เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อริยะวินัย (คัดมาบางพระสูตร จากหนังสือ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ) 920-5
 
 
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ออกไปหน้าแรก
 
 
 
1

ผู้เป็นอยู่อย่างถูกต้อง (ปรารภความเพียร ให้ยิ่งกว่าประมาณ..แม้ต้องเดินทางนับด้วยโยชน์ๆ ถึงกับต้องเอาห่อเสบียง)

2 ผลของพรหมจรรย์ที่แยบคาย (แม้หวังผลก็ต้องผล..แม้ไม่หวังผลก็ต้องได้ผล..แม้หวังและไม่หวังก็ต้องได้รับผล)
3 โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เอียงไปนิพพาน) สติปัฏฐาน๔ สัมมัป ๔ อิทธิบาท๔ อินทรีย์๕ พละ๕ โพชฌงค์๗ มรรค ๘)
4 อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล คือเชิงรองของจิต (ส่วนจิต ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมหมุนไปได้ยาก เหมือนหม้อมีเชิงรอง)
5 การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม แบบ ๑ (ประชุมเนืองนิตย์ พร้อมกัน ไม่บัญญัติเพิ่ม เคารพเถระ ไม่ลุตัณหา อยู่วิเวก สติตั้งมั่น)
6 การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อมแบบ ๒ (ไม่พอใจการก่อสร้าง พูดคุย การนอน การคลุกคลี ปรารถนาอันทราม ไม่มีมิตรชั่ว)
7 เนื้อ ที่ไม่ติดบ่วงนายพราน (ภิกษุไม่ติดใจ ไม่มัวเมาในกามคุณ ๕ รู้แจ้งในอุบายเป็นเครื่องออก)
8 ยอดแห่งความเพียร (ทำความเพียรเพื่อละนันทิ)
9 ผู้ไม่มีอหังการ์ (เพราะอหังการ-ความถือว่าเรา.. มมังการ-ความถือว่าของเรา.. มานานุสัย- กิเลสที่สะสมอยู่ในสันดาน)
10 ผู้ไม่ทำศาสนาเสื่อม (เล่าเรียนมาถูกด้วยพยัญชนะ. เป็นคนว่าง่าย อดทน คล่องในหลัก พุทธวจน ทรงธรรมทรงวินัย)
11 เรียกร้องหาศาสดาเพื่อความเป็นศัตรู - ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตรู้ทั่วถึง แต่แกล้งทำให้ผิดไปจากคำสอน)
12 เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นมิตร (สาวกย่อมฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่ทำให้ผิดจากคำสอน)
13 ผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม.. ผู้นั้น ชื่อว่าย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด)
14 สมณสากยปุตติยะที่แท้ (มีชาติ มีนาม มีโคตร ต่างกัน ออกบวชเมื่อถูกถามว่าท่านเป็นใคร เราเป็นสมณสากยปุตติยะ)
15 สมณสากยปุตติยะ (แม่น้ำใหญ่ไหลไปถึงสมุทรย่อมทิ้งชื่อเดิม..ภิกษุย่อมละทิ้งชื่อ สกุล ย่อมชื่อใหม่ว่าสากยปุตติยะ)
16 สมณะในธรรมวินัยนี้ (สมณะที่๑ สิ้นสังโยชน์๓ สมณะ๒ สิ้นสังโยชน์ ๓ ราคะ..เบาบาง สมณะที่๓ สิ้นสังโยชน์๕)
 
 
 
 


1
ผู้เป็นอยู่อย่างถูกพระพุทธอัธยาศัย
(จงปรารภความเพียร ให้ยิ่งกว่าประมาณ เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่ บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ ยังไม่ทำให้แจ้ง...แม้จะต้องเดิน สิ้นหนทางนับด้วยโยชน์ๆ ถึงกับต้องเอาห่อเสบียงไปด้วยก็ตาม)


           ภิกษุท. ! เราเป็นผู้มั่นแล้วในข้อปฏิบัตินี้. ภิกษุท. ! เราเป็นผู้ มีจิตมั่นแล้ว ในข้อปฏิบัตินี้.  ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย จงปรารภความเพียร ให้ยิ่งกว่าประมาณ เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ ยังไม่ทำให้แจ้ง. เราจักรอคอยพวกเธอ ทั้งหลายอยู่ณ ที่นครสาวัตถีนี้แล จนกว่าจะถึง วันท้ายแห่งฤดูฝนครบสี่เดือน เป็นฤดูที่บานแห่งดอกโกมุท (เพ็ญเดือนสิบสอง).

