เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อริยะวินัย (คัดมาบางพระสูตร จากหนังสือ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ) 920-2
 
 
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ออกไปหน้าแรก
 
 
 
1

ผู้ชี้ขุมทรัพย์..เราจัก ชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด ผู้มีมรรคผลเป็นแก่นสาร ย่อมทนอยู่ได้

2 นกแก้ว นกขุนทอง ..ผู้รู้ธรรมไม่ทั่วถึง เป็นผู้มากด้วยปริยัติ(คงแก่เรียน) ไม่รู้ความหมาย
3 ปริยัติที่เป็นงูพิษ ..ทรงอุปมาภิกษุที่เล่าเรียนธรรม แต่ไม่ใคร่ครวญเนื้อธรรมด้วยปัญญา ว่าเป็นโมษะบุรุษ
4 ผู้ที่ไม่ควรพูดอภิธรรม (ผู้ที่ไม่อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา ก็จะพูดแต่เรื่องแนวมิจฉาทิฐิ)
5 เนื้อแท้อันตรธาน ในกาลแห่งอนาคต จักมีภิกษุ (ตัวสูตรส่วนที่ลึกซึ้ง)เหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต
6 ผู้ทำศาสนาเสื่อม (1.เล่าเรียนมาผิด-เป็นคนว่ายาก-คล่องแคล่วแต่ไม่บอกสอน-สะสมบริกขาร ไม่เหลียวแลวิเวกธรรม)
7 ความบกพร่องของภิกษุ ๑๑ อย่าง
8 ลูกนอกคอก (กามคุณ ๕ ไม่ใช่วิสัยของภิกษุที่ควรเที่ยวไป)
9 ผู้โลเล(ความพอใจ ๘ อย่าง เป็นความเสื่อมเพื่อการบรรลุนิพพาน)
10 ภิกษุร้องเพลง (กล่าวธรรมด้วยเพลง บทกลอน ขับกล่อมด้วยเพลงพื้นบ้าน แม้ตนเองก็กำหนัดยินดี ในเสียงนั้น)

11 พระหลวงตา (พระหลวงตาที่หายาก มีปัญญารู้อริยสัจสี่ ท่าทางเรียบร้อย เป็นธรรมกถึก เคร่งวินัย)
12 พระถูกฆ่า (การฆ่าคนแบบพระพุทธเจ้า คือไม่สั่งสอนธรรมะให้)
13 ผู้หล่นจากศาสนา (ไม่ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ)
14 กูเป็นโค (ลาที่เดินตามฝูงโค แล้วร้องว่า กูก็เป็นโค ไม่ต่างกับภิกษุที่ไม่ประพฤติสีลสิกขา แต่ก็ประกาศว่าข้าเป็นภิกษุ)
15 สมณะแกลบ (พระชั่ว ต้องขับออก เนรเทศออก อย่าให้มาทำลายพระดีๆทั้งหลาย)
16 ชอบให้หญิงประคบประหงม เป็นวัตรของสมณะ ที่ยังพอใจสตรี พูดจาสัพยอก เล่นหัว หรือปราถนาเป็น เทพยดา
17 รวมเรื่องฉิบหาย 1.ฉิบหายเพราะคลื่น
18 รวมเรื่องฉิบหาย 2.ฉิบหายเพราะจระเข้ (คนเห็นแก่กินจนลาสิกขา)
19 รวมเรื่องฉิบหาย 3.ฉิบหายเพราะวังวน (บวชแล้วเห็นการบำรุงบำเรา แล้วนึกถึงอดีต จึงบอกลาสิกขา)
20 รวมเรื่องฉิบหาย 4.ฉิบหายเพราะปลาร้าย
21 ไม่รู้ความลับของขันธ์ห้า (ไม่รู้ความดับสนิทแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร ก็หาได้เป็นสมณะไม่)
22 ไม่รู้ความลับ ของอุปาทานขันธ์ (ไม่รู้จักรสอร่อย ไม่รู้จักโทษอุปาทานขันธ์5 ก็หาได้เป็นสมณะหรือพราหมณ์ไม่)
23 ไม่รู้ความลับ ของธาตุสี่ (ไม่รู้จักธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่รู้จักอุบายเครื่องออกไปพ้น ก็หาได้เป็นสมณะหรือพราหมณ์ไม่)
24 ไม่รู้ความลับ ของอินทรีย์หก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การเกิดขึ้น การดับไปของอินทรีย์ 6 ก็หาได้เป็นสมณะ)
25 ไม่รู้ความลับ ของอินทรีย์ห้า (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา และไม่รู้ความเกิด-ดับ ก็หาได้เป็นสมณะไม่)
 
 
 
 


1
ผู้ชี้ขุมทรัพย์
(เราจัก ชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด ผู้มีมรรคผลเป้นแก่นสาร ย่อมทนอยู่ได้)

อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม
เหมือนพวกช่างหม้อ
ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่
อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด
อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้.

คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใด ๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าว คำขนาบอยู่เสมอไป
ว่าคนนั้นแหละ คือผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เมื่อคบหากับ บัณฑิต ชนิดนั้น อยู่ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย.



2

นกแก้ว นกขุนทอง
(ผู้รู้ธรรมไม่ทั่วถึง เป็นผู้มากด้วยปริยัติ(คงแก่เรียน) ไม่รู้ความหมาย เป็นผู้มากด้วยความคิด ยังไม่ถือว่าเป็น ธรรมวิหารี หรือผู้อยู่ด้วยธรรม)

            ภิกษุ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเล่าเรียนปริยัติธรรม (นานาชนิด) คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ แต่เธอไม่รู้ทั่วถึง ความหมายอันยิ่งแห่งธรรมนั้น ๆ ด้วยปัญญา. ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้มากด้วยปริยัติ (นักเรียน) ยังมิใช่ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม).

             อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุทำการสาธยายธรรม ตามที่ได้ฟังได้เรียนมา โดยพิสดาร แต่เธอไม่รู้ความหมายอันยิ่งแห่งธรรมนั้น ๆด้วยปัญญา ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้มากด้วยการสวด (นักสวด) ยังมิใช่ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม)

             อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุคิดพล่านไปในธรรม ตามที่ได้ฟังได้เรียนมา แต่เธอไม่รู้ ทั่วถึงความหมาย อันยิ่งแห่งธรรมนั้น ๆ ด้วยปัญญา. ภิกษุนี้เรา เรียกว่า ผู้มากด้วยการคิด (นักคิด) ยังมิใช่ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม)



3

ปริยัติที่เป็นงูพิษ
(ทรงอุปมาภิกษุที่เล่าเรียนธรรม แต่ไม่ใคร่ครวญเนื้อธรรมด้วยปัญญา ว่าเป็นโมษะ บุรุษ เปรียบเหมือนอสรพิษ ที่ฉกอวัยวะของภิกษุนั้นได้)

           1. โมฆบุรุษบางพวกเล่าเรียนปริยัติธรรมคือสุตตะ เวทัลละ แต่ไม่สอดส่อง ใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมด้วยปัญญา ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ทนต่อการเพ่ง พิสูจน์ของโมฆบุรุษเหล่านั้น

           2. พวกโมฆบุรุษเหล่านั้น เล่าเรียนธรรม ด้วยการเพ่งหาข้อบกพร่อง และ มีความคิดที่จะใช้เป็นเครื่องทำลายลัทธิใด ลัทธิหนึ่งเป็นอานิสงส์

            พวกโมฆบุรุษ จึงไม่ได้รับคุณประโยชน์แห่งธรรมนั้น ธรรมนั้นก็เลยเป็นธรรม ที่โมฆบุรุษถือเอาไม่ดี ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ แก่เขาตลอดกาลนาน

             เปรียบเหมือนบุรุษ ต้องการจะได้งู เที่ยวเสาะแสวงหางูอยู่ ครั้นเห็นงูตัว ใหญ่ก็จับงูที่ตัวหรือที่หาง อสรพิษก็จะฉกเอามือ หรือแขนหรืออวัยวะ บุรุษนั้นก็จะ ตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะความที่บุรุษนั้นจับงูไม่ดี (คือไม่ถูกวิธี) เป็นเหตุ



4

ผู้ที่ไม่ควรพูดอภิธรรม
(ผู้ที่ไม่อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะพูดแต่เรื่อง อภิธรรม จะทำให้หลุดไปในแนว มิจฉาทิฐิ)

ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย ซึ่งมิได้อบรมกาย มิได้อบรม ศีล มิได้อบรมจิต และมิได้รับอบรมปัญญา เธอทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้น พูดกันถึง เรื่องอภิธรรม หรือเรื่องเวทัลละ (พระสูตรแบบถาม-ตอบ) อยู่จักพลัดออกไปสู่แนวของ มิจฉาทิฏฐิ โดยไม่รู้สึกตัว

ด้วยอาการอย่างนี้เอง วินัยมีมลทิน เพราะธรรมมีมลทิน ธรรมมีมลทิน เพราะวินัย มีมลทินนี้เป็นอนาคตภัย ที่ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้ แต่จักเกิดขึ้น ในเวลาต่อไป. พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้ ครั้นได้สำนึกแล้ว ก็พึงพยายามเพื่อกำจัดภัยนั้นเสีย



5

เนื้อแท้อันตรธาน

            ภิกษุ ท. ! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่. เมื่อกลองอานกะนี้มีแผลแตกหรือลิ พวกกษัตริย์ทสารหะได้หา เนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น (ทุกคราวไป)

            ภิกษุท. ! เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้นนานเข้า ก็ถึง สมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริม เข้าใหม่ เท่านั้น

             ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย สุตตันตะ (ตัวสูตรส่วนที่ลึกซึ้ง)เหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา เมื่อมีผู้นำ สุตตันตะ เหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดีจักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิต เพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

             ส่วน สุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์ กลอน มีอักษร สละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็น คำกล่าวของ สาวก เมื่อมีผู้นำสูตร ที่นักกวีแต่งขึ้น ใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตน ควรศึกษาเล่าเรียน.

             ภิกษุ ท. ! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้น ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล.



6

ผู้ทำศาสนาเสื่อม
(ผู้ทำศาสนาเสื่อม 4 อย่าง เล่าเรียนมาผิด-เป็นคนว่ายาก-คล่องแคล่วแต่ไม่บอกสอน
-สะสมบริกขาร ไม่เหลียวแลวิเวกธรรม)


            ภิกษุ ท. ! มูลเหตุสี่ประการเหล่านี้ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป. สี่อย่างคือ 

             พวกภิกษุเล่าเรียนสูตรอันถือกันมาผิด ด้วยบทพยัญชนะ ที่ใช้กันผิด เมื่อบทและพยัญชนะใช้กันผิดแล้ว แม้ความหมายก็มีนัยอันคลาดเคลื่อน

             พวกภิกษุเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยเหตุ ที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยความเคารพหนักแน่น.

