกเลื่อย จิตของเรา ต้องไม่ผิดปรกติด้วย จักประกอบด้วยเมตตา)
18 ผู้รู้จักอันตรายของทิฏฐธรรมสุข (ลาภสักการะเป็นอันตรายต่อพระอรหันต์ ต่อการเป็นสุข ในทิฏฐธรรม)
19 ผู้ควรปลีกตัวออกจากหมู่ได้ (ภิกษุต้องสันโดษ มักน้อย ตามมีตามได้)
20 ผู้ที่น่าเคารพ (ไม่ต้องการลาภสักการะ ไม่ทำตัวให้เด่น มีความละอาย ต้องการน้อย เห็นตามตาม คลองธรรม)
21 ภิกษุที่ดี(ไม่หวังลาภ ยศ สักการะ ทำตนให้อยู่เหนือลาภ เหนือความเสื่อมลาภ)
22 ผู้ระลึกถึงสถานที่ ที่ควรระลึกตลอดชีวิต
  (3 แห่งของกษัตริย์ คือ 1.สถานที่ประสูติ 2.สถานที่ทำพิธีมุรธาภิเษก 3.สถานที่รบชนะ)
  (3 แห่งของภิกษุ คือ 1.สถานที่ออกบวช 2.รู้ชัด อริยสัจสี่ 3.วันแจ้งเจโต-ปัญญาวิมุติ)
23 ฉันอาหารวันละหนเดียว(ฉันวันละหน อาพาธน้อย ทุกข์น้อย เบากาย กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง มีความผาสุก)
24 หลังอาหารแล้วภาวนา(ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า หวังอยู่ว่าจิตเราจักหลุดพ้น หากไม่สิ้นอุปาทานเราจะไม่เลิก)
25 ทางรอดภิกษุไข้-มีกำลังน้อย(เห็นกายไม่งาม พิจารณาอาหาร ไม่ยินดีในโลก เห็นความไม่เที่ยง มีสติเห็นเกิดดับ)
26 ผู้จักทำนิพพานให้แจ้ง (ไม่รู้สึกพอใจยินดี ไม่คลุกคลีเป็นหมู่ๆ ยินดีในความสงัด จิตมีสมาธิ-วิปัสสนา มีสัมมาทิฏฐิ)
 
 
 
 


1
ผู้มีศีลไม่ทำการบริโภคสะสม
(ไม่สะสมข้าวบ้าง น้ำดึ่มบ้าง ผ้าบ้าง ยานพาหนะ เครื่องนอนบ้าง สะสมอามิสบ้าง)

         อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเป็นผู้ทำการบริโภคสะสมอยู่เนือง ๆ

คืออะไรบ้าง ?
คือสะสมข้าวบ้าง สะสมนํ้าดื่มบ้าง สะสมผ้าบ้าง สะสม ยานพาหนะบ้าง สะสมเครื่องนอนบ้าง สะสมของหอมบ้าง สะสมอามิสบ้าง.

          ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการบริโภคสะสมเห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.



2
ผู้มีศีลไม่ดูการเล่น
(ดูการฟ้อน ฟังขับ ฟังนิยาย ฟังเพลงปรบมือ ดุชนช้าง แข่งม้า ชนโค ชกมวย ดูการตั้งขบวนทัพ)

          อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเป็นผู้ดูการเล่นอยู่เนือง ๆ

คืออะไร บ้าง ?
คือดูฟ้อน ฟังขับ ฟังประโคม ดูไม้ลอย ฟังนิยาย ฟังเพลงปรบมือ ฟัง ตีฆ้อง ฟังตีระนาด ดูหุ่นยนต์ฟังเพลงขอทาน ฟังแคน ดูเล่นหน้าศพ ดูชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ชนนกกระทา ดูรำไม้รำมือ ชกมวย ดูเขารบกัน ดูเขาตรวจพล ดูเขาตั้งกระบวนทัพ ดูกองทัพที่จัดไว้.

          ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการดูการเล่นเห็นปานนั้น เสีย แล้ว.  แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง



3
ผู้มีศีลไม่ประดับตกแต่งร่างกาย
(อบตัว การเคล้นตัว การอาบสำอาง การนวดเนื้อ การส่องดูเงา การใช้ดอกไม้ การผัดหน้า การผูกเครื่อง ประดับที่มือ การถือไม้ถือ)

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประกอบการประดับประดาตกแต่ง ร่างกาย เห็นปานนี้กันอยู่เนือง ๆ

คืออะไรบ้าง ?
คือการอบตัว การเคล้นตัว การอาบสำอาง การนวดเนื้อ การส่องดูเงา การหยอดตา ให้มีแววคมขำ การใช้ดอกไม้ การทาของหอม การผัดหน้า การทาปาก การผูกเครื่อง ประดับที่มือ การผูกเครื่องประดับที่กลางกระหม่อม การถือไม้ถือ การห้อยแขวนกล่อง กลัก อันวิจิตร การคาดดาบ การคาดพระขรรค์การใช้ร่ม และรองเท้าอันวิจิตร การใส่กรอบหน้า การปักปิ่น การใช้พัดสวยงาม การใช้ผ้าชายเฟื้อยและอื่น ๆ.

          ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการประดับตกแต่งร่างกายเห็น ปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธออีกประการหนึ่ง.



4

ผู้มีศีลไม่พูดคุยเดรัจฉานกถา
(ไม่พูดเรื่องโจร มหาอำมาตย์ กองทัพ เรื่องน่ากลัว เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า ที่นอน ดอกไม้ เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องหญิง เรื่องชายเรื่องคนตายแล้ว เรื่องโลก เรื่องสมุทร เรื่องความเจริญ เรื่องฉิบหาย)

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประกอบการคุยด้วยเดรัจฉานกถา กันอยู่เนืองๆ

คืออะไรบ้าง ?
คือคุยกันถึงเรื่อง เจ้านายบ้าง เรื่องโจรบ้าง เรื่องมหาอมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องของน่ากลัว เรื่องการรบพุ่ง เรื่องข้าว เรื่องนํ้า เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องบ้าน เรื่องจังหวัด เรื่องเมืองหลวง เรื่องบ้านนอก เรื่องหญิง เรื่องชาย เรื่องคนกล้า เรื่องตรอก เรื่องท่านํ้า เรื่องคนที่ตายไป แล้ว เรื่องความแปลกประหลาดต่างๆ เรื่องโลก เรื่องสมุทร เรื่องความฉิบหายและเจริญบ้าง.

             ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการคุยด้วยเดรัจฉายกถา เห็นปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง



5

ผู้มีศีลไม่เป็นทูตนำข่าว
(ไม่ให้รับใช้กษัตริย์ พระราชา คหบดี ไม่เป็นเด็กรับใช้ คนรับใช้ ถูกคนอื่นไหว้วาน)
(มัชฌิมศีล ข้อ ๙ เรื่องติรัจฉานกถา)

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประกอบการรับเป็นทูต รับใช้ไป ในที่นั้น ๆ กันอยู่เนือง ๆ

คืออะไรบ้าง ?

คือรับใช้พระราชาบ้าง รับใช้อมาตย์ของพระราชาบ้าง รับใช้กษัตริย์ รับใช้พราหมณ์ รับใช้คฤหบดี และรับใช้เด็ก ๆ บ้าง ที่ใช้ว่า “ท่านจงไปที่นี่ ท่านจงไปที่โน่น ท่านจงนำสิ่งนี้ไป ท่านจงนำสิ่งนี้ ในที่โน้นมา” ดังนี้.

            ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการรับใช้เป็นทูต รับใช้ไปใน ที่ต่าง ๆ เห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.



6

ผู้มีศีลไม่เป็นหมอทายโชคลาง
(ทายลักษณะในร่างกาย ทายนิมิต ทำนายฝัน ทายชะตา ทำพิธีจุดไฟบูชา ทำพิธีเสกเป่า เป็นหมอดูอวัยวะร่างกาย ดูภูมิที่ตั้งบ้านเรือน ดูลักษณะไร่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอ ทำยันต์)


            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธา แล้ว ท่านเหล่านั้น ยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่

คืออะไรบ้าง ?
คือทายลักษณะในร่างกาย บ้าง ทายนิมิตลางดีลางร้ายบ้าง ทายอุปปาตะ คือของตกบ้าง ทำนายฝัน ทาย ชะตา ทายผ้าหนูกัด ทำพิธีโหมเพลิง ทำพิธีเบิกแว่น เวียนเทียน ทำพิธีซัดโปรย แกลบ ทำพิธีซัด โปรยรำ ทำพิธีซัดโปรยข้าวสาร ทำพิธีจองเปรียง ทำพิธีจุดไฟ บูชา ทำพิธีเสกเป่า ทำพิธีพลีด้วยโลหิต บ้าง เป็นหมอดูอวัยวะร่างกายหมอ ดูภูมิที่ตั้งบ้านเรือน ดูลักษณะไร่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอ ทำยันต์กันบ้านเรือน หมองูหมอดับพิษ หมอแมลงป่อง หมอหนูกัด หมอ ทายเสียงนกเสียงกา หมอทายอายุหมอกันลูกศร (กันปืน) หมอดูรอยสัตว์.

            ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำ เดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.



7
ผู้มีศีลไม่เป็นหมอทายลักษณะสิ่งของ

(คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะต่างๆ ลักษณะศัสตรา ทายลักษณะหญิง ลักษณะชาย ลักษณะเด็กชาย ทายลักษณะช้าง ลักษณะม้า ลักษณะกระบือ ลักษณะโคอุสภ ลักษณะโค ลักษณะแพะ)


            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้อยู่

คืออะไรบ้าง ?
คือ ทายลักษณะแก้วมณี(เช่นหมอดูเพชร) ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้เท้า ลักษณะศัสตรา ลักษณะ ดาบ ลักษณะลูกศร ลักษณะธนูลักษณะอาวุธ ทายลักษณะหญิง ลักษณะชาย ลักษณะเด็กชาย ลักษณะเด็กหญิง ลักษณะทาส ลักษณะทาสีทายลักษณะช้าง ลักษณะม้า ลักษณะกระบือ ลักษณะโคอุสภ ลักษณะโค ลักษณะแพะ ลักษณะ แกะ ลักษณะไก่ลักษณะนกกระทา ลักษณะเหี้ย ลักษณะสัตว์ชื่อกัณณิกา ลักษณะเต่า ลักษณะเนื้อบ้าง.

             ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำ เดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

8

ผู้มีศีลไม่เป็นหมอทำนายการรบพุ่ง
(ดูฤกษ์ยาตราทัพ จักรุก จักถอย จักแพ้ จักชนะ)

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวาย ด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิดเพราะ ทำเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้อยู่

คืออะไรบ้าง ?
คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพให้แก พระราชาว่า วันนั้นควรยก วันนั้นไม่ควรยก พระราชาภายในจักรุก พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักรุก พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักชนะ พระราชาภายนอกจักแพ้ พระราชาภายนอก จักชนะ พระราชาภายในจักแพ้ องค์นี้จักแพ้องค์นี้จักชนะบ้าง.

            ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำ เดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.


9
ผู้มีศีลไม่เป็นหมอโหราศาสตร์
(ทำนายดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ การเดินทาง ดาวพระเคราะห์ ดวงดาว)

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้อยู่

คืออะไรบ้าง ?
คือ ทำนายจันทรคาธ สุริยคาธ นักษัตรคาธ ทำนายดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวพระเคราะห์ว่าจักเดิน ในทางบ้าง นอกทางบ้าง ทำนายว่า จักมีอุกกาบาต ฮูมเพลิง แผ่นดินไหว ฟ้าร้องบ้าง ทำนายการขึ้น การตก การหมอง การแผ้วของ ดวงจันทร์ดวง อาทิตย์และดาว จะมีผลเป็นอย่างนั้น ๆ ดังนี้บ้าง.

             ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำ เดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.


10

ผู้มีศีลไม่เป็นหมอทำนายดินฟ้าอากาศ
(ทำนายว่ามีฝนดีบ้าง-แล้งบ้าง อาหารหาง่าย-หายาก จักมีความสบาย จักมีความทุกข์จักมีโรค ไม่มีโรค ทำนายการนับคะแนน คิดเลข ประมวล แต่ง กาพย์กลอน สอนตำราว่าด้วยทางโลก)

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้อยู่

คืออะไรบ้าง ?
คือ ทำนายว่าจักมีฝนดีบ้าง จักมีฝนแล้งบ้าง อาหารหาง่าย อาหารหายาก จักมีความสบาย จักมีความทุกข์จักมีโรค จักไม่มีโรคบ้าง ทำนายการนับคะแนน คิดเลข ประมวล แต่ง กาพย์กลอน สอนตำราว่าด้วยทางโลก ดังนี้บ้าง.

             ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำ เดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

11
ผู้มีศีลไม่เป็นหมอดูฤกษ์ยาม
(ดูฤกษ์วิวาห์ ดูฤกษ์อื่นๆ การผูกมิตร การลงทุน โชคดี-โชคร้าย ร่ายมนต์ ทำพิธีบวงสรวง ร่ายมนต์ไฟ)

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายกถวาย ด้วยศรัทธาแล้ว ยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่

คืออะไรบ้าง ?
คือ ดูฤกษ์อาวาหะ ดูฤกษ์วิวาหะ ดูฤกษ์ทำการผูกมิตร ดูฤกษ์ทำการแตกร้าว ดูฤกษ์ทำการเก็บทรัพย์ ดูฤกษ์ทำการ จ่ายทรัพย์ (ลงทุน) ดูโชคดีโชคร้ายบ้าง ให้ยาบำรุงครรภ์บ้าง ร่ายมนต์ผูกยึด ปิดอุดบ้าง ร่ายมนต์สลัด ร่ายมนต์กั้นเสียง เป็นหมอเชิญผีถามบ้าง เชิญเจ้าเข้าหญิงถามบ้าง ถามเทวดาบ้าง ทำพิธีบวงสรวง พระอาทิตย์บวงสรวง มหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ร่ายมนต์เรียกขวัญให้บ้าง.

             ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำ เดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

12
ผู้มีศีลไม่เป็นหมอผีและหมอยา
(แก้บน สอนมนต์กันผี บวงสรวงปลูกเรือน บวงสรวงแก้บน ประกอบยา ทำยา)

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังสำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้อยู่

คืออะไรบ้าง ?
คือบนขอลาภผลต่อเทวดา ทำการบวงสรวงแก้บน สอนมนต์กันผีกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำการบวงสรวงในที่ ปลูกเรือน พ่นนํ้ามนต์บูชาเพลิงให้บ้าง ประกอบยาสำรอกให้บ้าง ประกอบยาประจุ ประกอบยา ถ่ายโทษข้างบน ประกอบยาแก้ปวดศีรษะ หุงนํ้ามันหยอดหู ทำยา หยอดตา ประกอบยานัตถ์ ประกอบยาทำให้กัด ประกอบยาทำให้สมาน เป็นหมอป้าย ยาตา เป็นหมอผ่าบาดแผล เป็นหมอกุมาร หมอพอกยาแก้ยาให้บ้าง.

             ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีวิตผิด เพราะทำ เดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้น เสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง



13
อธิศีลสิกขา
(อธิศีลสิกขา คือ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาท และ โคจร เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย)

            ภิกษุ ท. ! อธิศีลสิกขา เป็นอย่างไรเล่า ?
            ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้ว่าเป็น โทษเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.

            ภิกษุ ท. ! การปฏิบัติอย่างนี้เราเรียกว่า อธิศีลสิกขา.


14

สมณกิจ
(กิจของสงฆ์คือ การสมาทานการปฏิบัติในศีล ในจิต ในปัญญาอันยิ่ง)

            ภิกษุ ท. ! กิจของสมณะที่สมณะต้องทำมีสามอย่างเหล่านี้. สามอย่าง อะไรบ้างเล่า ? สามอย่างคือ
            (๑) การสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง.
            (๒) การสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง.
            (๓) การสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง.

            ภิกษุ ท. ! กิจของสมณะที่สมณะต้องทำมีสามอย่างเหล่านี้แล.
            ภิกษุ ท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเนียกใจ ไว้ว่า “ความพอใจของเราจักต้องเข้มงวดพอ ในการสมาทานการปฏิบัติใน ศีลอันยิ่ง ในการ สมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และในการสมาทานการ ปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง” ดังนี้.

            ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้อย่างนี้แล.



15
กิจของชาวนา
(กิจของชาวนา 3 อย่าง คือ ไถคราด หว่านพืช ไขน้ำเข้าไขน้ำออกนา)
(กิจของสงฆ์ 3 อย่างคือ การสมาทาน การปฏิบัติอันยิ่ง ในศีล ในจิต ในปัญญา)


            ภิกษุ ท. ! กิจของคฤหบดีชาวนาที่เขาจะต้องทำก่อน (แห่งการได้มา ซึ่งข้าวเปลือก) มีสามอย่างเหล่านี้. สามอย่างอะไรบ้างเล่า ? สามอย่างคือ คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ไถคราด พื้นที่นาให้ดีเสียก่อน ครั้นแล้วปลูกพืชลง ในเวลาอันควร ครั้นแล้ว ไขนํ้าเข้าบ้าง ไขนํ้าออกบ้าง ตามคราวที่สมควร.
ภิกษุ ท. ! กิจของคฤหบดีชาวนาที่เขาจะต้องทำก่อน (แห่งการได้มาซึ่งข้าวเปลือก) มีสามอย่างเหล่านี้แล

             ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น กิจที่ภิกษุจะต้องทำก่อน (แห่งการได้มาซึ่ง มรรคผล) มีสามอย่างเหล่านี้. สามอย่างอะไรกันเล่า ? สามอย่างคือการสมาทาน การปฏิบัติในศีลอันยิ่ง การสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และการสมาทาน การปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง. ภิกษุ ท. ! กิจที่ภิกษุจะต้องทำก่อน (แห่งการได้มา ซึ่งมรรคผล) มีสามอย่างเหล่านี้แล.