            พวกภิกษุผู้เป็นชาวชนบท ได้ทราบข่าวนี้ก็พากันหลั่งไหลไปสู่นครสาวัตถี เพื่อเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคเจ้า. ฝ่ายพระเถระผู้มีชื่อเสียงคนรู้จักมาก ซึ่งมีท่าน พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระเรวัต พระอานนท์ และ พระเถระรูปอื่นอีกหลายท่าน แบ่งกันเป็นพวก ๆ พากันสั่งสอนพรํ่าชี้แจง พวกภิกษุใหม่ๆ อย่างเต็มที่ :

            พวกละสิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง สามสิบรูป บ้าง สี่สิบรูปบ้าง. ส่วนภิกษุใหม่ๆ เหล่านั้น เมื่อได้รับคำสั่งสอน ได้รับคำพรํ่าชี้แจงของพระเถระผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย อยู่ก็ย่อมรู้คุณวิเศษอันกว้างขวางอย่างอื่น ๆ ยิ่งกว่าแต่ก่อน เป็นดังนี้จนกระทั่งถึง วันเพ็ญเดือนสิบสอง.

            ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายสืบไปว่า
ภิกษุท. ! ภิกษุบริษัทนี้ไม่เหลวไหลเลย.
ภิกษุท. ! ภิกษุบริษัทนี้ไม่เหลวแหลกเลย.
ภิกษุบริษัทนี้ ตั้งอยู่แล้วในธรรมที่เป็นสาระล้วน.


            ภิกษุท. ! บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่น่าบูชา น่าต้อนรับ น่ารับ ทักษิณาทาน น่าไหว้เป็นเนื้อนาบุญชั้นดีเยี่ยมของโลก หมู่ภิกษุนี้ก็มีรูปลักษณะ เช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น.

            ภิกษุท. ! บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่ทานอันบุคคลให้น้อย แต่กลับ มีผลมาก ทานที่ให้มาก ก็มีผลมากทวียิ่งขึ้น หมู่ภิกษุนี้ก็มีรูปลักษณะ เช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น.

            ภิกษุท. ! บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะยากที่ชาวโลกจะได้เห็น หมู่ภิกษุนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น.

            ภิกษุท. ! บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่ควรจะไปดูไปเห็น แม้จะต้องเดิน สิ้นหนทางนับด้วยโยชน์ๆ ถึงกับต้องเอาห่อเสบียงไปด้วยก็ตาม หมู่ภิกษุนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น.

            ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้ มีพวกภิกษุซึ่งเป็นพระอรหันต ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว มีภาระปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนเองบรรลุแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ทั่วถึงโดยชอบ พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้.

            ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์เบื้องตํ่าห้า เป็น โอปปาติกะแล้ว จักปรินิพพานในที่นั้น ไม่เวียนกลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้.

            ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์สาม และมีความ เบาบางไปของ ราคะ โทสะ โมหะ เป็น สกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว เท่านั้น แล้วจักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่ใน หมู่ภิกษุนี้.

            ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์สาม เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกตํ่าเป็นธรรมดา ผู้เที่ยงแท้ผู้แน่ที่จะตรัสรู้ข้างหน้า พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้.

            ภิกษุท. ! ในหมู่ภิกษุนี้มีพวกภิกษุซึ่ง ประกอบความเพียรเป็น เครื่องต้องทำ เนือง ๆ ในการอบรมสติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยมรรคมีองค์แปด เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภ อนิจจสัญญา และอานาปานสติ พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้.



2

ผลของพรหมจรรย์ที่แยบคาย
(ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังผล ก็ต้องได้รับผล.. แม้ไม่หวังผลก็ต้อง ได้รับ ผล..แม้หวังและไม่หวังผลก็ต้องได้รับผล ถ้าหวังผล ก็มิใช่ไม่หวังผล ก็มิใช่ ก็ยังต้อง ได้รับผล)

           ภูมิชะ ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ที่มีความ เข้าใจถูกต้อง มีความมุ่งหมายถูกต้อง มีคำพูดถูกต้อง มีการทำงาน ถูกต้อง มีการเลี้ยงชีวิตถูกต้อง มีความพยายามถูกต้อง มีความระลึก ถูกต้อง มีความตั้งจิตมั่นไว้อย่างถูกต้อง

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังผล ก็ต้องได้รับผล ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งโดยหวังผล และไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล
ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังผลก็มิใช่ไม่หวังผลก็มิใช่ ก็ยังต้องได้รับผล.


ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ? เพราะเหตุแห่งการได้รับผลนั้น เป็นสิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้ทำไว้อย่างลึกซึ้งแยบคาย.