             พวกภิกษุเป็นพหุสูต คล่องแคล่วในพุทธวจน แต่ไม่ได้ เอาใจใส่ บอกสอนใจ แก่คนอื่นๆ เมื่อท่านล่วงลับดับไป สูตรทั้งหลายก็เลยขาดผู้เป็นมูลราก (อาจารย์)ไม่มีที่อาศัยสืบไป.

             ภิกษุ ท. ! พวกภิกษุชั้นเถระสะสมบริกขาร ประพฤติย่อหย่อนในไตร สิกขา เป็นผู้นำในทางทราม ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภ ความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุเพื่อทำให้แจ้ง ในสิ่งที่ยัง ไม่ทำให้แจ้  ผู้บวชในภายหลังได้เห็นพวก เถระเหล่านั้นทำแบบแผนเช่นนั้น ไว้ก็ถือ เอาไปเป็นแบบอย่าง

             ภิกษุ ท. ! มูลเหตุสี่ประการเหล่านี้แล ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน
มูลเหตุสี่ประการเหล่านี้แล ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน



7

ความบกพร่องของภิกษุ ๑๑ อย่าง


พวกไม่รู้จักรูป
            ภิกษุในกรณีนี้ย่อมไม่รู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า รูปชนิดใดก็ตาม ทั้งหมดนั้น ชื่อว่า รูป คือมหาภูตรูปมี๔ และอุปาทายรูป คือรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ดังนี้

พวกไม่ฉลาดในลักษณะ
            ภิกษุในกรณีนี้ย่อมไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า คนพาลมีกรรมเป็นเครื่องหมาย บัณฑิต ก็มีกรรมเป็นเครื่องหมาย ดังนี้

พวกไม่เขี่ยไข่ขาง (ไข่แมลงวัน)
ไม่ระวังเรื่องกาม
            ภิกษุในกรณีนี้ไม่อดกลั้น ไม่ละไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ทำให้หมดสิ้น ซึ่งความตรึกเกี่ยวด้วยกาม ความตรึกเกี่ยวด้วยความ พยาบาท ความตรึกเกี่ยวด้วย การเบียดเบียน ที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่อด กลั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ทำให้หมดสิ้น ซึ่งสิ่งอันเป็นอกุศล ลามกทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว

วกไม่ปิดแผล

(ไม่สำรวมระวังอินทรีย์)
             ภิกษุในกรณีนี้เห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วย จมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้วก็มีจิตยึดถือเอา ทั้งโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด และการถือเอาโดยการแยกเป็นส่วน ๆ. สิ่งอันเป็นอกุศลลามกคืออภิชฌา และโทมนัส จะพึงไหลไปตามผู้ที่ไม่สำรวม ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ เธอไม่ปฏิบัติเพื่อปิดกั้น อินทรีย์นั้นไว้ เธอไม่รักษาและไม่สำรวม ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ

พวกไม่สุมควัน
            ภิกษุในกรณีนี้ไม่แสดงธรรม ตามที่ได้ฟังได้เรียนมาแล้ว แก่คนอื่น

พวกไม่รู้จักท่าที่ควรไป
             ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้เมื่อเข้าไปหาพวกภิกษุซึ่งเป็นพหุสูต คล่องแคล่ว ในหลักพระพุทธวจนะ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ก็ไม่ไต่ถาม ไม่ไล่เลียงโดย ทำนองนี้ว่า “
             ท่านผู้เจริญ ท. ! พระพุทธวจนะนี้เป็นอย่างไร ? ความหมายแห่ง พระพุทธวจนะนี้มีอย่างไร ?” ดังนี้เป็นต้น ตามเวลาอัน สมควร ท่านพหุสูตเหล่านั้น จึงไม่ทำข้อความที่ยังลี้ลับให้เปิดเผย ไม่ทำข้อความอันลึกซึ้งให้ตื้น และไม่บรรเทา ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย อัน เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย นานาประการให้แก่ภิกษุ นั้นได้.
             ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็น ผู้ไม่รู้จักท่าที่ควรไป เป็นอย่างนี้แล.

พวกไม่รู้จักนํ้าที่ควรดื่ม
            ภิกษุในกรณีนี้เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว อันผู้ใดผู้หนึ่งแสดงอยู่ เธอก็ไม่ได้ความรู้ธรรม ไม่ได้ความรู้อรรถ และไม่ได้ความปราโมทย์อันอาศัยธรรม
ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้จักนํ้าที่ควรดื่ม เป็นอย่างนี้แล

พวกไม่รู้จักทางที่ควรเดิน
            ภิกษุในกรณีนี้ย่อมไม่รู้ชัดแจ้งตามที่เป็นจริง ซึ่งอริยมรรคมีองค์แปด
            ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้จักทางที่ควรเดิน เป็นอย่างนี้แล

พวกไม่ฉลาดในที่ที่ควรไป
            ภิกษุในกรณีนี้ย่อมไม่รู้ชัดแจ้ง ตามที่เป็นจริงซึ่ง สติปัฏฐานสี่
            ภิกษุเป็นผู้ไม่ฉลาดในที่ที่ควรไป เป็นอย่างนี้แล

๑๐ พวก รีด “นมโค” เสียหมด ไม่มีส่วนเหลือ

            ภิกษุ ท. ! พวกคฤหบดีผู้มีศรัทธา ย่อมปวารณาไม่มีขีดขั้น แก่ภิกษุใน พระศาสนานี้ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร. ในการที่เขาปวารณาเช่นนั้น ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการรับ ปัจจัยสี่ มีจีวรเป็นต้นเหล่านั้น.
            ภิกษุเป็นผู้รีด “นมโค” เสียหมด ไม่มีส่วนเหลือ เป็นอย่างนี้แล.