             ภิกษุ ท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “ความพอใจของเราจักต้องเข้มงวดพอ ในการ สมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง ในการสมาทาน การปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และในการสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง” ดังนี้
            ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้อย่างนี้แล.



16

ผู้ต้องติดต่อด้วยสตรี
(การปฏิบัติต่อสตรี : ไม่พบปะ ถ้าพบปะจะไม่พูดด้วย ถ้าพูดด้วยต้องมีสติ)

           ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะปฏิบัติในมาตุคาม (สตรี) อย่างไร ”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
“อานนท์ ! การไม่พบปะกัน”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! เมื่อยังมีการพบปะกัน จะพึงปฏิบัติอย่างไรเล่า ?”
“อานนท์ ! การไม่พูดด้วย”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อต้องพูดด้วย จะพึงปฏิบัติอย่างไรเล่า ?”
“อานนท์ ! ถ้าต้องพูดด้วย พึงมีสติแล”



17

ผู้ทำตามคำสั่งแท้จริง
(แม้ร่างกายจะถูกเลื่อย จิตของเรา ต้องไม่ผิดปรกติด้วย จักประกอบด้วยเมตตา)

           ภิกษุท. ! ถ้าหากพวกโจรผู้ทำโจรกรรม พึงเลื่อยอวัยวะใหญ่น้อย ทั้งหลาย ด้วยเลื่อยมีที่สำหรับจับทั้งสองข้างไซร้ แม้ในการที่ถูกทำเช่นนั้น ภิกษุใด มีใจ ประทุษร้ายต่อโจรนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า มิได้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุนั้น.

            ภิกษุท. ! แม้ในเรื่องนั้น พวกเธอทั้งหลายพึงตั้งใจสำเหนียกไว้ว่า “จิตของเรา ต้องไม่ผิดปรกติด้วย เราจักไม่เปล่งออก ซึ่งวาจาอันเป็น บาปด้วย เราจัก เป็นผู้อยู่อย่างผู้ที่มีความเอ็นดูคิดจะทำประโยชน์เกื้อกูลมีจิตเมตตา หาโทษจิตแทรก มิได้ด้วย เราจักอยู่ด้วยใจอัน ประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปยังบุคคลนั้นด้วย และจักอยู่ ด้วยใจ อันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ใหญ่หลวง หาประมาณมิได้ไม่มีเวร ปราศจากพยาบาท แผ่ไปยังสัตว์โลกทั้งปวง โดยมีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ด้วย.” ดังนี้.

            ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงตั้งใจสำเหนียกไว้อย่างนี้แล.



18

ผู้รู้จักอันตรายของทิฏฐธรรมสุข
(ลาภสักการะเป็นอันตรายต่อพระอรหันต์ ต่อการเป็นสุข ในทิฏฐธรรม)

           ภิกษุท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรม อื่น ยิ่งกว่า.

            ภิกษุท. ! เรากล่าว ลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตราย แม้แก่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว ดังนี้.

           ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ดังนี้ ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามขึ้นว่า “ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็น อันตรายแก่ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ชนิดไรเล่า พระเจ้าข้า ?” ดังนี้.

          อานนท์ ! เราหาได้กล่าวลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่า เป็นอันตราย ต่อ เจโตวิมุตติอันไม่กลับกำเริบแล้ว ไม่.

          อานนท์ ! แต่เรากล่าวลาภสักการะ และเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตราย ต่อการ อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนี้ ซึ่งภิกษุ ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท มีเพียรเผากิเลส มีตน ส่งไปแล้วในธรรมเครื่อง สงบ. ได้ลุถึงแล้ว.

           อานนท์ ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษม จากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ด้วยอาการอย่างนี้.

            อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใยในลาภ สักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น. อนึ่ง ลาภสักการะ และเสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา” ดังนี้.