            ภูมิชะ ! เช่นเดียวกับบุรุษผู้ต้องการนํ้ามัน เสาะหานํ้ามัน เที่ยวแสวงหา นํ้ามันอยู่ เขาเกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยนํ้าแล้วคั้น เรื่อยไป แม้บุรุษนั้น ทำความหวัง _ _ ทำความไม่หวัง _ ทั้งทำความหวัง และความไม่หวัง_ _ทั้งทำความหวัง ก็หามิได้ความไม่หวังก็หามิได้ก็ตาม เมื่อเขาเกลี่ยเยื่อเมล็ดงา ลงในราง ประพรมด้วยนํ้า แล้วคั้นอยู่เรื่อยไป บุรุษนั้น ก็ต้องได้นํ้ามันอยู่เอง. ข้อนี้เพราะเหตุอะไร ?

เพราะเหตุแห่งการได้นํ้ามันนั้น เป็นสิ่งที่บุรุษนั้นได้ทำแล้ว โดยลึกซึ้งแยบคาย ฉันใดก็ฉันนั้น.

           (ทรงให้อุปมาโดยทำนองนี้อีกสามข้อ คือบุรุษผู้ต้องการนํ้านม รีดนํ้านมจาก แม่โคลูกอ่อน
บุรุษผู้ต้องการเนย ปั้นเนยจากนมที่หมักเป็นเยื่อแล้ว บุรุษผู้ต้องการไฟ สีไฟจากไม้แห้ง ก็ย่อมได้ผลตามที่ตนต้องการ แม้จะทำความหวังหรือความ ไม่หวังก็ตามผลนั้น ๆ ก็ย่อมมีให้เอง เพราะได้มีการทำที่ถูกต้องลงไปแล้ว)



3
โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เอียงไปนิพพาน)
(สติปัฏฐาน๔ สัมมัปปธาน๔ อิทธิบาท๔ อินทรีย์๕ พละ๕ โพชฌงค์๗ อริยมรรค มีองค์ ๘)

           ภิกษุท. ! ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้น พวกเธอทั้งหลาย พึงรับเอาให้ดีพึงเสพให้ทั่วถึง พึงอบรม กระทำให้มาก โดยอาการ ที่พรหมจรรย์นี้จักมั่นคง ดำรงอยู่ได้ตลอดกาลนาน.

           ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก และเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขทั้งแก่เทวดา แลมนุษย์ทั้งหลาย.

ภิกษุท. ! ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่เราแสดงด้วยปัญญาอันยิ่ง ? ธรรมเหล่านั้นได้แก่
           สติปัฏฐาน ๔
           สัมมัปปธาน ๔
           อิทธิบาท ๔
           อินทรีย์๕
           พละ ๕
           โพชฌงค์ ๗
           อริยมรรคมีองค์ ๘


           ภิกษุ ท. ! ธรรมเหล่านี้แล ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นสิ่ง ที่พวกเธอทั้งหลาย พึงรับเอาให้ดีพึงเสพให้ทั่วถึง พึงอบรม กระทำให้มาก โดยอาการที่พรหมจรรย์นี้จักมั่นคง ดำรงอยู่ได้ตลอดกาลนาน.

           ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คน เป็นอัน มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก และเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งแก่เทวดา แลมนุษย์ทั้งหลาย.



4

อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล คือเชิงรองของจิต
(ส่วนจิต ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมหมุนไปได้ยาก เหมือนหม้อมีเชิงรอง)

           ภิกษุท. ! หม้อ ที่ไม่มีเชิงรองรับ ย่อมกลิ้งได้ง่าย. ส่วนหม้อที่มีเชิง รองรับ ย่อมกลิ้งได้ยาก. ภิกษุท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น : จิตที่ไม่มีเครื่อง รองรับ ย่อมหมุนไป ได้ง่าย. ส่วนจิต ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมหมุนไปได้ยาก.

            ภิกษุท. ! เครื่องรองรับของจิต เป็นอย่างไรเล่า ? 

           ภิกษุท. ! อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล ได้แก่ความเข้าใจอันถูกต้อง ความดำริ อันถูกต้อง การพูดจาอันถูกต้อง การทำงานอันถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตอัน ถูกต้อง ความพยายามอันถูกต้อง ความระลึกอันถูกต้อง ความตั้งใจมั่นคงอันถูกต้อง อริยอัฏฐังคิกมรรค นี้แล เป็นเครื่องรองรับของจิต.



5

การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม แบบที่หนึ่ง
(ประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมพร้อมกัน เลิกพร้อมกัน ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ เคารพพระเถระ ไม่ลุแก่ตัณหา อยู่วิเวก สติตั้งมั่น)

ภิกษุ ท. !
จักหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกัน ให้มากพอ อยู่เพียงใด, ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มี ความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น. 