๑๑ พวกไม่บูชาผู้เฒ่า
            ภิกษุในกรณีนี้ไม่เข้าไปตั้งไว้ ซึ่งกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม อันประกอบ ด้วยเมตตา ในภิกษุผู้เป็นเถระ มีพรรษายุกาล บวชนาน เป็นบิดาสงฆ์ ทั้งในที่แจ้ง และที่ลับ
            ภิกษุเป็นผู้ไม่บูชาอย่างยิ่งในภิกษุทั้งหลาย ชั้นที่เป็นเถระ เป็นอย่างนี้แล



8

ลูกนอกคอก
(กามคุณ ๕ ไม่ใช่วิสัยของภิกษุที่ควรเที่ยวไป)

            ภิกษุ ท. ! ผู้ที่เที่ยวไปในวิสัยอื่น ซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไป ย่อมมีอันเป็นไป

วิสัยอื่นซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไปของภิกษุคืออะไรเล่า ?

            คือ กามคุณ ๕ คือ รูปที่เห็นด้วยตา เสียงที่ได้ยินด้วย หู กลิ่นที่รู้สึกด้วย จมูก รสที่รู้สึกด้วยลิ้น และโผฏฐัพพะที่รู้สึกด้วยการ สัมผัสทางกาย ซึ่งเป็นที่น่า ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าชอบใจ ที่ยวนตายวนใจ ให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย แห่ง ความใคร่ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อม ใจ

             ภิกษุ ท. ! นี้แล เป็นวิสัยอื่นซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไป ของภิกษุ.



9

ผู้โลเล
(ความพอใจ ๘ อย่าง เป็นความเสื่อมเพื่อการบรรลุนิพพาน)

            ภิกษุ ท. ! มูลเหตุแปดอย่างนี้เล่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสีย สำหรับ ภิกษุผู้ยังไม่จบกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อลุถึงนิพพาน แปดอย่างคือ
            (๑) ความเป็นผู้พอใจในการทำงานก่อสร้าง
            (๒) ความเป็นผู้พอใจในการคุย
            (๓) ความเป็นผู้พอใจในการนอน
            (๔) ความเป็นผู้พอใจในการจับกลุ่มคลุกคลีกัน
            (๕) ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
            (๖) ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภค
            (๗) ความเป็นผู้พอใจในการกระทำ เพื่อเกิดสัมผัสสนุกสบายทางกาย
            (๘) ความเป็นผู้พอในในการขยายกิจให้โยกโย้โอ้เอ้เนิ่นช้า

            มูลเหตุแปดอย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียสำหรับภิกษุ ผู้ยังไม่จบกิจแห่งการปฏิบัติ เพื่อลุถึงนิพพาน



10

ภิกษุร้องเพลง
(กล่าวธรรมด้วยเพลง บทกลอน ขับกล่อมด้วยเพลงพื้นบ้าน แม้ตนเองก็กำหนัดยินดี ในเสียงนั้น นี้เป็นโทษของภิกษุ ที่อนุชนจะเอาเป็นแบบอย่าง)

ภิกษุ ท. !โทษของภิกษุ ผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาว มีห้าอย่าง เหล่านี้. ห้าอย่างคือ
(๑) แม้ตนเอง ก็กำหนัดยินดีในเสียงนั้น
(๒) แม้คนอื่น ก็พลอยกำหนัดยินดีในเสียงนั้น
(๓) แม้พวกคฤหบดีก็พากันยกโทษติเตียนได้ว่า “พวกสมณะ สากยบุตร เหล่านี้ก็ขับเพลง เหมือนพวกเราขับเพลงทีเดียวนะ”
(๔) เมื่อภิกษุนั้นยังรู้สึกลุ่มหลงในกระแสเสียงนั้นอยู่ สมาธิก็พังทลาย
(๕) อนุชนรุ่นหลัง จะถือเอาเป็นแบบอย่าง



11

พระหลวงตา
(พระหลวงตาที่หายาก มีปัญญารู้อริยสัจสี่ ท่าทางเรียบร้อย เป็นธรรมกถึก เคร่งวินัย)

            ภิกษุท.! พระหลวงตา ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบห้าอย่าง หาได้ยาก
            ๑) พระหลวงตาที่มีปัญญาละเอียดอ่อน(ในการรู้อริยสัจสี่)
            ๒) พระหลวงตาที่เป็นคนมีท่าทางเรียบร้อย
            ๓) พระหลวงตาที่เป็นคนสดับรับฟังแล้วจำได้มาก
            ๔) พระหลวงตาที่เป็นธรรมกถึก (แสดงธรรมเพื่อความหน่าย คลายกำหนัด ดับภพ)
            ๕) พระหลวงตาที่เป็นคนปฏิบัติเคร่งตามวินัย



12

พระถูกฆ่า

(การฆ่าคนแบบพระพุทธเจ้า คือไม่สั่งสอนธรรมะให้)

            พระผู้มีพระภาค ! เกสี เราก็ฝึก(ม้า) ด้วย (1) วิธีละมุนละม่อมบ้าง (2) ด้วย วิธีรุนแรงบ้าง (3) ด้วยทั้งสองวิธีประกอบกันบ้าง เช่นเดียวกับท่านฝึกม้าเหมือนกัน

            เกสี ! ถ้าคนผู้นั้นไม่รับการฝึกทั้ง ๓ วิธีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงทำแก่ เขา อย่างไร ? (เกสีทูลถามพระพุทธเจ้า)

            เกสี ! ถ้าคนผู้นั้น ไม่รับการฝึกด้วยวิธีละมุนละม่อม ไม่รับการฝึก ด้วยวิธี รุนแรง และไม่รับการฝึก ด้วยวิธีทั้งสองบวกกัน เราก็ฆ่าเขาเสีย(พระพุทธเจ้ากล่าว) เช่น เดียวกับท่านเหมือนกัน.