           อานนท์ ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.



19

ผู้ควรปลีกตัวออกจากหมู่ได้
(ภิกษุต้องสันโดษ มักน้อย ตามมีตามได้)

           ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมห้าอย่างแล้ว สมควรที่จะให้ปลีกตัวออก จากหมู่สงฆ์ได้.

ธรรมห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
(๑) เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรตามมีตามได้
(๒) เป็นผู้สันโดษ ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้
(๓) เป็นผู้สันโดษ ด้วยเสนาสนะตามมีตามได้
(๔) เป็นผู้สันโดษ ด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริกขารตามมีตามได้
(๕) เป็นผู้มาก ด้วยความคิดในการออกจากกาม

           ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมห้าอย่างเหล่านี้แล สมควรที่จะให้ ปลีกตัวออกจากหมู่สงฆ์ได้.



20

ผู้ที่น่าเคารพ
(ไม่ต้องการลาภสักการะ ไม่ทำตัวให้เด่น มีความละอาย ต้องการน้อย เห็นตามตาม คลองธรรม)

           ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมเจ็ดอย่างแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่น่ารัก น่าพอใจ น่าเคารพ น่าสรรเสริญ ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน

ธรรมเจ็ดอย่างอะไรบ้างเล่า ? เจ็ดอย่าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
(๑) เป็นผู้ไม่ต้องการลาภ
(๒) เป็นผู้ไม่ต้องการสักการะ
(๓) เป็นผู้ไม่ต้องการทำตัวให้เด่น
(๔) เป็นผู้มีความละอาย (ต่อการเป็นทาสกิเลส)
(๕) เป็นผู้มีความกลัว (ต่อการเป็นทาสกิเลส)
(๖) เป็นผู้มีความต้องการน้อย.
(๗) เป็นผู้มีความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม

           ภิกษุท. ! ภิกษุเมื่อประกอบด้วยธรรมเจ็ดอย่างเหล่านี้แล้วย่อมเป็นผู้ที่น่ารัก น่าพอใจ น่าเคารพ น่าสรรเสริญ ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันแล.



21

ภิกษุที่ดี
(ไม่หวังลาภ ยศ สักการะ ทำตนให้อยู่เหนือลาภ เหนือความเสื่อมลาภ)

           ภิกษุท. ! ภิกษุที่ดี :
(๑) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ลาภ ที่เกิดขึ้น
(๒) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความเสื่อมลาภ ที่เกิดขึ้น
(๓) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ยศ ที่เกิดขึ้น
(๔) พึงทำตนให้อยู่เหนือ  ความเสื่อมยศ ที่เกิดขึ้น
(๕) พึงทำตนให้อยู่เหนือ สักการะ ที่เกิดขึ้น
(๖) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความเสื่อมสักการะ ที่เกิดขึ้น
(๗) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความปรารถนาที่เลวทราม ที่เกิดขึ้น
(๘) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความได้เพื่อนไม่ดีที่เกิดขึ้น

           ภิกษุท. ! เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์อะไร จึงต้องทำเช่นนั้น ? เพราะว่า เมื่อภิกษุไม่ทำเช่นนั้น อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำลายล้างและ ทำความเร่าร้อน จะพึงเกิดขึ้นแก่เธอ.

           แต่เมื่อภิกษุทำตนให้อยู่เหนือลาภ (เป็น ต้น) ที่เกิดขึ้นหรือมีมาแล้ว อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำลายล้างและทำความ เร่าร้อนย่อมไม่เกิดแก่เธอได้.
ภิกษุท. ! เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์เหล่านี้แล ภิกษุจึงต้องทำเช่นนั้น.

            ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักทำตนให้อยู่เหนือลาภ เหนือความเสื่อมลาภ เหนือยศ เหนือความเสื่อมยศ เหนือสักการะ เหนือความเสื่อมสักการะ เหนือความ ปรารถนาที่เลวทราม เหนือความมีเพื่อนไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้วๆ” ดังนี้.
 
            ภิกษุท. ! พวกเธอพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.



22
ผู้ระลึกถึงสถานที่ ที่ควรระลึกตลอดชีวิต
(3 แห่งของกษัตริย์ คือ สถานที่ประสูติ สถานที่ทำพิธีมุรธาภิเษก สถานที่รบชนะ)
(3 แห่งของภิกษุ คือ ออกบวช รู้ชัด อริยสัจสี่ วันแจ้งเจโต-ปัญญาวิมุติ)


           ภิกษุท. ! สถานที่สามแห่ง เป็นที่ระลึกตลอดชีวิตของพระราชาผู้เป็น กษัตริย์มุรธาภิเษก แล้ว.