ภิกษุ ท. !
จักพร้อมเพรียงกันเข้าประชุม จักพร้อมเพรียงกัน เลิกประชุม จักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ

ภิกษุ ท. !
จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติจักไม่เพิกถอนสิ่งที่ บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้ว อย่างเคร่งครัด

ภิกษุ ท. !
จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุพวกที่เป็นเถระ มีพรรษายุกาล บวชนาน เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ และตนจักต้องเข้าใจตัวว่า ต้องเชื่อฟังถ้อยคำ ของท่านเหล่านั้น

ภิกษุ ท. !
จักไม่ลุอำนาจแก่ตัณหา ซึ่งเป็นตัวเหตุก่อให้เกิดภพใหม่ ที่เกิดขึ้นแล้ว

ภิกษุ ท. !
จักมีใจจดจ่อในเสนาสนะป่า

ภิกษุ ท. !
จักเข้าไปตั้งสติไว้อย่างมั่นเหมาะว่า ทำไฉนหนอ ขอเพื่อนผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ด้วยกัน ซึ่งมีศีลเป็นที่รักยังไม่มาขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุขเถิด

ภิกษุ ท. ! ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมเจ็ดประการเหล่านี้ ยังคงดำรงอยู่ได้ ในภิกษุทั้งหลาย และพวกเธอก็ยังเห็นพ้องต้องกันในธรรม เจ็ดประการเหล่านี้ อยู่เพียงใด. ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มี ความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น. 

บาลี พระพุทธภาษิต สตฺตก. อํ. ๒๓/๒๑/๒๑
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

6

การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม แบบที่สอง
(ไม่ร้จักพอใจในการก่อสร้าง ในการพูดคุย ในการนอน ในการคลุกคลีกัน ในปราถนาอันเลวทราม ไม่มีมิตรชั่วไม่หยุดเลิกในความเพียร)

ภิกษุทั้งหลาย ! จักไม่เป็นผู้พอใจในการทำงานก่อสร้าง

ภิกษุทั้งหลาย ! จักไม่เป็นผู้พอใจในการคุย ไม่ประกอบความเป็นผู้พอใจในการคุย

ภิกษุทั้งหลาย ! จักไม่เป็นผู้พอใจในการนอน

ภิกษุทั้งหลาย ! จักไม่เป็นผู้พอใจในการจับกลุ่มคลุกคลีกัน

ภิกษุทั้งหลาย ! จักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาอันเลวทราม

ภิกษุทั้งหลาย ! จักไม่เป็นผู้มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนเกลอชั่ว

ภิกษุทั้งหลาย ! จักไม่เป็นผู้หยุดเลิกเสียในระหว่าง เนื่องจากได้บรรลุคุณวิเศษ สักเล็กน้อยแล้ว



7

เนื้อ ที่ไม่ติดบ่วงนายพราน
(ภิกษุไม่ติดใจ ไม่มัวเมาในกามคุณ ๕ รู้แจ้งในอุบายเป็นเครื่องออก)

ภิกษุท. ! สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ไม่เมาหมกอยู่ ในกามคุณ ๕ เหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษอยู่ เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบาย เป็นเครื่อง ออกไปจากทุกข์บริโภคกามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่

สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อันคนทั้งหลาย พึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความ พินาศ ย่อยยับ ไม่ต้องทำตามประสงค์ของมารผู้ใจบาป แต่อย่างใด ดังนี้.

ภิกษุท. ! เปรียบเหมือนเนื้อป่าตัวที่ไม่ติดบ่วง แม้นอนจมอยู่ใน กองบ่วง ในลักษณะที่ใคร ๆ พึงเข้าใจได้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ ไม่ต้องทำตาม ประสงค์ของพรานแต่อย่างใด เมื่อนายพรานมาถึงเข้า มัน จะหลีกหนีไปได้ตามที่ ต้องการ ดังนี้.

ข้อนี้ฉันใด ภิกษุท. ! สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ไม่เมาหมกอยู่ในกามคุณ ๕ เหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไป จากทุกข์บริโภคกามคุณทั้ง ๕ อยู่ ก็เป็น ผู้ที่คนทั้งหลายพึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ ไม่ต้องทำตาม ประสงค์ของมารผู้ใจบาปแต่อย่างใด ดังนี้.