           เกสี ! การฆ่าไม่ควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิใช่หรือพระเจ้าข้า! ไฉนจึงรับสั่ง ว่า ‘เราก็ฆ่าเขาเสีย’ กระนี้เล่า ? (เกสี สงสัยที่พระพุทธเจ้าตรัส ฆ่า)

           
พระผู้มีพระภาค ! จริงเกสี การฆ่าไม่ควรแก่ตถาคต แต่ว่าคนผู้ใดไม่รับ การฝึก ด้วยวิธีละมุนละม่อม ไม่รับการฝึกด้วยวิธีรุนแรง และไม่รับการฝึกด้วยทั้งสอง วิธีบวกกัน ตถาคตก็ไม่นับคนผู้นั้นว่าเป็นคน ที่จะพึงว่ากล่าวสั่งสอนต่อไป

นี่แน่ะเกสี ! ข้อที่ตถาคตไม่นับคนผู้นั้น ว่าเป็นคนที่จะพึงว่ากล่าวสั่งสอนทั้งเพื่อน พรหมจารีผู้รู้ ทั้งหลายก็ไม่นับคนผู้นั้น ว่าเป็นคนที่จะพึงว่ากล่าวสั่งสอน ด้วยนั้น นั่นชื่อว่าเป็นการฆ่าเสียอย่างสนิท ทีเดียวในวินัย ของพระอริยเจ้า.

“นั่น ชื่อว่าเป็นการฆ่าเสียอย่างสนิทแน่พระเจ้าข้า ! . . .” นายเกสีทูล.



13

ผู้หล่นจากศาสนา
(ไม่ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ)

            นักบวช ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุสี่ประการ กล่าวได้ว่าเป็นผู้หล่นจากธรรม วินัยนี้
            (๑) ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยศีล อันเป็นเครื่องไปจากข้าศึก
            (๒) ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยสมาธิ อันเป็นเครื่องไปจากข้าศึก
            (๓) ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา อันเป็นเครื่องไปจากข้าศึก
            (๔) ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยวิมุตติ อันเป็นเครื่องไปจากข้าศึก

            ภิกษุ ท. ! นักบวชที่ไม่ประกอบด้วยเหตุสี่ประการเหล่านี้แล เรียกได้ว่า เป็นผู้หล่นจากธรรมวินัยนี้.



14

กูเป็นโค
(ลาที่เดินตามฝูงโค แล้วร้องว่า “กูก็เป็นโค" ก็ไม่ต่างกับภิกษุ ที่ไม่ประพฤติสีลสิกขา แต่ก็ป่าวประกาศว่า ข้าเป็นภิกษุ )

           ลาที่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังๆ แม้จะร้องอยู่ว่า “กูก็เป็นโค กูก็เป็นโคแต่สีของมัน เสียงของมัน เท้าของมัน ก็หาเป็นโคไม่

            ภิกษุบางรูป ก็เหมือนกัน แม้จะเดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลังๆ ร้องประกาศ ว่า “ข้าก็เป็นภิกษุ ข้าก็เป็นภิกษุ” แต่การประพฤติ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย

             เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงสำเหนียกใจว่า ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ต้องเข้มงวดเสมอ

             ภิกษุ ท.! พวกเธอ ทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.



15

สมณะแกลบ
(พระชั่ว ต้องขับออก เนรเทศออก อย่าให้มาทำลายพระดีๆทั้งหลาย)

           พวกเธอทั้งหลาย จงขับบุคคลนี้ออกไปเสีย จงนำบุคคลนี้ไปให้พ้น..  ลูกนอกคอก ช่างทำให้ลำบากใจกระไร

           เมื่อใดภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเธอเข้า เมื่อนั้นเขาทั้งหลาย ก็รู้จักเธอ ได้ว่า “นี่เป็นสมณะอันตราย เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะขยะมูลฝอย” ดังนี้ ครั้นคน ทั้งหลายรู้จักเธอ ว่าเป็นเช่นนั้น เขาก็จะเนรเทศเธอออกไปนอกหมู่ เพราะคน ทั้งหลาย มีความประสงค์ว่า “อย่าให้คนชั่วทำลายพวกภิกษุที่ดีอื่น ๆ ทั้งหลาย เลย” ดังนี้

          เปรียบเหมือน ต้นข้าวผี ซึ่งออกรวงมีแต่แกลบ ไม่มีเนื้อในที่บริโภคได้ เกิดขึ้นในนาข้าว เต็มไปหมดในฤดูทำนา. รากของมัน ลำต้นของมัน ใบของมัน ก็ดูเหมือน ๆ ต้นข้าวทั้งหลาย ชั่วเวลาที่รวงยังไม่ออก เมื่อใดมันออกรวง เมื่อนั้น จึงทราบได้ว่า “นี่เป็นต้นข้าวผี ซึ่งมีแต่แกลบ ไม่มีเนื้อในที่บริโภคได้” ดังนี้.