สามแห่งที่ไหนบ้างเล่า ? สามแห่งคือ

           (1) พระราชา ผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก ประสูติ ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ ระลึกตลอดชีวิตของ พระราชาพระองค์นั้น เป็นแห่งที่หนึ่ง

           (2) พระราชา ได้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษกแล้ว ณ ตำบลใด ตำบลนี้ เป็นที่ระลึก ตลอดชีวิต ของพระราชาพระองค์นั้น เป็นแห่งที่สอง

           (3) พระราชา ผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก ทรงผจญสงครามได้ชัยชนะแล้ว เข้ายึดครอง สนามรบนั้นไว้ได้ ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีวิตของ พระราชาพระองค์นั้น เป็นแห่งที่สาม

            ภิกษุท. !ฉันใดก็ฉันนั้น สถานที่สามแห่ง เป็นที่ระลึกตลอดชีวิต ของภิกษุเหมือนกัน.

สามแห่งที่ไหนบ้างเล่า ? สามแห่งคือ

            (1) ภิกษุ ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมนํ้าฝาด ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ณ สถานที่ใด สถานที่นี้เป็นที่ควรระลึกตลอดชีวิต ของภิกษุนั้น เป็นแห่งที่หนึ่ง

           (2) ภิกษุ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า ทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเช่นนี้ๆ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่ เหลือ แห่งทุกข์เป็นเช่นนี้ๆ ณ สถานที่ใด สถานที่นี้ก็เป็นที่ควร ระลึกตลอดชีวิตของ ภิกษุนั้น เป็นแห่งที่สอง

            (3) ภิกษุ กระทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมเข้าถึงแล้ว แลอยู่ ณ สถานที่ใด สถานที่นี้ก็เป็นที่ควรระลึกตลอดชีวิตของภิกษุนั้น เป็นแห่งที่สาม

           ภิกษุ ท. ! สถานที่สามแห่งเหล่านี้เป็นที่ควรระลึกตลอดชีวิตของ ภิกษุแล.



23

ฉันอาหารวันละหนเดียว
(ฉันวันละหน อาพาธน้อย ทุกข์น้อย เบากาย กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง มีความผาสุก)

           ภิกษุท. ! เราย่อมฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียว(คือฉันหนเดียวลุกขึ้น แล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น). ภิกษุท. ! เมื่อเราฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียวอยู่ ย่อมรู้สึก ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย มีความเบากาย กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และมี ความผาสุกด้วย.

            ภิกษุท. ! มาเถิด, แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็จงฉันโภชนะแต่ในที่นั่ง แห่งเดียว. ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลาย เมื่อฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียวอยู่ จักรู้สึกความเป็นผู้ มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย มีความเบากาย กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และมีความ ผาสุกด้วย

24
หลังอาหารแล้วภาวนา
(ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หวังอยู่ว่าจิตเราจักหลุดพ้น หากไม่สิ้นอุปาทาน เราจะไม่เลิกถอนการนั่งคู้บัลลังก์)

           สารีบุตร ! คำของเธอทั้งหลาย เป็นสุภาษิตได้โดยปริยาย. เธอทั้งหลาย จงฟังคำของเราบ้าง.

           สารีบุตร ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้เวลาหลังอาหาร กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ (ขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หวังอยู่ว่า “จิตของเรา ยังไม่หลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลาย เพราะยังไม่สิ้น อุปาทานเพียงใด เราจักไม่เลิก ถอนการนั่งคู้บัลลังก์นี้ เพียงนั้น” ดังนี้.

            สารีบุตร ! ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามสง่า เพราะมีภิกษุประเภทนี้เข้าอาศัย อยู่แล.


25

ทางรอดสำหรับภิกษุไข้ (ผู้มีกำลังน้อย)
(ทางรอดของภิกษุผู้มีกำลังน้อย คือต้องไม่ละธรรมทั้ง ๕.. ๑.เห็นความไม่งามในกาย ๒.พิจารณาอาหารเป็น ปฏิกูล ๓.ไม่ยินดีในโลกอยู่เป็นประจำ ๔.เห็นความไม่เที่ยง เป็นประจำ ๕.มีสติเห็นการเกิดดับ ในภายในอยู่เป็นประจำ)

           ภิกษุท. ! ภิกษุไข้ผู้มีกำลังน้อยรูปใด ไม่ละจากธรรมห้าอย่าง เธอพึง หวังผลอันนี้ได้คือ เธอจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่ต่อกาลไม่นานเลย.