ภิกษุท. ! กามคุณเหล่านี้มีห้าอย่าง. ห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้า อย่างคือ รูป ที่ได้เห็นด้วยตา เสียง ที่ได้ยินด้วยหู กลิ่น ที่ได้ดมด้วย จมูก รส ที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น และโผฏฐัพพะ ที่ได้สัมผัสด้วยกาย อันเป็น สิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่น่าชอบใจ ยวนตาให้รัก เป็นที่เข้าไป ตั้งไว้ซึ่งความใคร เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ.

ภิกษุท. ! กามคุณมีห้า อย่างเหล่านี้แล.



8

ยอดแห่งความเพียร
(ฝ่ายคฤหัถผู้ครองเรือนต้องใช้ความเพียร เพื่อให้ได้เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยาแก้ไข้ นี่อย่างหนึ่ง)
(
ฝ่ายบรรพชิต ผู้ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ต้องใช้ความเพียร เพื่อละอุปธิเสียทั้งหมด นี่อย่างหนึ่ง

ภิกษุท. ! ความเพียรที่เป็นหลักเป็นประธาน สองประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในโลก สองประการอะไรบ้างเล่า? สองประการ คือ

ฝ่ายคฤหัถผู้ครองเรือน ต้องใช้ความเพียร เพื่อให้ได้เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยาแก้ไข้ นี่อย่างหนึ่ง

ฝ่ายบรรพชิต ผู้ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ต้องใช้ความเพียร เพื่อละอุปธิเสียทั้งหมด นี่อย่างหนึ่ง

ภิกษุท. ! ความเพียรที่เป็นหลักเป็นประธาน สองประการเหล่านี้แหละ เป็นสิ่งที่ทำได้ ยากในโลก

ภิกษุท. ! บรรดาความเพียรที่เป็นหลักเป็นประธานสองประการเหล่านี้ ความเพียร เพื่อละอุปธิเสียทั้งหมด จัดเป็น ยอดแห่งความเพียร

ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักตั้งความเพียร ที่เป็นหลักเป็นประธาน เพื่อละอุปธิ เสียทั้งหมด” ดังนี้

ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่าง นี้แล



9

ผู้ไม่มีอหังการ์
(เพราะ อหังการ-ความถือว่าเรา.. มมังการ-ความถือว่าของเรา.. มานานุสัย- กิเลสที่ สะสมอยู่ในสันดานคือมานะ จักต้องไม่เกิดขึ้น เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จึงเข้าถึง)

สารีบุตร ! แม้เราจะพึงแสดงธรรมโดยย่อก็ตาม โดยพิสดารก็ตาม ทั้งโดยย่อและ พิสดารก็ตาม ผู้รู้ธรรมก็ยังมีได้โดยยากอยู่นั่นเอง.

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงเวลาแล้ว ข้าแต่พระสุคตเจ้า ! ถึงเวลาสมควรแล้ว ที่พระ ผู้มีพระภาคเจ้า จะพึงแสดงธรรมโดยย่อก็ตาม โดยพิสดารก็ตามทั้งโดยย่อและ พิสดารก็ตาม ผู้รู้ธรรม จักมีเป็นแน่ ” ท่านพระสารีบุตร กราบทูลขอร้อง.

สารีบุตร ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า “อหังการ (ความถือว่าเรา) มมังการ (ความถือว่าของเรา) อันเป็นมานานุสัย (กิเลสที่สะสม อยู่ในสันดานคือมานะ) จักต้องไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุแห่งกาย อันมีวิญญาณนี้ และจักต้องไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุแห่งสิ่งอื่นที่เห็นอยู่ในภายนอกทั้งสิ้น

ก็เมื่อภิกษุเข้าถึง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันใดอยู่ อหังการ มมังการ อันเป็นมานานุสัย จักไม่มี เราทั้งหลาย จักเข้าถึงเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันนั้น แล้วแลอยู่” ดังนี้. สารีบุตร ! เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้เถิด.

สารีบุตร ! เมื่อใดแล ภิกษุไม่มี อหังการ มมังการ อันเป็นมานานุสัย อันเกิดขึ้น เพราะเหตุแห่งกายอันมีวิญญาณนี้ และ ไม่มีอหังการ มมังการ อันเป็น มานานุสัย อันเกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งสิ่งอื่นที่เห็นอยู่ในภายนอกทั้งสิ้น และเมื่อเธอ เข้าถึง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันใดอยู่อหังการ มมังการ อันเป็นมานานุสัย จักไม่มี เธอ เข้าถึง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันนั้นแล้วแลอยู่

สารีบุตร ! เมื่อนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ตัดตัณหาได้แล้ว รื้อสัญโญชน์เสียแล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เพราะรู้จัก หน้าตาของ มานะ อย่างถูกต้องแล้ว