ครั้นคนทั้งหลายทราบเช่นนี้แล้ว เขาก็ช่วยกันทึ้งถอน พร้อมทั้งรากทิ้งไปให้พ้น นาข้าว. ข้อนั้นเพราะอะไร ? เพราะคนทั้งหลาย มีความประสงค์ว่า “อย่าให้ต้นข้าวผี ทำลายต้นข้าว ที่ดีอื่น ๆ ทั้งหลายเลย” ดังนี้



16

ชอบให้หญิงประคบประหงม
เป็นวัตรของสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ที่ยังพอใจให้สตรี(มาตุคาม)ประคบประหงม เป็นผู้ปฏิญญาว่าจะไม่เสพเมถุนธรรมกับมาตถามแต่ยัง..พอใจการนวด พูดจาสัพยอก เล่นหัว ชอบสบตา ชอบฟังเสียง ชอบขับร้อง รำลึกเรื่องเก่าเล้าโลม หรือปราถนาเป็น เทพยดา..นี่แลคือความขาด ความทะลุความด่าง ความพร้อย ของพรหมจรรย์)

มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคามก็จริงแล แต่ว่า เขายังยินดีกับการลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้น ที่ทำให้โดยมาตุคาม เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการทำ เช่นนั้นจากมาตุคาม

ชอบสัพยอกกับหญิง
อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพ เมถุนกับด้วยมาตุคาม และ ไม่ยินดี การลูบทา การขัดสีกา รอาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคามก็จริงแล แต่ว่า เขายังพูดจาซิกซี้เล่นหัว สัพยอก กับด้วยมาตุคาม เขาปลาบปลื้ม ยินดีด้วยการทำเช่นนั้นจากมาตุคาม

ชอบสบตาหญิง
อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดี การลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้นที่ได้รับจากมาตุคาม ทั้งไม่ยินดี ในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอก กับด้วย มาตุคาม ก็จริงแล แต่ว่า เขายังชอบสบตาด้วยตากับมาตุคาม เขาปลาบปลื้มยินดี ด้วยการทำ เช่นนั้นจาก มาตุคาม

ชอบฟังเสียงหญิง
อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดี การลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคาม ไม่ยินดี ในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอก กับด้วย มาตุคาม ทั้งไม่ยินดี ในการสบตา ด้วยตากับมาตุคามก็จริงแล แต่ว่า เขายังชอบฟัง เสียง ของมาตุคาม ที่หัวเราะอยู่ก็ดีพูดจาก็ดีขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอก ฝาก็ตาม นอก กำแพงก็ตาม เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการทำเช่นนั้น จาก มาตุคาม

ชอบระลึกถึงความหลังเกี่ยวกับหญิง
อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดีการลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอก กับด้วย มาตุคาม ไม่ยินดีในการสบตา ด้วยตากับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีในการฟังเสียงของ มาตุคาม ก็จริงแล แต่ว่า เขาชอบตามระลึกถึงเรื่องเก่า ที่เคยหัวเราะ เล้าโลม เล่นหัวกับด้วย มาตุคาม เขา ปลาบปลื้มยินดีด้วยการทำเช่นนั้นจากมาตุคาม.

ชอบดูผู้อื่นบริโภคกาม
อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดีการลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้ เล่นหัวสัพยอกกับด้วย มาตุคาม ไม่ยินดีในการสบตา ด้วยตากับมาตุคาม ไม่ยินดีในการฟังเสียงของ มาตุคาม ทั้งไม่ชอบตามระลึก ถึงเรื่องเก่าที่เคยหัวเราะเล้าโลมเล่นหัวกับด้วย มาตุคาม ก็จริงแล แต่ว่า เขาเพียงแต่เห็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้อิ่มเอิบ เพียบพร้อม ด้วยกามคุณ ทั้งห้า ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ เขาก็ปลาบปลื้มยินดี ด้วยการได้เห็นการกระทำ เช่นนั้น.

ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อเป็นเทพยดา
อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดีการลูบทา การขัดสีการ อาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอก กับด้วย มาตุคาม ไม่ยินดีในการสบตา ด้วยตา กับมาตุคาม ไม่ยินดี ในการฟัง เสียง ของ มาตุคาม ไม่ชอบตามระลึกถึง เรื่องเก่าที่เคยหัวเราะเล้าโลมเล่นหัว กับด้วย มาตุคาม และทั้งไม่ยินดีที่จะเห็น พวกคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้อิ่มเอิบ เพียบพร้อม ด้วย กามคุณทั้งห้า แล้ว ตน พลอยนึกปลื้มใจก็จริงแล แต่ว่า เขา ประพฤติพรหมจรรย์ โดยตั้งความ ปรารถนา เพื่อไปเป็นเทพยดาพวกใดพวกหนึ่ง

             นี่แลคือความขาด ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์
เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ยังประกอบ ด้วยการเกี่ยวพัน ด้วยเมถุน ย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่และความตาย ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ชื่อว่ายังไม่พ้นจากความ ทุกข์ได้



17

รวมเรื่องฉิบหาย (4 เรื่อง)

1.ฉิบหายเพราะคลื่น

           ภิกษุท. ! ภัย อันเกิดแต่คลื่น เป็นอย่างไรเล่า ?
           ภิกษุท. ! ในกรณีนี้คือ คนบางคนมีศรัทธา ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยเรือน เพราะคิดเห็นว่า “เราถูกความเกิด ความแก่ความตาย ความโศก ความรํ่าไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ครอบงำเอาแล้ว เป็นคนตกอยู่ใน กองทุกข์มีทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น นี้ จะปรากฏมีได้ ” ดังนี้.