ธรรมห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ
(๑) เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่เป็นประจำ
(๒) เป็นผู้มีการกำหนดหมายความปฏิกูล ในอาหาร อยู่เป็นประจำ
(๓) เป็นผู้มีการกำหนดหมายความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง อยู่เป็น ประจำ
(๔) เป็นผู้มีการกำหนดหมายความไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง อยู่เป็น ประจำ
(๕) เป็นผู้มีสติอันตนเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในกาย แล้วเห็นการเกิดดับใน ภายใน.

            ภิกษุท. ! ภิกษุไข้ผู้มีกำลังน้อยรูปใด ไม่ละจากธรรมห้าอย่างเหล่านั้น เธอพึงหวังผล อันนี้ได้คือ เธอจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหา อาสวะ มิได้เพราะความสิ้นไป แห่ง อาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่ต่อกาลไม่นานเลย แล.


26

ผู้จักทำนิพพานให้แจ้ง
(ทำนิพพานให้แจ้ง..ไม่รู้สึกพอใจยินดี ในความคลุกคลีเป็นหมู่ๆ ยินดีในความสงัด จิตมีสมาธิ มีวิปัสสนา มีสัมมาทิฏฐิ ทำสมาธิแห่งมรรคได้แล้ว จิตละสังโยชน์ได้แล้ว)

           ภิกษุท. ! ภิกษุผู้ที่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ ยินดีในความคลุก คลีกันเป็นหมู่ๆ ตามประกอบความพอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ เป็นผู้พอใจ ในหมู่ ยินดีในหมู่ ตามประกอบความพอใจในหมู่ อยู่แล้วหนอ เธอนั้น จักมาเป็นผู้ โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบนั้น ข้อนี้ ไม่ เป็นฐานะที่มีได้.

            เมื่อไม่เป็นผู้โดดเดี่ยวยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว จักถือเอานิมิตแห่ง สมาธิจิต และวิปัสสนาจิตได้นั้น ข้อนี้ก็ ไม่ เป็นฐานะที่มีได้.

            เมื่อไม่ได้ถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิต และวิปัสสนาจิตแล้ว. จักยังสัมมาทิฏฐิ แห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้ก็ ไม่ เป็นฐานะที่มีได้.

            เมื่อไม่ทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์แล้ว จักยังสัมมาสมาธิแห่ง มรรคและผลให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้ก็ ไม่ เป็นฐานะที่มีได้.

            เมื่อไม่ทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์แล้ว จักละสัญโญชน์ ทั้งหลายนั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้. เมื่อไม่ละสัญโญชน์ทั้งหลายแล้ว จักทำ นิพพานให้แจ้งนั้น ข้อนี้ก็ ไม่เป็นฐานะ ที่มีได้เลย.
------------------------------------------------------------------------------------------

การพิจารณาแบบตรงกันข้าม

            ภิกษุท. ! ภิกษุผู้ที่ไม่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ ไม่ยินดีในความ คลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ ไม่ตามประกอบความพอใจในความคลุกคลีกัน เป็นหมู่ๆ ไม่เป็นผู้พอใจในหมู่ ไม่ยินดีในหมู่ ไม่ตามประกอบความพอใจ ในหมู่ อยู่แล้วหนอ เธอนั้น จักมาเป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัด เงียบนั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ เป็นได้.

            เมื่อเป็นผู้โดดเดี่ยวยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว จักถือเอานิมิตของ สมาธิจิต และของวิปัสสนาจิตได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

            เมื่อถือเอานิมิตของสมาธิจิตและของวิปัสสนาจิตได้แล้ว จักยังสัมมาทิฏฐิ แห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

            เมื่อทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ได้แล้ว จักยังสัมมาสมาธิแห่ง มรรคและผลให้บริบูรณ์ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

            เมื่อทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์ได้แล้ว จักละสัญโญชน์ ทั้งหลายได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

            เมื่อละสัญโญชน์ทั้งหลายได้แล้ว จักทำนิพพานให้แจ้งได้นั้น ข้อนี้ เป็น ฐานะ ที่มีได้เป็นได้แล.

หน้าถัดไป

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์