อธิบายศัพท์
อหังการ หมายถึง การยึดว่าเป็นตัวเรา ความเย่อหยิ่งจองหอง ความทะนงตัว
มมังการ ความสำคัญว่าเป็นของเรา ความถือว่าเป็นของเรา ความยึดถือของจิต
มานานุสัย หมายถึงความถือตัว ความเคยชิน (ว่าเป็นตัวเราของเรา)

(ต้องเข้าใจว่า ขันธ์๕ เป็นเรา พระองค์ให้เราฝึกมองว่า ขันธ์๕ ตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
... ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ต้องลดระดับลงมา ให้เข้าใจคำว่า อนัตตา
... ถ้าอนัตตาไม่เข้าใจ ให้ลดระดับลงมา ให้เข้าใจคำว่า ทุกขังคือการแตกสลาย
... ถ้าทุกขังไม่เข้าใจ ให้ลดระดับลงมา ให้เห็นความไม่เที่ยง ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของจิต เห็นว่าธรรมชาติทั้งหลายมีการแตกสลาย
.. หากยังไม่เข้าใจ ก็ยังไม่เข้าถึงความเป็นโสดาบัน)



10

ผู้ไม่ทำศาสนาเสื่อม
1) เล่าเรียนมาถูกด้วยพยัญชนะที่ใช้กันถูก..
2) เป็นคนว่าง่าย อดทน รับฟังคำสอนด้วยความเคารพ..
3) คล่องในหลัก พุทธวจน ทรงธรรมทรงวินัย ทรงมาติกา..
4) ไม่สะสมบริขาร ไม่ย่อหย่อนในไตรสิกขา
* ไม่เป็นผู้นำในทางทราม ทำให้แจ้งในสิ่งที่ยัง ไม่แจ้ง
* อธิศีลสิกขา (ศีล) อธิจิตตสิกขา (สมาธิ) และอธิปัญญาสิกขา (ปัญญา)

         ภิกษุท. ! มูลเหตุสี่ประการเหล่านี้ย่อมทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป. สี่ประการอะไรบ้างเล่า ? สี่ประการ คือ :-

(๑) ภิกษุท. ! พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาถูก ด้วยบทพยัญชนะ ที่ใช้กันถูก ความหมายแห่งบทพยัญชนะที่ใช้กันก็ถูก ย่อมมีนัย อันถูกต้องเช่นนั้น. ภิกษุท. ! นี่เป็น มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้พระสัทธรรม ตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือนจนเสื่อม สูญไป.

(๒) ภิกษุท. ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุเป็นคนว่าง่าย ประกอบ ด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคน ว่าง่าย อดทน ยอมรับคำสั่งสอนโดยความเคารพหนัก แน่น. ภิกษุท. ! นี่เป็น มูลกรณี ที่สอง ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.

(๓) ภิกษุท. ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสูต คล่องแคล่ว ในหลัก พระพุทธวจนะ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) พวก ภิกษุเหล่านั้น เอาใจใส่ บอกสอน เนื้อความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่น ๆ เมื่อ ท่านเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรทั้งหลาย ก็ไม่ขาดเป็นมูลราก (อาจารย์) มีที่อาศัยสืบกันไป. ภิกษุท. ! นี่เป็น มูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้พระสัทธรรม ตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.

(๔) ภิกษุท. ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุผู้เถระ ไม่ทำการสะสม บริกขาร ไม่ประพฤติ ย่อหย่อนในไตรสิกขา ไม่เป็นผู้นำในทางทราม มุ่งหน้า ไปในกิจแห่งวิเวกธรรม ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุเพื่อทำให้แจ้ง สิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง. พวกภิกษุที่บวช ในภายหลัง ได้เห็นพระเถระเหล่านั้น ทำแบบฉบับ เช่นนั้นไว้ก็ถือเอาเป็น ตัวอย่าง พวกภิกษุรุ่นหลัง จึงเป็นพระที่ไม่ทำการ สะสม บริกขาร ไม่ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา ไม่เป็นผู้นำในทางทราม มุ่งหน้าไป ในกิจแห่งวิเวก ธรรม ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่ บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง. ภิกษุท. ! นี่เป็น มูลกรณีที่สี่ซึ่งทำให้พระ สัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.

ภิกษุท. ! มูลเหตุสี่ประการเหล่านี้แล ย่อมทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือน จนเสื่อมสูญไปเลย.