            ครั้น บวชแล้ว เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน ย่อมว่ากล่าวตักเตือนเธอ ว่า “ท่าน ! เป็นพระแล้ว ต้องก้าวเดินด้วยท่าทางอย่างนี้ๆ ต้องถอยกลับด้วยท่า ทางอย่างนี้ๆ ต้องแลดู ด้วย ท่าทางอย่างนี้ๆ ต้องเหลียวด้วยท่าทางอย่างนี้ๆ ต้องคู้แขนคู้ขาด้วยท่าทางอย่างนี้ๆ ต้องเหยียดมือ เหยียดเท้าด้วยท่าทางอย่างนี้ๆ ต้องนุ่งห่มจับถือซึ่งสังฆาฏิบาตร จีวร ด้วยท่าทางอย่างนี้ๆ” ดังนี้.

            เธอ นั้นหวนระลึก ไปว่า “เมื่อก่อน เราอยู่ครองเรือน ย่อมว่ากล่าวสั่งสอน ผู้อื่น บัดนี้พวกภิกษุ คราวลูก คราวหลานของเรา กลับมาคอยหาโอกาสว่ากล่าว ตักเตือนเรา” ดังนี้ เธอก็โกรธ แค้นใจ บอกเลิกสิกขา หมุนกลับคืนไป สู่เพศตํ่าแห่ง คฤหัสถ์.

            ภิกษุท. ! ภิกษุชนิดนี้เรียกว่า ผู้กลัวภัยอันเกิดแต่คลื่น แล้วจึงบอกเลิก สิกขา หมุนกลับคืน ไปสู่เพศตํ่าแห่งคฤหัสถ์.

            ภิกษุท. ! คำว่า ภัย อันเกิดแต่คลื่นนี้เป็นคำแทนชื่อสำหรับเรียก ความโกรธ คับแค้นใจ.
           ภิกษุท. ! นี้เรียกว่า ภัย อันเกิดแต่คลื่น แล.


18

2.ฉิบหายเพราะจระเข้
(คนเห็นแก่กินจนลาสิกขา)

            คนบางคนออกบวช เพราะหวังพ้นทุกข์ ครั้นบวชแล้ว เพื่อนผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ด้วยกัน สั่งสอนว่า “สิ่งนี้ท่านควรเคี้ยว สิ่งนี้ไม่ควรเคี้ยว สิ่งนี้ท่านควร บริโภค สิ่งนี้ไม่ควรบริโภค ท่านควรเคี้ยว กิน ลิ้ม ดื่ม แต่ของที่ควร ไม่ควรเคี้ยว กิน ลิ้ม ดื่ม ของที่ไม่ควร ท่านควรเคี้ยว กิน ลิ้ม ดื่ม แต่ในกาลที่ควร ไม่ควรเคี้ยว กิน ลิ้ม ดื่ม นอกกาล

             เธอนั้น หวนระลึกไปว่า เมื่อก่อน เราอยู่ครองเรือน ปรารถนาสิ่งใด ก็เคี้ยว กิน ลิ้ม ดื่ม สิ่งนั้น เคี้ยว กิน ลิ้ม ดื่มได้.. ชะรอย ท่านจะห้ามปากของเรา... จึงรู้สึกโกรธ แค้นใจ บอกเลิกสิกขากลับไปสู่เพศต่ำแห่งคฤหัสถ์ (ตามเดิม)

            ภิกษุชนิดนี้เรียกว่าผู้กลัวภัยอันเกิดแต่จระเข้.. คำว่า ภัย อันเกิดแต่จระเข้นี้ เป็นคำแทนชื่อสำหรับเรียก ความเป็นคนเห็น แก่ท้อง (เห็นแก่กิน) นี้เรียกว่า ภัย อันเกิดแต่จระเข้แล


19

3.ฉิบหายเพราะวังวน
(บวชแล้วเห็นการบำรุงบำเรา แล้วนึกถึงอดีต จึงบอกลาสิกขา)

           คนบางคนออกบวช เพื่อหวังพ้นทุกข์ ครั้นบวชแล้ว เวลาเช้าเธอครองจีวร ถือบาตรเข้าไปบิณฑบาตในย่านหมู่บ้านหรือนิคม ไม่รักษากายไม่รักษาวาจา ไม่รักษา จิต ไม่กำหนดสติไม่สำรวม อินทรีย์ ในที่นั้นเธอได้เห็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี ผู้อิ่มเอิบ เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ทั้งห้า ให้เขาบำเรออยู่      
           เธอนั้น กลับหวนระลึกไปว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ครองเรือน ก็เป็นผู้ อิ่มเอิบเพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้า ให้เขาบำเรออยู่ (เช่นนี้เหมือนกัน)
            ทรัพย์สมบัติในสกุลของเราก็มีอยู่ และเราก็อาจบริโภคทรัพย์สมบัติพลาง ทำบุญพลาง อย่ากระนั้นเลย เราบอกเลิกสิกขา หมุนกลับคืนไปสู่เพศตํ่า แห่งคฤหัสถ์บริโภคทรัพย์สมบัติ พลางทำบุญพลางเถิด”

           คำว่า ภัย อันเกิดแต่วังวนนี้เป็นคำแทนชื่อเรียก กามคุณทั้งห้า
นี้เรียกว่า ภัย อันเกิดแต่วังวน แล