11
ผู้สามารถทำพระศาสดาให้เป็นมิตร

เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นศัตรู
(สาวกของศาสดา ไม่ฟังด้วยดีไม่เงี่ยหู ฟัง ไม่ตั้งจิตกำหนดเพื่อรู้ทั่วถึง แต่ไม่แกล้ง ทำให้ผิดจาก คำสั่งสอนของศาสดาไปเสีย)
อานนท์ ! สาวกทั้งหลาย เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นศัตรู ไม่เรียกร้อง เพื่อความ เป็นมิตร เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ในกรณีนี้ศาสดา ผู้เอ็นดูแสวงหา ประโยชน์ เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จึงแสดงธรรมแก่สาวก ทั้งหลายว่า “สิ่งนี้เป็น ไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอทั้งหลาย และสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสุข แก่พวกเธอทั้งหลาย” ดังนี้เป็นต้น สาวก เหล่านั้น ของศาสดา ไม่ฟังด้วยดีไม่เงี่ยหู ฟัง ไม่ตั้งจิตกำหนดเพื่อรู้ทั่วถึง แต่แกล้ง ทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดาไปเสีย. อานนท์ ! สาวกทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่าผู้เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นศัตรู ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นมิตร


12
เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นมิตร
(สาวกของศาสดา ย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตกำหนดเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่แกล้ง ทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดาไปเสีย)
อานนท์ ! สาวกทั้งหลาย เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นมิตร ไม่เรียกร้องเพื่อ ความเป็นศัตรูเป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ในกรณีนี้ศาสดา ผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์ เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จึงแสดงธรรม แก่สาวกทั้งหลายว่า “สิ่งนี้เป็นไป เพื่อ ประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอทั้ง หลายและสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสุข แก่พวกเธอ ทั้งหลาย” ดังนี้เป็นต้น สาวกเหล่านั้นของศาสดา ย่อมฟังด้วยดีย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตกำหนด เพื่อรู้ทั่วถึง และไม่แกล้งทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดา. อานนท์ ! สาวก ทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่า ผู้เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็น มิตร ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นศัตรู

อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย จงเรียกร้อง หาตถาคต เพื่อความเป็นมิตรเถิด อย่าเรียกร้อง เพื่อความเป็นศัตรูเลย. ข้อนั้น จักเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่พวกเธอทั้งหลายเอง ตลอดกาลนาน.

อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม เหมือน พวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อที่ยังเปียก ยังดิบอยู่. อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด. อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด. ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้เอง แล.



13
ผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
(ประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม ผู้นั้น ชื่อว่าย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด)

         อานนท์ ! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้น ชื่อว่าย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด.

อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่” ดังนี้. อานนท์ ! พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.



14

สมณสากยปุตติยะที่แท้
(พวกเธอมีชาติ มีนาม มีโคตร มีสกุล ต่างกัน ออกบวชจากเรือน เมื่อถูกถามว่า พวกท่าน เป็นใคร พวกเธอก็ปฏิญาณว่า “เราทั้งหลาย เป็นสมณสากยปุตติยะ”)

         วาเสฏฐะ ท. ! พวกเธอแล มีชาติต่างกัน มีนามต่างกัน มีโคตร ต่างกัน มีสกุล ต่างกัน ออกบวชจากเรือนเป็นผู้ไม่หวังเกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว เมื่อถูกเขา ถามว่า “พวกท่าน เป็นใคร ?” ดังนี้ พวกเธอก็ปฏิญาณ ว่า “เราทั้งหลาย เป็นสมณสากยปุตติยะ” ดังนี้.

         วาเสฏฐะ ท. ! อนึ่ง ศรัทธา ของผู้ใดแลตั้งมั่น ในตถาคต ฝังลง รากแล้ว ดำรงอยู่ได้มั่นคง อันสมณะหรือพราหมณ์เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกก็ตาม ไม่ชักนำไปทางอื่นได้, ผู้นั้นควรที่จะกล่าว อย่างนี้ว่า “เราเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดโดยธรรม เนรมิตโดยธรรม เป็นทายาทโดยธรรม” ดังนี้.

         ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะคำว่า “ธรรมกาย” บ้าง “พรหมกาย” บ้าง “ธรรมภูต” บ้าง “พรหมภูต” บ้าง นี้เป็นคำสำหรับ ใช้เรียกแทนชื่อ ตถาคต แล.