20

4.ฉิบหายเพราะปลาร้าย

            คนบางคนมีศรัทธา เพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ครั้นบวชแล้ว เวลา เช้าเธอครองจีวร ถือบาตร เข้าไปบิณฑบาต ในย่านหมู่บ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต ไม่กำหนดสติ ไม่สำรวมอินทรีย์. ในที่นั้นๆ เธอได้เห็น มาตุคาม (หญิงชาวบ้าน) ที่ห่มชั่วนุ่งชั่ว, เมื่อเธอเห็น มาตุคามที่ห่มชั่วนุ่งชั่ว ราคะก็
เสียบแทงจิตของเธอ
เธอมีจิตถูกราคะเสียบ แทงแล้ว ก็บอกเลิกสิกขา หมุนกลับคืน ไปสู่เพศตํ่าแห่งคฤหัสถ์.

          ภิกษุชนิดนี้เรียกว่า ผู้กลัวภัย อันเกิดแต่ปลาร้าย คำว่า ภัย อันเกิดแต่ ปลาร้ายนี้ เป็นคำแทนชื่อสำหรับเรียก มาตุคาม (หญิงชาวบ้าน)



21

ไม่รู้ “ความลับ


ไม่รู้ “ความลับ” ของขันธ์ห้า
(ไม่รู้ขันธ์5 ไม่รู้ความดับสนิทแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร ก็หาได้เป็นสมณะ หรือพราหมณ์ไม่)

           สมณะหรือพราหมณ์พวกใด ย่อมไม่รู้จักลักษณะ ไม่รู้จักเหตุเกิดขึ้น ไม่รู้จัก ความดับสนิท ไม่รู้จักข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความ ดับสนิท แห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร ย่อมไม่รู้จักลักษณะ ไม่รู้จักเหตุเกิดขึ้น ไม่รู้จักความดับสนิท ไม่รู้จักข้อปฏิบัติ เครื่องให้ถึงความ ดับสนิท แห่ง วิญญาณ

           สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ก็หาเป็นสมณะ หรือ พราหมณ์ ไปได้

22
ไม่รู้“ความลับ” ของอุปาทานขันธ์
(ไม่รู้จักรสอร่อย ไม่รู้จักโทษอุปาทานขันธ์5 ก็หาได้เป็นสมณะหรือพราหมณ์ไม่)

           อุปทานขันธ์๕ เหล่านี้คือ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปทานขันธ์คือเวทนา อุปทานขันธ์คือสัญญา อุปทานขันธ์คือสังขาร อุปทานขันธ์คือวิญญาณ

           สมณะหรือพราหมณ์พวกใด ไม่รู้จักรสอร่อย ไม่รู้จักโทษ และไม่รู้จักอุบาย เป็นเครื่องออกไปพ้น ในอุปทานขันธ์๕ เหล่านี้ตามที่เป็นจริง ก็หาเป็นสมณะหรือ พราหมณ์ไปได้ไม่

23

ไม่รู้“ความลับ” ของธาตุสี่
(ไม่รู้จักธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่รู้จักอุบายเครื่องออกไปพ้น ก็หาได้เป็นสมณะหรือพราหมณ์ไม่)

           ธาตุ๔ เหล่านี้คือ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม สมณะหรือ พราหมณ์ พวกใด ไม่รู้จักรสอร่อย ไม่รู้จักโทษ และไม่รู้จักอุบายเครื่องออกไปพ้น ในธาตุ๔ เหล่านี้ตามที่เป็นจริง ก็หาเป็นสมณะ หรือพราหมณ์ไปได้ไม่

24
ไม่รู้“ความลับ” ของอินทรีย์หก
(ไม่รู้อินทรีย์ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การเกิดขึ้น และการดับไปของอินทรีย์ 6
ก็หาได้เป็นสมณะหรือพราหมณ์ไม่)


           อินทรีย์ ๖ เหล่านี้คือ อินทรีย์คือตา อินทรีย์คือหู อินทรีย์คือจมูก อินทรีย์คือลิ้น อินทรีย์คือกาย อินทรีย์คือใจ
            สมณะหรือพราหมณ์พวกใด ไม่รู้จักความเกิดขึ้น ไม่รู้จักความดับไป ไม่รู้จักรสอร่อย ไม่รู้จักโทษ และไม่รู้จักอุบายเป็นเครื่อง ออกไปพ้น ในอินทรีย์๖ เหล่านี้ตามที่เป็นจริง ก็หาเป็น สมณะหรือพราหมณ์ไปได้ไม่.

25
ไม่รู้“ความลับ” ของอินทรีย์ห้า
(ไม่รู้อินทรีย์ 5 ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา และไม่รู้ความเกิด ความดับของ อินทรีย์ 5 ก็หาได้เป็นสมณะหรือพราหมณ์ไม่)

           อินทรีย์๕ คือ อินทรีย์คือ ศรัทธา อินทรีย์คือ วิริยะ อินทรีย์ คือ สติ อินทรีย์คือ สมาธิ อินทรีย์คือ ปัญญา
            สมณะหรือพราหมณ์พวกใด ไม่รู้จักความเกิดขึ้น ไม่รู้จัก ความดับไป ไม่รู้จักรสอร่อย ไม่รู้จักโทษ (เมื่อยึดถือ) และไม่รู้จักอุบายเป็น เครื่องออกไปพ้น ในอินทรีย์๕ เหล่านี้ตามที่เป็นจริง ก็หาเป็นสมณะหรือพราหมณ์ไปได้ไม



หน้าถัดไป

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์