15
สมภาพแห่งสมณสากยปุตติยะ
(เหมือนแม่น้ำใหญ่ คงคา ยมุณี ครั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมทิ้งชื่อเดิมของตน ย่อมถึงการเรียกชื่อใหม่ว่ามหาสมุทร.. ภิกษุก็เช่นเดียวกันย่อมละทิ้งชื่อ และชื่อสกุล แต่เดิมของตนเสีย ย่อมถึงการเรียกชื่อใหม่ว่า“พวกสมณสากยปุตติยะ)

         ภิกษุท. ! เปรียบเหมือนแม่นํ้าใหญ่ๆ เช่นแม่นํ้าคงคา ยมุนา อจิรวดีสรภูมหี ก็ตาม ครั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมทิ้งชื่อเดิมของตน ย่อมถึงการเรียกชื่อใหม่ ว่า “มหาสมุทร” เหมือนกันหมด. ข้อนี้ฉันใด

         ภิกษุท. ! วรรณะทั้งสี่นี้ก็อย่างเดียวกันฉันนั้น จะเป็นกษัตริย์ หรือ พราหมณ์เวสส์ หรือศูทร ก็ตาม เมื่อคนเหล่านั้น ออกบวชใน ธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศแล้ว ย่อมละทิ้งชื่อ และชื่อสกุลแต่เดิมของตนเสีย ย่อมถึงการเรียกชื่อใหม่ว่า “พวกสมณสากยปุตติยะ” ดังนี้เหมือนกันหมด โดยแท้.

         ภิกษุท. ! ข้อที่วรรณะทั้งสี่ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์เวสส์ หรือศูทร ครั้นออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละทิ้งชื่อ และชื่อสกุลแต่เดิม ของตนเสีย ถึงการเรียกชื่อใหม่ว่า “พวกสมณสากยปุตติยะ” ดังนี้เหมือนกันหมด นี้แล เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ไม่น่าจะเป็นได้ _ _ ในธรรมวินัยนี้, ซึ่งเมื่อภิกษุทั้งหลาย เห็นแล้ว ๆ ซึ่งข้อนี้ย่อมเกิดความ พอใจอย่างยิ่งในธรรมวินัยนี้แล.



16

สมณะในธรรมวินัยนี้
(สมณะที่๑ สิ้นสังโยชน์๓ สมณะที่๒ สิ้นสังโยชน์ ๓ ราคาโทะโมหะเบาบาง สมณะที่๓ สิ้นสังโยชน์๕ สมณะที่ ๔ ผู้สิ้นอาสวะ)

         ภิกษุท. ! สมณะ (ที่หนึ่ง)
มีในธรรมวินัยนี้เอง, สมณะที่สองก็มีใน ธรรมวินัยนี้ สมณะที่สามก็มีในธรรมวินัยนี้ สมณะที่สี่ก็มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นก็ว่างจากสมณะ ของลัทธิอื่น. ภิกษุท. ! เธอทั้งหลาย จงบันลือ-สีหนาท โดยชอบอย่างนี้เถิด

         ภิกษุท. ! สมณะ (ที่หนึ่ง) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้
เพราะสิ้นรอบแห่งสัญโญชน์สาม เป็นผู้แรกถึงกระแสนิพพาน มีอันไม่ตกตํ่า เป็นธรรมดา ผู้เที่ยงแท้ผู้แน่ที่จะตรัสรู้ข้างหน้า ภิกษุท. ! นี้แล เป็นสมณะ (ที่หนึ่ง)

         ภิกษุท. ! สมณะที่สอง เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้
เพราะสิ้นรอบแห่งสัญโญชน์สาม และเพราะความมีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง เป็นผู้มาอีกครั้งเดียว มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น ก็ทำที่สุด แห่งทุกข์ได้. ภิกษุท. ! นี้แล เป็นสมณะที่สอง

         ภิกษุท. ! สมณะที่สาม เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้
เพราะสิ้นรอบแห่งสัญโญชน์เบื้องตํ่าห้าอย่าง เป็นผู้ลอยเกิด (ในชั้นสุทธาวาส) ย่อมมีการปรินิพพานในภพนั้น ไม่เวียนกลับมาจากโลกนั้น เป็นธรรมดา. ภิกษุท. ! นี้แล เป็นสมณะที่สาม

         ภิกษุท. ! สมณะที่สี่เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ได้ กระทำ ให้แจ้ง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้
เพราะความสิ้นไปแห่ง อาสวะ ทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้เข้าถึงแล้วแลอยู่. ภิกษุท. ! นี้แล เป็นสมณะที่สี่.

         ภิกษุท. ! สมณะ (ที่หนึ่ง) มีในธรรมวินัยนี้เอง สมณะที่สองก็มีในธรรมวินัยนี้ สมณะที่สามก็มีในธรรมวินัยน สมณะที่สี่ก็มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นก็ว่างจากสมณะของ ลัทธิอื่น. ภิกษุท. ! เธอทั้งหลาย จงบันลือ-สีหนาท โดยชอบอย่างนี้แล.


หน้าถัดไป

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์